ซ่อนรักในรอยกาล “นครลำพูน หริภุญไชย” บทที่ 25 : ราตรีทวิเพ็ญ

ซ่อนรักในรอยกาล “นครลำพูน หริภุญไชย” บทที่ 25 : ราตรีทวิเพ็ญ

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

เขากลับมาแล้ว…

ชวาลาได้แต่เพียงทอดพระเนตรชายหนุ่มผู้มีหน้าตาราวพิมพ์เดียวกับภัสดาเล่นหยอกล้อกับราชกุมารทั้งสองด้วยพระอารมณ์หลากหลายท่วมท้น ทั้งตื้นตันยินดี คะนึงห่วงหา ระคนไปด้วยความรู้สึกผิดต่อองค์กัษษกรที่ทรงยอมให้บุรุษอื่นได้ทำหน้าที่บิดาแทนพระองค์

ชายหนุ่มหน้าตาสดชื่นแจ่มใสและดูมีเนื้อมีหนังมากขึ้น ชีวิตในระมิงค์นครคงมิได้ยากลำบากเท่าไรนัก แต่ก็มิน่าแปลกใจมิใช่หรือ รัญชน์แสดงให้เห็นอยู่หลายครั้งว่าเป็นคนเอาตัวรอดได้ดีเพียงไร

เขาทูลขยายความเรื่องราวพิสดารในเมืองระมิงค์โดยละเอียด ทั้งเรื่องที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นผู้วิเศษที่ขุนวิลังคะเชื่อถือ และเรื่องที่มีพรานหนุ่มเชื้อเจ้าแอบวาดรูปพระนางและนางกำนัลอันเป็นชนวนให้เกิดเรื่องที่ต้องพึงระวังไว้ โดยขอให้พระนางละเว้นไม่บอกชมออนว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการที่พรานเมฆปรารถนาในตัวชมออนนั้นแล

“จะว่าไป การที่พรานเมฆนำรูปแม่เจ้าถวายขุนก๊ะนั้นก็มีข้อดีเจ้าข้า”

เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น รัญชน์เรียกขานพระนางว่า ‘แม่เจ้า’ แทน ‘ท่าน’ อย่างให้เกียรติเสมอต้นเสมอปลาย แต่ครั้งนี้ชวาลากลับทรงสัมผัสความห่างเหินอย่างบอกมิถูก

“เพราะเดิมทีขุนก๊ะก็ร่ำๆ จะยกทัพมาตีเวียงเราตามคำยุยงของเมืองลัวะรอบข้างอยู่แล้ว แต่มาเปลี่ยนใจตอนเห็นพระโฉมแม่เจ้าเสียก่อน เลยไม่อยากทำร้ายหรือหยามน้ำใจแม่เจ้า”

“แต่ก็แลกมากับการที่เขาเกิดพึงใจหมายปองตัวเรา แลต้องหาหนทางให้ได้เราและบ้านเมืองเรา สิ่งที่ขุนเจ้ารัญชน์ได้ทำคือใช้สันถวไมตรีถ่วงเวลาไว้ก่อนนั้นน่าชื่นชมนัก ครานี้เป็นเราที่ต้องหาวิธีปฏิเสธโดยมิให้ระคายใจขุนหลวงผู้นั้น”

“ข้าก็เห็นว่าน่ากังวลเจ้าข้า เพราะอันขุนก๊ะนั้นมีนิสัยใจร้อนและหูเบาอย่างยิ่ง อาจถูกยุยงเข้าเมื่อใดก็ได้ทั้งสิ้น และเปลี่ยนใจได้ทุกเมื่อ”

พระนางสดับดังนั้นจึงหันไปปรึกษาคุณท้าวพี่เลี้ยง

“ฤๅพี่ทั้งสองว่าเราควรทำพิธีบูชาดาวเมืองเพื่อปกป้องราชธานีเอาฤกษ์เอาชัยเสียก่อนดีหรือไม่”

คุณท้าวทั้งสองมองหน้ากันเชิงหารือ “ชาวเมืองจักมองเป็นเรื่องประหลาดหรือไม่เพคะ ดาวเมืองเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวรักตมปุระ เกรงพวกเขาจะทึกทักเอาว่าเป็นผีพราย เสื่อมเสียถึงพระนางเจ้า เป็นช่องโหว่ให้คนโจมตีได้นะเพคะ”

“ขอประทานอภัยเถิดที่ข้าพระองค์บังอาจสอดแทรก หากข้าใคร่ทูลว่าพอเป็นไปได้อยู่เจ้าข้า” ขุนเจ้ารัญชน์ทูลแย้งขึ้น “ข้าทราบมาว่า…แต่โบราณนานมาแถบนี้ล้วนนับถือผีเชื้อ ว่าคอยคุ้มครองบ้านเมือง ดาวเมืองของแม่เจ้าคล้ายคลึงกันหรือไม่เจ้าข้า”

“ก็นับว่าคล้าย เพียงแต่ดาวเมืองบ่ใช่ผี” จามเทวีตรัสด้วยแววเนตรพึงพระทัย “ขุนเจ้าปราดเปรื่องยิ่งนัก รู้จักความเชื่อของคนแถบนี้ด้วย”

“เช่นนี้ก็มีเวลาอีกสิบสี่วันจึงจะถึงวันเพ็ญ” ปทุมวดีคำนวณ ครั้นเห็นสีหน้าฉงนของขุนนางหนุ่มจึงขยายความ “บูชาดาวเมืองต้องกระทำยามราตรีที่พระจันทร์เต็มดวง อีกทั้งต้องเป็นราตรีที่ปรากฏเดือนเพ็ญเป็นหนที่สองของเดือนเท่านั้น และแม่เจ้าจักต้องหลั่งน้ำบูชากลางแสงเดือนด้วยภาชนะอันผ่านพิธีศักดิ์สิทธิ์”

“บลูมูนน่ะหรือ”

เอาอีกแล้ว…ขุนเจ้ารัญชน์เอ่ยภาษาลึกลับออกมาอีกแล้ว หนนี้พระนางคุ้นเคยกับเสียงคำจนพอบอกได้ว่าเป็นภาษาเดียวกับที่เขาสอนรหัสลับแก่พระนางนั่นเอง

“หมายถึงเดือนพิเศษที่จักมีจันทร์เพ็ญสองหน” เขาอธิบาย “มิได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย”

“ราตรีนั้นแล เรียกว่าราตรีทวิเพ็ญ” เกษวดีที่คุ้นชินกับความแปลกประหลาดของชายหนุ่มเช่นกันพยักหน้า “เหตุใดทำหน้าพิลึกเช่นนั้นเล่า ราตรีบลูมูน ทวิเพ็ญอะไรนั่นมีความหมายอันใดต่อขุนเจ้ากระมัง”

“เปล่าเจ้าข้า”

“เช่นนั้นก็เตรียมพิธีให้พร้อมในราตรีนั้น เราคงมิได้บูชาดาวเมืองกันบ่อยนัก โอกาสสำคัญ จักพลาดมิได้”

 

 เราต้องทำพิธีบูชาดาวเมืองในราตรีทวิเพ็ญ

ทันทีที่ได้ยินเรื่องพิธีกรรมในคืนบลูมูน ชายหนุ่มก็นิ่งไปด้วยหลายสาเหตุ…แวบแรกเตือนให้เขานึกไปถึงคืนที่ขอพิชญา คนรักเก่าก่อนที่จะเจอญาดาแต่งงาน เขาเลือกขอหล่อนแต่งงานในค่ำคืนพิเศษที่มีพระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งที่สองของเดือน

และก็พบกับความผิดหวังเมื่อหล่อนปฏิเสธ

‘ไม่ใช่เธอไม่ดีหรอกรัญชน์ แต่เราว่าเธอยังไม่ใช่คนคนนั้นของเรา…คนหล่อๆ โปรไฟล์ดีอย่างเธอเดี๋ยวก็หาใหม่ได้สบายอยู่แล้ว’

และพิชญาก็ไปคว้าคนที่หล่อน้อยกว่าเขา โปรไฟล์ด้อยกว่าทุกทางอย่างหน้าตาเฉย

อึดใจถัดมา ชายหนุ่มนึกถึงสารจากเขนน้อยในราตรีก่อนหน้า หลังจากที่ห่างหายไปเกือบสี่ปี

‘หากผ่านพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในราตรีทวิเพ็ญ เจ้าก็อาจกลับโลกอนาคตกาลได้’

‘ท่านทราบได้อย่างไร’

‘ไม่ทราบ เพียงคาดเดาเท่านั้น เจ้าข้ามห้วงกาลมาในคืนที่พลังดวงเดือนแกร่งกล้าอย่างยิ่ง ครานี้หากกอปรด้วยพิธีกรรมที่เหมาะสมก็อาจเกิดขึ้นได้’

‘พิธีอะไร’

‘ข้าก็มิทราบ แต่เชื่อว่าราตรีพิเศษเช่นนี้ ย่อมต้องมีพิธีกรรมเป็นแน่ หากเจ้าอยากกลับโลกในกาลเวลาของเจ้า ก็จงเตรียมตัวให้พร้อม’

‘ท่านไม่อยากให้ข้าดูแลชวาลาเทวีแล้วหรือ’

‘อยาก แต่ก็สุดท้ายก็อยู่ที่ความสมัครใจ หากข้าฝืนใจก็รังแต่จะสร้างบาปกรรมเสียเปล่า’

‘ท่านรู้จักเรื่องบาปกรรมด้วยหรือ’

รัตตกรไม่ตอบ…จากนั้นรัญชน์ก็ติดต่อฝ่ายนั้นไม่ได้อีก และต้องกลับมาคิดทบทวนอีกครั้งว่าหากคืนนั้นสามารถกลับโลกอนาคตได้ เขาพร้อมหรือยังที่จะกลับไป

 

ชายหนุ่มมองราชนารีที่กำลังเสด็จออกว่าราชการอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อยอีกครั้ง…จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งตื่นมาแล้วไม่พบเจ้าของรอยแย้มสรวลหวานจับใจนั้นอีก ไม่ได้ยินเสียงเรียก ‘ขุนเจ้ารัญชน์’ ด้วยความปราโมทย์ยินดี ไม่ได้เห็นแววเนตรอันเหมือนทั้งดวงดาวและแสงตะวันจ้องมองมาที่เขาอีกแล้ว

ไม่นับเสียงเรียก ‘ยันยัน’ ของสองกุมารอีกที่ประทับเป็นส่วนหนึ่งในจิตใจเสียแล้ว

รัญชน์จะทนได้หรือไม่

แต่โลกแห่งนี้ใช่โลกของเขาแน่หรือ…โลกที่ตัวละครในหน้าประวัติศาสตร์ต่างโลดแล่นไปตามบทบาทของตนที่ถูกกำหนดมาแล้ว และไม่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปตามตำนานเรื่องใด พระนางจามเทวีก็ล้วนฟันฝ่าทุกอุปสรรคมาได้อย่างกล้าหาญทุกเรื่อง เขาสามารถจากไปได้โดยไม่ต้องกังวลว่าพระนางจะเพลี่ยงพล้ำ…เพราะไม่ว่าจะมีเขาหรือไม่มี ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไปตามที่ต้องเป็น

โลกแท้จริงของเขา ยังมีพ่อแม่และน้องสาวรอคอยอยู่ ป่านนี้คงจะระทมทุกข์เพราะคิดว่าลูกชายตายหรือหายตัวไปโดยไร้ร่องรอยเสียแล้ว

“ที่ไชยาก็มีพิธีบูชาทวิเพ็ญเหมือนกันมิใช่หรือ” ชวาลาทรงเปรยขึ้นก่อนลดสุรเสียงลงกระซิบ “หากท่านใคร่ลองประกอบพิธีให้เป็นสิริมงคลด้วยก็จงเตรียมไหน้ำที่ปั้นจากดินอาบแสงจันทร์เพ็ญมาด้วย”

รัญชน์ตัดสินใจปั้นไหน้ำจากดินที่ผ่านพิธีกรรมตามเงื่อนไขขึ้นมาเอง อย่างไรก็ต้องลองดู แม้เจ้าชายรัตตกรเองก็ไม่ได้รับประกันว่าพิธีนี้จะทำให้เขากลับโลกเวลาของตนได้ก็ตาม

“หากวันหนึ่งข้าไม่อยู่แล้ว…” เขาเปรยขึ้นเพื่อหยั่งท่าทีพระนาง “เป็นต้นว่า จาริกไปบ้านเมืองอื่น”

ชวาลาทรงชะงักไป แต่แล้วก็ตรัสราบเรียบ “เช่นนั้นก็ย่อมแสดงว่าท่านมิรู้สึกว่าหริภุญไชยเป็นบ้านของท่านอีก เราย่อมอวยพรให้ท่านได้เดินทางไปสู่ที่ที่จะนำความสุขให้ท่านได้แท้จริง…ว่าแต่ หากท่านคิดจะไปเมื่อไร บอกเราล่วงหน้าให้ทำใจสักหน่อยเถิดหนา”

รัญชน์จุกในอก จะทูลได้อย่างไรว่าในคืนเดือนเต็มดวงที่จะถึงนั้นแล

ทว่า เมื่อสนธยากาลเลือนหาย รัตติกาลเข้าครอบครองผืนนภาจนมืดสนิท ในเวลาที่กำลังจะเข้าร่วมพิธี เขาก็กลับเห็นใครคนหนึ่งทำลับๆ ล่อๆ ลอบเข้าเวียงเสียก่อน เมื่อเพ่งดูให้ดีก็ต้องตกใจแทบสิ้นสติเมื่อเห็นว่าเป็นพรานหนุ่มชาวระมิงค์ผู้มีผิวขาวสะอาดราวปุยเมฆสมชื่อ

อ้ายเมฆกล้าลอบเข้าประตูเวียงมาอย่างอุกอาจ หากถูกจับได้ย่อมโดนกุดหัวโดยมิต้องไต่สวน

ขณะที่กำลังคิดว่าจะเข้าไปห้าม มหาดเล็กนายหนึ่งก็รีบร้อนมาเรียกเสียก่อน

‘เจ้าวรใหญ่ไข้ขึ้นสูงไม่ได้สติ ร้องเรียกหาแต่ขุนเจ้ารัญชน์เจ้าข้า’

‘ไข้ขึ้นได้อย่างไร เมื่อเย็นยังเล่นซุกซนร่าเริงอยู่เลย’

กระนั้นรัญชน์ก็ร้อนใจ ยอมละสายตาจากเมฆตามมหาดเล็กกลับเข้าไปในคุ้มหลวงเพื่ออยู่ดูพระอาการของเจ้ามหันตยศ

“ยันยัน” โอรสแฝดพี่พึมพำแผ่วเบา “อย่าไป”

“ว่าอย่างไรนะเจ้าข้า”

“อย่าทิ้ง…หมู่เฮาไป”

“รันรันบ่ได้ทิ้งเจ้าวรใหญ่ไปไหนเจ้าข้า รันรันอยู่นี่”

แล้วเขาก็เหลือบไปเห็นสิ่งที่พระกุมารกำอยู่ในมือน้อยๆ ได้ถนัด เริ่มเข้าใจขึ้นมารางๆ

“เฮาแอบอ่าน…เฮาขอสุมา” เจ้ามหันตยศกล่าวเสียงรวยริน “ยันยัน…เขียนลา เจ้าแม่”

“โธ่…เจ้าวรใหญ่แอบกินใบแก้วให้จับไข้กา? อันตรายยิ่งนักเจ้าข้า”

“ยันยันจะไม่ไป…”

“ไม่ไป…รันรันไม่ไปไหนทั้งนั้น” ชายหนุ่มกลั้นน้ำตาไม่อยู่ สวมกอดพระกุมารพี่โดยไม่สนสายตาข้าราชบริพารอีกต่อไป “รันรันไม่ได้จะไปไหนสักหน่อย เจ้าวรใหญ่อ่านผิดเสียแล้ว”

เดือนเพ็ญราตรีนั้นจึงล่วงผ่านไปโดยไร้วี่แววขุนเจ้ารัญชน์ในพิธี หากก็เป็นความสมัครใจของเขาเอง…เพราะไม่ว่าประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้อย่างไร เจ้าวรใหญ่และเจ้าวรน้อยก็คือคนในครอบครัวของเขา

และไม่ว่าพระนางชวาลาจักมีดำริในการประกอบพิธีกรรมนี้ตามความเชื่อหรือด้วยลางสังหรณ์ก็ตาม ก็ดูราวพระนางทรงเล็งเห็นอนาคตกาลอย่างแม่นยำ เพราะเพียงพ้นราตรีแห่งการบูชาดาวเมือง เมื่อแสงอรุณรุ่งสาดส่องนคร ชาวหริภุญไชยก็ได้รับข่าวอันน่าตื่นตระหนก

ขุนวิลังคะแห่งระมิงค์นครแต่งทูตมาถึงหริภุญไชย เข้าเฝ้าพระนางจามเทวี!

 

ขุนหลวงแห่งระมิงค์ผู้ร้อนรนด้วยพิษรักและดำริเอาเองว่าบ้านเมืองเจริญแล้ว รูปโฉมตนก็งดงามขึ้นมากโข ตัดสินใจแต่งทูตไปสู่ขอจอมนางลำพูนมาเป็นแม่เมืองระมิงค์ เมฆที่จำคำเตือนของรัญชน์ได้จึงทูลขอขุนหลวงให้ตนทำหน้าที่ทูตแทน โดยอ้างเหตุผลว่าอย่างน้อยตนก็เคยไปร่ำเรียนในราชสำนักต่างๆ มากมาย รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแคว้นผู้เจริญเป็นอย่างดี ขุนวิลังคะก็ประทานอนุญาตง่ายดาย เออออว่าตนก็ไม่ไว้ใจอ้ายจ่อยผู้เป็นทูตเท่าไร แลส่วนตัวขุนหลวงเองนั้นใคร่ติดตามขบวนไปด้วยใจแทบขาดหากก็จนใจ ด้วยสนมนางหนึ่งเพิ่งคลอดบุตรหมาดๆ จะออกหน้าไปหาสตรีอื่นด้วยตนเองก็ดูใจหยาบเกินไป

“อันธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันมา บ่มีราชันที่ใดเดินทางไปพร้อมทูต” เมฆทูลพร้อมสำทับ “มิเช่นนั้นจอมนางจักมองเป็นขุนหลวงบ้านป่า บ่เท่าเทียมเจ้าชาวเม็ง”

“หึ ช่างสูงเทียมฟ้าปะล้ำปะเหลือ” ขุนก๊ะทำเสียงในลำคอ “รอให้เป็นเมียเฮาก่อนเถิด จะให้ยอมรับวิถีชาวป่าให้จงได้”

 

ตะวันทองแง้มผ่านเหลี่ยมเขาทีละน้อย หลังฟ้าสางคณะทูตจึงออกเดินทาง มีช้างกว่าร้อยเชือกแลประโคมปี่พาทย์เป่าสังข์เอิกเกริกยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติระมิงค์นครและหริภุญไชย เนื่องจากเป็นขบวนใหญ่จึงใช้เวลาเดินทางร่วมเจ็ดราตรีจึงเข้าเขตนครแห่งจามเทวี หากยังห่างไกลประตูเมืองอยู่มาก

“อย่างไรราตรีนี้ย่อมต้องตั้งค่ายพักแรมกันเสียก่อน รุ่งสางจึงค่อยเริ่มอัญเชิญพระราชสาส์นเถิด”

เดินทางรอนแรมกลางป่าเขามาทั้งชีวิตจนกลายเป็นคนกินง่ายนอนง่าย ไม่มีปัญหาแปลกที่แปลกทาง ทว่าราตรีนี้ทูตคนใหม่แห่งระมิงค์กลับนอนพลิกกระสับกระส่าย ข่มตาหลับไม่ลง จึงออกจากตูบ ไม้ไผ่มารับลมราตรีอันเย็นเยือก

คืนนี้พระจันทร์เต็มดวงนวลกระจ่างสว่างนัก ป่านนี้น้องยาจักทำอันใดอยู่หนอ…จักจำอ้ายเมฆผู้นี้ได้หรือไม่ แลจักทราบหรือไม่หนอว่าอ้ายเข้ามาประชิดติดเมือง ใกล้เจ้าเข้าไปทุกที

ชายหนุ่มนั่งรำพึงกับแสงจันทร์ไปอยู่พักใหญ่ ความที่ท่องพงไพรมาอย่างเจนจบทำให้ประสาทสัมผัสว่องไว เขารู้สึกว่าพระเพ็งคืนนี้ไม่เหมือนเดิม ราวกับลำแสงนั้นเข้มข้นกว่าทุกครา…ทั้งยังได้กลิ่นกำยานผสานดอกไม้ลอยมาตามลม

และทั้งที่ไม่ควรสดับได้ เมฆกลับมั่นใจว่าได้ยินเสียงสวดบริกรรมบางอย่างยืดยาว เขาแนบหูลงกับพื้นดิน…แน่แล้ว

ในเวียงหริภุญไชยกำลังประกอบพิธีกรรมอันใดอยู่เป็นแน่!

ไวเท่าความคิด เขารีบหยิบผ้ามาเคียนศีรษะ สวมเสื้อฝ้ายทับท่อนบนอันเปลือยเปล่าอีกสองชั้นให้มิดชิดรัดกุม แล้วออกท่องเดินกลางรัตติกาลอันเย็นเยือก มีแสงเดือนสว่างนำทาง อาศัยทิศโคจรแห่งจันทร์และดาวเป็นตัวตั้ง ฟังเสียงแลกลิ่นอันลอยตามลม มินานก็ถึงประตูเวียงได้โดยง่าย ทว่ามีทหารอารักขาประจำการแข็งขันทั้งหน้าประตูเรียงรายตลอดป้อมปราการคูเมือง

ระหว่างที่คิดว่าจะเข้าเวียงได้อย่างไรนั้น ก็มีทหารเวรคนหนึ่งสังเกตเห็นเขาเข้าเสียก่อนแล้ววิ่งตรงมาหน้าตาตื่น “ได้หม้อสอบมาแล้วกา? จงรีบให้ไวเถิด ข้างในแจ้งว่าแม่เจ้าเดือดขนาด ประเดี๋ยวบ่ทันพิธี”

“หม้อสอบ?” ชายหนุ่มอึกอักพลางคิดหาทางเอาตัวรอด

“ก็หม้อสอบดินเผาที่ปั้นคืนวันเพ็ญสำหรับใส่น้ำน่ะสิ แม่เจ้าต้องใช้ในพิธี แต่มีแมวไปวิ่งชนจนหม้อร้าว แม้ร้าวเพียงน้อยนิดแต่แม่เจ้าก็บ่วางใจ เลยให้อี่นาย ข้าหลวงไปตามหาหม้อสอบมาใช้ในพิธีจะใดเล่า สูบ่ใช่คนของอี่นายกา?”

“อ้อ…หม้อสอบ ข้าเรียกไหน้ำ”

“ไหน้ำนั้นแล เรียกตามในคุ้มมันบ่เคยปากเท่าหม้อสอบ” ทหารเวรยังมีแก่ใจอธิบาย หากก็มองสำรวจทั่วตัวผู้มาใหม่ยามวิกาล “แล้วไหน้ำอยู่ที่ใดเล่า”

เมฆนึกถึงเครื่องถ้วยชามที่คณะทูตเตรียมนำมาเป็นบรรณาการแก่จอมนางหริภุญไชย แต่ถึงอย่างไรเขาก็มาไกลเกินจะอ้างกลับไปเอามาได้ จึงตัดสินใจเสี่ยงวัดดวงอ้างถึงผู้ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร

“บ่ต้อง อี่นายว่าเกรงบ่ทันฤกษ์พิธี แม่เจ้าจึงบ่ต้องให้หาไหน้ำแล้ว ข้าถึงรีบกลับมานี่แล พิธีจวนเสร็จแล้วกระมัง”

“ข้าก็บ่แน่ใจ” ทหารหนุ่มว่า “อันที่จริงหมู่เฮาบ่ฮู้ด้วยซ้ำว่ากระทำพิธีใด เห็นว่าคล้ายกับบูชาเทวดาเมือง เอ…แล้วสูจักเข้าเวียงไปยะหยัง ดูเครื่องแต่งกายบ่ใช่ชาวคุ้ม”

ทูตจำเป็นใจเต้นแรงราวจะโลดออกมานอกอก หากยังแสร้งหัวเราะ

“บ่ใช่ได้จะใด ข้าเป็นสล่าในคุ้มหลวง บ่เช่นนั้นจะรับคำสั่งอี่นายข้าหลวงได้กา?” เขานิ่งประเมินท่าทีอีกฝ่าย เมื่อเห็นแววตาลังเลจึงรีบสำทับ “แล้วเมื่อไรจะให้ข้าเข้าไป ข้าต้องเข้าไปช่วยพิธี สูจักรอให้เทวดาหรือแม่เจ้าเดือดก่อนกา?”

เมื่อได้ยินคำขู่ อีกฝ่ายก็คอหด ออกคำสั่งให้หนุ่มแปลกหน้าผ่านประตูเวียงเข้าไปง่ายดาย ชายหนุ่มจึงก้าวเข้าเวียงหริภุญไชยโดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเข้าไปด้วยเหตุใด จักกล่าวอ้างถึงผู้ใดได้ หรือแม้แต่จะกลับออกไปอย่างไรให้ทันรุ่งสาง

แสงจันทร์กระจ่างส่องกระทบลำน้ำอันโอบล้อมเวียงวังต่างกำแพง ลมยามวิกาลโชยแผ่วก่อระลอกวงน้ำกระเพื่อมบางเบา ใต้แสงศศิธรอร่ามเรือง เห็นยอดแหลมทองวิบวับของวิหารเจดีย์อยู่วอมแวม บ้านเรือน วัดวาอารามตลอดจนคุ้มเจ้า เรือนขุนนางเรียงรายล้วนกลายเป็นเงาตะคุ่ม หากไร้เสียงสวดมนตรากระหึ่มก้องแล้วนั้น หริภุญไชยคงเป็นนครอันสงบเงียบเชียบ ไร้วี่แววมหรสพรื่นเริงยามราตรี มิอาจคาดเดาได้ว่าเป็นราชธานีอันเจริญรุ่งเรือง

เขาเดินเลียบตามลำน้ำโดยไร้จุดหมายชัดเจน เพียงแต่ตามเสียงบริกรรมมนตราที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หากฟังแล้วยังห่างไกลอยู่ดี เขาเริ่มไม่แน่ใจว่าควรไปต่อหรือหาทางกลับค่ายเสียบัดนี้ เพราะหากถูกจับได้ขึ้นมา คนที่จักทำให้สัมพันธไมตรีสองแคว้นบาดหมางมิแคล้วต้องเป็นเขา ไม่ใช่อ้ายจ่อยปากมากผู้นั้น

ทันใดนั้นเรือน้อยลำหนึ่งได้ปรากฏขึ้นในคลองจักษุ เห็นเพียงกรอบเงาตะคุ่มดำในลำน้ำกับเสียงไม้พายกระทบสายธารแผ่วเบา และคล้ายกับผู้ที่อยู่ในเงามืดอยู่ในจุดที่มองเห็นเขาได้ถนัด คนผู้นั้นชะงักไปอึดใจ ก่อนร้องถามเสียงเบาหวิว

“นั่นผู้ใดกันมาเดินลับๆ ล่อๆ ตรงนี้ได้อย่างไร”

เสียงแม่ญิง…อ่อนหวานจับใจเสียด้วย เขาย้อนถาม

“แล้วสูเล่าเป็นผู้ใด มาพายเรือกลางค่ำกลางคืนเช่นนี้ได้กา?”

สตรีในเรือนิ่งไปชั่วขณะ ก่อนค่อยพายเรือเลียบเข้าฝั่ง เสียงสั่นพร่าแผ่วเบาในลำคอ

“สู สูคือพรานบนดอยขุนตาลผู้นั้นแม่นก่อ”



Don`t copy text!