แนะนำให้อ่าน “ไพรพิสดาร” การข้ามเวลาเพื่อค้นหารากเหง้าทางจิตวิญญาณ

แนะนำให้อ่าน “ไพรพิสดาร” การข้ามเวลาเพื่อค้นหารากเหง้าทางจิตวิญญาณ

โดย :

Loading

นอกเหนือจากนวนิยายและบทความที่ผ่านการเลือกสรรและผ่านกระบวนการบรรณาธิการพิจารณาเป็นอย่างดี ทีมงานอ่านเอายังริเริ่มโปรเจ็กต์ “Anowl Showcase” พื้นที่ใหม่สำหรับคนชอบเขียนขึ้น เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ที่จะให้เว็บ www.anowl.co ของพวกเราเป็นชุมชนสำหรับคนรักการอ่านและการเขียนทุกคน

*************************

 

ไพรพิสดาร เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ มาลา คำจันทร์ (เจริญ มาลาโรจน์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2534 นวนิยายเรื่องนี้เป็นผลงานที่ผู้ประพันธ์ใช้ความสามารถทางอักษรศาสตร์ผสานกับความรู้ทางโบราณคดี และภูมิรู้เกี่ยวกับตำนานท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ

นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของกลุ่มเด็กวัยรุ่นจำนวน ๕ คน อันได้แก่ ยศ เจ๊ฟ เจนนี่ ก้องเกียรติ และจุ๊บแจง โดยยศและจุ๊บแจงเป็นคนท้องถิ่นเชียงดาว ยศรับจ้างคณะทอดผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีเจ๊ฟ เจนนี่ และก้องเกียรติรวมอยู่ด้วย นำชมถ้ำหลวงเชียงดาว ส่วนจุ๊บแจงเป็นผู้ดูแลคณะทอดผ้าป่าฯ เมื่อทั้งห้าเดินถึงถ้ำลอดบาป เกิดปรากฏการณ์ถ้ำถล่ม ทุกคนร่วงสู่ป่าประหลาดในปี พ.ศ. ๑๒๐๐  ป่านี้มีแต่ปีศาจและสิ่งมีพิษอันเกิดจากการสร้างของเจ้าหลวงอุ่นเรือน ยศพบเจ้าหลวงคำแดง เจ้าหลวงบรรจุประกายบางอย่างไว้ในดาบของเขา ทำให้สามารถกำราบปีศาจได้ ระหว่างนั้นจุ๊บแจงรู้ว่าตนเป็นเจ้านางอินเหลากลับชาติมาเกิด ส่วนเจ๊ฟเป็นเจ้าน้อยแสงยอด ลูกชายของเจ้าหลวงอุ่นเรือนในอดีตชาติ ก้องเกียรติเป็นลูกชายของเจ้าหลวงคำแดงในอดีตชาติอันไกลโพ้น และยศเคยเป็นทหารของเจ้าหลวงคำแดง ทั้งหมดจึงมีความเกี่ยวพันกันด้วยอำนาจแห่งกรรม

ในอดีตเจ้านางอินเหลาแห่งเมืองตากฟ้ารักกับเจ้าหลวงคำแดงแห่งแคว้นโจฬนี แต่เจ้าหลวงอุ่นเรือนแห่งแคว้นคฤธรใช้กำลังทหารที่เหนือกว่ามาประชิดเมืองบังคับให้เจ้านางรับขันหมั้นของตน เจ้านางอินเหลาใช้อุบายเชิญฝ่ายแคว้นคฤธรเข้าเมืองก่อนมอมเหล้า ก่อนให้กองกำลังจากแคว้นโจฬนีตลบหลังฆ่า และเจ้านาง อินเหลาใช้หนามไม้บีงูแทงเจ้าน้อยแสงยอด ทำให้เจ้าน้อยแสงยอดสิ้นชีวิต เจ้าหลวงอุ่นเรือนหนีรอดไปได้ด้วยมีอำนาจเทพเจ้าแร้งคุ้มครอง เขาเลือกอาบไฟโทสะ และหาหัวใจมนุษย์บูชาเทพเจ้าแร้ง ทำให้เขามีชีวิตยืนยาวถึงหกร้อยปี แต่ต้องแลกกับการต้องหลบในปราสาทใต้ดินไม่สามารถเห็นเดือนเห็นตะวันได้อีก ส่วนเจ้านางอินเหลาและเจ้าหลวงคำแดงได้ครองรักกันจนสิ้นชีพ ทั้งคู่บำเพ็ญบารมีจนกลายเป็นผีหลวงประจำเขาหลวงเชียงดาว เจ้านางอินเหลารู้สึกผิดที่ทำให้พ่อแม่ทุกข์ใจจากการที่ไม่รับขันหมั้นจนศึกประชิดเมือง จึงลงมาจุติเพื่อบำเพ็ญบารมี ส่วนเจ้าหลวงคำแดงได้ฟังธรรมจากพระภิกษุที่มาธุธงค์ในป่าทำให้บรรลุธรรมกลายเป็นเทพชั้นสูง แต่ทั้งเจ้าหลวงคำแดงและเจ้าหลวงอุ่นเรือนต่างไม่สามารถเห็นกันและกัน ชาวบ้านตากฟ้าที่เหลือไม่สามารถออกนอกเขตหมู่บ้านเข้าไปในป่าได้ เนื่องจากถูกเจ้าหลวงอุ่นเรือนส่งสมุนปีศาจมารังควาน และเจ๊ฟถูกเจ้าหลวงอุ่นเรือนครอบงำ ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันช่วยชาวบ้านตากฟ้าซึ่งเป็นมนุษย์กลุ่มสุดท้ายในป่านั้นจากอำนาจมืดของเจ้าหลวงอุ่นเรือน ด้วยการปราบเจ้าหลวงอุ่นเรือน และทั้งหมดก็ทำสำเร็จ

ไพรพิสดาร ประกอบด้วยโครงเรื่องใหญ่ ๒ โครงเรื่องที่ดำเนินไปพร้อมกัน ได้แก่

โครงเรื่องที่หนึ่ง คือเรื่องราวการข้ามเวลาไปต่อสู้กับเจ้าหลวงอุ่นเรือนผู้ชั่วร้าย ที่สร้างกองทัพปีศาจรังควานมนุษย์ เพื่อคืนความสงบสุขให้กับชาวบ้านตากฟ้า และปลดปล่อยวิญญาณใน ไพรพิสดาร

โครงเรื่องที่สอง คือเรื่องราวการต่อสู้ภายในจิตใจของตัวละครทั้ง 5 คน ซึ่งล้วนมีด้านมืดในจิตใจด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่จะมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งพวกเขาต้องผ่านการเรียนรู้และชำระจิตใจไปพร้อมกับการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

โครงเรื่องทั้งสองนำไปสู่แก่นเรื่องซึ่งอิงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ว่า กรรมคือการกระทำ ทุกคนย่อมได้รับผลแห่งกรรม ชั่วแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเพียงใดเท่านั้น และแท้ที่จริงแล้วนรกสวรรค์อยู่ไม่ไกล หากอยู่ในใจของมนุษย์นี่เอง ดังเนื้อความในตัวบทที่ว่า

“แต่ถึงกระนั้น ท่านเองก็รู้ว่ายังมีอำนาจอีกชนิดหนึ่งที่สูงส่งยิ่งกว่าบุญฤทธิ์ของท่าน ยิ่งกว่าอำนาจมืดดำเข้มข้นที่ห่อหุ้มเจ้าหลวงอุ่นเรือนไว้

อำนาจนั้น คืออำนาจที่สร้างจักรวาล ครอบครองจักรวาล ดำรงรักษาจักรวาล และอาจล้มล้างจักรวาล

อำนาจยิ่งใหญ่สูงสุดนั้นชื่อว่ากรรม (มาลา คำจันทร์, 2553: 331)

และ

“กรรม กำหนดทุกชีวิต”

“กรรม คือ การกระทำ สูทำอะไร สิ่งนั้นก็เรียกว่ากรรม สูทำดีเรียกว่ากรรมดี สูทำชั่วเรียกว่ากรรมชั่วกรรมดีและกรรมชั่วสู้กันตลอดเวลา เจ้าหลวงคำแดงเป็นฝ่ายกรรมดี เจ้าหลวงอุ่นเรือนเป็นฝ่ายกรรมชั่ว อำนาจของกรรมคืออำนาจที่ควบคุมโลกนี้อยู่ เราทุกคนล้วนตกอยู่ใต้อำนาจแห่งกรรม”

“ส่วนหนึ่งเราถูกกำหนดมาจากสิ่งที่เรียกว่ากรรมเก่า แต่อีกส่วนเลือกเองได้จะเรียกว่ากรรมใหม่” (มาลา คำจันทร์, 2553: 459)

นอกจากเรื่องกรรมแล้ว แนวคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประพันธ์มุ่งนำเสนอ คือใจเป็นใหญ่ หรือ “มโนเสฏฐา มโนมยา…ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นผู้ชักนำ(มาลา คำจันทร์, 2553: 465) โดยผู้ประพันธ์ได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวตลอดเรื่อง ดังตัวบทที่ว่า

ผู้ใดเต็มใจให้ดัดแปลง ผู้นั้นจะเสวยสุขในสภาพปีศาจตลอดไป

สุขจากเลือดอุ่นหวาน

สุขจากการเสพสม

สุขจากการได้กระทำย่ำยีชีวิตอื่นด้วยอำนาจป่าเถื่อนของตน

แต่หากมันผู้ใดไม่เต็มใจ ถึงจะกลายเป็นปีศาจก็ไม่สามารถจะเสวยสุขในสภาพของปีศาจเพราะใจของมันไม่ยอมรับ

มันต้องกินเลือด แต่เลือดที่มันกินไม่ใช่เลือดอุ่นหวาน แต่จะเป็นเลือดขม และร้อนบาดไส้ไหม้คอ มันไม่อาจจะหาความสุขได้จากการเสพสม ไม่อาจจะหาความสุขได้จากการเข่นฆ่าสังหารผู้อื่น ไม่อาจหาความสุขใดๆ ได้เลย (มาลา คำจันทร์, 2553: 91)

และ เพราะหัวใจมึงตำหนิตัวเอง (มาลา คำจันทร์, 2553: 115)

จากตัวบทข้างต้น มนุษย์ส่วนหนึ่งถูกเจ้าหลวงอุ่นเรือนทำให้เป็นปีศาจโดยมิได้เต็มใจ ทำให้การเสพเลือดและเสพสมที่ควรจะเป็นความสุข กลายเป็นความทุกข์เพราะหัวใจตำหนิตนเอง

แม้แต่เจ้านางอินเหลาเอง ความรู้สึกผิดที่ทำให้พ่อแม่ทุกข์ใจเกาะกินวิญญาณให้รู้สึกไม่สบาย จนต้องมาเกิดใหม่เพื่อสร้างบุญ ดังตัวบท

“เจ้านางมีบาปกินใจ เจ้านางทำให้พ่อแม่ทุกข์ใจ ตายไปแล้ว วิญญาณเจ้านางก็ยังเจ็บป่วย ไม่ค่อยสบาย ไม่ค่อยแข็งแรง” (มาลา คำจันทร์, 2553: 145)

ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากใจเป็นใหญ่ ใจเป็นสิ่งโน้มนำให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น การที่ผู้ประพันธ์เลือกกลุ่มวัยรุ่นที่อายุราว 18-19 ปีเป็นกลุ่มตัวละครที่ข้ามเวลาไปสู่ไพรพิสดารอาจเป็นเพราะวัยนี้เป็นวัยที่ขาด    การเชื่อมต่อจากวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นวัยที่จิตใจยังไม่นิ่ง ยังต้องการแสวงหาความหมายของสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา การข้ามเวลาจึงเป็นการข้ามเวลาเพื่อหารากเหง้าทางจิตวิญญาณ ทั้งในด้านรากเหง้าวัฒนธรรม และคุณธรรมอันเป็นคำตอบที่ควรเลือกให้ดำรงอยู่ในใจ แท้จริงแล้วแม้แต่เจ้าหลวงคำแดงเองก็มิได้อยู่แต่ดอยหลวงเชียงดาว หากแต่อยู่ในใจของทุกคน ดังตัวบทที่ว่า

“ข้าเอง ข้าสถิตอยู่ทุกแห่งทุกหนใช่อยู่แห่งเดียวบนยอดดอยหลวงที่นี่ แต่คนทั่วไปหาข้าไม่พบเอง อย่าลืม ข้าอยู่ทุกแห่ง แม้แต่ในใจเจ้าก็มีข้าอยู่ หากเจ้าอยากพบข้า จงมองเข้าไปในใจเจ้า แล้วข้าจะออกมา… แม้เมื่อเจ้ากลับสู่กาลเวลาของเจ้าแล้วก็ตาม จงเป็นตัวแทนของข้า ในกาลเวลาของเจ้า อาจทำในนามอื่น ไม่จำเป็นต้องทำในนาม      ของข้าก็ได้ ชื่อว่าความดี แม้ทำในนามใด ผลที่ได้ก็คือความดีเช่นกัน” (มาลา คำจันทร์, 2553: 274)

 

นอกจากโครงเรื่องที่ผู้ประพันธ์จัดวางสอดรับกันแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้นวนิยายมีความน่าสนใจ ได้แก่ ตัวละคร  ซึ่งผู้ประพันธ์ใช้กลวิธีการสร้างตัวละครในอดีต โดยใช้คู่เปรียบ เพื่อขับเน้นบทบาทของตัวละครฝ่ายดีให้เด่นชัดขึ้น ดังนี้

 

เจ้าหลวงคำแดง  มีการบรรยายลักษณะ ดังตัวบทที่ว่า

สูงใหญ่ สง่างามเค้าหน้าเด็ดขาดแต่แฝงความเมตตาอยู่ในที ชายคนนั้นเกล้าผมเป็นมวย ทีรัดเกล้าและมีปิ่นปัก ไม่นุ่งเสื้อและกางเกง ร่างท่อนล่างนุ่งผ้าแบบหยักรั้ง ร่างท่อนบนมีผ้าคล้องไหล่ ข้อมือใส่ปลอกแขน ข้อเท้าใส่ปลอกแข้ง มือข้างซ้ายจับฝักดาบหลวมๆ (มาลา คำจันทร์, 2553: 15)

และ เจ้าหลวงคำแดงสอนให้คนสำรวม อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่รังแกข่มเหงผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ต้นไม้ ป่าไม้ หุบห้วยตรวยโตรก และขุนเขาสายน้ำ ท่านสอนให้ยอมรับซึ่งกันและกัน เราก็ชีวิต เขาก็ชีวิต อย่าทำอะไรเกินความจำเป็น (มาลา คำจันทร์, 2553: 20)

เจ้าหลวงอุ่นเรือน ร่างเนรมิตเป็นชายหนุ่มผู้สง่างาม มีรอยแผลเป็นเป็นตำหนิพาดจางๆ เหนือสันคิ้ว

ชายวัยหนุ่มใหญ่อายุราว ๓๘ ปี รูปร่างผอมสูง แต่ดูสง่า หน้าขาวซีดคล้ายคนไม่เคยสัมผัสแดดลมมาเลยตลอดชีวิต หน้าผากกว้าง คิ้วดำเข้ม จมูกโด่งเป็นสัน ปากเชิดหยิ่ง หากไม่มีรอยแผลเป็นพาดจางๆ เหนือสันคิ้วลงมาทางแก้ม ก็อาจจัดได้ว่าเขาเป็นชายที่สง่างามมากคนหนึ่งทีเดียว(มาลา คำจันทร์, 2553: 70)

แต่ในยามโกรธสุดขีด รูปร่างอันแท้จริงจะปรากฏออกมา กลายเป็นตาแก่ผอมเกร็งหลังงุ้ม หน้าตาดุร้ายเจ้าเล่ห์ มีแผลเป็นเหมือนตะขาบตัวใหญ่เกาะพาดจากสันคิ้วลงมาทางแก้ม

จะเห็นได้ว่า ผู้ประพันธ์บรรยายภาพของตัวละครสอดคล้องกับบทบาทที่ได้รับ โดยเจ้าหลวงคำแดงซึ่งเป็นฝ่ายดีและเป็นกษัตริย์ต้องมีท่าทางสง่างามระคนเมตตา และให้รายละเอียดลักษณะนิสัยที่อบรมสั่งสอนราษฎรให้ทำดี ส่วนเจ้าหลวงอุ่นเรือนซึ่งเป็นฝ่ายร้าย แม้จะมีความสง่าสมกับเป็นกษัตริย์ แต่ก็มีลักษณะภายนอกที่ชวนให้เกิดความไม่วางใจ เช่น หน้าขาวซีดคล้ายคนไม่เคยสัมผัสแดดลมมาเลยตลอดชีวิต ปากเชิดหยิ่ง มีรอยแผลเป็น เป็นต้น และให้รายละเอียดด้านจิตใจที่เจ้าโทโส มักโกรธ ทำให้เผยรูปร่างที่น่าเกลียด

ส่วนตัวละครที่มาจากยุคปัจจุบันนั้น ผู้ประพันธ์ได้สร้างให้ตัวละครมีความรู้ความสามารถพิเศษ หรือคุณลักษณะบางประการของตัวละคร ที่เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ในช่วงเวลาที่เดินทางข้ามเวลาไป ดังนี้

ก้องเกียรติ เป็นผู้ที่มีบุคลิกความเป็นผู้นำ กล้าหาญ เข้มแข็ง และเด็ดขาด ดังตัวบทที่ว่า “ก้องเกียรติเข้มแข็งมากจริงๆ ใจคอเด็ดขาด ควบคุมสติอารมณ์ได้ทุกอย่าง รอคอยแม้กระทั่งวินาทีสุดท้ายเพื่อจะพลิกสถานการณ์ (มาลา คำจันทร์, 2553: 37) และ “ยศมีดาบไฟ… แต่ก้องเกียรติมีแต่มีดธรรมดา กระนั้นก็ก้าวไปพร้อมเพรียงกันกัน ไม่หวาดหวั่น ไม่สะดุ้งสะเทือน ยศยอมรับนับถือจิตใจห้าวหาญของเพื่อนชาวกรุงจนหมดหัวใจ” (มาลา คำจันทร์, 2553: 118) จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้เมื่อเกิดปัญหา ก้องเกียรติสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี แก้ไขปัญหาได้อย่างลุล่วง และสามารถนำพาชาวบ้านตากฟ้าและเพื่อนๆ พ้นภัยจากเจ้าหลวงอุ่นเรือนได้สำเร็จ

จุ๊บแจง เป็นคนเชียงดาวแต่กำเนิด เป็นคนสวยเรียบ แต่มีสติปัญญาดี “จุ๊บแจงอาจไม่สวยผุดผาดเท่าเจนนี่ แต่ดูจะมีสติปัญญาเหนือกว่าเจนนี่ รูปร่างก็ดีกว่าเพราะผอมสูง สูงพอๆ กับเขาเสียด้วยซ้ำ” (มาลา คำจันทร์, 2553: 64) ความสามารถพิเศษของจุ๊บแจงคือ อ่านเอกสารโบราณออก โดยเฉพาะเอกสารที่บันทึกด้วยอักษรตัวเมือง เนื่องจากเคยเข้าร่วมโครงการรวบรวมเอกสารโบราณของอาจารย์จากคณะโบราณคดี และด้วยความที่เป็นหลานหมอยาจึงรู้จักสมุนไพรและรู้วิธีรักษา ประกอบกับมีความจำได้หมายรู้ติดตัวจากอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นเจ้านางอินเหลา “เจ้านางอินเหลาเป็นเจ้าแห่งยา เป็นเจ้าแห่งภาษา เป็นเจ้าแห่งความรู้ ด้วยความสามารถของท่าน จุ๊บแจงจึงไขข้อความในภาษาลึกลับออกมาได้…” (มาลา คำจันทร์, 2553: 465) จุ๊บแจงเป็นตัวละครที่มีบทบาทมากในการใช้ความสามารถพิเศษรักษาเพื่อน และไขปริศนาจากเอกสารโบราณ

เจ๊ฟ มีนิสัยรักการต่อสู้ และมีทักษะในศิลปะการต่อสู้ทุกชนิด ดังตัวบทที่ว่า “เขาเองชอบมีด ชอบปืน ชอบอาวุธทุกอย่าง ชอบศิลปะการต่อสู้ทุกชนิด เคยเป็นแชมป์เทควันโดรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี แต่ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ความสนใจพุ่งเป้าไปที่ยุทธศิลป์ไทย ฝึกกระบี่กระบอง ฝึกดาบไทยและมวยไทย การฝึกซ้อมก้าวหน้าไปด้วยดี แต่ยังไม่ทันได้ทดสอบแข่งขันเพื่อจัดอันดับก็มาเที่ยวผ้าป่าเสียก่อน” (มาลา คำจันทร์, 2553: 29) ด้านลักษณะนิสัย เจ๊ฟเป็นคนชัดเจน และมีน้ำใจ “ธรรมชาติของเขาไม่ใช่คนคิดมาก ละเอียดหยุมหยิม ขี้สงสัยหรือช่างตรวจสอบซักถาม ง่ายๆ ชัดเจน รักคือรัก ชอบก็คือชอบ ไม่รักไม่ชอบก็คือเฉยๆ ไม่เคยโกรธเกลียดเคียดแค้นอะไรรุนแรง” (มาลา คำจันทร์, 2553: 134) จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้เจ๊ฟเป็นนักรบที่มีฝีมือในการต่อสู้ในไพรพิสดาร และจากนิสัยของเขาทำให้เขาเสียสละตัวเองให้เจ้าหลวงอุ่นเรือนครอบงำ แลกกับการปล่อยตัวเจนนี่

ยศ ชายหนุ่มชาวเชียงดาว เป็นชายหนุ่มรูปร่างเล็ก เนื่องจากมีฐานะยากจนจึงไม่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์เท่าใดนัก ยศเป็นนักศึกษาที่หารายได้พิเศษด้วยการเป็นมัคคุเทศก์นำชมถ้ำหลวงเชียงดาว “เป็นไกด์นำเที่ยวถ้ำหลวง หน้าตาธรรมดา ตัวเตี้ยเล็ก น้ำหนักทั้งตัวไม่น่าจะเกินสี่สิบสองกิโลกรัม จัดว่าผอมกว่าเกณฑ์ทั่วไปมากทีเดียว” (มาลา คำจันทร์, 2553: 9) เป็นคนมีสติ อ่อนน้อมถ่อมตน รู้การควรไม่ควร ดังที่เจ้าหลวงคำแหงเอ่ยชมว่า “อายุยังน้อยแต่รู้การอันควรแลบ่ควรดีนัก บ่เสียชาติเกิด ที่เกิดเป็นลูกหลานบ้านถ้ำ” (มาลา คำจันทร์, 2553: 21) ยศมีของประจำกายคือดาบและสมุดโบราณ “สมุดโบราณเล่มนี้ศักดิ์สิทธิ์ จะเรียกว่าคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวก็ยังได้ แต่เดิมเป็นสมบัติของตา ตาตกทอดมาให้พร้อมกับดาบ ตาบอกว่าหากถึงคราวคับขันให้เปิดอ่าน เปิดพบหน้าใดก็ให้อ่านหน้านั้น” (มาลา คำจันทร์, 2553: 13) ดาบและสมุดโบราณของยศได้ใช้ช่วยเหลือพวกพ้องและชาวบ้านตากฟ้าในยามคับขัน รวมทั้งถูกใช้เป็นอาวุธในการกำจัดเจ้าหลวงอุ่นเรือนอีกด้วย

สำหรับ เจนนี่ เป็นคนเดียวที่ไม่มีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นประโยชน์ในการข้ามเวลา นอกจากความสวยและท่าทียั่วยวน ดังตัวบทที่ว่า “ผมซอยสั้น โฉบเฉี่ยวเก๋ไก๋ เด็กสาวนุ่งกางเกงขาสั้น สั้นมากๆ เหลียวไปเหลียวมา หน้าตาเฉี่ยวๆ ออกไปทางดาราวัยรุ่นเกาหลีผสมญี่ปุ่น” (มาลา คำจันทร์, 2553: 9) “เจนนี่ถาม หยอดเสียงหวาน ส่งสายตาหวานๆ ใส่ยศ เหมือนที่ชอบส่งให้เขาและเจ๊ฟ และใครต่อใคร” (มาลา คำจันทร์, 2553: 9) มิหนำซ้ำเจนนี่ยังมีความริษยาจุ๊บแจงอีกด้วย ดังตัวบทที่ว่า “ไม่นะ ฉันไม่อยากเป็นนางเอกโดนหมาไล่ฟัด ไปไล่ยายจุ๊บแจงโน่นเหอะ” (มาลา คำจันทร์, 2553: 16) และ“คิดถึงคนหน้าตาออกไทยๆ แต่เท่มากแล้วไม่อยากให้มีคนชื่อจุ๊บแจงอยู่ในโลกนี้เลย จริงอยู่ จุ๊บแจงดูจืดๆ จืดชืดมากในสายตาเธอ แต่ก้องเกียรติกลับมีท่าทีสนใจจุ๊บแจงมากกว่าสนใจเธอด้วยซ้ำ” (มาลา คำจันทร์, 2553: 23) แต่เจนนี่กลับเป็นตัวละครที่มีบทบาทในการคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ มากที่สุด ทั้งการยอมเสี่ยงภัยไปนำบัวทิพย์มารักษายศ และการทำให้เจ๊ฟหลุดจากการครอบงำของเจ้าหลวงอุ่นเรือน และเป็นตัวละครที่ทำให้ตัวละครอื่นได้ชำระจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครชายทั้งหมดที่ได้ขัดเกลาความรักเชิงชู้สาวให้กลายเป็นความเมตตา และจุ๊บแจงที่ได้แปรเปลี่ยนความริษยาเป็นความเมตตาเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ในการสร้างตัวละครนั้น ผู้ประพันธ์พยายามเชิดชูความเป็นท้องถิ่น ผ่านวัฒนธรรมทั้งศิลปะการต่อสู้พื้นเมือง ความรู้เรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน และเอกสารที่จารึกด้วยอักษรตัวเมือง รวมทั้งทักษะการดำรงชีวิตแบบไร้สิ่งอำนวยความสะดวก โดยผู้ประพันธ์ได้สร้างให้วัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้เมื่ออยู่ในโลกปัจจุบันไม่มีผู้เห็นคุณค่าเท่าใดนัก เช่นเดียวกับคนท้องถิ่น แต่เมื่อข้ามเวลาไปอยู่ในโลกอดีตกลับเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตเป็นอย่างมาก และวัยรุ่นชาวเมืองกรุงต้องพึ่งพาวัยรุ่นชาวชนบทเมื่อพลัดหลงไปอยู่ในไพรพิสดาร

ส่วนหนึ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ชวนติดตามคือการดำเนินเรื่อง ผู้ประพันธ์ใช้วิธีเล่าเรื่องส่วนใหญ่ผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละตัวสลับกันไป ทำให้ผู้อ่านเห็นความคิดของตัวละครนั้นๆในมิติเชิงลึกมากกว่าเสียงเล่าในฐานะสัพพัญญูผู้รู้รอบ อีกทั้งยังใช้กลวิธีการสร้างฉากจากสถานที่จริง โดยสถานที่จริงดังกล่าวคือ ถ้ำหลวงเชียงดาว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียง และมีลักษณะลึกลับซับซ้อน

ถ้ำหลวงเชียงดาวเป็นถ้ำลึกลับซับซ้อน ลึกมาก ระยะงานในถ้ำนับรวมกันได้หลายกิโลเมตร อย่าแตกกันอาจหลงได้ง่ายเพราะประกอบด้วยถ้ำเล็กถ้ำน้อยสลับซับซ้อนมากมาย ถ้ำเกิดจากภูเขาหินปูนที่ถูกน้ำกัดเซาะ ใต้ถ้ำลงไปเป็นธารน้ำกว้างใหญ่ เป็นลำน้ำใต้ดินที่ยังไม่มีใครสำรวจ” (มาลา คำจันทร์, 2553: 7)

เมื่อกลุ่มวัยรุ่นตกลงมายังไพรพิสดาร ผู้ประพันธ์ให้ภาพที่แตกต่างจากลักษณะทางกายภาพภายในถ้ำ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่านี่คือโลกใหม่ ดังตัวบทที่ว่า

จำได้ว่าเธอร่วงลงมา ตกเหวลึกที่ซ้อนอยู่ในถ้ำ เมื่อตกลงมาก็ควรมืด แต่ที่นี่กลับสว่าง ก้นเหวควรแคบ แต่ที่นี่กลับกว้าง ก้นเหวควรมีแต่หิน แต่ที่นี่กลับมีพื้นดิน มีต้นไม้ มีภูเขา มีท้องฟ้า (มาลา คำจันทร์, 2553: 11)

จุดเด่นที่สำคัญอย่างยิ่งของนวนิยายเรื่องนี้ อยู่ที่กลวิธีการนำตำนานและเรื่องเล่ามาใช้ โดยหลังจากให้ข้อมูลทางกายภาพที่บ่งถึงลักษณะความลึกลับดังกล่าวแล้ว ในตอนต้นเรื่องผู้ประพันธ์ได้ใช้ตำนานถ้ำเชียงดาวและเจ้าหลวงคำแดงซึ่งเป็นตำนานท้องถิ่นผูกเรื่องเข้ากับสถานที่ได้อย่างน่าสนใจ โดยตำนานเล่าว่า ถ้ำหลวงเชียงดาวเป็นที่สิงสถิตของอารักษ์เมืองนามว่าเจ้าหลวงคำแดงและนางอินเหลา เจ้าหลวงคำแดงเป็นใหญ่เหนือภูตผีทั้งหลายทั่วดินแดนล้านนา มีหน้าที่เฝ้ารักษาทรัพย์สมบัติที่พระอินทร์เนรมิต เพื่อรอผู้มีบุญญาธิการนำไปใช้ปราบยุคเข็ญ

ถ้ำหลวงเชียงดาวเป็นที่สิงสถิตของเจ้าหลวงคำแดงกับนางอินเหลา เขาสร้างรูปเจ้าหลวงคำแดงไว้นอกถ้ำ ก่อนเข้าถ้ำ ขอให้ไปไหว้เจ้าหลวงคำแดงเสียก่อน ท่านเป็นผีหลวง อยู่เหนือผีทั้งหลายทั่วทั้งล้านนา ขอให้ท่านปกปักรักษาเวลาเข้าถ้ำ เมื่ออยู่ในถ้ำ ขอให้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อย่าละเมิดล่วงล้ำประเพณีดีงามที่สืบทอดกันมา พบปะสิ่งใดอย่าแตะต้องหยิบฉวย ข้าวของทุกอย่างพระอินทร์เอามาใส่ไว้เพื่อรอเจ้าตนบุญมาเกิด มีแต่เจ้าตนบุญเท่านั้นที่จะหยิบฉวยครอบครองข้าวของสมบัติได้ ผู้ใดหยิบฉวยออกมา จะมีอันเป็นไปทุกราย” (มาลา คำจันทร์, 2553: 7)

“ตามตำนานเล่าว่าข้าวของหรือสมบัติมีแทบทุกอย่าง เช่น พระพุทธรูปทองคำ น้ำต้น หรือคนโททองคำ กระโถนทองคำ เชี่ยนหมากทองคำ แก้วแหวนแสนสิ่ง ดาบทิพย์ ดาบศรีขรรค์ชัย เสื้อผ้าอันเป็นทิพย์มีทั้งนั้น หากพบปะสิ่งไร ไม่ว่าจะทิพย์หรือไม่ทิพย์ แม้แต่เข็มสักเล่ม โบราณท่านห้ามเอาติดตัวออกมาไม่ได้ จะวิบัติฉิบหายไปหลายชั่วคน” (มาลา คำจันทร์, 2553: 8)

“เจ้าตนบุญคือผู้ทรงบุญญาธิการยิ่งใหญ่ ท่านเกิดมาเพื่อปราบยุคเข็ญ เพื่อดับร้อนผ่อนทุกข์ของคนทั้งหลาย มายกยอศีลธรรมที่ตกต่ำให้สูงขึ้น ในการที่จะทำในสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองมากมาย พระอินทร์จึงมาเตรียมการไว้ก่อนโดยเอาของทิพย์ทั้งปวงใส่ไว้ในถ้าหลวงเชียงดาวแห่งนี้ ท่านเตรียมไว้ให้เจ้าตนบุญ ไม่ได้เตรียมให้เรา ฉะนั้นเราจึงเอาออกมาไม่ได้ ใครฝ่าฝืน จะต้องมีอันเป็นไปภายในสามวันเจ็ดวัน” (มาลา คำจันทร์, 2553: 9)

ผู้ประพันธ์ใช้ช่องว่างจากความสลับซับซ้อนและมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยของถ้ำเชียงดาวนั่นเอง สร้างถ้ำย่อยเป็นสถานที่พากลุ่มตัวละครย้อนเวลา ชื่อว่า ถ้ำลับแล หรือถ้ำลอดบาป

“ถ้ำน้อยย่อยแยกแห่งหนึ่งที่อยู่ในถ้ำหลวง… ชื่อถ้ำลับแล หรือประตูลอดบาป” (มาลา คำจันทร์, 2553: 9)

ชื่อถ้ำลับแลสัมพันธ์กับเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับเมืองลับแล ซึ่งเล่าว่ามีคนหลงไปในถ้ำ และพบเมืองซึ่งมีทรัพย์สินมากมาย และมีสิ่งทั้งร้ายและดี แต่คนผู้นั้นก็สิ้นชีวิตหลังกลับออกจากถ้ำได้ไม่นาน ดังตอนที่ว่า

เรื่องเล่าว่าคนเข้าถ้ำแล้วหลงหรือหายไปเลยมีบ่อย เรื่องสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อสักสามสิบปีก่อน มีคนหนึ่งหายเข้าถ้ำ ตามหาไม่เจอ ทุกคนคิดว่าเขาคงตายแล้ว แต่สักสามเดือนต่อมาคนผู้นั้นก็ออกมาจากปากถ้ำ มาเล่าให้ญาติพี่น้องฟังว่าในถ้ามีบ้านมีเมือง มีแก้วแหวนแสนสิ่ง มีอันดี มีอันร้าย…อยู่มาได้สองสามวันก็ตายลง” (มาลา คำจันทร์, 2553: 37)

ส่วนถ้ำลอดบาปมีความเชื่อว่าหากใครผ่านประตูลอดบาปแล้วบาปเคราะห์ทั้งปวงจะสูญสิ้น

“ถ้ำลอดบาปมีประตูลอดบาป เป็นผาหินสองก้อนหินเบียดชิดกันอยู่ มีรูกว้างสักคืบเท่านั้นเอง ผู้ใดลอดได้ถือว่าบาปเคราะห์ทั้งปวงจะหลุดไป” (มาลา คำจันทร์, 2553: 482)

ความเชื่อดังกล่าวสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่ตัวละครทั้งหมดเข้าไปในถ้ำลอดบาปและย้อนเวลากลับไปในอดีต ทุกคนได้พบเหตุการณ์ที่ทำให้เรียนรู้หนทางในการชำระจิตใจ และกลายเป็นคนใหม่ที่มีกิเลสบางเบา ดังเหตุการณ์ที่เจนนี่ยอมเสียสละตนเอง ลงไปเก็บบัวทิพย์ที่ก้นบ่อซาววาเพื่อมารักษายศ ดังตัวบทที่ว่า

ที่ท่านนักรบเกราะเงินบอกว่าเธอจะถูกฆ่า ที่แท้หมายถึงจิตใจหรือตัวตนดั้งเดิมของเธอนั่นเองที่ถูกฆ่า หากจะว่ากันจริงๆ ตัวตนเดิมของเธอถูกฆ่าตายไปแล้วตั้งแต่เธอลงสู่ก้นบ่อซาววา อุโมงค์มืดมิดที่เธอต้องฝ่าอาจหมายถึงกิเลสหรือตัวตนดั้งเดิมของเธอนั่นเอง เมื่อไปถึงสระมรกตที่สว่างรุ่งโรจน์ อาจหมายถึงเธอทะลุถึงเป้าหมายแล้ว ด้านด้อยที่มืดดำจะไม่กลับมาครอบคลุมเธออีก เธอจะเป็นคนใหม่ ตัวตนที่แท้จริงของเธอจะปรากฏออกมา (มาลา คำจันทร์, 2553: 442)

นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงตำนานอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้าหลวงคำแดง ดังเช่นตำนานที่เล่าถึงการพบปะกันระหว่างเจ้าหลวงคำแดงกับเจ้านางอินเหลา ดังตัวบท

เจ้าหลวงคำแดงเสด็จตามกวางทองมาแต่เมืองโจฬนี มาถึงห้วยคราบ กวางทองก็ละคราบกวางทิ้งไว้   กลายเป็นแม่นางอินเหลา เจ้าหลวงก็ติดตามเจ้านางผู้นั้นมา มาถึงถ้ำหลวงเชียงดาวแห่งนี้ก็พากันหายเข้าไป ไม่กลับออกมาอีกเลยกระทั่งวันนี้ เจ้าหลวงคำแดงกลายเป็นผีหลวง เป็นอารักษ์ใหญ่ที่สุดของล้านนา อยู่เฝ้ารักษาดอยหลวงเชียงดาวและอาณาบริเวณทั่วแดนล้านนาสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้” (มาลา คำจันทร์, 2553: 9)

เนื่องจากตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้าหลวงคำแดงมีหลายสำนวน ซึ่งให้รายละเอียดแตกต่างกัน ผู้ประพันธ์ได้นำข้อแตกต่างมาใช้อย่างชาญฉลาด โดยใช้กลวิธีกล่าวถึงตำนานอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากสำนวนที่เลือกนำมาใช้ เพื่อแสดงภูมิรู้ และให้เหตุผลของความผิดเพี้ยนของตำนานซึ่งแตกออกเป็นหลายสำนวน ผ่านบทสนทนาของตัวละคร ดังตัวบท

“ลุงคนนำทางบอกว่าเจ้าหลวงคำแดงออกจากถ้ำหลวง แล้วไปได้กับนางผมเผือและนางสาดกว้าง อยู่ทางดอยสุเทพในตัวเมืองเชียงใหม่ ละทิ้งแม่นางอินเหลาไป”

“ตำนานมีหลายฉบับ บ้างก็ว่าต่อมาแม่นางอินเหลาแยกไปอยู่ดอยนาง ส่วนเจ้าหลวงคำแดงแยกไปอยู่ดอยหลวง”

“แสดงว่าไม่ตำนานใดก็ตำนานหนึ่งก็ต้องผิดแน่นอน ใช่มั้ยๆ”

 “คงไม่มีตำนานใดผิดทั้งหมด และคงไม่มีตำนานใดถูกทั้งหมดหรอก เจนนี่” จุ๊บแย้งเรียบๆ “ธรรมชาติของตำนานเป็นอย่างนั้น เล่ากันมานาน จำสืบต่อกันมา อาจผิดเพี้ยนกันไปบ้างเป็นเรื่องธรรมดา” (มาลา คำจันทร์, 2553: 10)

และ

“เจ้าหลวงคำแดงเป็นยักษ์หรือ มีบริวารตั้งหมื่นตน”

“ตำนานฉบับนี้ว่าไว้อย่างนั้น แต่เชื่อตามทันทีไม่ได้หรอก ควรตรวจสอบจากฉบับอื่นๆเสียก่อน ฉบับนี้อาจมีเหตุผลของท่านที่เรียกว่ายักษ์ อีกฉบับอาจเรียกเป็นเทพ ซึ่งก็อาจมีเหตุผลอีกเช่นกัน”  (มาลา คำจันทร์, 2553: 42)

“เพราะตำนานเขียนจากมุมมองพระพุทธศาสนา ผู้แต่งตำนานหรือผู้เรียบเรียงตำนานคือพระภิกษุในพุทธ          ศาสนา ส่วนเจ้าหลวงคำแดงเป็นบุคคลนอกพุทธศาสนา แต่ว่าคงมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชกล้าแข็งจนยากจะปฏิเสธ ครั้นจะคัดออกก็ไม่ได้ ครั้นจะยอมรับก็ผิดแนวทาง คนนอกพระพุทธศาสนา ตำนานจะจัดให้อยู่ในพวกมิจฉาทิฐิทั้งนั้น ครั้นจะยอมรับหรือยกย่องให้เจ้าหลวงคำแดงเป็นเทวดาก็จะเสียแนวทาง ก็เลยจัดให้ท่านเป็นยักษ์ไปเลย”  (มาลา คำจันทร์, 2553: 177)

ผู้ประพันธ์ยังใช้กลวิธีการกล่าวถึงตำนานสำนวนที่เลือกซ้ำอีกครั้งจากที่กล่าวถึงในตอนต้น เพื่อย้ำความรับรู้ของผู้อ่าน ดังตัวบทที่ว่า

“ตำนานอ่างสรงเชียงดาว กล่าวถึงถ้ำเชียงดาวไว้ว่าเป็นถ้ำกว้างใหญ่ ข้างในมีพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ มีแม่น้ำอโนทันติไหลอยู่ในถ้ำ ทรายริมฝั่งเป็นทรายเงินทรายทอง มีแก้วเจ็ดประการปนอยู่ในเนื้อทราย… ยังมียักขะตนหนึ่งเป็นใหญ่กว่าผีเสื้อเชื้อยักษ์ทั้งหลายในจักรวาล ปรากฏชื่อว่าเจ้าหลวงคำแดง มีบริวารได้หมื่นตน อยู่เฝ้ารักษายังดอยอ่างสรงที่นั้น เหตุว่าของประเสริฐแลเครื่องทิพย์มีในถ้ำนั้นแล คือว่าเครื่องพญาธรรมแลไม้มหาโพธิต้นประเสริฐ อันมีกิ่งแล้วด้วยคำนั้นแล พระเจ้าตนหลวงอันแล้วด้วยคำทั้งแท่ง แลมหาเจติยะหลังหนึ่งอันแล้วด้วยคำทั้งแท่งนั้นแล ผียักษ์ทั้งหลายหมื่นตน มีเจ้าหลวงคำแดงเป็นเค้าเป็นอิสระประธานแก่ยักษ์ทั้งหลายเฝ้ารักษาอยู่บ่ขาด มีปราการกำแพงเกี้ยวแวดล้อมอยู่ทุกด้าน เทวดาเจ้าทั้งหลายอยู่เฝ้ารักษาบ่ขาดแล” (มาลา คำจันทร์, 2553: 42)

นอกจากนี้ผู้ประพันธ์ยังใช้กลวิธีสร้างเรื่องเล่าโดยทำให้เป็นเสมือนตำนาน เพื่อสร้างเจ้าหลวงอุ่นเรือนให้เป็นตัวละครคู่ตรงข้ามกับเจ้าหลวงคำแดง และเพิ่มเหตุการณ์ที่เป็นปมขัดแย้งระหว่างทั้งคู่ ดังตัวบท

“ตำนานปากเปล่า ตำนานที่ไม่มีการบันทึกเล่าว่าเจ้าหลวงอุ่นเรือนเป็นเจ้าที่มีอำนาจมาก ครอบครอง อาณาจักรคฤธรทางทิศตะวันตก เที่ยวปราบปรามได้ดินแดนแว่นแคว้นกว้างใหญ่ ต่อมาก็ยกทัพไปประชิดเมืองตากฟ้าของเจ้านางอินเหลา เจ้าหลวงอุ่นเรือนพึงพอใจรูปร่างหน้าตาอันงดงามของเจ้านางอินเหลา เจ้าหลวงส่งคนไปเจรจากับพ่อแม่เจ้านางว่าจะรบหรือจะรับขันหมั้น พ่อแม่เจ้านางรับขันหมั้น… เจ้าหลวงอุ่นเรือนมีลูกมีเมียแล้ว แต่ยังอยากได้เจ้านางอินเหลาเป็นเมียประดับบารมี ส่วนเจ้านางก็รักอยู่กับเจ้าหลวงคำแดงแห่งแคว้นโจฬนีทางทิศตะวันออก เจ้าหลวงคำแดงมาไม่ทันสู่ขอ เจ้าหลวงอุ่นเรือนก็ประชิดชายแดนเสียก่อน เจ้านางเลยหน่วงเหนี่ยวถ่วงเวลาแล้วส่งคนไปบอกเจ้าหลวงคำแดง… เจ้าหลวงอุ่นเรือนกดดันทางพ่อแม่ พ่อแม่เจ้านางทุกข์ใจมาก ต่อมาเจ้าหลวงคำแดงก็ยกกองทัพอันเกรียงไกรเข้าโจมตีเจ้าหลวงอุ่นเรือนจนแตกพ่าย ทั้งคู่รักกัน แต่งงานกัน เจ้าหลวงอุ่นเรือนก็เลยแค้น วิญญาณไม่ยอมไปผุดไปเกิด ยังวนเวียนอยู่ในเขตดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ รอการกลับมาของเจ้านางอินเหลา…” (มาลา คำจันทร์, 2553: 112)

เมื่อกล่าวถึงปราสาทหิน ผู้ประพันธ์ใช้กลวิธีการกล่าวอ้างถึงตำนานสุวรรณะโคมคำ เพื่อชี้ให้เห็นความเก่าแก่ของปราสาทหินดังกล่าว ดังตัวบท

…จะปลูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดไม่อาจระบุได้ อาจสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยขอมเก่าสุวรรณะโคมคำโน่นกระมัง

 ตำนานสุวรรณะโคมคำกล่าวไว้ว่าตั้งแต่ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต กาลเวลาครั้งนั้นเป็นช่วงว่างพระศาสนา คือพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์เดิมเสื่อมไปจากโลก ส่วนพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ก็ยังไม่ถึงเวลาตรัสรู้ ช่วงว่างพระศาสนากินเวลายาวนานอย่างยิ่ง

ครั้งนั้นยังมีอาณาจักรแห่งหนึ่งอยู่ทางปลายแม่น้ำโขง ชื่อว่าอาณาจักรโพธิสารหลวง เจ้าผู้ครอบครองอาณาจักรเป็นคนโหดร้ายใจดำอำมหิต ประชาชนเกลียดชัง ต่อมาผู้มีบุญคนหนึ่งเกิดใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงแถวอำเภอเชียง  แสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ผู้มีบุญคนนั้นชื่อว่ากุรุวงศา

กุรุวงศาเป็นผู้มีพละกำลังมหาศาล เขาเที่ยวไปแบกเอาหินก้อนเท่าช้างมาก่อล้อมเป็นวงกลม ทำเป็นที่อยู่หนาแน่นมั่นคง คำว่าก่อล้อมเป็นวงนั้นตำนานท่านเรียกกรอม เอาหินมาก่อล้อมเรียกว่าเอาหินมากรอม คำว่ากรอมอาจเป็นที่มาของคำว่าขอม ขอมเก่าสุวรรณะโคมคำคงสืบเนื่องมาจากกุรุวงศานี่เอง (มาลา คำจันทร์, 2553: 66)

มาลา คำจันทร์ ใช้ตำนานเจ้าแม่กาลี สาวใช้พระยม และนิทานพื้นบ้านช้างโภงนางผมหอมมาอธิบายเรื่องการแก้อาถรรพณ์ของผู้หญิง โดยนำเสนอผ่านบทสนทนาของตัวละครต่างเพศ ดังตัวบทที่ว่า

“นายว่าเราทำลายอาถรรพณ์ดาบไฟของนายหรือยศ แค่เราก้าวข้ามออกไป ก็ทำลายอาถรรพณ์ได้หรือ”

“ได้ เพราะเธอเป็นหญิง”

“ผู้หญิงทำลายอาถรรพณ์ได้ อาจจะไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ของต่ำบางอย่างก็ข่มของสูงได้ ดาบไฟเป็นของสูง แต่เพศหญิงเป็นของต่ำ ของต่ำข้าวของสูง ของสูงเลยถูกข่มทันที”

 …

“คำอธิบายแบบนี้เกิดในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ในยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่อาจมีคำอธิบายอีกชุด บังเอิญว่าพวกเราไม่มีใครเกิดในยุคผู้หญิงเป็นใหญ่ ก็เลยไม่รู้ว่าเขาอธิบายกันอย่างไร ช่างมันเถอะ อย่าไปติดใจสงสัยอะไรเลย เราว่าหญิงก็คน ชายก็คน ลึกๆ แล้วเราเชื่อว่าผู้ชายกลัวผู้หญิงนะ ถึงสร้างความเชื่อขึ้นมาว่าผู้หญิงทำลายอำนาจของผู้ชายได้” (มาลา คำจันทร์, 2553: 108-109)

“เรานึกไปถึงเจ้าแม่กาลี หรือเจ้าแม่ทุรคา ในยามธรรมดา เจ้าแม่ทุรคาคือพระอุมาผู้อ่อนหวาน แต่ยามอาละวาด กลายเป็นเจ้าแม่ทุรคา แม้แต่พระศิวะยังต้องทอดตัวลงรับฝ่าเท้าเจ้าแม่ที่กระทืบลง เพราะกลัวโลกจะพินาศ”

“หรือบางตำรากล่าวถึงพระยม พระยมคือผู้เป็นใหญ่เหนือทุกชีวิต ไม่มีใครหนีพ้นอำนาจของพระองค์ เพราะพระองค์คือเทพเจ้าแห่งความตาย แต่เชื่อไหมพระยมโดนสาวใช้คนหนึ่งของพระบิดาสาปให้เป็นเทพเจ้าหน้าแข้งเน่ามีหนอนฟอนเนื้อ ได้รับความทุกข์ทรมานมาก” (มาลา คำจันทร์, 2553: 110)

และ

“นางแพงสีมีอำนาจบังคับช้างโภงได้ นางเป็นมนุษย์ เป็นผู้หญิงตัวเล็กนิดเดียว แต่นั่งอยู่หลังช้างโภงตัวเท่าดอยลูกย่อม” (มาลา คำจันทร์, 2553: 110)

นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น มาลายังใช้กลวิธีอ้างถึงวรรณกรรมเรื่องอื่น เพื่อแสดงประเภทของนวนิยายเรื่อง ไพรพิสดาร และมีการหยิบยืมบางเหตุการณ์จากนวนิยายเหล่านั้นมาใช้ โดยวรรณกรรมที่อ้างถึงได้แก่ ‘บ่วงบรรจถรณ์’ ของ กีรติ ชนา ซึ่งเป็นนวนิยายแนวข้ามเวลา ‘ลูกไพร’ ของ น้อย อินทนนท์ และเพชรพระอุมา’ ของพนมเทียน ซึ่งเป็นนวนิยายแนวผจญภัย อันมีลักษณะสอดคล้องกับ ไพรพิสดาร ซึ่งเป็นนวนิยายแนวข้ามเวลาผสมผจญภัย ดังตัวบท

เฉพาะเตียงทอง ตั่งทอง หีบทองและเทียนทองก็หรูหรามากแล้ว แต่ที่หรูยิ่งไปกว่านั้นคือมุ้งแก้วที่คลุมเตียง ไม่อยากเรียกว่าเตียงหรอก อยากเรียกว่าบรรจถรณ์ อย่างในละครเรื่องบ่วงบรรจถรณ์เมื่อหลายปีก่อนมากกว่า (มาลา คำจันทร์, 2553: 54)

คงจะต้องอยู่ป่าอีกนาน แต่จะนานเท่าไหร่ไม่รู้ นึกถึงวรรณกรรมบางเรื่องที่ได้อ่านมา จำไม่ได้ว่าอ่านจาก เรื่องไหน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องลูกไพรของครูน้อย อินทนนท์ ในเรื่องนั้น เด็กชายชาวกรุงได้ฝึกฝนเรียนรู้อะไรอีกตั้ง มากมายจากเด็กชายชาวป่า เขาเองก็ได้เรียนรู้เรื่องการอยู่ป่ามากมายจากยศเช่นกัน (มาลา คำจันทร์, 2553: 95)

และ

ฟืนถูกสุมอีกครั้ง ร่างที่แยกจากกันถูกยกขึ้นจากกองฟอนไฟร้อนแรง แต่ซากที่เหมือนขอนไม้แห้งกลับไม่ยอมไหม้ ต่างร้อนใจ ต่างวิตกกลัวจะเกิดอิทธิปาฏิหาริย์พิลึกพิลั่นเหมือนมันตรัยจอมผีดิบในเรื่องเพชรพระอุมาลุกจากกองไฟ หลาวคำเหมือนนึกอะไรได้ ปลีกกลับไปยังเรือนแล้วเอาห่อใบตองกระมิดกระเมี้ยนมาโยนใส่กองไฟ แบบเดียวกับ มาเรีย ฮอฟฟ์มัน ในเรื่องเพชรพระอุมา ตอนเผาผีดิบมันตรัย (มาลา คำจันทร์, 2553: 490)

การสร้างสถานการณ์ที่เหมือนกันให้เกิดขึ้นกับแต่ละคน เพื่อแสดงภาพเปรียบเทียบเป็นกลวิธีหนึ่งที่ผู้ประพันธ์เลือกใช้  ดังตัวบท

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับก้องเกียรติ

อดใจไม่ไหว รั้งใจไม่อยู่ เด็กหนุ่มโอบเอวและโอบหลังเธอรั้งเข้ามาใกล้

ทันใดมีเสียงระฆังดังหง่างๆ

คลื่นเสียงกึกก้องกังวานไปไกล แก้วหูเหมือนจะแตก เสียงหง่างๆ ยังอึงอลอยู่ในอากาศ มีเสียงร้องกรี๊ดแหลมเล็กแทรกซ้อน ก้องเกียรติอุดหูเพราะสุดจะทนไหว

เจนนี่ในอ้อมแขนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

กลายเป็นนางแก่ๆ ที่แก่กว่ายายของเขาเสียอีก ผิวหนังแห้งตึงรัดติดกับกระดูกเหมือนซากศพในสุสานร้าง เหมือนมัมมี่พันปี แล้วนางก็กลายไปอีกที… ตัวขาวๆ แต่ขาวขุ่นคล้ายควันไฟ มีปีกสองข้างเหมือนค้างคาว (มาลา คำจันทร์, 2553: 20)

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับก้องเกียรติ

เจ๊ฟเสียวปลาบซาบซ่าน ประคองดวงหน้าเธอไว้ ก้มลงไปหา

ไม่มีเสียงระฆังดังกึกก้อง

ไม่มีอนุสติเหนี่ยวรั้ง

วิญญาณเหมือนถูกดูดกลืนทันที (มาลา คำจันทร์, 2553: 88)

จากตัวบทที่ยกมาข้างต้น ทั้งก้องเกียรติและเจ๊ฟเผชิญสถานการณ์เดียวกัน คือการถูกนางปีศาจค้างคาวแปลงกายเป็นเจนนี่มายั่วยวน ระฆังเป็นสัญลักษณ์ของอนุสติ ก้องเกียรติมีสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีเหนี่ยวรั้งไว้ จึงได้ยินเสียงระฆัง แต่ไม่ถูกปีศาจแปลงพาตัวไป แต่เจ๊ฟไม่มีสำนึกใดๆ เหนี่ยวรั้ง จึงตกเป็นเหยื่อ ถูกนางค้างคาวแปลงล่อลวงพาไปพบเจ้าหลวงอุ่นเรือน

สำหรับเรื่องนี้ใช้กลวิธีการข้ามเวลาเพียงครั้งเดียวในตอนเปิดเรื่อง เมื่อปฏิบัติภารกิจในการกำจัดเจ้าหลวงอุ่นเรือน และชำระล้างจิตใจสำเร็จ กลุ่มวัยรุ่นทั้งหมดก็ได้กลับสู่โลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าทุกคนข้ามเวลาเข้าสู่ไพรพิสดารในปี พ.ศ. 1200  อันเป็น “ช่วงเวลาที่ชาวตากฟ้ายังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ก่อนสมัยพญามังราย ก่อนหน้าพระนางจามเทวีครองราชย์ 4 ปี” (มาลา คำจันทร์, 2553: 157) ซึ่งพระนางจามเทวียังมิได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังแผ่นดินล้านนา แต่ปรากฏทั้งเรื่องใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และชาวบ้านตากฟ้าซึ่งเป็นฝ่ายดีถือวัตรปฏิบัติในการทำดี ละชั่ว เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าเบญจศีลเบญจธรรมเท่านั้น เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ประพันธ์มุ่งเสนอแนวคิดที่ว่าธรรมะของพระพุทธศาสนาเป็นความจริง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา และธรรมแลย่อมรักษาคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม

ภาษาของนวนิยายเรื่องนี้นับเป็นจุดโดดเด่นอีกประการหนึ่ง เพราะผู้ประพันธ์เข้าใจเลือกสรรคำมาใช้เปรียบเปรยไว้อย่างน่าชม ไม่ว่าจะเป็นการให้ภาพต้นไม้กินคนที่ถูกฟันจนตายสนิทโดยเปรียบเทียบกับสิ่งของใกล้ตัว ทั้งโอ่ง ไห ผักต้ม เกล็ดปลา วุ้นเส้นโดนลวก ทำให้เกิดจินตภาพโดยง่าย ดังตัวบทที่ว่า

“มองไปยังต้นไม้กินคนรูปร่างคล้ายโอ่งปลาร้าหรือไหน้ำปลา มันเหี่ยวแห้งกองเผละกับพื้นเหมือนผักต้ม กลีบอวบหนาคล้ายเกล็ดปลา ซ้อนกันห้อยปลายลงหมด หนวดยาวๆ เป็นเส้นๆ เหมือนวุ้นเส้นโดนลวกน้ำร้อน” (มาลา คำจันทร์, 2553: 36)

ในการพรรณนาธรรมชาติ มาลาเลือกใช้คำง่ายแต่พริ้งพรายด้วยเสียง และจัดวางจังหวะของคำได้อย่างลงตัว ดังตัวอย่าง

หิ่งห้อยยังพร้อยพราวราวเพชรร่วง เป็นดอกเป็นดวงกะพริบวิบวับ แต่แรกนั้นคล้ายต่างคนต่างเปิดไฟ เปิดปิดไม่พร้อมกัน สักครู่หนึ่งคล้ายปรับจังหวะเข้ากันได้แล้วกะพริบพร่าง วูบแล้วดับ ดับแล้วติด เป็นหมู่ๆ เป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มปิดเปิดเป็นจังหวะของตัวเอง ไม่ใช่จังหวะเดียวกันทั้งป่า คล้ายหลีกล้อ คล้ายส่งภาษา คล้ายลีลาระบำป่าดงพงไพร (มาลา คำจันทร์, 2553: 45)

จากตัวอย่างข้างต้น มาลาเล่นเสียงสัมผัสทั้งพยัญชนะและอักษรอย่างไพเราะว่า ‘หิ่งห้อย’ นั้นทั้ง ‘พร้อย’ ‘พราว’ มิหนำซ้ำยังเปรียบว่าดูงดงามสูงค่า ‘ราวเพชรร่วง’ และตรง ‘เป็นดอกเป็นดวงกะพริบ วิบวับ’ ให้ภาพหิ่งห้อยที่มีเป็นมีจำนวนมากที่กะพริบไฟไม่พร้อมกัน ตรงโน้นทีตรงนี้ทีเป็นหย่อมๆ ตรง ‘วูบแล้วดับ ดับแล้วติด เป็นหมู่ๆ เป็นกลุ่มๆ’ ให้ภาพการกะพริบไฟของหิ่งห้อยที่บางครั้งก็เปิดปิดพร้อมกันเป็นจังหวะ

คืนแรม 9 ค่ำ ดาวดกดวงช่วงโชติราวกับจะหยดหยาด แสงดาวเอิบอิ่มราวน้ำปริ่มขอบบรรจุไว้เต็มที่แล้ว หากเติมน้ำมากกว่านี้ก็จะหก ดวงดาวก็เฉกเช่นกัน สุกใสถึงที่สุด หากเติมความเข้มมากกว่านี้ก็เกรงว่าดาวจะลอยดวงต่อไปไม่ไหว คงต้องร่วงลงมาเพราะบรรจุความเข้มกล้าไว้มากเกินไป  (มาลา คำจันทร์, 2553: 271)

 บทพรรณนาธรรมชาติข้างต้น ผู้ประพันธ์ให้ภาพดาวที่เต็มท้องฟ้า ‘ราวกับจะหยดหยาด’ ลงมาได้ และแสงดาวก็สุกสกาวเต็มที่จนไม่สามารถจะสุกสกาวไปมากกว่านี้ได้แล้ว

จะเห็นได้ว่า มาลา คำจันทร์ บรรจงรังสรรค์นวนิยายโดยใช้คำง่าย แต่มีความงดงาม ก่อให้เกิดจังหวะและจินตภาพแก่ผู้อ่านอย่างแจ่มชัด ควรนับว่าเป็นภาษากวีในนวนิยายโดยแท้

นอกจาก ไพรพิสดาร จะมีความงดงามด้วยภาษาที่ไพเราะอันเป็นคุณค่าทางวรรณศิลป์และการใช้กลวิธีต่างๆแล้ว คุณค่าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ คือ การกระตุ้นให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าทางทางวัฒนธรรมและมีสำนึกเรื่องคุณธรรม อันจะหล่อหลอมให้เกิดเป็นรากเหง้าทางจิตวิญญาณต่อไป

 

– วาตี –

 

บรรณานุกรม

มาลา คำจันทร์.  (๒๕๕๓).  ไพรพิสดาร. กรุงเทพฯ: เพื่อนดี.

Don`t copy text!