ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 11 : นิรนาม (3)

ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 11 : นิรนาม (3)

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

กองทัพของเจ้าหญิงชวาลาออกเดินทางตั้งแต่ย่ำรุ่ง หากกว่าจักเคลื่อนขบวนออกนอกเมืองรามได้ก็ล่วงเข้าบ่ายคล้อย ด้วยชาวเมืองต่างแห่แหนมาเฝ้าชมพระบารมีแน่นขนัด ทั้งสองพระองค์เองก็ได้พระราชทานเสบียงบำรุงขวัญราษฎรกันถ้วนหน้า เมื่อมาถึงเขตรอยต่อชายแดนเมืองเขื่อนขัณฑ์จึงแวะพักตั้งค่ายหลบร้อนและสักการะวัดป่าให้เป็นสิริมงคลก่อนนิวัติราชธานีละโว้

อาศัยช่วงที่พระชายาทรงพักผ่อนอิริยาบถ เจ้าชายกัษษกรและสุกกทันตฤๅษีตั้งใจจะประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลให้อนุชาแฝดอย่างรวบรัดและเผาร่างต่อเสียเลย จึงอาราธนาพระสงฆ์รูปหนึ่งมาสวดให้รัตตกรเป็นครั้งสุดท้าย

กระนั้น เมื่อเปลวเพลิงคุโชนกำลังเริ่มสัมผัสปลายเท้าอดีตเจ้าชาย กัษษกรก็กลับเปลี่ยนพระทัย

“ฝังร่างเขาเถิด”

พระรูปนั้นจึงเกณฑ์เด็กวัดอีกสองคนมาช่วยกันขุดหลุมบริเวณชายป่าหลังอารามแล้วผลุบหายไปอย่างรู้หน้าที่

“เมื่อคืนข้าฝันว่าดวงจิตเขนน้อยกำลังหลงทาง มิรู้ขึ้นสู่สวรรค์หรือลงแดนนรก เขากำลังพบกับความเวิ้งว้างดุจอยู่ในห้วงอนันตกาล” พระหัตถ์ที่เอื้อมวางพวงบุปผาเหลืองนวลลงบนร่างในหลุมสั่นระริก จากนั้นจึงปลดเครื่องรางเหรียญดินเผาจากพระศอวางตามลงไป “ข้าหวังใจว่าเหรียญนี้จักพอปกป้องคุ้มครองหรือนำทางดวงจิตเจ้าได้ก็ยังดี”

รับสั่งแล้วหันมาแย้มสรวลอ่อนให้พระอาจารย์ “ตัวข้าคงมิต้องใช้เครื่องรางคุ้มภัยอีกแล้วละ”

พระองค์กับฤๅษีค่อยๆ ตักดินกลบฝังร่างที่เมื่อครั้งหนึ่งเคยสมบูรณ์ด้วยเลือดเนื้อแห่งวัยฉกรรจ์ แลเคยเป็นถึงขัตติยราชแห่งไชยาพระองค์หนึ่ง แม้จักเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนจักถูกเก็บซ่อนอยู่ในเงามืด

“ลาก่อนเขนน้อย…หากมีภพหน้าดังว่าแล้วนั้น ขอให้เจ้าได้เกิดมาสมบูรณ์พร้อม ได้ใช้ชีวิตอันเป็นของเจ้าอย่างแท้จริง”

แม้ยามมรณา ร่างเขนน้อยก็ยังถูกซ่อนไว้ลึกลับเงียบเชียบในความมืดมิดอย่างเดียวดาย

 

พระเจ้าจักวัติวิราชบรรทมมิสู้ดีนัก ทรงพลิกกระสับกระส่ายจนถึงรุ่งสาง ทั้งที่ควรโล่งพระทัยปราโมทย์ยินดีต่อชัยชนะที่พระราชธิดาชวาลานำมาสู่ลวปุระ หากกระนั้นพระองค์ก็ยังมีพระสุบินไม่ดีถึงบรรดาพระโอรสที่ตายจากไปตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือมิเช่นนั้นก็ลืมตาดูโลกได้ไม่กี่ทิวาก็มีอันเป็นไปเสียก่อน

ทรงทราบแน่แก่พระทัยว่าเป็นความผิดปกติของพระองค์ เพียงแต่ไม่มีผู้ใดกล้ากล่าวโทษออกมา มิเช่นนั้นชายานับสิบนับร้อยจักมิสามารถมีประสูติกาลโอรสถวายได้เลยเชียวหรือ…

อันนำมาสู่การสืบสันตติวงศ์อันพิลึกพิลั่นนี้แล

อันที่จริงพระองค์ควรถอดพระทัยแล้วเลือกเจ้าชายเชื้อสายทวารวดีในราชสำนักละโว้สักพระองค์ขึ้นดำรงตำแหน่งรัชทายาทสืบแทน แต่กลับทรงมองการณ์ไกลถึงปัญหาในภายหน้า ว่าหากยอมให้กระทำเช่นนั้น อำนาจในราชบัลลังก์ละโว้ก็จักมิได้ธำรงอยู่ในสายสกุลละโว้ดั้งเดิมอีกต่อไป แต่จักถ่ายเปลี่ยนไปสู่ชาววงศ์เวหะ

บัลลังก์พระจันทร์เสี้ยวเป็นของชาวละโว้ ก็ควรพิทักษ์ให้เป็นของคนละโว้เท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องทรงเลือกวิธีทูลขอพระโอรสจากแคว้นทะเลใต้มาเป็นพระราชบุตรสืบบัลลังก์แทน…

ทั้งยังได้สานสัมพันธไมตรีที่นำมาสู่ผลประโยชน์มหาศาลทางการค้าระหว่างสองอาณาจักรใหญ่บนภาคพื้นแผ่นดินและภาคพื้นทะเลอีกด้วย

กระนั้น เบื้องลึกในพระทัยกลับสมเพชเวทนาองค์เองอย่างยิ่งที่ไร้รัชทายาทผู้สืบสายโลหิตแท้จริง

เมื่อวาสุเทพฤๅษีทำนายว่าพระราชธิดาชวาลาทรงเป็นจอมนารีผู้ทรงบุญญาธิการ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ละโว้ได้ ความหวังจึงเรืองรองขึ้นในหฤทัยจักวัติวิราชเจ้า ยิ่งเมื่อเห็นพระปรีชาสามารถ แลพระสติปัญญาปราดเปรื่องเกินกว่าผู้ใด พระองค์ก็ยิ่งทุ่มเทความรักและความหวังในตัวพระนางยิ่งขึ้น ผลักดันให้สูงประหนึ่งเจ้าชายรัชทายาท ชวาลาเองก็ทรงแสดงให้เห็นว่าพระนางควรคู่แก่ความไว้ใจและการยกย่องนั้น

แม้จักต้องอภิเษกกับเจ้าชายผู้ไร้เชื้อวงศ์พงศ์พันธุ์จันทร์เสี้ยวอย่างกัษษกรก็พอทำเนาว่ายังมีเลือดเนื้อเชื้อไขจันทร์เสี้ยวของพระองค์อีกครึ่งหนึ่งร่วมสืบราชบัลลังก์ต่อไป…นับเป็นหนทางอันงดงามลงตัวที่สุดเท่าที่พระเบื้องบนจักประทานให้พระองค์รักษาสายวงศ์ไว้ได้

พระโอรสบุญธรรมเองก็คงมิได้ทรงขลาดเขลาจนดูไม่ออกว่าต้องเลือกเจ้าหญิงองค์ใดเป็นพระชายา ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นตามครรลอง…กระทั่งเกิดสงครามไตมาวนั้นแล

กระนั้นชัยชนะในศึกที่ผ่านมาก็ยิ่งแสดงให้ประจักษ์ชัด ว่าเจ้าหญิงชวาลาเหมาะสมจักขึ้นปกครองละโว้ต่อไปภายหน้า ติดเพียงที่เป็นสตรีเท่านั้นจึงต้องอภิเษกราชบุตรเพื่อบริหารอำนาจนั้น

ใช่ว่ามิทรงทราบการแก่งแย่งชิงดีของฝ่ายอำนาจต่างๆ ในราชสำนัก แลทรงทราบดีว่ามีหลายฝ่ายลิงโลดปราโมทย์ด้วยเชื่อว่าเจ้าหญิงชวาลาจักต้องสิ้นชีพในสนามรบเป็นแน่ แลถึงแม้จักมิทรงทราบไปถึงแผนการชั่วร้ายล้ำลึกโดยถ่องแท้ แต่ก็ทรงแน่พระทัยว่ารอยร้าวนั้นลึกเกินประสาน และอาจลุกลามบานปลายใหญ่โตได้ในภายหน้า จึงสมควรจักรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม

ดำริได้ดังนี้ พระเจ้าจักวัติวิราชจึงรีบเสด็จลุกจากพระที่ เรียกหาอาลักษณ์เพื่อร่างประกาศโองการ

“จักทรงสละราชย์ฤๅพระเจ้าข้า”

“ยังมิใช่เร็ววันนี้ รอให้ผ่านงานเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์หญิงชวาลาเสียก่อน หากก็มิให้นานเกินหนึ่งเดือนจากนั้น…รามราชจักได้สืบบัลลังก์ขึ้นเป็นกษัตริย์ลวปุระเสียที”

 

ขบวนเสด็จอันควรจักถึงราชธานีละโว้ได้หลายทิวา กลับล่าช้าออกไปเล็กน้อย ข้าราชบริพารแลกองทัพทราบจากถ้อยดำรัสในอุปราชเพียงว่าพระนางชวาลายังประชวรจากการตรากตรำพระวรกายในสงครามมายาวนาน หากแท้จริงทั้งสองพระองค์ทรงทราบแก่หทัยดีว่าอาการประชวรนั้นเกิดขึ้นกับจิตใจเสียมากกว่า

“หลับตาลงคราใดน้องก็เห็นแต่ภาพทหารล้มตายกองทับกันเป็นภูเขา เจ้าฟ้าสิทธิราชนั้นก็เชือดพระศอต่อหน้า ทั้งยังสิ้นพระชนม์ลงในอ้อมแขนน้อง” พระนางกันแสงในคืนหนึ่ง “น้องเป็นต้นเหตุให้มีคนตายมากถึงเพียงนี้”

“สงครามต่างหากเป็นต้นเหตุ” กัษษกรรีบแก้ทันควัน “หาใช่ความผิดน้องไม่ มาถึงบัดนี้น้องย่อมแจ้งแก่ใจแล้วว่ามีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังศึกไตมาวครั้งนี้”

เจ้าหญิงชวาลาห่อพระอังสา “มีแต่คนคิดจะฆ่าน้อง…แล้วอย่างไรเล่า กลับไปน้องก็จำต้อง ‘เก็บกวาด’ มิให้เหลือกระนั้นหรือ มือน้องต้องเปื้อนเลือดอีกเท่าไรเพื่อรักษาบัลลังก์”

เป็นคำถามที่กัษษกรก็ถามองค์เองเช่นกัน

“นางนกต่อผู้นั้นก็ยังมิยอมปริปากว่าฝ่ายใดส่งมา หากเป็นเจ้าแม่ก็คงสั่งให้นำไปทรมานจนกว่าจะเปิดปาก แต่น้องหมดแรงใจจักทำเรื่องเหล่านี้เสียแล้ว อยากหลับตาแล้วตื่นขึ้นพบว่าเป็นเพียงฝันร้ายเท่านั้น”

“เช่นนั้นก็พักผ่อนให้สำราญใจขึ้นแล้วค่อยกลับละโว้ก็ยังมิสาย เพราะสองบาทเราย่างเหยียบแผ่นดินลวปุระเมื่อไร เราจักมิมีเวลาหายใจหายคออีกแล้ว”

เจ้าหญิงชวาลาทรงโอนอ่อนผ่อนตามโดยง่าย เป็นครั้งแรกที่ผู้เป็นสวามีได้ทรงเห็นเสมือนพระชายาได้กลับไปเป็นเด็กตัวเล็กๆ อีกครั้ง เป็นเด็กสาวธรรมดาผู้บอบบาง อ่อนไหว ต้องการไออุ่นแลหลักคุ้มภัยให้กายใจอันเหน็ดเหนื่อยและเต็มไปด้วยบาดแผลที่มองไม่เห็น

และทรงยอมรับกับองค์เองว่าบังเกิดความปราโมทย์ยินดี ที่ได้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางใจของชวาลา…ชวาลาผู้เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวไปทุกเรื่อง

กัษษกรชวนพระชายาให้สวดมนต์รำลึกถึงดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตในสงครามหนนี้ทุกราตรี เพื่อเยียวยาบาดแผลและความทุกข์ในพระทัยพระนาง รวมถึงหฤทัยของพระองค์เองเช่นกัน

แลทุกคราก็จักสวดรำลึกและแผ่เมตตาถึงรัตตกรมิได้ขาด

เช่นเดียวกับค่ำคืนนี้

“วันรุ่งขึ้นพี่จักถึงแผ่นดินละโว้แล้ว มิรู้จักมีโอกาสกลับมาเยี่ยมเจ้าที่อารามในเขื่อนขัณฑ์อีกหรือไม่ เขนน้อย” ทรงรำพึงขึ้นขณะตรวจความเรียบร้อยของค่ายประทับในราตรีสุดท้ายก่อนกลับราชธานี

“ป่านนี้ดวงวิญญาณของเจ้าจักอยู่แห่งหนใดหนอ…”

ราตรีนั้นอากาศร้อนอบอ้าว เกิดสายลมอุ่นพัดแรงหวีดหวิวหอบเม็ดทรายแลใบไม้ลอยคว้างกลางความเวิ้งว้างแห่งรัตติกาล ปลิวเข้าดวงเนตรจนต้องป้องด้วยพาหา

ครั้นลืมเนตรขึ้นก็เห็นโครงร่างหนึ่งปรากฏอยู่ในคลองจักษุ…บุรุษร่างสูง มีเพียงผ้าสีขาวเก่าขาดซอมซ่อพันกาย และดูคล้ายจักเดินตรงมาที่พระองค์

ตาฝาดกระมัง…เจ้าชายกะพริบเนตรอีกหน ภาพอันพร่าพรายเริ่มแจ่มชัดทีละน้อย พร้อมกับที่ฝ่ายนั้นย่างเยื้องตรงใกล้เข้ามาทุกที…

ฝันอยู่กระมัง…ต้องฝันอยู่เป็นแน่ มิเช่นนั้นคงไม่ทอดพระเนตรเห็นคนตายที่นอนอยู่ก้นหลุมท้ายวัดเมืองเขื่อนขัณฑ์ปรากฏอยู่เบื้องพระพักตร์เช่นนี้…กัษษกรทรงเผลอคราง

“เขนน้อย…”

ทว่าอีกฝ่ายกลับมีสีหน้างุนงง

“เราไม่ใช่เขนน้อย”

 



Don`t copy text!