Brushes Introduction

Brushes Introduction

โดย : Country Hobby

Loading

นอกจาก “อ่านเอา” จะมีนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังมีคอลัมน์ที่จะทำให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับการประดิดประดอยทำงานศิลป์ให้ใจสบายในคอลัมน์ “อ่านเอาคร้าบบ : Anowl Craft” โดย Country Hobby ผู้ท่องเที่ยว วาดรูป และทำงานประดิดประดอย เป็นงานอดิเรกอย่างมืออาชีพ

…………………………………………..

– Brushes Introduction –

เราเคยคุยถึงสีน้ำชนิดต่างๆไปแล้ว วันนี้มาลองทำความรู้จักพู่กันกันค่ะ หลักใหญ่ๆ ของพู่กัน ก็จะแบ่งตามชนิดของสีที่ใช้ เช่น พู่กันสีน้ำ ต้องการการอุ้มน้ำในพู่กันมาก จึงมักจะมีขนพู่กันที่นุ่มๆ แต่ไม่ใช่สำหรับพู่กันสีน้ำมัน ที่ต้องแข็ง เพื่อให้จัดการกับสีที่ข้นหนืดได้ดี หรือพู่กันสำหรับสีอะคริลิก ก็ต้องมีความนุ่มแต่ไม่นิ่ม เพราะเนื้อสีมีมวลมากกว่าสีน้ำ เป็นต้น

ซึ่งประชากรพู่กันบนโลกนี้มีมากมายเหลือเกิน จึงขอเล่าให้ฟังเฉพาะเท่าที่จะใช้ สำหรับคอลัมน์อ่านเอาคร้าบ นี้เท่านั้นนะคร้าบบบ

สำหรับในวันนี้ เราจะพูดถึงพู่กันสีน้ำสำหรับงาน Hobby โดยตรง ผู้เขียนได้พยายามจัดหมวดหมู่และแยกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้ค่ะ

1. แบ่งตามชนิดของขนพู่กัน เป็นขนธรรมชาติ (natural ) และขนสังเคราะห์ (synthetic) นอกจากนี้ ขนพู่กันก็ยังมีทั้งแบบนุ่มและแข็ง แบบนุ่ม ยังมีนุ่มนิ่ม นุ่มฟู นุ่มเฟิร์ม ฯลฯ แบบแข็งก็มีแข็งมากแข็งน้อย ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในลักษณะต่างๆ กัน
เทคโนโลยีการผลิตพู่กันขนสังเคราะห์ในปัจจุบันสามารถผลิตขนพู่กันเลียนแบบธรรมชาติได้ใกล้เคียงมาก แต่การเลือกใช้พู่กันในข้อแรกนี้ต้องมีข้อมูลเพิ่มในเรื่องเทคนิคและวิธีการมาประกอบ ถึงจะเลือกได้ว่าจะใช้ขนพู่กันแบบไหน ทั้งนี้ หากมีคุณสมบัติเดียวกันแล้ว พู่กันขนสังเคราะห์ มักมีราคาถูกกว่าพู่กันขนธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าขนธรรมชาติจะดีกว่าขนสังเคราะห์​เสมอไป เพราะยังมีองค์ประกอบหลายอย่างให้พิจารณา

2. แบ่งตามรูปทรง เริ่มจากกลุ่มแรก พู่กันกลม ที่เรารู้จักกันครั้งแรกในวิชาศิลปะสมัยประถมนู่นเลย แบ่งเป็น พู่กันกลม (2.1) มีทั้งปลายมน และปลายแหลม, พู่กัน Liner (2.2) ทั้งแบบขนยาวและขนสั้น, Mop Brush (2.3) สำหรับแต้มสีให้ฟุ้งๆ จะคุ้นเคยกันดีในรูปแบบพู่กันแต่งหน้า และพู่กัน Deerfoot (2.4) สำหรับทำเทคนิค Stipple หรือจิ้มฟู เช่น วาดขนตุ๊กตาหมี หรือพุ่มไม้ เป็นต้น

3. แบ่งตามรูปทรง กลุ่มต่อมาคือกลุ่มพู่กันแบน​ มีพู่กันแบน ขนสั้น หรือ Flat Brush (3.1) Wash Brush (3.2) หรือพู่กันแบน ขนยาว, Angular (3.3) พู่กันปลายเฉียง Dagger (3.4) พู่กันแบนปลายเฉียงยาวคล้ายดาบ  Filbert (3.5) หรือพู่กันลิ้นแมว, Filbert Rake (3.6) เป็นพู่กันลิ้นแมว ที่ขนสั้นยาวไม่เท่ากัน Fan Brush (3.8) หรือพู่กันพัด และพู่กันพัดที่ขนสั้นยาวไม่เท่ากัน (3.7)

4. แบ่งตามขนาด ในการเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะระบาย ไม่ใช่ขนาดของภาพ เพราะแม้ว่าภาพใหญ่เท่าฝาผนัง แต่ถ้าวาดรูปรายละเอียดมาก ก็ต้องใช้พู่กันเล็กๆ อยู่ดี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของพื้นที่ที่ต้องการระบายสี หรือการตวัดพู่กัน (stroke) ในแต่ละครั้ง เราควรเลือกขนาดพู่กันที่เหมาะสม

ขนาดของพู่กันมักกำหนดเป็นหมายเลข เรียงตามขนาดของของหัวพู่กัน ตั้งแต่ 0 คือเล็กสุด ไล่ขึ้นไป ซึ่งแต่ละยี่ห้ออาจกำหนดขนาดของตนเอง บางรุ่นไล่ขนาด 0, 1, 2, 3… บางรุ่นก็เฉพาะเลขคู่ 2, 4, 6, 8, 10, … และบางครั้งอาจบอกขนาดตามความกว้างของพู่กันหรือเส้นผ่านศูนย์กลาง เช่น พู่กันเดียร์ฟุตขนาด 1/8” หมายถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเศษหนึ่งส่วนแปดนิ้ว พู่กันแบน 1/2” หมายถึงขนาดกว้างครึ่งนิ้ว เป็นต้น

5. แบ่งตามแบ่งตามเทคนิคการวาด นี่คือประเด็นที่เราจะพูดถึงค่ะ เพราะเทคนิคการวาดแต่ละอย่างก็ต้องการ พู่กันแบบต่างๆ กันไป ในครั้งนี้เราจะพูดถึงพู่กันสำหรับวาดรูปสีน้ำแนว Hobby คือการวาดทั่วๆ ไป ไม่ใช่งานจิตรกรรมค่ะ ดังนั้น เราจึงต้องรู้ว่าพู่กันแต่ละแบบเหมาะกับเทคนิคใด เช่น

1. ถ้าระบายสีพื้นที่กว้าง ไม่มีรายละเอียด ก็เหมาะกับพู่กันขนธรรมชาติ นุ่มๆ ที่อุ้มน้ำได้มาก

2. การระบายสีที่มีรายละเอียด ต้องการพู่กันที่สามารถแผ่กว้าง หรือเรียวเล็กได้

3. การวาดเป็นสโตรก คือตวัดพู่กัน 1 ครั้งให้เกิดลวดลาย ต้องการปลายพู่กันต่างกันตามลักษณะสโตรก เช่น วาดรูปทรงปลายแหลม ต้องการพู่กันที่ปลายเรียวมากๆ หากวาดรูปทรงกลม ต้องการพู่กันปลายมน

4. การลากเส้นคดโค้ง ต้องใช้พู่กันเส้นเล็ก สั้น เพื่อตวัดไปมาได้ง่าย เช่น พู่กันกลมเบอร์ 0

5. การลากเส้นตรง ต้องใช้พู่กันเส้นเล็กและยาว เช่น พู่กันกลมเบอร์ 00 เพื่ออุ้มสีได้มาก ลากเส้นยาวโดยไม่ติดขัด

6. Water Brush เป็นพู่กันที่มีที่เก็บน้ำอยู่ในด้ามพู่กัน ทำให้ใช้งานสะดวก เหมาะสำหรับพกพา ปวาดรูป นอกสถานที่ มีปลอกเหมือนปลอกปากกาป้องกันขนพู่กันเสียหายด้วย มีหัวพู่กันหลายขนาด และมีทั้งหัวกลม และหัวแบนเช่นเดียวกัน มีขายหลากหลายราคา มักจะต่างกันที่การไหลของน้ำ และความทนทานของหัวพู่กัน

Don`t copy text!