เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน “พบกันวันฝนโปรย”

เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน “พบกันวันฝนโปรย”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

ฝนต้นฤดูที่เพิ่งซาลงเหลือเพียงละอองฝอยบางเบาทำให้ผืนป่าเขียวด้วยยอดไม้ที่เพิ่งระบัดใบชอุ่มสดชื่นขึ้นไปอีกหลายเท่า ทว่าร่างเล็กที่นั่งหน้าง้ำกอดเข่าอยู่หัวบันไดไม่เบิกบาน ระเบียงบ้านและแคร่ไม้ไผ่มีสัมภาระกองไว้เตรียมพร้อมสำหรับเดินทาง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่อาจไปไกลกว่าบริเวณบ้าน

เพราะต้องรอพวกกุลาขาวที่จะเดินทางไปด้วยกัน

หนานทิพย์ผู้เป็นบิดาผ่านแนวรั้วไม้ไผ่ที่ตำลึงเลื้อยพันอวดยอดอวบขาว คนนั่งหน้าง้ำจึงลุกขึ้นแทบจะเผ่นแผล็วลงไปประชิดตัวในระยะไม่กี่ก้าว เร่งถามร้อนรน

“ว่าจะใด…อีป้อ…จะไปเมื่อได” เสียงใสเอ่ยถามอีป้อ…บิดา ว่าเมื่อไรจะได้เดินทางเสียที เพราะจากกำหนดเดิมจนวันนี้ก็ล่วงเลยมาเกือบสัปดาห์ อาหารที่แม่ใส่ห่อเตรียมไว้ถูกแกะมากินหมดแล้วแทนที่ด้วยของใหม่ “วันพูกก่?…พรุ่งนี้เลยหรือเปล่า”

“ยังเตื้อ…แหมสักสามวัน”

คำตอบของบิดาทำให้คนถามหน้ามุ่ย ทว่าฝ่ายบิดาเห็นขัน เอื้อมมือไปตบศีรษะลูกเบาๆ ด้วยความเอ็นดูพลางปลอบ

“หน้ามุ่ยสมชื่อแต๊…มุ่ยเอ๊ย”

“เฮาช้าไปเกือบติ๊ด…เกือบอาทิตย์…แล้วนะป้อ อ้ายเมืองจะกองหา…ชะแง้คอย” มุ่ยบอกเหตุผลที่อยากเร่งการเดินทาง

“บ่กองหาดอก…ไม่คอยหาหรอก” หนานทิพย์ไม่กังวลเมื่อเอ่ยถึงลูกชายผู้รออยู่ที่เวียงละกอน “เมืองฮู้แล้ว ดีบ่ดี…จะฮู้ก่อนเฮาเสียด้วยซ้ำ”

ทว่ามุ่ยยิ่งหน้าง้ำ เม้มปากอย่างขัดเคืองใจ แล้วก็ระบายอารมณ์ออกมา

“หน้าวอก…จ๊าดง่าว…สับปะหลี้” มุ่ยทำตาขวางเมื่อถามถึงคนที่คอยแต่ยังไม่มาสักที “ไหนว่าหมู่กุลาเผือกมันตรงต่อเวลานัก นี่ผัดแล้วผัดแหม”

กุลาเผือกที่ว่า คือชาวต่างชาติผิวขาว คนทางล้านนาหรือคนเหนือของสยามเรียกตัวเองว่า ‘คนเมือง’ เรียกคนสยามโดยเฉพาะผู้มาจากบางกอกว่า ‘คนใต้’ ในขณะที่เรียกคนต่างชาติว่า ‘กุลา’ ซึ่งมักจะหมายถึงชาวต่างชาติผิวคล้ำอย่างพวกแขก ส่วนฝรั่งผิวขาว จมูกโด่ง และตาสีอ่อนเรียกว่าพวก กุลาขาว หรือกุลาเผือก บางครั้งก็เรียกว่า ดั้งขอ และพวกตาน้ำข้าว

“เมียนายฝรั่งเม่ย…ป่วย” หนานทิพย์บอกเหตุผลแก่ลูกผู้ยังอารมณ์ขุ่นไม่วาย “แต่ตอนนี้เปิ้นออกจากย่างกุ้งมาแล้ว สักสามวันก็คงมาถึงระแหง (1) นี่”

ประโยคสุดท้ายของบิดาทำให้สีหน้าของมุ่ยดีขึ้น…นิดหน่อย อย่างน้อยก็เป็นความคืบหน้าพอประเมินสถานการณ์ได้ คำถามต่อไปจึงซอกแซกในเรื่องส่วนตัว

“เปิ้นมีเมียละกา?”

“มีละก้า…มีแล้วกระมัง…คนส่งข่าวบอกว่ามากันสามคน ป้อจายสอง แม่ญิงหนึ่ง…ป้อจายแม่ญิงคู่หนึ่งนี่ละ ท่าจะเป็นผัวเมียกั๋น”

หนานทิพย์บอกเท่าที่รู้แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่ามุ่ยกำลังเป็นเติบโตเป็นสาว แม้นิสัยจะค่อนไปทางทโมนแต่ก็เป็นลูกญิง…ลูกสาว มีเค้าจะเป็นฟ้ามุ่ยช่องามที่บานอยู่ยอดคบยาง ผางดีผางร้ายถ้านายห้างกุลาเผือกเกิดพึงใจ มุ่ยจะตกไปเป็นเมียพวกดั้งขออีกคน แต่การเดินทางครั้งนี้ ถึงอย่างไรมุ่ยก็ต้องร่วมขบวนไปด้วย หนานทิพย์จึงหมายอยู่ในใจว่าจะต้องดูลูกสาวไม่ให้คลาดสายตา นึกพอใจที่มุ่ยแต่งกายอย่างทะมัดทะแมงเหมือนผู้ชายมากกว่านุ่งซิ่นอย่างสาวจี๋ทั่วไป ผมยาวที่เกล้ามวยไว้ ก็โพกพันเคียนหัวด้วยผ้าขาวม้า ดูผาดเผินก็เหมือนพวกพรานป่าในหมู่บ้าน

แม้จะเป็นพรานที่ตัวเล็กและบางไปหน่อยก็ไม่เป็นไร

“อดเอาแหมสักสามวันเต๊อะ เปิ้นคงแผว…มาถึง”

“ถ้าบ่มาแผวเตื้อนี้ ปะหน้าเมื่อใด จะยิงหน้าไม้ใส่หื้อเยี่ยวปุ้ง” มุ่ยเข่นเขี้ยวมาดหมาย…หากไม่มาถึงคราวนี้ ถ้าพบกันจะยิงหน้าไม้ขู่ใส่ให้ฉี่เล็ด…ว่าแล้วก็คว้าหน้าไม้อันเล็กที่พ่อทำให้พิเศษเหมาะมือมาเหนี่ยวสายดูเพื่อเตรียมใช้งาน

“บ่ดีห้าวนักเลย มุ่ยเอ๊ย…เปิ้นมาเป็นเจ้านายอ้ายเฮานา” ผู้เป็นบิดาเตือนสติ

“เป็นเจ้านายอ้ายเมืองคนเดียว บ่ได้เป็นเจ้านายข้าเจ้านี่” มุ่ยไม่ยอมลง “คนบ่มีสัจจะ อู้ไหนบ่มีหั้น…คำพูดเชื่อถือไม่ได้…มันก็ต้องอู้กั๋นด้วยหน้าไม้นี่ละ”

เสียงหนึ่งร้องตะโกนเข้ามา ไม่นานก็ปรากฏร่างพรานผู้หนึ่งที่จะเดินทางจากเมืองระแหงไปละกอนด้วยกัน

“หนานติ๊บ!” ชื่อเรียกทิพย์เมื่อออกเสียงอย่างคนพื้นถิ่นก็เป็นติ๊บ “เห็นทีจะได้ออกช้าไปแหมสักสามวัน คนรออยู่ที่ชายป่าแจ้งมาว่ายังบ่หันขบวนข้ามน้ำแม่เมย” เพราะคณะเดินทางของนายห้างบริษัทบอมเบย์เบอร์มาคนใหม่จะเดินทางโดยรถไฟจากเมืองมัณฑะเลย์ลงมาทางใต้ที่เมืองย่างกุ้งก่อน จากนั้นจึงเดินทางต่อมาที่มะละแหม่ง ข้ามแม่น้ำเมยมาขึ้นที่เมืองแม่สอด…ระแหงซึ่งเป็นเขตชายแดนทางเหนือของสยาม

หนานทิพย์หรือติ๊บตามการออกเสียงท้องถิ่นหันไปทางลูกสาวที่บัดนี้ตาลุกวาว จับลูกดอกใส่หน้าไม้เหนี่ยวสายจนสุดแรงแล้วปล่อยให้พุ่งไปปักกับเป้าซ้อมแม่นยำราวจับวาง พร้อมเสียงร้องอย่างฉุนเฉียวไปถึงพวกกุลาขาวที่ผิดแผนซ้ำซากว่า

“จ๊าดวอก!”

 

กำหนดเดินทางที่เลื่อนออกไปทำให้มุ่ยอารมณ์เสีย เสบียงที่เตรียมไว้ถูกรื้อออกมากินแล้วจัดเตรียมชุดใหม่สำหรับเดินทาง มุ่ยมิได้ขัดใจที่ต้องตำน้ำพริกหรือปิ้งปลา แต่ขัดใจว่ากว่าจะได้วันเดินทางที่ดีอีกครั้งจะเป็นเมื่อไรก็ไม่รู้ เพราะคนที่นี่เชื่อเรื่อง ‘เมื่อ’ หรือฤกษ์งามยามดีสำหรับทำกิจต่างๆ ทั้งทางมงคลและอวมงคล กำหนดเดินทางที่ผ่านมาผ่าน ‘มื้อจันทร์วันดี’ ไปแล้ว พ่อจึงต้องหาฤกษ์ยามใหม่ ปรึกษาทั้งหมอเมื่อและตุ๊ลุง…หลวงพ่อที่เก่งในทางดูฤกษ์พานาที

อีกเรื่องที่ทำให้มุ่ยหน้างอง้ำไปทั้งวันคือสายฝนที่ตกลงมาติดต่อกันไม่มีหยุดหย่อน ทำให้ออกไปตะลอนเที่ยวเล่นไม่ได้มาสามวันแล้ว นางเที่ยงเห็นหน้าลูกแล้วก็ส่ายหน้าถอนใจเสียงดังให้ลูกสาวได้ยิน

“ฝนตกวันค่ำคืนฮุ่งจะอี้ ดีแล้วที่ยังบ่ได้เดินทางไปไหน”

ทว่ามุ่ยกลับคิดไปอีกอย่าง

“ถ้าหมู่นายห้างกุลาเผือกมาตามเวลานัด บ่าเดี๋ยวนี้…ป่านนี้ ก็คงไปถึงเมืองพิงค์แล้ว” มุ่ยพ่นลมออกจมูกเสียงฟึดฟัดให้รู้ว่าขัดใจ เมืองพิงค์ที่ว่าก็คือนครพิงค์ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าเวียงเชียงใหม่

“จ่มไปก็เท่าอั้น…บ่นไปก็แค่นั้น” นางเที่ยงว่า หาเรื่องหันเหความจดจ่อของลูกสาว วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือหาอะไรให้ทำไม่ว่างมือ “มาตำน้ำพริกช่วยแม่”

มุ่ยไม่ขัด ลุกสะบัดไปนั่งขัดสมาธิหน้าครกกระแทกสากลงไปด้วยความขัดเคืองผู้ที่ทำให้แผนการเดินทางต้องเลื่อนไป ราวกับจะให้พริก หอม กระเทียม และเกลือในครกนั้นเป็นตัวแทนของพวกกุลาเผือก

เสียงโขลกน้ำพริกแข่งกับเสียงฝนตกชะงักลงเมื่อมีเสียงคนโหวกเหวกตะโกนที่หน้าเฮือน นางเที่ยงหย่งตัวลุกไปอย่างเชื่องช้าในขณะที่มุ่ยสละทุกอย่างในมือแล้ววิ่งปรูดไปดู หมายใจว่าเป็นพ่อหรือใครสักคนมาแจ้งข่าวดี

ผู้ที่มาหาคือนายแก้ว ครั้นพบเมียหน้าเมียและลูกสาวเจ้าของเฮือนก็ถามออกไปด้วยน้ำเสียงร้อนรน

“หนานติ๊บอยู่ก่?”

“บ่อยู่เจ้า อ้ายหนานไปหาตุ๊ลุงที่วัด อ้ายแก้วมีอะหยัง” นางเที่ยงถามแล้วเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าฝ่ายนั้นยืนตากฝนจึงร้องกวักให้เข้ามาใต้ชายคาเสียก่อน

“นายห้างกุลาเผือกมาแล้ว”

มุ่ยหูผึ่งเบิกตาโตขึ้นมาทันทีจากที่ฟังนิ่งๆ อยู่ครู่ อดใจไม่อยู่เร่งร้อนถามออกไป

“มาแล้วกา มาแผวแล้วแต๊กา…มาถึงแล้วจริงๆ หรือ”

ยังไม่ทันอีกฝ่ายจะให้คำตอบ วัวคู่หนึ่งก็ลากเกวียนมีประทุนเข้ามา หนานแก้วบอกนางเที่ยงกึ่งสั่งกึ่งขอร้อง

“ปูสาลี…ฟูกที่นอน ให้นายห้างหน่อยเต๊อะ”

“เอ๊ะ! ยะหยัง…ทำไม”

นางเที่ยงครางออกไปแค่นั้นก็สิ้นสงสัยคำพูดหายลงไปในคอ เพราะคนที่ตามมาช่วยกันอุ้มร่างไร้สติของหนุ่มต่างชาติคนหนึ่งขึ้นมาบนเฮือน ชาวอังกฤษผมทองที่ปกติผิวขาวอยู่แล้ว ทว่ารายนี้เผือดซีดราวกับน้ำซาวข้าว

“ช้างติดหล่ม นายห้างเข้าไปช่วยแล้วผะเลิด…ลื่นไถล บ่รู้แข้งหักข้าห้านตรงไหนพ่อง แต่ตอนนี้บ่รู้คิง…ไม่ได้สติเลย” หนานแก้วเล่าพลางช่วยกันประคองร่างนายห้างกุลาเผือกนอนลงบนฟูก “ฝากแม่เที่ยงดูแลกำเต๊อะ เฮาจะฟั่งปิ๊กไปช่วยที่ช้างติดหล่มก่อน บ่อั้นก็บ่ได้เดินทางไปเมืองละกอนสักที”

ประโยคสุดท้ายนี้เองที่ทำให้มุ่ยกระตือรือร้นขึ้นมา ช่วยแม่ทำหน้าที่พยาบาลจำเป็น เพราะถ้าผ่านเรื่องนี้ไปได้ ก็หมายความว่าจะได้ฤกษ์เดินทางกันเสียที

“สีท่าจะเม่ย…ป่วย แล้วแม่ หน้าแดงขนาด…แดงมาก”

มุ่ยร้องบอกแม่เมื่อเดินผ่านนายห้างแล้วเห็นหน้าอีกฝ่ายแดงขึ้นมา เหงื่อผุดเต็มทั้งที่ฝนโปรยสายไม่มีท่าจะซาลง เหลือกันอยู่ในเฮือนแค่สามคนล้วนเป็นหญิง ทั้งตัวเอง แม่ และหม่อน…ยายทวด ที่ตาบอดอยู่ในห้อง ส่วนพ่อนั้นหลังจากแจ้งข่าวจากคนที่ไปบอกที่วัดก็รีบกลับมาบ้านโดยไว เก็บของที่จำเป็นใส่ย่าม สั่งการรวดเร็วแล้วออกไปกับขบวนหนานแก้วเพื่อช่วยช้างติดหล่ม

“เอายาหื้อกินก่อนท่าจะดี” นางเที่ยงรำพึงแล้วตัดสินใจอย่างเชื่อมั่นเพราะเป็นทางเดียวที่นึกออกตอนนี้

โชคดีที่ในบ้านมียาหลายขนานสำหรับหม่อนที่ตาบอด อายุมากและป่วยกระเสาะกระแสะด้วยหลายโรคมานานปี อย่างพื้นฐานที่สุดก็คือยาแก้ไข้ นางเที่ยงจึงรินยาจากหม้อต้มใส่ชามใบเล็ก เรียกลูกสาวให้มาช่วยกันป้อนยาให้นายห้าง

สองร่างเล็กจัดการกับผู้ป่วยไร้สติร่างใหญ่ได้ค่อนข้างทุลักทุเล นางเที่ยงจึงดึงตัวนายห้างให้ลุกขึ้น ตัวเองไปซ้อนข้างหลังให้คนป่วยเอนพิงไว้

“ท่านี้คงกินยาได้ง่ายกว่า มุ่ย…ขะไจ๋เวยๆ …เร็วๆ อย่าช้า รีบป้อนยาเดี๋ยวนี้”

มุ่ยขยับเข้าไปใกล้ มือหนึ่งบีบปากให้อ้าออก มืออีกข้างจ่อปากชามเข้ากับริมฝีปาก ค่อยๆ รินยาลงไประวังไม่ให้หกจนหมดถ้วย

ร่างของนายห้างหนุ่มคล้ายตอบสนองกับยาที่กลืนลงไป เห็นชัดว่าเขาพยายามขัดขืนอยู่แต่สู้ไม่ไหว จำต้องนิ่วหน้ากลืนยารสปร่าที่มีความขมนำลงไปในคอ ความรู้สึกราวกับว่ายาถ้วยนั้นช่างมากมาย กลืนเท่าไรไม่หมดเสียที

ตึง!

เสียงอะไรหนักๆ ตกพื้นดังมาจากในห้องหม่อน นางเที่ยงตกใจผวา คิดว่ายายคงจะคลำหาอะไรแล้วคว้าพลาดล้ม จึงรีบวางตัวนายห้างลงแล้วปรี่เข้าไปดูอาการยาย กำชับลูกสาวให้ดูอาการนายห้างอยู่ทางนี้

สีหน้าคนป่วยเหมือนฝันร้าย

มุ่ยมองเห็นความกระสับกระส่ายราวฝ่ายนั้นกำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่าง ริมฝีปากขมุบขมิบหากไม่เอ่ยออกมาเป็นถ้อยคำ ก้มหน้าลงไปใกล้หวังจะได้ยินถนัดขึ้นก็ตกใจเมื่อฝ่ายนั้นเผยอเปลือกตาลืมขึ้นมอง มุ่ยแทบผงะถอยห่าง ทว่าคนป่วยฉุดแขนไว้ไม่ยอมปล่อย มือเขาเหนียวแน่วราวเถาวัลย์พันเกี่ยวดุจเป็นสิ่งเดียวที่เขาเหนี่ยวไว้มิให้ตนเองร่วงลงสู่หน้าผา พยายามยันตัวลุกให้ได้

ฉับพลันทันใดของเหลวในร่างกายก็โพรกออกมาทางปาก

นายห้างกุลาอาเจียนเอายาหม้อที่เพิ่งกินเข้าไปออกมาจนหมดสิ้น เลอะไปทั่วทั้งตัวเองและคนดูแล ก่อนจะล้มตัวลงอีกครั้งแล้วหลับไป

มุ่ยร้องเอ็ดอึงอยู่ครู่ใหญ่ก็สงบเมื่อฝ่ายนั้นแน่นิ่งไป นางเที่ยงสั่งให้ลูกสาวเช็ดถูพื้นที่เลอะ และช่วยกันเช็ดตัวนายห้างให้สะอาด ไม่กลัวว่าเป็นเรื่องผิดผีเพราะที่นอนอยู่นั้นคือเติ๋น…ชานบ้านโล่งๆ ไม่ใช่ในห้องหับลับลี้เร้นจากสายตาผู้คน อีกทั้งยังอยู่ในสายตาแม่ และนี่ก็เป็นการดูแลคนป่วย มุ่ยก็ทำตามโดยดี

มีหวังเพียงสิ่งเดียวคือ เมื่อพ่อกลับมาและนายห้างหายป่วยแล้ว ก็จะได้เดินทางเมื่อนั้น

ในความรู้สึกของผู้ป่วยคล้ายเรื่องกึ่งจริงกึ่งฝัน วิลเลียมรู้สึกว่าสัมผัสอ่อนนุ่มเลื่อนไปมาตามเนื้อตัวเขา ที่ซอกคอ ใบหน้า ลำแขนและฝ่ามือ แม้จะรู้สึกร้อนผ่าวไปทั้งดวงหน้าและทั่วกายราวไฟสุม แต่ชายหนุ่มก็พยายามลืมตามองเจ้าของสัมผัสอ่อนโยนนั้น พลันก็ได้พบดวงหน้านวลกระจ่างของสตรีนางหนึ่ง งามละมุนอย่างที่เขาไม่เคยได้เห็นความงามชนิดนี้มาก่อน

เสียงหวานของนางส่งภาษาที่เขาไม่เข้าใจคุยกับใครอีกคนเป็นทำนองคล้ายดนตรี

วิลเลียมพยายามลืมตาอีกครั้งเพื่อมองให้เต็มตา ทว่าหนนี้พิษไข้ที่เหนือกว่าเป็นฝ่ายมีชัย

 

ค่อนดึกแล้วหนานทิพย์ยังไม่กลับเฮือน มุ่ยไม่ได้พะวงว่าพ่อจะมีอันตรายหรือเกิดเหตุร้าย หากการกลับมาของพ่อหมายถึงปัญหาทั้งปวงแก้ไขได้แล้ว เสียงนกป่าดังอยู่เป็นระยะ มุ่ยพลิกตัวซ้ายขวาแล้วจึงเลิกล้มความคิดจะข่มตาหลับ ใจกระสับกระส่ายเพราะพะวงว่า ‘อ้ายกุลาเผือก’ จะเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนเย็นนางเที่ยงให้มุ่ยไปตามอ้ายแดงมากินข้าวแลง…ข้าวเย็นด้วยกัน อ้ายแดงนั้นรุ่นราวคราวเดียวกับมุ่ย แม้ย่างเข้าวัยหนุ่มแล้วแต่นางเที่ยงไว้ใจว่าอ้ายแดงไม่ได้คิดกับมุ่ยอย่างที่เด็กหนุ่มสาวคิดกัน อ้ายแดงเป็นกำพร้า เติบโตด้วยข้าวก้นบาตรของตุ๊ลุง…หลวงพ่อ อ้ายแดงจึงเป็นขะโยมหรือเด็กลูกวัดที่นางเที่ยงไว้ใจ

ครั้นมุ่ยไปตามที่กุฏิ แจ้งความแก่หลวงลุงตามที่แม่บอกมาว่าจะขออ้ายแดงไปเฝ้าคนป่วยที่บ้าน อ้ายแดงทำขยาดในทีแรก เพราะกลัวอ้ายพวกกุลาขาว มุ่ยจึงงัดไม้ตายด้วยการยั่วว่าแลงนี้…เย็นนี้ แม่ทำกับข้าวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแกงผักหวานใส่ปลาแห้ง ไข่ป่าม แอ็บปลาสร้อย แคบไข หนังปอง กินร้อนๆ อร่อยดี ทำไว้มากมายเสียแต่ไม่มีคนกินอาจต้องเททิ้ง ที่แน่ๆ คือไม่มีทางนำมาถวายให้พระฉันพรุ่งนี้เช้าแน่

เพียงเท่านี้อ้ายแดงก็น้ำลายสอ ไม่รอต้องเก็บเสื้อผ้าก็กระโดดข้ามบันไดลงกุฏิ เร่งมุ่ยให้นำหน้ากลับเฮือน แล้วมันก็ได้กินข้าวแลงอย่างเต็มคราบ

“เฝ้าผ่อนายห้างไว้หื้อดี มีอะหยังก็เอิ้นเน่อ”

นางเที่ยงบอกแก่อ้ายแดงที่นมเพิ่งแตกพานเข้าวัยหนุ่ม เพราะนางไม่อาจให้ลูกสาวคนเดียวมาเฝ้าได้ ถ้าเมือง…ลูกชายคนโตอยู่ด้วยคงไม่เป็นปัญหา แต่นี่ทั้งบ้านมีแต่ผู้หญิง แม้มุ่ยจะอยู่ในวัยกึ่งเด็กกึ่งสาว แต่ก็เป็นผู้หญิง นางเที่ยงกำชับอ้ายแดงให้คอยปัดแส้ไล่ยุงเพราะนางไม่มีมุ้ง แม้จะจุดไฟใช้ควันไล่ยุงแต่ก็อาจกันมิได้ทั้งหมด

มุ่ยรู้นิสัยเพื่อนที่โตมาด้วยกันดี อ้ายแดงไม่ใช่คนเลวหรือคิดร้าย มันแค่ตะกละ เห็นแก่กิน ยินดีทำทุกอย่างด้วยแรงมากกว่าใช้หัวคิด อย่างเรื่องให้เฝ้านายห้างกุลาขาวนี้…มุ่ยหยุดความคิดแล้วผลักประตูเยี่ยมหน้าออกมาก็เห็นว่าอ้ายแดงนอนเค้เก้น้ำลายยืดอยู่ทางหนึ่ง แส้โบกไล่ยุงอยู่อีกทาง เหมือนที่คิดไว้ไม่มีผิด

เด็กสาวตีแขนเผียะไปหนึ่งที อ้ายแดงก็สะดุ้งตื่นโวยวายขึ้นมา ครั้นเห็นว่า ‘ภัยร้าย’ ที่จู่มาถึงตัวหน้าตาเหมือนไอ้มุ่ยก็แหวใส่

“ตีฮายะหยัง?”

“ไผตี ยุงตัวเท่าช้างขบแขนคิงอยู่ เฮาเลยตบหื้อ”

“แล้วมันต๋ายก่…ไหนซากยุงตัวที่ว่า แบมือมาผ่อบ่าเดี๋ยวนี้”

มุ่ยรู้ทันว่าอ้ายแดงจะไม่ยอมแพ้ หาว่ามันแกล้งตีแล้วอ้างตบยุง จึงใช้มือสองข้างข่วนหน้าเพื่อนเบาๆ แล้วคว้าหมับที่คอบีบเบาๆ เขย่าเหมือนตุ๊กตาเสียกบาล

“แม่ใช้มานอนเฝ้านายห้าง แล้วนี่ไผเฝ้าไผ คิงหลับเป็นต๋ายอย่างโดนช้างย่ำ”

“ถ้าฮาหลับหลึกจะอั้น…หลับลึกเหมือนแกว่า…ฮาจะสะดุ้งตื่นเพราะมึงตบแขนฮากา”

ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้แก่กัน

“แต่คิงห้ามนอน” มุ่ยกุมคออ้ายแดงเขย่าแรงขึ้น “ข้าวแลงที่กินไป เอาคืนออกมาบ่าเดี๋ยวนี้”

“ย้างก่อน…หยุดก่อน…อ้ายกุลาขาวมันร้องหาอะหยังนั่น”

คำพูดของอ้ายแดงทำให้มุ่ยหยุดกึก หันไปมองก็พบว่าคนที่นอนป่วยมีอาการคล้ายคนเพ้อ

“ท่าจะกั้ง…ละเมอ”

“อู้ว่าจะใด…พูดว่าอะไร ลองฟังดูซิ”

ทั้งสองคนขยับเข้าไปใกล้ ได้ยินเสียงแผ่วเบาพ้นมาจากริมฝีปาก อ้ายแดงแม้จะอยู่กับพระแต่รู้หนังสือน้อยนิด ที่ฟังได้ก็เป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต แต่ที่นายกุลาขาวครางออกมามันฟังไม่ออก จึงสะกิดถามเพื่อนเพราะมุ่ยมันรู้ภาษาพวกกุลาเผือก

มุ่ยพยายามฟังอีกครั้งก็บอกได้

“Mom…แปลว่า แม่ เปิ้นเพ้อหาแม่”

“อ้ออ๊อย…ท่าจะกึ๊ดเติงหาแม่ขนาด…คงคิดถึงแม่มาก” อ้ายแดงทำเสียงสงสารเห็นใจ แล้วก็สะดุดกับคำใหม่ “มุ่ย…คราวนี้เปิ้นว่าจะใด เบ็ด…เบ็ดอะหยัง เปิ้นร้องหาเบ็ดยะหยัง?”

มุ่ยตั้งใจฟังอีกครั้ง คราวนี้ได้ยินชัด มันจึงครางตามคำนั้น

“เบ็ตตี้…ท่าจะเป็นชื่อใครสักคน”

“คราวแรกร้องหาแม่ คราวหลังนี้ก็คงร้องหาเมีย ป้อจาย…ผู้ชาย จะมีอะหยังให้กองหา…พะวงถึง เท่ากับแม่และเมีย” คราวนี้อ้ายแดงอวดภูมิเต็มที่เพื่อประกาศว่าตนโตเป็นหนุ่ม โอ่เหมือนเคยมีทั้งสองอย่าง…แม่และเมีย ซ้ำยังทำอวดรู้อีกว่าพ่อแม่ของมุ่ยไม่อยากให้ลูกสาวเป็นเมียพวกกุลาเผือกเหมือนที่สาวหลายคนเป็นทั้งอย่างเต็มใจและไม่เต็มใจ จึงปลอบเพื่อนว่า “แม่เที่ยงคงโล่งใจ ถ้ารู้ว่าอ้ายกุลาเผือกนี้มีเมียแล้ว”

มุ่ยสั่งอ้ายแดงเอาผ้าชุบน้ำมาเช็ดตัวโดยตนเองนั่งกำกับจนเสร็จสิ้น ครั้นคนป่วยหยุดเพ้อ นอนสงบดีลมหายใจเป็นปกติแล้ว จึงกำชับอ้ายแดงเรื่องโบกแส้ไล่ยุง ก่อนจะเข้าห้องนอนหับประตู

นายห้างมีเมียแล้ว

มุ่ยไม่รู้ว่าความคิดนี้เข้ามาก่อกวนจิตใจได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะเขายังหนุ่มเกินไปที่จะแต่งงานมีครอบครัวเช่นนั้นหรือ มันก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ดูแต่คนใกล้ตัวในหมู่บ้านชายป่านี้ เด็กชายบางคนนมเพิ่งแตกพาน เด็กสาวกำลังเหมือนดอกไม้บานเป็นสาวจี๋ วันดีคืนดีก็ผูกข้อมือเสียผีให้กันแล้วไม่นานก็มีลูกคนแรก แต่คู่ผัวเมียกุลาขาวดั้งขอที่เป็นผัวเมียกันที่มุ่ยเคยผ่านตา ส่วนใหญ่ก็อายุมากกันแล้วทั้งนั้น

เบ็ตตี้…เป็นชื่อที่มุ่ยจดจำได้ นางนี้เป็นกุลาเผือกเหมือนกันแน่ แต่จะหน้าตาอย่างไรยังนึกไม่ออก

การรอคอยของมุ่ยสิ้นสุดลงในเที่ยงวันถัดมา

พ่อกลับบ้านมาพร้อมคณะกุลาเผือกและกองช้างกองเกวียนที่เดินทางมาจากมะละแหม่ง

พร้อมกับสตรีชาวอังกฤษผู้หนึ่งวิ่งขึ้นมาบนเฮือน ทรุดตัวลงข้างผู้ป่วยสำรวจดูด้วยความห่วงหา

“วิลเลียม…โอ้มายเดียร์วิลเลียม ขอพระเจ้าคุ้มครอง เธอเป็นอย่างไรบ้าง”

วิลเลียมตอบด้วยเสียงแหบพร่าให้หล่อนสบายใจ

“ฉันปลอดภัยดี เบ็ตตี้”

เบ็ตตี้! นี่เองน่ะหรือ เบ็ตตี้…เมียนายห้าง ช่างเหมาะสมกันดีเสียจริงๆ

มุ่ยคิดพลางมองภาพคู่รักแสดงความห่วงหากันโดยที่บอกไม่ถูกว่าความรู้สึกของตนตอนนี้เป็นอย่างไร

 

เชิงอรรถ :

(1) ระแหง คือชื่อเดิมของจังหวัดตาก ส่วน ละกอน คือชื่อเรียกจังหวัดลำปาง

 



Don`t copy text!