Intro to Scrapbook

Intro to Scrapbook

โดย : Country Hobby

Loading

นอกจาก “อ่านเอา” จะมีนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังมีคอลัมน์ที่จะทำให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับการประดิดประดอยทำงานศิลป์ให้ใจสบายในคอลัมน์ “อ่านเอาคร้าบบ : Anowl Craft” โดย Country Hobby ผู้ท่องเที่ยว วาดรูป และทำงานประดิดประดอย เป็นงานอดิเรกอย่างมืออาชีพ

…………………………………………..

– Intro to Scrapbook –

 

หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้มาบ้างแล้ว แต่วันนี้เราจะมาเจาะลึก ว่าจริงๆ แล้วสแครปบุ๊กคืออะไร ใครที่รู้จัก แต่ยังไม่คุ้นเคย ก็จะได้รู้จักกันมากขึ้นนะคะ

 

ความเป็นมา

Scrapbook เริ่มเป็นงานอดิเรกตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14-15 เริ่มแรกเป็นการเก็บรวบรวมสิ่งต่างๆ เช่น จดหมาย บัตรอวยพร ใบเสร็จ ตั๋วต่างๆ ผู้เขียนเคยเห็นสมุดโบราณในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในยุโรป เขียนบันทึกด้วยลายมือสวยงาม มีลูกไม้ถักขนาดพอดีหน้าหนังสือ ตกแต่งด้วยดอกไม้ทับแห้ง และที่แปลกตาคือมีปอยผมอยู่ด้วย บางครั้งเป็นแค่ปอยเล็กๆ ผูกริบบิ้น บางครั้งก็ผมยาว มีการถักมัดเปียหรือมัดสานสวยงาม ซึ่งปอยผมนี้เป็นการมอบให้กันเป็นที่ระลึก ดังนั้น สแครปบุ๊กในยุคแรก จึงมีบทบาทเหมือนสมุดเฟรนด์ชิปด้วยเช่นกัน

เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้าขึ้นในยุควิกตอเรียน จึงมีการพิมพ์ภาพเพื่อใช้ประดับสมุดอย่างจริงจัง รวมทั้ง มีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นแพร่หลาย การตัดข่าวต่างๆ มาติดในสมุดจึงนิยมกันมาก

สแครปบุ๊กในรูปแบบปัจจุบันเริ่มมีในช่วงยุค 80s โดย Marielen W. Christensen จากเมือง Elk Ridge, รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวิธีการทำสแครปบุ๊กยุคใหม่ โดยจัดทำสมุดเก็บรวบรวมเรื่องราว รูปภาพครอบครัว ติดบนกระดาษขนาด Letter ซึ่งเป็นขนาดกระดาษมาตรฐานของอเมริกา เล็กกว่ากระดาษ A4 เล็กน้อย ใส่ในซองใส รวบรวมไว้ในแฟ้ม 3 ห่วง ซึ่งเธอได้นำผลงานที่ทำร่วม 50 เล่ม ไปแสดงในงาน The World Conference on Records จากนั้นเธอและสามีก็ร่วมกันเปิดร้านขายอุปกรณ์สแครปบุ๊กด้วย ในรูปนี้ เป็นตัวอย่างผลงานของเธอในช่วงแรกที่ได้นำไปจัดแสดงในงานดังกล่าว

เมื่อกิจกรรมการทำสแครปบุ๊กแพร่หลาย จนกลายเป็นหนึ่งในงานอดิเรกที่มีผู้นิยมมากมาย ส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านนี้เติบโต รูปแบบเริ่มเปลี่ยนไป จนมีขนาดกระดาษมาตรฐานของการทำสแครปบุ๊ก เป็นขนาด 12 x 12 นิ้ว และงานอดิเรกนี้ก็เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ จนเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

 

วัตถุประสงค์

ในการทำสแครปบุ๊กนอกจากเป็นงานอดิเรกที่สร้างความเพลิดเพลิน และส่งเสริมการใช้สมองซีกซ้ายได้คิดได้จินตนาการ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์แล้ว วัตถุประสงค์หลักคือการบันทึกความทรงจำในแต่ละช่วงเวลา ผ่านภาพ การจดบันทึก ในรูปแบบที่สวยงาม ให้ย้อนกลับมาชื่นชมได้ไม่รู้เบื่อ

แต่อะไรทำให้อัลบั้มรูปแตกต่างจากสแครปบุ๊ก? ถ้าอัลบั้มแบบที่มีการเขียนข้อความ มีการตกแต่งด้วยรูปต่างๆ ดังในภาพด้านล่างนี้ ที่ผู้เขียนทำไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ก็น่าจะนับรวมเป็นสแครปบุ๊กได้ แต่หากพูดถึงสแครปบุ๊กในปัจจุบันที่เป็นสากล จะมีความแฟนซีมากกว่าอัลบั้มรูปธรรมดา

 

องค์ประกอบ

เรามาดูกันว่าสแครปบุ๊กนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง

1. ชิ้นงาน (Background) แม้จะชื่อว่าสแครปบุ๊ก แต่ก็อาจจะทำบนกระดาษ แล้วเก็บในซองพลาสติกใสเป็นอัลบั้มก็ได้ หรือทำในสมุดเปล่าๆ ก็ได้ ถ้าทำบนกระดาษ เดิมนิยมทำขนาด 12 x12 นิ้ว แต่ในปัจจุบันใช้กระดาษขนาดต่างๆ ตามแต่จินตนาการ กระดาษที่ใช้เป็นกระดาษ Acid Free เพื่อไม่ทำให้รูปภาพซีดเร็ว นอกจากนี้ เริ่มมีความนิยมทำในสมุดเล่มเล็กที่เรียกว่า Traveler’s Notebook ด้วยเช่นกัน

2. รูปภาพ (Photo) รูปภาพที่พรินต์บนกระดาษที่ดี สามารถอยู่ได้นับร้อยปี จึงควรพิมพ์ภาพบนกระดาษที่ใช้พิมพ์ภาพโดยตรง มีคุณสมบัติทนแสงได้ดีในชิ้นงานหนึ่ง จะใช้รูปภาพกี่รูปก็ได้ แต่ถ้ามากไปก็จะแย่งกันดึงความสนใจ

3. คำบรรยาย (Journalling) เพื่อบันทึกเรื่องราว จะเขียนมากเขียนน้อยก็แล้วแต่ความต้องการและความถนัดของแต่ละคน แต่อย่างน้อยก็ควรมีวัน เดือน ปี หรือสถานที่

4. หัวข้อ หรือ ไตเติ้ล (Title) เราไม่ใช้คำว่า Header เหมือนหัวข้อของสิ่งพิมพ์อื่นๆ แต่ใช้ ‘ไตเติ้ล’ เป็นหัวข้อ และวางอยู่ตำแหน่งไหนบนชิ้นงานก็ได้

5. ของตกแต่ง (Embellishments) เป็นการสร้างมิติและความน่าสนใจโดยติดของตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็น กระดาษลายสวย, ภาพไดคัต, สติกเกอร์, กระดุม, ริบบิ้น ฯลฯ

 

รูปแบบ

Scrapbook Page ขนาด 12 x 12 นิ้ว

Scrapbook Page ขนาด 10 x 10 นิ้ว ใส่กรอบเป็นของขวัญ

Scrapbook Page ขนาด 8 x 8 นิ้ว ใส่กรอบ

Digital Scrapbook เป็นการทำสแครปบุ๊กในคอมพิวเตอร์ เหมาะกับยุคปัจจุบันที่เน้น Paperless ต้องใช้ทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บ้าง เช่น Photoshop ที่จะทำให้ได้ลูกเล่นแบบต่างๆ มากมาย แต่โปรแกรมง่ายๆ เช่น Microsoft Word หรือ Pages ก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งโอกาสหน้าผู้เขียนจะมาเล่าวิธีการทำให้ผู้อ่านได้ลองทำบ้าง โปรดติดตามนะคะ

เมื่อทำ Digital Scrapbook แล้ว สามารถพิมพ์ลงบนกระดาษ นำมาเก็บเป็นอัลบั้ม หรือตกแต่งสิ่งของอื่นๆ ได้ เช่น ในตัวอย่างนี้ ใช้ใส่ในแก้ว Tumbler ที่เปลี่ยนรูปข้างในได้

Scrapbook Page บนสมุด Traveler’s Notebook

ตัวอย่าง Scrapbook Album แบบที่ไม่ใส่ซอง เข้าเล่มโดยเจาะด้านข้างร้อยห่วง ซึ่งสามารถเพิ่มหน้า เรียงลำดับใหม่ได้ตามต้องการ

Don`t copy text!