แนะนำให้อ่าน “ไผ่ต้องลม”

แนะนำให้อ่าน “ไผ่ต้องลม”

โดย :

นอกเหนือจากนวนิยายและบทความที่ผ่านการเลือกสรรและผ่านกระบวนการบรรณาธิการพิจารณาเป็นอย่างดี ทีมงานอ่านเอายังริเริ่มโปรเจ็กต์ “Anowl Showcase” พื้นที่ใหม่สำหรับคนชอบเขียนขึ้น เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ที่จะให้เว็บ www.anowl.co ของพวกเราเป็นชุมชนสำหรับคนรักการอ่านและการเขียนทุกคน

*************************

 “ชีวิตแต่ละชีวิตเปรียบดังต้นไผ่ ไผ่ย่อมเจริญเติบโตเป็นกอใหญ่ มิได้แยกจากกัน

           ...รากฝอยทุกรากแม้จะเล็กแต่นานวันเข้าก็หนาแน่น เป็นฐานอันแข็งแรงให้กอไผ่

ดำรงอยู่รวมกัน… ทุกหน่อมีข้อตั้งแต่อยู่ในดิน เมื่อเติบโตภายในกลวงเป็นปล้องว่างเปล่า

เบาแก่แผ่นดินรองรับ ลมพัดมาต้องใบอันเขียวขจีโบกสะพัดเพียงเบาๆ หากแม้ลมแรง

ก็มิได้หวั่นไหว  หากจะแล้งจนแผ่นดินแตกระแหง กอไผ่ก็ยังชูยอดสูงเสียดฟ้า”

 

ข้อความข้างต้นเป็นการเปรียบครอบครัวเสมือนกอไผ่กอหนึ่งในนวนิยายเรื่อง ‘ไผ่ต้องลม’ ของโบตั๋น หรือ สุภา สิริสิงห ผู้ก่อตั้งชมรมเด็กซึ่งมีผลงานเขียนสะท้อนสังคมและความสำคัญของครอบครัว นวนิยายเรื่องนี้เป็นผลงานเขียนที่เรียกได้ว่ายาวที่สุดในชีวิตนักเขียนของโบตั๋น นวนิยายเรื่อง ไผ่ต้องลม ยังได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2523 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติอีกด้วย

ผู้อ่านรุ่นเยาว์และรุ่นหนุ่มสาวอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยผลงานของ ‘โบตั๋น’ มากนัก แต่หากถามผู้อ่านในวัยสี่สิบปีขึ้นไป ผู้อ่านจำนวนมากมักได้เคยอ่านผลงานเด่นๆ หลายเรื่องของนักเขียนผู้นี้มาแล้ว เช่น ‘ความสมหวังของแก้ว’​ ‘จดหมายจากเมืองไทย’​ ‘ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด’​ ‘ตราไว้ในดวงจิต’​ ‘สุดแต่ใจจะไขว่คว้า’​ ‘แวววัน’ ‘บัวแล้งน้ำ’​ ‘ตะวันชิงพลบ’​ ‘ทองเนื้อเก้า’ ฯลฯ

นวนิยายเรื่อง ‘ไผ่ต้องลม’ เป็นผลงานประพันธ์ที่โบตั๋นเขียนจากชีวิตจริงของคนไทยเชื้อสายจีนท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นชีวิตที่ทรหดและต้องต่อสู้อุปสรรคสารพัดตั้งแต่เยาว์วัยชื่อ เด็กชายจู แซ่เตีย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นทิจือ เขาเกิดที่ย่านตลาดพลู ในประเทศไทย (ยุคนั้นยังเรียกประเทศสยาม)​ และพ่อพาไปอยู่กับญาติๆ ที่จังหวัดซัวเถา ประเทศจีน เมื่อเขาอายุได้เพียงสี่ขวบ เรื่อง ‘ไผ่ต้องลม’ มีความยาวถึงสามภาคคือ สู่ปิตุภูมิ คืนสยาม และ หยั่งรากชอนดิน

ชีวิตของทิจือในภาคแรกเริ่มช่วงปี พ.ศ. 2457 แต่ชะตาชีวิตผันแปรและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทิจือจึงต้องจากบ้านและไปอยู่กับกองทหารหน่วยหนึ่งของคณะปฏิวัติ ด้วยความที่คุณโบตั๋นเป็นลูกคนจีนโพ้นทะเล และมีความรู้เกี่ยวกับชีวิตชาวจีนอย่างลึกซึ้ง จึงบรรยายสภาพชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมในชนบทชาวจีนสมัยก่อนได้อย่างละเอียด เช่น ขนบประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมเรื่องการพันเท้าเด็กผู้หญิงในครอบครัวตระกูลชั้นสูงให้เล็กมากที่สุดด้วยความเชื่อว่าผู้หญิงลูกผู้ดีต้องเท้าเล็ก และอยู่แต่ในบ้าน ไม่ต้องลำบากทำงานหนักๆ แต่ประเพณีนี้ยกเว้นสำหรับคนในตระกูลชาวนาชาวไร่ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเชื่อและการปฏิบัติกับเด็กหญิงก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ญาติผู้หญิงของทิจือไม่ถูกพันเท้าแล้ว และยังได้ไปเรียนรงเรียนอย่างเท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย

ผู้เขียนยังนำเสนอเรื่องภาษาจีนท้องถิ่นที่แตกต่างกันเนื่องจากชาวจีนเองก็มีหลายเชื้อสาย ภาษาที่ใช้พูดมีทั้งแต้จิ๋ว แคะ ฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง เมื่อทิจือไปถึงจังหวัดซัวเถาแต่เล็กก็ต้องหัดเรียนภาษาแต้จิ๋ว ครั้นต้องย้ายถิ่นไปที่อื่นก็หัดภาษาจีนถิ่นนั้น เช่น เมื่อไปอยู่กับผู้กอง ก็สนับสนุนให้เขาได้หัดพูดภาษาจีนหลายๆ ถิ่นไว้ ผู้กองถามทิจือว่า

“… ตอนนี้พูดภาษาแคะพอเข้าใจแล้วใช่ไหม”

“ครับ ตอนนี้พอฟังเข้าใจ โต้ตอบได้บ้าง ผมมาอยู่แถบพวกแคะนี่ก็หลายเดือนแล้ว บางคำก็คล้ายๆ ภาษากลางที่ผมเรียนจากโรงเรียน บางคำก็คล้ายภาษาแต้จิ๋ว”

“หัดไว้ไม่เสียหลายหรอก ญาติผู้ใหญ่ของฉันท่านผู้การน่ะ ท่านมีคนสนิทเป็นคนกวางตุ้ง ลองหัดพูดภาษากวางตุ้งดูบ้างก็ดีเผื่อจะมีประโยชน์ในภายหน้า”

ทิจือไม่คิดว่าภาษากวางตุ้งจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมากับเขาได้… แต่เมื่อสงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนาน ทิจือจึงต้องระหกระเหินไปต่างเมืองอีก เขาได้ใช้ประโยชน์จากภาษากวางตุ้ง สร้างเนื้อสร้างตัวเมื่อไปถึงฮ่องกง ก่อนจะกลับคืนมาสู่แผ่นดินสยาม

ชีวิตในภาคสองและภาคสามของทิจือก็เป็นช่วงที่เขากลับสู่สยามด้วยเรือเดินสมุทร ผู้อ่านที่เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลคงเคยรู้มาบ้างแล้วว่า ผู้อพยพชาวจีนโพ้นทะเลนับพันชีวิตเคยเดินทางยาวนานเป็นสัปดาห์กว่าจะถึงย่านปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เพื่อเข้าสู่ไทย…

เรื่อง ‘ไผ่ต้องลม’ ของโบตั๋น ถือว่าเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่น่าอ่านอีกเรื่องหนึ่ง เราจะได้ศึกษาชีวิตชาวจีนโพ้นทะเล ความสัมพันธ์ช่วงแรกเริ่มของไทย-จีนในยุคสมัยที่คนจีนนับแสนทยอยอพยพมายังดินแดนสยามมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่บ้านเกิด ซึ่งมีความกันดารแร้นแค้น ไม่อุดมสมบูรณ์ดั่งแผ่นดินสยามที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ชาวจีนที่มาเมืองไทยมีความขยันขันแข็งเช่นที่โบตั๋นบรรยายให้เราเห็นว่า ชาวจีนรวมทั้งทิจือด้วย ต่างหนักเอาเบาสู้ ใครมีการศึกษาน้อยก็เริ่มการเลี้ยงชีพด้วยงานรับจ้างต่างๆ ทั้งในบางกอกและต่างจังหวัด เช่น พายเรือขายกาแฟในคลอง ขายผัก หาบขนมขาย ถ้ามีความรู้ก็อาจจะไปสอนหนังสือในโรงเรียนสอนภาษาจีนเช่นทิจือ

ตลอดช่วงชีวิตของทิจือ เขาได้เจอทั้งคนดีและไม่ดี เขาได้เรียนรู้ว่า “…อันศัตรูนี้ก็มีคุณหนัก เพราะช่วยสั่งสมความอดทนสู้โลก กล่อมเกลาจิตใจให้รู้รสความยากแค้น เมื่อความแค้นสลายไปแล้ว ความสงบก็บังเกิด”  นวนิยายเรื่อง ‘ไผ่ต้องลม’ ยังสอนเรื่องความเป็นคนกตัญญู การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ลำบากกว่า ความซื่อสัตย์ และการรู้จักให้อภัยแม้แต่ศัตรู ดังที่ทิจือได้รับการสอนให้รู้จักให้อภัยแก่ศัตรูด้วย หากผู้อ่านเคยชอบเรื่อง ‘จดหมายจากเมืองไทย’ ของโบตั๋น ก็ย่อมจะประทับใจเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

 

– น้ำดอกไม้ –

 

 

Don`t copy text!