“รอบรวงข้าว” ก่องและอัญชัน

“รอบรวงข้าว” ก่องและอัญชัน

โดย : กฤษณา อโศกสิน

Loading

“หลังม่าน” คอลัมน์ที่จะบอกเล่าถึงชีวิตของตัวละครเด่นๆ ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน เป็นเรื่องราวเบื้องลึกที่มีแต่นักเขียนเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ และนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านชาวอ่านเอาได้เห็นชีวิตด้านหลังม่านของตัวละครเหล่านั้น

เมื่อเอ่ยถึง พ.ศ.2526 อันเป็นปีที่นวนิยายเรื่อง ‘รอบรวงข้าว’ ในนามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ มีโอกาสได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์นั้น ครั้นมาถึงวันนี้ก็ได้แต่รู้สึกว่าช่างนานแสนนานจนเกินกว่าจะนำมากล่าวถึงในพ.ศ.2565 นี้ได้

หากเมื่อเริ่มอ่านทวนอีกครั้งเพราะต้องกำกับการแสดงสด หลังจากเรื่องนี้ทำท่าเหมือนถูกปลดออกจากความทรงจำของผู้อ่านมาแล้วระยะใหญ่ เจ้าของเรื่องก็ราวกับได้น้ำอมฤตขันน้อยมาประพรม

‘รอบรวงข้าว’ เป็นเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ฝ่ายชายนามว่าก่อง ภรรยานามว่าอัญชัน

ก่องอยู่กินและเจริญวัยขึ้นมากับร้านค้าซึ่งแต่แรก บิดาของเขาก็มีแค่ร้านเล็กๆเพียงร้านเดียว โดยแยกตัวจากปู่ซึ่งเป็นลูกจีน แต่อาศัยที่ทั้งพ่อและแม่เอาการเอางานขยันขันแข็ง จึงขยายร้านเล็กให้แตกสาขาไปสู่ศูนย์การค้าใหญ่สองแห่ง จนกระทั่งมีสำนักงานและโรงพิมพ์เป็นของตนเองพร้อมสรรพ

ดังนั้น เมื่อเขาเรียนสำเร็จมหาวิทยาลัย จึงขอเงินจากบิดาก้อนหนึ่ง แยกตัวออกมาเช่าร้านเล็กๆขายเครื่องเขียนแบบเรียนอุปกรณ์การศึกษา กิจการก็ดีวันดีคืนจนสามารถซื้อร้านที่เป็นของตนเองได้

ฝ่ายอัญชันมีพ่อแม่รับราชการ ชีวิตในยามเยาว์จึงมักจะอยู่กับความสงบ เพราะหัวหน้าครอบครัวไปเช้าเย็นกลับ นานๆจึงจะออกต่างจังหวัดสักครั้ง

เมื่อมาถึงห้าปีก่อน ก่องจึงมีทางออกใหม่ที่ไม่ต้องอัดแน่นอยู่บนอาคารชั้นสามของร้านในเมืองตลอดเดือนตลอดปี เนื่องด้วยบัดนี้เขามีลูกแล้ว 3 คน หมาก 10 ขวบ พลู 7 ขวบ ปูน 3 ขวบ ตามลำดับ ประกอบกับเขาซื้อที่ดินผ่อนส่งไว้ 3 ไร่ อยู่ไกลออกไปจากใจกลางกรุงเทพฯ ราวหนึ่งชั่วโมงรถแล่น ถ้ารถติดก็นานกว่านั้น จนกระทั่งถึงวันที่ก่องปลูกบ้านไม้ใต้ถุนสูงได้หลังหนึ่ง แม้จะไม่มีไฟฟ้า ประปา มีแค่ไฟตะเกียงและน้ำฝน น้ำคลอง แต่ทั้งก่อง และอัญชันต่างก็เป็นสุขล้นพ้นยามเมื่อพาลูกออกไปพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์

มีผู้ไต่ถามมาพอสมควรว่า ฉันเขียนอย่างไรจึงได้บรรยากาศของทุ่งนาฟ้าโปร่ง เรียกชื่อหลายอย่างที่จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการทำนาได้ถูกต้องราวกับเคยเป็นชาวนามาก่อนกระนั้น

ฉันก็เลยจะตอบไว้ ณ ที่นี้ว่า นับแต่จำความได้เป็นต้นมา ชีวิตตนเองก็คลุกคลีอยู่กับชาวไร่ชาวนาชาวบ้าน ด้วยว่าต้องเดินทางติดสอยห้อยตามบิดาผู้เป็นข้าราชการกระทรวงเกษตราธิการสมัยนั้น ไปพำนักพักพิงอยู่แทบทุกเขตคามนามว่าชนบทแทบจะตลอดวัยเยาว์ แม้กระทั่งเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมีโอกาสได้ไปพักอยู่กับญาติที่เรือนริมนา ได้สัมผัสบรรยากาศและชีวิตแต่ละวันของพวกเขาที่มีแต่ต้นข้าว ฟางข้าว ท้องทุ่ง ลำคลอง เรือแจวเรือพาย

ดังนั้น จึงไม่ยากกระไรนักที่จักคิดผูกเรื่องน่ารักนี้ขึ้นมา

โดยเฟ้นหาตัวละครจนได้ครอบครัวก่อง อัญชัน อันมีหมาก พลู ปูน แม่สายัณห์คนเลี้ยง ลุงโพด พ่อของเด็กส่งของประจำร้าน ลุงลาด ชายพลัดถิ่นจากต่างจังหวัด ป้าเคลือบเพื่อนบ้านผู้เป็นชาวนา มีลูกชายลูกสะใภ้ลูกสาวลูกเขยและหลานเล็กๆ

เด็กๆที่ฉันคัดมาคณะนี้ รวมทั้งหลานหญิงของป้าเคลือบ ชื่อคิ้วกับคัดเค้า ล้วนแล้วน่ารักน่าเอ็นดู อาจจะกำกับยากสักนิดเพราะยังเก้อกระดากกับการแสดง แต่ฉันก็ไม่รู้สึกว่าหนักหนาขณะเรียกมาซักซ้อม

“คิ้วพูดได้ไหมคะ ประโยคนี้”

“ได้ค่ะ”

“คัดเค้าล่ะ”

“ได้ค่ะ”

ลืมบอกไปว่า ฉันจึงต้องไปค้นหานิทานง่ายๆมาเตรียมไว้ พอดีทีเดียวที่ขณะนั้นมีภาพยนตร์เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวเข้ามาฉายจนกลายเป็นเรื่องฮือฮาอย่างยิ่งในสมัยนั้น รวมทั้งเรื่องของนายแทพย์ไทยท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่ายานอวกาศที่บรรทุกมนุษย์นอกโลกนั้นมีจริง เพราะท่านเคยพบยานลำหนึ่งร่อนลงมาจอด ณ ลานแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก แต่ฉันก็ลืมแล้วว่าที่ใด ก็นี่แหละที่นำมาสวมเข้ากับหนังที่มาฉายพอดิบพอดี

ยังจำได้ถึงเสียง ‘อี.ที.’ ที่เอ่ยภาษาอังกฤษว่า

‘อี.ที. โฟน โฮม’

ฉันก็เลยสนุกไม่น้อยที่ได้เขียนเรื่องนี้

เด็กชายปูนวัยสามขวบนั้นน่ารักน่าเอ็นดูจนฉันนึกอยากอุ้มอยากหอมแก้มเป็นที่สุด จึงไม่แปลกใจมากมายที่ลุงลาด หรือแท้จริงคือ นายนลาฏ พิสุทธี หากด้วยความเจ้าชู้ จึงมีหลายเมีย รวมทั้งชอบเล่นชอบเที่ยว กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไป ครั้งสุดท้ายจึงตัดสินใจพเนจรมาอาศัยกินอยู่หลับนอนกับนางเคลือบคนจังหวัดเดียวกัน ครั้นมาพบครอบครัวผู้มีลูกน่ารักน่าเอ็นดูถึงสามคน จึงคิดว่าจะอยู่ที่นี่ตลอดชีวิต ไม่ย้ายไปไหนอีกแล้ว

ก็แน่ละ ลุงลาดจะไม่ติดใจได้อย่างไร ในเมื่อพ่อหนูน่ารักน่าฟัดขนาดนี้

“จึงอยากฆ่าผู้ชายให้ตายนัก” เด็กชายเล็กๆร้องเพลงลูกทุ่ง ครั้นแล้วทุกคนก็อมยิ้มนิ่งฟัง “ถ้าไม่ลักก็บอก…พี่ไทยก๊อหลอก…พี่จีนก๊อหลอก…กอดฟี…

คนอาไลใจ้ดำ ทำใจหิน เล่ห์หลมลิ้นปิ้นอก พี่ไทยก๊อหลอก พี่จีนก๊อหลอก กอดฟี…”

ทั้งพ่อแม่ พี่สาวและแม่สายัณห์หัวเราะกันครืนๆในรถก่อนหน้านี้แล้ว

 

พอมาพบลุงลาด ปูนก็วิ่งเหยาะๆเข้าไปหาลุงโพด กับลุงลาด

แลเห็นสร้อยคอลุงลาดซึ่งเป็นสเตนเลส พ่อหนูก็พยายามจะดึงสร้อยออกมาดู

“นี่อาไล”

“พระครับ”

“พะอาไล”

“พระเครื่องไงฮะ…”

“ไหน…ดูพะซิ…พะเคื่อง…พะเคื่อง…พะพูดได้มั้ย”

“ท่านเป็นรูปปั้นครับ”

“ลูบปั้น…เป็นไงลูบปั้น…แล้วเป็นพะยังไง” เจ้าตัวถามพลางก็เล่นตลับพระเรื่อยไป

“แกะทีซีค้าบบ ปูนจะดูพะ”

“พระท่านไม่ชอบออกมาข้างนอกน่ะซี คุณปูน” ลุงลาดตอบ

“แล้วเมื่อไหล่ท่านจะชอบล่ะ”

“ท่านเดินอย่างคุณปูนไม่ได้”

“พะเดินไม่เก่งเหลอ แล้วพะทำอะไลเป็ง”

“ท่านอยู่นิ่งๆให้คุณหนูไหว้ไงครับ”

“ไหว้งี้เหลอ” ปูนจัดแจงยกมือพนม

“ครับ…นั่นแหละ…ไหว้ยังงั้น”

“ปูนไม่อยากเป็นพะ”

“ทำไมล่ะครับ”

“ปูนไม่ชอบอยู่นิ่งๆ”

“ปูนมานี่ซิลูก มานั่งกะพ่อดีกว่า” ก่องเห็นว่าลูกจะกวนลุงลาดมากไปจึงเรียก

“ไม่เอา…ปูนจะนั่งกะลุง” ตัวกลมๆของเขาดูกะปุ๊กลุกอยู่บนตักชายสูงวัย

“ตายจริง…ติดลุงแล้วซีเนี่ย” อัญชันร้อง

หมากกับพลูช่วยกันขำน้องชาย

“ลุงลาดเลยค้างนี่ดีกว่านะฮะ” ก่องชวน

“เดี๋ยวผมขอเดินไปบอกเจ้าของบ้านเขาก่อน เดี๋ยวเขาจะคอยครับ”

ก่อง อัญชันและลูกๆก็เลยตามเขาไปรู้จักนางเคลือบอันเป็นครอบครัวชาวนา เพื่อนบ้านใกล้กันดังที่ฉันเกริ่นกล่าวไว้แต่แรก

ก่องก็เลยถามแม่เคลือบถึงการทำนาเพราะตนเองนึกอยากทำบ้าง

ขณะที่ปูนติดลุงลาดเข้าให้แล้ว ลุงอุ้มไปอุ้มกลับจนไม่ยอมลงจากวงแขน

หมากก็เลยล้อ

“ปูนไม่ยอมลงเลยนะ ให้ลุงอุ้มแจเลย แปลกนะ…ปูนนี่เค้าไม่ยอมให้ใครอุ้มเขาหรอก แต่เค้าให้ลุงอุ้ม”

“ไม่แปก” ปูนว่า

ครั้นแล้ว ลุงลาดก็เลยมีหน้าที่เล่านิทานให้เด็กๆฟัง

ดังเช่นเรื่อง คนตัดไม้ หมาป่ากับลูกแกะ หมีกับต้นไม้ พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญาช้างมีบริวารแปดหมื่นอยู่ในป่าหิมพานต์

ที่ดีกว่านั้นก็คือลุงลาดเป่าขลุ่ยได้ไพเราะเป็นอย่างยิ่ง

ชวนเด็กๆให้ชิงกันขอลุงให้เป่าขลุ่ย

“ลุง” ปูนก็เลยสงสัยหลังจากลุงลาดเป่าขลุ่ยเพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ ‘มีอะไรอยู่ในนี้เหลอ’

ปูนจ้องเป๋งมองดูขลุ่ยเห็นแต่นิ้วของลุงลาดขยับไปตรงรูนั้นรูนี้

“เค้าจาดู…ดูในนั้น” ปูนชี้เข้าไปในช่องขลุ่ย “กดได้มั้ย…ปูนจะกดนี่ กดได้มั้ยลุง ดูลูนี่ซิ ลูนี่มีเพงออกมาเหลอ เพงอยู่ในนี้เหลอ…เพงไม่ออก…พี่พูทำเพงออกได้มั้ย”

ทุกคนเลยหัวเราะขำปูนกันเกรียวกราว

ก่องกับอัญชันก็เลยชวนลุงลาดไปทำงานที่ร้านในเมืองเนื่องด้วยบัดนี้ปูนเริ่มติดลุงลาดเหมือนตังเม

พร้อมกันนั้น ก่องก็บอกลุงลาดว่าอยากชวนไปตระเวนดูที่ที่จะปลูกขนำกับยุ้งฉางแถวกลางนา

“แปลว่าคุณก่องอยากทำนาตลอดปีงั้นหรือฮะ”

“ใช่…ผมอยากลองทำทั้งปีดู” ครั้นแล้ว เขาจึงเอี้ยวตัวมาบอกอัญชันว่า “ ‘นาปรัง’ หมายถึงนานอกฤดูไง อัญ เพราะตามปกตินี่ชาวนาทั่วๆไปเขาจะปลูกข้าว ‘นาปี’ เริ่มไถดะตั้งแต่เดือนเมษา คือพอฝนมา แผ่นดินชุ่มชื้นมีน้ำขังอยู่บ้าง เขาก็ใช้ควายใช้ไถ…ไถดินจนซุยให้เสมอกัน…พอเดือนหก เขาก็ไถแปร แล้วก็คราด พอเดือนเจ็ด เขาก็หว่านหรือไม่ก็ปักดำ”

“อือ…นี่อัญก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องเลยนะ ไอ้เรื่องปลูกข้าวของก่องเนี่ย”

ไม่ต้องสงสัยให้มากความไปหรอกน่า อัญชัน เธอก็รู้นี่นาว่าฉันเอง…ฉันผู้ยืนอยู่ ‘หลังม่าน’ ใกล้ๆนี่ นำเอาเรื่องปลูกข้าวมาใส่สมองของคนที่แสดงเป็น ‘ก่อง’

ก็ฉันต้องการปูพื้นให้ผู้อ่านและผู้ชมรู้เรื่องการทำนากันถ้วนหน้าอย่างไรเล่า

แม่เคลือบเองก็กำลังเตรียมทำข้าวยาคูมาให้อีก หลังจากให้ชามใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

หลังจากนั้น ก่องก็เริ่มหมกมุ่นอยู่กับการทำนา ท้ายที่สุดจึงตกลงใจ

“เราจะเริ่มทำนาตั้งแต่เดือนสามข้างหน้านี่ละนะ…คือพอแม่เคลือบเก็บเกี่ยวเสร็จก็เริ่มลงมือเลย”

“ไถหรือคะ” อัญชันถาม

“ใช่…เราจะจ้างแทร็กเตอร์มาไถ ตะลุยให้ทั่วก่อน”

“แปลกดีเหมือนกันนะฮะ” ลุงลาดว่า “ผมยังไม่เคยเห็นคนกรุงเทพฯทำนาเลย”

“เขาคงไม่มีที่มังคะ”

“ถึงมี…ก็คงคิดตัดขายทำหมู่บ้านมากกว่า…คือส่วนใหญ่แล้ว จะกลายเป็นที่จัดสรรหมดเลยนะฮะ…ไม่ค่อยทำอย่างอื่น”

ลุงลาดยังคงยืนอยู่หน้าเรือน อัญชันนั่งห้อยเท้าอยู่ที่หัวบันไดขณะที่ก่องชวนลุงลาดออกไปดูพื้นที่ตอนค่ำแบบคนไม่อยู่นิ่ง

“ลุงค้าบ ขึ้นมาบนนี้ซีค้าบ” ปูนก็เลยร้องเรียก

“เอ้า…ลุงขึ้นมาเถอะค่ะ”

แต่ลุงลาดก็ขอตัวไปดูที่กับก่องเพราะเริ่มรู้ว่าชายหนุ่มเป็นคนเอางานเอาการ

 

ครั้นเดินไปถึงมุมลาน ก่องก็เลยชี้บอกให้ลุงลาดดู

“เป็นอันว่า เอาตรงนี้ดีกว่า มุมนี้เลย คือรถหรือเกวียนวิ่งจากโน่นมาเทียบหน้ายุ้งเลย ผมจะสร้างยุ้งให้ใหญ่หน่อย”

“ขนาดเสาสี่ต้นก็พอแล้วครับ” ลุงโพดตามมาด้วย จึงเอ่ยขึ้นเพราะเขาเองก็คุ้นเคยกับท้องนามานานครัน “เสาหกต้นนี่ก็เท่ากับสามห้อง…ยุ้งขนาดนั้นเขาเก็บข้าวกันสัก 4-500 ถังมังครับ…แต่ของเรานี่แค่ 60 ถังเอง ไม่ถึง 100”

“ลุงไม่อยากให้สร้างใหญ่เหรอ”

“ครับ…อย่าสร้างใหญ่เลย…เดี๋ยวมีคนเอาข้าวมาฝาก มันยุ่งครับ คุณก่องก็คงคิดค่าฝากเขาไม่ลงแน่ๆ…เพราะงั้นก็อย่าทำใหญ่ ทำแค่เก็บของของเราเองดีกว่า ไอ้ฝากฟรีน่ะก็ไม่กระไรหรอก แต่มันยุ่งกะเรา” ลุงโพดชี้แนะ

“คนที่จะฝากก็ท่าจะเป็นแม่เคลือบนั่นแหละ เออ…แล้วพวกชาวนาจริงๆนี่เขาฝากข้าวกันมั่งไหม…หมายถึงฝากตามบ้านน่ะ”

“ไม่ครับ เขาไม่ฝากกันหรอกครับ” ลุงโพดรู้เรื่องชนบทดีบอกกล่าว “คนรวยๆที่เขามียุ้งใหญ่ๆเขาก็ใช้วิธี  ‘ทอด’ ข้าว”

“เป็นไงลุง”

“ทอดข้าวนี่ หมายความว่าชาวนาจนๆจะไปเอาเงินจากเขามาลงทุนทำนาโดยเอาข้าวไปแลก…พวกชาวนาเศรษฐีก็เอาข้าวของชาวนาจนๆมาใส่ยุ้งไว้ คอยเวลาข้าวราคาดีถึงจะขาย” ลุงโพดเล่าให้ฟัง เพราะงั้นชาวนารวยๆจะสร้างยุ้งไว้ใหญ่เชียวครับ เอาไว้เก็บข้าวที่คนจนมากู้”

“เขากู้กันยังไง”

“อำเภอที่ผมอยู่นั่น เค้ากู้กันร้อยละสามถังเชียวนะฮะ คือมาเอาเงินไป 100 บาท ต้องให้ข้าวเปลือกเจ้าของเงิน 3 ถัง” ลุงลาดบอก

“โอ้โฮ…ร้อยเดียวตั้งสามถัง…อัญ…อัญจ๋า ข้าวที่เรากินทุกวันนี้ถังละเท่าไหร่จ๊ะอัญ” เขาก็เลยร้องเรียกภรรยา

“ถังละ 140-150 ค่ะ” อัญชันโผล่หน้ามาบอก “ข้าวสารนะคะ”

ข้าวสารสมัยนั้นก็ถังละแค่นี้จริงๆ ฉันสอบถามมาแล้วเสร็จสรรพ

“เดี๋ยวนี้เขามีการประกันราคาข้าวไม่ใช่หรือ” ก่องเท้าสะเอวพลางเหลียวไปบอกลูก “หมากกับพลูขึ้นบ้านได้แล้วนะ”

คือฉันก็กำลังจะให้ตัวละครผู้ใหญ่แสดงฉากนี้ให้เต็มที่อย่างไรล่ะ

ในเมื่อต้องแจกแจงเรื่องข้าวแล้ว ก็ต้องส่งผ่านสายตาผู้ชมให้สมกับตั้งใจดู

ให้สมกับผู้กำกับตั้งชื่อไว้ว่า ‘รอบรวงข้าว’

“ครับ…รัฐบาลประกันราคาข้าวเปลือกไว้อย่างต่ำ ตันละ 3,300 บาท เป็นการช่วยยกระดับฐานะชาวนาส่วนใหญ่ให้สูงขึ้นไงครับ”

“แล้วสูงจริงไหมล่ะ”

“ชาวนานี่เป็นคนลำบากมากที่สุดเลยละนะครับคุณก่อง” ลุงโพดแจกแจง

แรกทีเดียว ก่องไม่เคยรู้เรื่องเช่นนี้มาก่อนเลย แต่เมื่อมามีบ้านอยู่ติดกับชาวนา และได้คนพื้นเพต่างจังหวัดซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับไร่นามาก่อน เช่นลุงโพดมาอยู่ด้วยจึงช่วยให้ก้องเริ่มรู้เรื่อง ‘กระดูกสันหลัง’ ของชาติขึ้นมาทีละเล็กละน้อย

“พ่อแม่ผมเป็นชาวนา เลยรู้ดีว่ามันลำบากขนาดไหน สมัยก่อน รัฐบาลยังไม่ประกันราคาข้าว ก็ยิ่งแย่กว่านี้ พอประกันราคาข้าวแล้ว ฐานะชาวนาดีขึ้น แต่ถึงยังไง นายทุนก็เป็นคนกำหนดโชคชะตาของชาวนาอยู่ดี…ก็อย่างที่ผมบอกแล้วเมื่อกี้นี้แหละฮะ…คนเรา…ถ้าไม่มีทุนจะลงซะอย่าง ต้องอาศัยทุนคนอื่นเขาเมื่อไหร่ละก็ ไอ้เรื่องบีบทางอ้อมนี่มันต้องมี แล้วฝ่ายถูกบีบก็ต้องยอม”

ปีนี้ พ.ศ.2525 เป็นปีที่เศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรมถึงขนาดทีเดียว

ทุกสิ่งทุกอย่างหงอยเหงาไปสิ้น

ก่องเองก็สังเกตเห็นได้จากการค้าของเขา ซึ่งก็ฝืดเช่นกัน

“ปีหน้าคงค่อยกระเตื้องขึ้นนะ” ก่องก็เลยเอ่ยหัวเราะๆ “ต้องหวังไว้มั่ง…ไม่งั้นก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น”

ก็น่าน-น่ะ-ซี

ฉันเองก็ยังสงสัยไม่หายอยู่เสมอ เพราะนับตั้งแต่เขียนนวนิยายมาแสนนาน เนื้อความบางตอนที่สะท้อนถึงความเป็นไปภายในประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจ ก็ไม่เคยเลยที่จะบ่งบอกว่าดี

“ปีนี้เศรษฐกิจตกต่ำมากจังเลยนะ” ก่องพึมพำต่อ

“ก็ตกมาตั้งแต่ปี 24 นั่นแล้วนี่คะ” อัญชันก็เลยช่วยย้ำ “เป็นอันว่า ก่องแน่ใจแล้วหรือคะว่าจะลงมือเดือน 3  นี่”

“แน่ใจ…จะเริ่มทำนาปรังก่อนแล้วต่อด้วยนาปี”

“เขาทำกันหรือคะ…ตลอดปีน่ะ” อัญชันถาม

ลุงโพดก็เลยบรรยาย

“เขาทำครับ เฉพาะชาวบ้านที่มีนาอยู่ติดแม่น้ำหรือคลอง หรือมีคลองชลประทานผ่านถึงละก็เขาจะทำนาปรัง…คือนาปรังนี่หมายถึง การทำนานอกฤดูโดยไม่ต้องพึ่งฝน…อย่างตอนเดือนสามงี้มันแล้ง แต่ถ้าน้ำถึงมันก็ทำได้”

ก่องก็เลยอธิบายให้อัญชันฟังเสริมเข้าไป

“อย่างเรางี้ก็ต้องตั้งสูบน้ำขนาดใหญ่นั่นแหละอัญ สูบน้ำจากคลองมาเข้านา”

“ลงทุนสูงครับ” ลุงโพดบอก “แล้วบางทีก็ได้ผลต่ำ เรียกว่าเสี่ยงกว่าทำนาปีแหละครับ เพราะถ้าไม่ถึงน้ำหรือกำจัดหญ้าไม่ทัน ให้ปุ๋ยไม่ได้ส่วน ก็จะทำให้ข้าวไม่งาม ออกรวงไม่สม่ำเสมอ”

“ตอนเดือนธันวานี่ทำไม่ได้หรือลุง”

ลุงโพดหัวเราะ

“หน้าหนาวนี่ครับ เข้าหน้าหนาวแล้วไม่มีใครทำนากัน อากาศหนาวทำให้ต้นข้าวชะงักความเจริญ ออกรวงคากาบใบ เมล็ดก็ลีบ”

“แหม…ก่องอย่าทำใจเป็นไฟไปหน่อยเลยค่ะ…ทำยุ้งทำหนำให้เสร็จก่อนดีกว่า” อัญชันเลยต้องยับยั้งความใจร้อนของสามีไว้

 

ครั้นแล้ว หมาก พลู ปูนกับคุ้งและคัดเค้า หลานป้าเคลือบก็เลยกลายเป็นเพื่อนเล่นกันได้ราบรื่นดี

ก่องนั่งอยู่บนเตียงไม้ใต้ถุนบ้านกับลุงลาด มองดูเด็กๆเล่นกันจนเหงื่อโชกไปทั้งตัว

ลุงโพดนั่งอยู่บนตอไม้ถัดไป

“อันที่จริง อยู่ยังงี้มันก็มีความสุขดีนะลุงนะ…แต่ไม่รู้ว่าขโมยขโจรมีหรือเปล่า” ในที่สุดชาวกรุงก็เอ่ยถาม

“ตั้งแต่มาอยู่ก็ยังไม่เห็นมีนะครับ” ลุงโพดว่า “ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีไหม…แต่ใกล้ตลาดละก็มีชุมเหมือนกันฮะ ขโมยรถ ขโมยวิทยุ ทีวีอะไรบ่อยๆเหมือนกัน พวกสวนส้มในคลองโน้นต้องเฝ้ากันแจ”

“บ้านเรามันไม่มีอะไรให้ขโมย ก็เลยยังไม่มีขโมยมัง”

“แม่เคลือบแกก็ระวังควายของแกแจเลย”

“อ้อ…ใช่ซีนะ” ก่องพยักหน้าอย่างเข้าใจ

“ไอ้ที่เป็นอุปสรรคกะการทำนาของพวกชาวนานี่ก็มีเรื่องขโมยควายนี่แหละครับคุณ…เป็นอันว่าเผลอไม่ได้ก็แล้วกันละ…ต้องผลัดกันคุม”

“แล้วเราจำควายได้หรือ” ก่องถาม

“ได้ครับ…ควายก็เหมือนคนนี่แหละ มันมีหน้าตามีตำหนิของมัน…ดูซีครับ สองตัวนี่หน้าตาเหมือนกันเมื่อไหร่ เจ้าตาลนั่นมันสวยกว่าไอ้ดำ” ลุงโพดแจกแจงพลางพยักพเยิดไปที่สุนัขพันทางสองตัว

ก่องก็เลยหัวเราะ

“ผมไม่เคยอยู่กับควาย…มองผาดๆก็ว่ามันคล้ายกันหมดทุกตัว”

ก็คือฉันนั่นเองที่ไม่รู้ว่าควายแต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไร เพิ่งจะรู้เมื่อตนเองไปไถ่ชีวิตโคกระบือที่อยุธยาอันเป็นโครงการของกรมปศุสัตว์ที่จะขอชีวิตโคกระบือซึ่งเขากำลังจะนำไปฆ่ามาให้ชาวนาได้อาศัยใช้งาน พอดีกระบือตัวที่ฉันไถ่มีขนสวยวนเป็นลายบริเวณท้องทั้งสองข้าง ก็เลยจำได้

แต่หมากวิ่งเข้ามาเกาะขา ถามพ่อ

“พ่อขา อี.ที.นี่โทรศัพท์ได้ใช่ไหมคะ เค้าโทรศัพท์ไปที่บ้านเค้าที่อยู่บนฟ้าโน่นได้ใช่ไหมคะ”

“ได้ซีลูก ก็เค้าเป็นมนุษย์ต่างดาวนี่ เค้าเป็นมนุษย์พิเศษ”

หมากก็เลยวิ่งตื๋อไปเจรจากับคิ้ว…อี.ที.ที่แม่หนูเลือกตั้งให้ใหม่ เพราะอี.ที.ตัวใหม่นี้ยังคงงงกับคำว่าอี.ที.

“คือว่ายังงี้นะ” หมากชี้แจงให้อี.ที.ผิวคล้ำ ตากลมดำ ผมยาวสีน้ำตาลฟัง “อี.ที.นี่เป็นมนุษย์มาจากโลกอื่นนะ…คิ้วเคยเห็นพระจันทร์ใช่มั้ย…นั่นละ…อี.ที.มาจากแถวๆนั้น

“พระจันทร์เหลืองๆเหลอ…มันเหลืองๆใช่มั้ย”

หมากเอียงคอนิ่งคิด ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไรจึงวิ่งไปถาม

“พ่อขา…พระจันทร์นี่ จริงๆแล้วเหลืองๆเหรอคะ”

“ไม่เหลืองหรอกลูก…ที่เห็นพระจันทร์เหลืองๆนั่นเป็นเพราะพระจันทร์ได้แสงจากดวงอาทิตย์ไง สีเหลืองนั่นเป็นแสงสว่างที่สะท้อนมาจากดวงอาทิตย์”

“อ้อ…ใช่แล้ว หมากลืมไป” พลางหล่อนก็วิ่งกลับไปบอกอี.ที.

อี.ที.ก็ยังทำหน้างง

“ไม่เข้าใจเหรอ”

อี.ที.สั่นหน้า

“มันคือตัวที่อยู่ในหนัง” พลูก็เลยบอก

หมากก็เลยวิ่งไปหยิบไม้มาอันหนึ่ง วาดหน้าตาอี.ที.ลงบนดิน

“หัวมันโตมาก…แล้วตาก็โปน…เหมือนอะไร  พลูรู้ไหม”

หมากก็เลยบีบเสียงตัวเองให้ดังแหงวๆ

“อี.ที.โฟนโฮม…อี.ที.โฟนโฮม…อี.ที.เค้าคิดถึงบ้านเค้า เค้าก็อยากโทรศัพท์กลับบ้าน บ้านเค้าอยู่ที่บนฟ้าโน้น…เห็นฟ้ามั้ย ฟ้าที่มีแดดนี่ละ”

คิ้วกับคัดเค้าก็เลยแหงนดูฟากฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยแสงสว่างกราดกล้าจนสายตาสู้ไม่ไหว

“เวลากลางคืน ท้องฟ้ามีแต่ดาว บ้านอี.ที.เค้าอยู่ที่ดาวดวงนึงบนนั้น”

“เหลอ” คิ้วถามอย่างสนใจ

“ที่ดาวมีนางฟ้าด้วยเนอะ พี่หมาก” พลูว่า

“เหลอ…นางฟ้าสวยเหลอ” คัดเค้าถาม

ฉันกำกับไปมีความสุขไปกับกลุ่มเด็กเล็กๆมากมาย เพราะไม่เคยเลยที่เขียนเรื่องหรือกำกับการแสดงแล้วจะรู้สึกบางเบาในอารมณ์ในหัวใจเพียงนี้

ครั้นหมาก พลู ปูนกลับเข้ากรุงไปแล้ว คิ้วและคัดเค้าก็เริ่มคิดถึงสหายต่างฐานะขึ้นมาจนถึงแก่เร้าให้ผู้เป็นย่าซื้อหนังสือการ์ตูนมาให้ เล่นเอาป้าเคลือบเอ็ดอึง

“เสียเงินเปล่าๆปลี้ๆหนังสือน่ะ ดูๆแล้วก็ทิ้งรกบ้านเปล่าๆ”

ว่าเข้านั่นเลยนะป้าเคลือบ

คิ้วกับคัดเค้าก็เลยหันไปเล่นเป็นฝรั่งกับอินเดียนแดงอย่างที่หมาก  พลู สอนให้เล่น

ปลายอาทิตย์นั้นเอง ขณะที่คิ้วกับคัดเค้ากำลังรอครอบครัวของก่อง ก็มีชายสองคนขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายกันเข้ามา นายบดขี่นายคงอาของคิ้วกับคัดเค้าซ้อนท้าย นายบดทำท่าสนใจไอ้แด่น ควายของป้าเคลือบ แต่พร้อมกันนั้นก็มีก๋วยเตี๋ยวสองห่อติดมือมาให้คิ้วและคัดเค้าทุกครั้งที่มา

แต่ฉันก็ต้องนำเรื่องน่ารักของเด็กๆและการทำนาจนถึงการเกี่ยวข้าวมาคั่นไว้

มีนิทานหลายเรื่องทีเดียวที่ฉันเกณฑ์ลุงลาดผู้เป็นตัวละครมีการศึกษา คอยนั่งเล่าให้เด็กๆฟัง

ขณะที่คิ้วและคัดเค้าก็มีหน้าที่คอยต้อนควายเข้าคอก ช่วยนางบานเช้าผู้เป็นแม่

หารู้ไม่ว่า…ไกลออกไปตรงถนนดินขรุขระซึ่งเป็นถนนตัดตรงจากทางหลวงเข้าสู่ท้องทุ่งอีกซอยหนึ่งนั้น จักรยานยนต์คันหนึ่งจอดสงบอยู่ บนอานมีชายผมหยิกกระเซิงและคนเกาะท้ายอีกหนึ่งกำลังมองมายังหมู่คนทั้งผู้ใหญ่และเด็กหมู่นี้

“มึงเห็นไหมว่ามันยากส์” คนเกาะท้ายว่า

“เออน่า…ไม่เป็นไรหรอก ตัวล่อมันมีอยู่แล้ว ไม่ได้ลงมือเดี๋ยวนี้นี่หว่า ไงๆก็ต้องรอพ่อแม่มันไปวุ่นกับท้องนาของมันนั่น…หรือไม่ก็ต้องโรงเรียนปิดเทอม”

“เอาควายก่อนไม่ดีกว่าเร้อ คนน่ะมันยากนามึงนา” ฝ่ายเกาะท้ายออกความเห็น

“กูเล็งมานานนักแล้วนะ” เป็นคำตอบค่อนข้างหงุดหงิด

“ควายก่อนดีกว่า ง่ายดี บอกมาเลยวันนี้พรุ่งนี้หรือเมื่อไหร่ รถเรามีอยู่แล้ว”

เมื่อมาถึงตอนนี้ ฉันเองก็ยังชักจะขนลุกขึ้นมาแล้วเลย

แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจิตใจรักธรรมชาติ และคิดว่าธรรมชาติรอบข้างนี้ช่างเป็นสุขนักหนานั่นสิ…ที่ยังคงหัวเราะต่อกระซิกกันด้วยความหรรษา

 

ในที่สุดก็มาถึงวันคริสต์มาสกับปีใหม่ใกล้ๆกัน

อัญชันจึงชวนลูกๆกับแม่สายัณห์ไปหาซื้อของขวัญชิ้นเล็กๆแต่มีประโยชน์ เป็นต้นว่า หวี กระจก กรอบรูป สบู่ แป้ง แชมพู ไฟฉาย นำไปให้ทุกคนโดยเฉพาะหลานป้าเคลือบ มีคิ้ว คัดเค้า กุ๊กไก่ จับสลาก

วันที่ 31 ธันวาคม ปีนี้ตรงกับวันศุกร์

ก่องจะปิดร้านตั้งแต่เย็นวันพฤหัสแล้วไปเปิดวันจันทร์ ดังนั้น จึงมีเวลาถึง 3 วัน สำหรับพักผ่อนรื่นเริงสุขสำราญ กับท้องทุ่งผืนนาที่ยังเก็บเกี่ยวไม่เสร็จ ส่วนที่นวดแล้วนั้นก็แค่ส่วนเดียวของทั้งหมด

ไอ้โด่ง อีเทา อีแด่น อีดำ อีขาว ควาย 5 ตัว ของป้าเคลือบถูกปล่อยให้ไปหากินไกลออกไป

คัดเค้าเบื่อตามมันเหลือเกิน จึงบุ้ยใบ้กับคิ้ว

“เอ็งไปนะ ข้าจะกลับละ”

“ไม่เอา เอ็งไป ข้าจะอาบน้ำ”

แต่เสียงจักรยานยนต์ก็ดังขึ้น ครั้นแล้วนายบดก็มาปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า

“ยังไม่กลับบ้านอีกหรือคิ้ว” เขาเอ่ยถาม

“ก็กำลังจะกลับแหละอา เบื่อฉิบหายไอ้ห่า ควายพวกนี้”

นายบดก็เลยหัวเราะอารมณ์ดี

ที่จริงคิ้วกับคัดเค้าก็เพิ่งเห็นเขาเมื่อไม่นานมานี้เอง ไม่รู้เหมือนกันว่าอาคงไปพามาจากไหน แต่คิ้วก็เล่าให้เขาฟังแล้วว่า ครอบครัวชาวกรุงจะมาวันพฤหัสมาฉลองปีใหม่   ใครต่อใครจะไปกินข้าวที่บ้านคนกรุงเทพฯก็ได้ คิ้วก็เลยชวนบดไปด้วยกัน

“แต่เค้าไม่ได้เชิญอานี่ แล้วคนอย่างพวกเราจะไปรวมกลุ่มกะเขาไหวเหรอ”

“ทำไมล่ะอา” คิ้วงง

“ก็พวกเขาออกเรี่ยม พวกเราออก…เป็นกรรมกร” นายบดออกเสียงหมั่นไส้ “หนอย…จะทำนา…เฮอะ…กูฟังแล้วอยากอ้วก ไอ้พวกคนมีเงิน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”

“แต่เค้าจะทำนะอา ย่ายังว่าเลยว่าเค้าเอาจริง”

“เออ…แล้วเอ็งก็คอยดูไป…อะไรๆก็ต้องย่าเอ็งทั้งนั้น ตัวมันน่ะมีปัญญาเรอะ เกี่ยวข้าวกอเดียวก็ขี้เยี่ยวทะลักแล้ว”

คราวนี้คิ้วเงียบเพราะไม่อยากนินทาพ่อของหมาก

หากก็เถียงแทนขึ้นมาจนได้

“ก็เค้าไม่เคยทำนี่ เค้าก็เหนื่อยน่ะซีอา”

“อ้าว…ไม่เคยทำแล้วเสือกมาทำไม”

“เค้าลองทำมั่งไม่ได้งั้นเหรอ”

“มันเบ่งน่ะซี เบ่งในเมืองไม่ได้มาเบ่งนอกเมือง”

คิ้วก็เลยลุกขึ้น พลอยให้คัดเค้าลุกบ้าง พลางหันไปดูควาย

อีดำกับอีขาวยังคงหมอบอยู่กับที่

แต่ไอ้โด่ง อีเทา กับไอ้แด่นนั้นแลไม่เห็นแม้แต่เงา ก็เลยบอกนายบด

“หนูจะไปเอาไอ้พวกนั้นเข้าคอก”

“ยังไม่เย็นซักหน่อย รีบอะไรกันวะคิ้ว”

“หนูจะไปอาบน้ำแต่งตัว หนูจะสระผมด้วยนี่อา เดี๋ยวคุณพวกนั้นเขาเหม็น”

“โฮ่โฮ่” นายบดทำเสียงเยาะเย้ย “กลัวเขาเอาใจเขากระทั่งผมบนหัวเชียวเรอะ…คิ้ว นี่มันหัวเรานะ เหม็นหรือหอมก็หัวเรา…”

“ไอ้โด่งหายไปเลย” คิ้วคอยหันไปมองควาย

พอดีนางบานเช้าป้องปากตะโกน

“คิ้วเอ๊ย…เอาควายเข้าคอกได้แล้ว”

แต่นายบดบึ่งรถดังสนั่นจากไป

“โด่งเอ๊ย” คิ้วก็เลยวิ่งบ้างเดินบ้าง จนกระทั่งถึงอีขาวอีดำ แต่แลไม่เห็นไอ้โด่ง ไอ้แด่น อีเทา

มันหายไปหมดทั้งสามตัว

ท้ายที่สุด นายคงก็เลยไปแจ้งความ

ก่องรู้เข้าก็เลยเตือน

“ให้เด็กเลี้ยงนี่ก็อันตรายมากนะป้า ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์หรอกหรือว่า คนร้ายฆ่าเด็กเลี้ยงควายตาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจถูกข่มขืนได้ ไม่ควรปล่อยเด็กไว้กับท้องนาเปลี่ยวๆหรอกนะ สมัยนี้อะไรๆก็น่ากลัวทั้งนั้น”

ตัวละครพูดมาถึงตรงนี้ ฉันก็เลยถึงบางอ้อทีเดียวว่า ความน่ากลัวในสังคมมีมาตั้งแต่สี่สิบปีก่อนหรือกว่านั้น มิใช่เพิ่งเกิดปีนี้

ผู้ร้ายมีดกดื่นไม่ว่าในกรุงหรือต่างจังหวัด

ในไร่นาก็มียาฆ่าแมลง ในน้ำมีสารพิษและความสกปรกโสโครกสะสมอยู่ตามคลองซึ่งแต่ก่อนใสสะอาด

ส่วนที่เรือนของก่อง ลุงโพดและลุงลาด กำลังช่วยกันขนเครื่องทำไฟขึ้นไปไว้บนเรือน ป้าเคลือบ คิ้วและคัดเค้ามาแวะเพื่อเล่าเรื่องควายหายแล้วจึงขอตัวกลับไปอย่างอ่อนล้ามีนายคงตามไปตามกลับจนกระทั่งถึงบ้านก็แลเห็นนายบดรออยู่แล้ว

แต่ที่บ้านก่อง ทุกคนกำลังช่วยกันตกแต่งกระดาษสีและโคมไฟ ทั้งไฟนีออนและไฟกะพริบตามต้นไผ่ มีเฟื่องหลากสีรูปครึ่งวงพระจันทร์ห้อยเป็นช่วงๆ

ไม่มีใครยอมให้ปูนแตะต้องอะไรเลย เพราะกลัวกระดาษจะยับยู่ยี่ด้วยมือคนตัวเล็ก

ปูนก็เลยเริ่มโยเย

“เค้าจาเอาตาไกนี่ เค้าจากตาไก”

“สงสัยนอนไม่เต็มตา” แม่สายัณห์คาดเดา พลางก็คว้าร่างน้อยเข้าสะเอว พาลงไปที่ลานดินข้างล่าง ปล่อยให้ปูนเดินเล่น แต่ปูนก็วิ่งตุ๊กๆไปด้วยฤทธิ์งอน

นายบดขี่จักรยานยนต์มาถึงพอดี เดินยิ้มแต้เข้ามาทัก มาถามแม่สายัณห์

“อาทิตย์หน้าจะมีงานหรือครับ”

“จ้ะ…มี” อีกฝ่ายตอบไม่เต็มปาก

“คุณหนูน่ารักจังเลย…ท่าทางฉลาดนะ คุณหนูเอาลูกโป่งไหม ผมจะซื้อมาฝาก พวงโตเลย เวลาเปิดงานก็ปล่อยลูกโป่งขึ้นฟ้าเอาไหม”

นางเคลือบนอนไม่หลับแม้จะดึกดื่นเพียงไรก็ตาม ด้วยความคิดถึงควายสามตัวที่อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย แม้นายคะนึงจะออกไปตามแล้วกลับมาตอนสามทุ่ม ก็ส่ายหน้าอย่างผิดหวัง

ฝ่ายนายคงลูกชายคนเล็กหายหน้าไป กลับมายามดึกพร้อมด้วยอาการเมามาย นางเคลือบเลยด่าเข้าให้ พร้อมกันนั้นก็คิดจะขายควายที่เหลือ หากก็ยังตัดใจไม่ได้จนแล้วจนรอด

ครั้นแล้ว วันรุ่งขึ้นจึงถามคิ้วกับคัดเค้าถึงนายบด

“วันที่ควายหายน่ะ ไอ้บดมันมาคุยนานไหม”

หลังจากสอบถามแล้วจึงพึมพำ

“มันเอาของกินมาล่อ”

“ทำไมเหรอย่า ย่าสงสัยเขาเหรอ”

“เออว่ะ…ไงๆก็ต้องสงสัยละ” นางเคลือบบอกหลาน “เล่ห์เหลี่ยมคนสมัยนี้มันร้อยแปด ที่ตลาดเมื่อก่อนเคยมีคนมาเดินเรี่ยไร บอกจะเอาเงินไปช่วยเด็กกำพร้า คนก็ให้ไป เค้าก็มีใบเสร็จให้ละนะ แต่ตอนหลังพวกร้านข้าวสารไปสืบมา เค้าว่าไม่มีหรอกไอ้สมาคมเฮงซวยอะไรนั่น…ใบสกใบเสร็จ หมามันก็พิมพ์ได้”

ฉันเอาเรื่องจริงสมัยนั้นใส่ปากให้ป้าเคลือบพ่นออกมา

ผู้ชมจะได้ทราบว่า คณะพรรคหลอกกินตับชาวบ้านมีมานานแสนนานมากแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีในพ.ศ.นี้ซึ่งก้าวหน้าไปถึงออนไลน์โดยไม่มียกเว้น

 

ขณะที่ทุกคนกำลังเตรียมจัดงาน นายบดกับเพื่อนคนหนึ่งก็มาที่บ้านก่อง เจอลุงโพด ลุงลาด และคิ้วกับคัดเค้าที่นั่น นายบดจึงถามลุงโพด

“ปีใหม่นี่มากินเหล้ากะลุงด้วยคนได้ไหม ผมคงมากะไอ้คง”

ลุงโพดก็เลยพยักหน้า

“มาซี คุณแกคงไม่ว่าอะไรหรอก เปิดฟรีอยู่แล้ว เค้ามีเลี้ยงกันตั้งแต่กลางวันวันศุกร์นั่นแน่ะ…แต่คุณๆคงมานี่เย็นวันปะหัด เห็นว่าจะทำกับข้าวตั้งแต่คืนนั้นนั่นแหละ เช้าขึ้นทำต่อ เลี้ยงตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงดึกเลย”

“ท่าจะสนุก” นายบดพึมพำพลางหันไปสบตาเพื่อน

เมื่อแสดงมาถึงตรงนี้ ผู้ชมคงรู้กันแล้วละว่า ต้องมี ‘เหตุการณ์’ ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งค่อนข้างร้าย เกิดขึ้นแน่นอน

ก็ฉันเองยังใจเต้นโครมๆเลยนี่นา

ทันใดนั้น เสียงรถตู้ของก่องก็แล่นมาถึงพร้อมกดแตร

นายบดตกใจมาก ถึงกับเผ่นผลุงลุกขึ้นยืน แต่ก็รีบบอกเจ้าของบ้านว่าตามมาช่วยลุงจัดกระถางต้นไม้ ครั้นแล้วจึงทำเป็นกุลีกุจอช่วยลุงลาดผู้เป็นคนขับขนหม้อ จาน ชาม ลังน้ำดื่มมาล่วงหน้า เพื่อว่าพรุ่งนี้จะได้มีที่ว่างพอสำหรับพาเด็กๆมาฉลองปีใหม่

“แต่เครื่องปั่นไฟยังไม่เอามา…กลัว…เดี๋ยวพอเราคล้อยหลัง ลุงโดนจี้ก็เสร็จละซี”

หากนายบดแย้งขึ้น

“แถวนี้ยังไม่ค่อยปรากฏนะครับ”

“อ้าว…จะไม่ปรากฏได้ไง ควายแม่เคลือบยังหายเลย ลืมแล้วเหรอ เรื่องเพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่วันมานี่เอง เพราะงั้นก็ไว้ใจอะไรไม่ได้ เพียงแต่เราก็ไม่รู้จะอพยพไปไหนแล้วละนะ อยู่กรุงเทพฯก็ไม่สุข อยู่บ้านนอกก็เป็นทุกข์ ก็ขอบใจนะที่มาช่วย ชื่ออะไรล่ะ มะรืนนี้มากินเลี้ยงกันซี”

ครั้นขึ้นรถแล้ว ลุงลาดจึงเอ่ย

“สองคนนั่นมันใครก็ไม่ทราบนะฮะ…ผมเห็นมันบ่อยๆ มีงานมีการทำหรือเปล่าก็ไม่ทราบ”

“ก็ช่วยเหลือแข็งขันดีนี่นะ” ก่องว่า “มีมอเตอร์ไซค์ด้วย จอดอยู่นั่นไง”

แต่ลุงลาดก็อยากจะเอ่ยสักประโยคหนึ่งว่า

‘โจรสมัยนี้มามอเตอร์ไซด์ทั้งนั้น บางรายก็มารถยนต์ดีๆ’

 

เพียงแต่ถึงวันที่ 30 แขกก็เต็มบ้านริมนาของก่อง เด็กมีทั้งหมดสิบแปดคน ตั้งแต่สิบสามขวบไปจนถึงสองขวบ

นายบดจอดมอเตอร์ไซค์ไว้บนถนนดินขรุขระ มือถือลูกโป่งพวงใหญ่ก้าวเข้ามาในประตู

“ลูกโป่ง” เป็นเสียงร้องเซ็งแซ่ของหนูๆที่อยากได้ลูกโป่ง จึงผวาเข้าหาชายผมกระเซิงซึ่งวันนี้แต่ตัวเรี่ยม

ลูกโป่งหลากสีมีสักหนึ่งโหลเห็นจะได้

อาการหลอกล่อของตัวละครบางตัวนี่ ฉันจำเป็นต้องจัดหนักจัดเต็ม คือต้องแนบเนียนค่อนข้างมาก

ปูนมองแล้วจึงบอกนายบด

“เค้าจะเอาลูกโป่ง”

“คุณหนูต้องได้แน่นะฮะ แต่ขอให้มันลอยอยู่ยังงี้ซักพักก่อนได้ไหม ค่ำๆค่อยเอาลง”

“เอาตอนนี้ไม่ได้เหลอ” ปูนต่อรอง

ฉันละก็อยากดึงตัวเข้ามาหอมจังเลย…เด็กที่แสดงเป็นปูนแสนน่ารักน่าเอ็นดูกระไรเช่นนี้

“ไม่ได้นะครับ”

“ค่ำแค่ไหน” พลูก็เลยถาม

“ค่ำๆ…สองสามทุ่มก็ได้” เขาผัด “แล้วผมก็ยังมีดอกไม้ไฟกะปะทัดมาจุดด้วยนะ” พลางก็ไปหยิบโอ่งดินเผาใบเล็กๆปิดหน้าด้วยกระดาษแดงที่อยู่ในถุงท้ายรถออกมาชูให้ดูเป็นตัวอย่างหนึ่งอัน “นี่ไงฮะ ดอกไม้ไฟ”

“ดอกไม้ไฟเหลอ” ปูนถามอย่างทึ่ง “ดอกไม้ไฟเป็นไง”

“เราก็เอาไฟจุดแล้วมันก็ลุกพึ่บขึ้นไงฮะ ไฟมันจะพุ่งขึ้นข้างบนเลย” นายบดเจรจา “ผมจะอยู่นี่ถึงเที่ยงคืน จุดพลุส่งท้ายปีเก่าไง ดีไหมคุณหนู”

“แม่เราไม่ให้จุดพลุ ไม่ให้จุดดอกไม้ไฟ บอกว่าหนวกหู แล้วก็เกรงใจชาวบ้านด้วย” เด็กคนหนึ่งบอก “ปะทัดก็ไม่ให้จุด”

“นานๆทีไม่เป็นไร กลางทุ่งยังงี้ไม่มีใครได้ยิน” นายบดว่าพลางเดินห่างออกไป เด็กๆก็เลยเดินตามเขาเป็นพรวน

ลุงลาดไม่ห้าม หากก็คอยยืนดูพลางบอกหมากให้ดูแลน้อง หมากกับพลูก็เลยจูงแขนปูนคนละข้าง แต่เจ้าตัวเล็กก็สะบัด

“เค้าเดินเองได้…มา…ปุกมา…ไปกะพี่” ว่าพลางหนุ่มสามขวบก็เกร่เข้าไปจูงเด็กหญิงคนหนึ่งแก้เขินพลางชี้ชวน “พะอาทิตย์…เห็นพะอาทิตย์มั้ย เดินเล็วๆซี เดี๋ยวพะอาทิตย์ตกปุ๊ลงมาโดนตัวเองไม่ลู้นะ”

ความหม่นมัวเมื่อครู่มัวหม่นลงเรื่อยๆ ในที่สุดลุงลาดผู้เฝ้ามองก็แลเห็นแต่เสื้อสีอ่อนๆหลากหลายเคลื่อนไหวๆอยู่ตรงโน้นจนเขาเป็นห่วงเด็กๆ คงจะชวนกันเดินแกมวิ่งไปจนถึงถนนใหญ่ จึงรีบออกไปตาม ขณะที่เย็นย่ำเปลี่ยนเป็นค่ำมืดโดยเร็วเนื่องด้วยบัดนี้ ค่ำเร็วเพราะกลางคืนยาวกว่า

แต่ลุงลาดก็ไม่อาจแลเห็นหมู่เด็กที่อยู่ไกลออกไป แม้จะเร่งฝีเท้ารีบด่วนเพียงไรก็ตาม

“เฮ้อ…ขออย่าให้อะไรเกิดขึ้นเลย” ชายกลางคนแค่นึกในใจโดยไม่รู้เหมือนกันว่าเหตุใดความคิดนี้จึงแล่นวาบเข้ามาในสมอง

“ลุงขาลุง” เสียงหมากร้องแกมด้วยร้องไห้แว่วมา ขณะที่ลุงลาดแลเห็นรถคันหนึ่งวิ่งปุเลงๆจากไป

เมื่อวิ่งไปถึงที่นั่นแลเห็นนายบดยืนอยู่ พร้อมกับทำท่าทุกข์ร้อน แต่หมากกับพลูร้องไห้โฮ

“รถคันนั้นฮะ…ผมจูงคุณปูนอยู่ พอมาถึงมันก็จอดปุ๊บ วิ่งลงมาดึงเอาคุณปูนไปเลย”

ได้ยินเพียงแค่นั้น ลุงลาดก็ใจหายวาบ กระบอกตาร้อนผ่าว

เหตุร้ายเกิดขึ้นอย่างไม่เข้าท่าเลยจริงๆ

ทั้งก่องและอัญชันพอรู้เข้าก็แทบเสียสติ…ตัวละครพ่อแม่เลยหันมาถลึงตาเอากับฉัน ราวจะบอกว่า

‘เพราะนักเขียนตัวการนี่เชียว…เลี้ยวไปเฮี้ยวมาก็ก่อเรื่องขึ้นอีกจนได้’

ขณะที่ปูนถูกจับกดไว้ให้นั่งหน้าระหว่างคนขับกับคนที่ลงไปอุ้มเขามาจากมือนายบด

“มีนมกินมั้ย” ในที่สุดปูนก็ถาม

“โห้…โห้…โห้” มันชวนกันหัวเราะ

“ทำไมหัวเลาะเค้าล่า”

“ก็ขำนี่หว่า มีอย่างเรอะ โตป่านนี้ยังกินนม ถามจริงๆเหอะ นมแม่หรือนมขวด ไอ้หนู”

“นมขวด ขวดสูงๆ เค้าไม่กินแก้ว”

“เราโตแล้วน่า” เจ้าคนร้ายซ้ายมือจับหัว…” เอาเฮอะ ถ้าพ่อแม่แกเอาเงินมาให้ เราจะปล่อยแกกลับบ้าน”

“ผู้ล้ายค้าบ อย่าทำปูนนะค้าบ ปูนกัว…ปูนจาหาแม่ค้าบ”

“เอ็งหยุดเรียกข้าว่าผู้ร้ายทีได้ไหม”

ฉันเองก็ยังพลอยหัวเราะก้าก ขำขันไปด้วย

แต่ขณะนั้น ฉากก็ปิดชั่วคราว ปล่อยให้นักแสดงเป็นเด็กชายปูนวัยสามขวบเดินออกมา

ฉันก็เลยถือโอกาสตอนปิดม่าน ดึงเด็กชายเข้ามาหอมแก้ม พลางยกนิ้วหัวแม่มือ

“หนูเก่งกว่าใครทั้งหมดเลยนะค้าบ…สงสัยปีนี้ หนูคว้ารางวัลตุ๊กตาทองเวทีไทยไปกินละมั้ง”

ลืมบอกไปว่า ความน่ารักของปูนในเล่ม ‘รอบรวงข้าว’ น่าฟัดน่าหอมมากกว่านี้สักสิบเท่าเห็นจะได้

 

– จบ –

 

 

Don`t copy text!