Adhesive 101

Adhesive 101

โดย : Country Hobby

Loading

นอกจาก “อ่านเอา” จะมีนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังมีคอลัมน์ที่จะทำให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับการประดิดประดอยทำงานศิลป์ให้ใจสบายในคอลัมน์ “อ่านเอาคร้าบบ : Anowl Craft” โดย Country Hobby ผู้ท่องเที่ยว วาดรูป และทำงานประดิดประดอย เป็นงานอดิเรกอย่างมืออาชีพ

…………………………………………..

– Adhesive 101 

ในการทำงานคราฟต์ อุปกรณ์สำคัญคือ อุปกรณ์ที่จะยึดให้วัสดุแต่ละอย่างติดกันได้ วันนี้ผู้เขียนจึงขอมาแนะนำวัสดุติดยึดแบบต่างๆ ที่เราใช้กันบ่อยให้ได้รู้จักพอเป็นสังเขปค่ะ

1. กาว เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดี กาวแต่ละอย่างใช้งานต่างกัน ดังในภาพนี้

  • กาวน้ำ เนื้อกาวใส เหมือนกาวน้ำใสๆ ในขวดที่เคยใช้ที่โรงเรียน แต่บรรจุในขวดที่มีปากหลายขนาด ปรับได้เหมาะกับพื้นที่ เหมาะสำหรับติดกระดาษ รูปถ่าย หรือผ้าบางๆ บนกระดาษเท่านั้น
  • กาว All Purpose ติดแน่นทนนาน ใช้ติดได้ทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ พลาสติก ไม้ ผ้า ฯลฯ แต่ไม่เหมาะใช้ติดรูปถ่ายนะคะ เพราะจะทำให้รูปเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร) ผู้เขียนชอบใช้แบบหลอดเล็ก เพราะโอกาสที่เนื้อกาวจะพุ่งพรวดออกมาน้อยกว่าแบบหลอดใหญ่
  • กาวแบบแท่ง ติดกระดาษ รูปถ่าย และผ้าบางๆ ได้ค่ะ แต่รูปถ่ายบางแบบที่กระดาษหลังรูปมันมากๆ หรือมีลักษณะนูน เช่นกระดาษโพลารอยด์ ติดไม่อยู่นะคะ

2. เทปกาวสองหน้าแบบเยื่อกระดาษ มีทั้งแบบที่มีกระดาษรองที่เราคุ้นเคย และแบบไม่มีกระดาษรอง เนื้อจะหนากว่า แต่ผู้เขียนพบว่า แรงยึดไม่ดีเท่าแบบมีกระดาษ แต่ข้อดีคือก็ลอกออกแปะใหม่ได้ ผู้เขียนยังใช้มาไม่นานพอจะบอกได้ว่าทนหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ แบบมีกระดาษ หลายๆ ปีเข้าก็ล่อน ไม่เหนียว และยี่ห้อถูกๆ เมื่อนานไป นอกจากจะล่อนหลุดแล้ว ยังปรากฏมีคราบกาวทะลุมาที่กระดาษด้านหน้าอีกด้วย กาวชนิดนี้ สามารถฉีกให้ขาดได้ ดังรูปตัวอย่าง Double Side Tape in use ฝั่งซ้ายใช้กรรไกรตัด ฝั่งขวาใช้มือฉีก

3. เทปกาวสองหน้าแบบโฟม ของไทยที่ใช้สำหรับติดกระดาษ มีแค่แบบเนื้อโฟมสีขาว มีความหนาให้เลือกหลายขนาด ส่วนเทปสีอื่นๆ ใช้สำหรับติดผนัง มีแรงยึดแตกต่างกัน ซึ่งไม่ขอพูดถึงในที่นี้ สำหรับเทปโฟมของต่างประเทศที่ใช้ในงาน Scrapbooking จะมีสีให้เลือกเพื่อให้เข้ากับกระดาษที่ใช้ เช่น สีขาว น้ำตาล และดำ มีความหนาต่างๆ กัน แบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ทรงสี่เหลี่ยมเล็ก/ใหญ่ และมีแบบวงกลมด้วย

4. เทปสองหน้าแบบตลับ (Tape Runner) มีหลายยี่ห้อ บางยี่ห้อมีแรงยึดต่างๆ ให้เลือก เช่น ใช้ติดชั่วคราว ติดแน่น และติดแน่นพิเศษ และมีความกว้างให้เลือกทั้งหน้าแคบ หน้ากว้าง และมีทั้งรุ่นที่เปลี่ยนไส้ได้ด้วย เนื้อเทปยังมีให้เลือกแบบเป็นแถบเหมือนเทปกาวสองหน้า หรือแบบเป็นจุดๆ (Dot Runner) แบบจุด เหมาะกับติดกระดาษไดคัต (หมายถึงกระดาษที่ตัดตามลวดลาย มีขอบหยักๆ หรือมีส่วนเจาะทะลุ) เวลาลากตลับเทปผ่าน ตรงไหนไม่มีกระดาษ เทปก็ไม่หลุดออกมา แต่ถ้าใช้เป็นแบบเรียบ เทปจะลอกมาหมด ตรงที่เจาะกระดาษ ก็จะมีเทปกาวโผล่มาให้เห็น

5. Glue Dots เป็นกาวที่มาในรูปแบบหลากหลาย ทั้งชนิดติดแน่น หรือลอกออกได้ รูปทรงเป็นเม็ดๆ เหมือนเอากาวมาหยดแล้วกดให้แบน มีหลายขนาด รวมทั้งแบบเป็นแถบยาวด้วย แรงยึดดีมาก เวลาติดเม็ดคริสตัลหรือติดรูปโพลารอยด์ ต้องกาวนี้เลยค่ะ ติดผิดติดใหม่ได้ โดยกาวไม่เสียคุณสมบัติการยึดเกาะ แต่เมื่อติดแล้วทิ้งไว้จนกาวเซตตัวจะแน่นมาก และมีแบบที่เป็นตลับด้วย (แต่ผู้เขียนชอบแบบเป็นม้วนหรือเป็นซอง แกะใช้ทีละชิ้น โดยแปะกาวไปที่บนกระดาษที่จะติด หรือใช้ปลายคัตเตอร์สะกิดออกมาจากกระดาษ backing)

6. MT tape, Washi tape เทปเยื่อกระดาษ ตอนนี้ ยังไม่มียี่ห้อไหน ทำคุณสมบัติการยึดติดได้ดีเท่ายี่ห้อ MT เพราะสามารถติดวัตถุต่างๆ ลงบนกระดาษได้ และยังติดได้ทั้งบนผิวด้านผิวมัน เมื่อลอกออกก็ไม่ทำลายเนื้อกระดาษ ที่สำคัญ เมื่อใช้ไปนานๆ หรือเจออากาศร้อนๆ กาวก็ไม่ละลาย แต่ราคาก็สูงกว่ายี่ห้ออื่น ดังนั้น ถ้าจะใช้เพื่อยึดกระดาษ ผู้เขียนก็เชียร์ให้ลงทุนกับ MT ไปเลย แต่ถ้าใช้เป็นเทปตกแต่งเฉยๆ ยี่ห้อไหนที่ลายถูกใจก็ซื้อมาใช้เถอะค่ะ แล้วถ้าติดกับอะไรก็ลอกหมด ก็ใช้กาวช่วยอีกแรง

7. White Glue กาวเนื้อขุ่นสีขาว ที่แห้งแล้วใส กาวกลุ่มนี้เมื่อแห้งแล้วจะไม่เป็นอันตรายกับรูปถ่าย จึงสามารถใช้ในงานสแครปบุ๊กได้

  • กาวแต่ละตัว มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่คุณสมบัติต่างกัน ดังนี้
  • กาวลาเท็กซ์ เป็นกาวที่เราคุ้นเคยที่สุด ใช้ติดกระดาษ ผ้า หรือวัสดุบางๆ ได้ แต่หากพื้นผิวมัน เมื่อกาวแห้งก็จะหลุดง่าย และเมื่อใช้ติดกระดาษก็อาจทำให้กระดาษย่นได้
  • กาว PVA กาวที่ใกล้เคียงกาวลาเท็กซ์ แต่มีแรงยึดมากกว่า นิยมใช้ติดกระดาษหุ้มปกสมุด
  • กาว Mod Podge นิยมใช้ทำเดคูพาจ เพราะกาวชนิดนี้สามารถใช้เป็นทั้งกาวและตัวเคลือบ มีหลายรุ่น ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

เป็นกาวที่ผู้เขียนสั่งผลิต เพื่อใช้ในการทำงานคราฟต์ที่ต้องการแรงยึดมากเป็นพิเศษ และตั้งชื่อว่า Wonder Glue ผู้อ่านสามารถใช้กาว Tacky Glue หรือ PVA แทนได้

หวังว่าเนื้อหาวันนี้ คงช่วยให้ผู้อ่านรู้จักวัสดุติดยึดแบบต่างๆ มากขึ้นและใช้งานได้ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ไม่มีอุปสรรคในการทำงานประดิดประดอยของเรานะคะ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าค่ะ

Don`t copy text!