การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 8 :  ชีวิตดั่งนั่งรถไฟเหาะตีลังกา

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 8 : ชีวิตดั่งนั่งรถไฟเหาะตีลังกา

โดย : อลิสา กัลยา

Loading

อ่านเอา มี นิยายออนไลน์ ให้คุณได้อ่านเพลิดเพลิน มีคอลัมน์หลากหลายให้ได้เปิดโลก และ “การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง” เรื่องราวของคุณแม่ชาวไทยในโอซาก้าที่พบว่าลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกนี้มีเพียงหัวใจแค่ครึ่งดวง จะเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์และความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ประทับใจไม่รู้ลืม

 

สมัครบัตร Citi Ready Credit

ทุกยอดการสมัครจะมีส่วนแบ่งกลับมาสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอาของพวกเรา 🙂

………………………………………………..

-8-

 

“…ความกลัวเป็นผลลัพธ์ของความคิดอย่างมีอคติว่าเราจะเผชิญหน้าสิ่งที่คุ้นเคยไม่ได้…”

เป็นประโยคหนึ่งที่ฉันชอบมากในหนังสือ จะเล่าให้คุณฟัง เขียนโดย ฆอร์เฆ่ บูกาย  วรรณกรรมสเปนเล่มนี้ถูกส่งมาจากแดนไกล จากเพื่อนสนิทผู้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย ฉันไม่เคยอ่านงานของ ฆอร์เฆ่ บูกาย มาก่อน จะว่าไปแล้วนี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนักเขียนคนนี้ด้วยซ้ำ แต่หนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจฉันมากระหว่างการพักฟื้นจากการผ่าตัดของมิอุ

แม้ว่าการผ่าตัดจะผ่านไปได้ดี แต่การพักฟื้นไม่ได้ผ่านไปอย่างราบเรียบสบายนัก เพียงหนึ่งวันหลังจากมิอุอยู่ในห้องไอซียู โทรศัพท์มือถือฉันก็ดังขึ้นระหว่างที่กำลังแต่งตัวเพื่อไปเยี่ยมมิอุที่โรงพยาบาล หัวใจแทบจะหยุดเต้นเมื่อเห็นชื่อ ‘โบะชิเซนเตอร์’ ปรากฏขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ คิดไปเองทันทีว่า จะต้องเกิดอะไรไม่ดีกับมิอุแน่ ได้ยินเสียงคุณหมอโทริโกเอะ หมอเจ้าของไข้มิอุในการผ่าตัดครั้งนี้อยู่ปลายสาย เธอโทรมาเพื่อแจ้งให้ทราบว่า ทางโรงพยาบาลจะย้ายมิอุออกจากห้องไอซียูไปพักฟื้นที่แผนกหัวใจเด็กชั้นสามในบ่ายวันนี้

“มิอุอาการคงที่แล้วเหรอคะ ถึงย้ายออกจากไอซียูได้” ฉันถามคุณหมอโทริโกเอะ

“ทางเราคิดว่าอาการของมิอุจังคงที่พอแล้วค่ะ ถ้าวันนี้มาโรงพยาบาลก็ให้ขึ้นมาที่ชั้นสามได้เลย” ฉันไม่ได้ซักไซ้คุณหมอมากกว่าไปกว่านี้ แม้ว่าจะรู้สึกสงสัยอยู่นิดหน่อยว่าทำไมทางโรงพยาบาลถึงรีบย้ายมิอุออกจากไอซียู เพราะตอนผ่าตัดครั้งแรกกว่ามิอุจะออกจากไอซียูได้ก็ปาไปเกือบ ๑ สัปดาห์

ฉันมารู้ทีหลังเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้วว่า ‘อาการคงที่’ ที่หมอโทริโกเอะบอกตอนโทรศัพท์หมายความว่า อาการมิอุคงที่มากที่สุดในบรรดาเด็กคนอื่นที่พักฟื้นในห้องไอซียู และเนื่องจากมีเด็กคนอื่นที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดและต้องการเตียงในไอซียูมากกว่า มิอุเลยต้องถูกย้ายออกไป

ประตูลิฟต์เปิดออก ฉันและโอก้าซังเดินอย่างรวดเร็วไปยังหน้าห้องแผนกโรคหัวใจเด็ก ฉันกดอินเตอร์โฟน สักพักมีเสียงตอบรับจากนางพยาบาลข้างในแผนก พอเสียงคลิกของประตูดังขึ้น ฉันก็เปิดประตูบานใหญ่เข้าไป ได้ยินเสียงเด็กหลายคนร้องไห้ลั่นแผนก แต่มีเสียงหนึ่งที่ดังมากกว่าคนอื่นๆ

“เสียงเด็กร้องดังมากเลยนะ” โอก้าซังพูดขึ้น

“เสียงที่ดังที่สุดก็เสียงมิอุไงคะโอก้าซัง” ฉันบอกโอก้าซัง เธอทำหน้าตกใจว่าทำไมฉันถึงแยกเสียงเด็กร้องได้ เสียงเด็กร้องอาจฟังดูเหมือนๆ กันหมด แต่สำหรับคนเป็นแม่แล้ว ไม่แปลกหรอกถ้าจะสามารถรับรู้ถึงเสียงร้องของลูกตัวเองได้ทันที

คราวนี้มิอุไม่ได้เข้าไปอยู่ห้องข้างในสุดที่เป็นเหมือนห้องไอซียูประจำแผนก แต่ถูกแยกมาอยู่ห้องเดี่ยวแทน ในแผนกผู้ป่วยในหัวใจเด็กนี้ จะมีห้องเดี่ยวอยู่ทั้งหมด ๓ ห้อง เฉพาะกรณีพิเศษ อย่างเช่น ป้องกันการติดเชื้อ ถึงจะได้มาอยู่ห้องเดี่ยวนี้

พยาบาลเวรกลางวันยื่นหน้ากากอนามัยให้ฉันและโอก้าซัง พร้อมบอกว่า “มิอุจังเพิ่งตื่นเองค่ะ เดี๋ยวฉันจะไปแจ้งคุณหมอโทริโกเอะนะคะว่าคุณแม่มาแล้ว คุณหมอจะได้อธิบายอาการของมิอุจัง” ฉันรับหน้ากากมา เอาห่วงคาดที่หู แล้วเดินเข้าไปในห้องพักฟื้นของมิอุ

มิอุนอนอยู่บนเตียงที่รอบล้อมไปด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์นับสิบอย่างมากกว่าคราวที่ผ่าตัดครั้งแรก ทั้งสายน้ำเกลือ สายยางให้ยา สายยางให้เลือด สายยางถ่ายเลือดและปัสสาวะ ระโยงระยางเรียงรายอยู่เต็มไปหมด แม้ฉันจะเห็นภาพนี้มาแล้วเมื่อวานหลังจากการผ่าตัดสิ้นสุดลงตอนไปเยี่ยมมิอุที่ห้องไอซียู แต่ความรู้สึกเสียใจ สงสาร และโกรธตัวเองยังคงเหมือนเดิม

มิอุดูอ่อนเพลียมาก หน้าแดง ตาบวม เธอคงร้องไห้ตลอดเวลาที่รู้สึกตัว เสียงร้องไห้ของเธอหยุดลงเมื่อเห็นฉันและโอก้าซัง แต่แล้วกลับดังขึ้นมาอีก เพราะทำท่าเหมือนอยากจะลุกขึ้นมา ฉันเข้าใจได้ทันทีว่า มิอุต้องการให้ฉันอุ้ม

“ตอนนี้ถ้าจะอุ้มคงลำบากหน่อยนะคะคุณแม่” พยาบาลบอกกับฉัน ซึ่งฉันก็เห็นด้วยกับเธอ เมื่ออุ้มไม่ได้ ฉันจึงพาตัวเองกึ่งนั่งกึ่งนอนบนเตียงมิอุ เพื่อให้ร่างกายฉันแนบชิดกับมิอุมากที่สุด ตอนนั้นเองที่ฉันสังเกตว่า นอกจากสายระโยงระยางจากอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหลายแล้ว ยังมีท่อยางใสๆ ๓ ท่อต่อออกมาจากหน้าอกมิอุ พยาบาลอธิบายว่า เป็นสายท่อยางเพื่อระบายเลือดและของเหลวอื่นที่ตกค้างรอบหัวใจมิอุ นี่หมายความว่า นอกจากรอยแผลเป็นตรงกลางหน้าอกแล้ว มิอุยังมีรอยแผลเป็นอีกสามจุดต่ำลงมาอีกด้วย

มิอุยังคงส่งเสียงร้องไห้อยู่ แต่เบาลงกว่าเดิมมาก โอก้าซังลูบหัวมิอุแล้วพูดว่า “อดทนหน่อยนะ มิอุเก่งมาก มิอุเก่งมากเลย”

เสียงเคาะประตูดังขึ้นมา พอหันไปดูก็พบว่าเป็นคุณหมอโทริโกเอะนั่นเอง เธอเดินเข้ามาทักทายฉันและโอก้าซัง หันไปยิ้มให้มิอุ แล้วบอกว่า “มิอุจังพยายามดีมากเลยนะ” จากนั้นจึงอธิบายให้พวกเราฟังว่า อาการโดยรวมของมิอุไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง แต่ยังจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ฉันเข้าใจดีถึงสิ่งที่หมอโทริโกเอะพยายามบอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันเคยคุยกับพยาบาลหลายคนตอนมิอุเข้าโรงพยาบาลครั้งที่แล้ว ฉันระบายความกังวลถึงการผ่าตัดของมิอุอยู่หลายครั้ง พวกเธอจะบอกฉันเสมอ หลังจากบอกเล่าความจริงถึงความเป็นไปได้ว่า ‘อะไร’ ก็เกิดขึ้นได้เสมอหลังการผ่าตัดว่า

“…แต่ระบบร่างกายของเด็กฟื้นตัวเร็วมากเลยนะคะ แล้วคุณแม่จะตกใจกับพลังในการฟื้นตัวของมิอุเองค่ะ”

ถัดมาได้สองสามวัน มิอุก็ถูกย้ายไปอยู่ห้องด้านในสุดที่เป็นเหมือนห้อง ICU ของแผนก ฉันยังคงเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านและโรงพยาบาลอีกเกือบหนึ่งสัปดาห์ ทางโรงพยาบาลจึงบอกว่าให้ฉันเตรียมตัวจัดห้องมาใช้ชีวิตในโรงพยาบาลกับมิอุ

ทีแรก ฉันคิดว่านี่คงเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของมิอุ สาวน้อยต้องต่อสู้กับการติดเชื้อและน้ำท่วมปอดตั้งแต่ผ่าตัดเสร็จ อาการภายนอกยังดูปกติ ยังกินข้าว เคลื่อนไหวร่างกายได้ แต่ด้วยผลการตรวจเลือดและการอัลตราซาวนด์หัวใจที่ยังไม่ปกตินี่เอง ทำให้มิอุยังคงต้องอยู่ใกล้ชิดกับทีมแพทย์ในห้องด้านในสุดของแผนก

และเป็นอีกครั้งที่ฉันคิดผิด สาเหตุหลักที่ทางทีมแพทย์ตัดสินใจให้ฉันมาอยู่กับมิอุที่โรงพยาบาลด้วยก็เพราะสภาพจิตใจของมิอุ เด็กน้อยวัยขวบครึ่งเริ่มที่จะเข้าใจอะไรหลายอย่างรอบตัวแล้ว การพัฒนาทางด้านอารมณ์ไม่เหมือนตอนเป็นเด็กทารกอีกต่อไป ไม่แปลกที่มิอุจะมีความรู้สึกกลัว หวาดผวาต่อคนแปลกหน้าและสิ่งรอบตัวที่ไม่คุ้นเคยในระดับรุนแรงจนทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

“ถึงอาการของมิอุจังจะยังไม่คงที่ แต่ทางเราคิดว่าให้คุณแม่เข้ามาอยู่โรงพยาบาลด้วยน่าจะเป็นผลดีกับมิอุจังมากกว่าค่ะ” คุณหมอโทริโกเอะอธิบายกับฉัน

พอได้ย้ายเข้ามาอยู่กับมิอุ ฉันถึงได้สัมผัสอาการหวาดกลัวของมิอุมากขึ้น เวลามิอุตื่น ทุกครั้งที่มิอุเห็นหมอและพยาบาลเข้ามาในห้องพักฟื้น เธอจะกรีดร้องออกมาอย่างรวดเร็ว คงเข้าใจว่า จะต้องเจ็บตัวจากเจาะเลือดหรือการตรวจอื่นๆ อีกแน่ ส่วนเวลานอน มิอุจะมีการสะดุ้งและฝันร้ายร้องไห้ฟูมฟายกลางดึกเกือบทุกคืน

เพราะสภาพจิตใจของมิอุ ทำให้เวลากลางวัน ตัวฉันต้องอยู่ติดกับมิอุอยู่ตลอดเวลา ฉันอาจฝากมิอุไว้กับพยาบาลเพื่อไปทำธุระส่วนตัว เช่น กินข้าวหรืออาบน้ำ เพียงช่วงเวลาสั้นๆ พยายามทำทุกอย่างให้เสร็จอย่างรวดเร็ว กลับเข้ามาในห้องพักอีกครั้งให้ทันก่อนมิอุจะแผลงฤทธิ์ ส่วนกลางคืน เราสองแม่ลูกต้องนอนจับมือกันตลอดเวลา บางคืนฉันถึงกับต้องขึ้นไปนอนบนเตียงคนไข้เล็กๆ เคียงข้างกับมิอุ

 

ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม

ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา

ชุมชนแห่งการอ่านของพวกเรา : )

หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ย้ายจากห้องเดี่ยวปลอดเชื้อไปอยู่ห้องพักรวมที่ต้องแชร์ห้องกันสองเตียง ถึงจะได้อยู่ห้องรวม แต่ฉันอดดีใจอยู่เงียบๆ ไม่ได้ว่า อาการของมิอุคงดีขึ้นจนสามารถแชร์ห้องกับเด็กคนอื่นได้ จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในโรงพยาบาลครั้งก่อนๆ ทำให้ฉันเข้าใจได้เองว่า การย้ายห้องพักจากห้องด้านในสุด ไปห้องเดี่ยว จนมาย้ายมาห้องรวม แปรผันกับอาการที่ดีขึ้นของมิอุ จำนวนยาที่มิอุต้องกินในแต่ละวันก็เช่นกัน จำนวนที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ จากสิบกว่าชนิด จนเหลือแค่สี่ห้าชนิด ล้วนชุ่มชื่นจิตใจของคนเป็นแม่ได้มาก

แต่อาการหวาดผวาของมิอุไม่ได้ลดน้อยลงถึงระดับที่ทำให้ฉันสบายใจได้ ว่าไปแล้วอาการทางจิตใจของมิอุทำให้ฉันเกิดความกังวลมากกว่าอาการทางร่างกายของมิอุด้วยซ้ำ นี่ยังไม่รวมถึงความกังวลเรื่องความเป็นไปได้ที่มิอุต้องใช้ถังออกซิเจนในชีวิตประจำวันจนถึงการผ่าตัดครั้งหน้า ทั้งหมดล้วนบั่นทอนร่างกายและจิตใจฉันมาก ความเหนื่อยล้าวนเวียนอยู่ในตัว ถาโถมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ก่อนที่ตัวฉันจะปรักพังมากกว่าไปกว่านี้ ฉันต้องคอยบอกตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่ฉันเผชิญมันเทียบไม่ได้เลยกับที่มิอุต้องแบกรับอยู่

สิ่งเดียวที่เยียวยาฉันระหว่างอยู่โรงพยาบาลคือ การได้อ่านหนังสือของฆอร์เฆ่ตามที่ฉันจั่วหัวไว้ข้างต้น หากมีเวลาฉันจะหยิบมาเปิดอ่านทุกครั้ง ส่วนมากจะเป็นเวลากินข้าวเย็น ช่วงเวลาที่ฉันจะสามารถใช้เวลาของตัวเองได้มากที่สุด เพราะสามีและโอก้าซังมักจะมาเยี่ยมมิอุเวลานี้

“…ความกลัวเป็นผลลัพธ์ของความคิดอย่างมีอคติว่าเราจะเผชิญหน้าสิ่งที่คุ้นเคยไม่ได้…”

ประโยคนี้สะดุดหัวใจจนต้องอ่านทวนอยู่หลายรอบ ใช่แล้ว ความกังวล ความเหนื่อยล้าทั้งหมดที่ดำเนินอยู่มันเกิดขึ้นจากความกลัวอย่างที่ฆอร์เฆ่ว่าไว้นั่นแหละ ว่าไปแล้วก็คิดถึงข้อความที่คุณแม่ชาวอเมริกันเขียนในเพจ Tricuspid Atresia เพจในเฟซบุ๊กที่รวมคนไข้และญาติของคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจแบบเดียวกับมิอุ

“…หากคุณมีลูกเป็นโรคหัวใจ Tricuspid Atresia ชีวิตคุณจะเหมือนนั่งรถไฟเหาะอยู่หลายๆ ครั้ง…”

ช่วงเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มิอุอยู่ในท้อง คลอดมิอุออกมา จนถึงการผ่าตัดครั้งที่สอง ฉันนั่งรถไฟเหาะไปกี่ครั้งกันแล้วนะ? ฉันไม่แน่ใจถึงจำนวนครั้งสักเท่าไร จำได้แต่ว่า หลายครั้ง เมื่อรถไฟตีหลังกาเหาะรอบนั้นพาฉันไปจนถึงปลายทาง น้ำตาที่ไหลรินได้เหือดหาย โดยมีรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะมาแทนที่ คราวนี้ก็เช่นกัน สองเดือนกว่าๆ รถไฟเหาะก็พาฉันมาถึงจุดหมาย มิอุได้ออกจากโรงพยาบาล โดยไม่ต้องมีถังออกซิเจนกลับบ้านมาด้วย

 

…………………………………………………

อ่านตอนอื่นๆ ของ : การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 12 : กลับสู่ชีวิตในโรงพยาบาลอีกครั้ง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 11 : ของขวัญ

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 10 : คำอธิษฐานในฤดูหนาวหนึ่ง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 9 : ริกะจัง สาวน้อยผู้มีริมฝีปากคล้ำตลอดเวลา

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 8 : ชีวิตดั่งนั่งรถไฟเหาะตีลังกา

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 7 : ตกหลุมรักฤดูใบไม้ร่วงอีกครั้งหลังการผ่าตัดครั้งที่สอง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 6 : คุณหมอเรียว – หมอโรคหัวใจคนแรกของมิอุ

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 5 : การผ่าตัดครั้งแรก

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 4 : เด็กน้อยห่อผ้าดอกมะลิ

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 3 : จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 2 : ความเศร้าในใจยามใบไม้เปลี่ยนสี

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 1 : กล่องคุกกี้แห่งความฝัน

 

Don`t copy text!