แนะนำให้อ่าน “มะงุมมะงาหรา”

แนะนำให้อ่าน “มะงุมมะงาหรา”

โดย :

นอกเหนือจากนวนิยายและบทความที่ผ่านการเลือกสรรและผ่านกระบวนการบรรณาธิการพิจารณาเป็นอย่างดี ทีมงานอ่านเอายังริเริ่มโปรเจ็กต์ “Anowl Showcase” พื้นที่ใหม่สำหรับคนชอบเขียนขึ้น เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ที่จะให้เว็บ www.anowl.co ของพวกเราเป็นชุมชนสำหรับคนรักการอ่านและการเขียนทุกคน

*************************

แนะนำให้อ่าน “มะงุมมะงาหรา”

ชื่อหนังสือ          :  มะงุมมะงาหรา

ผู้เขียน              :  ภาณิณ

สำนักพิมพ์         :  กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง

ในฐานะที่เป็นคนชอบอ่านนิยายมาตั้งแต่เด็ก ชอบจนอยากเขียนได้ ชอบจนเลือกเข้าศึกษาระดับอุดมฯ ตามอย่างนักเขียนคนโปรดเพื่อจะได้จบออกมาเป็นนักเขียนบ้าง เลยได้เขียนสมใจ (ก็เขียนการบ้านส่งอาจารย์ในคลาสงานประพันธ์ต่างๆ ไงคะ)​ เคยลองเขียนกลอนหวานๆ เขียนเรื่องสั้นไม่กี่หน้าจบ ส่งไปลงนิตยสารอยู่บ้างในช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ

จากนั้นก็ผ่านวันเวลาไปกับการหาเลี้ยงชีพ ได้เขียนงานส่วนตัวแบบที่ชอบน้อยมาก ช่วงนั้นเคยอยากนำวรรณคดีเก่ามาร้อยเรียงให้ร่วมสมัยดูบ้าง โดยใส่มุมมองของคนปัจจุบันลงไปนิดๆ หน่อยๆ กะทำเป็นเรื่องสั้นชุด ‘นางรอง-นางรอ’​ เขียนเรื่องของแก้วกิริยาจบไปเรื่องนึง เขียนเรื่องของจินตะหราคาค้างอยู่ แล้วก็ค้างอยู่อย่างนั้นจนบัดนี้ สรุปว่าเพราะตั้งชื่อชุดไม่เป็นมงคลมันเลยต้องรอไปเหอะ

จนกระทั่งได้มาอ่าน มะงุมมะงาหรา ตามคำแนะนำของครูกิ่งฉัตรแห่งคลาสอ่านเอาก้าวแรก มันเข้าทางคนชอบวรรณคดีไทยน้อยอยู่เมื่อไหร่เล่า เมื่ออ่านไปก็พบว่าไม่ธรรมดาเลยนะนั่น ไอ้แฟนตาซีแบบทะลุมิติน่ะมันอาจจะคลิเชไปแล้วสำหรับตอนนี้ สำคัญที่คนเขียนจะหาเหตุผลและปั้นแต่งให้ดูมีตรรกะได้แค่ไหนในการจูงใจคนอ่านต่างหาก และเราพบว่าเรื่องนี้ก็โอเคดีที่นักศึกษาปริญญาโทสาขาวรรณคดีไทยผู้กำลังทำวิทยานิพนธ์จะพาตัวไปโผล่ในวรรณคดีเรื่องที่เขากำลังหมกมุ่นอยู่ แถมประตูทะลุมิติยังมหัศจรรย์พันลึกแบบที่ไม่น่าจะมีใครกล้าแต่งแบบนี้ด้วยนะ นี่มันไม่คลิเชแล้ว

บทแรกๆ เราอ่านไปหัวเราะไปด้วยความสนุกสนาน นี่คือสิ่งที่คนผู้ในสังคมยามนี้ต้องการอย่างยิ่ง เสียงหัวเราะค่ะ

ครั้นอ่านต่อไปเรื่อยๆ เนื้อหาเข้มข้นขึ้นตามลำดับ เข้มทั้งสถานการณ์ในเรื่อง ข้นทั้งแนวคิดที่ต้องการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่เคยอยากทำแต่ทำไม่จบ และคิดว่าทำได้ไม่ดีเท่านี้แน่นอน (เพราะฉะนั้น นางรอง รอชาติหน้าค่อยเจอกันนะจ๊ะ)​

อย่าๆๆ อย่าคิดว่าจะมีแต่เรื่องเข้มข้นหนักหน่วง วุ้ย บทหวาน วาบหวาม โรแมนติก มาเป็นระยะๆ ค่ะคุณขา มันนุ่มนวลอวลอบตลบลึกอยู่ในใจเป็นยิ่งนัก เหมาะกับคนอ่านที่ชอบรักหวานละมุนละไม แต่ละช่วงตอนคนเขียนเขาหย่อนไว้ได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่ยัดเยียดเบียดใส่ให้แปลกแยก อ่านแล้วชุ่มชื่นหัวใจจริงๆ นา

เรื่องสำนวนโวหารก็อีก ดูหน้าคนเขียนแล้วก็นะ คนรุ่นใหม่ชัดๆ ท่าทางมั่นใจในตัวเองจนน่ากลัวว่าจะแข็งกร้าวเหมือนคนรุ่นใหม่บางคนที่ได้เจอมา แต่สำนวนของเขาไม่กร้าวกระด้างเลย มันแกร่งในจุดที่ควรแกร่ง มันนุ่มในส่วนที่ควรนุ่ม โอ๊ย ละลายใจป้าไปจนเกือบไม่เหลือดวง

แล้วใครคะ ใครกันที่สั่งสอนให้ใช้ภาษากลอนเป็นบทพูดตัวละครในพาร์ตวรรณคดี บอกเลยนะว่ากลอนของเขาไม่มั่ว นอกจากฉันทลักษณ์ผ่านฉลุยแล้ว บทกลอนยังมีลีลา มีขมวดท้ายบท ปังๆๆ เข้าเป้าใจป้าตั้งหลายช็อต นี่คืออะไรกั๊น อะไรกันนนน วิญญาณกวีรัตนโกสินทร์เข้าสิงตอนเขียนหรือไง

โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อมาตลอดว่าคนเป็นนักเขียนน่ะต้องเป็นนักคิดด้วย ไม่ใช่แค่คิดว่าเขียนยังไงดีวะ แต่มันต้องไปถึงระดับคิดว่าจะส่งสารที่ทรงคุณค่าแบบไหนให้คนอ่านรับ นี่ค่ะ เรื่องนี้มีสารที่ต้องการสื่อชัดเจน จะแจ้ง เฉียบขาด ฉลาดล้ำลึก นี่ก็ฉึกๆๆ ลงตรงกลางใจป้าอีกแล้ว

ผ่านตามาว่าคนเขียนทำงานด้านเขียนบทและทำงานเกี่ยวกับวงการละครเวที นี่เลย… เรื่องนี้มีการใช้สื่อสัญลักษณ์ด้วย จุดทะลุมิติอันตระการตาที่พานางเอกไปโผล่ในวรรณคดีนั่นไง สัญลักษณ์ที่คนเขียนต้องการใช้บอกอะไรๆ กับคนอ่าน ขอบอกว่าอ่านตอนแรกก็ตะหงิดใจ แต่พอเขาเฉลยเท่านั้นแหละ โอ๊ยยย… หนูจ๋า หนูช่างคิดจริงเชียวเลยลูก ลึกซึ้งเกินกว่าที่ป้าจะตามทัน ขอบคุณ​ที่มาเฉลยตอนจบนะ ไม่งั้นป้าก็คงยังโง่อยู่

มะงุมมะงาหรา เป็นนิยายที่สมค่ารางวัลชนะเลิศจริงๆ ค่ะ จะว่าเป็นนิยายอนุรักษ์วัฒนธรรมก็ได้ เป็นนิยายแฟนตาซีก็ได้ เป็นนิยายรักแบบโศกนาฏกรรมก็ได้ เป็นนิยายรักแบบแฮปปี้เอนดิ้งก็ได้ เป็นนิยายนำเสนอแนวคิดเชิงปรัชญาก็ได้ ที่สำคัญที่สุดเป็นนิยายที่สนุกมากกกกกกก (ประการสุดท้ายนี่คือคุณสมบัติที่คลาสอ่านเอาก้าวแรกเน้นย้ำไว้เลย)​

เป็นทุกอย่างให้ขนาดนี้ ไม่หยิบมาอ่านก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วนะคะ คุณขา

 

– แม่ช้อง –

 

Don`t copy text!