Watercolor 101

Watercolor 101

โดย : Country Hobby

Loading

นอกจาก “อ่านเอา” จะมีนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังมีคอลัมน์ที่จะทำให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับการประดิดประดอยทำงานศิลป์ให้ใจสบายในคอลัมน์ “อ่านเอาคร้าบบ : Anowl Craft” โดย Country Hobby ผู้ท่องเที่ยว วาดรูป และทำงานประดิดประดอย เป็นงานอดิเรกอย่างมืออาชีพ

…………………………………………..

– Watercolor 101 –

วันนี้จะแนะนำมือใหม่ให้รู้จักสีน้ำที่มีหน้าตาหลายแบบ ทั้งสีเป็นหลอดๆ แบบเป็นก้อนๆ แบบดินสอ แบบปากกา แถมยังมีแบบอื่นด้วย เช่น สีน้ำแบบน้ำ (Liquid Watercolor) แบบแผ่น แบบแสตมป์… ซึ่งไม่เป็นที่นิยมมากนัก จึงยังไม่ขอพูดถึงนะคะ

ในแต่ละแบบก็มีความหลากหลายทั้งคุณภาพสี และราคา แบ่งได้คร่าวๆ เป็นดังนี้

Student เกรดนักเรียน ราคาถูก และคุณภาพก็สำหรับเด็กๆ ใช้

Studio เกรดสตูดิโอ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น หรือวาดรูปเป็นงานอดิเรก คุณภาพสีของบางยี่ห้อ ใกล้เคียงกับสีเกรดอาร์ทิสต์เลยทีเดียว

Artist เกรดอาร์ทิสต์ เป็นสีคุณภาพสูง ในการใช้งานอาจไม่แตกต่างกับสีเกรดสตูดิโอมากนัก แต่ที่ต่างคือการเก็บรักษาภาพเมื่อวาดแล้ว ภาพที่วาดด้วยสีคุณภาพดี จะสามารถแขวนโชว์บนผนังโดยสีไม่ซีดจาง

ที่ฉลากของสี จะมีชื่อสี หมายเลขสี และอาจมีค่าความทนทานต่อแสง (lightfast) ด้วย ชื่อสีนี้มีสองแบบ ส่วนใหญ่จะมีชื่อสีมาตรฐาน ซึ่งมีโทนสีใกล้เคียงกันทุกยี่ห้อ และใช้ชื่อเดียวกัน เช่น Yellow Ochre, Sap Green, Cerulean Blue และอาจมีชื่อสีที่เป็นชื่อเฉพาะของแต่ละยี่ห้อเช่นกัน ซึ่งสีแต่ละสีนี้ ถ้าซื้อแบบเดี่ยวๆ สีจะมีราคาต่างกันตาม Pigment ของสีนั้นๆ ซึ่งมักแบ่งเป็นซีรีส์ A B C

เราได้รู้จักวิธีใช้สีน้ำแบบดินสอกันไปแล้ว จากการวาดรูปดอกลาเวนเดอร์ แล้วจะค่อยๆ สาธิตวิธีใช้ของแบบอื่นในโอกาสต่อไป วันนี้มาแนะนำตัวให้รู้จักกับสีแต่ละแบบกันก่อน

1. สีน้ำแบบหลอด มีทั้งแยกขายเป็นหลอดหรือเป็นเซต เวลาจะใช้เราต้องบีบสีใส่จานสีไว้ แล้วใช้ได้เลย อาจใช้แบบข้นๆ ถ้าต้องการความเข้มของสี หรือผสมน้ำสะอาดเพื่อเจือจางตามต้องการ สีที่บีบใส่จานสีนั้น ไม่ต้องล้างทิ้ง เมื่อสีแห้งไปแล้ว เวลาจะใช้อีกครั้งก็ใช้น้ำละลายมาใช้ใหม่ได้ จึงควรใช้จานสีแบบมีฝาปิด นอกจากจะใช้จานสีแล้ว อาจซื้อแพนเปล่ามาใส่สีก็ได้ (แพนคือถ้วยสี่เหลี่ยวจิ๋วๆสำหรับใส่สีน้ำ) สีบางยี่ห้อจะแห้งช้า เช่น Senelier เพราะเป็นสูตรน้ำผึ้ง เวลาบีบใส่จานสีแล้ว ก็อย่าเพิ่งจับตะแคงหกคะเมนตีลังกา ไม่เช่นนั้นสีไหลปนกันแน่นอน

2. สีน้ำแบบก้อน มีทั้งที่เป็นก้อนๆ แยกต่างหาก หรือมาเป็นชุดพร้อมจานสี บางทีก็เรียกว่าสีเค้ก (ซึ่งผู้เขียนจะนึกถึงสีเค้ก ในกรณีสีก้อนกลมๆ แบบที่นักเรียนใช้) ก้อนสีจะมาในถาดสี่เหลี่ยมจิ๋วๆ เรียกว่าแพน (pan) ในรูปเป็นขนาด half pan ถ้าขนาดใหญ่กว่านี้เรียกว่าขนาด Full Pan เวลาใช้งาน อาจใช้พู่กันเปียกป้ายสีมาใช้เลย หรือถ้าต้องการปริมาณสีมาก ก็หยดน้ำลงที่ก้อนสีเพื่อละลายก่อนก้อนสีจะมีกระดาษห่อไว้ชั้นนอก บอกหมายเลขและชื่อสี ชั้นในเป็นพลาสติกใส แล้วถึงเป็นก้อนสี

3. สีไม้ระบายน้ำ เป็นสีน้ำเอามาอัดเป็นแท่ง ทำเป็นดินสอ จะระบายแบบแห้งๆ เหมือนสีไม้ก็ได้ (แต่ถ้าน้ำหกใส่สีก็ละลายเลอะได้) แต่หลักการที่ผลิตมาก็เพื่อใช้ระบายแห้งๆ บนกระดาษแล้วเอาน้ำลูบ ละลายสีกลายเป็นสีน้ำ มีหลายเกรดให้เลือกใช้ ซึ่งต่างกันที่การละลายตัว บและการคงสภาพของสี บางยี่ห้อเก็บไว้ได้นานหลายสิบปี จึงมีราคาสูง) ยี่ห้อที่ย่อมเยาหน่อย หลังจาก 5-6 ปี ก็อาจเสื่อมสภาพลงบ้าง ในแง่ของการละลายตัว รุ่นที่คุณภาพดีมาก วาดแล้วได้ผลงานเหมือนระบายด้วยสีน้ำแบบปกติเลยทีเดียว รวมทั้งมีค่าความทนแสงสูงด้วย

4. Watercolour Pen สีน้ำแบบปากกา กลุ่มบนสุด คือสีเมจิกที่เราคุ้นเคย… กลุ่มตรงกลาง เป็น Watercolor Brush Pen หัวปากกาเป็นทรงพู่กัน ทำออกมาเพื่อตอบรับความนิยมการเขียนตัวอักษรแบบ Brush Lettering ค่ะ ส่วนกลุ่มฟ้าๆ เขียวๆ ด้านล่างนี่ เป็นปากกา 2 หัว ก็จัดอยู่ในประเภทสีน้ำ บางยี่ห้ออาจไม่ใช่สูตรน้ำ แต่เอามาระบายสีน้ำได้ ก็ขอพ่วงเค้ามาไว้ให้อยู่ด้วยกันไปนะคะ

การเลือกใช้

เห็นความหลากหลายของสีน้ำแล้ว น่าจะเริ่มงงว่าจะเริ่มต้นซื้อสีน้ำแบบไหนมาใช้ หลักๆ คือเลือกตามการใช้งาน ถ้าวาดรูปขนาดใหญ่ ใช้สีเยอะ แบบหลอดตอบโจทย์ที่สุด ถ้าชอบออกไปวาดรูปนอกสถานที่ สีแบบก้อนสามารถจับแพนสีใส่ตลับเล็กๆ พกพาไปได้ทุกที่

หากชอบวาดรูป รายละเอียดเยอะๆ สีไม้ระบายน้ำก็ทำงานละเอียดได้ง่าย หรือถ้าขอบเขียนนู่นเขียนนี่ แล้วอยากมีสีน้ำไว้ใช้… ก็ไม่ต้องซื้อสีใหม่ เพราะสีเมจิกที่มีก็เอามาระบายสีน้ำได้เช่นกัน

ส่วนถ้าถามว่าจะใช้สีเกรดไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี แนะนำให้เลือกใช้อย่างน้อยเกรดสตูดิโอขึ้นไป

หากวาดภาพเพื่อแขวนโชว์เป็นเวลานานๆ จำเป็นต้องใช้สีคุณภาพสูงที่มีคุณสมบัติทนแสง (Lightfast) แต่หากฝึกวาดแล้วเก็บในแฟ้ม ไม่ได้แขวนโดนแสง ก็ใช้เกรดสตูดิโอได้ค่ะ

Don`t copy text!