“ไฟทะเล” เรื่องของ ‘ชับ’ และ ‘สิชล’

“ไฟทะเล” เรื่องของ ‘ชับ’ และ ‘สิชล’

โดย : กฤษณา อโศกสิน

“หลังม่าน” คอลัมน์ที่จะบอกเล่าถึงชีวิตของตัวละครเด่นๆ ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน เป็นเรื่องราวเบื้องลึกที่มีแต่นักเขียนเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ และนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านชาวอ่านเอาได้เห็นชีวิตด้านหลังม่านของตัวละครเหล่านั้น

 

นวนิยายเรื่อง ‘ไฟทะเล’ นี้ปรากฏตัวขึ้นเมื่อพ.ศ.2525-2526 โดยได้ลงพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย ในนามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ สำนักพิมพ์เพื่อนดีเป็นผู้จัดการรวมเล่มให้ทั้ง 2 ครั้ง จึงเมื่อพิมพ์ครั้งที่สองในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 แล้ว ก็มิได้พิมพ์ใหม่อีกเลย แม้ว่าเรื่องนี้จะได้รับเกียรติให้เป็น ‘นวนิยายรางวัลดีเด่น ประจำปี 2531 จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ’ ก็ตาม

ในความรู้สึกของฉัน คิดว่า อาจเป็นเพราะเรื่องราวในเล่มค่อนข้างไกลห่างจากความคุ้นเคยชิดใกล้กับชีวิตทั่วไปอย่างมากก็เป็นได้ แม้ว่างานเกี่ยวกับเกษตรกรรมทุกประเภทจะคือหัวใจสำคัญ เป็นฟันเฟืองเรื่องใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยากนักที่คนส่วนใหญ่จะได้สัมผัส

เมื่อมาถึงบัดนี้ที่การประมงและรายละเอียดของท้องทะเลอาจผันแปรไป แต่พื้นฐานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ ฉันก็เลยได้แต่รู้สึกดีที่คิดทัน นำเอาผลงานในน้ำเขียวครามมาจดจารเป็นการแสดงจนได้ขึ้นเวทีกับเขาเล่มหนึ่ง

เล่มที่มีพระเอกและนางเอกเป็นชาวบ้าน ถ่ายทอดงานเกี่ยวกับคน ปลา และสัตว์น้ำบรรดามีที่ว่ายเวียนอยู่กลางอ่าวไทยได้ลึกพอสมควร

ก่อนอื่นก็ต้องชวนผู้ชมมารู้จักกับชับและสิชล ตั้งแต่เขาและหล่อนยังง่วนทวนบทอยู่ ‘หลังม่าน’

“หวังว่าเธอจะไม่ประหม่าเกินไปนะชลนะ” ฉันถามนางเอกอย่างเอ็นดู ขณะที่พระเอกยังคงทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำท่าเหมือนมีดีไม่ง้อใคร เดินไปเดินมา ทักคนนั้น หัวเราะกับคนนี้ คล้ายจะช่วยให้ผู้กำกับหายห่วง

ฉันก็เลยหยอกยั่วเขาเพื่อให้ตัวเองหายเกร็งลงไปบ้าง

นั่นก็เนื่องด้วยฉันเองก็ว่างวายจากการไปทะเลนานพอดู…ไม่รู้เหมือนกันว่า ป่านฉะนี้จะเป็นไฉน…ทั้งคนขายคนซื้อบริเวณท่าขึ้นปลา

แต่ก็เอาละนะ…เดินตาม ‘ไฟทะเล’ ฉบับเดิมคงดีกว่า

อันว่าชับผู้นี้…ที่ฉันคัดเฟ้นมาได้ในตำแหน่งพระเอก ก็คือ ชายหนุ่มผิวคล้ำ ไว้หนวดเล็กเรียวบนริมฝีปาก

คือลูกน้ำเค็มอย่างแท้จริง เพราะเป็นลูกชายของนางชุน นายทุนใหญ่แห่งหมู่บ้านชายทะเลแห่งหนึ่ง มีเมียแล้ว แต่ก็เลิกกันไป มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง แต่อยู่กับแม่ของเด็ก

‘เลยไม่มีใครกล้าเป็นลูกสะใภ้ยายชุน คนที่เลิกกันไปก็เพราะอยู่นี่ไม่ไหว’  วงนินทาย่อความไว้เพียงนั้น ‘ยายชุนแกชอบคนมีเงิน คนจนๆน่ะ แกไม่มีวันมองให้เสียสายตา ลูกแกทำประมงหมดเลย มีเรือคนละลำ ออกทะเลทุกคน ออกทีก็ได้อย่างต่ำๆสิบกว่าหมื่น อียายแม่ก็คอยแต่จะตั้งโต๊ะกดราคาปลา’

มีผู้คนคอยนินทาลับหลังนี่ก็ดีไปสิบอย่าง

ช่วยให้เล่าได้ครบภายในไม่กี่บรรทัด

‘ฉันไม่อยากขายเรือให้มันก็ยังงี้แหละพี่ มันคอยกดราคาเรือเราไง แล้วหักเงินไปทั้งต้นทั้งดอก…เรือหกหมื่นกึ่ง อาจกดเหลือห้าหมื่น คิดแล้วถ้าขายมัน อย่างดีก็เหลือแค่สามสี่หมื่น’ น้องสะใภ้ของนางบัวเผื่อน แม่ของสิชลเล่าความ นางกับสิชลก็ได้แต่นั่งฟัง

นางบัวเผื่อนเพิ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ มาเผาศพน้องชายที่มีอาชีพเป็นชาวประมงในชุมชนชายทะเลแห่งนี้ จึงพาสิชลมาด้วย ทำให้ได้พบชับกับแววตากรุ้มกริ่มของเขา

หากก็ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเขาว่า…ชับมีเรืออวนดำสองลำ เรือไดหมึกหนึ่งลำ

“เรือไดหมึก” สิชลทวนคำ “เป็นไงคะ ไดหมึก”

“ไดนี่ย่อมาจากคำว่า ไดนาโม-หมายถึงเครื่องปั่นไฟไงฮะ…หมึกนี่ เราต้องใช้ไฟล่อมัน มันถึงจะขึ้น…เหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟยังไงยังงั้นแหละ…สมัยก่อน เขาใช้ตะเกียงเจ้าพายุ…แต่สมัยหลัง การประมงพัฒนาขึ้นก็เปลี่ยนเป็นเครื่องปั่นไฟ”

นางเอกฟังพระเอกบรรยาย ทั้งๆก็ไม่รู้ดอกว่าเครื่องปั่นไฟหน้าตาเป็นอย่างไร

น้องสะใภ้นางบัวเผื่อนชื่อนางเอื้อม กะจะขายเรือที่มีอยู่ลำหนึ่งให้พี่สะใภ้ ไม่อยากขายให้นางชุน แม่ของชับ นางก็เลยคร่ำครวญให้อีกฝ่ายรับรู้ เป็นความรู้เกี่ยวกับเรือและการไดหมึก

“ฉันนี่มันแย่ไง พี่เผื่อน ไต๋รับจ้างก็หายาก เราไม่มีลูกชาย ถ้ามีเหมือนยายชุนก็คงหมดปัญหา พ่อตายก็ให้ลูกทำแทน นี่ไอ้ลูกน้องสามคนมันก็ช่วยเอาเรือออก แต่ไม่รู้ว่าออกไปแล้วจะได้หมึกพอโสหุ้ยไหม เลยตัดสินใจไม่เอาละ จอดเรือไว้เฉยๆงั้นแหละ”

นางหมายถึงไต้ก๋งซึ่งเป็นผู้คุมเรือ ส่วนมากแล้วเจ้าของเรือกับไต้ก๋งจะเป็นคนคนเดียวกัน ไต้ก๋งจะต้องเป็นผู้ชำนาญการดูปลา เป็นผู้สั่งงานทุกอย่างในเรือ ถ้าเป็นเรือ ‘ไดหมึก’ อย่างเรือของนางเอื้อม ไต้ก๋งจะควบคุมการหรี่ไฟและการยกยอตลอดเวลา

ระหว่างที่กำกับการแสดงเรื่องนี้ ฉันยอมรับทีเดียวว่ารู้สึกเกร็งมากกว่าเรื่องอื่นเท่าตัว

หากพร้อมกันนั้น ฉันก็ได้แต่ขอบคุณเส้นทางที่พาฉันเข้าไปสู่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงทำให้ได้สัมผัสเรื่องราวเกี่ยวกับการหาปลาในทะเลได้ค่อนข้างแลเห็นภาพ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างชับและสิชลก็ดำเนินไปอย่างทันอกทันใจใครบางคน เป็นต้นว่า นางบัวเผื่อนผู้มารดา เนื่องด้วยนางไม่สามารถยอมรับเนตรผู้มาติดพันสิชลก่อนหน้านี้ได้

นางบอกลูกสาวเสมอว่า ‘ความรักอย่างเดียวกินไม่ได้’

ครอบครัวของสิชลยังต้องการส่วนประกอบอีกมากมายมาเกื้อกูล

หญิงสาวจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป…เหมือนคนเล่นว่าวที่กำลังจะสาวว่าวลงโดยไม่ให้ว่าวตัวนั้นถึงกับรู้สึก

ครั้นมาพบเจอหนุ่มล่ำบึ้กผิวคล้ำ ฐานะดี หนุ่มก็มีทีท่าว่าเล่นด้วยตั้งแต่นาทีแรก สิชลก็เลยต่อปากต่อคำกับเขา

ทั้งๆผู้ชายคนนี้ก็ค่อนข้างเจ้าชู้เช่นกันกับเนตร

แต่เนตรนั้น ทั้งเจ้าชู้ ทั้งใจแคบและฐานะไม่ดี

อื้อฮือ…ผู้กำกับเองยังต้องครางในใจ

 

คำว่า ‘ชาวประมง’ ในพ.ศ.2524 นี้ บางคนก็อาจเป็นหนุ่มมีปริญญาหรือประกาศนียบัตรอะไรสักอย่างเหมือนกัน พูดจาหรือก็คมคายทันสมัยทันโลก รอบรู้ด้านเศรษฐกิจการเมือง วิจารณ์นักการเมืองกันได้เป็นฉากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงที่เป็นทั้งเจ้าของเรือและไต้ก๋งด้วย

“ผมทำอวนดำ”ชับเล่าให้สิชลฟังต่อเนื่องกันไปตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ที่สองแม่ลูกยังพักพิงอยู่ที่บ้านน้องสะใภ้หลังจบงานศพน้องชาย…พร้อมกับค่อยๆเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพชาวประมงให้นางเอกฟัง มีนางบัวเผื่อนเป็นลูกคู่ เพราะตั้งใจจะปะเหลาะชับไว้เพื่อประโยชน์ในการขายเรือของนางเอื้อมให้นางชุนแม่ของเขา “เพราะงั้น…เราออกไปทีๆอย่างต่ำก็ต้องสี่ห้าวัน ต้องลากอวนให้ได้ปลาเต็มลำถึงจะกลับ ไม่งั้นไม่คุ้มกับโสหุ้ย…อย่างไดหมึกนี่ ค่าโสหุ้ยน้อย คนเรือน้อย วันๆถ้าได้สักยี่สิบโลก็พออยู่ได้แล้ว แต่อย่างน้อยก็ต้องไม่ต่ำกว่าสิบโลนะฮะ”

แต่นั่นคือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว…ที่ ‘ไฟทะเล’ เพิ่งเกิด

นอกจากคุยเรื่องอาชีพแล้วยังคุยถึงเรื่องส่วนตัวอย่างเปิดเผย

ทำให้สิชลได้รู้ว่าเขาเคยมีภรรยาคนหนึ่ง แต่เลิกกันไป มีลูกชายด้วยกันอายุ 7 ขวบ ภรรยาพาติดไปด้วย ทุกวันนี้จึงมีหน้าที่ส่งเสียเลือดเนื้อผู้พลัดพรากจากไกลพร้อมกันไป

“เดือนหนึ่งก็เอาเงินไปให้หนหนึ่ง พาลูกออกมาเที่ยว…”

พร้อมกันนั้น เขาก็กะจะไปกรุงเทพฯพรุ่งนี้พร้อมสิชลและนางบัวเผื่อน

ก่อนกลับบ้าน สิชลจึงมีโอกาสได้พบกับภาพสะพานปลาอันสว่างไสวยามเช้ามืดราวกับกลางวัน ได้เห็นนางชุนแม่ของเขากับน้องชายชื่อชิน แต่คนที่ชื่อชัน ออกเรือไปยังไม่กลับ

ภาพลานซีเมนต์แห่งสะพานปลาดูเอะอะโกลาหล เสียงลูกเรือขนปลาขึ้นที่โน่น…ตรงที่หล่อนและเขาเดินชมฟ้ามืดเมื่อคืนที่สะพานยังว่างเปล่า…แต่บัดนี้เต็มไปด้วยผู้คนขวักไขว่ เรือใครเรือมัน น้ำจากหลัวบรรจุปลา ไหลลงเปียกเลอะเต็มไปหมด

มีโต๊ะเล็กๆสี่ห้าโต๊ะตั้งอยู่หน้าห้องกรรมการสะพานปลาชิดทางเดิน ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ซื้อปลาจากเรือประมงซึ่งเป็น ‘ลูกหนี้’ ของตัวโดยจดจำนวนน้ำหนักปลาทุกหลัวที่ตนเหมา

ชับแลเห็นหล่อน จึงเดินข้ามมาหา พร้อมกับเล่าถึงน้องอีกสองคนของเขาอย่างคร่าวๆ

บอกกล่าวถึงกรรมการสะพานปลาซึ่งคอยคุม ‘หัวกิโล’ จากแม่ค้า กับเก็บเงินจากรถที่เข้ามาบรรทุกปลา

สีเงินจากตัวปลาในหลัวที่เข็นออกไปดูแวววาวราวเครื่องเงินเนื้อดีที่เพิ่งขัดสีฉวีวรรณ นัยน์ตาปลายังคงสดใสแจ๋มแจ๋ว มันนอนทับถมกันมาในหลัว ดูราวกับบางตัวยังไม่ตายสนิทเสียด้วยซ้ำ หมึกก็เช่นกัน เนื้อตัวมันมีทั้งขาวสะอาดตรงส่วนท้อง ดำตรงลูกตา น้ำตาลเรื่อตรงหลัง มีทั้งเล็กจิ๋วและใหญ่เกินฝ่ามือ

“หมึกนี่มีกี่อย่างคะ” สิชลก็เลยถามเขา “เห็นบางตัวก็เล็กกะทัดรัด บางตัวก็ใหญ๊ใหญ่”

“ที่เราจับๆกันทุกวันนี้ ส่วนมากเป็นหมึกกล้วยฮะ…รองลงมาก็หมึกหอม…ส่วนที่ไม่ค่อยมีก็คือ หมึกกระดอง หมึกกระดองลาย หมึกสายอะไรพรรค์นั้น…หมึกกระดองนี่ ต่างกับหมึกกล้วยก็ตรงที่มันมีกระดองไงฮะ หรือที่เราเรียกว่า ลิ้นทะเล เอามาผสมกับเครื่องยาไทยยาจีนรักษาโรค คุณเคยเห็นลิ้นทะเลไหม บางคนเขาเอามาขูด ทาแก้สิวก็มี”

“ค่ะ เคยเห็น”

“นั่นแหละ เขาเอามาจากกระดองของหมึกกระดอง”

อันว่าเรื่อง ‘ไฟทะเล’ นี้มิใช่จะกำกับง่ายสักเท่าไร เนื่องด้วยนักแสดง…แม้จะพูดคุยด้วยไม่ยาก แต่มักลำบากพอใช้ยามต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพประมง…เนื่องจากชวนให้งงมิได้เว้น โดยเฉพาะนางเอก มักไม่ค่อยเป็นไปตามบทสักเท่าไร บางครั้งก็ชักสีหน้าว่าเข้าใจยาก จนฉันต้องคอยประเล้าประโลมอยู่ ‘หลังม่าน’ ก่อนปล่อยเข้าสู่บางฉาก

หากโดยรวมๆแล้วก็ยังไปต่อได้ไม่ยากนัก

เมื่อถึงคราวที่ชับพาสิชลไปแนะนำให้นางชุนรู้จัก

“สะพานปลานี่คึกคักนะคะ” ฉันให้น้ำจนนางเอกปราศรัยอย่างไม่ไหวหวั่น นัยน์ตาคมของอีกฝ่ายที่สำรวจหล่อนอย่างไม่เกรงใจ มองไล่ไปตามคอ นิ้ว…จึงพบแต่แหวนเงินสองสามวงกับกำไลเงินชาวเขาแค่นั้น “ไม่เคยเห็นสะพานปลาตอนเช้ามืดเลย เพิ่งเห็นนี่แหละค่ะ”

แต่ในที่สุด ชับก็รับสองแม่ลูกไปกรุงเทพฯ ซึ่งช่วยให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างรวดเร็วทันใจ

เขาจึงได้รับรู้เพิ่มขึ้นอีกด้วยว่า สิชลเรียนจบจากพาณิชย์การแล้วไปเรียนประดิษฐ์ดอกไม้ ไปทำงานกับบริษัทที่เขามีญาติเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า แล้วลองประดิษฐ์ดอกไม้ไปให้เขาดู เขาพอใจว่าสวยก็เลยสั่งกันมา จนเดี๋ยวนี้ก็ช่วยให้หล่อนอยู่ได้

ฝ่ายเขาจึงบอกว่า

“แต่ผมคงอยู่กับทะเลจนตาย”

ชับพาหล่อนกับนางบัวเผื่อนไปส่งถึงบ้าน จึงได้เห็นว่าครอบครัวของหล่อนเป็นคนระดับกลางค่อนไปทางล่าง พ่อเป็นหัวหน้ายามโรงแรมใหญ่ ลูกแต่ละคนต้องช่วยตนเอง ฉะนั้นก็คง ‘ง่าย’ สำหรับเขาที่จะติดตามพัวพันกับหล่อนต่อไป

นายแปรง พ่อของสิชลจึงบอกชับว่า เมื่อก่อนตนเองก็เคยทำประมง

“แต่มันไม่ใช่ง่าย เลยมาอยู่ที่นี่เขามีสวัสดิการ เงินเดือนพออยู่พอกิน ดีกว่าออกไปเสี่ยง”

“ครับ…งานทะเลเป็นงานเสี่ยง เครื่องมือเครื่องไม้ต้องทันสมัย ไม่งั้นหาปลาไม่ทันเขา”

“เดี๋ยวนี้ เครื่องหาฝูงปลาคงช่วยได้มากซีนะคุณ”

“ครับ…โซนาร์ช่วยได้มาก แต่ถ้าเรือไม่ใหญ่จริงก็ไม่มีปัญญามีเหมือนกัน มีแต่ซาวน์เดอร์แค่นั้นพอ”

เมื่อกำกับมาถึงตรงนี้ จึงนึกขึ้นได้ว่าตัวเองก็ลืมโซนาร์ ซาวน์เดอร์ ไปหมดแล้วว่ารูปร่างหน้าตาเป็นฉันใดเช่นกัน

 

สิชลเป็นหญิงที่มีพี่น้องหลายคน บางคนก็ไม่เอาถ่าน ดังเช่นระนอง พี่ชายคนโต…แล้วก็ตามเคยของพ่อแม่หลายรายที่ฉันเคยสังเกตเห็น ครั้นแล้วจึงรู้สึกไม่ชอบใจ

นี่ก็เช่นกัน นางบัวเผื่อนเข้าข้างลูกคนโตจนหันมารังแครังคัดเอากับสิชลผู้เป็นลูกคนรองตลอดมา

ดังเช่น

‘อีนังนี่ละก็’ นางเน้นปากเน้นฟันพึมพำลับหลัง ‘แม่รีแม่แรดนัก…เผลอไม่ได้…เผลอทีไรกลายเป็นพี่สาวใหญ่ทุกที’

‘พ่อให้ท้ายมันนี่’ พี่คนโตว่า

แม่ก็เลยปลอบลูกชาย

‘อย่าไปเถียงกะมันเลยลูก ปล่อยให้มันใหญ่โตคับบ้านไปเถอะ’

‘ไอ้หมอที่เพิ่งมาใหม่นี่ ดูท่าคงรวยไม่ใช่เล่นมังแม่’ ระนองก็เลยถามอย่างสนใจ

‘โอ๊ย…รวย’ นางบัวเผื่อนก็เลยส่งเสียงลึกไปถึงไหนๆ ‘ไม่ใช่รวยน้อยๆด้วยนะ…รวยมาก…ถ้าชลได้กะเขาก็สบาย เสียอย่างเดียว อีนางแม่มันเค็ม’

ครั้นแล้วชับก็มาอีก ซื้อของกินมาฝากคนทั้งบ้าน มานั่งคุย ขณะที่นางบัวเผื่อนก็ได้ช่อง ฝากระนองไปทำงานในเรือประมงของพระเอก

แต่สิชลรู้นิสัยจับจดของพี่ชายเป็นอย่างดี จึงเอ่ยเชิงเกรงใจ

“เชื่อเถอะน่าแม่…พนันตัดหัวกันเลย พี่นองลงเรือคืนเดียวก็ร้องโอ๊กแล้ว”

นางเอกของฉันเรื่องนี้ก็แข็งไม่เลว…คือถ้าไม่แกร่งเก่งทั้งกายและใจ การอยู่อย่างดีปานกลางก็อาจจะอยู่ไม่ได้…เพราะพ่อแม่ไร้ฐานะที่จะพยุงครอบครัวที่มีลูก 5 คน นามว่า ระนอง สิชล นคร พังงา ตรัง โดยตั้งชื่อตามเมืองที่ครั้งหนึ่ง นายแปรงเคยเร่ร่อนไปเป็นลูกเรือประมงที่เมืองดังกล่าว

แต่ชับไม่พลอยคล้อยตาม ตรงกันข้าม เขาใส่หัวใจพระเอกเต็มร้อย โดยบอกทุกคนว่า

“ไม่เป็นไร ผมรับรอง จะเป็นพี่เลี้ยงให้ ไอ้เรื่องความลำบากในเรือนี่ ก็เหมือนความลำบากบนบกนั่นแหละฮะ…บนบกบางแห่ง มันก็ลำบากมากเหมือนกัน แต่อยู่ไปนานๆมันก็จะชินไปเอง ลูกน้องผมบางคนก็ยังเมาคลื่นอยู่พักนึงเหมือนกัน ทั้งๆก็เป็นคนน้ำเค็มนี่แหละ…ว่าแต่ว่า…คุณน้าจะให้น้องไปกับผมเลยไหม”

นั่นเอง นางบัวเผื่อนก็เลยตกลง แต่ตนเองขอไปด้วย ไปส่งลูกชายคนโปรด

หลังจากกระแนะกระแหนกับนายแปรงเพราะอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ชับก็เอาตัวระนองกลับพัทยา

“ผมจะเอาพี่ชายคุณไป จะฝึกเขาให้แกร่ง”

“ถ้าสำเร็จก็จะขอบคุณมาก” สิชลก็เลยตอบด้วยใจที่ชื่นชอบในตัวเขาขึ้นมาเป็นลำดับ หากเขาสามารถปลุกปั้นพี่ชายหล่อนจนเข้มแข็งขึ้น ทิ้งนิสัย ‘ลูกแหง่’ ได้

หล่อนคงจะนับถือเขามาก

แล้วก็…ไม่แน่เหมือนกัน…หล่อนอาจจะรักเขาในวันหนึ่งวันใดก็ได้

“พี่นองนี่ อันที่จริง ถ้าประเล้าประโลมดีๆแกก็ดีนะคะ” สิชลเลยบอกเขา

“มันเพี้ยนๆอยู่หรอกคุณ” นายแปรงเองก็ตรงไปตรงมา

ก็ฉันเคยเห็นมานักหนาแล้วนี่ คนอย่างระนอง จะเขียนไม่ออก บอกไม่ถูกได้อย่างไร

“ความคิดอะไรก็ไม่ค่อยจะเหมือนคนอื่น เชื่อคนก็ง่าย โกรธคนก็ง่าย ไม่ว่าจะเชื่อหรือโกรธ ก็ไม่เคยดูตาม้าตาเรือ” นายแปรงว่า “ผมน่ะวิตกว่า ถ้าเอามันไปด้วย มันต้องไปคลุกคลีอยู่กับคนเรืออีกแยะ เคราะห์หามยามร้ายจะถูกเก็บเอาน่ะนา”

นี่ฉันก็เลยต้องย้ำให้ผู้ชมได้รับรู้ว่างาน ‘เก็บ’ คนมีจริง

แต่ชับก็ยืนยัน

“ไม่หรอกฮะ คุณน้า ผมคุมคนพวกนั้นได้…ไม่มีใครกล้าหรอกฮะ”

นายแปรงก็เลยบอก…หลังจากมองชับถ้วนถี่

“อย่างคุณน่ะเหมาะเป็นนักเลง”

“นักเลงนี่ดีนะ ผมชอบ แต่ต้องเป็นนักเลงที่มีธรรมะในใจ…ผมคิดว่าผมมีนะฮะ คุณน้า”

ฉันเองก็ยังชอบเลย นักเลงแบบที่ชับว่า

นายแปรงก็เลยช่วยสาธยาย

“ขอให้มีเถอะ…ธรรมะ…มีไว้ดีกว่าไม่มี นักเลงนี่ก็ไม่ใช่เป็นกันง่ายๆ บางคน ตัวเป็น แต่ใจไม่เป็น ชอบรังแกเขา ไม่รู้ผิดรู้ถูก…โอ๊ย…ผมน่ะ…ผจญกะพวกนักเลงมาซะนักแล้ว สมัยอยู่ปักษ์ใต้…เจ้าพ่อนั่นเจ้าพ่อนี่ สักแต่เรียกๆกันไป…แต่จริงๆแล้วจะมีใครสักคนหรือสองในร้อยที่สมตำแหน่ง ‘เจ้าพ่อ’ จริงๆก็ทั้งยาก ส่วนมากจะเป็นเจ้าพ่อเอาเปรียบ รังแกมนุษย์ทั้งนั้น”

“คุณน้าพูดถูก” ชับพึมพำเมื่อทบทวนถึงคำว่านักเลง

งานเขียนเรื่อง ‘ไฟทะเล’ นี้ จึงจำเป็นต้องล้วงให้ลึกหลายเรื่องราวที่แวดล้อมเรือและผืนน้ำเขียวครามกว้างใหญ่ แม้หลายรายละเอียดอาจต้องขยักไว้บ้าง ก็ไม่เสียความเป็น ‘ไฟ’ สักเท่าไร

ดังเช่นชับผู้นี้ ฉันก็กำหนดไว้แล้วอย่างพอเหมาะพอดีว่าจะให้เขามีบทบาทเพียงไหนถึงจะอยู่ในข่ายแค่ ‘พระเอกนักเลง’

แต่ไม่มีวันเลยไปถึงนักเลงค้าของเถื่อน เจ้าของบ่อนการพนันเถื่อน ทำผิดกฎหมาย ท้าทายเจ้าหน้าที่ด้วยประการต่างๆ เมื่อร่ำรวยขึ้น มีสมัครพรรคพวกมากขึ้น คบหาคนใหญ่คนโต จนสามารถบันดาลความถูกต้องให้เป็นผิด บันดาลความผิดให้ถูกต้อง เลยพ่วงพาเอาคนใหญ่คนโตทั้งหลายให้เข้ามาติดอยู่ในบ่วงแร้วของเงินทองที่นักเลงหรือเจ้าพ่อพวกนั้นนำมาประเคน

นับเป็นตัวอันตรายที่ไม่เป็นผลดีแก่ผู้ใด

ในที่สุด ชับก็พาระนองกับนางบัวเผื่อนไปสู่เมืองชายทะเล

ระหว่างทาง เขาจึงเริ่มเหงาพร้อมกับเงียบเสียงคุยลงไป

ครั้นแล้ว จึงถามแม่ของหญิงสาวว่า

“จะเป็นไปได้ไหมฮะคุณน้า ถ้าคุณน้ากับคุณชลจะมาอยู่นี่ แล้วปล่อยน้าผู้ชายกับเด็กๆที่ต้องไปโรงเรียนอยู่กันตามลำพัง”

“อ้าว…แล้วใครจะเฝ้าบ้าน ทำกับข้าว ทำความสะอาดให้เขาล่ะ”

“ก็คนใช้ไงฮะ จ้างคนใช้สักคนคงพอ อาหารการกินก็ย่นย่อ ซื้อสำเร็จรูปเอามั่ง…เราจะติดข้องอยู่กับหม้อข้าวเตาไฟอย่างแต่ก่อนก็เห็นจะไม่ไหวแล้วละฮะ…สำหรับที่ที่นี่ คุณน้าไม่ต้องห่วง ผมจัดการเองได้ ถ้าแม่ไม่ซื้อผมซื้อเอง เงินเจ็ดแปดหมื่นนี่เรื่องเล็กหรอกฮะ”

“คุณชับจะซื้อทั้งบ้านทั้งเรือเลยหรือคะ” สุ้มเสียงนางบัวเผื่อนสดใส

การสนทนากับคนมีเงินยังความชุ่มชื่นมาให้นางมากมาย

“ถ้าซื้อก็ซื้อหมดเลย” เขาหมายถึงที่ดินบ้านช่องของนางเอื้อม เมียนายผ่อนน้องชายที่นางเพิ่งมางานศพของเขา “เท่ากับช่วยน้าเอื้อมด้วย ช่วยคุณน้าด้วย คุณนองจะได้อยู่ที่นั่นได้”

เป็นอันว่า เรื่องที่กับบ้านที่น้องสะใภ้กำลังเป็นทุกข์ นินทานางชุนไม่เว้นแต่ละชั่วโมงที่เฝ้าแต่จะกดราคาให้เหลือสี่หมื่น ก็กลับหายห่วงหมดกังวล ด้วยว่าชับดลบันดาลให้เป็นไป

ครั้นกลับถึงถิ่นของตน ก็กลับมีเรื่องรออยู่

นั่นก็คือ ‘จ่า’  ตำรวจวัยสี่สิบที่รู้จักกันดี ขับรถไปชนรถเก๋งคันหนึ่งที่ขับมาจากกรุงเทพฯ เจ้าของรถจึงเอาเรื่อง “เลยต้องจ่ายไปสามหมื่นกว่า” จ่าเล่าให้ฟังอย่างมีความหมาย

 

อัน ‘จ่า’ ผู้นี้ คือตำรวจที่อยู่ในขบวนการรีดไถตัวจริงที่ฉันมิได้แกล้งนำมาทิ้งขว้างจนตำรวจนายอื่นดูไร้ค่า

ชับก็เลยแกล้งถามยิ้มๆ ทั้งๆเข้าใจความหมายของผู้พูดเป็นอย่างดี

“อ้าว…ก็ช่วยกันมั่งซี้” อีกฝ่ายทวงดื้อๆ เพราะชินกับเรื่องทำนองนี้มาตลอดชีวิตการรับราชการ

“ผมก็แย่เหมือนกันนะจ่า…เพิ่งจ่ายซื้อรถใหม่ไปหยกๆ แล้วยังมีท่าว่าจะต้องซื้อบ้านกะเรืออีกล่ะ”

“ซื้อให้ผู้หญิงน่ะเหรอ”

“ไม่ใช่หรอก” เขาก็เลยต้องอ้อมแอ้ม “ว่าแต่ว่าเมื่อคืนพาอีตัวไปโชว์ใช่ไหมล่ะ…ดีนะ…ถึงเวลาไปนวดกันไม่เคยชวน พอเวลามีเรื่องละก็วิ่งมาหาเรา…”

“น่าชับน่า” จ่าออด “ก็เอ็งล่ะ เวลาจีบสาวทำไมไม่ชวนจ่าไปด้วยวะ…จ่ายมาซะดีๆ”

“เท่าไหร่”

“สองหมื่นก็พอ”

“ไม่มากไปหรอกเรอะพี่” ชายหนุ่มย้อนถามอย่างนึกฉุน

“ไม่มาก…ก็เอ็งมันรวยแล้วไง ปันคนที่เค้ายังจนมั่ง”

“อ้อ…ปันกันแบบนี้เองเรอะ” ชับนึกโกรธ แต่ก็จำต้องสะกดกลั้น หากก็นึกด่าพ่อล่อแม่อยู่ในใจ

ระบบ ‘รีดไถ’ นี้เองที่คอยถ่วงความเจริญของหน่วยราชการเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมองในด้านใด

ยกตัวอย่างง่ายๆจากตัวเขานี่ก็ได้

เมื่อเขาถูกจ่ารีดไปสองหมื่น เขาเป็นคนทำมาค้าขาย ก็ย่อมต้องหาทางเอาเงินก้อนนี้คืนมาจนได้

สำหรับชาวประมงอย่างเขาก็ต้องริอ่านทำผิดกฎหมายเข้าบ้างจนได้ด้วยการลักลอบจับปลาในฤดูหวงห้าม ในเขตน่านน้ำที่ห้ามหวง หรือการใช้ตาอวนผิดขนาด เพื่อจับปลาให้ได้มากที่สุด

แต่เรื่องการระเบิดปลา สำหรับเขานั้น ไม่เคยมีความคิดนี้อยู่ในสมอง

เพราะมิใช่เรื่องที่คนใหญ่โตระดับหมู่บ้านเช่นเขาจะพึงกระทำ

การระเบิดปลาหรือระเบิดปะการังใต้น้ำเป็นเรื่องของชาวประมงระดับต่ำทรามโดยเฉพาะ

เป็นการตัดอนาคตการทำมาหากินของเขาเองด้วย

เพราะถ้าชาวประมงพร้อมใจกันปล่อยให้สัตว์ทะเลทุกชนิดเจริญเติบโตจนถึงวัยอันควร กระทั่งมันวางไข่ เพื่อสืบทอดลูกหลานให้ได้เวียนว่ายเป็นอาหารของมนุษย์ต่อไปแล้ว

เขาและบรรดาชาวประมงทั้งหลายนั่นแหละที่จะได้ประโยชน์เอนกอนันต์จากความยับยั้งชั่งใจ

 

เห็นแล้วใช่ไหมว่า พระเอกของฉันแม้จะดูเหมือนเจ้าชู้ หากก็รู้ผิดชอบชั่วดีสมตำแหน่ง

แต่สมมติว่า เขาไม่ให้ตามที่จ่าขอ

ประเดี๋ยวเถอะ เรื่องเดือดร้อนหลากหลายก็คงตามมาจนได้

เฮ้อ…ผู้กำกับละก็นะ…ปวดเศียรเวียนเฮดกับเรื่องโกงกินที่เรียกทับศัพท์ว่าคอรัปชั่นมานานปีจนแทบจะเขียนหนังสือไม่ไหวอยู่รอมร่อ ก็ยังต้องบังคับตนเองให้รอคอยว่าเมื่อไร…นิสัยอันร้ายกาจนี้จะหมดไปจากผู้คนทุกถ้วนหน้าที่มักได้และมักง่ายกับเรื่องอยากได้เงินทอนจนหน้ามืดตามัว จนไม่สามารถปลดตัวเองจากบ่วงแร้วนี้ออกมาได้

พวกเขาคิดอย่างไรกันถึงตั้งหน้าตั้งตาเก็บกระบวนการนี้ไว้เป็นสมบัติติดตัว ตั้งใจจะอยู่กับมันจนทยอยเข้าคุกเป็นรายๆไปหรืออย่างไร

ก็ไม่เอาละ…แค่นี้พอ…เดี๋ยวสมองจะฝ่อเสียก่อน

ไปดูบทบาทชับตอนนี้สนุกกว่า

ตกกลางคืน พระเอกของฉันก็เลยไปพาชินน้องชายมารู้จักกับนางบัวเผื่อนและระนองพร้อมกับฝากฝังพี่ชายสิชลไว้กับน้องสุดท้อง

ระนองบัดนี้จึงมีแต่ความคึกคักเมื่อลงไปดูเครื่องไดนาโมสองเครื่องที่ติดตั้งอยู่ใกล้เครื่องเรือ

“เรือใหญ่พอใช้เหมือนกันนะพี่”

“เรือนี่ใหญ่กว่าของน้าเอื้อม ของน้านั่นสี่วากว่า ถ้าเรือขนาดนั้นใช้ไดลูกเดียว”

ก็มิใช่ว่าผู้กำกับจะเชี่ยวชาญกระไรหรอกจ้า…ก็แค่พยายามติดตามกระบวนการนี้มาเข้าฉากให้ได้แค่นั้น

ท่านผู้ชมจะได้แลเห็นภาพเรือของชาวประมงสมัยสี่สิบปีที่ผ่านมา

“เรือใหญ่ก็ใช้ไฟแรงสูง อย่างเรือขนาดหกวาขึ้นไป ก็ต้องใช้ไฟห้าโลถึงสิบโล” ชายหนุ่มแจกแจง

ฉันก็เลยแอบยกนิ้วให้เขาจาก ‘หลังม่าน’

ฝ่ายนางบัวเผื่อนก็แอบกระซิบกระซาบกับชับ

“ไงๆคุณชับก็อย่าด่วนท้อซะล่ะ…ตานองมันชอบปะเหลาะ”

ดู…ดู…แม่นางเอกผู้รักแต่ลูกชายคนโต

หวังว่าผู้ชมคงเคยเห็นแม่แบบนี้มาแล้วทั่วทุกภาคของประเทศละกระมัง

ผู้กำกับละก็นะ…หมั่นไส้จนอยากจะถลึงตาใส่นางจากหลังม่านเอาทีเดียว

แต่โดยพลันก็นึกขึ้นมาได้ว่า นักแสดงแจงบทบาทแม่ลำเอียงได้เจ๋งสุดสุด…จึงรีบชูหัวแม่มือร่อนออกไป

หากฝ่ายชับก็กำลังมุ่งมั่นที่จะปั้นพี่ชายของหญิงสาวผู้ที่เขากำลังเล็งแล เชิงช่วยกำจัดความอ่อนแอจับจดของระนองให้หมดสิ้น

คืนนี้จึงเป็นคืนแรกที่ชับพาระนองลงเรือของชินออกสู่ทะเลอันกว้างใหญ่

แม้จะทุ่มตรงแล้ว แต่ในทะเลก็ยังสว่างไสวอยู่มาก

ทะเลมักจะสว่างนานกว่าบนบกอยู่เสมอ

เหมือนในบ้านเปิดไฟ หากบนฟ้าก็ยังมีแสงเรื่อเรืองจากความผ่องอำไพของดวงตะวัน

“วังเวงเชียวนะพี่” ระนองยังคงยืนทำเก่งอยู่หัวเรืออย่างตื่นเต้นกับงานใหม่

จากที่ที่ยืนอยู่นี้ ทุกคนสามารถแลเห็นไฟดวงโตจากเรือ ‘ไดหมึก’ ลำอื่นๆสว่างจ้าอยู่ตามขอบฟ้ามืด ดูเป็นราวพราวตา เว้นระยะกันเป็นช่วง เหมือนมีการเฉลิมฉลองในทะเล

เรือทะยานเรื่อยไป แต่ก็ยังไม่ถึงที่ที่มีปลาหมึกชุกชุม แม้ว่าลูกเรือจะเปิดไฟคานทั้งสองข้างพรึ่บขึ้น

“ไม่เห็นมีปลาซักตัวเลยพี่” ระนองก้มลงดู พลางถาม

“มันไม่มาทันอกทันใจยังงั้นหรอกนอง ต้องล่อมันซักครู่…มันอยู่ข้างใต้…มันทนไฟไม่ไหวก็จะผุดขึ้นมาเอง…แต่ถ้าไม่ผุด ก็แปลว่าไม่มี”

“ถ้าไม่มีแล้วทำไงล่ะฮะ”

ลูกเรือที่ยืนอยู่นั้น ชวนกันหมั่นไส้…แต่ฉันดีใจที่เขาทำเสียงกวนอวัยวะได้ถึงกึ๋น

แขนไฟฟ้าสองข้างเปิดจ้าพักใหญ่ คะเนว่า ฝูงปลาหมึกเริงเล่นไฟจนลืมเนื้อลืมตัวอย่างเพลิดเพลินเต็มขีดแล้ว ชินก็ร้องสั่งลูกน้องให้หรี่ไฟข้างขวาทีละดวง

“ข้างนี้คือข้างที่เราจะปล่อยยอ” ชับบอกผู้มาใหม่ “ต้องใช้ลูกเรือคุมยอสามคน หัวเรือ กลางเรือ ท้ายเรือ เรือเรานี่ใช้ ‘ยอคลุม’ ถ้าเรือขนาดเล็กจะใช้ ‘ยอยก’ …ยอยกนี่เหมือนสวิงใหญ่ๆมีขอบ แต่ยอคลุมเหมือนแห ใช้กับเรือใหญ่ยาว 6 ขาขึ้นไป อย่างที่เขาเรียกว่า ‘แหสวรรค์’ นั่นละ พอเราปล่อยลงน้ำสักพักก็จะต้องค่อยๆรวบตีนหิน…เพื่อหมึกมันจะได้วิ่งลอดใต้ท้องเรือข้างขวามาออกันอยู่ข้างซ้าย…นั่นก็หมายถึงวาระสุดท้ายของมันที่วิ่งมาจนมุม”

มีมือมนุษย์ยืนรวบยอ…กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัวอยู่ข้างบน

 

เมื่อมาถึงฉากถัดจากนี้ ชับก็หลงรักสิชลเรียบร้อยแล้วโดยไม่ยากเย็นแต่อย่างใด

ถึงกับเปรยออกมากับนางเอกว่า

“คุณเป็นคนน่ารัก ถึงจะรู้ผิดชอบก็ไม่ได้เคร่งเครียดเอาจริงจนน่าเบื่อ…แล้วนี่รู้ไหมว่า ผมกำลังนึกยังไง”

“ยังไงล่ะคะ”

“ผมก็อยากอุ้มคุณเหาะหนีไปน่ะซีขอรับ”

ฉันก็เลยค่อยๆยื่นหน้าออกไปสบตากับเขาข้างม่านแทนการปรบมือ

‘นายแน่มากนะชับ…เผลอแป๊บอยากอุ้มปั๊บ แถมยังเอาซองหนาเตอะมาอ่อยอีก’

ใช่แล้ว…นายชับตัวดี เที่ยวนี้มีซองมาให้สิชล แล้วบอกหน้าตาเฉยว่านางบัวเผื่อนฝากมา

นางเอกน่ะหรือจะโง่…แค่รับมาถือ พลางทำท่าชั่งน้ำหนัก ก็มองหน้า

“นี่คุณชับจะทำลูกไม้อะไรกับฉันหรือเปล่าคะ แม่น่ะหรือจะมีเงินฝากกลับมาให้ตั้งปึก…อ้อ…รู้แล้วๆ ได้จากค่าปลาหมึกที่พี่นองจับได้เมื่อคืนละมัง”

อีกฝ่ายก็เลยตีหน้าเก้อ

เมื่อสิชลตัดซองนำเงินออกมานับก็ปรากฏว่าทั้งหมดมีถึงสามพันบาท

แต่ถึงอย่างไรนางเอกก็ยังตัดเนตรคนรักเก่าไม่ขาด

ดังนั้น การออกเรือแต่ละเที่ยว พระเอกก็เอาแต่พกความหงอยเหงาเศร้าใจไปกับตัว

เดือนกุมภาพันธ์ นับเป็นช่วงเวลาเข้าหน้าร้อน หน้านี้ส่วนมากจะจับปลาไม่ค่อยได้ ดังนั้น เที่ยวนี้ จึงเป็นเที่ยวสุดท้ายที่ชับจะออกเรือ

พอถึงมีนาคม เขาก็จะหยุดซ่อมอวน

วันรุ่งขึ้นทั้งวัน ก็ต้องวางอวนตลอดวันอีก เพราะปลาโอ ปลาทู ปลาลังจะขึ้นสู่ผิวน้ำตอนกลางวัน

ชับก็เลยนั่งดูปลาอยู่บนเสา แลเห็นผิวน้ำสูงเป็นแนวขรุขระมาแต่ไกล ขาวแวบๆอยู่ในทะเลตรงหน้า

ระนองผู้เคยเมาคลื่น เมื่อถึงวันนี้ อาการเริ่มดีขึ้น หากก็กลายเป็นขี้ปากพวกลูกเรือ

เมื่อแน่ใจว่าตรงนั้นมีปลาฝูงใหญ่ ชับผู้ทำหน้าที่ไต้ก๋งก็สั่งลูกน้องให้เตรียมวางอวน

“ปลาทูโว้ย ปลาทู” เขาตะโกนดังลั่น

ไต้ก๋งที่ชำนาญจะรู้ทันทีว่า ปลาที่ขึ้นสู่ผิวน้ำจนแลเห็นเป็นแนวไหวๆอยู่ตรงหน้าคือปลาชนิดใด

“งานประมงนี่ ถ้าคนไม่ชอบผจญภัยละก็ เบื่อแน่เลยนะพี่ชับ” ระนองพึมพำ

สีหน้าหนุ่มผอมโปร่งจากกรุงเทพฯดูซีดเซียว

ลูกเรือเพิ่งกู้อวนเสร็จสิ้นเมื่อครู่ ได้ปลาทูกับปลาลังไม่มาก

ระนองเองก็เพิ่งรู้ว่า ทุกนาทีของชาวประมงล้วนเป็นนาทีเงินนาทีทอง

เรือจะวิ่งไปเพื่อหาปลาอย่างเดียว

พวกที่พักก็พักไป พวกที่ลากอวนก็ลากไป ไม่มีการเกี่ยงงอนผัดเมื่อนั่นเมื่อนี่

เครื่องโซนาร์ทำงานตลอดทั้งกลางวันกลางคืน…เจ้าเครื่องหาฝูงปลาเครื่องนี้ก็ช่างใช้คุ้มนี่กระไร พอเจอวัตถุใต้น้ำเข้ายามใดก็ตาม จะสะท้อนกลับเข้าเครื่อง ครั้นแล้วเครื่องก็จะบอกออกมาเป็นกราฟ อ่านระยะได้จากกราฟทันที

ได้อาศัยเครื่องนี้เครื่องเดียว จึงไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใดไม่ว่ามืดหรือสว่าง

ขณะที่ฝนเริ่มโปรยลงมา…กลิ่นสะอาดของน้ำฝนระเหยหอมอยู่ในความเวิ้งว้าง ท้องทะเลมืดมิดอย่างน่าสะพรึงกลัว ดวงไฟตรงสุดฟากฟ้าอันเป็นไฟจากเรือของชาวประมงด้วยกันเท่านั้นปรากฏอยู่ ชวนให้ความว้าเหว่ค่อยๆคลี่คลายกลายเป็นความอุ่นใจ

“นี่จะมีมรสุมหรือเปล่าก็ไม่รู้พี่” น้องชายสิชลตะโกน ขณะหลบอยู่ในเก๋งเรือ

เขาจะบ้าตายเพราะความผกโผนของมันคงยิ่งกว่าไม้กระดกสิบเท่า

อันที่จริง ผู้กำกับเองก็เห็นใจระนองอยู่ไม่น้อย เพราะตัวเองนั้น ก็เคยลงเรือประมง เพียงแต่ไม่เคยผจญกับคลื่นลมแรงๆ แม้กระนั้นก็…อือ…เอาเรื่องพอดู เลยอาเจียนเสียหลายยก

“ไม่มีหรอก แถวเกาะแยะๆไม่ค่อยมีมรสุม ส่วนใหญ่มรสุมจะเกิดแถวปักษ์ใต้…” ชับบรรยายให้ระนองได้เข้าใจ “เคยได้ยินเรื่องแหลมตะลุมพุกไหมล่ะ…นั่นแหละ…มักจะอาละวาดอยู่แถวนั้น…นี่มันแค่ลมตะเภาเอง…ฝนนี่ก็ฝนต้นฤดู…ฝนชะช่อมะม่วง”

“สงสัยแม่ย่านางจะโกรธนะชับ” นายท้ายสูงวัยอดหมั่นไส้ไม่ได้ เลยแกล้งว่า “ถ้าลมตะเภากลายเป็นพายุโซนร้อนละก็”

ชับก็เลยหัวเราะ…เพราะรู้ว่านายท้ายแดกดัน

แต่คลื่นลมและฝนก็ฟัดฟาดจนเรือทั้งลำกลายเป็นกาบหมากพักใหญ่

ลูกเรือบางคนก็เลยแหกปากร้องเพลงลูกทุ่ง ต่างก็ชวนกันหัวร่อครึกครื้น

“หมอนวดคงรออ่อนใจ…พี่ไปไม้-ด้าย-ถูกบังคับให้นอน…คู่พี่ที่เคยเต้นรำ พี่ต้องนอนหัวค่ำ…ไม่นอนก้อ-ต้อง-นอน…”

หากแต่ไกลออกไปเบื้องโน้น…ต่างก็แลเห็นแสงประหลาดแสบตาแล่นเปรี้ยะปร้ะอยู่ท่ามกลางความมืดอนธการ

“ปลาแป้นเหรียญ” ชับบอกกล่าว “มันทำแสงแบบนี้แหละ  ถ้าดูเผินๆจะดูเหมือนถูกผีหลอก…เคยเห็นปลาแป้นไหม โลละสองสามบาทเอง แต่เวลามันว่ายๆอยู่…มันจะแว้บแว้บเหมือนมีไฟติดอยู่ใต้น้ำ…ฝูงก็ไม่ใหญ่เท่าไหร่ แต่ถ้ายิ่งว่ายไปโดดไป มันกระพือแสงดีนัก”

ฤดูนี้เป็นฤดูปลาทูวางไข่ ดังนั้นจึงมีกฎหมายห้ามอวนลากเข้าไปทำการลากอวนตามเขตต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี

ขณะที่ชับมีเรื่องเงินก้อนที่กะจะซื้อที่ดินและเรือของนางเอื้อมอยู่ในสมอง

ด้วยพิษรักในกายตัวเขากำลังกำเริบร้อน ใคร่ได้สิชลอย่างรุนแรง

ฝ่ายสิชลนั้น ไม่มีแผนการว่าชีวิตหล่อนควรจะเป็นอย่างไร ขอเพียงแต่ให้ได้ชีวิตที่ดี มีความรักความอบอุ่น มีอาชีพ มีเงินใช้สอยตามสมควรก็พอแล้ว

หากท้ายที่สุด ชับก็พาน้องอีกสามคนของสิชลมารวมกันที่บ้านหลังน้อยริมทะเลที่มีนางบัวเผื่อนกับระนองจองอยู่แล้วจนได้ หลังจากพาสิชลไปรู้จักกับนางชุนผู้มารดา โดยนางเป็นฝ่ายชวนหญิงสาว ‘มาทำหมึกด้วยกัน’

ขณะที่ชับก็เริ่มวิ่งเต้นหาช่างมาก่อสร้างโรงอบหมึก ซึ่งกะจะทำเป็นโรงยาว มุงสังกะสี ฝาโบกปูน พื้นเทปูนตลอด บนเพดานติดพัดลมสามสี่ตัวเรียงกัน บนพื้นตั้งเตาถ่านเรียงรายอีกเช่นกัน ปล่อยความร้อนและความเย็นออกไปในอากาศแล้วนำราวหมึกมาแขวนไว้ตรงกลางระหว่างร้อนและเย็น ใช้สำหรับอบปลาหมึกในวันที่แสงแดดไม่อำนวย

สะพานยาวของนางชุนจึงกลายเป็นที่ตากปลาหมึกไปด้วยอีกงานหนึ่ง มีคนงานผ่าปลาหมึก 8 คน รวมนางบัวเผื่อนและสิชลแล้วจะได้ 10 คน นางชุนจะเหมาปลาหมึกจากท่าส่งเข้าสะพานของตนเอง คนงานจะคัดปลาหมึกที่เหมามาเป็นหลัวๆออกตามลำดับขนาด โดยมีสิชลเป็นผู้คุมการคัด

“ไซส์ปลาหมึกนี่ยังกะไซส์เสื้อเลยนะแม่”

นางบัวเผื่อนและสิชลมีสิทธิ์ได้ค่าแรงเท่ากับคนงานอื่นๆเช่นกัน…ไม่ได้ทำฟรี

“มีไซส์เอ็ม ไซส์เอสด้วย”

ฉันเองก็ยังพลอยเพลิดเพลินไปกับการจัดไซส์ปลาหมึก

ปลาหมึกเกือบจะทั้งหมดเป็นหมึกกล้วย ขนาดใหญ่สุดเรียกว่า ‘หมึกศอก’

หมึกศอกตัวสวยจะต้องใช้ความประณีตบรรจงเป็นพิเศษ เพราะหมึกศอกแห้งได้ราคาดีที่สุด ต่อจากนั้นก็คือหมึกกลางหรือเบอร์เอ็ม หมึกเล็กหรือเบอร์เอส แล้วยังมีเล็กกว่านั้น จนกระทั่งเล็กกว่า 3 เอส เรียกว่าขนาดจิ๋ว

ที่หมู่บ้านชายทะเลนี้ นอกจากทำหมึกแล้ว สมัยนั้น ยังนิยมเล่นหมากรุก กับดูมวยทางโทรทัศน์ที่เรียกว่ามวยตู้ กับมวยชายและมวยหญิงที่ชกกันจริงๆบนเวที

มีโรงละครรีวิวโชว์การละเล่นของชายกลายเป็นหญิงถึงสองโรง

หลังเลิกทำหมึก ชับก็มักจะพาสิชลไปตระเวนกินอาหารและชมการละเล่น

รอวันเวลาที่นางเอกจะรู้สึกรักจริงหวังแต่งในตัวเขา

ในวันเวลาเดียวกันนี้ พระเอกก็คอยบอกกล่าวให้นางเอกล่วงรู้ถึงผู้คนและสิ่งแวดล้อมของที่นี่

“คุณสังเกตดูนะ ที่ไหนมีเจ้าพ่อ ก็จะมีบ่อนเถื่อน มีนักเลง มีมือปืนแยะ…แล้วก็…ที่นั่นตำรวจจะรวย”

รายละเอียดภายในเรื่องนี้มีมากกว่านี้มากต่อมาก แต่ฉันชักจะรู้สึกว่าออกจะลำบากเกินไปสำหรับนักแสดงแต่ละคน…ไม่เฉพาะชับกับสิชลเท่านั้น

แม้แต่นางชุนกับนางบัวเผื่อนก็ยังอุทธรณ์

“ไม่ไหวแล้วนะนักเขียน…ฉันชักจะเวียนหัวแล้วละจ้า…เรื่องราวมันทำไมมากมายมโหระทึกขนาดนี้จ๊ะ ให้คนดูเขารู้เอาเองมั่งได้ไหม ไม่ต้องแจกบทไปซะทุกเรื่อง”

ผู้กำกับใจไม่ถึงก็เลยตอบออกไป

“ถ้างั้นก็เอาละนะ…เอาแค่นี้ละ…จะได้ตัดตอนที่จ่ากับระนองและลูกเรือของชับช่วยกันขนของหนีภาษีออกไป”

แต่อย่าให้ตัดคำถามที่ว่า

“มี ‘กัญ’ กะ ‘เฮ’ ไหมเอ่ย” ออกไปด้วยละกัน

 

จบ

 

Don`t copy text!