ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 18 : ผู้ชายจากสายธาร (3)

ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 18 : ผู้ชายจากสายธาร (3)

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

เรือหลวงแม่ปะทั้งหมดสิบยี่สิบเอ็ดลำและแพบริวารอีกจำนวนมากล่องผ่านปากน้ำวังเข้าสู่น่านน้ำระมิงค์อย่างราบรื่น เรือพื้นถิ่นได้แสดงให้เห็นว่าทำหน้าที่เหมาะสมกับภูมิประเทศอันเป็นลำน้ำเชี่ยวกรากและเต็มไปด้วยเกาะแก่งโขดหินจำนวนมากได้อย่างดี อากาศเริ่มแจ่มใสและหนาวเย็นลง ชาวทวารวดีที่เพิ่งเคยล่องน้ำขึ้นเหนือจึงเพิ่งได้เห็นไอหมอกหนาและน้ำค้างหนาวยามรุ่งเช้าเป็นหนแรกในชีวิต แลต่างตื่นเต้นชี้ชวนกันชมทัศนียภาพแปลกตาสองข้างทางกันสนุกสนาน เจ้าหญิงชวาลากับคุณท้าวทั้งสองเองก็พลอยแช่มชื่นเพลิดเพลินไปด้วย

ทว่าทันใดนั้น กลับมีเสียงกัมปนาทกึกก้อง ตามด้วยแรงสั่นสะเทือนจนโคลงเคลงไปทั้งเรือ และเสียงหวีดร้องของข้าหลวงไพร่พลในเรือ

“เรือชนเข้ากับแก่งหินพระเจ้าข้า” ขุนเจ้าขันติรีบร้อนเข้ามารายงาน “เป็นโค้งหักชิดฝั่งจึงทำให้เราประมาณมิได้ ว่าแต่…พระนางเจ้าปลอดภัยดีหรือไม่พระเจ้าข้า”

“ข้ามิเป็นไร แม่พวกนี้ต่างหากที่ตกใจกันยกใหญ่ แล้วเช่นนี้เรือเสียหายมากหรือไม่ คราก่อนที่ผาหินง่าวน้ำเชี่ยวนัก เราเพิ่งชนเข้ากับโขดหินจนต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่ไป หนนี้หวังว่าจักไม่ร้ายแรงเพียงนั้น”

“ข้าพระองค์เกรงว่าต้องเป็นเช่นนั้นอีกเจ้าข้า อันน้ำปิงหรือแม่ระมิงค์นั้นเกาะแก่งแง่งหินมากมายนักแล มีแต่จะอันตรายขึ้นเรื่อยๆ เรามิอาจวางใจได้จนกว่าจะเข้าแดนหนขุนน้ำ ยามนี้คงต้องแวะพักซ่อมเรือก่อน คงได้ออกเดินทางอีกหนวันพรุ่ง”

“มีผู้บาดเจ็บหรือไม่”

“มีฟกช้ำเล็กน้อยเท่านั้นพระเจ้าข้า”

“พักก็ดี จักได้สำรวจทางน้ำข้างหน้าและบ้านเมืองแถบนี้เสียก่อน แก่งนี้มีนามว่ากระไรหรือ”

“แก่งอุมหลุเจ้าข้า”

“แก่งอุมหลุงั้นหรือ ฟังชอบกล เป็นภาษาลัวะกระมัง”

“เจ้าข้า พระนางทรงพระปรีชารอบรู้ยิ่งนัก” ขุนเจ้าทูลชมจากใจ

“ข้าจักไปอยู่แดนเหนือนี่นะ จำเป็นต้องรู้ว่าดินแดนที่จักไปปกครองนั้นมีชนกลุ่มใดอาศัยอยู่”

พระนางแย้มสรวลน้อยๆ ขณะอธิบาย “พวกลัวะ (1) น่ะ บางทีก็เรียกพวกมิลักขุ เป็นชาวพื้นถิ่นดั้งเดิมของแดนเหนือ อาศัยตามป่าตามดอย ก็เลยมักเรียกชาวลัวะว่าเป็นคนป่า แต่ลัวะเองก็มีสองจำพวก ทั้งลัวะที่สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่บนแผ่นดิน กับลัวะที่อยู่ตามป่าเขา มีผู้นำของตน…พระอาจารย์วาสุเทพเคยสอนข้าน่ะ ราวกับท่านเล็งเห็นได้ล่วงหน้ากระนั้นว่าข้าจักต้องขึ้นมาอยู่แดนเหนือ” พระนางรับสั่งแล้วพลันคิดถึงพระฤๅษีจับใจ “นอกจากพวกลัวะแล้ว ก็จะมีชาวเม็ง (2)  อาศัยรวมกลุ่มกันอยู่ทางลุ่มน้ำปิง พวกนี้เป็นชนชาติเก่าแก่ ถือตัวว่าเจริญกว่าพวกลัวะ แต่เอาเถิด…เพลานี้ข้าจักต้องทำความรู้จักพวกลัวะเสียก่อน” รับสั่งจบก็ทรงผุดลุกขึ้น เสด็จลงจากเรือประทับอย่างว่องไวตามประสาผู้คิดเร็วทำเร็ว

เบื้องหน้าพระนางปรากฏกลุ่มชนจำนวนหนึ่งยืนเรียงรายต้อนรับ

“นั่นแล ชาวลัวะ” รัญชน์ได้ยินขุนเจ้าขันติเอ่ยในลำคอ

ชาวลัวะกลุ่มนั้นคุกเข่าลงแสดงความเคารพต่อขบวนหลวง โดยมีชายร่างท้วมผู้เป็นหัวหน้าเผ่าเป็นผู้เจรจาอย่างนอบน้อม แม้ฟังไม่ถนัดนักหากสัมผัสได้ถึงมิตรไมตรีจริงใจ

“พวกเขามารอรับเสด็จนั่นแล” ขุนเจ้าอธิบายให้ชายหนุ่มฟัง “บอกว่านึกกลัวอยู่ทีเดียวว่าขบวนพระนางจะโดนแก่งหินเล่นงานเข้า เขาว่าที่แก่งนี้ทำเรือแตกเสียหายมานักต่อนักแล้ว”

กลุ่มชาวลัวะได้ทูลเชิญเสด็จพระนางไปยังลานประจำหมู่บ้านเพื่อถวายการแสดงหน้าพระพักตร์ ส่วนนางข้าหลวงต้องแยกย้ายกันไปจัดพลับพลา และถือโอกาสซักทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มของใช้ไปในตัว ทางด้านชาวบ้านไพร่ฟ้าที่ติดตามขบวนมาด้วยนั้น ชาวลัวะก็ต้อนรับขับสู้ด้วยอัธยาศัยไมตรีเสมอทั่วกัน ยังความประทับใจให้ขบวนเสด็จจากลวปุระอย่างยิ่ง

เมื่อเห็นทุกฝ่ายสาละวนในกิจส่วนตน รัญชน์ผู้บัดนี้รู้สึกร่างกายเหม็นอับและคันคะเยอไปทั้งหน้าจากการพอกยางบนซีกหน้าซ้ายติดต่อกันเป็นเวลานานจึงถือโอกาสนี้ปลีกวิเวกไปหาที่ทำความสะอาดร่างกาย เพราะได้ยินชาวลัวะโอ้อวดว่าลำธารจากสายน้ำปิงที่นี่ใสสะอาดกว่าที่อื่น เหมาะสำหรับดื่มกินและชำระกายาอย่างยิ่ง แต่จะให้เขาใช้ธารน้ำใกล้ๆ ร่วมกับชาวบ้านและคนในขบวนก็ไม่สะดวกนัก รัญชน์จึงเลี่ยงเดินตามลำน้ำลึกเข้าไปอีกหน่อยเพื่อให้เป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น

แม่น้ำระมิงค์…หรือแม่น้ำปิง

เขากำลังเดินทางขึ้นเหนือไปสู่ล้านนาอย่างนั้นน่ะหรือ… แต่ไม่ได้ยินใครเรียกชื่ออาณาจักรอันรุ่งเรืองนั้นสักคน ได้แต่เรียกดินแดนลุ่มน้ำวังและน้ำปิงว่าแดนเหนือ

ครั้นมาทบทวนให้ดี เขาย้อนอดีตมาในยุคเก่าแก่ราวพันกว่าปี อาณาจักรล้านนาย่อมยังมิถือกำเนิด ดินแดนแถบนั้นอาจยังเป็นแผ่นดินรกร้าง หรือมีแต่เมืองเล็กเมืองน้อย กับคนดอยคนป่าก็เป็นได้

ชายหนุ่มชะงักฝีเท้า…เบื้องหน้าเขาคือธารน้ำใสแจ๋ว สะท้อนภาพคาคบไม้ร่มรื่นเขียวขจีที่แต่งแต้มด้วยดอกเล็กๆ สีชมพูพร่างพรายทั้งต้น ใต้ร่มไม้เป็นโขดหินกระจัดกระจาย แซมด้วยกอหญ้าและพุ่มไม้หน้าตาประหลาด หากส่งกลิ่นหอมฟุ้งอย่างน่าอัศจรรย์ รัญชน์ตกตะลึงกับทัศนียภาพอันเสมือนสรวงสวรรค์ตรงหน้า จนแอบรู้สึกผิดที่จะต้องทำลายความน่าอภิรมย์นั้นด้วยการอาบชำระร่างกายตน

แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ เขาแทบจะทนไม่ไหวอีกแล้ว

ทันทีที่สายน้ำสะอาดชุ่มฉ่ำสัมผัสเนื้อตัว ชะล้างเอาคราบเหนียวที่ติดแน่นบนซีกหน้าซ้ายออกไปได้หมดจด ชายหนุ่มก็รู้สึกถึงความเป็นอิสระต่อพันธนาการทั้งปวง…ให้ตายเถอะ ขนาดเขามิต้องถูกบังคับให้โพกหัวพันหน้าไว้อย่างเจ้าชายรัตตกรยังรู้สึกอัดอัดเพียงนี้ แล้วคนที่ต้องอำพรางใบหน้าตนเองเกือบทั้งชีวิตเล่าจะรู้สึกอย่างไร

“คิดถูกแล้วละ ที่ไม่รับปากองค์ชายว่าจะยอมปิดหน้าตลอดไป” เขาโคลงศีรษะขณะกำลังอ้อยอิ่งโกนหนวดเครา อาบน้ำสระผม และแทบไม่อยากจะขึ้นจากน้ำเอาเสียเลย

ทว่าสุดท้ายก็ยอมขึ้นจากลำธารอย่างแสนเสียดาย หยิบผ้าผืนใหม่มานุ่งอย่างคล่องแคล่ว แล้วจึงนั่งทอดอารมณ์ชมมวลแมกไม้ให้สำราญ พลางคิดหาวิธีที่ไม่ต้องอำพรางใบหน้าอีก

อย่างน้อยก็ต้องรอให้ถึงนครหนขุนน้ำอะไรนั่นเสียก่อน เพราะถึงอย่างไรตอนนี้จะให้ ‘อุปราชรามราช’ ปรากฏตัวในขบวนไม่ได้เด็ดขาด

เขาชะโงกหน้าดูเงาตนเองบนผืนน้ำ โชคยังดีที่ไม่มีสิวฝ้าขึ้น ผิวพรรณก็ไม่ถึงกับแห้งกร้าน แค่คล้ำลงเล็กน้อย…

สายลมพัดรำเพย สายธารกระเพื่อมไหวระลอก รู้สึกคล้ายเห็นกรอบเงาสะท้อนอีกร่างซ้อนเพิ่มบนผิวน้ำในฝั่งตรงข้าม…

ชายหนุ่มกะพริบตา ภาพเงานั้นก็ยังปรากฏอยู่ ทั้งยังพลิ้วไหวไปกับระลอกคลื่น

เงาภาพหญิงสาวทรวดทรงองค์เอวอ่อนช้อย…

รัญชน์เงยหน้าช้าๆ หัวใจแทบหยุดเต้นเมื่อเห็นเจ้าของเงาสะท้อนบนผืนน้ำนั้นเต็มตา…

ร่างของราชนารีโฉมงามผู้นำขบวน ที่นายม้าหน้าด่างคอยเลี่ยงประจันหน้าโดยตรงมาตลอด

ทว่า ครานี้กลับเผชิญซึ่งกันและกันโดยมิอาจหลบเลี่ยง…ด้วยดวงหน้าเปล่าเปลือยของเขา ไร้กระทั่งหนวดเคราสักเส้น

ชายหนุ่มกลืนน้ำลายลงคออันฝืดแห้ง หัวสมองว่างเปล่า ร่างกายนิ่งแข็งราวถูกสาปเป็นหิน ขณะที่อีกฝ่ายทรงจ้องกลับมาด้วยนัยนาเบิกกว้างสั่นไหว ริมโอษฐ์เผยออออกดุจจะรับสั่งหากก็ยังนิ่งงันอยู่เช่นนั้น นานเท่านานกว่าที่ทรงหาเสียงตนเองเจอ

“เจ้าพี่…เขน” ปลายดรรชนีเรียวที่ชี้มาที่เขาสั่นระริก “เจ้าพี่ของน้องจริงๆ ด้วย”

 

เชิงอรรถ : 

(1) ชาวลัวะเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในแต่โบราณ กระจายถิ่นฐานทั่วไปในเขาแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ แต่หนาแน่นอยู่แถบดอยสุเทพ เรียงรายมาตามลำน้ำปิง สมัยต่อมาจึงค่อยผสมผสานกับคนเชื้อชาติอื่นที่มีความเจริญกว่า สมัยที่ชนชาติต่างๆ เริ่มเข้มแข็งขึ้นและแผ่อิทธิพลเข้ามายึดครอง ปกครองดินแดนแถบนี้ มักถือว่าลัวะเป็นชาวป่า ไร้อารยธรรม หรือมีระดับวัฒนธรรมต่ำกว่าตน / ตามหลักฐานแล้วชาวลัวะมี 2 ประเภท คือ 1) พวกที่ติดต่อกับคนพื้นราบ มีการแลกเปลี่ยนและรับวัฒนธรรมภายนอก และมีบทบาทสำคัญทำให้เกิดบ้านเมืองและรัฐขึ้นในแอ่งเชียงราย เชียงใหม่ กับ  2) พวกลัวะในป่าเขาห่างไกล รับความเจริญได้ช้า

(2) เม็ง คือชนชาติมอญโบราณที่ตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือมานานแล้ว เป็นกลุ่มเดียวกับมอญโบราณในภาคกลาง เป็นชนเผ่าโบราณที่เจริญก่อนพวกอื่นในเขตราบลุ่มน้ำปิง มีวัฒนธรรมสูงกว่าชาวลัวะ แต่มีปริมาณน้อยกว่าและอยู่กระจุกตัวริมน้ำ



Don`t copy text!