การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 21 : วิ่งสิ มิอุ วิ่ง

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 21 : วิ่งสิ มิอุ วิ่ง

โดย : อลิสา กัลยา

Loading

อ่านเอา มี นิยายออนไลน์ ให้คุณได้อ่านเพลิดเพลิน มีคอลัมน์หลากหลายให้ได้เปิดโลก และ “การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง” เรื่องราวของคุณแม่ชาวไทยในโอซาก้าที่พบว่าลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกนี้มีเพียงหัวใจแค่ครึ่งดวง จะเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์และความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ประทับใจไม่รู้ลืม

…………………………………………………

-21-

๑.

“มิอุจังยังวิ่งได้หรือเปล่าครับ?”

ฉันจำไม่ได้แน่นอนว่าตั้งแต่เมื่อไรที่คำถามดังกล่าวถูกถามจากปากคุณหมอคาวาตะ แต่มันเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบเสมอทุกครั้งระหว่างการนัดตรวจหัวใจ

“พอเด็กโตขึ้น ตัวเขาเองจะรู้จักการคอนโทรลร่างกายตัวเองนะครับคุณแม่ ถ้ายังวิ่งได้ แสดงว่ายังแข็งแรงดีอยู่”

เวลาฉันเห็นลูกสาววิ่งเล่นทีไร ฉันจึงอดคิดถึงคำถามของคุณหมอคาวะตะเสียไม่ได้  งานกีฬาสีประจำปีที่จัดขึ้นต้นฤดูใบไม้ผลิ เป็นครั้งแรกที่มิอุได้วิ่งแข่ง ๕๐ เมตร แม้ตอนเรียนอนุบาล จะมีแข่งวิ่งคล้ายๆ กัน แต่คราวนี้ระยะทางยาวกว่าเยอะ นี่ยังเป็นครั้งแรกของงานกีฬาสีที่จัดกลางแจ้ง ซึ่งแน่นอนว่า อากาศต้องร้อนอบอ้าวมากกว่า

ฉันมองเห็นมิอุตรงจุดสตาร์ทอยู่แต่ไกล สิ้นเสียงปืนดัง เด็กประถมสี่คนพยายามวิ่งไปให้ถึงเส้นชัย ระยะทางประมาณนี้ ใช้เวลาสองถึงสามนาที เวลาเพียงสั้นๆ แต่มีความนึกคิดหลายสิ่งผ่านเข้ามา คิดถึงตอนเจ้าลูกสาวตัวดีบ่นกระปอดกระแปดมาหลายอาทิตย์ก่อนหน้าว่าเธอวิ่งช้า และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเซนส์ด้านกีฬา

ฉันเห็นแผ่นหลังของเธอวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย เธอกระโดดโลดเต้น อยู่ตรงเส้นชัยกับเพื่อนคนอื่นๆ ฉันไม่รู้สึกเสียใจสำหรับที่โหล่ของเธอเลย ฉันคิดถึงแต่คำพูดของคุณหมอคาวาตะ

“ถ้ายังวิ่งได้แสดงว่ายังแข็งแรงดีอยู่”

๒.

โรงเรียนในญี่ปุ่นมักส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬา หลังจากงานกีฬาสีประจำปีแล้ว ก็จะมีงานวิ่งมาราธอนที่จัดขึ้นระหว่างภาคการศึกษาที่ ๓ อีก ระยะทางสำหรับเด็กประถมหนึ่งและสองคือ ๑.๒ กิโลเมตร แม้จะเป็นการวิ่งวนๆ อยู่ในสนามโรงเรียน แต่การต้องวิ่งท่ามกลางอากาศหนาวเย็น กลางเดือนกุมภาพันธ์เช่นนี้ เป็นอีกครั้งที่ฉันจะอดห่วงมิอุขึ้นมาไม่ได้

ก่อนวันวิ่งจริง จะมีการฝึกวิ่งทุกวันเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น ฉันถามมิอุทุกเย็นหลังจากกลับบ้านว่า

“วิ่งไหวมั้ย ถ้าเหนื่อยก็บอกครูเขานะลูก” เธอมักจะทำหน้าบูดเบี้ยวเหมือนถูกสบประมาท และหัวเราะบอกว่า “โอ๊ย สบายมาก มิอุวิ่งได้อยู่แล้ว วิ่งเร็วด้วยนะ”

ฉันไม่รู้ว่าที่มิอุบอกจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะที่บอกว่าเธอวิ่งได้เร็ว (เพราะตอนงานกีฬาสียังบ่นอยู่เลยว่าตัวเองวิ่งช้า)

เด็กในวัยประถมอย่างมิอุจะเริ่มรู้สึกถึงการแข่งขันระหว่างเพื่อนขึ้นมาแล้ว ใจหนึ่งฉันเชื่อลูกสาวว่า เธอคงวิ่งได้อย่างสบายๆ แต่อีกใจหนึ่งตามประสาคนเป็นแม่ที่จะอดห่วงไม่ได้ว่า มิอุจะวิ่งจนเกินกำลังตัวเองเพราะอยากเอาชนะเพื่อน

แต่การห้ามไม่ให้มิอุเข้าร่วมการแข่งขันอาจทำให้มิอุเองรู้สึกไม่ดีนัก ที่สำคัญ ฉันไม่อยากปลูกฝังความคิดว่าเธอเป็นคนอ่อนแอ จึงได้เพียงปรึกษากับครูประจำชั้นว่า ถ้ามิอุทำท่าเหนื่อยเมื่อไร ขอให้เข้าไปบอกให้เธอหยุดพักทันที

แล้วงานวิ่งมาราธอนก็มาถึง เช้านั้นอากาศหนาวเหน็บ มิอุในชุดกีฬา ใส่หมวกสีแดง ยืนรอพร้อมเพื่อนๆ ณ จุดสตาร์ท สิ้นเสียงดังจากปลายกระบอกปืนที่ใช้ยิงขึ้นฟ้า เด็กสามสิบกว่าคนก็ออกวิ่ง เด็กผู้ชายมักจะวิ่งนำหน้าเสมอ ส่วนมิอุจัดอยู่ในกลุ่มวิ่งความเร็วปานกลาง เธอรักษาความเร็วได้ดีมาก ค่อยๆ วิ่ง แต่ไม่ถึงกับช้าจนรั้งท้าย

ไม่นานนัก ฉันย้ายตัวเองไปยืนอยู่ตรงเส้นชัย เด็กน้อยคนที่ ๑๙ วิ่งเข้าเส้นชัยในสภาพเหนื่อยหอบ มองดูริมฝีปากเธอไม่มีสีคล้ำแต่อย่างใด เป็นอีกครั้งที่ฉันคิดถึงสิ่งที่คุณหมอคาวาตะบอกอยู่เสมอ

“ถ้ายังวิ่งได้ แสดงว่ายังแข็งแรงดีอยู่”

ใช่แล้ว ถ้ายังวิ่งได้แสดงว่าพลังชีวิตของเธอยังคงมีอยู่

 

Don`t copy text!