Intro to Digital Scrapbook

Intro to Digital Scrapbook

โดย : Country Hobby

นอกจาก “อ่านเอา” จะมีนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังมีคอลัมน์ที่จะทำให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับการประดิดประดอยทำงานศิลป์ให้ใจสบายในคอลัมน์ “อ่านเอาคร้าบบ : Anowl Craft” โดย Country Hobby ผู้ท่องเที่ยว วาดรูป และทำงานประดิดประดอย เป็นงานอดิเรกอย่างมืออาชีพ

…………………………………………..

– Intro to Digital Scrapbook –

หลังจากเราได้รู้จักกับ Scrapbook กันไปแล้ว ลองมาดูอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำ Scrapbook ได้ นั่นคือ Digital Scrapbook ค่ะ

อะไรคือ Digital Scrapbook

กิจกรรมการทำสแครปบุ๊กเป็นหนึ่งในงานอดิเรกที่ผู้คนทั่วโลกนิยม ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีบันทึกภาพในระบบดิจิทัลเป็นที่แพร่หลาย สามารถถ่ายรูปได้ด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงเกิดสแครปบุ๊กดิจิทัลขึ้น และอันที่จริง เราเองก็คุ้นเคยกับการทำอะไรที่ใกล้เคียงสแครปบุ๊กดิจิทัลอยู่แล้ว เช่น เมื่อถ่ายรูปมา เราต้องผ่านแอพฯ ตกแต่งภาพ แก้ไขสี ความชัด, เราก็เคยเพิ่มคำพูดลงไปในตัวหนังสือ เคยเพิ่มสติกเกอร์ เคยเอารูปมาตกแต่งรวมกัน

สิ่งที่เคยทำมาเหล่านั้นแหละ แทบจะเรียกว่าทำสแครปบุ๊กดิจิทัลเป็นแล้วค่ะ

วัตถุประสงค์

ในการทำสแครปบุ๊กดิจิทัลก็มีเป้าหมายในการทำเช่นเดียวกับสแครปบุ๊ก คือเพื่อบันทึกความทรงจำในช่วงเวลาหนึ่งๆ รูปแบบเช่นเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการมาทำเป็นไฟล์ดิจิทัลในคอมพิวเตอร์แทนการทำด้วยมือแบบจับต้องได้

อุปกรณ์

  1. Program ตกแต่งภาพ ที่สามารถสร้าง Layer ได้ เช่น Adobe Photoshop, Adobe Illustrator หรือแม้แต่โปรแกรมที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เช่น Microsoft Word, Pages
  2. Digital Files สำหรับผู้เริ่มต้น สามารถ หาไฟล์ Free Digital Scrapbook ได้จากเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งไฟล์เหล่านั้น แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้

2.1 Photos ไฟล์ภาพถ่ายมักนิยมใช้เป็นไฟล์สกุล .jpg .png ถ้าต้องการพรินต์ก็ต้องใช้ไฟล์ภาพที่มีขนาดใหญ่

2.2 Background เป็นไฟล์รูปภาพสำหรับทำพื้นหลังในการทำสแครปบุ๊กดิจิทัล อาจทำในสัดส่วน 1:1 เลียนแบบสแครปบุ๊กขนาด 12 x12 นิ้ว แต่ถ้าทำแล้วต้องการพรินต์ออกมา กระดาษที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ในเมืองไทยเป็นกระดาษขนาด A4 จึงควรทำขนาดของภาพ (Canvas Size) เท่ากับ A4 แต่ถ้าทำในโปรแกรม Words หรือ Pages ก็สร้างเอกสารขนาด A4 ได้เลย

2.3 Embellishment ไฟล์ส่วนตกแต่ง นิยมใช้ไฟล์สกุล .png เพื่อให้ได้ภาพที่มีพื้นหลังแบบโปร่งใส (Transparent )

องค์ประกอบขอ สแครปบุ๊กดิจิทัล

ในตัวอย่าง ใช้รูปภาพที่ซื้อจากเว็บ Snap Click Supply

  1. Canvas กำหนดขนาดไฟล์ที่ต้องการ อาจเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถ้าโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ก็กำหนดขนาดให้เหมาะสม เช่น ขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับโปรแกรม Instagram คือขนาด 1080 x 1080
  2. Background เป็นไฟล์ภาพ ที่มีสีสันและลวดลายแบบต่างๆ มี Resolution ที่เหมาะสม ถ้าเป็นไฟล์ที่ทำขาย มักทำขนาด 3600 x 3600 pixels ที่ความละเอียด 300 pixels/inch เพื่อให้สามารถพรินต์ได้ชัดเจน สำหรับ Background อาจซ้อนกันหลายๆ ชั้นก็ได้ โดยแต่ละชั้นอาจตั้งค่า Drop Shadow เพื่อสร้างเงา
  3. Photo ใช้รูปภาพกี่รูปก็ได้ หากใช้หลายภาพ ควรกำหนดให้มีภาพหลัก ภาพรอง เพื่อให้องค์ประกอบน่าสนใจ และไม่แย่งกันเด่นเกินไป
  4. Photo Mat กระดาษรองรูป เพื่อกำหนดขอบเขตให้รูปภาพ ช่วยให้รูปโดดเด่นขึ้นมาจากพื้นหลัง ถ้าพื้นหลังมีลวดลายมาก Mat ควรเป็นสีพื้นเรียบๆ หรือสีขาว
  5. หัวข้อ หรือ ไตเติ้ล Title อาจพิมพ์ลงไปเลย หรือมีพื้นหลังรองก็ได้ สำหรับสแครปบุ๊กดิจิทัลนั้น เรามีลูกเล่นให้กับ Title ได้มากมายกว่าสแครปบุ๊กจริงๆ เพราะไม่มีข้อจำกัดใดๆ
  6. คำบรรยาย Journalling เพื่อบันทึกเรื่องราว ซึ่งจะมีพื้นหลังหรือไม่มีก็ได้ และไม่มีข้อจำกัดเช่นเดียวกับ Title เช่นกัน
  7. ของตกแต่ง Embellishments เป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับชิ้นงานของเรา นิยมใช้ภาพถ่ายของตกแต่งจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นริบบิ้น โบว์ หรือของประดับอื่นๆ เพื่อให้ผลงานสแครปบุ๊ก ดูสมจริงที่สุด

รูปแบบ

Scrapbook Page แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลายรูป ใน 1 หน้า มีรูปหลักขนาดใหญ่ แต่เป็นภาพไกล เห็นทิวทัศน์ มีคนตัวเล็กๆ ส่วนรูปรองอีก 2 รูป เป็นภาพถ่ายใกล้ เห็นคนชัด จึงไม่แย่งซีนกัน

Scrapbook Page สำหรับเก็บในรูปแแบบไฟล์ดิจิทัล เราก็ทำแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่หากต้องการพรินต์ก็สามารถ Crop ลงขนาดกระดาษ A4 ได้

Digital Scrapbook Hybrid หลังจากทำสแครปบุ๊กดิจิทัลแล้ว เราสามารถจัดรูปเพื่อพรินต์ลงกระดาษ แล้วติดลงในอัลบั้ม จึงเป็นการทำงานสแครปบุ๊กดิจิทัลผสมผสานกับสแครปบุ๊กแบบดั้งเดิม

Don`t copy text!