ข้ามมหาสาคร ‘ดูรา’ และ ‘กันตัง’
โดย : กฤษณา อโศกสิน
“หลังม่าน” คอลัมน์ที่จะบอกเล่าถึงชีวิ
ครั้นแล้ว จึงมาถึงเรื่องที่ฉันรักเรื่องนี้ ที่เป็น ‘หนึ่งในดวงใจ’…ที่ฉันเริ่มบรรจุไว้ในความทรงจำรำลึกทุกเวลา ในฐานะที่ตนเองไม่เคยคิดจะบรรเลงดนตรีชีวิตทั้งของคนและของท้องทะเลในท่วงทำนองเช่นนี้มาก่อน
หากเมื่อมีประวัติศาสตร์อันสุนทรผ่านมา…ได้แก่บันทึกของทหารอังกฤษผู้หนึ่ง ฉันจึงรีบดึงโอกาสนี้ไว้ เก็บรายละเอียดมาผูกร้อย…จนได้สร้อยเส้นงาม
คือการเบิกฤกษ์ยามเช้าด้วยถ้อยความดลใจ
‘นางคาดอกด้วยผ้าขาวผืนบางแล้วจึงพันทับด้วยแพรยาวสีนวล ตวัดปลายชายแพรไปพาดไว้เหนือบ่าซ้าย พลางลุกขึ้นจากหน้าคันฉ่องประดับมุกที่หลวงประกาศบุรี บิดาเลี้ยงซื้อมาจากเรือสำเภาจีนอันแล่นอยู่แถวมะละกาเมื่อปีที่แล้ว ขณะนางอายุเต็ม 14 พร้อมถ้อยคำอันชวนให้ตรึงตราจนบัดนี้
นี่นับเป็นคันฉ่องอันงามที่สุดเท่าที่พ่อเคยพบมา เลยซื้อหามาให้เจ้าในคราวที่เริ่มจะเป็นผู้ใหญ่ จะได้เก็บไว้ใช้ส่องหน้าส่องกายทุกเพลา นอกจากนี้ก็จะต่อเรือกำปั่นสองเสาให้เจ้านั่งออกไปชมทะเลที่ไกลออกไปจากหน้าบ้าน
ครั้นแล้วในวันนี้ ที่นางอายุเกือบเต็ม 15 ปี…”
ฉันขอแสดงแจ้งเกิดการย้อนยุคของหญิงและชายคู่หนึ่งซึ่งต่างฐานันดร…อย่างที่ต้องทอดถอนใจในความห่าง…ไว้เพียงเท่านี้ก่อน แม้ว่า ฉันนั้นจะเป็นผู้ไม่เคยกลัวเกรงใดๆในความเป็นไปของโลกที่มีโชคและเคราะห์เป็นเดิมพัน…จึงมักฝึกปรือให้ ‘ตัวละครของฉัน’ สู้ได้เมื่อภัยมาในทุกกระบวนท่า…ก็ยังเหน็ดเหนื่อยบางเวลา
ไหนเลยชีวิตชีวาของมนุษย์จะสิ้นสุดด้วยสุขเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น เพียงแต่เปิดฉากแรก ฉันก็บ้าบิ่นถึงแก่เกี่ยวร้อยเอา ‘ชายท่าทางผ่าเผยในผืนผ้ามอมแมมหยักรั้ง ท่อนบนเปลือยเปล่า ผมตัดสั้นเกือบเกรียน เอาแต่กวักมือ จนกระทั่งเรือเล็กเข้าไปเทียบแทบโขดหิน จึงรีบโดดลงนั่งจนเรือเอียงโดยมิเอ่ยวาจาว่ากระไร’ มาเข้าฉากในทันที
เพียงประโยคใหญ่ๆแค่นี้ ฉันก็โล่งอกที่สุดแล้ว
เพราะว่าได้คนสำคัญมาลงเรือร่วมกันในระยะเวลาอันสั้น
แม้ว่า ‘ลูกเรือค่อนข้างตกใจเหมือนกัน’
อย่าว่าแต่ลูกเรือจะตกใจ…ฉัน…คนส่งบท คนกำกับการแสดงเองก็ยังแปลกใจ
“มึงเป็นผู้ใดจึงบังอาจ” คนกรรเชียงท้ายส่งภาษามลายู
ผู้ชมคงไม่แปลกใจสักเท่าใดที่ฉันเขียนบทให้ลูกเรือลำนี้มีแต่คนมลายู…ในเมื่อสมัยโบราณนานมานั้น ประวัติศาสตร์บันทึกไว้…แต่ฉันคงไม่บังอาจบรรยายเกินขอบเขตไว้ ณ ที่นั้นอันเป็นที่ทางของนวนิยาย
ฉันจึงเพียงแต่เรียงร่ายสืบไปด้วยความว่า
‘ดวงหน้าชายผู้นี้ไม่กระเดียดคนจีนแม้สักน้อย คนจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนที่ทยอยกันลงเรือ ‘หัวเขียว’ จากทะเลจีนใต้สู่ภาคใต้ของอ่าวสยาม’
สั้นๆแต่ได้ความแจ่มแจ้งจูง ใจ
ให้ผู้ชมได้ทราบเพียงว่า ภาคใต้ปลายแหลมมลายู มีชนชาติใดเป็นเจ้าเข้าครองอยู่ตรงนั้น ณ เวลานั้น
จึงจะขอแถมไว้ ณ ที่นี้นิดหนึ่งว่า ‘แหลมทอง’ อันเริ่มตั้งแต่ ‘คอคอดกระ’ ในจังหวัดระนองของไทยเราในปัจจุบัน แต่เดิมนั้นเรียกขานกันว่า ‘แหลมสะการามาเซ็น’ (Khersonese) ซึ่งหมายถึง ‘แหลมทะเลเค็ม’ สะการาหมายถึง ทะเล มาเซ็น หมายถึงเค็ม มีเจ้าของถิ่นเดิมเป็นคนป่าเถื่อนดุร้าย กินคน กินสัตว์ ใช้เปลือกไม้ทุบจนนิ่มมาพันกายส่วนล่าง…ทั้งหมดมี 4 จำพวกด้วยกัน พวกแรกถูกเรียกขานกันว่า ‘ยักษ์’ พวกที่ 2 เรียกว่า ‘เงาะ’ หรือ ‘คนัง’ พวกที่ 3 เรียกว่า ‘ซาไก’ พวกที่ 4 เรียกว่า โอลังลาโอด หรือชาวน้ำ ชาวเล มีเรือเป็นพาหนะ เร่ร่อน อยู่ไม่เป็นที่…ผู้คนไปมาหาสู่กันก็มีแค่เรือใบ ด้วยว่ายังใช้ลมกับใบพาไปพบปะสมาคม โดยชมรมที่มีทุกหมู่เหล่าแน่นขนัด ก็คือปลายแหลมแห่งนี้
ครั้นแล้วจึงมีผู้คนขนานนามดินแดนปลายแหลมว่า ‘มลายู’ อันหมายถึง ‘ผู้อพยพ’ มิได้หมายถึงเชื้อชาติแต่อย่างใด
ก็มีทั้งชาวอินเดีย ชาวทมิฬ และชาวเกาะจากหมู่เกาะต่างๆทางใต้ของคาบสมุทร เช่น จากสุมาตรา ชวา บาหลี สุลาเวสี ที่ส่วนใหญ่เคยเป็นทหารรับจ้าง ต่างก็ต้องหลบลี้หนีทั้งภัยสงครามและภัยธรรมชาติคือภูเขาไฟระเบิด มาตั้งถิ่นฐานอยู่บนคาบสมุทรมลายู
ฉะนั้น ฉันจึงไม่สามารถหยิบยกเอาชนชาติไทยที่ไม่มีเชื้อชาติอื่นเจือปนเข้ามาเป็นพระเอกนางเอกในเรื่องนี้ได้เลย แม้ได้…ก็อย่างยากลำบาก
นางเอกของฉันจึงมีคำบรรยายไว้ตั้งแต่เปิดฉาก แจกแจงผู้ที่คุณหลวงพาลงสำเภาสองเสาใหม่เอี่ยมชื่อ ‘ดูรา’ คือ ชื่อนามนางเอกว่า
‘ดาบ พี่ชายคนโต ลูกนางพร้อม เมียหลวง ด่าน ลูกนางสำริด พี่คนที่สอง กับด้าว น้องสุดท้อง อายุ 14 ลูกนางบุญเลี่ยม ต่างก็เห่อเรือลำใหม่ที่บิดาต่อให้เป็นส่วนตัว ดูรา น้องบุญธรรมที่เกิดจากขุนเทพอักษร แลนางเทียน ผู้ดูแลเมืองตะกั่วทุ่ง ผู้ถูกสะลอแม โจรสลัดใหญ่ฆ่าตายในระหว่างพาเรือสำเภาลงใต้สู่ช่องแคบมะละกา ทิ้งลูกหญิงวัย 5 ขวบไว้กับตายาย
หลวงประกาศบุรีในฐานะสหายสนิทจึงพาเด็กหญิงมาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมตั้งนามให้ด้วย
เกี่ยวกับตัวตนของหลวงประกาศบุรี ฉันก็จาระไนไว้เต็มที่จนแลเห็นภาพว่า เขามี
‘ความคิดทันสมัย ผ่านอุปสรรคด้านค้าดีบุก รังนก ข้าวสาร แลเกลือจากการส่งเรือสำเภาสามลำออกไปยังเมืองจีน เวียดนาม ลาว แลอินเดียมาแล้วอย่างหนัก
โดนโจรสลัดปล้นสินค้าสะบักสะบอมก็รู้รสแล้ว จึงมิวางใจผู้ใด
เมื่อมีลูกชายก็ใคร่สอนสั่งบังคับให้เรียนวิชาทั้งภาษาสยาม ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ… ‘เจ้าจะได้สืบอาชีพของพ่อต่อไปได้ด้วยไหวพริบปฏิภาณ ดูแลน้องสาวของเจ้าดุจน้องในไส้ ด้วยว่านางคือเลือดก้อนเดียวของขุนเทพอักษร…เพื่อนรักนักเลงของพ่อ ที่พ่อเองก็สู้มันไม่ได้’
ครั้นแล้ว ฉันก็บรรยายให้ตัวละครรับรู้สืบไปว่า
‘คราใดที่บิดาเอ่ยคำ ลูกชายทั้งสามก็มักจะหวนรำลึกถึงท่านขุนร่างใหญ่ แต่งกายรัดกุม นุ่งโจงกระเบนไหมตาหมากรุก แลสวมเสื้อแขนสั้นอยู่เสมอ ไว้หนวดเป็นแนวยาวเหนือริมฝีปาก ดวงตาโตคม ด้วยว่าเค้าโครงหน้ามีเชื้อสายทมิฬที่อยู่ทางใต้ของชายฝั่งโคโรแมนเดล ที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘จูเหลี่ย’ ’
พรรณนามาถึงตรงนี้ ทั้งตัวละครและผู้ชมคงนึกภาพทุกภาพได้ชัดแล้วกระมังว่า
แม้แต่นางเอกนามดูราก็เป็นลูกครึ่งจูเหลี่ยสยาม
คราวที่บิดามารดาหายไป แล้วตากับยายบอกกล่าว ‘พ่อกะแม่เจ้าถูกโจรสลัดฆ่าตาย’ จึงมีผลให้นางจดจำแล้วอาฆาตอยู่ในใจตลอดมา
ครั้นแล้วจึงย้อนกลับมาที่ชายนุ่งหยักรั้งผู้เพิ่งโดดจากโขดหินมาลงเรือที่คุณหลวงสั่งให้ออกไปรับ
ฉันแจกแจงไว้ดังนี้
‘อายุอานามคงไม่เกิน 25 ปี ผิวสองสีอมน้ำตาลอ่อนเนียนแน่น แลเห็นขาแขนเนื้อกล้ามทุกส่วนสัด’
ต่อจากนั้น กะลาสีจึงพาชายแปลกหน้าผู้นี้เข้าไปพบหลวงประกาศบุรี ผู้นั่งเป็นสง่าอยู่บนเบาะในห้องกลางลำเรือชั้นล่าง พรั่งพร้อมด้วยตาปันจัง ตาของนางเอก แลลูกทั้งสี่ของคุณหลวง
เป็นเรือสำเภาสองเสาที่กว้างสบาย…ชายหนุ่มเพียงแต่นึกในใจขณะมองกวาดถ้วนทั่วจนถึงเนื้อตัวหญิงหนึ่งซึ่งนั่งเคียงชายเกือบชรา
“เจ้าชื่อไร” คุณหลวงถามไถ่
“ชื่อกันตังขอรับ”
โดยพลัน ภาพอันโหดอำมหิตก็เลื่อนเข้ามา
‘เด็กสาวผู้นี้รือมิใช่คือบุตรีขุนเทพอักษร คหบดีในรัชกาลก่อนแห่งตะกั่วทุ่ง ขณะกำลังมุ่งขนดีบุก รังนก ข้าวสารออกไปขายยังหมู่เกาะในทะเลชวา
แม้รู้ว่าคงต้องฝ่าดงโจรสลัด หากก็คงทะนงในกองเรือจำนวน 4 ลำที่กำกับไปเป็นขบวน มีปืนไฟ ดาบ ธนู ปืนสั้น ปืนยาว กับชาวเรือเจนทะเลครบครัน จนลืมครั่นคร้ามโจรใหญ่นาม ‘สะลอแม’ ผู้มิเคยแพ้ใคร
หากนั่นก็มิใช่เรื่องราวที่ควรเก็บมาใส่ใจ
หญิงรุ่นสาวงามเลิศเฉิดโฉมนี่ต่างหากคือต้นเค้าที่นำเขามาในครานี้’
ขณะที่กำกับตัวละครให้ทยอยกันออกมาปรากฏกาย…ฉันเองก็ยังมิวายประหม่า…ด้วยว่าต้องระแวดระวังทุกท่วงท่า…เพื่อให้ตัวละครเดินทางไปกับบทบาทอย่างสมจริง
“เจ้าอ่านหนังสือออกหรือไม่” คุณหลวงจึงเอ่ยถาม
นั่นก็ด้วยฉันเอง…ฉันต้องหาทางให้ตัวละครแม้เกิดภายในสมัยก่อนย้อนไปเป็นร้อยปี ก็ควรจะต้องเล่าเรียนเขียนอ่านเพื่อพาการงานของตนให้ไปได้ไปดีไปไกล ไม่เหรอหราเมื่อออกไปพบโลกใหม่ๆ
ในรัชสมัยปลายรัชกาลที่ 2 ต่อรัชกาลที่ 3 คือ พ.ศ.2367 ที่ปรากฏในเรื่อง ฉันติดตามการเมืองภาคใต้มาได้พอสมควรแก่การพาตัวละครเดินทาง เนื่องด้วยขณะนั้น ชาติตะวันตกแผ่ขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมพม่า ปีนัง สิงคโปร์ มาแล้วพักใหญ่ ชาวภาคใต้มิว่าสยาม จีน มลายู จึงเป็นผู้ร่วมรับความเจริญทางความคิดแลการใช้ชีวิตด้านต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมิทันรู้สึก
โดยเฉพาะบริเวณแหลมมลายู อาจกล่าวว่า คือสถานที่นัดพบของผู้คนทุกชาติทุกภาษาก็ว่าได้
ด้วยว่าเป็นดินแดนที่ลมมรสุมสองสายพัดมาบรรจบกันในเดือน 10 แล เดือน 11
เรือใช้ใบทุกลำที่บรรทุกทั้งสินค้าแลผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจึงต่างก็ต้องหยุดการเดินทางก้าวลงจากเรือเพื่อทำกิจอื่นตามความชื่นชอบส่วนตน ณ ดินแดนแห่งนี้ที่ไม่มีประเทศใดขนาบข้าง
อือ อู อา…ฉันออกแบบบทไป กำกับการแสดงไปอย่างมีความสุขมากมาย…จนเกิดสงสัยครามครันว่าเหตุใด ฉันจึงสนุกสนานกับ ‘ข้ามมหาสาคร’ ถึงเพียงนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกตัวละครก็ดูเหมือนจะพลอยสนุกตื่นเต้นเป็นทุกข์เป็นสุขไปกับฉัน
อย่างกันตังยังแอบมากระซิบ
“คุณครับ ขอบคุณคุณมากเลยที่ไม่รังเกียจผม พาผมมาเข้าฉากตั้งแต่บทที่ 1…คุณไม่แบ่งชั้นวรรณะแสดงท่าทางรังเกียจผมแม้กระทั่งแววตา…ผมเห็นคุณจดจ้องมองผมตอนที่คุณดาบสั่งให้นั่งลง…เหมือนเอาใจช่วยให้ผมทำมารยาทสวยๆหน่อย ขอบคุณด้วยใจจริงนะครับ”
ฉันก็เลยตอบเขาเพียงสั้นๆ
“เธอรู้ไหมว่า ฉันรักตัวละครของฉันเรื่องนี้มากกว่าทุกเรื่อง”
“ทำไมหรือฮะ” พอผู้กำกับใจดี พ่อนี่ก็ชักจะยุ่งกะฉันละ
“คิดเอาเองไปพลางได้ไหม กันตัง”
พระเอกก็เลยหน้าม่อย รีบหลบวูบไปหลังฉาก
ไม่ได้เลย…ตัวละครพวกนี้…ตามใจมากไปก็เหลิง กดขี่มากไปก็รี่เข้ามาฉอดๆไว้เว้นตะละฉาก
แต่ฉันก็ดึงเขาออกมาให้ปากคำคุณหลวงจนอีกฝ่ายพอใจ
จึงได้รู้ว่ากันตังเรียนจบจากปีนัง ฟุดฟิดฟอไฟละไมนัก ไม่อึกอักอ้อมแอ้มเหมือนผู้กำกับ…ฮิฮิ…
“ครูเป็นคนอังกฤษขอรับ พูดภาษาสยามได้ค่อนข้างชัด รู้ประวัติศาสตร์กับความเคลื่อนไหวของพระเจ้าแผ่นดินสยามมากกว่าชาวต่างชาติหลายคนที่บางทีก็รู้อย่างผิดๆขอรับ”
เมื่อถึงตรงนี้ ฉันผู้อยู่ ‘หลังม่าน’ ก็แอบตบมือชนิดไม่มีเสียงให้กันตัง
“มันต้องยังงี้ซี ไอ้หนู” ฉันพึมพำพลางทิ้งแสงตาชมเชยไปยังชายที่เพิ่งส่งออกไปปรากฏกายปรากฏปัญญาอยู่ตรงนั้น ตรงแสงไฟสว่างจ้า มีครอบครัวหลวงประกาศบุรีนั่งรวมกลุ่มคอยจับผิด
ครั้นแล้ว คุณหลวงก็ยังซักไซ้ไล่เลียงอีกบานตะไทเกี่ยวกับความรู้ทางช่างที่เขาว่าเขามี
หมอนี่ก็ตอบได้ตอบเอาอย่างถูกต้อง
ครั้นแล้วจึงมาถึงคำถามสำคัญ แต่มิใช่คำถามสุดท้าย ฮา ฮา ฮา
“พ่อเจ้าทำไรจึงส่งลูกไปเรียนสูงขนาดนี้ได้”
“ก็เป็นแค่คนหาปลาเท่านั้นขอรับ” เขาจึงตอบกลับไปตามคำสั่งของฉันที่ขอให้เขาโกหกพกลมไปพลางก่อน รอจนกว่าจะถึงบทตอนอันเหมาะสม…ค่อยขยายความจริงออกมา
เขาก็เลยจำใจต้องตกลง หากก็บ่นออด
“เป็นอันว่าต่อไปนี้ผมก็ต้องโกหกตลอดเลยหรือไง”
“เออ” ฉันพยักหน้า “โกหกไปก่อน ก็จะเสียหายอะไรนักเรอะ…เพราะนี่นายก็โกหกหน้าตายมาตั้งหลายสิบนาทีแล้วไง…คุณพ่งคุณพ่อเป็นคนหาปลา…ชิ…ชิ…”
คราวนี้ พระเอกก็เลยจนมุม ยกมือท่วมหัว
มีบางคนที่ติดตามเรื่องนี้ บอกฉันว่า แต่แรกคิดว่าฉันจะเขียนเกี่ยวกับการเมืองภาคใต้ในสมัยนั้น ฉันก็เลยชี้แจง ไม่มีวันเสียละที่จะเขียน…แค่อ่านก็เอียนแทบตายแล้ว…ก็คิดดู…เดี๋ยวชาตินั้นยกทัพไปตีชาตินี้ เดี๋ยวก็ส่งทูตไปชิมลางชาตินั้น เผลออีกแป๊บก็แอบไปติดต่อชาติโน้น…เหมือนคนอยู่ไม่สุข…เหมือนคนเกเรอยู่ว่างไม่ได้ ต้องหาทางไปทำให้อีกชาติบรรลัยวายวอด
นับเป็นเรื่องที่เกิน ‘ฮอต’ สำหรับฉัน
ครั้นแล้วจึงตกลงใจจะใช้จดหมายเหตุของชายต่างชาติพาผู้ชมทั้งหลายล่องเรือเล่นอย่าง-สะ-บาย-สะ บาย ไปให้ถึงปีนังแค่นั้น
โดยปนปรุงทั้งเรื่องให้ได้รสชาติสีสันจากความห่างชั้นฐานันดรระหว่างนางเอกกับพระเอก
ก็จะเป็นไรไป ในเมื่อฉันก็เคยพบเคยเห็นเคยอ่านมานักแล้วถึง เจ้าหญิง เจ้าชายแลมิใช่เจ้า ที่เลือกได้คู่ครองที่เป็นชาวบ้าน บ้างก็เป็นทหารของพระราชาผู้บิดา บ้างก็เป็นหญิงคนใดคนหนึ่งที่เพียงแต่มีความงาม ก็เลยได้แหวกวงล้อมของชนชั้นออกมาได้ง่ายๆคล่องๆ…แถมบางรายยังเปิดกล่องกับฤาษีก็มีแล…
ฉะนั้น ฉันจึงเพลินแท้ๆกับดูราและกันตัง
รวมทั้งให้รายละเอียดตามทางผ่านของเรือดูรา ในฐานะเรื่องเล่าจากชาวต่างชาติผู้หนึ่ง
นั่นก็คือแวะเฉพาะเมืองที่ถูกบันทึกไว้ในจดหมายเหตุของเขา อันได้แก่เมืองพังงา
โดยขอที่ทางให้ตัวละครที่ฉันเสกสรรปั้นแต่งจากจินตนาการ เดินทางไปสวมรอยเข้ากับตัวอักษรที่ชาวต่างชาติบรรยายไว้ในปีนั้น
ไม่เห็นจะยากเย็นอันใด
โชคดีนักหนาแล้วนะที่ฉันฝักไฝ่ใจถึงจึงนำมาปรุงเป็นเรื่องแต่ง อ้างอิงได้ไม่ว่านักแสดงจะคือผู้ใด
แต่รับรองว่าภูมิประเทศนั้นน่ะใช่แน่…ใช่ชายฝั่งทะเลอันงดงามราวสวรรค์บนดินของภาคใต้แห่งสยาม
ใช่คนจีนฮกเกี้ยน ใช่คนมลายูซึ่งอาจเป็นลูกครึ่งสยาม-มลายู อย่างกันตัง หรือจีน-สยาม-มลายูอย่างเหมือง…พระร้ายหรือพระรองที่ฉันกะเกณฑ์ให้เข้ามาปล่อยของของเขาสู้กับพระเอก
เรียกว่า ชิงนางคนเดียวกันอันเป็นงานอดิเรกของนวนิยาย โรแมนติกที่ไม่มีวันตาย
ฉันก็เลยใช้เรือแต่ละลำนั่นละ…สร้างเหตุการณ์ขึ้นมา…เพื่อว่าตัวละครและตัวฉันจะได้มีที่ทางสำหรับหย่อนใจ เพราะที่ใดเล่าจะแสนสำราญด้วยสายลม เมฆหมอกระลอกคลื่นงามตระการดังเช่นนั่งล้อมวงกันอยู่บนดาดฟ้าเรือใหญ่ที่ใบเรือถูกปลดลง
ฉันจึงบรรยายไว้ขณะหวนระลึกถึงความหลังเมื่อนานมาแล้ว แต่ยังจำได้
‘ดาดฟ้าจึงคล้ายลานหน้าเรือนที่ไม่ขยับเขยื้อนด้วยคลื่นลูกเล็ก
กัปตันเซปากับกันตังถูกเกณฑ์ให้ลงไปรอรับชายผิวขาวนัยน์ตาใหญ่ ผู้วันนี้แต่งกายด้วยโจงกระเบนไหมตาหมากรุก เสื้อไหมสีขาวแขนยาว ทับด้วยเสื้อกั๊ก ดูใหญ่โตโอ่อ่ามาตั้งแต่ก้าวขึ้นมาบนเรือ
แลเห็นคุณหลวงนั่งอยู่บนเบาะ แวดล้อมด้วยลูกๆแลปันจัง มีกะลาสีช่วยกันลำเลียงอาหารของเหมืองขึ้นมาวางเรียงเต็มกลางเสื่อ สมทบด้วยอาหารจากครัวในเรือนี้ที่เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวใต้ จึงไม่ซ้ำกับอาหารจีนที่มีเป็ดย่าง เป็ดพะโล้ หมูสามชั้นผักกาดดองที่เรียกกันว่าเคาหยก ปลานึ่งซีอิ๊ว ปลากระบอกทอด…’
ฉันจาระไนจนตัวละครน้ำลายไหลไปตามกัน
“ไม่ทราบว่า ป่านนี้ทูตอังกฤษถึงไหนแล้ว” เหมืองพึมพำ “นอกจากนั้นก็ยังไม่ทราบด้วยว่าเจ้าเมืองนครจะให้เข้าพบหรือไม่”
“เราไปของเราแล้วกัน” คุณหลวงก็เลยตัดบท โดยฉันเองเป็นคนกระซิบ
ก็…โอย…ก็รำคาญชะมัดนี่นา…ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากรำคาญแทนคุณหลวง
เพราะเท่าที่ต่อเรือแล้วขนลูกเดินทางมาเที่ยวนี้ เจ้าตัวไม่ได้มาเพื่อพาตนเองเข้าไปพัวพันกับการเมือง แม้ใคร่รู้เรื่องอยู่เหมือนกัน แต่ก็อยากรู้
ในฐานะชนชาวสยามผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน มิใช่อยากรู้จนต้องเข้าไปทะเลาะกับพวกนั้น
“เอาเป็นว่า ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับทูตของไครทั้งสิ้นดีไหมพ่อเหมือง เพราะแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องอันใดของเรา…เพียงแต่อยากรู้ในฐานะที่เราเป็นคนสยามที่มีคำว่าได้กับเสีย…ซึ่งข้าก็อาจเข็ดสงครามมากไป”
แน่นอนเลยค่ะ คุณหลวง เรื่องสงคราม…คนที่เคยผจญมาแล้ว ย่อมเข็ดทั้งนั้น
“สงครามกะพม่ารือขอรับ”
“ก็ใช่น่ะซี”
“น่าจะยากแล้วขอรับที่จะยกมาตีสยามเหมือนเมื่อก่อน ลำพังถูกอังกฤษตีเมืองทางใต้ของพวกเขาก็น่าจะแย่พอดูอยู่แล้วขอรับ…คงไม่มีแรงจะยกพลไปรบพุ่งกะใครได้…”
จริงของเหมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนี้ฉันอดแอบยกนิ้วให้ตัวร้ายมิได้
อันเหมืองผู้นี้ เพียงแต่พบหน้าดูรา ก็หลงรักเป็นวรรคเป็นเวรจนกะจะขอนางมาเป็นคู่จิ้น…เอ๊ย…คู่ชีวิตให้จงได้ แม้ว่าฉันจะเตือนแล้วเตือนเล่าเฝ้าแต่พร่ำอยู่ข้างหู
“อย่านึกเลยนะว่าหนูดูราเขาจะชอบนาย”
แล้วก็เห็นไหมล่ะ
เพียงแค่ส่งเหมืองลงเรือกลับไป ดาบก็ระเบิดถ้อยคำออกมา
“ไอ้หมอนี่ ท่าทางมันน่าถีบที่สุดคุณพ่อ”
ฉันงี้หัวร่อกั้กๆเลยทีเดียว
จะไม่ให้ดาบโมโหได้ไงในเมื่อหมอนี่เฝ้าแต่จีบนางต่อหน้าพ่อแลพี่ชายน้องชายโดยไม่เกรงใจใคร
เป็นต้นว่าเอ่ยปากถาม
‘แม่นางอยากทำอาหารจีนเป็นหรือไม่ขอรับ’
กับอีกครั้งหนึ่งที่เสนอของขวัญเป็นเครื่องโต๊ะแก้วเจียระไนของอังกฤษ
แต่ดูราจะพลอยเนื้อตัวสั่นเพราะอยากได้ก็หาไม่ อยากอวดด้วยซ้ำว่าตนเองมีแล้วทุกอย่างที่ชายผู้นี้เสนอมา
แล้วก็เหมืองนี่เองที่เป็นตัวน่ารำคาญ คอยติดตามคุณหลวงไปมาเพราะกะจะสอยเดือนดาวมาไว้เป็นของตนให้ได้ แม้ระหว่างนั้นจะมีเหตุการณ์ปลีกย่อยอีกหลายครั้ง แต่ฉันก็ขอมอบให้เป็นเรื่องของผู้ชมแลผู้อ่าน จะไม่นำมาพรรณนาในที่นี้ เพราะถึงอย่างไร ฉันก็ต้องพาตัวละครเดินทางต่อไปจนกระทั่งถูกต้อนไปติดกับด้วยอุบายของเหมือง
นั่นก็คืออุบายของผู้กำกับ เนื่องด้วยต้องเดินตามความลับที่กักไว้
ตลอดเส้นทางที่เรือล่องไป ฉันก็ได้กันตังคนเดียวที่คอยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำทุกสิ่งที่ควรทำ ปกป้องความข้องขัดทุกชนิดให้คุณหลวงที่มีดูราอยู่เคียงข้าง…ปล่อยให้ผู้ชมค่อยๆแจ่มกระจ่างทีละน้อย…ว่า…ใครคือใคร แลมาเพื่ออันใดกันแน่
จนกระทั่ง เหมืองช่วยแปรขบวนด้วยเล่ห์กระเท่จากตัวเขา มีผู้กำกับยืนหยัดเป็นเงาๆอยู่ ‘หลังม่าน’
นานๆครั้ง เขาก็จะเหลือบแลมาทางฉันเหมือนจะฟันด้วยสายตา
‘ไม่มีใครอีกแล้วจะร้อยเล่ห์เท่าคุณ’
ฉันก็เลยฮ่าฮ่าใส่หน้า
‘ขืนไม่ร้อยเล่ห์ ฉันจะเทตัวโกงอย่างนายได้ไง’
ใช่…ฉันกำลังเทตัวโกงโดยพาเหล่าโจร 5 คนมาปล้นเอานางไปพร้อมกันตัง
ดังนั้น ที่เหมืองว่าฉันร้อยเล่ห์ก็เลยพยักหน้าอย่างเต็มใจรับเอา
เพราะถ้าไม่มีฉัน ก็ต้องไม่มีเขา…ไม่มีพวกเขามาเข้าฉาก…เวทีก็จะร้างรา มีแต่ปัญหาจืดๆที่ฉันไม่มันไม่นึกฝันว่าจะกำกับ แม้กำกับก็งั้นๆ
แต่นี่มันยกร่อง ฟักทองแตงไทยเลยละเจ้าค่ะ
เพราะอะไรรู้หรือไม่
ก็เพราะในที่สุด โจรก็พาดูราและกันตังมาถึงจุดหมายปลายทางอย่างไรล่ะ
นั่นก็ดังเช่นที่ฉันบรรยายไว้ดังนี้
‘ประตูที่กั้นระหว่างหัวเรือและห้องด้านในเปิดออก ร่างสูงใหญ่ใบหน้ารกด้วยหนวดเครา มีแวววาบมันเงาคมกริบจากหน่วยตาภายใต้คิ้วหนายาว คล้ายกันกับรองหัวหน้าผู้ถูกส่งไปทำงานแทนตัว
เหตุใดจึงไม่ไหว้นายของข้า ท่านชื่อสะลอแม’
หวังว่าผู้ชมคงจำนามนี้ที่ฉันเกริ่นไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เขาคือโจรสลัดผู้ฆ่าพ่อแม่ของดูรา
“ข้าดีใจที่วันนี้มีโอกาสได้พบเจ้าทั้งคู่”
ดูราขนลุกซู่เลยทีเดียวเมื่อได้ยิน
ไม่น่าเลยที่เขาผู้นี้จะเคยฆ่าพ่อแม่ของนาง
ส่วนกับกันตัง เขาหันมามองหน้านิ่งนาน…พร้อมกะพริบตาถี่
ชายหนุ่มแลเห็นน้ำใสๆหล่อขึ้นเต็มที่ในวงตาใหญ่กว้างแกมแดง เขาคงดื่มสุราขนาดหนักในช่วงเวลาที่ไม่ออกไปปล้น
“ข้าดีใจที่ได้พบเจ้าอีกครั้ง” ในที่สุดเจ้าของเรือก็เอ่ยขึ้น “เราไม่ได้พบกันนาน…สิบปี…ไม่ใช่เวลาน้อยๆ แต่ในเวลาที่ไม่น้อยนั้น เจ้าไม่เคยหายไป เคยอยู่กับข้ายังไรก็อยู่อย่างนั้น”
ครั้นแล้ว เสียงของเขาก็หยุดลง กันตังแลดูราแลเห็นดวงตาที่เอ่อเต็มด้วยน้ำใส บัดนี้มันค่อยๆร่วงลงมาเป็นสายจนหายไปในกลุ่มหนวดเครา
ฉันเศร้าใจจนแทบจะออกจากหลังม่านเอาทีเดียว
หากก็จำเป็นจำใจต้องทำต่อ เพราะนี่คืองาน
ขณะที่ชายหนุ่มผู้กุมมือนางไว้ ได้แต่บีบมือนางเพื่อให้รู้สึกว่า
แม้ยามนี้จักไม่มีใคร หากก็ยังมีเขาที่ไว้ใจได้
สำหรับเรื่องราวที่จะมีต่อไป…ฉันเพิ่งตัดสินใจได้เมื่อไม่กี่นาทีก่อนว่า…
ความซับซ้อนที่ซ่อนไว้ ขอให้เป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่ทั้งฉันและตัวละครมอบแก่ผู้ชม
เพื่อความรื่นรมย์เย็นฤดีบนเวทีที่ฉันเป็นผู้ออกแบบ
- READ "หลังลับแล" เบื้องหลังแสงสว่างมีความมืด...เบื้องหลังความมืดมีแสงสว่าง
- READ ประจิมและอรอินทรา จาก "พฤกษาสวาท"
- READ รู้จักกับ 'เทียนธารา' ให้มากขึ้นใน "ควันเทียน"
- READ "รัด" จาก พญาไร้ใบ
- READ ไฟพ่าย..."พิจิกา" ดวงดาวอันเจิดจ้าและหมองมัว
- READ ข้ามสีทันดร “เดือนสิบและเที่ยงวัน”
- READ "วิมานไฟ" ความคั่งแค้นในใจ 'ภุมเรศ'
- READ วิมวิริยา แห่ง "วิหคโสภา"
- READ "อุโมงค์เวลา" สำปันนีและแคว
- READ "รอบรวงข้าว" ก่องและอัญชัน
- READ "จำหลักไว้ในแผ่นดิน" เจ้าหญิงโสคนเทียและสู
- READ "จันทร์ยาตรา" ปั้นหยาและลุ่มน้ำ
- READ "ไฟทะเล" เรื่องของ 'ชับ' และ 'สิชล'
- READ 'มัลลิกา' มารดายืนหนึ่งใน "กิ่งมัลลิกา"
- READ เรื่องราวของ "ศศิน" ใน "เงาจันทร์"
- READ "ทองลงยา" นางเอกของฉันจาก "กระจกขอบทอง"
- READ ข้ามเมฆา และนางเอก ‘บ้านๆ’ นาม "สีทับทิม"
- READ รสรักปักอุรา "มฤคีและอุบากอง"
- READ ป่ากามเทพ : รำพรและสดมภ์
- READ ตะวันตกดิน : วิธูและโสรวาร
- READ 'บนฟ้า' และ 'สมุทรไท' ณ ขอบฟ้าจรดขอบน้ำ
- READ เมื่อ "ขอบน้ำจรดขอบฟ้า" บนฟ้าและสมุทรไท
- READ ข้ามมหาสาคร 'ดูรา' และ 'กันตัง'
- READ 'ระย้า' เด็กสาวแห่งวังอาชาไนย
- READ "รสอมฤต" การสืบสวนที่พา 'ปูนปั้น' และ 'ร้อยรัด' มาพบกัน
- READ ‘ตวง’ ตัวละครวัยเยาว์ใน 'เมรัยสีกุหลาบ'
- READ "รำนำ" ฤทธิ์เดชจาก ‘กระเช้าสีดา’