
ละอ่อนบ้านบน บทที่ 16 : ตนชุ่มเย็น
โดย : มาลา คำจันทร์
เมื่อครั้งความเจริญยังไม่ย่างกรายเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ภูตผีดีร้ายและความเชื่อหลากหลายยังวนเวียนอยู่รอบกาย ผีกับคนอะไรน่ากลัวกว่ากัน ผีมีจริงหรือไม่ ผีคือะไรกันแน่ ‘ละอ่อนบ้านบน’ คือนวนิยายเรื่องล่าสุดโดย มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ ๒๕๕๖ จะพาคุณไปสำรวจเรื่องราวส่วนลึกในใจของผู้คนและในใจของตัวเราเอง
“เมื่อใดมึงจะได้บวช สุมิตร”
“อาจปีหน้า ตุ๊พี่ว่าปีนี้เจ้าตุ้ยเป็นพยาธิร้าย เอาไปรักษายังเมืองเชียงใหม่ เสี้ยงเงินเสี้ยงทองหลายอยู่”
“แล้ววันนี้ตุ๊พี่ไปไหน”
“ไปเยี่ยมเจ้าตุ้ยที่เชียงใหม่ พาเอาเณรสิทธิ์ไปด้วย นอนเชียงใหม่สองคืนค่อยกลับ กูเลยชวนมึงกับไอ้ยศมานอนเป็นเพื่อน”
ปีที่ละอ่อนบ้านบนกับละอ่อนบ้านลุ่มสองคนไปเรียนต่อชั้น ป.5 ที่โรงเรียนม่วงโทนนั้น เด็กชายสุมิตร ยังไม่ได้บวชเพราะแม่ออกเค้าหรือเจ้าภาพหลักคือเจ้าตุ้ยแม่ของหลวงพี่เมฆป่วยไข้เป็นอะไรไม่รู้ พี่ยุพาน้องสาวของหลวงพี่เมฆเอาไปรักษาที่เชียงใหม่ อยู่มาวันนี้หลวงพี่พาเอาเณรสิทธิ์คนสนิทชิดใกล้ไปเยี่ยมแม่ สุมิตรไม่กล้านอนกุฏิคนเดียว จึงไปชักชวนเอาบุญส่งกับสมยศมานอนเป็นเพื่อน โชคดีที่เป็นคืนวันศุกร์กับวันเสาร์ พ่อจึงให้ไป
แต่เราทั้งคู่กลับนอนเป็นเพื่อนมันได้เพียงคืนเดียว เกือบไม่ถึงคืนเสียด้วยซ้ำ แต่นั้นมา หากหลวงพี่หรือเณรสิทธิ์ไม่อยู่เราจะไม่ไปนอนที่นั่นเด็ดขาด
กุฏิหลวงพี่เมฆอยู่ทางด้านหลังวัด อยู่เยื้องลานพระเจดีย์ใกล้ไปทางโรงเรียนวัดมังคลารามที่เราทั้งสามเพิ่งจบออกมาไม่ถึงปีดีนัก เป็นกุฏิไม้ชั้นเดียว สูงจากพื้นราวสามศอกเศษ มีบันได้ห้าขั้นก่ายไว้ หลังไม่ใหญ่ไม่สูงอะไรมากมายนัก สร้างขึ้นแต่เมื่อพ่อของหลวงพี่ยังมีชีวิตอยู่ ก็น่าจะราวสิบปีผ่านมาแล้ว ดูเหมือนว่ากุฏิสร้างเสร็จไม่นาน พอได้ทำบุญถวายไว้กับพระศาสนาสำเร็จเสร็จสรรพ พ่อลุงคำลูนก็เสียชีวิต
“เท่าที่ตาจำได้” ตานึกย้อนความหลัง “เขาเจาะจงอุทิศส่วนบุญไปหาอีนางผู้นั้น”
“อีนางผู้ใด”
“ผู้ผูกคอตายทั้งกลม”
“ที่ว่าเคียดแค้นคุกคามจนหลวงพี่อยู่นอกวัดไม่ได้ใช่ไหมตา”
“ผู้นั้นละ อีนางผู้อื่นไม่มีใครผูกคอตายทั้งท้องยังกลม มีแต่อีนางผู้นั้น”
“คนบ้านไหนตา”
“หลิ่งน้ำชำ”
“กลั่นไหมตา” หลานชายถามว่าดุไหม “ผีพี่นางผู้นั้น”
“ก็กลั่น ถือว่าดุดันกลั่นกล้าผู้หนึ่ง” ตาตอบ “มันผูกคอตายกับกิ่งไม้ท้ายบ้านหลิ่งน้ำชำ ลิ้นมันแลบออกมายาวเลยคาง แต่ตามันกลับถมึงทึงเบิกโพลงเหมือนยังมีชีวิต”
“ตาเห็นหรือ”
“ไม่เห็น ชาวหลิ่งน้ำชำเขาเล่า เขาว่าป่าไม้ท้ายหมู่บ้าน ไม่มีผู้ใดกล้าเฉียดใกล้เฉียดกราย ไม่ว่าเมื่อวันเมื่อคืนมันออกมาหลอนได้ทั้งนั้น จะเห็นมันผูกห้อยโตงเตงแลบลิ้นยาวถึงคอ ดึกด่ำน้ำย้อย เดือนคล้อยหลังเขา คนลับคนนอนเขาสะดุ้งตื่นด้วยเสียงกรีดร้องก้องดึกดังขึ้น ดังเหมือนเสียงเปรต หวีดแหลมลากยาวเจ็บปวดคลั่งแค้น มันว่าไม่เอามึงถึงตายกูไม่ยอมไปเกิด มันอาจไม่หลอกเขาแต่สร้างความเดือนร้อนแก่เขา ชาวหลิ่งน้ำชำเลยพร้อมใจกันทำพิธีสวดถอนสังคหะ ครูบาเจ้าตนลับก็เป็นผู้หนึ่งที่เขานิมนต์ไปทำพิธีสวดถอน ก็ค่อนผ่อนค่อยมายหายไป ชาวหลิ่งน้ำชำก็นึกว่ามันไปเกิดใหม่แล้ว แต่มันกลับย้ายจากหลิ่งน้ำชำมาอยู่บ้านบน หลอกหลอนลูกเจ้าตุ้ยไปทุกที่ทุกแห่ง ขู่ฆ่าจะเอาชีวิต ลูกเจ้าตุ้ยมาขอครูบาเจ้าตนลับผายโผด ท่านว่ามีทางเดียวจะรอดจากผีตัวนั้นได้คือเข้าผ้าเหลืองจนกว่าจะได้ฌานแก่กล้า หาไม่ก็ต้องบวชไปชั่วชีวิต”
“มันได้ฆ่าใครมาบ้างหรือไม่ ตา”
“ไม่ได้ยินข่าวยินคราวว่ามันฆ่าใคร”
“ไยครูบาเจ้าตนลับไม่กำราบปราบปรามพี่นางสางโหงผู้นั้นให้มันฉิบหายวายหัวไปเลย”
“เอ็งเอาที่ไหนมาว่า พี่นางสางโหง”
“ไม่รู้ละตา ดุดันกลั่นกล้าขนาดนั้นน่าจะถึงขั้นสางโหง”
“แนวทางวัดบ้านเราไม่ใช่กำราบปราบปราม แต่เป็นผายโผดเมตตา” ตาทอดถอนใจแล้วสรุปเป็นคำสอนแก่หลานชายคนเล็ก “อันนี้ละเอ็งเอ๋ย เป็นอยู่ด้วยความประมาท ไม่เกรงกลัวบาปกรรม ละศีลละธรรมอันเป็นหลักนำชีวิต จำคำตาไว้ไอ้หล้า อยู่ในศีล กินในธรรม อาจไม่ร่ำรวยแต่ไม่อับไม่จน ไม่ต้องมากินแหนงใจภายลูนภายหลัง เป็นดั่งตุ๊เมฆผู้นี้”
“แล้วท่านบ่ผายโผดเมตตาแก่พี่นางหรือตา”
“มันก็เหมือนเรายยื่นของให้คนอื่น เขาบ่ยื่นมือออกมารับ ของอันนั้นเขาก็บ่ได้ไป”
“พ่อลุงคำลูนนั้นเล่า เป็นหยังตาย”
“คำลูนอายุสั้นนัก อ่อนกว่าตาหกเจ็ดปีแต่ตายล่วงหน้าไปก่อนแล้วเจ็ดแปดปี เป็นหยังตายหรือ ตายด้วยป่วยด้วยไข้ บ่แม่นผีสางสัตว์ร้ายกระทำให้ตาย แต่มัน…เคยโดนเขี้ยวฟันผีตายโหงเจ็ดซี่ หนักหนาเอาการอยู่ อาจเนื่องจากอันนั้นด้วยที่เข้ามาเป็นอุปฆาตกรรมแก่มัน”
“คืออะหยังตา อุปฆาตกรรม”
“กรรมตัดรอน หรือจะเรียกว่ากรรมบั่นทอนก็ได้ เขี้ยวผีเจ็ดซี่มาบั่นทอนอายุมันให้สั้นลง ตายไปเมื่ออายุห้าสิบกว่าเท่านั้นเอง”
“ผู้ใดส่งเขี้ยวผีเจ็ดซี่มา”
“ยากจะรู้ คำลูนอาจไปสร้างความเจ็บแค้นแสนสาหัสแก่ไผผู้ใดสุดที่ตาจะรู้ได้ อาจเป็นเรื่องหักหลังกันทางขึ้นค้าล่องขาย อาจเรื่องชู้เชิงบ่าวสาว ตาเคยถาม คำลูนบ่บอก ตาเลยบ่รู้”
ตาคือคนที่ถอดถอนฟันผีตายโหงเจ็ดซากเจ็ดซี่ออกจากตัวพ่อลุงคำลูน รวมแล้วใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่พ่อลุงคำลูนจะหาย พ่อลุงจึงเคารพนับถือตา ตาจึงได้รับรู้เรื่องราวลึกลับและลี้ลับเกี่ยวกับความรักความเป็นมาของพ่อลุงกับเจ้าตุ้ยมากกว่าใครในหมู่บ้าน
เจ้าตุ้ยเป็นเชื้อสายเจ้านายใหญ่ยศอยู่ในคุ้มเวียงเชียงใหม่ พ่อลุงคำลูนเป็นข้าเลี้ยงช้าง ทั้งคู่ลอบรักกัน เจ้าพ่อเจ้าแม่ภายฝ่ายเจ้าตุ้ยขัดขวาง ทั้งคู่พากันหนีพร้อมพี่เลี้ยงผู้จงรักภักดีซึ่งก็ยังอยู่เฝ้ารับใช้จนเจ้าตุ้ยหมดอายุ ภายหลังจากนั้น พี่ยุพาเข้ามาจัดการแก้ไขอันใดสุดจะคาดเดา ที่ดินเปลี่ยนเจ้า ข้าเก่าเต่าเลี้ยงแต่เมื่อเจ้าตุ้ยระหกระเหินเดินดงด่านดิบไปอยู่กันทางใดไม่รู้
“คำลูนมันมีความลับอย่างหนึ่ง” ตาถอนใจ หันหน้ากลับมามองหลาน “ไม่ได้บอกออกปาก มันตายตาไม่หลับ”
“ความลับอันใดหรือตา”
“มันไม่ได้รักเจ้าตุ้ย แต่เจ้าตุ้ยบังคับมันให้พาหนี”
“แล้วพ่อลุงคำลูนรักใคร”
“รักสาวใช้คนหนึ่งในคุ้ม แต่ตราบจนหลับตาตาย คำลูนกับนางคนรักไม่ได้เห็นหน้ากันอีกเลย”
ฟังแล้วเศร้า ชายคนหนึ่งรักหญิงคนหนึ่ง แต่กลับถูกหญิงผู้ทรงอำนาจเหนือว่ามาหลงรัก ระหว่างความรักที่เรามีให้ใครสักคน กับความรักที่ใครสักคนมีให้เราควรจะเลือกเอาอย่างไหน แต่มันก็มีประเด็นน่าเคลือบแคลงว่าเจ้าตุ้ยรักข้าเลี้ยงช้างหรือหลงรูปโฉม หากรักทำไมบังคับเอาให้ได้ดั่งใจ หากหลงทำไมหลงยาวนานเกือบชั่วชีวิต เรื่องนี้ไม่ได้ถามตา จึงไม่กล้าระบุว่าเจ้าตุ้ยรักหรือหลงพ่อลุงคำลูน
กุฏิหลวงพี่มีสองห้องกับหนึ่งโถง ห้องใหญ่เป็นที่หลับที่นอนหลวงพี่ ห้องน้อยเป็นที่นอนเณรสิทธิ์กับสุมิตร ปีนั้นเณรสิทธิ์ยังเป็นปัจฉาสมณะหรือสามเณรตามหลังของของหลวงพี่ หลวงพี่มักพาเณรสิทธิ์ไปนั่นมานี่ บางทีก็พาสุมิตรไปด้วย แต่ส่วนมากจะให้เฝ้ากุฏิ
“แล้วครูคนนั้นไปทางใดเสีย ไอ้มิตร”
“คนใด”
“ที่ไปกับตุ๊พี่ ขึ้นเรือนกู จ้างพี่กูปักย่าม”
“อ๋อ ไปๆ มาๆ พักนี้ห่างไป”
แลงลง ตะวันกำลังจะลับเหลี่ยมดอย เข้าซุ้มน้ำอาบน้ำ ช่วยพ่อกับพี่ชายดูแลคอกงัวคอกควาย พอกินข้าวแลงแล้วก็ไปสู่วัด คืนนั้นขึ้น 15 ค่ำเดือนงามสะอาด บ้านทุ่งตีนดอยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เดือนบนฟ้าก็ส่องแจ้งพอมองเห็นได้ชัดเจนดี ตุ๊พระกำลังชักสายระฆังดังหง่างเหง่ง หมาวัดคงหนวกหู มันเห่าหอนโหวกเหวก ไม่ขึ้นไปสวดมนต์บนกุฏิใหญ่ แต่ลัดตรงไปสู่กุฏิน้อยหลังวัดเลย ไฟโคมไฟเทียนตามไว้แล้ว สมยศมาถึงก่อน คอยืดคอหดอยู่ที่ระเบียงเหมือนกระวนกระวายว่าบุญส่งจะมาหรือไม่
“เร็ว ไปสวดมนต์ไหว้พระกันก่อน” หลานพ่อหนานสินเร่งเพื่อนทั้งสอง แต่สุมิตรกลับบอกว่า
“บ่ต้องก็ได้ ตุ๊พี่ขออนุญาตครูบาไว้แล้ว กุฏิน้อยสวดที่กุฏิน้อย บ่ไปไหว้พระสวดมนต์ที่กุฏิใหญ่ก็ได้”
“มึงนำสวดเร็ว”
“กูคร้าน บ่ต้องกลัวหยัง ตุ๊พี่เสกทรายมนต์ซัดรอบกุฏิเรียบร้อยแล้ว”
หลานพ่อหนานสินเหลียวไปเหลียวมา รู้สึกเย็นยะเยือกอย่างไรชอบกล คนมานอนเป็นเพื่อนทั้งสองมองหน้ากัน จำเป็นต้องคล้อยตามมัน สมยศจะคิดอะไรบุญส่งไม่รู้ ส่วนตัวของหลานพ่อหนานสินเองคิดเห็นสอดคล้องไปกับตา ตาว่าหลวงพี่ไม่ค่อยเคารพนับถือตุ๊หลวงกับตุ๊รองสักเท่าใดนัก ตากับหลวงปู่ดูจะมีวิตกกังวลอยู่กับหลวงพี่เมฆอยู่มากพอสมควร กรรมการวัดคนอื่นๆ ก็ไม่ค่อยสบายใจนัก แต่ต่างก็เกรงใจเจ้าตุ้ย เจ้าตุ้ยมีความเป็นเจ้าอยู่ในตัว คือมีเงิน มีอำนาจและมีพระคุณ พระคุณที่เจ้าตุ้ยมีต่อชาวบ้านทุ่งตีนดอยก็คือเป็นเจ้าศรัทธาหลักในการบูรณะปรับปรุงพระวิหารที่ทรุดโทรมลงไป หมดเงินไปหลายพันบาทสมัยนั้น ลูกหลานผู้ใดจะบวชพระบวชเณร เขาไปขอให้ท่านรับเป็นเจ้าศรัทธานั้นๆ นี้ๆ อย่างขอบาตร ขอจีวร ขอเกือก ขอร่ม ท่านไม่เคยขัดใคร ใครๆ จึงเกรงใจท่านด้วยกันทั้งนั้น หลวงพี่เมฆเป็นลูกของท่าน หลวงพี่จึงมีสถานภาพบางอย่างสูงกว่าพระเณรทั่วไปในวัด
หลวงพี่ทุ่มเทจิตใจไปทางคุณไสย ไม่ใส่ใจน้ำธรรมคำสอนอันเป็นเส้นทางหลักที่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนท่านยึดถือสืบต่อกันมา หลวงปู่เองแม้เป็นเจ้าอาวาสก็ได้แต่ตักเตือนห้ามปราม เมื่อหลวงพี่ไม่เชื่อฟัง ท่านก็ได้แต่ทอดถอนใจ
“ตุ๊พี่ว่า วันใดมั่นใจว่าเอาชนะผีตายทั้งกลมตัวนั้นได้ตุ๊พี่จะสึกออกไปเอาเมีย”
“ยังไม่ชนะอีกหรือ ผีหูควากท่านยังจับใส่หม้อถ่วงน้ำได้เลย” บุญส่งพูด
“ถ่วงน้ำถ่วงหนองอะไร”
สุมิตรทำหน้ามุ่ยแล้วเสพูดเป็นอื่นไปเสีย
เสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นจากกุฏิหลังใหญ่ดังข้ามวิหารและลานพระเจดีย์มา เจดีย์อยู่หลังวิหาร ลานพระเจดีย์เพิ่งปรับปราบราบเพียงเมื่อไม่นานมานี้เอง อ้ายมีงึกงักผัวพี่สมศรีเอาลูกน้องมาปรับให้ไม่คิดเงินแต่ขอเอาดินทั้งหมดต่างแทนค่าจ้าง ที่ทางของวัดก็เลยดูกว้างขวางออกไปอีก
พระวิหารเพิ่งซ่อมแซมเสร็จสักเจ็ดแปดปีผ่านมานี้ สำเร็จเสร็จสรรพด้วยดีด้วยบารมีเจ้าตุ้ยเป็นศรัทธาเค้าหรือเจ้าศรัทธา โบสถ์อยู่ยังลาดลุ่มลงไปยังไม่ต้องซ่อมแซมเพราะสร้างเสร็จหลังวิหารหลายปี โบสถ์หรืออุโบสถอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ต่ำลงไปเกือบติดแนวรั้วด้านตะวันออก เป็นสิ่งปลูกสร้างสำหรับพิธีกรรมทางสงฆ์ของหมู่สงฆ์โดยเฉพาะ ชาวบ้านทั้งหลายไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งนอกจากพระท่านจะขอแรงไปปัดกวาดชำระสะสางทำความสะอาด โอกาสถูกใช้มีน้อยกว่าพระวิหารมากมาย ความชำรุดทรุดโทรมจึงน้อยกว่าพระวิหารมากมายเช่นกัน
ในยามค่ำคืนที่หลวงพี่ไม่อยู่ กุฏิดูเยือกเย็นเร้นแฝงชวนอึดอัดขุ่นมัว ท่านชอบคลุกคลีกับผีกับสาง หลังบานประตูห้องท่านที่ปิดสนิทคล้องกุญแจเรียบร้อยเหมือนจะมีใครสักคนแอบมองเราอยู่ เหนือบานประตูปิดผ้ายันต์ผืนใหญ่ดูเก่าหมองหม่นมัว หยากไย่ชักใยพาดผ่านอยู่บ้าง ห้องของเณรสิทธิ์อยู่คนละฟากก็ปิดประตูคล้องกุญแจเช่นกัน มีอยู่สองห้องกับหนึ่งโถง ด้านหลังเป็นซอกไปสู่ประตูหลัง แสงเทียนแสงโคมส่องไปไม่ค่อยถึง ในซอกมืดสลัวเลือนตรงนั้นก็คล้ายจะมีดวงตาลึกลับคู่หนึ่งคอยมองเรา โถงอยู่ทางด้านหน้าของห้องนอนทั้งสอง สุดโถงทางตะวันออกตั้งโต๊ะหมู่บูชาชุดใหญ่ไต่ระดับลงมาถึงห้าชั้น ชั้นสูงสุดเป็นพระพุทธชินราชจำลอง ชั้นถัดมาเป็นหัวฤๅษี ชั้นที่สามเป็นพระพิฆเณศวร์ชั้นที่สี่เป็นกะโหลกหัวคนยังมีเส้นผมติดอยู่ ชั้นล่างสุดน่าจะเป็นหัวเด็กมีสองสามหัว ดูน่ากลัวมากกว่าน่าเคารพบบูชา
“อันนี้อะไร ไอ้มิตร”
สมยศเอื้อมมือจะแตะขวดแก้วใสๆ ขนาดกำปั้นมีผ้าแดงปิดทับแล้วเคียนด้วยด้ายสายสิญจน์ สุมิตรรีบปัดมือมันทันที
“อย่าแตะ อันนี้กระปุกน้ำมันพราย”
“ฮื่ย!”
ได้ยินคำว่าน้ำมันพราย เราสองคนก็สะดุ้ง อุทานออกปากเกือบพร้อมกัน
“แล้วเราจะนอนไหน” บุญส่งมองห้องปิดประตูคล้องกุญแจทั้งสอง “นอนที่โถงพร้อมขวดน้ำมันพรายนี่หรือ”
“นอนที่นี่ ผ้าห่มมีหมอนมี” เด็กรับใช้ประจำตัวหลวงพี่ชี้ที่มุมห้อง “แล้ววันนี้ที่หลวงพี่ไปเชียงใหม่ พวกมึงรู้ไหม หลวงพี่เอาน้ำมันพรายไปส่งให้คนที่สั่งท่านไว้”
“ตุ๊พี่ขายน้ำมันพรายด้วยหรือ”
“ไม่เรียกว่าขาย ไอ้ยศ เรียกว่าให้บูชา เท่าขวดยานัตถุ์นะมึง ค่าบูชาเป็นร้อย”
“แล้ว…” บุญส่งละตาจากกระปุกแก้วใสๆ รู้สึกมึนๆ ทึบๆ ในหัว “เอาวางไว้อย่างนี้ หลวงพี่ไม่กลัวคนลักหรือ”
“ใครมันจะกล้ามาลัก หลวงพี่เลี้ยงผีเลี้ยงพราย”
ดวงเดือนขึ้นขึ้น 15 ค่ำส่องใส แสงเดือนนวลส่องช่วยให้บรรยากาศคลุมเครือคลายลงได้บ้าง พระเณรบนกุฏิใหญ่สวดมนต์จบเสร็จแล้ว ไม่ค่อยสบายใจนักหากไม่ได้สวดมนต์ก่อนนอนจึงฉวยโอกาสเมื่อเพื่อนช่วยกันลากเสื่อจากมุมโถงมาปูแล้วแจกหมอนแจกผ้าห่ม หลานพ่อหนานสินไม่ช่วย แต่ไหว้พระส่วนตัวอยู่เงียบๆ
เทียนค่อยดับลงทีละดวง แต่ตะเกียงกระป๋องยังส่องแสงอยู่ เวลาล่วงไป วัดเริ่มเงียบ เสียงลมพัดผ่านยอดตะเคียนดังซู่ซ่า เป็นตะเคียนเฒ่าเก่าแก่อายุยืนยาวอยู่มาก่อนบ้านทุ่งตีนดอยจะกำเนิดเสียด้วยซ้ำ เป็นต้นใหญ่ไม้สูงดูเด่นเห็นได้แต่ไกล ใต้ต้นตะเคียนมักมีธูปปัก บางทีก็มีเทียนมาจุด ถึงวันดีปีใหม่ ตา พ่อหลวง กรรมการวัดและผู้แก่ผู้เฒ่าสองสามคนจะเอาเครื่องสักการะสังเวยมาบูชา เป็นจารีตประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยครูบามงคล เจ้าอาวาสวัดรูปแรกโน่นแล้ว ผู้แก่ผู้เฒ่าแต่เก่าก่อนเล่าสืบกันมาว่าสาเหตุหนึ่งที่ครูบามงคลตนเป็นปฐมอารามาธิปติหรือเจ้าอาวาสรูปแรกเลือกสร้างวัดนอกหมู่บ้านก็เพราะตะเคียนต้นนี้ ท่านเองก็เข้าใจเหตุผลที่ศรัทธาชาวบ้านอยากให้ท่านตั้งวัดยังบ้านลุ่มเพราะน้ำท่าสะดวกกว่า แต่ท่านก็เลือกเอาไหล่ดอยไกลน้ำตรงนี้เป็นที่สร้างวัดเพราะที่นี่มีพญาไม้ใหญ่สูงดูทรงอำนาจอยู่ ท่านรู้ว่ามีอำนาจพลังงานบางอย่างที่ยิ่งใหญ่อยู่ในไม้นี้ ท่านเล็งไปถึงอนาคตว่าคนต้อยต่ำปัญญาอาจมาตัดรานโก่นโค่นทำให้สมดุลแห่งพลังงานอำนาจสูญเสีย จะกระทบกระเทือนกันไปใหญ่หลวง ก็เลยขอตั้งวัดตรงนี้ เอากำแพงวัดเข้าโอบล้อมพญาไม้ไว้เป็นไม้มิ่งหมายเมือง ไว้เป็นศรีแก่หมู่บ้านสืบไปให้ยืนยาว
“ท่านปกปักรักษาทั้งวัดวาและบ้านลุ่มบ้านบน” เหมือนตาเคยพูดไว้อย่างนี้
สะลึมสะลือ ซึมๆ มีความหวาดหวั่นพรั่นกลัวครอบงำ นอนหงายมองเพดาน มีหยากไย่เป็นใยพานพะเยิบพะยาบตรงนั้นตรงนี้ เหมือนมีมือผีมือพรายกวัดไกวไขว่คว้า
“พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ”
ผล็อยหลับไปแต่เมื่อไรไม่รู้ หลับสบาย เหมือนจะฝันไป เป็นฝันดีฝันงามในยามดึกดื่นสงบสงัด เหมือนได้ขี่หงส์ทองล่องฟ้าอย่างเจ้ากุมารหงส์หิน เหมือนได้ยินเสียงจ๊อยเสียงซอ เสียงสะล้อคลอซึงตึ่งตึ้งม่วนหู เหมือนเข้าไปสู่ดินแดนร้างเปลี่ยวที่ไหนไม่รู้ เงียบ สงบสงัด แสงดาวแสงเดือนบนฟ้านิ่งเย็น ไม่พบเห็นผู้คนหรือสิงสาราสัตว์ใดๆ เลย ตัวเองก็หาไม่พบ รู้ว่ามีตัวเองอยู่ แต่หาตัวเองไม่พบ
เป็นประสบการณ์แปลกๆ จำได้มากแต่จำไม่ได้ทั้งหมด แล้วก็เหมือนไปไหว้พระนบธรรมที่ไหนสักแห่ง เหมือนจะมีพระธาตุผาช้างมูบบนจอมดอยหลังหมู่บ้านมาเกี่ยวข้องด้วย แล้วก็โดนช้างไล่ หนีไปไหนก็ไม่พ้น ช้างตามมาติดๆ เหาะซีวะ เหาะ…เหาะไม่ขึ้น เอามือสางกันประคองก้น มือหนึ่งอยู่หน้า มือหนึ่งอยู่หลัง ดึงตัวเองลอยขึ้น ดันไปติดกิ่งไม้ห้อยโตงเตง
ช้างเอื้อมงวงมาคว้า…
“โอ๊ย…โอ๊ย…โว้ย”
เสียงร้องโอ๊ยๆ โว้ยๆ ดังโหวกเหวก ไม่ใช่ตัวเองที่ร้อง สุมิตรกับสมยศต่างหากที่แหกปากร้องขึ้นมา พรวดพราดฟาดตีนฟาดมือชักดิ้นชักงอมาโดนตน บุญส่งสะดุ้งตกใจตื่น เหนื่อยหอบแฮ่ก ๆ เพราะหนีช้างไล่จนสุดชีวิต
เทียนดับไปหมดแล้ว แต่ตะเกียงกระป๋องยังส่องแสงอยู่ โต๊ะหมู่บูชาเหนือหัวนอนดูน่ากลัวกว่าหัวค่ำ หัวผีเล็กใหญ่คล้ายอ้าปากหัวเราะ ไอ้มิตรกับไอ้ยศยังดิ้นเดือกเสือกสนเหมือนหมาบ้าโดนค้อน รีบเรียกมัน กระตุกแขน ตบไหล่ กระชากลุก ไอ้สองคนเด้งพรวด ลุกนั่งหายใจหอบเหนื่อยเหมือนวิ่งข้ามดอยมาสักเจ็ดม่อน
“อะไร ไอ้มิตร ไอ้ยศ”
“ผีหูควาก”
มันพูดออกมาเป็นคำเดียวกัน
วัดมังคลารามตั้งชื่อขึ้นตามครูบามงคลตนเป็นเจ้าอารามาธิบดีองค์แรก ครูบามงคลท่านธุดงค์มาแต่ลำพูนเชียงใหม่ไกลโพ้น เมื่อมาถึงบ้านเราเมื่อราวปี 2415 ท่านปักกลดอยู่ยังบริเวณที่เป็นวัดปัจจุบันนี้ สมัยนั้น บ้านทุ่งตีนดอยยังโหรงเหรง ที่ว่างทางรกยังเหลืออยู่มาก บ้านไม่มีวัด ผู้คนชาวบ้านห่างเหินวัดวาพระศาสนาก็ว้าเหว่ เขาเห็นครูบามงคลน่าเลื่อมใสก็นิมนต์ท่านอยู่ประจำ เขาจะสร้างวัดให้ แต่ท่านไม่อยากเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน ท่านว่าจะให้ท่านอยู่ประจำก็ได้แต่ขออยู่ตรงนี้
ตรงนี้ก็คือตรงที่วัดตั้งอยู่ในปัจจุบัน
“มันเป็นไหล่ดอย” ชาวบ้านติง “น้ำลึก หน้าแล้งจะลำบาก นิมนต์ท่านเลื่อนลงลุ่มไปอยู่ใกล้น้ำเทอะ หมู่เฮาจะสร้างวัดให้”
“ที่ตรงนี้เป็นมังคลสัณฐาน หากสร้างวัด ควรสร้างตรงนี้”
สมัยนั้นบ้านทุ่งตีนดอยมีแต่บ้านลุ่ม บ้านบนยังไม่เกิดขึ้น ยังเป็นป่าอุกดุกดงมีวอกค่างบ่างแบ้วแมวโพงและกระแตกระต่ายออกมาต่ายเต้นตากเดือนยามเดือนเต็มดวงหมดจด ครูบาแสดงเจตจำนงอย่างนั้นชาวบ้านก็ไม่ขัด ก็ค่อยปลูกสร้างแต่งเติมเป็นวัดเป็นวามาโดยลำดับ สำเร็จเสร็จสรรพสมัยครูบาอินทา ท่านไม่ให้ใส่ชื่อวัดว่าวัดอินทาราม แต่ให้ใส่นามว่าวัดมังคลารามตามนามครู วัดชื่อวัดมังคลาราม โรงเรียนก็ชื่อโรงเรียนวัดมังคลารามแต่มีวงเล็บต่อท้ายว่าอินทาราษฎร์อุปถัมภก์
“ครูบามงคล ท่านสำเร็จวิชาอันใด”
“เหมือนว่าจะได้อภิญญา”
“ได้อภิญญา? อภิญญากับเตโชกสิณ อันใดสูงต่ำกว่ากันหือ ตา”
“อภิญญาเป็นปู่ เตโชกสิณเป็นหลาน เอ็งว่าผู้ใดแก่อ่อนกว่ากัน”
“อือ”
ตาเองสัมผัสครูบามงคลได้เพียงผิวเผิน ตาเข้าผ้าเหลืองเมื่อ พ.ศ.2451 อายุ 15 ปี อีกห้าปีต่อมา ครูบามงคลก็หลับตาขึ้นฟ้าเมืองบน ตาเติบโตในผ้าเหลืองสมัยครูบาอินทา อยู่ในผ้าเหลืองเมื่อเป็นสามเณรห้าปี เป็นพระอีกสิบปี เรื่องราวของครูบามงคลตาไม่ค่อยรู้ เรื่องราวของครูบาอินทา บุญส่งก็ไม่ค่อยรู้เพราะท่านหลับตาขึ้นเมือเมืองฟ้าแต่บุญส่งน้อยอายุได้ขวบเดียว
แต่ไอ้หล้าของคนในเรือนก็คล้ายสัมผัสท่านได้ หลายครั้งหลายหนอยู่เหมือนกัน
ครั้งหนึ่งเมื่อยังเด็กยังเล็กอยู่มาก ยายจูงมือเข้าวัด หลานพลัดหลงเข้าไปถึงท้ายวัดที่บรรจุอัฐิของท่าน จำอะไรไม่ค่อยได้ คล้ายท่านจูงมือเข้าไป ท่านใจดี รู้สึกอย่างนั้น อีกครั้งตอนไปเรียนวิทยาลัยครู ไปออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทที่ห้วยน้ำหยาด กำลังห้าว อายุสัก 18-19 กันแทบทั้งนั้น ก็กินเหล้าเมายากัน มีอยู่คนหนึ่งไม่กินเหล้าก็ดีๆ แต่กินแล้วเมามักซ่าท้าผีท้าคน มันแอบไปทำอะไรไม่มีใครรู้ อาจารย์ก็ไม่รู้ ตกดึกมีเสียงสายน้ำกึกก้องคล้ายเขื่อนแตกดังจากต้นห้วย ชื่อห้วยว่าห้วยน้ำหยาด น้ำหยาดคือน้ำกรวดในภาษากลาง เวลาคนทำบุญเสร็จจะกรวดน้ำ ภาษาเหนือว่าหยาดน้ำ
ห้วยน้ำหยาดมีเรื่องเล่าประกอบภูมินามสถานที่ว่าเกิดจากคนโบร่ำโบราณท่านหยาดน้ำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระกกุสันธพุทธเจ้าแต่เมื่อต้นภัทรกัปโน่น ต่อเนื่องกันมา สืบเนื่องกันมาไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านปีจนกลายเป็นลำห้วย แต่ไอ้เพื่อนคนนี้มันซ่า เมาได้ที่มันฉี่ลงลำห้วย จะว่าเป็นเหตุบังเอิญก็ได้ที่ตกดึกคืนนั้นน้ำป่าทะลักลงตามห้วยน้ำหยาดลงมา
“ตื่นๆ หลานไอ้หนานสิน”
ตรงนี้คงไม่ใช่บังเอิญ ท่านมาปลุก พระภิกษุชรา เค้าหน้าผอมซูบแต่แสงแก้วแววตาแจ่มใส บุญส่งไม่เคยเห็นท่านมาก่อน แม้รูปถ่ายก็ยังไม่เคยเห็น กระทั่งเมื่อสอบบรรจุได้ ต้องไปเป็นครูอยู่ห่างบ้าน ตนชุ่มเย็นมอบรูปภาพครูบาอินทาให้ติดตัวไป จึงรู้ว่าพระที่เรียกให้ลุกที่ปลุกให้ตื่นในคืนนั้นก็คือครูบาเจ้าตนลับ
ท่านไม่ได้อนุเคราะห์โผดผายเฉพาะหลานไอ้หนานสินลูกศิษย์ของท่านคนเดียว
แต่ท่านสังคหะสงเคราะห์ได้เกือบทั้งหมดทั้งมวล
นอกจากไอ้เมาซ่าคนเดียว
ย้อนกลับไปที่คืนนั้น คืนที่ผีหูควากออกมา ยื่นหัวทะลุบานประตูที่ปิดแน่นคล้องกุญแจ ผมบนหัวเกล้าจุก หูสองข้างมีรูเจาะที่เรียกว่าควากหู มันอยู่ในห้องหลวงพี่ หลวงพี่ปิดประตู เหนือประตูมีแผ่นผ้ายันต์ปิดทับแต่มันก็ยังยื่นหัวออกมาได้ ปากมันอ้าได้กว้างอย่างปากเสือปากหมี มีฟันแหลมคมดั่งฟันเลื่อย หัวมันไล่งับเรา คอมันยืดยาวออกมาเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่พี่ชายเคยเล่าว่ามันยื่นคอข้ามรั้วซาออกมาหลอกหลอนบ่าวปั่นรถถีบไปแอ่วสาว
ไม่ใช่แค่หลอกหลอนให้กลัว แต่มันจะเอาถึงตาย
เหมือนที่มันไล่งับหัวเราแหง็บๆ เมื่อคืนเพ็ญใกล้ลับบนกุฏิหลวงพี่
แหกปากร้องโวยโหวกโอกโอย เดือกดิ้นตูมตาม ข้าวของล้มโครมคราม แต่ฉับพลันทันที มีเสียงสวดท่องราบเรียบแต่หนักแน่นสม่ำเสมอดังมา
สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ สัพเพ สัตตา ภวันตุ สุขิตัตตา
เย เกจิ ปาณภูตัตถิ ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา
ทีฆา วา เย มหันตา วา มัชฌิมา รัสสกา อนุกถูลา
ทิฏฐา วา เย จ อทิฏฐา เย จ ทูเร วสันติ อวิทูเร
ภูตา วา สัมภเวสี วา
สัพเพ สัตตา ภวันตุ สุขิตัตตา
ในภาวะนั้น จำไม่ได้หรอกว่าถ้อยคำที่ได้ยินเป็นบทสวดอะไร แต่ถ้อยคำน้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่อนโยน เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความเมตตาปรารถนาดีอย่างนี้ไม่มีใครอื่น นอกจากตนชุ่มเย็นแห่งวัดมังคลาราม
บทนี้ได้ยินจากปากท่านบ่อยๆ ตาบอกว่าเป็นบทแผ่เมตตาหลวง ชื่อจริงๆ ว่ากรณียเมตตสูตร ใครสวดก็ไม่มีอำนาจอานุภาวะอันหนักแน่นแก่นสารเท่าตุ๊ปู่ผู้ที่บุญส่งรักและเคารพท่านเหมือนเป็นปู่จริงๆ
หัวดุร้ายหดวูบหายวับเข้าไปในประตู เสียงตบประตูบันไดดังขึ้น สุมิตรแล่นไปถอดกลอน หลวงปู่จริงๆ ท่านครองจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเหมือนจะไปเข้าโบสถ์ที่ไหนสักแห่ง ท่านมองเราสามคน มองที่ประตูห้องหลวงพี่ พึมพำถ้อยคำคาถาสะกดสำทับ สีหน้าแววตาเหมือนสังเวชสลดใจ
“วิบากกำลังจะแสดงผล ผู้ใดหนอ จะห้ามวิบากแห่งสัตว์อื่นได้”
“วิบากไผครับ ครูบา”
“บ่เมินบ่นานก็จะรู้”
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 16 : ตนชุ่มเย็น
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 15 : วนิดา
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 14 : ไอ้เหี้ยกิน
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 13 : พรายด้อยลูก
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 12 : เริงรำใกล้รุ่ง
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 11 : พี่สาวคนรอง
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 10 : คัมภีร์ที่หายไป
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 9 : ผีหูควาก
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 8 : ท้ายสวนเจ้าตุ้ย
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 7 : ฤดูเก็บเกี่ยว
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 6 : หายไปในยามหลับ
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 5 : อุ่มลี้
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 4 : นรกทั้งเป็น
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 3 : อวิชชาต่อดำ
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 2 : เพื่อนผู้อาภัพ
- READ ละอ่อนบ้านบน บทที่ 1 : ลุ้นเรียกเพรียกพราย