วิมวิริยา แห่ง “วิหคโสภา”

วิมวิริยา แห่ง “วิหคโสภา”

โดย : กฤษณา อโศกสิน

Loading

“หลังม่าน” คอลัมน์ที่จะบอกเล่าถึงชีวิตของตัวละครเด่นๆ ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน เป็นเรื่องราวเบื้องลึกที่มีแต่นักเขียนเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ และนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านชาวอ่านเอาได้เห็นชีวิตด้านหลังม่านของตัวละครเหล่านั้น

ขอเริ่มต้นคำบรรยายนวนิยายเรื่องนี้ด้วยการนำ ‘คำนำ’ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จากการพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์เพื่อนดีมาเป็นประโยคนำเรื่อง เพราะช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น

คำนำมีว่า

‘นวนิยายส่วนใหญ่ที่ก่อกำเนิดขึ้นในสมัยที่ข้าพเจ้ายังอยู่ในวัยต้น ดังเช่น ‘วิหคโสภา’ นิ้ หลายเรื่องทีเดียวที่ต้องมาย้อนทวนหวนรำลึกถึงที่มาที่ไปว่าเกิดอาการสะดุดใจหรือประทับใจจากใครผู้ใด จึงทำให้คิดถ่ายทอดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมา บางเรื่องก็จำเค้าโครงและต้นปลายได้แม่นยำ บางเรื่องก็จำได้รางๆ แต่บางเรื่องก็จำไม่ได้เลย

สำหรับ ‘วิหคโสภา’ นี้อยู่ในประเภทที่หนึ่ง นั่นก็คือ จำบุคลิกลักษณะของตัวละครในเรื่องได้ชัดเจนว่าเคยเห็นอาการหรือวิธีพูดจาแบบนั้นๆมาจากใคร ความจำสมัยกระโน้นที่ไม่ค่อยจะตกหล่นไปโดยง่ายก็ช่วยให้การหยิบฉวยเอา ‘บุคลิกลักษณะ’ ของผู้คนที่เป็นคนจริงๆ มีชีวิตอยู่ในสังคมแบบนั้นๆจริง มาปรุงปนปั้นเกลาให้เข้ากันเป็นรูปรอยโครงสร้างของชีวิตคนหลายคน ซึ่งในชีวิตจริงอาจแยกกันอยู่ แยกกันไป

แต่เมื่อนักเขียนคนหนึ่งหยิบพวกเขามาได้ มิหนำซ้ำลองทำรายละเอียดที่เสมือนทดสอบ ก็ชอบที่จะบอกว่า พวกเขาชวนกันมาร่วมมือร่วมใจให้ผู้เขียนผูกเรื่องที่เน้นนิสัยใจคอ อารมณ์ ความรู้สึก จนกลายเป็นนวนิยายเรื่องไม่สั้นเรื่องหนึ่ง

ตั้งชื่อตามความเป็นไปของนางเอกผู้ประเปรียวมีปัญญาแต่จับไม่ง่าย ดุจดังนกที่ปีกใหญ่แข็งแรง โผผินไปในอากาศ ไม่ยอมเข้ากรงของใครแม้กรงนั้นจะเป็นกรงทอง

ข้าพเจ้าดูเหมือนคนลองของทีเดียวขณะนั้น เนื่องด้วยการลงลึกในอารมณ์ทั้งดีและร้ายของตัวละครทั้งชายและหญิงเป็นเรื่องยาก

ถ้าทำได้ ทำแล้วพาผู้อ่านให้ลอยละล่องไปในดินแดนแห่งทุกข์และสุขที่พวกเขาผลัดกันเข้ามาเล่นจนแลเห็นเป็นแบบอย่างว่าคนแบบนี้หรือแบบนั้นคือฉันใด…ข้าพเจ้าก็พึงพอใจนักแล้ว

พร้อมกันนั้น ก็อวสานลงด้วยเอกลักษณ์ของผู้เขียนที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

 

หากก็ต้องบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า การแยกร่าง หัวใจและวิญญาณ ‘ตัวละครของฉัน’ ชุดนี้ล้วนแล้วยากที่สุดกว่าวิญญาณใดที่เคยแยกมา แม้เมื่อผ่านตาครั้งแรกจะรู้สึกว่าง่ายก็ตาม

ทั้งไกรสีห์ผู้อยู่ในฐานะ ‘เจ้าพ่อ’ เคยมีภรรยานามว่ายุไรที่เลิกรากันไปแสนนาน หลังจากมีลูกชายลูกสาวคู่หนึ่ง ซึ่งยังเล่าเรียนอยู่ต่างประเทศ ต่อจากนั้นเขาก็เลยมีบทบาทเป็น ‘นักล่า’ กลายๆ แต่ล่าเฉพาะสตรีที่เขาประจักษ์แก่ใจแล้วว่า หล่อนอุดมด้วยความเฉลียวฉลาดทันคน หญิงโง่ๆ เขาไม่เคยหันไปสนใจให้เปลืองเวลา เนื่องด้วยทะนงในความใหญ่ที่สามารถจะเกี่ยวเอาสิ่งใดที่เปี่ยมทั้งค่าและราคามาเป็นของตนได้ทุกวาระ

ทั้งโมไนย ผู้เป็นชายหนุ่มวัยสามสิบแปด มีหนวดขริบเรียวเหนือริมฝีปาก ผู้คล้ายบุตรบุญธรรมของไกรสีห์ที่ดูราวกับถอดเอาวิธีล่าเหล่าสตรีมาไว้บำรุงบำเรอชีวิตเช่นเดียวกับ เจ้าพ่อของเขาซึ่งท้ายที่สุดเขาก็ตัดคำว่า ‘เจ้า’ ออก เหลือแต่พ่อคำเดียว

ตอนที่เปิดฉากเมื่อสักครู่นั้น ฉันพาทองกรเลขานุการของเขานั่งรถไปด้วย ไปรับผู้จัดการที่เป็นนายฝรั่ง เพิ่งกลับจากธุรกิจที่ต่างประเทศ แต่นายมีหญิงสาวคนหนึ่งเคียงข้างมาด้วย เป็นหญิงไทย ร่างสูง ผอมเพรียวอย่างนางแบบ สวมกระโปรงสั้นที่เกือบจะเป็น ‘ไมโคร’ คือกระโปรงที่กำลังเป็นที่นิยมสวมใส่กันในพ.ศ.นั้น มีนาฬิกาเรือนโตบนข้อมือขวา ทรงผมสั้นรูปใบโพธิ์ ไว้จอนยาวรับกับดวงหน้ารูปหัวใจที่แลดูปราดเปรียว เฉลียวฉลาด

หล่อนเพียงแต่ตวัดนัยน์ตามองโมไนยแวบหนึ่งโดยนายจ้างของเขาก็ไม่คิดจะแนะนำ…หลังจากร่ำลาฝรั่งแล้ว จึงหันไปกอดชายสูงวัย จุมพิตแก้มสองข้างด้วยกิริยาของชาวตะวันตก

โมไนยถึงกับนึกโกรธนายฝรั่งที่ละเลย

กลับถึงบ้าน จึงพบพหล เพื่อนสนิท กินเหล้านอนรอ เขาก็เลยลงนั่งสมทบกินกับเพื่อนผู้เป็นลูกเศรษฐี มักแวะเวียนมานอนค้างในห้องที่ว่างอยู่อีกห้องจนบางครั้งเจ้าของอย่างเขายังคิดเลยว่า บ้านนี้น่าจะเป็นของพหลมากกว่า

“คนทำอะไรตามอารมณ์นี่ เขาว่าทำอะไรได้ดี…ดีนะ ถ้าเป็นงานก็เป็นงานชิ้นงามชิ้นเยี่ยม” พหลว่าเมื่อเอนตัวลงนอนตามเดิม “ถ้าเป็นศิลปะ ก็เป็นศิลปะที่ประทับใจ”

“แล้วแกล่ะ ยังไม่เคยเห็นทำอะไรได้ชิ้นงามๆซักที มีแต่ติตะบัน” โมไนยถาม

แต่เจ้าตัวย้อนตอบ

“ยังไม่ถึงตา”

“เมื่อไหร่จะถึง อายุก็ปาเข้าไปตั้งสามสิบห้าแล้ว”

“แกก็สามสิบแปด”

“เราไม่เหมือนแกนี่ พ่อแม่ไม่มี ญาติก็ไม่มี”

“แต่มีพระเจ้าอยู่องค์ ประกาศิตของท่านศักดิ์สิทธิ์สำหรับแกนี่นา” พหลหมายถึงไกรสีห์

โมไนยจึงพยักหน้ารับ

“บุญคุณคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์…มนุษย์เรานี่ตายได้เสมอแหละ หลายหนด้วย แต่ถ้าในหลายครั้งหลายหนนั่น มีใครมาช่วยให้รอดตาย เราก็ถือว่าคนคนนั้นคือพระเจ้า”

“เค้าน่าจะให้ที่แกซักแปลง บ้านซักหลังนะ” พหลครึมคราง เพราะบ้านที่โมไนยอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ที่เขามานอนเขลงอยู่นี้ ก็แค่บ้านเช่า

โมไนยจึงได้แต่ขำขันแกมเวทนา

พหลเป็นตัวอย่างของชายผู้ได้ทุกสิ่งในชีวิตโดยมิพักต้องมีความสามารถ เนื่องด้วยมีพ่อแม่ พี่ชาย พี่สาว เตรียมโอ๋เขาทุกเมื่อ ชินกับการขอทุกสิ่งจากทุกคน เลยมาแนะให้โมไนยทำบ้าง

“จู่ๆแกก็จะให้ฉันแล่นไปขอที่แปลงบ้านหลังเรื่อยเลย”

“อ้าว…ก็ทีเขาส่งแกไปเรียนนอกยังส่งได้นี่หว่า”

“เขาส่งเพราะพ่อฉันเคยรับใช้เขามา เขาส่งแค่นี้ก็มากพออยู่แล้ว”

“ไม่จริง…ก็ตอนนี้แกยังรับใช้เขาสารพัดนี่เว้ย”

“แต่ละอย่างก็ล้วนงานสำคัญ”

“เขารวยอย่างว่าเล่น ทำไมเขาจะให้ที่แกสักแปลงบ้านสักหลังไม่ได้” พหลยังคร่ำครวญเรี่อยเปื่อย

ผู้กำกับก็จำเป็นจำใจดึงเขาออกมาร้องเล่นเต้นไปด้วยกับพระเอกเหมือนกัน

ให้ผู้คนได้ล่วงรู้ว่า คนคิดเช่นนี้ก็มี ทั้งสมัยโน้นสมัยนี้ มิได้หายไปไหน

อาจเพิ่มจำนวนมากขึ้นมากต่อมากก็ได้

โมไนยกับพหลอาจเป็นคนชอบอิสรเสรีของชีวิตปานๆกัน แต่เสรีที่ปฏิบัติอยู่ ก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

“นี่ถ้าแกมีเมีย วงเล็บ เมียจริงๆน่ะนะ เขาก็คงจะรับไหว้แกเป็นหมื่นเป็นแสนละมั้ง”

“หยุดที หล บอกจริงๆนะว่า ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดอยากได้อะไรของใคร ตั้งใจว่าจะสะสมด้วยกำลังของตัวเองมากกว่า ถ้ายังไม่อยากมี ก็ยังไม่ยอมซื้อ อยากมีเมื่อไหร่ก็ซื้อเมื่อนั้น เราไม่บูชาวัตถุสักเท่าไหร่หรอกน่ะ”

ผู้กำกับก็เลยแอบชูนิ้วให้คนหน้าฉาก พลางทำท่าตบมือ

พร้อมกันนั้น พระเอกมาดแมนก็แหงนมองท้องฟ้าอันดารดาษด้วยดวงดาวที่สมมุติว่า คนทั้งคู่เพิ่งเดินตามกันคุยกันมาถึงสนามหญ้าหน้าเรือน

หากอารมณ์ของโมไนยก็แล่นลิ่วไปสะดุดหยุดลงที่ดวงตาเฉลียวฉลาดของหญิงสาวที่เพิ่งพบที่ดอนเมือง

 

บอกตรงๆกับตนเองว่า เขาไม่นิยมผู้หญิงที่มีคุณภาพสำคัญเช่นทองกร เลขานุการของเขาเอง

ทองกรที่เมื่อครู่ก่อนนั่งรถไปรับนายเออร์สัน ผู้จัดการบริษัทกับเขา เป็นผู้หญิงเรียบร้อย อยู่ในกรอบจนราวกับคนเชยๆที่ไม่เคยล้ำเส้นใดๆในชีวิตให้ด่างพร้อย เนื่องด้วย…

ล้อคนโง่ ไม่มีวันสนุก ไม่ว่าเมื่อใด

พระเอกคิดในใจขนาดนี้

ฉะนั้น ฉันจึงมีหน้าที่ป้อนวิถีทางให้เขาเดิน เพราะฉันเองก็มักจะเพลิดเพลินอยู่กับตัวละครที่พลิกแพลงแผลงเก่งมากกว่า

ที่สำคัญก็คือ ฉันเองเป็นคนหล่อหลอมให้พระเอกเดียดฉันท์ผู้คนที่มักจะไร้สีสันจนน่าเบื่อ เนื่องจากเขาได้รับเชื้อแห่งความสมองไวใจถึงใจใหญ่ ใจสุกใสสดปลั่งด้วยพลังภายในมาจากไกรสีห์จนเต็มร้อยเต็มพันนั้นต่างหาก

ครั้นแล้ว นาทีนี้ ฉันจึงพาเขามาร่วมรับประทานอาหารค่ำกับไกรสีห์ มหาพจน์ เจ้าของบริษัทธุรกิจใหญ่ผู้มีนายขุน นางองุ่น พ่อบ้านแม่บ้านคู่ใจ คอยรับใช้ใกล้ชิด คอยจัดสรรทุกสิ่งภายในคฤหาสน์ใหญ่เสนอสนองอารมณ์สุนทรีย์ของนายจ้างอย่างประณีตทุกฝีเข็ม นับตั้งแต่อาหารทุกจานบนโต๊ะที่เรียงรายอยู่เกินกว่าห้าอย่างทุกวันเวลา เพื่อให้ ‘ท่าน’ ได้ตักชิมอย่างละนิดละหน่อยทุกๆจาน โมไนยจึงจะมานั่งกินเป็นเพื่อนให้เจ้าพ่อได้วิจารณ์คนนั้นคนนี้ไปตลอดชั่วโมงนั้น ครั้นแล้วจึงย้ายไปสู่ชั่วโมงสำราญ หลังจากวิจารณ์งาน วิจารณ์คน ด้วยลีลาค้นเอามาคลุกอย่างสนุกสำราญแล้ว จึงจะย้ายมาชี้ชวนให้โมโนยชิมอาหาร

“ผักดองเจ้านี้เขาชาววังเก่านาแกนา ดองผักสะเด็ดสะเด่าไปเลย แต่ดองผัวไม่ได้ที่ซักที”

จึงทั้งผู้พูดและผู้ฟังต้องแข่งกันหัวเราะ จนนายขุนผู้ยืนแอบอยู่ข้างประตู โผล่เข้ามาทำหน้าเลิ่กลั่ก

แต่ในที่สุด ไกรสีห์ก็เอ่ยขึ้นอย่างจริงจัง

“พ่อกำลังมีทุกข์…ทุกข์จริงๆนะลูกเอ๋ย”

“ผมก็กำลังรอรองรับความทุกข์ของพ่ออยู่นะครับ”

“ผู้หญิงคนนั้น ให้ตายเถอะ พ่อไม่อยากพูดให้แกฟังเล้ย”

“พูดเถอะฮะพ่อ ผมไม่เคยเห็นว่าอะไรในโลกนี้จะแปลกใหม่เกินไปจนฟังไม่ได้ซักอย่าง มีแต่เรื่องเก่าๆซ้ำๆ ก่อนเราเกิดไม่รู้ว่ากี่พันปีทั้งนั้น”

“พ่อไม่ได้ว่ามันแปลก แต่ว่ามันบ้า บ้าที่ผู้หญิงคนนั้นอายุคราวยายต่าย”

ยายต่ายคือลูกสาวคนเล็กของเขาที่บัดนี้กำลังเรียนอยู่ต่างประเทศ

“สวยมากหรือฮะ”

“สวยน่ะสวยแน่ แต่พ่อไม่ได้ทึ่งตรงสวยหรอกโม แกก็รู้ว่าพ่อรักผู้หญิงฉลาด” ผู้พูดดูซึมๆพร้อมครุ่นคิด

“พ่อไปพบเขาที่ไหน”

“งานค็อกเทลเมื่อไม่กี่วันมานี่เอง ที่สถานทูตฝรั่งเศส”

“คงเป็นคนมีการศึกษา”

“พ่อไม่ได้ถาม แต่รู้ว่าเขาเพิ่งกลับจากฝรั่งเศสหยกๆนี่เอง”

“ลูกเต้าเหล่าใครกันฮะ”

“แกรู้จักนายวง วีรทัตไหม”

“ไม่รู้จักครับ”

“หุ้นใหญ่บริษัททานตะวัน”

โมไนยสะดุ้งอีกครั้ง

“ที่เมียเพิ่งตายไปสองปี แล้วแกก็ไปคว้าเอากุหลาบช้ำๆ อะไรดอกนึงมาเลี้ยง…ตัวแกน่ะมีลูกสาวคนเดียว กับเมียเก่าชื่อวิมวิริยา”

แต่โมไนยไม่สะดุ้งเพราะนึกรู้อยู่แล้ว

ฉันได้แต่ยืนยิ้มอยู่หลังม่านเมื่อนึกถึงฉากต่อไป

คือท้ายที่สุด พระเอกก็ชิงตัดหน้าพ่อของเขา ไกรสีห์ มหาพจน์ ผู้กำลังติดใจอยากพบวิมวิริยา หากก็คลาดกันไปเสียเช่นกัน

ด้วยการให้ทองกรผู้เป็นเลขานุการสุภาพเรียบร้อยโทรศัพท์ไปนัดหมายคุยกันเรื่องจะขอเช่าโชว์รูมของบริษัททานตะวันเป็นที่โชว์สินค้าชิ้นใหม่ของบริษัททรูแมนคอมปานี ที่มีมิสเตอร์เออร์สันเป็นผู้จัดการใหญ่

ท้ายที่สุดของการเจรจาซึ่งต่างคนต่างก็จำได้ว่าเคยเฉียดกันมาก่อนหน้านี้แล้วที่ดอนเมือง โมไนยจึงรีบบึ่งรถมาหาวิมวิริยาทันใด

วิมวิริยาผู้เกลียดเพศชายไว้หนวด

ครั้นแล้ว ต่อจากนั้น ทั้งคู่ก็ได้รู้จักกัน

ประโยคแรกที่หล่อนเอ่ยกับเขาก็คือ

“ห้องที่ว่างอยู่นี่มีเสน่ห์จังค่ะ ตลอดอาทิตย์นี้มีแต่คนมาทาบทามหลายรายเหลือเกิน คุณจะโชว์อะไรคะ”

“ญาติผู้ใหญ่ของผมคนหนึ่งอยากได้ห้องนี้”

“นั่นซีคะ ถึงได้อยากทราบว่าจะโชว์อะไร”

“อาจเป็นพวกทำความเย็น ตู้เย็น วิทยุ อะไรพวกนี้ก็ได้”

“ใครคะ บริษัทไหน”

“ไกรสีห์ มหาพจน์ไงฮะ”

“ดูเหมือนจะพบกันที่งานค็อกเทลค่ะ”

“คุณจำแม่นจัง”

“ความจำดีก็เป็นการได้เปรียบอย่างหนึ่งไม่ใช่หรือคะ”

“ไม่ใช่ได้เปรียบอย่างเดียวหรอกฮะ…ยังเป็น เอ้อ…เป็นเสน่ห์ที่หายากของคนทำงานด้วย”

“ถ้างั้นดิฉันก็โชคดีอยู่นิดซีนะคะ”

“ไม่นิดเลย เพราะคนส่วนมากถ้าลงว่างานยุ่งละก็จะจำใครไม่ค่อยได้ บางทีจำหน้าได้แต่จำชื่อไม่ได้ นี่คือความบกพร่อง”

“ส่วนมากลืมของ จำได้แต่คน ดีไหมคะ”

“คุณคงจำผมได้”

“จำได้แน่ค่ะ คืนนั้นที่ดอนเมือง จำหนวดของคุณได้”

ชายหนุ่มได้แต่นึกในใจว่า หล่อนเป็นคนทันสมัยและทันคนอย่างร้ายเลยทีเดียว จึงถามต่อ

“คุณคงไม่ชอบหนวดนัก”

“ไม่ชอบเลย ดิฉันเกลียดคนมีหนวด”

ผู้กำกับเองยังต้องยิ้มเลยนี่นา

ดีจัง…ฉันชอบนางเอกตรงไปตรงมาแบบนี้มาก เพราะเขียนง่าย กำกับง่าย

แต่แล้วคนมีหนวดกลับเชิญไปกินอาหารกับไกรสีห์ มหาพจน์

“เชิญคุณพ่อคุณด้วย”

“ญาติคุณก็มีบริษัท ทำไมคุณไม่ทำงานกับญาติล่ะคะ” นางเอกถามตรงอีกตามเคย

พระเอกก็เลยตอบ

“ความไว้ใจกับการทำงานบางทีก็ไปคนละทาง ถ้าคุณรู้จักผมกับคุณไกรสีห์ดี คุณก็จะไม่แปลกใจ พ่อลูกบางคู่ก็ยังทำงานด้วยกันไม่ได้”

“อันนี้ต้องยอมรับละค่ะ”

ท้ายที่สุด โมไนยก็กลับไปพร้อมรายการใหม่ในสมอง

ระหว่างที่ยังไม่ได้นัดวันพบปะกับสองชาย วิมวิริยาก็ต้องไปร่วมงานสังสรรค์กับเพื่อนฝูงกลุ่มใหญ่ที่มีสตรีวัยกลางคนนามว่ายุไร เป็นมารดาของภุมรี เจ้าของงาน เดินทางจากเชียงใหม่มาสมทบด้วย

ยุไร คืออดีตภรรยาของไกรสีห์

วิมวิริยาจึงมีโอกาสได้รู้จักโดยไม่คาดฝัน

ขณะที่วันต่อมา โมไนยเป็นผู้นัดหล่อนไปพบปะสนทนาและรับประทานอาหาร ร่วมกันเชิงเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

แต่ลึกๆแล้วก็ไม่ใช่

ระหว่างรออาหาร โมไนยบำเพ็ญตนเป็นคนฟังที่ดี เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าชั่วโมงนี้คือชั่วโมงของเจ้าพ่อ

ไม่ใช่ชั่วโมงของเขา

ครั้นวิมวิริยาหันมาถามว่าทำไมจึงเงียบไป

เขาจึงตอบ

“ผมกำลังฟังเพลิน ชอบฟังคนคุยที่ทันกัน”

หญิงสาวก็ถึงแก่ร้อง

“ดิฉันน่ะหรือคะ ทันคุณไกรสีห์…ตายละ…มือคนละชั้นเลยทีเดียว”

“ที่ไหนได้” ไกรสีห์จึงท้วงขึ้น “ผมอาจจะปรูดปราดมาก่อน แต่พอมาพบคุณเข้าเท่านั้น ก็ถอยหลังลงคลองไปเลย”

ฉันเองก็ต้องนิ่งฟังตัวละครหน้าม่านแลกเปลี่ยนถ้อยคำกันไปมาเช่นกัน ด้วยว่านวนิยายเรื่องนี้เน้น ‘บุคลิกลักษณะ วาจา ท่าที ของนักแสดงเป็นส่วนใหญ่ บทบรรยายในหนังสือจึงมิอาจจะใช้ได้มากมายนัก ดังเช่นฉันบรรยายว่า

‘หล่อนมองดูมืออูมๆของเขาที่หมุนอยู่ตรงก้านแก้วเหล้าผสมอ่อนๆ มีแหวนทองคำขาวรูปร่างหนาเทอะทะ เหมาะกับเรือนร่างและบุคลิกภาพของเขาสวมอยู่บนนิ้วนางซ้าย…แสงของเพชรนั้นล้อเล่นกับแสงสว่างภายในห้อง วิมวิริยาพิจารณาบุรุษสูงอายุอย่างถี่ถ้วน ดูเขาเป็นคนเจ้าอำนาจและเจ้าอารมณ์ แลเห็นได้จากประกายตาที่ยังดูตื่นตัวปราดเปรื่อง เรือนร่างค่อนข้างสูงใหญ่เป็นสง่า ภูมิฐาน ทรงปัญญาและความคิดเลอเลิศ ทั้งยังดูใหม่ ตามทันสมัยนิยม แม้จะผ่านวัยห้าสิบไปแล้ว

จะคบเขาไว้ก็ย่อมยังแต่ประโยชน์

วิมวิริยาต้องยอมรับว่า หล่อนติดนิสัยพ่อค้า นักธุรกิจตลอดมา การคบคนส่วนมากมักเล็งผลเลิศในทางการค้า ควบคู่ไปกับสรวลเสเฮฮา เนื่องด้วยบิดาเคยสอนและบรรจุความรู้สึกเช่นนี้ไว้ให้แต่ยังเยาว์ ทำให้ตนเองเข้าไหนเข้าได้ โดยเก็บความในใจไว้อย่างลึก

ส่วนตื้นเท่านั้นที่ดูราวกับเปิดเผยตรงไปตรงมา

“จะรังเกียจไหมไม่ทราบ ถ้าวันหน้าจะเชิญคุณไปเป็นแขกที่บ้านผม คุณชอบดูเครื่องลายครามไหม ผมมีทุกสมัยเลยทีเดียว”

“ไม่ชอบค่ะ แต่ก็ดูได้ ดิฉันไม่ค่อยสนใจของเก่า ก็เลยไม่ค่อยเห็นความงามของพวกสังคโลกอะไรแบบนั้น” วิมวิริยามักจะตอบคำถามเผินๆพวกนี้ไปตามจริง โดยไม่ปิดบังใดใดโดยไม่หวั่นเกรงแม้แต่น้อยถ้าผู้ฟังจะคิดว่าหล่อน ‘ตาไม่ถึง’ หรือ ‘หัวไม่ถึง’

‘ตัวละครของฉัน’ ที่ ‘หน้าม่าน’ ขณะนี้จึงตีบทแตกด้วยกันถ้วนหน้า

คือ เปิดเผยตัวตนและรสนิยมของตัวเองอย่างเต็มที่

“เอ้อ…แล้วคุณจะไม่ชวนผมไปบ้านคุณมั่งหรือฮะ”

“ได้ซีคะ ดิฉันน่ะยินดีเสมอ คุณพ่อก็คงดีใจ ความจริงเราสนิทกันไว้ก็ดีค่ะ มีเรื่องอีกมากที่ควรจะหารือกัน”

“วันนั้นเป็นวันเริ่มต้นที่น่าชื่นชมมาก”

แต่โมไนยสิ อยากแต่จะให้การโต้ตอบไร้สาระจบลงโดยเร็ว

 

ในนวนิยายเรื่องนี้ มิใช่ไกรสีห์เท่านั้นที่เป็นพ่อหม้าย แต่นายวง วีรทัต ก็เป็นพ่อหม้ายอีกหนึ่งซึ่งต้องอุปการะหลานสะใภ้กับลูกชายหญิงอีกสองเช่นกัน หลานสะใภ้นามว่ารินคำ อายุสามสิบห้าปี จึงกลายเป็นที่หมายตาของเขา เพียงแต่สะใภ้ยังคงเกรงใจวิมวิริยาผู้หวงบิดาเช่นกัน จึงยังไม่ยอมให้คำมั่นว่าจะสวมตำแหน่งแทนมารดาของหญิงสาวที่เพิ่งจากโลกไปได้สองปีหรือไม่

เรื่องราวของมนุษย์ในแต่ละครอบครัวก็มักจะมีความซับซ้อนซ่อนอยู่ เพียงแต่จะน้อยหรือมากก็สุดแต่ละชีวิตจะเป็นไป

นายวงพยายามปลุกใจให้รินคำยินยอมเป็นเมียลับของเขา แต่อีกฝ่ายถามว่า

“ดิฉันควรจะเสียตัวฟรีหรือคะ”

อือ…หลานสะใภ้ผู้นี้ก็ไม่ใช่เล่นดอกนา…ฉันกำกับพลางนึกในใจ

หล่อนเล่นได้สมบทบาทเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อได้ร่วมโต๊ะอาหารกันตอนเย็น นายวงเลยถามถึงการพบปะระหว่างลูกสาวและไกรสีห์ วิมวิริยาจึงบรรยายให้ฟังถึง เจ้าพ่อกับชายคนสนิทนามว่าโมไนย

“คุณคนนี้เขาก็อยากหาซื้อที่สักผืนค่ะ คุณไกรสีห์ก็อยากซื้อให้แต่แกไม่เอา…คนคู่นี้ก็ดูแปล๊กแปลก…ดูกระบิดกระบวนกันไปมายังไงไม่ทราบ”

“สงสัยใครคนใดคนหนึ่งคงจะจีบลูกเข้าให้แล้วละวิม”

“หรือคะ” นางเอกหัวเราะกับรินคำ “ก็ฟาวล์ไปอีกตามเคยละ วิมเกลียดหนวดของตานั่นสิ้นดี แล้วก็เกลียดท่าทางที่เชื่อตัวเองว่าฉลาดของคุณไกรสีห์พอแรงอีกต่างหากค่ะพ่อ”

ขณะเดียวกัน โมไนยก็พาทองกรไปรื่นรมย์ตามที่ต่างๆ เช่นกินอาหาร หาที่เงียบๆจอดรถคุย โดยอีกฝ่ายมิได้สูญเสียสิ่งใดให้เขา

เพราะพระเอกตั้งใจเพียงว่า จะช่วยรักษาคนดีอย่างทองกรให้อยู่เป็นเลขานุการของนายเออร์สันนายจ้างของเขาต่อไปนานเท่านาน

นี่คือความนัยส่วนที่นอกเหนือไปจากงาน

อีกอย่างหนึ่ง โมไนยไม่ต้องการมีเรื่องผูกมัดกับผู้หญิงที่เขาไม่ตั้งใจจะจริงจัง

แต่ก็กล้าบอกทองกรว่า

“คุณมีค่ามาก มีค่าตรงที่คุณเป็นคนดีที่สุด เท่าที่ผู้หญิงจะดีได้ ผมก็เลยไม่อยากเห็นคุณถูกแผ้วพานจากความหลอกลวงทั้งหลายไง…จริงๆนะ…ถ้าผมเก็บคุณไว้กับตัวได้ ผมก็จะเก็บ แต่นี่ผมไม่มีสิทธิ์”

เออ…แปลกแฮะ…โมไนย…นายคิดยังไงของนายกันนะ

ก็ฉันรู้นี่นา…นายไม่เคยบูชาความสวยมากไปกว่าบุคลิกภาพที่เป็นหนึ่งไม่ใช่หรือ

เพียงแต่นายไว้หนวดนี่เท่านั้น นางเอกของฉันถึงได้เมินหน้าหนีไง รู้ไว้ซะด้วย

แล้วก็ไม่ต้องไม่เชื่อคำของเจ้าพ่อที่ว่า

‘นึกครึ้มขึ้นมา บางทีก็อยากจะไว้ผมยาว ไว้หนวด ไว้จอน แล้วก็ผูกเน็คไทอันโตโต’ หรอกนะ

แต่สำหรับคืนนี้ ฉันต้องกะเกณฑ์ให้สามคน คือ ไกรสีห์ โมไนย และพหล มาเข้าฉากด้วยกัน ชวนกันไปนั่งดื่มกินที่ร้านขายเหล้า ตรงหัวมุมถนนคนกลางคืนที่มีไฟสีแดงเปิดสลัว เข้าไปนั่งในที่คับแคบอย่างสะลึมสะลือ ที่ที่มีแต่หนุ่มฝรั่งนั่งสำมะเลเทเมาพร้อมกับคุยเรื่องสัพเพเหระเสียงดังกับสาวสวยชาติเดียวกันผู้แต่งตัวแปลกๆพะรุงพะรังตามสมัยนิยม แคชเชียร์สาวกำลังส่งภาษากับหนุ่มอิตาเลียนเคราดกด้วยจริตจะก้าน

โมไนยจิบเหล้าไปพลาง มองดูชีวิตที่สรวลเสอยู่โดยรอบ บ้างก็นั่งตาปรือจะหลับมิหลับแหล่ บ้างก็คุยฟุ้งน้ำลายแตกฟองไม่ยอมหยุด บ้างก็ซุบซิบหารือจนหัวแทบจะชนกัน ฟิลิปินโนกับพาร์ตเนอร์คู่หนึ่งจูบกันเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ที่โต๊ะมุมห้อง

ดังนั้นฉันก็เลยลองคิดถึงเขา ไกรสีห์และพหล

ชายสามคนนี้เหมือนกันตรงที่กำลังไขว่คว้าหาความบริบูรณ์ในชีวิตตน หากแต่ด้วยวิธีการคนละอย่าง

พหลหาความเต็มด้วยการนั่งอยู่กับที่ คอยให้คนอื่นผลัดกันเข้ามาโอบอุ้มประคับประคอง

ไกรสีห์หาความเต็มด้วยความขยัน ทำให้ตาชั่งชีวิตอีกข้างหนักเกินขนาด ส่วนอีกข้างเบาเกินควร ด้วยว่าใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการแสวงหาความยิ่งใหญ่อย่างอื่นที่มิใช่ความยิ่งยงในหัวใจ

ส่วนโมไนย…ความขาดวิ่นของเขาอยู่ที่ความขาดวิ่นของอุปนิสัย อะไรก็ไม่ร้ายกาจสำหรับคนที่อยากมีความสุขเท่ากับนิสัยรักยาก เบื่อง่าย

แต่สำหรับวิมวิริยา หล่อนเป็นยิ่งกว่าเครื่องคิดเลขของบริษัททานตะวัน

ดังนั้น หลังจากคืนหนึ่งที่ไกรสีห์เชิญนางเอกมากินอาหารค่ำที่บ้านพร้อมหลานสองคนพ่วงติดมา ก็ได้ช่วยให้วิมวิริยามองเขาได้ทะลุกว่าเดิม

เรื่องราวที่ดูคล้ายง่ายเรื่องนี้ แท้จริงแล้วยากพอใช้สำหรับฉัน ด้วยว่าต้องแจกแจงอุปนิสัยตัวตนและจิตวิญญาณของแต่ละคนออกมาตีแผ่ให้ผู้อ่านและผู้ชมแลเห็นแม้แต่ภาคที่อ่อนแอที่สุด เลวที่สุดและสร้างสรรค์ที่สุดของพวกเขา

ดังเช่นไกรสีห์

โมไนยเคยรู้สึกหลายหนว่า หากเขาอยู่ใกล้ผู้ชายคนนี้…ที่มีพระคุณกับเขานี่…มากเกินไป มักจะหงุดหงิดใจมากทุกครั้ง

เพราะไกรสีห์ไม่เคยมีช่องว่างที่จะเป็นตัวของตัวเองตามสบายเท่าใดนัก ชีวิตดูเหมือนจะป่วนปั่นน่าระอา มีงานรออยู่เต็ม คอยแต่จะแสวงหาที่ทางสำหรับธุรกิจ พร้อมกับชำแรกแทรกตัวเข้าไปในวงการบ้านการเมืองอีกต่างหาก แต่ก็โชคดีที่เขาสามารถเข้าถึงทุกกระทรวงทบวงกรมได้ ถ้าใคร่จะเข้า ดังนั้นรัฐมนตรีบางคนจึงเคยได้รับห่อของขวัญวันเกิดผูกโบงาม ไม่มีแม้แต่นามบัตรหรือคำอวยพร ภายในห่อมีเพียงธนบัตรซ้อนกันอยู่เป็นปึกๆแค่นั้น

 

ขณะนี้ก็เป็นวันเวลาที่วิมวิริยากำลังขยายงานอยู่เช่นเดียวกับผู้คนอีกมากมาย เพราะถ้าไม่ขยายยามนี้ โอกาสต่างๆก็อาจจะหมดไป

หล่อนยังคงยึดภาษิต ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ อยู่เสมอ

หรือ ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’

เงินเดือนสำหรับจ่ายพนักงานไม่รั้งรอใคร บริษัทจะขาดทุนหรือกำไร หรือต้องการใช้เงินมหาศาลเพียงไหน แต่สิ่งที่รอไม่ได้ยิ่งกว่าก็คือ เงินเดือนพนักงานที่ต้องจ่ายตรงตามเวลาประมาณ 5 แสนบาทต่อเดือน ตราบเท่าที่บริษัทยังมีชีวิตอยู่

เพราะ ‘ดอกเบี้ย’ นั้นงอกเงยรวดเร็วราวฟ้าแลบ…เดี๋ยวเดือน…เดี๋ยวเดือน

เมื่อคุยกับไกรสีห์มาได้ระยะหนึ่ง ก็มาถึงถ้อยคำชัดเจนจากหนุ่มสูงวัย

“แต่งงานกับผมเถอะ คุณวิม”

ฉันบอกให้ชายลงพุงปล่อยคำขอสำคัญออกไปแล้วก็ยังอดขำไม่หาย

วิมวิริยาเองก็เพียงแต่ยิ้มบางๆ เพราะกำลังตกใจ

โมไนยกำลังคุยกับเลขานุการของไกรสีห์อยู่ที่ห้องข้างนอก ปล่อยให้ไกรสีห์กับหญิงสาวเจรจาเรื่องงานกับชายสูงวัยผู้ที่เอ่ยออกไปแล้วก็โล่งอก เมื่อเห็นอีกฝ่ายมิได้ขุ่นขึ้งแต่อย่างใด

ก็โธ่…โธ่…โธ่…วิมวิริยากำลังดีดลูกคิดอยู่อย่างรวดเร็วแม่นยำนี่นา

การปฏิเสธเด็ดขาดในยามนี้ไม่มีวันทำได้

“ผมขอคุณแต่งงานนะ ไม่ใช่ซื้อตัวคุณ…ผมก็ร้างคู่มานาน ถ้าผมหาผู้หญิงที่เหมาะใจไม่ได้ก็คงไม่แต่งงานอีกจนตาย คือผมต้องการคู่ชีวิตที่งามสง่า เป็นผู้หญิงมีปัญญา ไม่ใช่สวยแต่รูป บำเรอได้แต่ทางกาย ถึงผมจะแก่ไปนิด แต่ก็ยังมีอย่างอื่นชดเชยความมีอายุของผมได้ดีกว่าคนหนุ่มๆหลายเท่า…ต่อไป…ด้านธุรกิจ ‘ของเรา’ ก็จะมีแต่ความรุ่งเรืองสุกใส ผมช่วยคุณ คุณช่วยผม…เราจะต้องยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการนี้”

วิมวิริยาอดคิดมิได้ว่า ชีวิตหล่อนตกอยู่ในวงล้อมธุรกิจเกือบทั้งสิ้น

มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผลประโยชน์กับผลประโยชน์ แม้กระทั่งร่างกายกับผลประโยชน์ หัวใจกับผลประโยชน์

เพียงแต่หล่อนจะยอมรับได้หรือไม่เท่านั้น

เนื่องด้วยวิญญาณแห่งความเป็นหญิงยังคงปรารถนาความอ่อนหวานละเมียดละไม ต้องการความดูดดื่มในรักใคร่ได้ความเบิกบานสดชื่นจากบุรุษหนุ่ม

“คุณไกรสีห์จะไม่ให้เวลาดิฉันเลยหรือคะ”

“ผมให้เวลาคุณวันยังค่ำอยู่แล้ว แม้ว่าคุณจะไม่ตอบตกลง ผมก็ยังช่วยคุณ รับว่าจะช่วยแล้วต้องช่วย”

ค่อยยังชั่วที่อีกฝ่ายมีน้ำใจนักกีฬา

หลังจากวิมวิริยาลากลับไป ไกรสีห์ก็บอกโมไนย

“พ่อขอแต่งงานกับเขาแล้วละ ไอ้ลูกชาย” เจ้าของบ้านอวดด้วยอารมณ์อันสดชื่น “แกเข้าใจคำว่าแต่งงานดีใช่ไหมว่ามันไม่ใช่การซื้อขาย ไม่ใช่แอบไปนอนกันอย่างที่แกเคยแอบๆมาแล้ว”

“พ่อไม่ต้องอธิบายมากก็ได้” โมไนยหงุดหงิดทันที

“มีน้ำโหเรื่องอะไรอีกล่ะ ไอ้หนู หรืออิจฉาพ่อ”

โมไนยแทบจะจับไข้ตอนขับรถกลับบ้านเอาทีเดียว

 

ที่จริง ฉันก็พายุไรเข้ามาแทรกเป็นยาดำในชีวิตของไกรสีห์พักหนึ่งแล้วด้วยความสัมพันธ์ที่ตัดขาดได้ยาก นั่นก็คือทั้งคู่มีลูกด้วยกันสองคน หนีอย่างไรจึงหนีกันไม่พ้นโดยเฉพาะเมื่อยุไรมีอันเป็นเลิกรากับคู่ที่ได้ใหม่ มิหนำซ้ำก็ยังมีธุรกิจส่วนตน วันใดวันหนึ่งชีวิตก็พาวนเข้ามาถึงไกรสีห์อีกจนได้ กระทั่งชวนกันไปฟังเพลงกินอาหารค่ำพร้อมเต้นรำด้วยบนยอดตึกแห่งหนึ่ง

แต่โมไนยก็กล้าพอที่จะชวนวิมวิริยา

“เดี๋ยวไปเต้นรำกันไหมฮะ”

“ที่ไหนคะ”

“ที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่ที่นี่”

“ไปก็ดีค่ะ”

ครู่ต่อมา ทั้งสี่ก็ย้ายที่ไปยังคลับแห่งหนึ่ง ซึ่งยุไรยุให้พาร์ตเนอร์พาไกรสีห์ออกไปเต้นรำ แล้วเปิดโอกาสโมไนยขอวิมวิริยาออกไปสู่ฟลอร์ที่มีชายหญิงเกาะกันเป็นคู่ๆเต็มไปทั้งพื้นที่

พาร์ตเนอร์มีอารมณ์รื่นเริง จึงพาไกรสีห์ล่องลอยไปบนฟลอร์พร้อมชวนคุยอย่างเป็นกันเอง สอนวิธีเต้นให้เขาด้วย

เปิดโอกาสให้ยุไรคะยั้นคะยอวิมวิริยาออกไปเต้นกับโมไนย

ทำให้ชายหนุ่มเพิ่งรู้ถึงความสุขอันเหลือล้น ขณะได้ตระกองหล่อนไว้ในวงแขน ต่อปากต่อคำกัน พากันไปสู่ความเข้าใจในทัศนคติของแต่ละฝ่าย

ท้ายที่สุด ชายหนุ่มจึงชวน

“กลับไปนั่งคุยกันที่ที่เราดีไหมฮะ”

คืนนั้นจึงจบสิ้นลงด้วยความสดใสของทั้งสองที่เกือบไม่เคยรู้จักมาก่อน

หากต่อมาไม่นาน เคราะห์ร้ายก็มาถึง นายวงและวิมวิริยา วีรทัต ด้วยเรื่องไฟไหม้บริษัทสร้างใหม่

“ถ้ามันวอดวายถึงขนาด เราก็หมดตัวซี่ลูกเอ๋ย”

ผู้ช่วยสมุห์บัญชีนั่นเองเป็นคนลอบวางเพลิง

ทองทุนพี่ชายทองกร เลขานุการของโมไนย มีแต่ความริษยาสุดขีด จากหัวใจพิกลพิการ

แต่นายวงและวิมวิริยาจะต้องเปลี่ยนจากฐานะอันมั่นคงไปสู่ความง่อนแง่นพอประมาณเนื่องด้วยลงทุนไปกับบริษัทใหม่หลายล้านบาท ที่ดินก็จำนองไว้กับธนาคาร

ฉันละก็…เขียนๆไปชักเริ่มจะมึนงงวิงเวียนกับแต่ละคนที่อุตส่าห์ดั้นด้นค้นหามาเข้าฉาก…นี่ขนาดตัดแล้วตัดอีกจนเหลือแค่สั้นๆนะ ถ้ายาวเต็มที่ ผู้ชมจะชวนกันปวดประสาทสักเพียงไหนยังไม่ทราบ

นับเป็นนวนิยายที่ดูเหมือนง่ายแต่ยากอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถึงอย่างไรก็พา ‘ตัวละครของฉัน’ มาจนถึงบทอวสานได้อย่างสุขสดหมดใจ พร้อมคำขวัญ

‘นกฉลาดมักเลือกบินเข้ากรงไม้ไม่ใช่กรงทอง’

แม้กรงไม้จะทำให้วิมวิริยากลายเป็นลูกจ้าง มิใช่นายจ้างเหมือนวันคืนที่ผ่านผันไปแล้วก็ตาม

– จบ –

 

Don`t copy text!