แนะนำให้อ่าน “ม่านบังใจ”
โดย :
นอกเหนือจากนวนิยายและบทความที่ผ่านการเลือกสรรและผ่านกระบวนการบรรณาธิการพิจารณาเป็นอย่างดี ทีมงานอ่านเอายังริเริ่มโปรเจ็กต์ “Anowl Showcase” พื้นที่ใหม่สำหรับคนชอบเขียนขึ้น เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ที่จะให้เว็บ www.anowl.co ของพวกเราเป็นชุมชนสำหรับคนรักการอ่านและการเขียนทุกคน
*************************
ม่านบังใจ เป็นนวนิยายรักโรแมนติกอีกเรื่องหนึ่งจากปลายปากกาของราชินีนวนิยายพาฝัน ‘ชูวงศ์ ฉายะจินดา’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2559 ซึ่งครองใจนักอ่านมานาน และในปัจจุบันก็กำลังจะนำมาฉายทางโทรทัศน์ช่อง 7 อีกครั้ง นำแสดงโดย เวียร์ ศุกลวัฒน์ และ มุกดา นรินทร์รักษ์ ในบทของ ทัฬห์ พฤทธานนท์ และ เฟื่องลดา ปัฐยาวัติ คู่พระนางของเรื่องนั่นเอง
ผลงานนิยายเรื่องนี้เคยนำมาเป็นละครออกอากาศหลายครั้ง สำหรับผมเองยอมรับว่ายังไม่มีโอกาสได้อ่านเรื่องนี้มาก่อน แต่เคยได้อ่าน ‘ม่านบังใจภาคสมบูรณ์’ หรือ ในชื่อ ‘หัวใจรัก’ ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตของ กานดา บุญราศี เพื่อนรักของ เฟื่องลดา ปัฐยาวัติ นางเอกของ ม่านบังใจนั่นเอง
เรื่อง : ม่านบังใจ
ผู้เขียน : ชูวงศ์ ฉายะจินดา
สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2504
เล่มเดียวจบ
อย่างไรก็ตาม สำหรับนวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ ผู้อ่านสามารถแยกอ่านได้ โดยที่มีเพียงตัวละครเกี่ยวเนื่องกันเท่านั้นเองครับ และในโอกาสนี้ จึงขอเขียนรีวิว เรื่อง ม่านบังใจ เพื่อให้ครบเนื้อเรื่องโดยสมบูรณ์
ชีวิตของ เฟื่องลดา ปัฐยาวัติ คงจะประสบความสำเร็จและความสุขในทุกสิ่ง ถ้าหากว่า บิดาของเธอไม่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตลงเสียก่อน ด้วยฝีมือของนายธนาคารหนุ่ม ทัฬห์ พฤทธานนท์ ผู้อำนวยการธนาคารรัตนโกสินทร์ เหตุการณ์ในครั้งนั้นนั่นเอง ได้นำพาให้ชีวิตสดใส ในวัยเรียนอุดมศึกษาของเธอที่โรงเรียนดรุณีพิทยา ต้องกลายมาเป็นเด็กกำพร้าพ่อ ซ้ำ มารดาเลี้ยงอย่างสร้อยทอง ก็ถือโอกาสยกเลิกการอุปการะส่งเสียเธอเสียด้วย ทำให้เฟื่องลดาต้องลาออกจากโรงเรียนด้วยน้ำตา แม้ว่าทัฬห์จะพยายามยื่นมือเข้ามาเพื่อช่วยอุปการะเธอก็ตาม แต่เฟื่องลดาก็ตอบปฏิเสธ
ทัฬห์วางดอกไม้จันทน์และธูปเทียนลงในไฟซึ่งกำลังลุกอยู่ใต้หีบศพ เขารู้สึกว่าสายตาดุๆ คู่หนึ่งกำลังจ้องดูเขาอย่างไม่กะพริบอยู่ในระยะใกล้ๆ แต่ทัฬห์มิได้แสดงว่าสนใจ เขายืนประสานมือที่หน้าหีบศพกล่าวถ้อยคำในใจว่า
“อันตรายย่างกรายเจ้ามาใกล้เฟื่องลดาเต็มทีแล้ว ถึงอย่างไร ผมก็ยังยืนยันว่า ตราบใดที่ผมยังมีลมหายใจอยู่ ตราบนั้นเธอจะต้องปลอดภัย” เขาก้มศีรษะลงเคารพศพ แล้วถอยออกมา
“ฉันลาเธอก่อนละเฟื่องลดา มีอะไรที่ฉันพอจะช่วยเหลือได้ ขอให้บอก ฉันเต็มใจช่วยเธอเสมอ”
“แต่ดิฉันไม่ต้องการความช่วยเหลือจากคุณ โปรดอย่าให้ดิฉันต้องเห็นหน้าคุณอีกจะเป็นการดีที่สุด”
มันคือความแค้น ความเจ็บปวด และความเข้าใจผิดที่เสมือนม่านบังตา บังหัวใจของหล่อนที่มีต่อเจตนาอันบริสุทธิ์จากสุภาพบุรุษผู้นี้ไปจนหมดสิ้น
ก่อนหน้านี้ ชีวิตอบอุ่นของเฟื่องลดา มีบิดาและนางสร้อยทอง และลูกสาวของสร้อยทองที่เธอรักเหมือนน้องแท้ๆ ก็คือสร้อยสน แต่บัดนี้ เฟื่องลดาต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ในขณะที่เพื่อนสนิทอย่างกานดา และสุดาดวง ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เด็กสาวได้แต่เก็บความแค้นใจเอาไว้กับตัว โดยไม่รู้แม้แต่น้อยว่าทัฬห์เองก็ได้แอบส่งเงินจุนเจือครอบครัวเธอผ่านทางสร้อยทองมาโดยตลอด เขารับปากบิดาของเฟื่องลดาก่อนเสียชีวิตว่าจะดูแลอุปการะเฟื่องลดาให้ดีที่สุด แต่สร้อยทองเองซึ่งติดการพนันก็ได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้เอง โดยไม่เคยบอกให้เธอล่วงรู้
ซ้ำร้าย แม่เลี้ยงผู้มีใจอกุศลยังคิดจะขายเธอให้กับอาเสี่ยผู้หนึ่ง แต่ทัฬห์อีกนั่นเองที่เป็นฝ่ายยื่นมือเข้ามาช่วย เขาขอซื้อตัวเธอจากสร้อยทอง เพื่อช่วยให้เด็กสาวได้รอดพ้นมือจากมารร้าย โดยที่เฟื่องลดาไม่รู้เหตุผลนี้มาก่อน หล่อนเข้าใจแต่เพียงว่าทัฬห์ใช้อำนาจเงินตราหักหาญน้ำใจซื้อตัวหล่อนมาเป็นภรรยาเพื่อบำเรอความต้องการเขา นั่นยิ่งเป็นเสมือนม่านหนาทึบที่บดบังหัวใจของสองหนุ่มสาว เอาไว้ ให้ห่างไกลกันยิ่งขึ้น
ในที่สุด เมื่อวันแต่งงานมาถึง ทัฬห์หาได้ล่วงเกินเฟื่องลดาอย่างใดไม่ เขารู้ดีว่าหล่อนเกลียดชังเขาเพราะความเข้าใจผิด ชายหนุ่มจึงคิดจะหาทางปรับความเข้าใจกับสาวน้อยผู้นี้ ในขณะที่สุดาดวง เพื่อนสาวอีกคนของเฟื่องลดาทีมีนิสัยขี้อิจฉา ได้ชักนำโฆษิตผู้เป็นพี่ชายเข้ามาในชีวิตเธอ และยุให้เฟื่องลดาสนิทสนมกับโฆษิตเพื่อประชดทัฬห์ แต่ในที่สุดเฟื่องลดาก็เข้าใจเจตนานั้นด้วยความช่วยเหลือของกานดาเพื่อนรัก หญิงสาวจึงเลิกคบหากับโฆษิต ผลลัพธ์ในครั้งนี้ทำให้อีกฝ่ายผูกใจเจ็บ และหาทางจะเอาคืนในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า
ทัฬห์มีน้องชายชื่อไทว์ เคยมีคนรักที่ทิ้งเขาไปชื่อสิริโสภา ภายหลังไทว์พบเฟื่องลดา พี่สะใภ้ และเกิดความประทับใจจนกลายเป็นความรัก แม้ว่าจะรู้ว่าเฟื่องลดาไม่ได้รักตอบก็ตามที
สร้อยทองพยายามหาโอกาสทำลายชีวิตรักของลูกเลี้ยงที่เธอเกลียดชัง โดยการส่ง สร้อยสนให้มาอาศัยอยู่กับทัฬห์ แต่สร้อยสนไม่ยอมเล่นด้วย หล่อนเองรักไทว์มากกว่า และไม่ต้องการจะไปสร้างรอยร้าวในชีวิตคู่ของพี่สาว ในขณะที่ไทว์ก็เข้าใจเจตนาของสร้อยสนว่ามีนิสัยเลวร้ายเหมือนมารดาของหล่อน โดยเฉพาะเมื่อสร้อยทองวางอุบายใส่ร้ายเฟื่องลดาว่าคบชู้ เพื่อให้ทัฬห์ เกลียดชัง เขาจึงพลอยนึกรังเกียจสร้อยสนไปด้วย ตราบจนกระทั่งชายหนุ่มแอบได้ยินบทสนทนาของสองแม่ลูกที่กำลังถกเถียงกัน เขาจึงเริ่มเข้าใจสร้อยสนว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ ซ้ำยังต่อต้านมารดาของตนเองเสียอีกด้วย และคราวนี้เอง ไทว์จึงเริ่มเปิดใจให้กับน้องสาวของเฟื่องลดา อีกครั้ง
เมื่อแผนการร้ายต่างๆ ไม่สำเร็จ สร้อยทองจึงวางแผนอีกครั้งโดยคบคิดกับโฆษิต ออกอุบายชวนเพื่อนๆ และเฟื่องลดา ไปเที่ยว และระหว่างทางนั้นเองก็แสร้งทำเป็นรถเสีย เพื่อให้เฟื่องลดามานั่งรถคันเดียวกับเขา จากนั้นก็ขับพาหญิงสาวไปส่งให้อาเสี่ยที่ตกลงซื้อขายหล่อนเอาไว้แล้ว โดยการติดต่อของสร้อยทอง
แต่โชคดี เมื่อทัฬห์ได้รู้เรื่องนี้ขึ้นเสียก่อน ด้วยความรักและความห่วงใยต่อเฟื่องลดา เขาตามไปช่วยเหลือจนเธอปลอดภัย ก่อนที่ทั้งคู่จะได้ปรับความเข้าใจกันในที่สุด
สำหรับ ม่านบังใจ เรื่องนี้นับเป็นผลงานนวนิยายเรื่องที่สองของ คุณชูวงศ์ ฉายะจินดา ที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ หลังจากได้เขียนนวนิยายขนาดยาวประมาณ 50 ตอน เรื่องแรก คือ ตำรับรัก ไปลงก่อน และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก
คุณชูวงศ์ได้เล่าในหนังสือนักเขียนชาวอักษรศาสตร์ ซึ่งตีพิมพ์ไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2515 ไว้ว่า เมื่อท่านได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้รู้จักเพื่อนๆ ที่ความสามารถในการเขียนหลายท่าน ทั้ง คุณกุลทรัพย์ ชื่นรุ่งโรจน์ (คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ) รัชนี ประทีปเสน สิทธา วัชโรทยาน (ศาสตราจารย์ ดร.สิทธา พินิจภูวดล) ฯลฯ ซึ่งเพื่อนกลุ่มนี้ได้ร่วมมือกันทำวารสารรายสะดวกโดยมีคุณกุลทรัพย์เป็นบรรณาธิการ แต่ในเวลานั้นท่านก็ยัง ‘ซุ่มเขียน’ อยู่โดยไม่ได้แสดงฝีมือการประพันธ์ออกมาให้ปรากฏ
ตราบจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2495 คุณชูวงศ์สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต พร้อมรางวัลเหรียญเงินในวิชาภาษาสันสกฤต และได้ไปสมัครเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่โรงเรียนศิริศาสตร์ สี่พระยา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศิริทรัพย์) งานของท่านจึงเริ่มปรากฏสู่สายตาผู้อ่านเป็นครั้งแรก เมื่ออายุได้ 21 ปีเต็ม
จากการทำหนังสือที่ระลึกของโรงเรียนนี่เอง คุณชูวงศ์ได้มีโอกาสเขียนเป็นจดหมายทำนองเทศนาโวหาร จากพ่อสั่งสอนบุตรชาย ซึ่งสมมติเป็นนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียน นั่นเป็นงานชิ้นแรกที่เขียนเพื่อผู้อ่านจริงๆ ไม่ใช่เขียนแล้วซุกซ่อนไว้ดังที่แล้วๆ มา
ต่อมาด้วยปัญหาสุขภาพและการเดินทางไปกลับ ท่านจึงได้ลาออกและภายหลังก็ได้มาสอนหนังสือที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ในวิชาภาษาอังกฤษชั้นเตรียมอุดมศึกษา และที่นั่นเองที่คุณชูวงศ์จึงเริ่มต้นการเป็นนักเขียนอาชีพเป็นครั้งแรก
ในระยะนั้น นิตยสารฉบับเดียวที่ทางบ้านของคุณชูวงศ์เป็นสมาชิกอยู่คือ ศรีสัปดาห์ เคราะห์ดีที่ ศรีสัปดาห์ เป็นนิตยสารที่สนับสนุนงานของนักเขียนหน้าใหม่ จึงเกิดความปรารถนาจะได้เป็นนักเขียนจริงๆ จนกระทั่งในวันหนึ่ง จึงลองเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ชื่อ ‘หนึ่งในห้าร้อยจำพวก’ ส่งไปยัง ศรีสัปดาห์ โดยที่ส่งไปทั้งๆ ที่ไม่มีความหวังจะได้ลง แต่แล้วก็ต้องรู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกถูกนำลงใน ศรีสัปดาห์ ภายในเดือนนั้นเอง โดยได้รับค่าเรื่องสำหรับเรื่องนั้นมาจำนวน 60 บาท แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อย แต่ค่าของมันก็สูงที่สุดในความรู้สึกของคุณชูวงศ์ในขณะนั้น
และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นให้ท่านได้เขียนเรื่องสั้นต่อๆ มา จนเริ่มต้นเขียน ตำรับรัก ซึ่งนับเป็นนวนิยายเรื่องแรก ก่อนจะตามมาด้วย ม่านบังใจ ในปี พ.ศ. 2502 และผลงานเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย จนถึง ‘หนึ่งรักนิรันดร’ ผลงานเรื่องสุดท้ายที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย ก่อนจะวางมือจากงานประพันธ์ลง ท่ามกลางความเสียดายของบรรดานักอ่านที่ติดตามผลงานของท่านมาโดยตลอด
สำหรับความภาคภูมิใจในชิวิตนั้น ท่านได้เขียนเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2513 เมื่อคณะนักเขียนชุมนุมนักเขียนห้าพฤกษภา ประมาณ 50 คน ได้เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล วันนั้นคุณชูวงศ์ตาเจ็บ เยื่อบุตาอักเสบเพราะเขียนหนังสือมากเกินไป จึงได้เลือกที่นั่งแถวหลังสุดของผู้เข้าเฝ้า ซึ่งแถวนั้นมีชูวงศ์ นั่งอยู่คนเดียว เธอหวังเพียงแต่จะได้เฝ้าชมพระบารมี ด้วยความจงรักภักดีเท่านั้นเอง
ครั้นเมื่อล้นเกล้าฯ ทั้งสอง เสด็จออกประทับยังพระเก้าอี้แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ตรัสถามขึ้นในระหว่างที่ทอดพระเนตรรายชื่อนักเขียนที่เข้าเฝ้าฯ ในวันนั้นว่า
“ชูวงศ์ ฉายะจินดา คนไหน”
เมื่อคุณชูวงศ์ได้เข้าไปกราบถวายบังคมแทบพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังได้ทรงซักถามเรื่องเกี่ยวกับการเขียนอีกเล็กน้อย และรับสั่งว่าแต่งหนังสือได้ดี
คุณชูวงศ์ได้นำเรื่องนี้มาเล่าให้ญาติสนิทมิตรสหายฟังนับเป็นร้อยๆ เที่ยวโดยไม่รู้จักเบื่อ ด้วยความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น นับเป็นรางวัลและกำลังใจยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยได้รับมาชั่วชีวิต!
และสำหรับ ม่านบังใจ เรื่องนี้ ก็นับได้ว่าผ่านการพิสูจน์ความนิยมชื่นชมของผู้อ่านมาแล้ว ตลอดระยะเวลาเกือบหกทศวรรษตราบจนถึงปัจจุบัน เป็นเสมือนหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางแห่งงานวรรณกรรมของราชินีนิยายพาฝัน ชูวงศ์ ฉายะจินดา ที่นักอ่านนิยายไม่ควรพลาดครับ
ปล. สำหรับรูปที่นำมาจัดแสดงนั้น เป็นรูปปกของนวนิยายเรื่องนี้ และ หัวใจรัก ที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรก และ อีกปกหนึ่งก็คือฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 12) ในปี พ.ศ. 2562 โดยสำนักพิมพ์แสงดาว ส่วนรูปประกอบของผู้เขียนในอดีตนั้น ผมนำมาจากหนังสือ นักเขียนชาวอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นการรวบรวมประวัติผลงานของ ศิษย์เก่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ครับ
– หมอกมุงเมือง –
- READ แนะนำให้อ่าน ‘แม่รักยักษา’
- READ แนะนำให้อ่าน “ถนนสายเสน่หา”
- READ แนะนำให้อ่าน "หัวใจนั้นอ่อนนุ่ม"
- READ แนะนำให้อ่าน "ทัณฑ์อารักษ์"
- READ แนะนำให้อ่าน "ม่านบังใจ"
- READ แนะนำให้อ่าน "พลับพลึงซ่อนพิษ" ปอกเปลือกอารมณ์ดิบของผู้ชาย ผ่านนวนิยายของ หมอกมุงเมือง
- READ แนะนำให้อ่าน "ทุ่งลุยลาย"
- READ แนะนำให้อ่าน "ศีรษะมาร"
- READ แนะนำให้อ่าน "รหัสริสยา"
- READ แนะนำให้อ่าน “คดีรักข้ามเวลา”
- READ แนะนำให้อ่าน “วาสนาชะตารัก”
- READ แนะนำให้อ่าน “พยากรณ์ซ่อนรัก”
- READ แนะนำให้อ่าน “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ”
- READ แนะนำให้อ่าน “มนตร์เบญจรงค์”
- READ แนะนำให้อ่าน “ไผ่ต้องลม”
- READ แนะนำให้อ่าน “นายกหญิง”
- READ แนะนำให้อ่าน “มนุษย์สังเคราะห์”
- READ แนะนำให้อ่าน “ไพรพิสดาร” การข้ามเวลาเพื่อค้นหารากเหง้าทางจิตวิญญาณ
- READ แนะนำให้อ่าน “เกลียวกระซิบ”
- READ แนะนำให้อ่าน “เคหาสน์ดาว”
- READ แนะนำให้อ่าน "แผ่นดินของเรา"
- READ แนะนำให้อ่าน "แสงดาวฝั่งทะเล"
- READ แนะนำให้อ่าน "ดาราจันทร์"
- READ แนะนำให้อ่าน "ความรักใดจะไม่ปวดร้าว"
- READ แนะนำให้อ่าน "ฤกษ์สังหาร"
- READ แนะนำให้อ่าน "พักตร์อำพราง"
- READ แนะนำให้อ่าน "โศกนาฏกรรมอำพราง"
- READ แนะนำให้อ่าน "เอกเทพ"
- READ แนะนำให้อ่าน "มะงุมมะงาหรา"
- READ แนะนำให้อ่าน "ลูกสาวฤษี"