ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 20 : พระเจ้าจันทรโชติวิชัย (2)

ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 20 : พระเจ้าจันทรโชติวิชัย (2)

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

 

ชวาลาทรงเริ่มปวดพระครรภ์เป็นระยะ นับเดือนแล้วก็จวนเวลาเต็มที พระทัยจึงจดจ่อให้เดินทางไปถึงนครลำพูนโดยเร็วที่สุด กระนั้นหนทางกลับมิง่ายดายนัก ด้วยตลอดทางมีบ้านเมืองต่างๆ ให้การต้อนรับแห่แหนเฝ้าชมพระบารมีจอมนางละโว้กันเนืองแน่น คุณท้าวพี่เลี้ยงก็มิใคร่ให้พระนางตรากตรำพระวรกายเกินไปจึงให้แวะประทับตามบ้านเมืองบนฝั่งครั้งละนานขึ้น

“ระวังมากไป ประเดี๋ยวเราก็ได้คลอดลูกบนเรืออย่างที่พี่กลัวหรอก” รับสั่งเย้าคุณท้าวเกษวดีพลางลูบพระครรภ์ “แล้วเหตุใดมิให้พักแรมที่ดอยเต่านานหน่อยเล่า อากาศเย็นสบายนัก”

“องค์หญิงก็เห็นนี่เพคะว่ามีเต่ายั้วเยี้ยมากมายเพียงใด หากปะเหมาะเคราะห์ดีมีประสูติกาลที่นั่น หม่อมฉันกลัวเต่าจะคาบพระบุตรองค์หญิงไป”

“ปากเจ้านี่ช่างอัปมงคล” ปทุมวดีตีเข้าที่ต้นแขนพี่สาวก่อนหันมาทูลชวาลา “พ้นจากท่าเชียงทองแล้วค่อยตั้งพลับพลาดีกว่าเพคะ ได้ยินว่าบ้านเมืองสะดวกสบายกว่าดอยเต่ามากนัก”

เมื่อเสด็จมาถึงท่าเชียงทอง มีชาวบ้านชายหญิงมาคอยรับเสด็จจำนวนมาก ต่างแซ่ซ้องยอพระเกียรตินางพญาผู้จักครองนครลำพูนกันเซ็งแซ่ พระนางจึงมีรับสั่งให้ชมออนถามคนทั้งหลายนั้นว่า

“ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้ถึงเมืองลำพูนยังประมาณมากน้อยเท่าไร”

“ข้าแต่มหาเทวีเจ้า แต่นี้ถึงเมืองลำพูนนั้น หนึ่งโยชน์ (1) นั้นแล”

“เช่นนั้นก็ใกล้เข้าไปทุกทีแล้ว” พระนางรับสั่งแช่มชื่น แล้วจึงโปรดให้สร้างท่าเชียงทองเป็นเวียงบริวารขึ้นอีกเมือง พ่อหลวงบ้านท่าเชียงทองเห็นพระนางพระครรภ์แก่มากแล้วจึงทูลแนะให้ทรงเสี่ยงธนูดูตามประเพณีที่มีมาแต่ก่อน พระนางเห็นชอบด้วยจึงเรียก ‘ขันที’ และขุนเจ้าขันติให้เตรียมคันธนูให้ ทว่า ‘ขุนเจ้ารัญชน์’ กลับไม่เห็นด้วย

“จักให้สตรีครรภ์แก่มายิงธนูได้อย่างไร แล้วจักต้องทรงเสี่ยงทายด้วยธนูไปเพื่อเหตุใด ในเมื่อ…” เขาลดเสียงลงกระซิบ​ “ทรงทราบแน่แก่พระทัยแล้วว่า… จักได้ลูกแฝด”

“เผื่อได้ทราบว่าเป็นโอรสหรือธิดากระมัง”

“ประเดี๋ยวคลอดแล้วก็ทราบเองนั้นละ จะรีบทราบไปทำไม” ชายผู้หน้าเหมือนสวามีเอ่ยเหมือนดุ

“แต่ถ้ากลัวพ่อหลวงบ้านเสียน้ำใจ ประเดี๋ยวข้าพระองค์จักเป็นผู้ยิงให้เอง”

“แล้วเจ้าพี่…เอ้อ ขุนเจ้าจักเสี่ยงทายเรื่องครรภ์แทนเราได้อย่างไร คนจักยิ่งสงสัย”

หากเขามิใช่ภัสดาของเรา จักห่วงใยและอาสาเสี่ยงทายครรภ์ให้เราได้อย่างไร

แต่ถ้อยคำวาจา กิริยาเขาก็แปลกประหลาดจนหลายคราที่พระนางเริ่มไม่มั่นพระทัย

“เช่นนั้นเสี่ยงธนูเรื่องสร้างวัดดีหรือไม่เจ้าข้า” เขาเสนอ “ตลอดทางยังมิเห็นมีวัดวาอารามพุทธสักแห่ง พระสงฆ์ของพวกเราเริ่มจะเหงาหงอยไปทุกที และตามตำนาน ท่านต้องเป็นผู้นำแสงทองแห่งพุทธธรรมมาสู่ดินแดนเหนือ”

“ตำนาน? ตำนานเรื่องเราคือสิ่งใด เราไม่เข้าใจ”

“ข้าหมายถึง…ราชภารกิจนี้ที่จักโจษขานเป็นตำนานเจ้าข้า ท่านก็ตั้งพระทัยจักประดิษฐานพุทธศาสนาในแดนเหนือตั้งแต่แรกแล้วมิใช่หรือ”

“ถูกแล้ว…” ชวาลาทอดพระเนตรเขาอย่างค้นคว้า เขาทราบเรื่องทุกอย่างเฉกเช่นที่สวามีพระนางทราบ เขาย่อมมิใช่ใครอื่น “เช่นนั้นท่านจงเสี่ยงธนูแทนเราเถิด ลูกธนูไปตกแห่งใด เราจักหยั่งรากพระศาสนาลง ณ ที่นั้นเป็นเบื้องแรก”

ขุนเจ้ารัญชน์น้าวคันศรส่งลูกธนูไปทางทิศเหนือด้วยกำลังแรง ลูกธนูไปตกอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งอันเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม พระนางชวาลาจึงทรงประกาศให้ก่อสร้างพระอารามและพระมหาเจดีย์ขึ้นยังจุดที่ลูกธนูตก และ ณ อารามแห่งแรกนี้เอง พระเถระที่ติดตามขบวนมาทั้งหมดได้ถวายพระพรให้ทรงหล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์ บรรจุพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ด้วย พระนางก็โปรดฯ ให้ช่างลงมือหล่อพระพุทธรูปดังกล่าวขึ้นประดิษฐานไว้สืบมา

นอกจากพระพุทธรูปที่พระนางโปรดฯ ให้สร้างเท่าพระองค์แล้ว บรรดาเสนาอำมาตย์ก็โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระพุทธรูปด้วยคนละองค์สององค์ ประดิษฐานไว้ที่อารามกู่ละมัก พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเหนือนับแต่นั้น

“เราได้กระทำพุทธกิจยิ่งใหญ่ให้เป็นตำนานดังท่านว่าสำเร็จไปประการหนึ่งแล้ว” พระนางตรัสต่อ “จากนี้ขอให้ท่านช่วยเราขยายพระพุทธศาสนาในดินแดนใหม่ให้กว้างไกลสืบไปด้วยเถิด”

“หากข้าได้มีส่วนช่วยให้เกิดเรื่องยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ได้นั้นก็ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง”

“ประวัติศาสตร์ฤๅ?” ภาษาวาจาเขาฟังประหลาดหูจนชวาลาเริ่มสะดุดพระทัย

หรือเจ้าพี่เขนไปล่วงรู้ศาสตร์วิชาใดเข้าก็เป็นได้

ชายหนุ่มไม่ตอบคำถาม แต่กลับตัดบท “ทรงเหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว พักผ่อนวรกายเสียก่อนเถิด บ้านเมืองแถวนี้สงบร่มรื่น จักประทับอยู่ให้นานอีกหน่อยน่าจะดีกว่า ไม่ต้องรีบเสด็จหรอกเจ้าข้า” เขามองครรภ์พระนาง “ข้ามิอยากเสี่ยงให้ไปคลอดกลางทาง”

“เราเชื่อ…ท่าน”

เราเชื่อ…เจ้าพี่เขน

กระนั้น การพักผ่อนของพระนางผู้ไม่โปรดการหยุดนิ่งย่อมมิใช่การพักผ่อนวรกายอย่างแท้จริง เมื่อทรงเห็นว่าสถานที่แห่งนี้สงบงดงามแลมีชัยภูมิเหมาะสม จึงสถาปนาบ้านละมักขึ้นเป็นเวียงบริวารอีกแห่ง นามว่าเวียงรมย์คามตามลักษณะความรื่นรมย์ในการอยู่อาศัย ประกอบด้วยพระราชนิเวศน์เรือนหลวง หอคำ ตำหนัก ลานเมือง สร้างกำแพงดิน ทำคูน้ำล้อมรอบตามลักษณะเวียงเหมือนที่ทำกับเวียงโถและเวียงบริวารอื่นๆ โดยจำลองมาจากผังเมืองในทวารวดี และโปรดฯ ให้ขุนเจ้ารัญชน์เสี่ยงธนูสร้างวัดขึ้นอีกสองสามแห่ง แลให้พระสงฆ์เริ่มทำการเผยแพร่พระศาสนาแห่งตถาคต

“ถึงลำพูนเมื่อไร ข้าจักมีเวียงบริวารไว้พรักพร้อม มีวัดวาอารามมากมาย เมื่อนั้นจักประดิษฐานพระศาสนาให้ชาวนครก็คงมิยากนัก” ทรงรำพึงอย่างพึงพอใจกระนั้นก็ยังมีเรื่องรบกวนพระทัย

“ข้าใคร่ไปคลอดที่หนขุนน้ำลำพูนเอาฤกษ์เอาชัย แต่ดูราวกับทุกฝ่ายพร้อมใจจักถ่วงเวลาเอาไว้ ประสงค์ให้ข้าให้กำเนิดรัชทายาทที่เวียงรมย์คามนี้น่ะหรือ”

“ความคิดของราชบุตรรามราช…เอ้อ ขุนเจ้ารัญชน์น่ะเพคะ” เกษวดีค้อนลมค้อนแล้ง “เขามิเชื่อว่านครใหม่จักสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมทุกประการดังคำกล่าวอ้าง เกรงองค์หญิงจักมิได้รับความสะดวกสบายขณะมีประสูติกาล พวกเราก็จนใจจักคัดค้าน ด้วยมิมีผู้ใดเคยประจักษ์เวียงลำพูนนั้นด้วยตาตนสักคน”

“มาบัดนี้พี่ทั้งสองคิดว่าเขาเป็นเช่นไร”

“ทรงหมายถึง…ที่เจ้าชายแสร้งอ้างตนเป็นคนแปลกหน้านี้น่ะหรือเพคะ”

“ข้าหลากใจนัก บางคราก็ทรงอ่อนโยนห่วงใยข้า บางครากลับเย็นชาห่างเหิน”

“คงมิใคร่ให้เกิดคำครหา เพราะถึงอย่างไรเรื่องเอาชายถูกตอนมารับใช้ฝ่ายในหาใช่เรื่องสามัญไม่”

“อืม…ก็ถูกของพี่ แต่…” มีบางอย่างยังรบกวนพระทัย “พี่ปทุมช่วยไปเรียกเขามาเฝ้าข้าทีเถิด”

“ดึกป่านนี้ มิงามกระมังเพคะ” ข้าหลวงสาวไม่สบายใจ “ทรงคิดถึงพระสวามีมากกระมัง”

“ข้ามิได้จะทำเรื่องมิควรสักหน่อย” ทรงชี้ไปที่นาภีใหญ่โต “ข้าแค่อยากให้เจ้าพี่ได้กล่อมลูก”

ปทุมวดีจำใจทำตามรับสั่งทั้งที่มิเห็นด้วยนัก ครู่หนึ่งชายผู้ที่พระนางทรงเชื่อว่าเป็นพระสวามีก็ปรากฏตัวขึ้น สีหน้าเคร่งขรึมเย็นชา และพยายามไม่สบพระเนตรชวาลาโดยตรง

“ให้คุณท้าวทั้งสองอยู่ด้วยก็ได้นี่เจ้าข้า”

“เราต่างหากต้องกลัวคำนินทา มิใช่…ท่าน แต่ขอบใจที่นึกถึงเกียรติเรา” ความรู้สึกมากมายหลากหลายทั้งเหน็ดเหนื่อย หวาดกลัว อ่อนแอ และเศร้าสร้อยหดหู่ท่วมท้นอุระ เช่นนี้กระมังอาการของสตรีมีครรภ์ที่ต้องประสบ…ทรงโหยหาอ้อมกอดอันอบอุ่นของบุรุษผู้เป็นที่รักอย่างยิ่ง ปรารถนาจักเอื้อนเอ่ยให้เขารับรู้สิ่งที่อัดแน่นในทรวง ทรงอยากปล่อยกันแสงและซุกกายในอ้อมอุระเช่นที่เคยเป็นมา แต่ทว่าเจ้าพี่ของพระนางยามนี้กลับวางองค์ระมัดระวังแม้ในที่รโหฐาน พยายามมิเฉียดใกล้พระนางแม้แต่ปลายเล็บ จนชวาลาทรงอดน้อยเนื้อต่ำใจมิได้ อัสสุชลคลอคลองจวนเจียนหยดรอมร่อ

“จำเป็นต้องพระทัยร้ายกับน้องถึงเพียงนี้หรือเพคะ”

“ข้า…” แววตาเขาว้าวุ่น “มีรับสั่งให้ข้าพระองค์มาเฝ้ายามวิกาล ย่อมเสื่อมพระเกียรติ”

“ท่านเป็นขันที ผู้ใดจักคิดก็ให้เขาคิดไป” รับสั่งอย่างหงุดหงิด “ท่านมิอยากคุยกับลูกหรือ”

“ข้าพระองค์…ไม่ ไม่บังควร”

ชวาลากลั้นอัสสุชลมิอยู่ น้ำพระเนตรค่อยๆ หยาดลงในที่สุด เขาเห็นดังนั้นก็ตกใจ ปราดเข้ามาหาพระนางทันใด

 

เชิงอรรถ : 

(1) หนึ่งโยชน์ = 16 กิโลเมตร



Don`t copy text!