‘ตวง’ ตัวละครวัยเยาว์ใน ‘เมรัยสีกุหลาบ’

‘ตวง’ ตัวละครวัยเยาว์ใน ‘เมรัยสีกุหลาบ’

โดย : กฤษณา อโศกสิน

Loading

“หลังม่าน” คอลัมน์ที่จะบอกเล่าถึงชีวิตของตัวละครเด่นๆ ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน เป็นเรื่องราวเบื้องลึกที่มีแต่นักเขียนเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ และนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านชาวอ่านเอาได้เห็นชีวิตด้านหลังม่านของตัวละครเหล่านั้น

 

‘ตัวละคร’ ที่ฉันยอมยกให้เป็นเอกที่สุดในเรื่องนี้

คือเด็กหญิงคนหนึ่ง มีนามว่า ‘ตวง’ อายุ 14 ปี

เป็นตัวละครวัยเยาว์ที่ไม่ค่อยจะปรากฏกายบ่อยนักในงานของฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพฤติกรรมโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ให้ความรู้สึกทั้งรัก ชัง เวทนา เมตตา เข้าใจ เห็นใจ รวมทั้งมันเขี้ยวเสียวไส้และอื่นๆ ที่คล้ายอย่างนั้น

เรื่องราวอันเสมือนไม่สำคัญแต่สำคัญ…มิใช่แค่สำคัญธรรมดา หรือกลางๆ หากแต่สำคัญที่สุดนี้ เปิดฉากขึ้นที่บ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านนามว่า เต็มใจ สามีชื่อ โสภณ อาชีพรับราชการ ลูกสาวคนเดียวนามว่า ตุลสี สำเร็จปริญญาโทจากต่างประเทศ เพิ่งเดินทางกลับพร้อมชายคนรักชื่อ กุมภา

ตวง คือ ลูกบุญธรรมที่คุณนายเต็มใจขอจากหญิงคนหนึ่งซึ่งไม่ปรารถนาเลี้ยงดู เพียงแต่เป็นลูกที่มิได้จดทะเบียน จึงไม่ใช้นามสกุลของโสภณ

 

ฉันเริ่มต้นเรื่องราวของเด็กหญิงกำพร้าเมื่อราว พ.ศ.2524…40 ปีมาแล้ว

จึงบรรยายไว้ตั้งแต่บทแรกเลยทีเดียว

คุณโสภณไม่เหมือนพ่อเลี้ยงรายอื่น เรื่องเขมือบลูกเลี้ยงเป็นอาหารอันโอชารสนั้น ไม่มีอยู่ในสมอง

เขาไม่ชอบตวงเมื่อแบเบาะอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ชอบอย่างนั้น

‘เทอมนี้มันได้เกรดเท่าไหร่’ เขาคอยติดตามถามไถ่มิใช่เพราะไฝ่รักหรือกังวลว่าตวงจะไม่ทันเพื่อน แต่เพราะต้องการรู้ว่า…เด็กที่ภรรยาไปนำมาจากโรงพยาบาลโดยพลการตั้งแต่สิบสี่ปีที่แล้ว โดยไม่บอกกล่าวเล่าแจ้งให้เขาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวได้มีส่วนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจร่วมด้วยนั้น…เกเรเหลวไหลอย่างไรบ้าง

เพื่อจะนำมาไว้เย้ยเยาะภรรยาผู้ ‘คิดสั้น’ แค่นั้นเองเจ้าค่ะ

‘ยังไม่เห็นสมุดพก’ คุณนายก็เลยตอบห้วนๆ พร้อมกับนึกเสียใจเหมือนทุกครั้งที่เผลอนำเรื่องตวงมาบ่นกับเขา ‘เธอนี่ก็ร้ายนะ เมื่อไหร่จะเลิกเกลียดเด็กซักที…ฮึ…เมื่อไหร่’

‘ฉันไม่ได้เกลียด แต่ไม่ชอบ’ อีกฝ่ายยังคงยืนยันความเดิมครั้งที่บอกเธอนาทีแรกที่แลเห็นตวงอยู่บนเบาะ ‘ที่ไม่ชอบก็ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ชอบเพราะเธอเอามันมาเลี้ยงโดยไม่บอกไม่กล่าว ไม่นับถือฉันที่เป็นผัวเธอ’

 

จริงแท้แน่นอนดังที่คุณโสภณต่อว่า

ก็ฉันเองมิใช่หรือ พี่เต็มใจจ๋า หวังว่าพี่คงจำได้ตอนที่พี่มาบอกฉันว่า พี่จะหาเด็กมาเลี้ยงสักคน ไว้เป็นคนใช้หนูตุล ฉันยังห้ามพี่เสียงหลงเลยนี่นาว่า…อย่าเลยพี่ อย่าทำยังงั้น ถ้าพี่คิดแค่จะเลี้ยงเด็กไว้เป็นคนใช้ลูกพี่ละก็ ขอเถอะค่าาา

แต่พี่ก็ดื้อไง…ดื้อแล้วก็…เอ้อ…อยากพูดแรงๆ ก็สงสารพี่…ดื้อแล้วก็เอาแต่ใจตนเองเป็นที่ตั้ง แถมยังขี้บ่นพร่ำไม่เป็นเวล่ำเวลาอีกต่างหาก…

พี่ก็เลยดัน…เอ๊ย…ดื้อจนวาระสุดท้าย พาเด็กแบเบาะมาแอบไว้ในครัว ให้นอนกับคนใช้ จนเด็กร้องแว้ๆ เสียงใสขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง คุณโสภณหูผึ่งเลยตอนนั้น…พี่เล่าให้ฉันฟัง…เดินข้ามชานไปเปิดประตูครัว…

พอรู้ว่าพี่ทำโดยไม่เห็นหัวเขา ก็เอาละซี ทะเลาะกันจนแทบจะถึงกับหย่า…หวังว่าพี่คงยังจำได้

แต่ถึงอย่างไรพี่ก็เป็นต่อเขาวันยังค่ำ ในเมื่อทรัพย์สินทั้งนั้นที่พี่มี พี่ได้มาจากแม่พี่ล้วนๆ คุณโสภณจึงเป็นเพียงใครหนึ่งคนที่มีแต่ตัว ที่หิ้วกระเป๋าใบเดียวมาอาศัยพี่อยู่

ดังนั้น จึงเป็นได้แค่ชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีเพียงเงินเดือน มีแค่เพื่อน เหล้า และผู้หญิงกลางคืนเป็นครั้งคราว ให้ได้ปลดเปลื้องความไม่ผาสุกจากเสียงบ่นว่าเอะอะประจำวันของภรรยา

แต่พี่ก็แอบกระซิบกับฉันบ่อยๆ

‘นี่ น้องจ๋า…ไงๆ เราก็พี่กันน้องกันน่า…อย่าเอาอะไรมาป้ายพี่นักเล้ย เวลาบอกบทก็บอกแต่บทดีๆ มั่งได้ไหม…จะบอกให้รู้ตัวไว้นะว่า ใครๆ เขาก็นินทาน้องทั้งนั้น กระบวนโหดละก็ ไม่มีใครเกินนักเขียนคนนี้’

 

ครั้นแล้ว คุณนายเต็มใจก็รีบหลบวูบแทบไม่ทัน

ฉันก็เลยส่งเสียงตามหลัง

‘อย่าลืมนะ พี่เต็ม…เรายังจะอยู่กันอีกนานกว่าจะหมดเรื่องหนูตวง’

ว่าแล้ว ฉันก็ก้มหน้าบันทึกต่อ เพื่อบอกกล่าวให้ฝ่ายฉากชัดเจนกับสิ่งแวดล้อมรอบบ้านคุณนาย…ไม่งั้นทั้งผู้อ่านและผู้ดูจะไม่รู้ลึกในรายละเอียด

 

‘ลมไม่สู้สะอาดโบกโบยบางเบา เป็นลมเย็นจากถนนใหญ่ ซึ่งแลเห็นจากซอยเล็ก

ถนนหน้าบ้านคุณนายเป็นซอยกลางใจเมือง แออัดยัดเยียดด้วยบ้านน้อยเรือนเล็กและตึกแถว ค่ำคืนดึกดื่นขนาดไหนก็สว่างจ้า มีสาขาแยกออกไปจากซอยทั้งขวาและซ้าย ในซ้ายกับขวานี้ ก็ยังมีขวาขวาซ้ายซ้ายซอกแซกอยู่ซับซ้อน บ้านเช่าหลังอื่นอีกบางหลังของคุณนายจึงแซงอยู่ระหว่างความสลับสล้างของเรือนและตึก

รถยังคงวิ่งสวนไปมาไม่สร่างวาย แท็กซี่วิ่งเข้าๆ ออกๆ ผู้คนทั้งหญิงชายคลาคล่ำ รถเข็น แผงขายของทำงานบริการปากท้องของใครต่อใครไม่เคยว่าง ในซอยนี้ มีตั้งแต่มหาเศรษฐีจนถึงขอทานผ่านมาทุกวัน พวกเศรษฐีจะมีสโมสรที่อยู่ลับไปทางขวา ขอทานกับคนขายตัวเลี้ยวไปทางซ้ายซึ่งมีตึกแถวและเรือนไม้โกโรโกโสแอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง’

สีเขียวแปร๊ดไกวอยู่ในไฟจ้ากระทบตาคุณนาย

จริงดังคาด ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ นั่นเอง

ร่างผอมบางของหล่อนเร้นไว้ด้วยสีเสื้อ จึงดูไกลๆ เสมือนเป็นเรือนกายสมบูรณ์พูนสุขสดสะอาด

แต่ครั้งหนึ่ง หล่อนเหลียวมาทางประตูเหล็กโปร่งของคุณนาย

นัยน์ตาค่อนข้างจดจ่อเหมือนใคร่จะได้เห็นใครสักคนปรากฏกายออกมา

‘อย่านะ เฉลียว ถ้าเรารักลูกอย่ามาตอแยเป็นอันขาด’ คุณนายเคยบอกนางเมื่อพบกันอย่างจังริมทางเท้าในซอย

เรื่อง ‘แม่ของตวง’ นี่ก็เช่นกัน

เธอต้องปิดเป็นความลับเรื่อยมา ไม่บอกให้คุณโสภณรับรู้

 

นอกจากเรื่องแม่ที่ยังเป็น ‘หญิงลึกลับ’ เปิดเผยมิได้ แล้วยังมีเรื่อง

ตวงเคยขโมยสมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัดของเพื่อนอีกด้วยเล่า

ฉันละก็…เขียนไปเศร้าไปเอาทีเดียว

แล้วนี่…ถ้าถึงตอนต้องบอกบทให้ตวงขโมยอย่างอื่นๆ ของใครต่อใครอีก ตัวฉันเองนั่นแหละ จะทำอย่างไรดี

“ก๊อ…ให้ครูทอ-ระ-สับมาบอกยายเต็มซีคะ” เสียงใครคนหนึ่งดังขึ้นแว่วๆ

เมื่อหันไปก็เจอเด็กกำพร้ายืนทำตาเศร้า น้ำตาเต็มตาอยู่ไม่ไกล

“ตวง”

“ว่าไงคะ คุณ จะให้หนูชีช้ำกะหล่ำปลีไปถึงไหน”

“โธ่เอ๊ย ตวง ฉันน่ะสงสารหนูจะแย่อยู่แล้วนะ” ฉันเสแสร้งลากเสียงทำตาเศร้า

“เฮอะ…นึกหรือว่าหนูจะเชื่อ…ก็คุณน่ะเชือดตัวละครมากี่ยุคกี่สมัยแล้ว ถึงตอนนี้ก็…อย่าเผลอนะ เผลอเมื่อไหร่ละก็…พระเอกนางเอกเก่งขนาดไหนก็ฟุบเป็นแถว”

ตวงต่อว่าด้วยสีหน้าเจ็บใจ

“แต่ตวงก็แสดงได้ดีนี่นา…คนดูน่าจะตบมือกันเกรียวกราวเลย ฉันว่านะ”

ฉันก็ยังงี้แหละ…ต้องเอาตัวรอดไปวันๆ ไม่ให้พวกตัวละครหันมากรี๊ดเอาได้

เฮ้อ…เห็นหรือไม่ว่า เจ้าของคณะ บวกผู้กำกับการแสดงเป็นตำแหน่งที่ยากลำบากกว่าใคร

แต่จะอย่างไรก็ตาม…ฉันก็ต้องทำหน้าที่เพชฌฆาตอันเป็นหน้าที่ที่ฉันถือว่า คือความซื่อสัตย์สุจริตอีกโสดหนึ่งของนักเขียน

คือ เมื่อถึงยามต้องเฆี่ยนตีตัวละครใด…ก็จำใจจำเป็นต้องเข่นเขี้ยวขับเคลื่อนให้พวกเขาไหลเลื่อนไปตามทางที่ฉันปูไว้โดยไม่เห็นแก่หน้าเขาหรือหล่อนหรือเธอคนใดทั้งสิ้น

นอกจากต้องยินดีในพิธีกรรมแห่งการติวเข้มตลอดทางจนกว่าจะจบสิ้นการแสดง

จบแล้วยังต้องเสแสร้ง ‘ให้น้ำ’ พวกเขามิให้นำฉันไปนินทาจนผู้อ่านมาเข้าคิวต่อว่า

เพราะถึงอย่างไร ฉันก็ใคร่ให้ผู้อ่านพอใจในเนื้อหาโครงสร้างที่ฉันสรรหามาปรนเปรออย่างเพียบพร้อมด้วยเหตุและผลจนอวสานอย่างประณีต

 

สำหรับ ‘เมรัยสีกุหลาบ’ นี้ นับเป็นนวนิยายที่ฉันเขียนไปน้ำตาตกไปจนอาจกล่าวได้ว่า มากกว่าเรื่องอื่นๆ เท่าตัว

ก็ไม่ต้องดูอื่นไกล เพียงแค่เสียงคุณนายเอ็ด แล้วตวงเถียง ฉันก็แทบจะจรดปากกาไม่ไหว

เพราะมันก็เรื่อง ‘ขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง’ ทั้งเพก็ว่าได้ แล้วนี่ฉันก็เป็นนักเขียนที่ชอบเขียนคำที่เขียนเขียนกันตั้งแต่สมัยโบราณนานมาซะจังเลย

ดังนั้นจึงขอตอบว่า ก็ฉันเป็นคนโบราณที่บังเอิญอยู่มาได้ย้าวยาวพร้อมคนรุ่นใหม่อย่างไรเล่า

มันก็แค่นั้นเท่านั้นละ

ฉะนั้น ก็ปล่อยฉันไป ปล่อยให้เขียนคำว่า ‘อีกโสดหนึ่ง’ หรือไม่ก็ ‘ร้อยสีพันอย่าง’ รวมทั้ง คำอื่นๆ อีกมาก

รับรองว่า ฉันจะไม่พูดหรือเขียนคำว่า

‘ทุกสิ่งอย่าง’ เป็นอันขาด

ไม่ใช่อะไรหรอกค่าาา…นอกจากว่า…ก็มันไม่ชิน สุดแสนจะ ‘เป็นอะไรที่’ มันไม่ชินอ่ะนะ

เอายังงี้ก็แล้วกัน…ถ้าผู้อ่านก็ไม่ชินคล้ายกัน จะข้ามไปบ้าง จะมิว่ากระไรเลย

 

ครั้นแล้ว ก็ขอย้อนกลับมาเรื่อง ‘ตวง’

แม้จะรู้ซึ้งถึงน้ำใจทุกแง่ทุกมุมของผู้อุปถัมภ์ค้ำชูชีวิตให้เติบใหญ่ขึ้นมา ให้ชายคาหลบแดดหลบฝน มีฟูกปูลาดบนเตียงส่วนตน มีห้องมิดชิดส่วนตัว (ข้างครัว) มีโรงเรียนใกล้บ้านให้ได้หิ้วกระเป๋าไปเล่าเรียน คบหาสมาคมกับเพื่อนฝูง

แต่อารมณ์ไม่เสมอต้นเสมอปลายของผู้อุปการะ ก็ยั่วยุให้ตวงอยากขัดแย้ง

‘เดี๋ยวเถอะ นังตวง เดี๋ยวเถอะ’ คุณนายเอ็ดสวนเข้ามา ‘ว่าอะไรละก็เถียงคำไม่ตกฟากเลย เดี๋ยวเถอะ’

ตวงจึงเงียบเสียงลง พร้อมกับปาเสื้อกางเกงที่รีดแล้วไปตามยถากรรม ปิดไฟขึ้นเตียง

นอนนับสิ่งที่เกลียดอยู่ในใจ

หนึ่ง คนพูดมาก พูดซ้ำซากเรื่องเดียวไม่จบไม่สิ้น

สอง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เอะอะเสียงดังเหมือนใครฆ่ากันอยู่ข้างๆ

สาม ลำเลิกบ่อยๆ ทวงบุญทวงคุณไม่รู้แล้ว

สี่ ทีลูกตัวเองละก็ ทูนหัวทูนเกล้า เอาอกเอาใจสารพัด โทรศัพท์ทางไกลนั่นน่ะเสียเข้าไปเถอะ เท่าไหร่เท่ากัน

อะไรอีกหนอ ตวงพยายามค้นหาความอยุติธรรมของคุณนายออกมานับด้วยความเจ็บใจ

ห้า…รักแม่บุญธรรมผู้นี้ไหม…รักหรือ…ฮือ ฮือ ฮือ

ไม่มีวันเสียละ ไม่มีวันที่ฉันจะรักคุณนายเป็นอันขาด ไม่มีวัน

อ้อ…ห้า ทีกับตัวเองกับผัวละก็ออกไปกินข้าวภัตตาคารทุกมื้อ ปล่อยให้ตวงกินอาหารปิ่นโตกับคนใช้ทุกมื้อ…ไม่เค้ย…ไม่เคยพาเราไปเที่ยว ไปซื้อของ ไปกินข้าวอร่อยๆ ที่ภัตตาคารหรูๆ เลย…ไม่เคยเลย

แม้ไม่มีคนใช้ อาหารเพียบปิ่นโต ตวงก็เบื่อจนอยากเตะปิ่นโตให้กลิ้งนั่นละ

เบื่อกระทั่งได้ยินเสียงปิ่นโตกระทบกัน

นี่ไง…คำบรรยายของฉัน…ที่ฉันจะต้องดั้นด้นไปหามาป้อน จนผู้อ่านหรือมิฉะนั้นก็ผู้ชม จะต้องชวนกันขมขื่นเวทนาเด็กกำพร้าแทนฉัน

เพราะไม่ว่าขณะนี้หรือขณะนั้น ฉันจะต้องบากบั่นให้ทุกสิ่งเป็นจริงเป็นจังสมเจตนาให้จงได้

แต่ต้องเข้าใจหน่อยละกันว่า ฉันไม่ได้ตั้งใจป่วน…เอ๊ย…ตั้งใจปั่นให้มันกลายเป็น ‘เกม’ ดอกนะเจ้าคะ

 

ถ้างั้นก็ไปต่อไป เนื่องด้วยฉันยังไม่เคยให้ภาพผู้คนที่แวดล้อมตวงซึ่งมีอีกหลายคน ที่ช่วยให้องค์ประกอบตัวตนของเด็กกำพร้าชัดเจนเด่นจ้าขึ้นมาอีกมากต่อมาก

องค์ประกอบที่ส่วนใหญ่คือตัวบุคคล

ทั้ง ตุลสี กุมภา แฟนนักเรียนนอกผู้เหินฟ้ากลับจากต่างประเทศหลังจากเรียนสำเร็จด้วยกัน…ครั้นแล้วตวงก็แอบชอบเขาสนใจเขา จนกระทั่งแอบจดเบอร์โทรศัพท์ที่พบเจอในสมุดบันทึกของคุณพี่มาเก็บไว้…

ฝ่ายชายอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่คุณนายปลูกให้เช่าเป็นต้นว่า ปิง บรรทม…ฉันจะไม่เขียนถึง เพราะตวงก็งั้นๆ คบไว้เป็นเพื่อนคุยกับเป็นเพื่อนคลำเนื้อตัวไปวันๆ…ซึ่งฉันก็เหยาะเติมสีสันไว้ให้เด็กกำพร้าพอจะมีอะไรเล่น…ท่ามกลางความประพฤติที่ผิดอีกบางประการ

ดังเช่น ตวงชอบแอบขโมยของของเพื่อนไปจนครูจับได้ ทั้งๆ ก็ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์อันใดเลย

ครั้นตุลสีกลับมาอยู่บ้าน จึงเริ่มสนใจการเรียนและความประพฤติของน้องบุญธรรม

บางวันจึงต้องแอบเข้าห้องตวงเพื่อตรวจสอบ ก็พบจดหมายร่ำรำพันถึง ‘พี่เบิร์ด’

เอ…พี่เบิร์ดนี่ใครกันนะ ตุลสีนิ่งนึก ครั้นแล้วก็นึกขึ้นได้ว่า คงเป็นเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์  นักร้องโด่งดัง เจ้าของเพลง ‘ด้วยรักและผูกพัน’… ‘สบาย’… ‘หัวใจช้ำๆ’ คนนั้นแน่นอน

จดหมายมีใจความว่า

 

‘ตวงอยากพบพี่เบิร์ดมาก อยากฟังพี่เบิร์ดร้องเพลงจนหลับไปเลยละ ยามหลับของตวงเป็นชั่วโมงที่ตวงฝันได้ไงพี่ บางครั้ง ตวงก็ฝันว่า ได้ไปล่องเรือกลางทะเลสีฟ้าใสพร้อมกับหัวใจช้ำๆ เหมือนเนื้อเพลงที่พี่ร้องว่า…ใครจะเคยเห็น ใจนั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่มีคือรักที่ฉันให้เธอ…’

 

เฮ้อ…ตวงเอ๊ย…คุณพี่ตุลสีถอนใจยาวอย่างเอ็นดูแกมเวทนา

เปิดประตูออกไปถามคุณนาย

“แม่ดูสมุดพกตวงมั่งหรือเปล่า มันเรียนได้เกรดอะไร”

“1.5” คุณนายตอบเรียบๆ เพราะยามนี้อารมณ์ร้ายเปลี่ยนไปอีก นึกสงสารลูกบุญธรรมขึ้นมาแล้ว

ฉันเองก็หาสงกาใดๆไม่ เพราะคุณนายเป็นเช่นนี้จริงๆ โดยฉันมิได้ปั้นแต่งแต่อย่างไร

“แต่แม่ก็ต้องพามันออกไปเที่ยวมั่ง…ว่าแต่ว่า…จนป่านนี้ตุลยังไม่รู้เลยว่าแม่คิดจะเลี้ยงตวงในฐานะไหน เลี้ยงอย่างลูก อย่างญาติจนๆ หรืออย่างคนใช้”

“ก็อยากให้แม่เลี้ยงมันยังไงล่ะ” คุณนายกลับย้อนถาม

ทำให้หญิงสาวต้องหันมามองอย่างแปลกใจ

ไม่ต้องแปลกใจไปหรอกน่า คุณพี่…ฉันแอบหัวเราะในใจ

“คนตั้งคนนึงนะแม่”

ก็ตั้งคนนี่ละ…บางพ่อแม่บุญธรรมถึงได้ถูกตราหน้าว่าขอเด็กไปทรมานยังไงล่ะ

แต่ไม่ใช่ฉันหรอกนะ หนูตุล ที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการไปหาเด็กมาเลี้ยงนี่น่ะ…แม่ของเธอเองทั้งเพ…ฉันห้ามนะจ๊ะหนู…14 ปีก่อน ฉันนี่เองวี๊ดกับคุณนาย แต่หนูก็รู้ แม่ของหนูนิสัยยังไง

“ก็ตอนนั้น แม่มันยังไม่เป็นกะหรี่นี่” คุณนายกล่าวแก้เรื่อยไปอย่างผู้ไม่ยอมจำนนใครง่ายๆ

“แล้วตอนนี้ เฉลียวเป็นยังไงมั่งคะ”

“มันก็…” คุณนายอึกอัก ไม่อยากให้ลูกได้รับรู้เกี่ยวกับผู้คนที่ทำตนตกต่ำ “ยิ่งแย่กว่าเมื่อก่อนอีก”

“แล้วแม่รู้ได้ไงว่าเขาเป็นพรรค์นั้น” ลูกสาวผู้มีการศึกษาซักไซ้อย่างต้องการเหตุและผลซึ่งคุณนายไม่เคยมี

เป็นเหตุให้คุณนายเริ่มหน้าบึ้งอีกหน ตามวิสัยอารมณ์ขึ้นๆลงๆสม่ำเสมอ

ตุลสีก็เลยบอกว่า

“อยากคุยกับครูประจำชั้นของเค้ามั่ง”

ฉันกะเกณฑ์อยู่ลับๆ ลึกๆ ทีเดียวที่จะปั้นแต่งให้ลูกสาวคุณนายผิดจากมารดาไกลพอที่จะช่วยให้เกิดเหตุการณ์อันเนื่องจากความคิดของผู้มีการศึกษา เข้ามาแก้ไขข้อขัดข้องของตัวละครเอกได้บ้าง

เพื่อจูงไปให้พบปะกับอาจารย์ศรีสมัย

“อยากรู้รายละเอียดสักหน่อยว่า ที่โรงเรียนตวงเป็นยังไง กับเพื่อนฝูงล่ะ เขาเคยพาเพื่อนมาบ้านมั่งหรือเปล่า”

“ไม่เคย”

“คงกลัวแม่ด่าเจ็บๆ แสบๆ ใส่หูเพื่อนมั้ง” ลูกสาวดักคอ “เด็กมันมีความรู้สึกว่าแม่ไม่ใช่แม่แท้ๆ มันก็อายนั่นแหละ…ว่าแต่ว่า…แม่ทราบไหมว่า ตวงเบื่อเรียนเพราะอะไร”

“เพราะอะไร” คุณนายถามงงๆ

“เพราะเขาไม่ใช่ลูกของแม่” ตุลสีเองก็สงสารตื้นตัน

หากเธอก็แอบขอบคุณฉันลับๆ

‘คุณช่วยใส่บทบาทแบบนี้ให้ตุลนี่ ตุลดีใจมาก ทราบไหมคะ เพราะเกิดมาเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ตามใจ ยังนึกไม่ออกเลยว่าตัวเองสามารถจะเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ขนาดนี้’

ฉันก็เลยบอกหล่อนอย่างปรานี

‘ที่จริงก็เป็นหน้าที่ฉันแท้ๆ นะหนูตุล เป็นหน้าที่ที่ฉันจะต้องแจกบทดีๆ บทที่ยกย่องความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้นมา…เพื่ออะไร…หนูรู้ไหม…ก็เพื่อให้คนดีอย่างหนูเป็นตัวอย่างให้คนไม่ดีทำตามไงล่ะคะ”

‘นั่นยิ่งทำให้ตุลซาบซึ้งใจที่สุด’

‘หนูรู้ไหมว่า ฉันเองก็ขอบใจที่มีตัวละครอย่างหนู’

เห็นไหม…ฉันก็ทำดีกับตัวละครได้เนี้ยบไม่เลวเลยนา

เพียงแต่อย่าดีใจจนตัวลอยยอมให้เขาหรือหล่อนมาแอบเห็นฉันหลิ่วตาพร้อมยิ้มกริ่มใจอยู่ ‘หลังม่าน’ ละกัน

 

ในที่สุด ตุลสีก็ได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษานามว่าศรีสมัย

ครูผู้นี้เป็นครูดี

ครูคนไหนไม่ดี ฉันคัดออกไป ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของฉันโดยเด็ดขาด

เพราะครูไม่ดีมีโอกาสป่วนเด็กจนเป็นโรคจิตยิ่งกว่านี้

อาจารย์ศรีสมัยนี่ก็เรียกได้ว่าคือครูดีแล้วนะ ยังเอาไม่อยู่

เธอเชื้อเชิญตุลสีเข้าไปในห้องพักครูเพื่อจะหารือกันเป็นการลับ

ฉันบรรยายไว้อย่างนี้

‘ตุลสีนั่งลงตรงกันข้ามพลางมองไปรอบๆ ห้องสี่เหลี่ยม สมัยหน้าโน้น ที่คอมพิวเตอร์มีบทบาทมากขึ้นจนถึงกับใช้หุ่นคอมพิวเตอร์เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาได้ ชีวิตผู้คนจะผันแปรไปเช่นไร ความคิดอ่านของเด็กรุ่นหลังจะเห็นว่ามนุษย์คือสัตว์โลกชนิดไหน ชนิดเลิศขนาดเหาะได้หรือต่ำทรามจนทำอะไรก็ทำได้

ไม่ยึดถือความเลวอีกหลายอย่างว่าเป็นความเลว

หนังสือและตัวอักษรจะหายไปไหม…หรือว่าจะมีใครคิดตัวอักษรชนิดใหม่ที่ไม่ต้องสะกดยุ่งยากอย่างทุกวันนี้

“ดิฉันเป็นพี่ของตวงค่ะ อยากมาคุยกับอาจารย์บ้าง เพราะตอนนี้กำลังว่าง ยังไม่ได้ไปทำงานค่ะ ซึ่งอาจจะว่างอยู่อีกเป็นเดือน ก็เลยคิดว่าเอาช่วงเวลานี้มาดูแลน้อง”

อาจารย์ศรีสมัยวัยสามสิบเศษ มีครอบครัวแล้ว อาจจะเข้าใจบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือจากเตรียมการสอนได้ดี…ตุลสีหวังไว้เช่นนั้น

“คุณแม่เคยโทรศัพท์มาเหมือนกัน…คือการเรียนของตวงนี่ยิ่งแย่ลงนะคะ ตอนอยู่ประถมก็ว่าแย่แล้ว แต่พอขึ้นมัธยมยิ่งแย่กว่าเก่า…แล้วก็…มีเรื่องกับเพื่อนสองสามครั้งนะคะ ครั้งแรกที่คาดผมของเด็กคนนึงหาย…เป็นกระ-คุณแม่เขาซื้อจากอินโดนีเซีย เขากลัวคุณแม่ดุก็เลยต้องบอกครู ครูจำเป็นต้องค้นตามกระเป๋า ก็ไปเจออยู่ในกระเป๋าตวง”

ใจผู้ฟังหายวับ หน้าซีด

“แหม…ขายหน้าจังเลย”

“แต่เด็กก็ไม่ใช่ลูกคุณแม่ไม่ใช่หรือคะ”

ฉันกระซิบให้ครูลองใจ

พลางก็บอกบทให้ตุลสีตอบ

“ไม่ใช่ก็เหมือนใช่ค่ะ…คือเราเลี้ยงแกมาอย่างลูกอย่างน้องเลยนะคะ ถ้าไม่อยากเลี้ยงดีก็คงไม่ส่งมาเข้าโรงเรียนราษฎร์ขนาดนี้” หากก็แถมท้าย “อีกเรื่องก็มีอยู่ว่า คุณพ่อดิฉันไม่ชอบเด็กเท่านั้นเองค่ะ ที่ไม่ยอมให้ใช้นามสกุลก็เพราะกลัวเด็กประพฤติเสียหายมาถึงครอบครัว”

เฮ้อ…โล่งอกไปทีที่จาระไนออกมาเสียได้ทั้งๆ ยังเหลืออีกหลายเรื่อง

ประเทืองปัญญาและอารมณ์จนนักเขียนต้องเอนตัวลงนอนหลับตา

เรื่องนี้ยากจนเกินกว่าใครจะเข้าใจ

แต่ฉันก็เพียรดั้นด้นมาจนได้

โดยให้ตุลสีถามอาจารย์

“คิดว่าดิฉันควรทำยังไงดีคะ…เขาก็ไม่ใช่หมาแมวเสียด้วย จะได้เอาไปยกให้คนอื่นต่อ”

“ถึงเป็นหมาแมวก็ยังยกไม่ได้เลยค่ะ”

ฉันจึงค้นเอาจิตวิญญาณครูดีมาตอบคำ

“เด็กขาดรักนี่มีทางเสียหายรออยู่ทุกรูปแบบเลยนะคะ” อาจารย์ศรีสมัยตอบ

เด็กขาดรัก…อื้อฮือ…ฉันเขียนเอง วาดภาพเองยังสะท้อนสะท้านไปถึงไหนๆ

ตุลสีเองก็เคยถึงกับน้ำตาคลอมิใช่หรือ เมื่อได้เห็นแววตาแห้งผากแล้งเข็นของเด็กขาดรักจากภาคพื้นต่างๆของโลกทางโทรทัศน์ เด็กที่ขาดทั้งอาหารและความเยื่อใยยินดี ซึ่งถ้าใครคิดเอาเด็กเหล่านี้เป็นเครื่องมือหาทุน ก็คงไม่ยากที่จะประสบความสำเร็จจากทุกทิศทุกทาง

ฉันก็เลยได้แต่ภาวนา ขอให้มีคนอย่างแม่ชีเทเรซามาเกิดใหม่อีกสักคนหรือหลายคน

ทั้งๆที่เห็นหัวอกผู้ใจบุญทั้งหลายเป็นที่สุด ที่จะต้องเหนื่อยยากทั้งกายและใจในการฟื้นฟูชีวิตนับแสนนับล้านดวงที่กำลังรอคอยการโอบอุ้มอย่างนุ่มนวลสุนทรีย์ โดยไม่มีสิ่งแปลกปลอมมาล้อมรั้วไว้

‘ตวง…แกระวังตัวให้ดี’   เสียงคุณนายก้องมา เป็นเสียงที่ฉันสั่งอยู่ ‘หลังม่าน’ เช่นเคย ‘ขโมยของเพื่อนในโรงเรียนก็ยังพอทำเนา ถ้าแกริอ่านขโมยของตามร้านละก็ ระวังไว้ให้ดี ชั้นไม่ไปประกันให้เสียเกียรติหรอกนะ ปล่อยให้ติดคุกคิดตะรางไปซะ จะได้หมดเรื่อง’

อันเรื่องที่คุณนายว่านั้น มันเกิดจาก ‘ตัวการ’ คือ ฉันโดยแท้

แต่จะทำยังไงได้…ในเมื่อฉันจับตัววางตายให้ฉันเองเป็นคนบัญชาการให้ ‘ตัวละคร’ ทำนั่นทำนี่อีกยาวเหยียด

ดังนั้น ‘มือเจ้ากรรม’ บวกใจอันเคียดแค้นของตวงจึงเอาแต่ดิ้นรน…ยิ่งว่ายิ่งยุ…ครั้นแล้ว จึงหยิบทอฟฟี่จากร้านใส่ถุง หนีบบางอันติดไว้กับอุ้งนิ้วหัวแม่มือ

เพียงแต่พนักงานขายหันไปตอบคำถามเพื่อนที่เดินมาจากอีกฝ่าย ตวงก็ส่งท็อฟฟี่หลายอันแผล็บเข้ากระเป๋ากางเกง แล้วทำทีเลือกชนิดนั้นชนิดนี้ยุ่งเหยิง

“อ้าว…น้อง…น้อง” พนักงานขายที่อยู่ตรงกันข้ามส่งเสียง พร้อมกับเดินเข้ามาจับข้อมือ “น้องเอาอะไรยัดกระเป๋ากางเกงน่ะ”

“เปล๊า…ไม่มี” ตวงตอบหน้าตาเฉย แบมือสองข้างให้ดู

“ไม่มีได้ไง เห็นอยู่แหมบๆ ว่าเอาท็อฟฟี่ใส่กระเป๋านี่นา…ไหน…” ว่าแล้วคนพูดก็ลูบกางเกงตรงช่วงกระเป๋าโดยเร็ว จับก้อนกลมๆ สองสามก้อนในนั้นไว้ “นี่ไง ล้วงออกมา ถ้าไม่ล้วง จับส่งตำรวจนะ”

นั่นแหละ ตวงจึงค่อยๆ ควักท็อฟฟี่สามก้อนออกจากกระเป๋ากางเกง วางลงบนมือพนักงาน

“ทำไมน้องทำแบบนี้”

ดูเอา…พนักงานขายยังต้องถามด้วยความสงสัย

“รู้หรือเปล่าว่าถ้าเขาเอาเรื่อง มันต้องถึงตำรวจนะ ถึงจะเป็นของเล็กๆ น้อยๆ ก็เถอะ”

ตวงไม่ว่ากระไร แต่รีบผละจากตรงนั้นทันทีท่ามกลางเสียงโจษจัน

“หน้าตาดี๊ดี แต่แอ๊ปหรือเปล่า เห็นเหม่อๆ”

เห็นไหม…ตวง…ใครๆ เขาก็กังขากันทั้งนั้น

“ขอภาวนาอย่าได้อุตริไปหยิบของห้างอื่นเล้ย” เสียงใครคนหนึ่งว่า

ฉันก็เลยรีบบอกบทให้ตวงรีบวิ่งออกจากประตูกระจก

ได้ยินเสียงเด็กกำพร้าฮึ่มฮั่ม

“คุณทั้งนั้นเลย…ทำหนู…คุณนายเต็มใจที่ว่าร้ายๆ แกยังมีดี…ไม่เหมือนคุณเล้ย…แสบทั้งเมื่อนี้และเมื่อหน้า”

“โอ๋…โอ๋…โอ๋ ตวงเอ๊ย ตวงน่ะ ไม่รู้อะไร โชคดีเท่าไหร่แล้วที่ได้มาเป็น ‘ตัวละครของฉัน’ นี่น่ะ”

แค่นี้ฉันก็เหนื่อยยากกับการขับเคี่ยวเธอเต็มประดา…ฉะนั้น จะเอายังไงก็ว่ามา

จะได้ไขข้อกังขาในชื่อ ‘เมรัยสีกุหลาบ’ ว่าคือฉันใดให้ผู้อ่านได้รู้จัก

หยุดพักกินน้ำกันสักหน่อยดีกว่าไหม ฉันจะได้มีกะจิตกะใจบอกบทให้เธอแสดงต่อไงล่ะ

“ได้เลย…คุณ…เอาเลย…หนูชอบ ชอบคนตำน้ำลายให้เป็นน้ำกรด ตำน้ำกรดให้เป็นน้ำตาเช็ดหัวเข่า”

ฉันก็เลยชกแขนเด็กกำพร้าเบาๆ อย่างมันเขี้ยวแกมเปรี้ยวนิดๆ ขมหน่อยๆ

Don`t copy text!