การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 6 : คุณหมอเรียว – หมอโรคหัวใจคนแรกของมิอุ

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 6 : คุณหมอเรียว – หมอโรคหัวใจคนแรกของมิอุ

โดย : อลิสา กัลยา

Loading

อ่านเอา มี นิยายออนไลน์ ให้คุณได้อ่านเพลิดเพลิน มีคอลัมน์หลากหลายให้ได้เปิดโลก และ “การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง” เรื่องราวของคุณแม่ชาวไทยในโอซาก้าที่พบว่าลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกนี้มีเพียงหัวใจแค่ครึ่งดวง จะเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์และความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ประทับใจไม่รู้ลืม

…………………………………………………

-6-

 

วินาทีแรกที่ได้เจอคุณหมอเรียวนั้น คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจคือ “นี่หมอแน่เหรอ? ด้วยทรงผมที่ยุ่งเหยิง รอยหนวดเขียวๆ รอบคางที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้โกนมาหลายวัน รวมถึงการเดินลากเท้าเหมือนจิ๊กโก๋แถวบ้าน ทำให้ต้องถามตัวเองเป็นรอบที่สอง “นี่หมอแน่เหรอ?”  แต่ก็อย่างว่า จริงๆ แล้วคนเป็นหมอต้องมีภาพลักษณ์และท่าทางอย่างไรคงไม่ได้ถูกกำหนดอย่างตายตัว แต่ถ้าจะให้ประเมินภาพลักษณ์ของหมอเรียว ความน่าเชื่อถือที่มีให้ในครั้งแรกที่พบเจอนั้นแทบจะติดลบ

เหมือนที่เราเคยอ่านเจอในการ์ตูนบ่อยๆ หมอที่มีลักษณะไม่น่าเชื่อถือแบบนี้ มักจะเป็นหมอที่ทำให้คนไข้ประทับใจเสมอ ในกรณีของหมอเรียวมันก็เกิดขึ้นจริงๆ แม้ว่าหมอเรียวจะไม่ได้เป็น God hand เหมือนหมอเทรุในการ์ตูนก็ตาม

ตลอดสามสิบปีของชีวิตที่ผ่านมา ฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เจอหมอเท่าไร  ตอนนั้นคิดว่าหมอที่จะทำให้คนไข้ประทับใจได้คงต้องเป็นหมอที่ฝีมือเก่งเท่านั้น จนกระทั่งลูกสาวตัวน้อยเป็นโรคหัวใจ ทำให้มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสกับโลกการแพทย์เป็นอย่างมาก จึงได้ค้นพบว่านอกจากฝีมือแล้ว มันยังมี ‘บางสิ่ง’ ที่จะเป็นตัวสร้างความประทับใจอีกด้วย

สำหรับหมอเรียวนั้น ฝีมือคุณหมอเก่งหรือเปล่า เราก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เพราะโรงพยาบาลที่มิอุรักษาอยู่นี้หมอจะทำงานเป็นทีม ในหนึ่งทีมจะมีหมอใหญ่และหมอผู้ช่วยรวมแล้วเกือบสิบคน แต่เพราะความตรงไปตรงมา ความตลก (แบบไม่ได้ตั้งใจ) และความเอาใจใส่ของหมอเรียวมากกว่าที่ทำให้เราประทับใจไม่มีวันลืม

ความประทับใจในตัวหมอเรียวส่วนมากมักจะเกิดจากวิธีการพูดของหมอเรียวมากกว่า เวลาเราถามอะไร คุณหมอจะตอบมาด้วยความจริงที่เรียกรอยยิ้มจากฉันได้เกือบทุกครั้ง แม้บางครั้งจะเป็นยิ้มแบบเฝื่อนๆ ก็ตาม

สองวันหลังจากคลอดมิอุ มิอุก็เข้ารับการสวนหัวใจทันที หมอเรียวอธิบายโรคหัวใจและแนวทางการรักษาให้ฟังอย่างละเอียด พออธิบายเสร็จ ฉันหันไปถามต่อว่า “เคยอ่านเจอว่าคนที่เป็นโรคหัวใจแบบนี้จะมีอายุได้ประมาณสี่สิบปี จริงหรือเปล่าคะคุณหมอ” หมอเรียวเงียบไปสักพักหนึ่ง แล้วหัวเราะตบบ่าเรา บอกว่า “โอ๊ย คุณแม่คร้าบบบ ไม่ต้องคิดมาก อย่างพวกเราๆ ที่เกิดมาไม่มีโรคประจำตัว วันนี้ขับรถกลับบ้านอาจถูกรถชนตายก็ได้”

ระหว่างที่มิอุอยู่โรงพยาบาลจนกระทั่งผ่าตัด หมอเรียวจะเป็นหมอผู้ดูแลมิอุตลอด แรกทีเดียว ฉันสัมผัสถึงความเกร็งของหมอเรียวเวลาคุยกับฉันมาก อาจเป็นเพราะไม่ค่อยเจอคุณแม่ต่างชาติที่ความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นย่ำแย่เหมือนเรา ทุกครั้งหมอเรียวจึงพยายามพูดภาษาอังกฤษกับฉัน ทั้งๆ ที่คุณหมอพูดไม่ได้!! จนต้องบอกหมอเรียวไปว่า “เอ่อ พูดญี่ปุ่นก็ได้ค่ะ คำง่ายๆ เข้าใจค่ะ” แต่หมอเรียวก็ยังเป็นหมอเรียว เพราะฉันยังคงแอบเห็นกระดาษโพยภาษาอังกฤษในมือของหมอตลอด

เวลาผ่านไปเรื่อยๆ คุณหมอคงรู้สึกได้ว่าภาษาญี่ปุ่นของฉันนั้นไม่แย่เท่าไร ยังคงพอสื่อสารกันได้ ความเกร็งที่เคยมีจึงเริ่มลดน้อยหายไป หมอเรียวเริ่มคุยกับฉันเหมือนเพื่อน ทั้งๆ ที่เวลาคุณหมอคุยกับคุณแม่ญี่ปุ่นคนอื่น ฉันเห็นได้ชัดเลยว่าคุณหมอจะคุยแบบวางฟอร์ม ใช้ภาษาที่เป็นทางการมาก แต่ด้วยความไม่มีฟอร์มเนี่ยแหละ พอมิอุออกจากโรงพยาบาลแล้ว ฉันถึงกล้าที่จะโทรหาหมอเรียวทุกครั้งเวลาที่เกิดความไม่สบายใจว่ามิอุจะเป็นอะไรไป จนคุณหมอต้องพูดทิ้งท้ายทุกครั้งว่า “คุณแม่คร้าบบบบ วันหลังไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ต่อสายถึงผมนะครับ ให้ต่อไปยังคุณหมอใหญ่ที่ดูแลผู้ป่วยนอกแทน เพราะตอนนี้มิอุจังไม่ได้เป็นผู้ป่วยในแล้ว” ไม่วาย ด้วยความหลงลีม ฉันก็ยังโทรหาหมอเรียวและคุณหมอก็ยังรับสายเราทุกครั้ง

พอมิอุออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ยังต้องไปตรวจสุขภาพทุกเดือน บางทีฉันก็ได้เจอหมอเรียวด้วยความบังเอิญ มีครั้งหนึ่งฉันบ่นให้หมอเรียวฟังว่า “น้ำหนักมิอุไม่ค่อยขึ้นเท่าไรเลยค่ะ”

“โอ้ย ไม่ขึ้นหรอกครับคุณแม่ ต้องรอผ่าตัดครั้งต่อไปให้เสร็จก่อนถึงจะขึ้นดี”

คุณหมอยังคงเส้นคงวาในบทสนทนาเหมือนเดิม

“แหม คุณหมอช่างไม่ให้กำลังใจกันเสียเลย” ฉันได้แค่คิดอยู่ในใจ แต่คิดอีกทางก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องเครียดมาก

ทั้งๆ ที่หมอใหญ่พยายามให้กำลังใจเรา บอกให้พยายามทำให้มิอุน้ำหนักมากกว่านี้

หรือจะเป็นตอนที่เราไปปรึกษาว่า เวลามิอุกินนมต้องเปิดทีวีไปด้วยถึงจะยอมกินครึ่งขวดที่เหลือจนหมด จำได้ว่าตอนนั้น เครียดมาก เพราะไม่อยากให้ลูกดูทีวีเท่าไร หมอเรียวหัวเราะบอกว่า “ไม่ต้องเครียดหรอกครับ ดูทีวีนิดหน่อยไม่เป็นไรหรอก อย่าปล่อยให้ดูทั้งวันละกัน” ฉันถามหมอเรียวต่อว่า “แล้วถ้าต้องเข้าโรงพยาบาล จะทำยังไงล่ะคะ” คุณหมอเงียบไปนิดหนึ่งแล้วบอกว่า “นั่นสินะ เอาเถอะครับ ไว้ถึงเวลานั้นค่อยว่ากันอีกที”

แต่เห็นหมอเรียวพูดขำๆ เหมือนไม่คิดแบบนี้ คุณหมอก็รู้จักสรรหาคำพูดดีๆ มาปลอบใจเหมือนกัน

ครั้งหนึ่งตอนที่มิอุเข้าโรงพยาบาลเป็นครั้งที่สามเพราะท้องเสียและอาเจียนทุกครั้งเวลากินนมเสร็จ คืนก่อนออกจากโรงพยาบาล พอมิอุหลับแล้ว ฉันเดินออกมาจากห้องพักคนไข้เพื่อไปกินข้าวเย็น ด้วยความเครียดและความไม่สบายใจที่สั่งสมมา ทำให้อยู่ๆ ก็นั่งร้องไห้คนเดียว หมอเรียวเดินมาเห็นพอดี เพียงแค่คุณหมอถามว่าเป็นอะไร สิ่งที่อัดอั้นในใจก็พรั่งพรูออกมาหมด หมอเรียวไม่มีทีท่าตกใจเลย กลับยิ้มแล้วบอกเราว่า

“สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้วให้มันเกิดไป แต่คุณแม่รู้มั้ยครับว่า ถ้ามิอุไม่ได้เกิดมาพร้อมกับโรคหัวใจ คุณแม่คงไม่ได้ดูแลเขาได้ดีขนาดนี้”

พอได้ยินแล้ว กลับยิ่งร้องไห้หนักกว่าเดิม แต่ครั้งนี้ร้องด้วยความประทับใจกับสิ่งที่ได้ยิน เป็นคำพูดที่จนถึงทุกวันนี้ เวลาเราท้อในการเลี้ยงลูก พอคิดถึงเมื่อไรก็มีกำลังใจขึ้นมาทุกครั้ง

แม้ตอนนี้คุณหมอเรียวจะไม่ได้ทำงานที่โบะชิเซ็นเตอร์อีกต่อไปแล้ว ด้วยความที่โบะชิเซ็นเตอร์เป็นศูนย์วิจัยของรัฐด้วย ทำให้มีหมอผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาทุกปี แต่ฉันก็คิดว่าคุณหมอเรียวคงไปสร้างความตลกและความประทับใจให้กับคุณแม่คนอื่นๆ ที่โรงพยาบาลสักแห่งในญี่ปุ่นอยู่อีกแน่นอน

 

Don`t copy text!