การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 7 :  ตกหลุมรักฤดูใบไม้ร่วงอีกครั้งหลังการผ่าตัดครั้งที่สอง

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 7 : ตกหลุมรักฤดูใบไม้ร่วงอีกครั้งหลังการผ่าตัดครั้งที่สอง

โดย : อลิสา กัลยา

อ่านเอา มี นิยายออนไลน์ ให้คุณได้อ่านเพลิดเพลิน มีคอลัมน์หลากหลายให้ได้เปิดโลก และ “การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง” เรื่องราวของคุณแม่ชาวไทยในโอซาก้าที่พบว่าลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกนี้มีเพียงหัวใจแค่ครึ่งดวง จะเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์และความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ประทับใจไม่รู้ลืม

 

-7-

 

หลังจากผ่าตัด BT Shunt มิอุต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณสองเดือนกว่าจะได้ออกมาใช้ชีวิตปกติที่บ้าน

มิอุเข้ารับการผ่าตัดครั้งแรกเมื่อกลางฤดูใบไม้ผลิ กว่าจะได้ออกมาดูโลกภายนอก ฤดูร้อนก็มาเยือนเสียแล้ว

สัปดาห์แรกนั้นจึงเป็นการทดลองมาอยู่บ้านเสียก่อน หากไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้เลย เพียงแต่ต้องมาให้คุณหมอเช็กร่างกายทุกเดือน

ชีวิตในโรงพยาบาลระหว่างการผ่าตัดครั้งแรกนั้นเรียกได้ว่าทุลักทุเลมากในช่วงสัปดาห์แรกๆ ช่วงกลางคืนมิอุตื่นนอนเกือบทุกสองชั่วโมง ยังดีหน่อยที่นางพยาบาลที่นี่ช่วยเหลือเป็นอย่างดี ด้วยความที่มิอุยังเล็กอยู่ พยาบาลที่เข้าเวรช่วงเช้ามักจะบอกให้ฉันไปพักผ่อนนอนหลับได้สัก ๒๐-๓๐ นาที  ก่อนจะมาดูแลมิอุยาวทั้งคืนถึงเช้า

บางทีฉันแอบคิดไม่ได้ว่า การได้มาใช้ชีวิตในโรงพยาบาลตอนมิอุยังเล็กๆ ก็มีข้อดีเหมือนกัน ถ้าฉันกลับไปอยู่บ้าน ใช้ชีวิตปกติ ฉันอาจไม่มีคนคอยช่วยเหลือมากขนาดนี้ ไหนจะงานบ้านที่ต้องทำอีก แม้ฉันจะอาศัยอยู่เมืองเดียวกับพ่อแม่สามีก็ตาม แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่หากไม่ใช่พ่อแม่ตัวเองแล้ว น้อยนักที่จะฝากลูกตัวเองให้ปู่ย่าคอยดูแลเหมือนที่เมืองไทย เท่าที่เห็นจากเพื่อนแม่บ้านญี่ปุ่นที่รู้จัก คนที่มาช่วยดูแลลูกมักจะเป็นพ่อแม่ของตัวเองมากกว่า

ก่อนออกจากโรงพยาบาลสองสามวัน นางพยาบาลสอนฉันถึงวิธีการให้ยา การจดปริมาณนมและน้ำที่มิอุดื่ม จำนวนชั่วโมงเวลานอน รวมไปถึงจำนวนครั้งในการขับถ่าย ฉันจดทุกอย่างที่พยาบาลสอนลงสมุดบันทึกเล็กๆ เล่มหนึ่ง จะว่าไปแล้วระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมา ฉันสามารถจดจำและทำตามอย่างที่พยาบาลสอนได้ไม่ยากนัก

ตอนออกจากโรงพยาบาล วินาทีที่ประตูของแผนกโรคหัวใจเด็กถูกเปิดออกนับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่ายินดีปรีดามาก

นางพยาบาลที่เข้าเวรเช้าจะส่งเสียงให้ทุกคนในแผนกรับรู้ว่า เด็กน้อยคนหนึ่งจะได้ออกไปใช้ชีวิตภายนอกแล้ว ทั้งหมอและพยาบาลจะผละจากสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่แล้วเดินเข้ามาแสดงความยินดีด้วย

“ทุกคนคะ มิอุจังจะออกจากโรงพยาบาลแล้วนะคะ”

เสียงของนางพยาบาลฮิรายาม่าดังไปทั่วแผนก พยาบาลหลายคนเดินเข้ามาปรบมือและอวยพรให้พวกเรา มันอาจจะเป็นวินาทีที่มีความเขินอายนิดหน่อย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกขอบคุณและตื้นตันต่อแรงอุทิศทั้งกายและใจจากทีมแพทย์และพยาบาลทุกคนในช่วงสองเดือนของการรักษาตัว แม้ว่าฉันจะรู้ดีอยู่เต็มอกว่าฉันต้องกลับมาที่ชั้น ๓ ทิศตะวันตกของตึกผู้ป่วยในแห่งนี้อีกก็ตาม

หนึ่งปีกับอีกสามเดือนเศษๆ ที่ครอบครัวเราใช้ชีวิตตามปกติเหมือนครอบครัวที่มีลูกเล็ก มิอุมีพัฒนาการเหมือนเด็กทั่วไป เธอคลาน ลุกขึ้นยืน เกาะยืน และเดิน ไม่ได้ช้าไปกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กทั่วไปเลย คนรอบข้างมักคิดว่าเด็กโรคหัวใจจะต้องดูเหนื่อย อ่อนแอ และเคลื่อนไหวน้อย มิอุกลับตรงกันข้ามมโนคติที่ว่ามา

ญาติผู้ใหญ่ฝั่งสามีเวลามาเยี่ยมมิอุทีไรต่างตกใจถึงพลังอันล้นเหลือของมิอุ จะว่าไปแล้ว แม้แต่ตัวฉันเอง ก่อนที่จะได้มาสัมผัสกับโลกใบใหม่อย่างที่เป็นอยู่ก็มีความคิดไม่ต่างจากคนอื่น หลายครั้งรู้สึกขอบคุณระบบสุขภาพและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ของญี่ปุ่น สามีถึงกับเอ่ยว่า รู้สึกคุ้มค่ากับภาษีที่เสียไปก็ตอนมีลูกนี่แหละ

ช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ปีเฮเซที่ ๒๓ หากอยู่ญี่ปุ่นมาสักพักเราจะสามารถรับรู้ได้ว่าฤดูกาลใหม่กำลังจะมาเยือนเมื่ออากาศแต่ละวันเกิดความปั่นป่วน เดี๋ยวมืดครึ้ม เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวฝนตก ยิ่งฤดูใบไม้ร่วงจะรู้สึกได้ง่ายกว่า เพราะญี่ปุ่นจะต้องผ่านช่วงฤดูไต้ฝุ่นไปเสียก่อน เช่นเดียวกัน เส้นกราฟชีวิต (ที่เคย) ปกติของครอบครัวทากามูระก็เริ่มว้าวุ่นอีกครั้ง

“ถ้าเป็นไปได้ หมออยากให้มิอุจังผ่าตัด Glenn ภายในเดือนสองเดือนนี้นะ” หมอคาวาตะพูดขึ้นมา หลังจากใช้หูฟังแตะไปที่หน้าอกและหลังของมิอุ หลังการผ่าตัดครั้งแรก มิอุต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพของหัวใจทุกเดือน คุณหมอจะเช็กระดับออกซิเจน ใช้หูฟังเช็กจังหวะของหัวใจและการทำงานของปอด ส่วนเอกซเรย์และตรวจเลือดต้องทำทุก ๒-๓ เดือน

ฉันมองไปที่มอนิเตอร์เล็กๆ ของเครื่องวัดระดับออกซิเจนในกระแสเลือด “๘๙-๙๐ เปอร์เซ็นต์”

คุณหมอคาวาตะอธิบายคร่าวๆ ว่ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่ระดับออกซิเจนจะต่ำลงไปกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มิอุเริ่มเดินได้คล่อง ซึ่งร่างกายจะต้องใช้พลังงานและออกซิเจนมากกว่าตอนเป็นเด็กทารก

“…แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ตอนนี้ทางโรงพยาบาลยังไม่มีคิวผ่าตัดเลย เท่าที่หมอเช็กมีกำหนดผ่าตัดของคนไข้รายหนึ่งอาจจะมีการยกเลิกไป ถ้าตารางว่าง ก็อยากให้มิอุจังเข้ารับการผ่าตัดแทน”

“แล้วตารางเวลาที่ว่าเป็นช่วงไหนเหรอคะ?” ฉันถามกลับด้วยความอยากรู้

“เดือนหน้าครับ เอาเป็นว่าถ้ามีการยกเลิก หมอจะโทรหาคุณแม่ก่อนผ่าตัดสองอาทิตย์”

ฉันคิดในใจ สองอาทิตย์เนี่ยนะ! ทำไมไม่ให้เวลาทำใจกันบ้างเสียเลย

หลังจากตรวจสุขภาพครั้งนั้นเพียงแค่อาทิตย์เดียว ค่ำคืนหนึ่งที่อากาศเริ่มเย็นแล้ว เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ปลายสายคือเสียงที่คุ้นเคย หมอคาวาตะนั่นเอง แล้วอย่างที่ฉันคาดไว้ คุณหมอโทรมาเพื่อนัดแนะวันผ่าตัดของมิอุ

หมอคาวาตะบอกวันผ่าตัดที่แน่นอน พร้อมถามว่าทางครอบครัวสะดวกหรือเปล่า ฉันเอื้อมมือหยิบปฏิทินขึ้นมาดู เช็คว่าวันดังกล่าวตรงกับวันโชคร้ายตามระบบปฏิทินโรคุโยหรือเปล่า

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ดูก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ความเชื่อโบราณหลายอย่างยังคงเหลืออยู่ หนึ่งในนั้นที่เด่นชัดมากคือ การบรรจุระบบปฏิทินแบบโบราณไว้ในปฏิทินปัจจุบันของญี่ปุ่น ระบบวันโชคดีโชคร้ายหกวันในหนึ่งสัปดาห์หรือที่เรียกกันว่า ‘โรคุโย’ ยังคงมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น เช่น การกำหนดวันแต่งงาน วันย้ายบ้าน หรือกิจกรรมสำคัญอื่นๆ รายละเอียดของแต่ละวันจะมีระดับความโชคดีโชคร้ายลดลำดับกันไป โดยบางวันจะมีช่วงเวลากำหนดไว้ด้วย เช่น ช่วงเช้าโชคดี ช่วงบ่ายโชคร้าย ไม่ควรทำกิจกรรมใดๆ ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นอาจเพิกเฉยต่อรายละเอียดจุกจิกของแต่ละวัน แต่จะให้ความสำคัญว่า กิจกรรมที่จะทำตรงกับวันไดอัน (大安) ซึ่งเป็นวันโชคดีทีสุด หรือวันบุทสึเมทสึ (仏滅) หรือวันโชคร้าย

อันที่จริงแล้วฉันไม่ใช่คนเชื่อถือโชคลางมากนัก แต่สำหรับการผ่าตัดที่จะมาถึงนี้ อย่างน้อยฉันไม่อยากให้ตรงกับวันบุทสึเมทสึเท่าไรนัก สายตาเพ่งไปที่มุมขวาบนของกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของวันในปฏิทิน โอเค วันที่หมอคาวาตะบอกมาไม่ได้ตรงกับวันบุทสึเมทสึ ฉันตอบกลับหมอคาวาตะไปว่า ตัวเองนั้นไม่มีปัญหาสำหรับวันดังกล่าว แต่ขอแจ้งให้สามีและแม่สามีทราบก่อน แล้วจะติดต่อคุณหมอกลับไปให้เร็วที่สุด

วันถัดมา ฉันกดเบอร์โทรศัพท์ของโบะชิเซนเตอร์ ต่อสายถึงหมอคาวาตะ บอกคุณหมอว่า ทางครอบครัวจะเตรียมตัวเป็นอย่างดีสำหรับวันผ่าตัดที่กำลังจะมาถึงในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า หลังจากวางสายจากหมอคาวาตะ ความรู้สึกโหวงเหวงอย่างประหลาดก็ซัดเข้ามาเฉียบพลัน การผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าอกครั้งแรก ซึ่งอาจต้องมีการหยุดหัวใจด้วย เทียบกับการผ่าตัดครั้งแรกที่ผ่าตรงใต้รักแร้ขวาค่อนไปที่หลังแล้ว แน่นอนว่าจะต้องเหลือรอยแผลเป็นที่ใหญ่และชัดเจนกว่ามาก ไหนจะเรื่องที่มีหมอคาวาตะเคยบอกว่าหลังการผ่าตัด Glenn แล้ว เด็กบางคนอาจต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา มีหลายสิ่งเหลือเกินที่เป็นต้นเหตุความกังวลที่วนเวียนในหัวใจฉันต่อเนื่องไปหลายวัน

สองสัปดาห์ต่อมา เมื่อเดือนตุลาคมเข้ามาเยือน ฉันและมิอุก็กลับมาชั้น ๓ ฝั่งตะวันตกของโบะชิเซนเตอร์อีกครั้ง เรานอนค้างหนึ่งคืนเพื่อรอเข้าผ่าตัดเช้าวันถัดไป

๗ โมงเช้า วันผ่าตัด พยาบาลเดินเข้ามาอธิบายทำความเข้าใจตารางการผ่าตัดอีกรอบ มิอุต้องงดทั้งน้ำและอาหาร จากนั้นประมาณ ๘ โมงครึ่ง พยาบาลจะเข้ามาเปลี่ยนชุดและให้ยาคลายกังวลที่จะออกฤทธิ์ให้เด็กง่วงนอน คราวนี้มิอุโตขึ้นกว่าตอนเป็นเด็กทารกมาก ถึงจะดื่มยาเข้าไปแล้ว เธอเพียงแค่สะลึมสะลือเท่านั้น ไม่ยอมนอนหลับเหมือนผ่าตัดครั้งแรก

สิบนาทีก่อนเวลา ๙ โมงเช้า ทีมพยาบาลจากห้องผ่าตัด ข็นเตียงนอนมารับมิอุ มิอุดูงัวเงียตาปรือกอดตุ๊กตาหมีที่เธอชอบไว้แน่น แต่พอจะวางเธอลงเตียงนอนเท่านั้นแหละ เธอเปล่งเสียงร้องไห้ลั่นขึ้นมาทันที สุดท้ายนางพยาบาลจึงบอกให้สามีอุ้มมิอุไปจนถึงห้องผ่าตัด

พอไปถึง หลังจากที่ประตูสองบานใหญ่ถูกเปิดออก เป็นสัญญาณว่าต้องวางมิอุลงบนเตียงคนไข้แล้ว เป็นไปอย่างที่ฉันคิดไว้ มิอุร้องไห้ฟูมฟายดังไปทั่วห้อง พยาบาลคนหนึ่งเดินมาอุ้มมิอุและบอกพวกเราว่าไม่ต้องเป็นห่วง ขอให้ญาติคนไข้ไปรอที่ห้องพักข้างนอก จังหวะที่ประตูห้องผ่าตัดปิด เหมือนฉากในหนังที่เคยดูอยู่หลายครั้ง ห้วงเวลาที่เหมือนเข็มนาฬืกาจะเคลื่อนทีละนิด ทีละนิด บานประตูค่อยๆ ปิดเข้าหากัน ฉันได้แต่ยืนมองมิอุผ่านช่องว่างที่แคบลงเรื่อยๆ จนปิดสนิทในที่สุด

“ปีนี้ มิอุก็ไม่ได้ไปดูเทศกาลใบไม้ร่วงประจำเมืองอีกแล้วสินะ”

โอก้าซังเอ่ยขึ้นมาหลังจากพวกเรามาถึงห้องพักสำหรับญาติผู้ป่วย ฉันได้แต่ยิ้มและพยักหน้าให้

เทศกาลใบไม้ร่วงเป็นเทศกาลที่จะจัดขึ้นทุกปีในต้นเดือนตุลาคม หลังจากผ่านฤดูร้อนอันอบอ้าวและฤดูไต้ฝุ่นไปแล้ว ก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวและพืชผลทั้งหลาย เทศกาลนี้จึงเป็นหมุดหมายบอกว่าฤดูใบไม้ร่วงได้มาถึงแล้ว

สองปีที่แล้วฉันเหมือนคนอกหักในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเมื่อได้รับรู้ถึงโรคหัวใจของมิอุตอนยังตั้งครรภ์อยู่ แต่ฉันก็ตกหลุมรักฤดูที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายหม่นเศร้าด้วยเพราะบรรยากาศของใบไม้ที่กำลังร่วงหล่น ทว่าเป็นฤดูที่ท้องฟ้ามักสดใสปราศจากไต้ฝุ่น ทั้งยังมีพืชผลอาหารอร่อยให้เลือกกินมากกว่าฤดูอื่นๆ อย่างฤดูใบไม้ร่วงอีกครั้ง เมื่อ ๗ ชั่วโมงที่รอคอยได้สิ้นสุดลง ณ เวลาเกือบ ๖ โมงเย็นของวันหนึ่งในต้นฤดูใบไม้ร่วง ปีเฮเซที่ ๒๔ คุณหมอคาวาตะในชุดผ่าตัดสีเขียว เดินเข้ามาในห้องพักญาติด้วยใบหน้าที่อ่อนล้า บอกพวกเราว่า การผ่าตัดของมิอุผ่านไปด้วยดี

 

Don`t copy text!