การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 5 : การผ่าตัดครั้งแรก
โดย : อลิสา กัลยา
อ่านเอา มี นิยายออนไลน์ ให้คุณได้อ่านเพลิดเพลิน มีคอลัมน์หลากหลายให้ได้เปิดโลก และ “การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง” เรื่องราวของคุณแม่ชาวไทยในโอซาก้าที่พบว่าลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกนี้มีเพียงหัวใจแค่ครึ่งดวง จะเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์และความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ประทับใจไม่รู้ลืม
…………………………………………………
-5-
หลังวันเกิดมิอุได้เพียง ๒ วัน เธอก็ต้องเข้ารับการสวนหัวใจ วันถัดมา คุณหมอเรียวนัดให้ฉันกับสามีมารับฟังผลการตรวจ จากการวินิจฉัย โรคหัวใจของมิอุเป็นแบบ Tricuspid Atresia เป็นโรคหัวใจชนิดหายาก อัตราการเกิดหนึ่งต่อหนึ่งหมื่นคน โดยระหว่างหัวใจห้องซ้ายขวาและล่างนั้น มีกำแพงกั้นหัวใจขึ้นมาแทนที่จะมีลิ้นหัวใจอย่างปกติ เลือดเสียจึงไม่สามารถถูกส่งไปฟอกที่ปอด เพื่อให้กลายเป็นเลือดดีที่จะถูกส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ ด้วยการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกตินี้ทำให้เลือดดีและเลือดสีไหลเวียนผสมกันอยู่ภายในร่างกาย เกิดภาวะตัวเขียว เนื่องจากออกซิเจนที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งระดับความเขียวนั้นก็ขึ้นอยู่ความรุนแรงของความผิดปกติของหัวใจด้วย
ในขณะที่ระดับออกซิเจนของร่างกายปกติจะอยู่ที่ ๙๘-๙๙ เปอร์เซ็นต์ มิอุมีปริมาณออกซิเจนในร่างกายอยู่ที่ประมาณ ๘๐-๘๕ เปอร์เซ็นต์ ตามคำอธิบายของหมอเรียว ระดับออกซิเจนของมิอุตอนนี้ถือเป็นระดับที่ไม่ได้แย่มาก แต่ถ้าไม่ผ่าตัด ยิ่งเด็กโตขึ้น ประมาณออกซิเจนก็จะต่ำลงเรื่อยๆ และทำให้เสียชีวิตได้
ในเคสของมิอุนั้น โครงสร้างของหัวใจมีความปกติแบบที่ไม่สามารถผ่าตัดเพื่อให้โครงสร้างเป็นปกติได้ การผ่าตัดจึงมีเพื่อแก้ไขการไหลเวียนโลหิตใหม่ โดยสร้างทางเชื่อมส่งเลือดดำไปที่ปอดโดยตรง ไม่ต้องผ่านไปยังหัวใจ แต่ระบบการไหลเวียนเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ในการผ่าตัดครั้งเดียว แรงดันของเลือดดำที่สูงจะทำให้ปอดเสียหายอย่างหนัก การผ่าตัดจึงต้องแบ่งออกเป็น ๓ ครั้ง ตามช่วงอายุและสภาพร่างกายที่พร้อมกับการผ่าตัดในแต่ละครั้ง
ครั้งแรกคือ การผ่าตัด Blarock-Taussing Shunt หรือที่เรียกย่อๆ กันว่า BT Shunt เป็นการผ่าตัดเพื่อประคับประคองอาการขาดออกซิเจนเพราะเลือดไปฟอกที่ปอดน้อย โดยนำหลอดเลือดเทียมเชื่อมหลอดเลือดแดงที่ต้นแขนไว้กับหลอดเลือด Pulmonary (หลอดเลือดที่ส่งต่อเลือดดำไปฟอกที่ปอด)
หลังจากผ่าตัด BT Shunt ได้สักระยะ ประมาณ ๑-๓ ขวบ ก็จะเริ่มการรักษาโดยการผ่าตัด Glenn Shunt ซึ่งแพทย์จะเชื่อมต่อเส้นเลือดดำจากส่วนหัวและแขน (Superior Vena Cava) เข้ากับเส้นเลือด Pulmonart เป็นการเปลี่ยนระบบไหลเวียนเลือดดำของส่วนบนของร่างกาย
Fontana Operation คือการผ่าตัดสุดท้าย โดยจะรอให้มิอุอายุประมาณ ๓ ขวบขึ้นไปเสียก่อน เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเส้นเลือดดำจากส่วนล่างของร่างกายต่อกับเส้นเลือดดำปอด จบขั้นตอนนี้ร่างกายจะมีระบบไหลเวียนของเลือดดำใหม่ โดยทั้งหมดจะเข้าสู่ปอดโดยตรง
“สำหรับมิอุจัง อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด BT Shunt ก็ได้นะครับ ถ้าระดับออกซิเจนไม่ต่ำไปกว่านี้ไปจนถึงอายุ ๖ เดือน จะได้ข้ามไปผ่าตัด Glenn ได้เลย” หมอเรียวพูดขึ้นมาให้ใจฉันชื้นขึ้นมาเล็กน้อย
ด้วยระดับออกซิเจนที่ไม่ต่ำมากนัก หลังจากอยู่โรงพยาบาลได้ ๑ เดือน ปลายฤดูหนาวปีเฮเซที่ ๒๒ มิอุออกจากโรงพยาบาล ได้กลับมาบ้านเป็นครั้งแรก ถือเป็นความโชคดีเล็กน้อย เพราะอากาศเริ่มจะอุ่นขึ้นมานิดหน่อยแล้ว ก่อนออกจากโรงพยาบาล ฉันถามหมอเรียวว่าต้องดูแลมิอุเป็นพิเศษอย่างไรบ้าง คุณหมอบอกแค่ว่า
“เลี้ยงเหมือนเด็กทารกปกติแหละครับ เพียงแต่อย่าให้เด็กร้องไห้หนักเป็นเวลานาน”
ปกติเวลาคนเราร้องไห้หนัก ออกซิเจนในร่างกายจะลดต่ำลงอยู่แล้ว ซึ่งหากเป็นเด็กโรคหัวใจอย่างมิอุที่ระดับออกซิเจนน้อยมาตั้งแต่เกิด การร้องไห้อย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการตัวเขียวขึ้นได้ง่าย
“นอกจากนี้แล้ว คอยดูริมฝีปากกับเล็บเอาไว้ด้วยนะครับ ถ้ามีสีม่วงมาก ขอให้โทรมาที่โรงพยาบาลทันที”
การเป็นคุณแม่มือใหม่นั้นเต็มไปด้วยความเครียดไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ในกรณีฉัน ความรู้สึกที่ได้เดินทางกลับบ้านพร้อมมิอุครั้งแรกผสมปนเปกันทั้งความยินดีและความกังวลใจ
ฉันเลี้ยงมิอุตามปกติ ให้นม เปลี่ยนผ้าอ้อม คอยหยอกเล่นกับเธอ แต่ด้วยข้อระวังอย่าให้เด็กร้องไห้นาน ทำให้พอมิอุร้องปุ๊บ ฉันต้องกระวีกระวาดอุ้มขึ้นมาทันที แม้จะยังไม่คุ้นและเหนื่อยล้ากับการเลี้ยงลูกแบบนี้มาก แต่ความเคยชินก็เข้ามาแทนที่ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ ๒ ความเครียดที่ก่อตัวอยู่รอบๆ ก็พอจะลดลงไปได้ ก่อนที่ชีวิตคุณแม่มือใหม่แบบปกติที่คนอื่นๆ เขาเป็นกันนี้จะจบลงในสัปดาห์ที่ ๓ เมื่อพามิอุไปตรวจตามนัดที่แผนกผู้ป่วยนอก
“อืม ระดับออกซิเจนลดน้อยลงนะครับ” คุณหมอคายาทานิ หัวหน้าแผนกโรคหัวใจเด็ก ซึ่งเป็นหมอหลักในการตรวจผู้ป่วยนอก บอกฉันหลังจากพยาบาลจัดแจงนำที่วัดออกซิเจนมาตรวจมิอุที่ปลายนิ้ว “คงต้องให้กลับมาอยู่ที่โรงพยาบาลจะดีกว่านะครับคุณแม่”
จะว่าใจหายก็ไม่เชิง เพราะฉันสังเกตเห็นริมฝีปากของมิอุที่เริ่มม่วงขึ้นมากเมื่อเทียบกับตอนกลับบ้านมาสองสามวันแรกได้สักพักแล้ว แต่พอฉันได้รับเอกสารอธิบายความจำเป็นและแผนการรักษาในการเข้าโรงพยาบาลของมิอุครั้งนี้ เลื่อนตาอ่านไปยังบรรทัดที่บอกระยะเวลาการเข้าโรงพยาบาลที่ถูกเขียนไว้ว่า ‘ไม่ระบุวันออกจากโรงพยาบาล’ ใจฉันก็เริ่มว้าวุ่นขึ้นมา
เนื่องจากมิอุยังเป็นเด็กทารกอยู่ ความรู้สึกห่างแม่จึงยังไม่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลแนะนำว่า ฉันไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลเหมือนมิอุ ฉันเลยกลายเป็นคุณแม่ประจำวันไปเสีย ชีวิตประจำวันวนเวียนอยู่กับการเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล ถึงโรงพยาบาล ๙ โมงเช้า และออกจากโรงพยาบาลประมาณ ๕-๖ โมงเย็น (ถ้ามีบัตรตอกเข้าทำงาน ก็คงเป็นเจ้าหน้าที่ของโบะชิเซ็นเตอร์ได้เลย)
ฉันดำเนินชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับคำอธิษฐานในใจ ขอให้ระดับออกซิเจนในร่างกายมิอุไม่ลดน้อยลงไปกว่านี้ แต่ก็นั่นแหละ ชีวิตคนเรามันจะเป็นไปตามที่เราต้องการได้ตลอดเวลาได้อย่างไรกัน แม้ว่าเราจะเฝ้าอธิษฐาน ร้องขอ วิงวอนเท่าไรก็ตาม
บ่ายแก่วันหนึ่ง หมอเรียวเดินเข้ามาคุยกับฉัน ทางทีมแพทย์ได้กำหนดวันผ่าตัดครั้งแรกของมิอุแล้ว
การผ่าตัด BT Shunt จะมีขึ้นอาทิตย์ถัดไป เมื่อมิอุอายุได้เกือบ ๓ เดือน
ต้นเดือนพฤษภาคม ปีเฮเซที่ ๒๓ มิอุก็เข้ารับการผ่าตัดครั้งแรก เธอยังเล็กเกินกว่าจะจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นได้ ตรงกันข้ามกับคนเป็นแม่อย่างฉันที่มีความทรงจำที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ได้อย่างละเอียด หลังการรอคอยเกือบ ๔ ชั่วโมงสิ้นสุดลง ฉันเดินเข้าไปหามิอุในห้องไอซียู หน้ามิอุบวมเป่ง มีท่อจากเครื่องช่วยหายใจใส่ในปาก หมอเรียวยืนอยู่ข้างเตียง บอกฉันด้วยเสียงอ่อนโยนกว่าทุกครั้งว่าการผ่าตัดเรียบร้อยดี พรุ่งนี้เราจะลองถอดเครื่องช่วยหายใจดูว่ามิอุสามารถหายใจด้วยตัวเองได้หรือไม่ ฉันเฝ้ามิอุอยู่ในไอซียูอีกพักใหญ่ สามีก็เดินมาสะกิดว่า กลับบ้านไปพักผ่อนเถอะ
ระหว่างตึกที่มีห้องไอซียูกับทางออกของโรงพยาบาลเพื่อจะไปที่จอดรถ มีทางเดินค่อนข้างยาวทีเดียวเชื่อมอยู่ ฉันเดินบนทางเดินนี้มานับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งรู้สึกว่าทางเดินไม่ได้ยาวเท่าไรนัก ด้วยความรีบเร่งของผู้คนรอบข้าง รวมถึงตัวฉันเองที่เร่งฝีเท้าอยากเจอหน้ามิอุเร็วๆ แต่บางครั้งกลับเดินบนทางเดินนี้ด้วยความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ
เย็นวันผ่าตัดครั้งแรกในชีวิตของมิอุ ระหว่างเดินไปที่จอดรถ แม้ว่าฉันจะพยายามก้าวเท้าให้เร็วขึ้น แต่ฝีเท้าตัวเองกลับสั้นไม่เท่าที่ใจต้องการ ฉันเดินไปเรื่อยๆ มือพยายามปัดน้ำตาออกจากสองแก้ม พร้อมถามตัวเองอยู่หลายรอบ
“มันจะผ่านไปใช่มั้ย?”
ฉันพูดกับตัวเองซ้ำๆ วนไปวนมา บนทางเดินที่รู้สึกว่าวันนี้ช่างยาวเสียเหลือเกิน
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง : บทส่งท้าย
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 22 : รำลึก เหตุการณ์สึนามิ ๑๑ มีนาคม
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 21 : วิ่งสิ มิอุ วิ่ง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 20 : คำขอบคุณ
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 19 : คางูยะฮิเมะ เจ้าหญิงจากดวงจันทร์
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 18 : พระเจ้ากับเทวดาน้อย
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 17 : เรื่องของโคจัง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 16 : คำปลอบใจ
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 15 : ท่องโลกกว้างด้วยหัวใจเพียงครึ่งดวง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 14 : หมอคาวาตะ ーคุณหมอแจมมุโอจิซัง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 12 : กลับสู่ชีวิตในโรงพยาบาลอีกครั้ง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 13 : รอยยิ้ม
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 11 : ของขวัญ
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 10 : คำอธิษฐานในฤดูหนาวหนึ่ง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 9 : ริกะจัง สาวน้อยผู้มีริมฝีปากคล้ำตลอดเวลา
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 8 : ชีวิตดั่งนั่งรถไฟเหาะตีลังกา
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 7 : ตกหลุมรักฤดูใบไม้ร่วงอีกครั้งหลังการผ่าตัดครั้งที่สอง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 6 : คุณหมอเรียว - หมอโรคหัวใจคนแรกของมิอุ
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 5 : การผ่าตัดครั้งแรก
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 4 : เด็กน้อยห่อผ้าดอกมะลิ
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 3 : จุดเริ่มต้นของการเดินทาง
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 2 : ความเศร้าในใจยามใบไม้เปลี่ยนสี
- READ การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 1 : กล่องคุกกี้แห่งความฝัน