แนะนำให้อ่าน “ถนนสายเสน่หา”

แนะนำให้อ่าน “ถนนสายเสน่หา”

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

นอกเหนือจากนวนิยายและบทความที่ผ่านการเลือกสรรและผ่านกระบวนการบรรณาธิการพิจารณาเป็นอย่างดี ทีมงานอ่านเอายังริเริ่มโปรเจ็กต์ “Anowl Showcase” พื้นที่ใหม่สำหรับคนชอบเขียนขึ้น เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ที่จะให้เว็บ www.anowl.co ของพวกเราเป็นชุมชนสำหรับคนรักการอ่านและการเขียนทุกคน

*************************

เรื่อง : ถนนสายเสน่หา

ผู้ขียน : กฤษณา อโศกสิน

สำนักพิมพ์ : ประพันธ์สาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2517

 

ถนนสายเสน่หา นวนิยายชื่อหวานโรแมนติก ขนาดสั้นๆ เรื่องนี้ เมื่อเห็นครั้งแรก อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะเป็นนิยายชีวิตรักธรรมดาเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มอ่านไปเรื่อยๆ กฤษณา อโศกสิน ได้พาให้เราเข้าไปพบกับโลกอีกใบหนึ่งของชายปริศนา นามว่า ‘มูล’ ที่ดูเหมือนว่าเขาจะมีความลับ ความหลัง และบางสิ่งบางอย่างปิดซ่อนเอาไว้

เรื่องราวเริ่มต้นบนเส้นทางสายหนึ่ง ทอดยาวจากป่าดงดอยที่สวยงามด้วยธรรมชาติของดอยลี้ มูลและปรู สองสามีภรรยากำลังเดินทางจากไร่ที่เช่าทำอยู่ลงมายังตัวเมืองเชียงใหม่ มูล ชายหนุ่ม ผู้นุ่งกางขายาวครึ่งแข้ง สวมเสื้อม่อฮ่อม มีหนวดเครารกปากอยู่สองข้างแก้มและคาง รวมถึงจอนยาวผมยาวเลื้อยเต็มต้นคอ พร้อมกับสะพายถุงย่ามสีแดงเก่าคร่ำ สภาพไม่ต่างกับชาวไร่ชาวนา และปรู ฝ่ายหญิงที่เป็นสาวน้อย ผิวเปล่งปลั่ง หน้าตาสะสวย

ทั้งคู่เดินทางมาพักในตัวเมือง เพื่อหาซื้อข้าวของและรีบเดินทางกลับดอย มูลเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ในขณะที่ปรูยังเป็นสาวน้อยที่รักแสงสีและอยากเที่ยวซื้อของ ถ้าหากเจ้าหล่อนจะไม่ล้มเจ็บไข้ลงเสียก่อน และนั่นเองที่ทำให้มูลได้รู้จักกับสองพี่น้องที่ขึ้นมาธุระเชียงใหม่พอดี… คุณใหญ่ วาริช และคุณเล็ก วิชิตา สโรเวฐ ที่ทำให้เขาถึงกับผงะ เมื่อเห็นใบหน้าของเธอ มันช่างละม้ายคล้ายคลึงกับอรดี ผู้หญิงคนหนึ่งในอดีตที่เขาพยายามจะลบเลือนไปจากใจเมื่อสิบเก้าปีที่ผ่านมา…

ความลับความหลังที่มูลได้ซ่อนเร้นเอาไว้ ซึ่งแม้แต่ภรรยาของเขาเองก็ยังมิอาจรู้ และเมื่อสองพี่น้องเอื้ออารีให้เขาเดินทางติดรถกลับนั้นเองที่ปรูและมูลตัดสินใจไปทำงานที่กรุงเทพฯ ตามคำเชื้อเชิญของคุณใหญ่ และมูลเองก็คิดว่าเวลาสิบเก้าปีที่ผ่านไปนั้นอาจจะทำให้อดีตหลายอย่างที่ผ่านมาได้คลี่คลายลงไปหมดแล้ว

แต่เขาคิดผิด!

+++++++++++++++++++++++++++

คุณใหญ่ ฝากให้เขาและปรูทำงานเป็นคนสวนในบ้านของคุณประลมภ์และคุณประคัลภ์ สองพี่น้องสาวโสดวัยห้าสิบเศษที่มีศักดิ์เป็นน้าสาวของวาริช ที่นั่นเขาเพิ่งรู้ว่าคุณเล็ก วิชิตา มีชายหนุ่มมาติดพันคนหนึ่ง ชื่อชัยนันท์

ปรูที่วาดฝันชีวิตเมืองกรุงอย่างสวยงาม ต้องผิดหวังไม่น้อย ที่ต้องมาทำงานเป็นคนใช้ในบ้านหลังใหญ่โดยแทบไม่มีโอกาสได้ออกไปเที่ยวไหนเลย แต่ดูเหมือนว่ามูลจะมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตเรียบง่ายเช่นนั้น ถ้าหากว่าไม่มีผู้หญิงอีกคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นเสียก่อน หล่อนเป็นเพื่อนวัยเดียวกับคุณประลมภ์ ชื่อว่า คุณเกื้อ ธนารักษ์

++++++++++++++++++++

ภาพในอดีตย้อนกลับมาอีกครั้งเมื่อเห็นหล่อน

เมื่อสิบเก้าปีก่อน เขาคือ ศิขร ไพศาลลิลิต เด็กหนุ่มผู้มีความฝันและอนาคตไกล เป็นนักศึกษาแพทย์ที่มีหญิงคนรักชื่ออรดี เขาและหล่อนหนีมาใช้ชีวิตร่วมกัน และได้มาเช่าบ้านพักของคุณเกื้อที่ยังสาวอยู่ในเวลานั้น

แม้จะยากจน แต่เขาก็รู้วิธีในการหาเงิน ด้วยการลงทุนประกาศทางหนังสือพิมพ์หาผู้อุปการะ และก็มีหญิงหม้ายไร้บุตรคนหนึ่งรับส่งเสียให้ แต่เขาไม่เคยรู้สึกว่าเป็นบุญคุณใดๆ กลับเห็นว่า เป็นความโง่เหลือโง่ของหญิงหม้ายคนนั้น

“ไอ้คนบ้าบุญนี่ก็ดีเหมือนกัน ทำให้เราอยู่รอดไปได้อีกก้าว”

และเมื่อเขาได้เงินทุกเดือนจากหญิงใจบุญคนนั้น ก็ไม่รีรอที่จะนำมันมาปรนเปรออรดี และหล่อนก็พร้อมจะแปรรูปเงินเหล่านั้นเป็นกระเป๋า รองเท้า สำหรับสวมใส่ไปฟุ้งเฟ้อโดยไม่รู้สึกผิดใดๆ

“สมน้ำหน้า แพ้รู้เด็ก บ้าทำบุญ อยากจะเอาหน้าเอาตาว่าใจดี ก็เป็นอย่างงี้แหละว้า”

เขาเหี้ยมจริงๆ

แต่อรดีกลับเหี้ยมยิ่งไปกว่า เพราะหล่อนรีดเอาเงินที่เขามีอยู่ไปปรนเปรอตัวเอง…

+++++++++++++++++++++

และจากนั้นไม่นาน เขาและอรดีก็เริ่มมีปากเสียงกันมากขึ้น จนกลายเป็นการพลั้งมือฆ่าหล่อนที่ห้องพัก บ้านเช่าของคุณเกื้อนั่นเอง เขาหนีเตลิดไปใช้ชีวิตบนดอย โดยหันหลังให้กับทุกอย่าง แต่ไม่คาดคิดว่าจะเผชิญหน้ากับหล่อนอีกครั้ง

เกื้อจำเขาได้ทันที ผู้ชายคนนี้ที่ฆ่าเมียตัวเองทิ้งไว้ในห้องและหล่อนไปพบจนแทบสติแตก เกื้อโทษว่านั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้หล่อนมีชีวิตอย่างเป็นทุกข์ทรมานตลอดหลายปีที่ผ่านมา หล่อนโทษว่าผู้ชายคนนี้ที่ทำให้หล่อนไม่มีโอกาสแต่งงาน มีครอบครัว และโทษทุกอย่าง แม้ว่ามารดากับกอบธนาน้องชายจะพยายามห้ามปรามเท่าใด แต่เกื้อก็ไม่ยอมฟัง

คลิกซื้อ E-Book ‘ในสวนอักษร’ ที่นี่

“พี่เกื้อ” น้องชายลากเสียงยิ้ม “พี่เกื้ออย่าไปสนใจดีกว่าฮะ เรื่องมันก็ล่วงเลยมาตั้งเกือบครึ่งค่อนอายุแล้ว เขาฆ่าคู่รักเขาเอง ที่ฆ่านั่นก็ไม่ได้เจตนาอะไร เพียงแต่รักกันมากไปหน่อย หรือ ไม่ก็เห็นแก่ตัวมากไป แต่น่าให้อภัย เพราะตอนนั้นเขาก็อายุยี่สิบสองยี่สิบสามเท่านั้นเอง ยังเรียนไม่จบเลย”

“อภัยไม่ได้ซี เขาฆ่าคนอื่น เขาก็ควรจะต้องถูกฆ่าด้วย ฆ่าให้ตายตกตามกัน”

“ยี่สิบปี นี่เขาก็เร่ร่อนไป ต้องหลบลี้หนีกฎหมาย มีชีวิตอยู่อย่าเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตนเองไม่ได้ ผมก็ถือว่าเขาถูกลงโทษหนักแล้ว” กอบธนาให้เหตุผล “ศิขร ไพศาลลิลิต ไม่ใช่ผู้ร้ายโดยสันดานหรอกฮะพี่เกื้อ เพราะระหว่างการหนี เขาก็ไม่ได้ทำความผิดเพิ่มขึ้นอีกเลย เขาสาบสูญไปแล้ว ผมเรียกการสาบสูญว่านรกหรือตาราง เขาคงติดตารางทางใจ ตกนรกทางใจโดยกฎหมายไม่จำเป็นต้องดึงเอาตัวมาลงโทษก็ได้ พี่เกื้อต้องคิดถึงข้อนี้ด้วยนะฮะว่าบางคนไม่ต้องมีใครลงโทษหรอก จิตใจของเขาละเอียดอ่อนจนมโนธรรมก็สามารถลงโทษเขาได้ หากว่าเขาผิดพลาดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

+++++++++++++++++++++

แต่เกื้อก็ยังดื้อดึง อยากเอาชนะตามนิสัยหล่อน จนถึงกับไปแจ้งความกับพันตำรวจโท สมุทร เพื่อนน้องชายของเธอให้ไปจับกุม

ในช่วงเวลาที่อยู่ในบ้านของคุณประคัลภ์นั้นเอง มูลหรือศิขรก็ไม่เคยมีความสุขเลย เขาฝันร้ายและหวาดระแวงด้วยความกลัวมาตลอด และยิ่งเมื่อคุณประคัลภ์เล่าให้ฟังว่าเกื้อจะไปแจ้งความยิ่งทำให้เขาวิตกจนแทบเป็นบ้า ในที่สุดเขาก็รับสารภาพกับเธอ คุณประคัลภ์เห็นใจ เพราะรู้นิสัยมูลเป็นอย่างดี เมื่อเขามาทำงานให้เธออย่างซื่อสัตย์ เธอจึงให้คุณเล็กและวาริชช่วยพาเขาหนีไปจากบ้านก่อนตำรวจจะมาถึง มูลสารภาพเรื่องทั้งหมดให้กับปรูฟัง และหล่อนเองก็ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก แต่ก็ปล่อยให้เขาหนีไปเพียงลำพังตามความต้องการของมูล

++++++++++++++++++++++

มูลพยายามหนีไปให้ไกลที่สุด แต่เขาก็ยังรู้สึกถึงความผิดบาปที่ไม่อาจปลดเปลื้องนั้นได้เลย มันทรมานยิ่งกว่าการถูกจับขังคุกหรือดำเนินคดีเสียอีก เขามืดมน จนกระทั่งได้พบกับพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดอยู่ในป่า ท่านสติมันโต พระรูปนั้นได้เทศนาและให้ข้อคิด จนในที่สุด เขาตัดสินใจเลือกทางเดินใหม่ที่จะรับใช้ท่านไปตลอด แม้ว่าจะไม่อาจบวชได้ก็ตามที

ในขณะที่ปรูเองก็ค้นพบเส้นทางสายใหม่ของเธอเองเช่นกัน เส้นทางสายเสน่หาที่แยกจาก ทางเดินอันสงบเงียบอย่างที่หล่อนเคยใช้ชีวิตกับมูลมาหลายปี หล่อนแอบติดต่อกับคุณชัยนันท์ อดีตแฟนของคุณเล็กที่เลิกรากันไป และหนีออกจากบ้านคุณประคัลภ์ที่ต้องเป็นคนใช้ไปกับ ชัยนันท์ เพราะคิดว่า บางทีชีวิตหล่อนอาจจะดีไปกว่านี้

 

เส้นทางชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามวิถีกรรม และสำหรับมูลเอง บัดนี้เขารู้แล้วว่าควรจะเลือกดำเนินไปเช่นใด!

++++++++++++++++++++++

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ กฤษณา อโศกสิน จากหนังสือ วรรณพินิจ กฤษณา อโศกสิน ของคุณไพลิน รุ้งรัตน์ ในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งผมขอนำมาเรียบเรียงประกอบเพียงบางส่วนดังนี้ครับ

 

กฤษณา อโศกสิน เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ 2531 ท่านมีชื่อและนามสกุลจริง ว่า สุกัญญา ชลศึกษ์ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 เป็นบุตรคนแรกในจำนวน 6 คน ได้รับการศึกษาชันประถม ระหว่างอายุ 5-8 ขวบ ที่โรงเรียนราษฏร์ จังหวัดอ่างทอง และโรงเรียนบุนนาควิทยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นก็เข้ามาเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนราชินี (บ่าง) และเข้าเป็นนึกศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์

ท่านได้เริ่มงานเขียนครั้งแรกด้วยการเขียนงานร้อยกรอง และภายหลังได้พยายามเขียนเรื่องสั้นด้วย โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก ภา พรสวรรค์ (ประภาศรี นาคะนาท) เพื่อนรุ่นพี่ชั้นมัธยมปลาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งอายุประมาณ 15 ปี จึงเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ของขวัญปีใหม่ ได้สำเร็จ และส่งไปตีพิมพ์ใน ไทยใหม่วันจันทร์ โดยใช้นามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ ซึ่งเป็นการตัดต่อชื่อและนามสกุลเข้าด้วยกัน ผลงานเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2489 และในปี พ.ศ. 2492 เธอได้เขียนเรื่องสั้นอีกเรื่องขณะเรียนมหาวิทยาลัย โดยส่งไปลงในหนังสือ สีฟ้า ของ คณะฯ ชื่อ ใต้ร่มชงโค จากนั้นส่ง เมื่อฉันเสียดวงตา ไปประกวดชิงรางวัลในนิตยสาร สตรีสาร ได้รับคะแนนนิยมท่วมท้น

ในระยะแรกๆ ของการเขียนหนังสือ กฤษณา อโศกสิน ใช้นามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ เขียนเรื่องสั้นลง ศรีสัปดาห์ ตั้งแต่ฉบับที่ 2 เป็นต้นมา รวมแล้วเป็นร้อยเรื่อง และในปี 2497 จึงเขียนเรื่องยาวในชีวิตเรื่องแรก คือ ชีวิตเป็นของเรา โดยอาศัยเค้าโครงจาก ‘ความรักของเจนแอร์’

++++++++++++++++++++++

ปี 2501 นามกฤษณา อโศกสิน ปรากฏเป็นครั้งแรกในนิตยสาร สตรีสาร โดยเขียนนิยายเรื่อง วิหคที่หลงทาง กฤษณาได้เล่าถึงเรื่องนามปากกานี้ไว้เองว่า

“ถึง พ.ศ. 2501 สตรีสาร ก็ขอเรื่องดิฉันเลยตั้งนามปากกาใหม่ กฤษณา อโศกสิน นี่ประหลาด มันแวบขึ้นมาในสมองขณะที่นั่งคิดว่าจะใช้นามปากกาอะไรดี เกิดขึ้นมาโดยไม่ทันรู้ตัว แปลออกมาได้ความไม้ห้อม ทรัพย์ที่ปราศจากทุกข์” (จากนิตยสาร นรี ปักษ์แรก สิงหาคม 2528)

จากนั้น นามปากกา กฤษณา อโศกสิน และผลงานนวนิยายของท่าน ก็ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างอบอุ่นเรื่อยมาในนิตยสารต่างๆ ตราบจนถึงปัจจุบัน

– หมอกมุงเมือง –

 

Don`t copy text!