เรื่องราวของ “ศศิน” ใน “เงาจันทร์”

เรื่องราวของ “ศศิน” ใน “เงาจันทร์”

โดย : กฤษณา อโศกสิน

Loading

“หลังม่าน” คอลัมน์ที่จะบอกเล่าถึงชีวิตของตัวละครเด่นๆ ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน เป็นเรื่องราวเบื้องลึกที่มีแต่นักเขียนเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ และนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านชาวอ่านเอาได้เห็นชีวิตด้านหลังม่านของตัวละครเหล่านั้น

นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันริอ่านเขียนนวนิยายเกี่ยวกับ ‘ผู้มีข้อจำกัดทางกาย’ นั่นก็เนื่องด้วยได้รู้จักกับเธอผู้ที่ฉันตั้งชื่อให้ว่า ‘ศศิน’ ผู้ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น มีไม้เท้าอะลูมิเนียมหุ้มหนัง ปลายหุ้มยางเป็นเครื่องพยุงกายยามเมื่อต้องลุกขึ้นเดิน

มีผู้เคยถามฉันว่า เหตุใดจึงหยิบยกเอาสุภาพสตรีพิการที่แทบจะเรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่เพียบพร้อมทุกด้านเช่นเธอมาเป็น ‘ต้นแบบ’ เหตุไฉนจึงไม่นำใครสักคนที่ยากจนที่ขาดโอกาส ที่ไม่มีใครเหลียวแลมาเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอด

ฉันจึงมักตอบไปว่า

อัน ‘ตัวอย่าง’ หรือ ‘ต้นแบบ’ นั้นเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องคัดเฟ้นพอประมาณ บางชีวิตอาจจะน่าสนใจกว่าหรือน่าสนใจที่สุด แต่การนำมาเป็นแบบฉบับก็อาจจะมีช่องว่างหรือขัดข้องในการนำเสนอด้านนวนิยาย

สำหรับเรื่องนี้ ฉันจึงจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกข้อมูลจากเธอซึ่งนับว่าสะดวกและเพียบพร้อมด้วยรายละเอียดที่เป็น ‘ของจริง’ มากที่สุด

โดยนำสิ่งแวดล้อมของเธอ ดังเช่น ชนิดของโรคและพัฒนาการต่างๆมาปรุงใส่ไว้ในตัวละครได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องกลัวการผิดพลาด

ชูตัวละครสำคัญที่ฉันมุ่งหมายให้เป็นตัวแทนคนพิการอื่นๆจนโดดเด่นขึ้นมาในมโนภาพหรือในการรับรู้ของผู้อ่าน

เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้พิการได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ทั้งจากกฎหมายและน้ำใจของเพื่อนร่วมสังคม

 

ฉันจึงเปิดฉากเรื่องราวนี้ขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2530 อันเป็นปีท่องเที่ยวไทย

หลังจากศศินเรียนจบปริญญาตรีศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส ‘เหรียญทอง’ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วนั้น จึงขออนุญาตบิดาคือคุณวรวิทย์ ไปเรียนต่อวิชาการแปลอีก 2 ปีที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ไปอยู่กับอาซึ่งแต่งงานแล้ว ตั้งรกรากอยู่ที่นั่น โดยหล่อนได้ประกาศนียบัตรการแปลชั้นสูงจากโรงเรียนล่ามและแปลของรัฐบาล

จากโรงเรียนนี้ จึงมีโอกาสได้เรียนภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาเลียนเพิ่มเติม

ขาสองข้างที่ต้องใช้ไม้เท้าบางครั้งและรถเข็นบางคราวก็มิได้เป็นอุปสรรคในการเดินเลือกเก็บขุมทรัพย์บางส่วน…จากสุดขอบฟ้า…มาเป็นสมบัติติดตัวดุจมนุษย์ขาดีอื่นๆแต่อย่างใด

เพียงแต่พบหน้ามารดา คุณชฎาก็เอ่ยขึ้น

“เออ เมย์” เธอชื่อเล่นว่าเมย์เพราะเกิดเดือนพฤษภาคม “ก่อนเธอมาสองวัน มีผู้ชายโทร.มาถามว่าเธอจะกลับเมื่อไหร่…เสียงหล่อเชียวเธอ แล้วก็แปลกที่ชวนแม่ให้คล้อยตามไปได้ว่า เขาจะไม่บอกชื่อละ เธอจะได้มีอะไรไว้คิดนิดหน่อยไง”

“แต่ลูกไม่เคยรู้จักใครที่เชียงรายเลยนี่คะ”

หากที่จริง ศศินก็พอจะนึกออกว่าเขาคือใคร

คงคือหนุ่มใหญ่นิดๆสมัยเรียนอยู่ปีที่ 1 ที่ธรรมศาสตร์หรือเปล่านะ…

ขณะที่ภาพของ ‘ใครคนนั้น’ ที่เคยเลือนรางจางเรื่อคล้ายภาพหมอกเมฆอันลอยเป็นหมู่อยู่แสนไกลได้เคลื่อนใกล้เข้ามา

ดูประหนึ่งว่าเขาสูงผอมขึ้นกว่าวันเก่าคืนก่อน มีหนวดขลิบเรียวเป็นเส้นเล็กอยู่เหนือแนวปาก สวมแว่นสายตา เชิ้ตลายสก๊อต กางเกงยีนส์

ที่สำคัญก็คือ เขาไม่เคยยิ้มไม่ว่าเมื่อใด

ยามเข้าฟังเลกเชอร์ในวิชารวมที่ทุกคณะต้องมาเรียน ณ คณะศิลปศาสตร์ ศศินเคยเหลือบแลไปทางเขา เคยเห็นเขาในอิริยาบถซ้ำๆยามนั่งสงบอยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่ง…สุดห้อง

ดูเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าใครอื่นในวัยเดียวกัน

หญิงสาวจึงแอบสืบตามวิธีของตนเอง จนได้รู้ว่าเขาคือนักศึกษา ยุค ‘6 ตุลาคม 2519’ ที่กลับเข้ามาเรียนใหม่

นัยว่าเคย ‘เข้าป่า’ ก่อนจะหนีไปอยู่อังกฤษนานหลายปี แล้วจึงมาเริ่มต้นอีกครั้งกับเด็กรุ่นหลัง ซึ่งทำให้เขาดูแตกต่างจากผู้ใด

ด้วยว่ามีบางสิ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษกว่านักศึกษาอื่น

ศศินเคยแอบมองเขาหลายครั้ง ด้วยว่าสนใจบุคคลที่ไม่เหมือนใคร

หล่อนมี ‘โลกใบใน’ ดุจดังหญิงสาววัยสวยอื่นๆเช่นกัน แม้ ‘โลกใบนอก’ จะคือผู้พิการทางกาย แต่ก็หาได้เป็นขวากหนามแก่เรือนใจของตนเองไม่

กายและวิญญาณต่างฝ่ายต่างอยู่โดยสิ้นเชิง

 

ที่จริง แม่นั่นเองเป็นผู้ค้นพบความผิดปกติที่ขาของหล่อนเมื่อศศินอายุได้ห้าหกเดือน

ในที่สุดก็ต้องใช้ไม้เท้า

หากก็จำได้ว่า ตัวเองดิ้นรนไม่ยอมไปโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่มีเพื่อนเด็กด้วยกันมาฉวยไม้เท้าไปทำท่าล้อเลียน

ฉันก็เลยต้องเขียนเรื่องนี้อย่างมีสมาธิถึงที่สุด

ตั้งใจจะจุดประกายให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเห็นใจและเข้าใจผู้พิการไม่สมประกอบ

สมัยนั้น…จึงได้รับการตอบรับจากผู้อ่านดียิ่ง

รวมทั้งเพื่อนฝูง คนรู้จักตลอดจนนักวิชาการบางท่านต่างก็ช่วยกันป้อนแนวคิด ติชม ทำให้ผู้เขียนสามารถลงลึกพร้อมตระหนัก

งานเกี่ยวกับการเกื้อกูลบุคคลพิการนั้นยิ่งใหญ่

แต่สมัยนั้นยังไม่สู้จะระมัดระวังวาจากันสักเท่าไร ก็เลยอาจมีบางคนเผลอพูดดังๆจนมาเข้าหูศศิน

‘โถ…เด็กนั่นหน้าตาสวยนะ เสียดายที่ขาแกเป็นอะไรไป…เป็นอะไรคะครู’ คือผู้ปกครองของเด็กที่โรงเรียนนั้นนั่นเอง

หญิงสาวได้แต่เกลียดเสียง ‘โถ’ ที่ทอดยาวอย่างสมเพชเวทนานั้นเป็นที่สุด

ขณะกำลังย้อนรำลึกถึงความหลังก็ต้องรับสายจากใครคนหนึ่งที่หล่อนไม่เคยคุ้นมาก่อน

“ผมคงต้องแนะนำตัวเองนิดหน่อยละนะฮะว่า…” เขาเอ่ยต่อไปด้วยน้ำเสียงมีกังวานน่าฟัง…ดุจดังที่แม่เปรียบเปรยไว้ว่า ‘เสียงหล่อ’ นั่นแหละ “คือผมบังเอิญไปเจอข้อมูลเก่าเกี่ยวกับการสำรวจสภาพป่าเข้าเล่มนึงครับ นักสำรวจคนนี้เป็นชาวฝรั่งเศส เขียนไว้น่าสนใจมาก ผมก็เลยเอาเอกสารชิ้นนี้ไปติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษา…อาจารย์ก็บอกว่าน่าแปลมาก มีแผนที่โบราณด้วยนะครับ เก่าจริงๆ ท่านก็เลยแนะนำให้ผมติดต่อมาที่คุณนี่แหละ เพราะจะทำให้ได้สมบูรณ์ที่สุด”

ศศินก็เลยถาม

“หนามากไหมคะ”

“สักยี่สิบกว่าหน้าเองครับ”

“ค่ะ…พอแปลได้ค่ะ”

“ถ้างั้น…ผม…เอ้อ…จะพบคุณได้ยังไงล่ะครับ” เขาเองก็ค่อนข้างตะกุกตะกักเหมือนกัน

แต่ศศินตกลงใจให้เขาส่งมาทางไปรษณีย์

ครั้นเขาถามถึงค่าแปล หล่อนก็ตอบไปว่า

“เท่าไหร่ก็ได้ค่ะ ดิฉันยังไม่เคยรับจ้างแปล เพราะงั้นก็ไม่ทราบจะคิดยังไง”

“แล้วถ้าเผื่อผมหายวับไป ไม่ส่งเงินมาให้คุณตามสัญญาล่ะครับ” อีกฝ่ายตั้งคำถามอย่างกังขา

“คงไม่เป็นไรมังคะ คิดเสียว่าฝึกมือ”

ครั้นแล้ว เขาจึงให้หล่อนจดชื่อเขาไว้ในกระดาษว่า ‘ป่าสัก สาราจารย์’ พร้อมด้วย ตู้ป.ณ.อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000

วางหูแล้ว ศศินก็ยังคงมองดูชื่อเขาอยู่เช่นนั้น

เขาจริงๆ ป่าสัก สาราจารย์ นักศึกษาหนุ่มคนนั้นที่ภาพของเขาโดดขึ้นมาเด่น

‘ป่าสักเป็นฤษีทีเดียว’ เพื่อนฝูงเคยบอกกล่าว

นี่จึงเป็นงานแปลเรื่องแรกนับจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อซองสีน้ำตาลบางๆถึงมือศศินในสองวันต่อมา พร้อมใบปะหน้าซึ่งมีลายมือหนักด้วยเส้นหมึกดำ

‘ไม่ทราบว่าจะรบกวนคุณมากไปหรือไม่ถ้าคุณแปลได้สักครึ่ง กรุณาส่งให้ผมก่อน เพื่อผมจะได้จ่ายค่าแปลมาให้ทีละครึ่ง’

เงินของเขาคงมีไม่มาก หญิงสาวคิด

หลังจากนั้น ศศินจึงเริ่มอ่านเรื่องการสำรวจป่าโบราณของนักสำรวจชาวฝรั่งเศส…ที่ว่าด้วยป่าแถบเอเชียจนจบ แล้วจึงเริ่มงานแปลทันทีโดยใช้สองชั่วโมงตอนเช้าก่อนกินอาหารกลางวันทุกวัน

ทำให้หล่อนมีความรู้เรื่องป่าแถบเอเชียรวมทั้งของไทยเรานี้ด้วย…ว่า…ป่าแถบสุราษฎร์ธานีเคยมีผืนใหญ่มาก เคยเป็นดินแดนที่ชอุ่มชุ่มชื่นที่สุด เป็นที่รวมของพืชจำนวนมาก ผลิตธาตุอาหารให้ที่ลุ่มแถวนั้นทั้งหมด

หากก็กลายเป็นอดีตไปสิ้นแล้ว…น่าเสียดาย

เมื่อคุณวรวิทย์ผู้บิดามาไต่ถาม ศศินจึงได้รับความรู้เพิ่มเติมว่า

“พ่อเคยถามพวกที่เขาไม่ได้เป็นฝ่ายไหน ไม่ได้เข้าข้างนักอนุรักษ์ นักสร้างเขื่อน  ไม่เข้าข้างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แม้กระทั่งชาวบ้าน เขาก็บอกว่ากำจัดยาก เพราะข้างหลังป่า มันมีอิทธิพลมืดเอี่ยวกัน…พวกหวังดีจริงๆก็มีอยู่ คือคนดีจริงนี่มีไม่ใช่ไม่มี พวกนี้ตั้งใจทำเพื่อส่วนรวม แต่ไหนจะสู้ไฟกองโตได้”

ศศินก็เลยคิดถึงป่าสัก

เขาควรจะเป็นพวกไหน

พวกลูกตุ้มที่ชอบเหวี่ยงตัวเองไปจนสุดซ้ายสุดขวาแล้วแกว่งๆหยุดๆ หรือพวกรักชอบทุกสิ่งในโลกตามธรรมชาติที่ตัวเองเป็น

 

แต่แล้วในสัปดาห์ต่อมา ศศินก็พบประกาศรับสมัครนักแปลในหนังสือพิมพ์รายวัน

คุณสมบัติที่ระบุไว้ก็คือ แปลได้สองภาษา ภาษาที่บังคับคือภาษาอังกฤษ ส่วนอีกภาษาหนึ่งไม่จำกัด เพียงแต่ต้องจบปริญญาตรี

สถานที่ที่จะต้องไปทำงานก็คือ บริษัทสยามมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นนิตยสารการเงินการตลาด

เมื่อบิดารู้ข่าว จึงถามถึง ‘ลิฟต์’ ก่อนอื่นใด

“บริษัทนี่น่าจะสูงสามสี่ชั้น ส่วนใหญ่ไม่มีลิฟต์ และ ‘ทางลาด’ สำหรับผู้พิการ”

แต่ศศินเห็นแย้ง

“ไม่เป็นไรหรอกค่ะพ่อ คนอื่นเขาแย่กว่าเมย์อีก คนไม่มีแขน ต้องใช้ขากินข้าว แปรงฟัน เขียนหนังสือน่ะ”

พร้อมกันนั้น ก็หวนนึกถึงคราวที่ตามมารดาไปประเทศอังกฤษตอนที่คุณชฎาได้ทุนไปดูงานแล้วพาศศิน วัยสิบสามปี กับอินทร น้องชายไปเข้าโรงเรียนที่นั่นด้วย

หล่อนต้องเข้าไปฝึกกายภาพ กินนอนอยู่ในโรงพยาบาลที่นั่นถึงเก้าเดือนเต็ม

จึงเป็นเด็กผมดำชาวเอเชียเพียงคนเดียวท่ามกลางหมู่เด็กอีกหลายสิบของวอร์ด

ทุกครั้งที่ศศินเปิดประตูเลื่อน ก็จะมีเด็กฝรั่งตัวโต แขนขาดแค่ไหล่ ขาขาดแค่เข่า ปราดเข้ามาในขาแขนเทียม แล้วแกล้งกดบานนั่นไว้ไม่ให้เลื่อน…จนเด็กหญิงต้องดึงสายเรียกพยาบาล เพียงแต่นางพยาบาลมาถึง หล่อนก็ร้องไห้โฮใหญ่

มีเด็กบางคนในวอร์ดที่มีแค่ไหล่ แต่ไม่มีขา มีแต่เท้าห้อยอยู่ตรงสะโพก

บางรายก็ถูกหั่นครึ่ง เหลือแต่ส่วนบน

เด็กเหล่านี้จะต้องถูกฝึกให้ใส่และใช้ขาแขนเทียม เพื่อกินข้าว แต่งตัวเองได้ ขณะที่เขาจะต้องร้องไห้โฮๆดังสนั่นลั่นวอร์ดทุกวัน

เด็กเหล่านั้นเคราะห์ร้ายกว่าหล่อนเป็นอันมาก จึงทำให้ศศินค่อยๆว่าง่ายขึ้น พยายามฝึกหนัก

เพื่อให้โลกเป็นโลกที่น่าอยู่

พร้อมกันนั้น ก็อยู่ในโลกอย่างเป็นสุขขึ้น

ฉันจำได้ว่า ขณะที่เขียนไปก็หม่นหมองไปด้วยพร้อมกัน

 

บริษัทสยามมีเดียเป็นตึกสามชั้นเก่าๆ จริงดังที่บิดาทายเปี๋ยบเลย

ห้องบรรณาธิการอยู่ชั้น 2 ดังนั้นคนที่กำลังทำงานอยู่ชั้นล่างจึงบอกให้หล่อนขึ้นไป มีบานเช้าพี่เลี้ยง ช่วยพาขึ้นไปได้โดยไม่ขลุกขลักแต่อย่างใด

พบหญิงสาววัย 40 เศษ แต่งตัวเก๋ นามว่า กิริยา ณ ที่นั้น

อีกฝ่ายจึงสอบถามว่า หล่อนเป็นโปลิโอหรืออย่างไร ศศินจึงบอกชื่อโรคของหล่อนว่า

“เป็นโรคเซเลบรัล พัลซีค่ะ คือเกิดจากอาการเกร็ง เพราะสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ขา ควบคุมไม่ได้”

“เฉพาะที่ขาเท่านั้นหรือคะ สองข้างหรือข้างเดียว”

“ทั้งสองเลยค่ะ”

“แต่คุณศศินก็มีประวัติการเรียนที่เด่นมาก เรียนได้ไงก็ไม่รู้ เก่งขนาดนี้” เธอพึมพำขณะพลิกดู ‘ทรานสคริปท์’ สลับกับเงยหน้าขึ้นคุยด้วย

“คุณพ่อคุณแม่ดูแลดีน่ะค่ะ”

“จริงนะคะ การดูแลของพ่อแม่นี่สำคัญมาก ดิฉันคนมีลูก เข้าใจที่คุณพูดดีทีเดียว เข้าใจจริงๆ”

“แต่ดิฉันก็ดื้อมาก…เบื่อโรงเรียน เบื่อโรงพบาบาล เบื่อทำกายภาพ” หญิงสาวเล่ายิ้มๆ…อย่างผู้ที่เอาชนะชะตากรรมได้สำเร็จส่วนหนึ่ง “คือเขาจะฝึกเราให้ทำสิ่งที่ทำไม่ได้น่ะค่ะ ยกแขนขาไม่ได้ก็ต้องยก กางขาไม่ได้ก็ต้องกาง ยืนไม่ได้ก็ต้องยืนนั่นแหละค่ะ”

กิริยาพยักหน้า

“คนปกติ ก็ควรฝึกอย่างนั้นเหมือนกัน”

ฉัน…ผู้เป็นคนบรรยายถ่ายทอด จึงได้รับความรู้ที่ไม่เคยรู้อย่างมากถึงมากที่สุดจากนวนิยายเรื่องนี้ที่ผู้อ่านอาจจะไม่รู้สึกสนิทเสน่หาในการอ่านดังเช่นเรื่องอื่น

เนื่องด้วยเป็นเรื่องเฉพาะกิจ

8.00 น. เป็นเวลาเริ่มงานของนิตยสารฉบับนี้ ศศินต้องมาให้ทันตอกบัตรตรงตามเวลาหรือก่อนเวลา กิริยาจัดให้หล่อนนั่งทำงานเป็นส่วนสัดในห้องเล็กๆชั้นล่างติดบันได ไม่มีพิมพ์ดีดให้ใช้ บทความที่แปลก็มีแต่การเงินการตลาดล้วนๆตามชื่อนิตยสาร

งานเลิก 17.00 น. แต่หล่อนก็เริ่มปวดเมื่อยตั้งแต่ต้นแขนที่คร่ำเคร่งกับการเขียน ไปจนถึงปลายเท้าที่ต้องนั่งติดเก้าอี้เกือบตลอดวัน

ตั้งแต่กำกับตัวละครมาก็มากมาย แต่ฉันไม่เคยพลอยทรมานใจไปกับผู้แสดงถึงเช่นนี้ ทั้งๆมิใช่เรื่องรักพลัดพรากจากลา

จึงเพิ่งรู้ว่า การถ่ายทอดรายละเอียดของผู้พิการ ก็ก่อให้เกิดความทรมานหาน้อยไม่เช่นกัน

เพียงแต่แตกต่างห่างไกลจนเปรียบมิได้กับเรื่องรักใคร่ไม่สมหวังอื่นๆ

ครั้นแล้ว หล่อนจึงเล่าให้บิดาฟังถึงความรู้สึกว่า ตนเองไม่ชอบแปลเรื่องเงินๆทองๆเศรษฐกิจ แต่ก็จะทำไปก่อนจนกว่าจะทำไม่ไหว

ขณะเดียวกัน ศศินก็แปลเรื่องป่าที่ป่าสักมาจ้างแปล เสร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง จึงส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ให้เขา ต่อมา ชายผู้นั้นจึงส่งเช็คสามพันบาทกลับมาให้ ศศินจึงตัดสินใจยกหูโทรศัพท์พูดกับเขา

แต่คนรับสายกลับไม่ใช่ป่าสัก แต่เป็นหญิงสูงวัยผู้หนึ่ง หล่อนจึงแค่สั่งความว่าได้รับเช็คแล้ว โดยได้บอกชื่อไว้ด้วย

ส่วน ‘การเงินการตลาด’ ที่หล่อนกำลังแปลตลอดวันก็หนักหนาสาหัสจนหญิงสาวไม่นึกสนุกเอาเสียเลย

เพราะแม้ว่า ประเทศไทยขณะนั้นจะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์กันหนาตาขึ้นมาแล้ว

แต่นางเอกของฉันและครอบครัวก็ยังพร้อมใจกันโบราณ…เหมือนผู้กำกับเปี๊ยบเลย

นั่นก็คือ ยังใช้ปากกาหรือดินสอเขียนลายมืออยู่นั่นเอง จนกระทั่งได้เพื่อนของเพื่อนคนหนึ่งมาแนะนำให้ใช้คอมพิวเตอร์

เนื่องด้วยตัวเขาเองก็พิการ

‘มันเริ่มจากจุดเดียวจริงๆ คือรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจนั่นละครับ…อ่านไปอ่านมาก็พอดีมีเด็กมาบอกว่า นิตยสารเล่มหนึ่งเขามีประกวดเขียนเรื่องลึกลับ…ผมก็เลยลองเขียนส่งไป ปรากฏว่าได้รางวัล…นั่นละครับ คือจุดเริ่มต้น’

เห็นหรือยังว่า เป็นนักเขียนนี่ดีกว่าอาชีพอื่นๆอีกมาก นั่นก็คือ แม้จะพิการเพียงใด ถ้ามือขวาและมันสมองยังทำงานได้คล่องตัว ก็ไม่ต้องกลัวอดตาย

เมื่อศศินถามเขาถึงสาเหตุแห่งการพิการ

เขาก็บอกว่า เขาตกต้นไม้ ขาสองข้างก็เลยเป็นอัมพาตมาทั้งหมดสิบห้าปีแล้ว

‘ตอนนั้น ผมเรียนอยู่ปีสองทางรุกขวิทยา สาขาวนศาสตร์ที่เกษตรน่ะครับ ทีนี้ก็ต้องออกป่าไปฝึกภาคฤดูร้อนที่ต่างจังหวัดไงฮะ อาจารย์ให้ผมปีนขึ้นไปเก็บใบตะแบกมาเป็นตัวอย่าง เผอิญตรงนั้นกิ่งมันผุอยู่ ทานน้ำหนักผมไม่ไหว ก็เลยตกลงมา…จากกิ่งถึงพื้นก็ราวสิบห้าเมตร…’

เพียงแต่อ่านมาถึงตรงนี้ ฉันก็ได้แต่ขอบคุณนางเอกของฉันที่นำมาเล่าให้ฟังอย่างถี่ถ้วน ล้วนเป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่สามารถแต่งเอาเองได้เลย…แม้จะได้บ้างก็ไม่มีรายละเอียดมากเท่านี้

นั่นก็เพราะนางเอกเป็นผู้พิการหัวก้าวหน้าดังจดหมายถึงเพือนหญิงในต่างแดน ความว่า

‘เดือนแรกหมดไปกับการอ่านการแปลเอกสารน่าสนใจจากบุคคลลับๆ แต่อาจจะไม่ลึกเท่าไหร่

เดือนที่สองถึงที่หกฉันได้งานทำที่นิตยสารการเงินการตลาด เพียงแต่มันไม่น่าสนุก

จึงต้องหันไปดึง ‘หนังสือเด็ก’ ที่เคยอ่านไว้มาแปลลง ‘เอกรัฐวันอาทิตย์’ แต่ไม่มีค่าเรื่อง

ไม่มีก็ไม่มี ฉันไม่เกี่ยงอยู่แล้ว

แต่มีเรื่องใหญ่จะเล่าให้ฟังว่า

ฉันซื้อคอมพิวเตอร์แล้ว

ทันทีที่พิมพ์เป็นและรู้รหัสต่างๆ ฉันก็เกณฑ์ให้มันรับใช้เสียจนมันเกาหัวเพราะความกลุ้ม

แต่เรื่องแปลใน ‘เอกรัฐวันอาทิตย์’ ก็ทำท่าจะไปไกล ถ้าไม่นับพ่อฉันที่วิ่งตามซื้อมาให้สมาชิกในครอบครัวอ่านด้วยความปลื้มกันถ้วนหน้า รวมทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง นักอ่านที่เป็นพ่อแม่ คุณครู และพวกหนูๆเองด้วย ที่ชวนกันมาเป็นแฟนอย่างคับคั่ง

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่น่าจะเป็นนิยายขายดีอันดับหนึ่งก็คือเรื่องแปลที่บุรุษลับที่ไม่น่าจะลึกสักเท่าไหร่คนนั้นส่งมาให้’

 

ประสบการณ์ที่ผ่านมาในบริษัทสยามมีเดียที่มีหนังสือเด็กรวมอยู่ด้วย ช่วยกระตุ้นความคิดให้ศศินใคร่ทำหนังสือให้เด็กอ่าน

เด็ก…เด็ก…และเด็ก

หล่อนรักและสงสารพวกเขา…ไม่ว่าเขาจะมีแขนขาหรือไม่มี ผิวขาวผิวเหลืองหรือผิวดำ…ใช่แล้ว…เด็กๆในห้องกระจกที่โรงพยาบาลกรุงลอนดอนช่วยหล่อนได้มาก ให้เปลี่ยนจากศศินแสนดื้อมาเป็นเริงร่า รักชีวิต

เจเนทผู้ไม่มีขา มีแต่แขน ผิวขาวอมชมพู นัยน์ตาสีฟ้าใส ผมหยิกหยักศกสีทองเจือน้ำตาล ยามอารมณ์ดี จะเดินรี่ไปด้วยขาเทียม หยิบวิกผมดำในกล่องของเล่นมาครอบหัว แล้วเด็กทั้งนั้นก็จะล้อขึ้นพร้อมกันว่า ‘เมย์’ อันหมายถึงหล่อน เด็กเอเชียคนเดียวของวอร์ด

โลกของเด็กในห้องกระจก เป็นโลกที่ไม่มีวันหลุดไปจากความทรงจำของศศิน

เมื่อนำความปรารถนาไปบอกกล่าวพลเพื่อนทางสายโทรศัพท์ผู้พิการคนนั้น เขาก็เห็นด้วยเพราะหนังสือสำหรับเด็กจริงๆที่อ่านได้จริง ไม่ค่อยมี

ศศินจึงบอกเขาว่า

“ถ้าทำ ฉันคงทำนิตยสารสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น”

ครั้นแล้ว ฉันก็ต้องย้ายจากหญิงสาวหัวก้าวหน้า-นางเอกของฉันไปสู่พระเอกของฉันบ้าง

ฉันกะเกณฑ์ให้เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯโดยไม่ชักช้า กะจะอยู่ 7 วันรวด…มาค้างคืนบนเพนท์เฮาส์อันเป็นห้องชุดของเพื่อนผู้อาวุโส เจ้าของอาคารชุดบนถนนหรูหรา ซึ่งบัดนี้ทุกหนแห่งคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ด้วยว่าเป็นปีท่องเที่ยวไทย

ป่าสักมีเพียงนิตยสาร ‘ท่องไพร’ มาฝาก

เขาเป็น ‘มือสารคดี’ มายาวนาน นับแต่ ‘เข้าป่า’ ครั้งกระนั้นซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุชีวิตที่มิได้ทำให้เขาเสียใจใดๆ

ครั้นมรสุมทั้งหลายสิ้นสุดลง ชายหนุ่มจึงตัดสินใจยึดงานเขียนประเภทสารคดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิตและวิญญาณในพงพีที่เต็มไปด้วยความงามความมหัศจรรย์อันเป็นโลกแห่งความยิ่งใหญ่ไว้สรรสร้าง

บัดนี้ เขาจึงโทรศัพท์นัดพบกับศศิน ผู้แปลงานของเขา

จึงได้รู้ว่า แม่ของเขาเองก็ถูกตัดแขนซ้ายออกเพราะรถคว่ำ เหลือแค่แขนขวา

ครั้นแล้ว หนุ่มสาวจึงได้คุยกัน…เต็มอิ่ม…จนสมกับเป็นวันแรกที่พบเจอ

ฉันเองก็พลอยละเมอไปกับทั้งคู่ พร้อมกับรู้สึกเสียดายที่นวนิยายเรื่องนี้มีรายละเอียดล้ำค่า แต่ฉันคงบรรยายยืดยาวไม่ได้ เนื่องด้วยใคร่ให้จบภายในเนื้อที่ที่ไม่ต้องมีตอนต่อไป

ขอให้เพียงพอแก่การแสดงแจ้งเกิดของชายคนหนึ่ง อายุ 32 ปี เป็นบรรณาธิการนิตยสารเกี่ยวกับป่า เนื่องจากเคยผ่าน ‘ป่า’ มาแล้วอย่างลึกอย่างซึ้ง ทั้งป่าการเมืองและป่าการบ้าน จนกระทั่งบัดนี้ เขาสงบลงแล้ว เข้าใจแล้วถึงสายสนกลในที่สองเรื่องนั้นพามา

ต่อจากนั้น ฉันก็ให้ศศินเชิญเขามาเลี้ยงตอบแทนการเลี้ยงครั้งแรกที่เขาเป็นผู้จ่าย…เพื่อจะได้สัมภาษณ์ชีวิตส่วนใหญ่ของเขาว่าไปอย่างไรมาอย่างไรจึงไปหมกตัวอยู่เชียงราย ออกนิตยสารเกี่ยวกับป่าไม้ เขื่อนกั้นน้ำจนเขียนสารคดี ‘ตามเขาไปชมเขื่อน’ ที่ศศินประทับใจ…ตรงที่…เขามิได้ลงโทษเขื่อนเหมือนที่คนอื่นๆชอบลงโทษ…เพราะเขาชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของทุกทุกงาน

ที่สำคัญก็คือ ไม่มีอคติ

จนหญิงสาวต้องใช้คำว่า ‘คาดไม่ถึง’

เพราะผู้มีเหตุผล…ก่อนปรักปรำเรื่องใดย่อมต้องใส่ใจใคร่ครวญ นำข้อดีข้อเสียของเรื่องนั้นมาขึ้นตาชั่งแล้วจึงคิดเขียนหรือโฆษณา คนผู้นั้นจึงจะเหมาะแก่การเป็น ‘สื่อมวลชน’

“ขอบคุณที่ชอบ” เขาจึงตอบอย่างประทับใจ “เมย์เดินสายกลางได้ดีมาก พี่เสียอีก ตอนสมัยเด็กๆนี่ เกือบไม่เคยรู้จักคำว่าสายกลางเลย…เอาแต่ใจตัว ตกขอบ ล้ำเส้นอะไรได้เรื่อยๆ โชคยังดีอยู่นิดตรงไม่ใช่คนมีปมด้อย ก็เลยดึงตัวเองขึ้นจากหุบเหวนั่นได้มั่ง”

ต่อจากนั้น ศศินจึงมีโอกาสนำนิตยสารเกี่ยวกับเด็ก 5 เล่ม ของฝรั่งสอง ของไทยสาม มาให้เขาช่วยเทียบดู

“เมย์จะตามใจเด็ก…เปรียบเหมือนให้ ‘ขนม’ กับเด็ก แต่แทรก ‘ยา’ ไว้ด้วย…นิตยสารเด็กเล่มนี้จะ ‘ไม่สอน’ เพียงแต่ ‘ชี้ทาง’ เท่านั้นค่ะ”

“ผมว่า น้ำใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันละมังครับ ที่เร็วกว่า แน่นอนกว่ากฎหมาย”

อือ…ฉันก็เลยกำกับการแสดงอย่างเพลิดเพลินเบิกบานที่สุดอีกครั้งหนึ่งเมื่อได้มาอยู่ ‘หลังม่าน’ ในเรื่องนี้

แม้ไม่มีเสียงสัพยอกหยอกยั่วหรือดูเหมือนตัวละครจะหันมาตาเขียวใส่ แต่ฉันก็สำราญใจหาใดเหมือน

“ถ้าเมย์จะขอให้พี่มาเปิดคอลัมน์ในหนังสือของเมย์ พี่จะให้ชื่อคอลัมน์ว่าอะไรล่ะคะ”

เขาจึงบอกหล่อนว่า จะให้ชื่อ ‘ส่องกล้องท่องไพร’ พร้อมวาดภาพประกอบ

หล่อนก็เลยรู้ว่าเขาวาดรูปได้

 

เพียงแต่ที่บ้านเชียงรายของป่าสักนั้น นอกจากแม่และป้าแล้ว เขาก็ยังมีเพื่อนบ้านสาวอีกผู้หนึ่ง นามว่าสีคราม

ทำให้ศศินเหน็บหนาวในดวงใจขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้เมื่อพ่อแม่น้องชายและหล่อนชวนกันไปเที่ยวบ้านเขาที่เชียงรายเพราะรู้แล้วว่าครอบครัวเขาและครอบครัวหล่อนเคยรู้จักกันมาก่อน

แต่จู่ๆก็มีสีครามผุดขึ้นมาทำลายความอบอุ่นของศศินอย่างกะทันหัน แม้แม่ของเขาจะบอกเล่าว่าสีครามมีอาเป็นพรานเก่า ป่าสักก็เลยได้อาศัยพรานผู้นั้นพาเข้าป่าเมืองเหนือเกือบทุกเมือง เพราะพรานกว้างขวาง รู้จัดหมดทั้งป่าไม้ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

‘พระเอกของเมย์จะต้องมาสักวันหนึ่ง’ เสียงเพื่อนสนิทดังแว่ว

หล่อนเองก็รู้…ตนเองมีทั้งเลือดเนื้อ กายใจดังเช่นเพศสตรีทั่วไป

แต่ผู้กำกับก็รับรู้เพียงว่า ตนเองกำลังพาผู้อ่านตระเวนชมเชียงราย เชียงของและลำน้ำใหญ่ที่ไหลหลากมาจากพม่า แบ่งเขตไทย-ลาวออกจากกัน มีทั้ง ‘หาดไคร้’ ‘ดอนกูด’ ‘ดอนแวง’ ‘ปลาบึก’ และดอกซอมพอ อันคือ ดอกหางนกยูงบานในเดือนเมษายนทุกปี เพื่อเก็บสถานที่ที่รักชอบไว้ในรอบรั้วนวนิยาย…หากเรื่องนั้นๆเต็มใจเดินทางไปกับฉัน

ดังเช่นเรื่อง ‘เงาจันทร์’ นี้

ด้วยว่า ฉันจงใจทีเดียวที่จะโชว์เชียงราย

พอดีด้วยกันที่พระเอกเป็นนักส่องกล้องท่องป่า

นางเอกจะทำนิตยสารที่ต้องมีความรู้ทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องสั้น เรื่องแปล การ์ตูน ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แฟ้มนักประพันธ์ กีฬา คอมพิวเตอร์ของเล่น ธรรมะ หนังสือดีที่น่าสนใจ คอลัมน์ธรรมชาติวิทยา งานศิลปะที่สอนให้เด็กรู้จักทำของเล่นของใช้ง่ายๆด้วยตนเอง คอลัมน์ภาษาไทย สนุกกับภาษาไทย

มีทีมงานทั้งหมด 4 คน คือหัวหน้ากองบรรณาธิการ ผู้ช่วย ฝ่ายประสานงานส่งต่อฝ่ายศิลป์ ฝ่ายธุรการอีกหนึ่ง ออกเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

แต่แล้ว…ขณะที่ทั้งเขาและหล่อนกำลังวางโครงการทำงาน

สีครามก็เริ่มแผลงฤทธิ์ร้ายที่ซ่อนไว้นานนักหนาออกมาพอดี

โดยมาทวงร้านคืนจากพรานอ้วน อาของหล่อน ผู้เป็นเกลอเดินป่าของป่าสัก

คณะของศศินกลับกรุงเทพฯไปแล้ว ศศินกำลังเตรียมออกหนังสือ แต่ป่าสักยังคงท่องป่าต่อไปกับพรานอ้วนและเพื่อนต่างชาติหนึ่งคนนามว่าเดวิด

หากก็ต้องผจญภัยกับนักทำลายป่าจนถูกกระสุนปืนเข้าอย่างจัง

ครั้งกระนั้น ฉันบรรยายเรื่องป่าราวผู้ชำนาญการ นั่นก็เนื่องด้วยมีโอกาสได้ท่องเที่ยวภาคเหนือหลายจังหวัด ทั้งเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เชียงราย เสาะหาความรู้ต่างๆทั้งเกี่ยวกับพระเครื่อง และป่าไม้ที่มีผู้ร้ายคือโจรทำลายป่า มาป้อนนวนิยายของตนเอง

‘เมืองไทยก็เลยกลายเป็นเมืองปราบโจรบุกรุกป่าอย่างไม่มีวันจบสิ้น’ ฉันให้เดวิดพูดดังเช่นที่เขาและเรารู้สึก

เป็นความรู้สึกที่เหมือนกัน

แต่ฉันคงไม่สามารถนำเรื่องร้ายขนาดนั้นมาเข้าฉากได้ ด้วยเป็นเรื่องใหญ่สาหัสที่มี ‘ขบวนการ’ อยู่เบื้องหลัง

จึงเหมาะสำหรับอ่านจากหนังสือเท่านั้น

หน้าม่านบนเวทีนี้จึงมีเฉพาะศศินกับนิตยสาร ‘เพื่อนเด็ก’ และงานเขียนงานแปลที่ส่งหล่อนขึ้นมาโด่งดังเป็นลำดับ

ก้าวหน้ารุ่งเรืองผ่านความเปิดกว้างของวงวรรณกรรมไทยที่สู้กันด้วยฝีมือ

จนกระทั่งชื่อ ‘ศศิน สิตะสาณี’ พุ่งขึ้นสู่ระดับต้นๆของนักเขียนดัง ที่มียอดขายสูงสุด

เล่มหนึ่งนั้นตีพิมพ์ถึงหลายสิบครั้ง อาจใกล้ๆร้อยก็ได้ ฉันเองก็ยังนับไม่ทัน

‘เงาจันทร์’ นี้จึงเป็นเรื่องของนักเขียนหญิงผู้ที่ข้อจำกัดทางกาย แต่ไม่เป็นอุปสรรคใดๆให้ก้าวเดินไปข้างหน้าไม่ได้

ยิ่งผู้พิการมีความสามารถเฉพาะตัว

เรื่อง ‘กลัวชีวิต’ ก็สามารถลบออกไปจากเส้นทางนี้ได้ในทันที

 

– จบ –

 

 

Don`t copy text!