“ทองลงยา” นางเอกของฉันจาก “กระจกขอบทอง”
โดย : กฤษณา อโศกสิน
“หลังม่าน” คอลัมน์ที่จะบอกเล่าถึงชีวิ
ฉันเริ่ม ‘จากใจผู้เขียน’ ในนวนิยายเรื่อง ‘กระจกขอบทอง’ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ไว้ดังนี้
“นวนิยายเรื่อง ‘กระจกขอบทอง’ มีเค้าโครงสร้างที่ข้าพเจ้าได้มาจากส่วนหนึ่งของชีวิตใครบางคนในอดีต แต่ไม่ถึงกับทั้งหมด นั่นก็เนื่องด้วยข้าพเจ้าได้บังอาจแต่งเติมเสริมตัดแล้วต่อ เพื่อให้เกิดรสชาติใหม่ขึ้นมา กำจัดความแห้งผากกรากเกรียมออกไปถึงหนึ่งส่วนสี่ ครั้นแล้วจึงนำความชอุ่มชุ่มชื่นมาต่อตามเท่าที่จะทำได้ต่อได้”
เกิดเป็น ‘กระจกขอบทอง’ อีกทำนองหนึ่งขึ้นมา
หากแต่ภาพโดยรวมก็ยังเป็นเรื่องราวเก่าก่อนอันย้อนยุคไปสู่รัชสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ตลอดรัชกาลที่ 6 และ ที่ 7 อันเป็นวันเวลาที่ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทองแห่งนี้กำลังก้าวหน้าไปสู่ความเป็นมหานครอันรุ่งเรืองเฟื่องฟูด้วยพระสติปัญญาที่มาจากพระราชปรีชาญาณแห่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา โดยนำพาชาวต่างประเทศที่รู้จักกันในชื่อคณะมิชชันนารีอเมริกัน เดินทางเข้ามาสู่ราชสำนักสยามเพื่อช่วยสร้างความเจริญด้านการเรียนการสอนให้พลเรือน เริ่มจากผู้เยาว์ ได้เรียนหนังสือที่มีทั้งไทยและอังกฤษควบกันไป
ในนวนิยายเรื่องนี้จึงเปิดฉากด้วย ‘ตัวละครของฉัน’ ซึ่งเริ่มจากหลายครอบครัวที่มีลูกกำลังอยู่ในวัยซน ต่างก็ออกมาวิ่งเล่น รวมตัวกันไม่เลือกว่าลูกผู้มั่งมีหรือยากจน วิ่งกันบนถนนนามว่า ‘ตีทอง’
ที่มีเสาชิงช้า และวัดสุทัศนเทพวรารามกับโบสถ์พราหมณ์ถัดไป รวมทั้งตลาดสดที่เรียกขานกันว่าตลาดเสาชิงช้า มีถนนบำรุงเมืองพาดผ่าน
ในสมัยโบราณนานมา ถนนตีทองทั้งสาย รวมทั้งบริเวณเสาชิงช้าอันเป็นลานกว้างในยามเย็น จะเป็นที่รวมวิ่งเล่นของเด็กๆ กีฬาที่นำมาเล่นก็ปนๆ กันไป ตั้งแต่ตัดก้านกล้วยแล้วรูดใบตองออก มาทำม้าแข่ง ควบพลางร้องฮี้ก็อบๆๆ ถ้าอยากยิงได้ด้วยก็ใช้มีดฝานแฉลบก้านกล้วยจนอ้าออก แล้วรูดให้เกิดเสียงดังต่างเสียงปืน เป็นต้น
นับเป็นการเล่นกันอย่างน่ารักน่าเอ็นดูสำหรับเด็กๆ ในยุคกระโน้นที่ไม่มีวันย้อนกลับ
ฉันเอง…เมื่อเขียนไปพร้อมกับอ่านทวนไป จิตก็ยังกระหวัดไปถึงสมัยที่ตนเองยังเป็นเด็กเล็กๆ นั้นเลย จึงเคยตื้นตันจนน้ำตาคลอก็มีอยู่บ่อยๆ
ครั้นต้องมาอ่านทวนอีกครั้งเพราะต้องเก็บตอนสำคัญมาบรรยาย ความซึ้งใจที่เคยมี จึงหวนกลับมาสิงสู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครที่เดินออกมาตอนเปิดม่าน มีแต่เด็กชายเด็กหญิงแทบทั้งนั้น หาผู้ใหญ่สักคนแทบไม่ได้นอกจากนางรับใช้คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เจ้ากี้เจ้าการกับเรื่องออกมาเล่นด้วยกันระหว่างตัวเอกวัยเด็กทั้งชายหญิง ผู้มีนามว่า เจิม บุตร ละวาด เลียบกับบริวาร อันเป็นลูกหลานของคนงานทำทองที่บ้านคุณล้อม มารดาของละวาด
เจิมกับบุตรเป็นลูกชายของผู้มีรกรากจากสุพรรณบุรี โดยบิดาของเด็กชายเจิมเป็นผู้มาซื้อบ้านไม้หลังไม่ใหญ่ เพื่อให้ลูกชายได้มาเรียนต่อในพระนคร โดยเริ่มเรียน ‘ประโยคหนึ่ง’ ที่วัดสุทัศน์ฯ มีครูผู้เป็นพระสงฆ์ระดับใหญ่ฝึกสอน เริ่มต้นจากมูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน…แล้วต่อๆ ไปจนถึงนิติสารสาธก รวม 8 เล่ม แต่บางทีก็แค่ 6 เล่ม
ฉันมีหนังสือโบราณเหล่านี้ไว้เรียนรู้เพียงบางเล่มเท่านั้น
เปิดหนังสือเมื่อไร มักแลเห็นภาพพระสงฆ์สมัยก่อนกำลังคร่ำเคร่งสอนเด็กกันทุกรูป โดยเฉพาะพระสงฆ์วัดมหรรณพาราม วัดสุทัศน์ฯ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อันอยู่ในกลุ่มใกล้ๆ กัน
เจิมมีน้าชายแท้ๆ ผู้หนึ่งนามว่ามหาชู เคยบวชเรียนจำพรรษาอยู่ ณ วัดสุทัศน์ฯ แต่ก็อดร้อนผ้าเหลืองมิได้เมื่อวันใดวันหนึ่งได้ประสบพบพักตร์หญิงงามนามว่า แม่ปริก จนเกิดความเร่าร้อนนอนไม่หลับ ถึงแก่สึกออกมาพักพิงอาศัยกับหลานๆ ในฐานะคอยดูแลแนะนำให้เจิมกับบุตรอยู่ในระเบียบวินัย ตั้งหน้าเล่าเรียน อย่าเอาแต่เวียนไปชวนลูกสาวบ้านทำทองออกมาวิ่งเล่น
เนื่องด้วยบัดนี้ ละวาดเป็นสาวแล้ว
อายุได้ 13 ปี เกือบจะเต็ม 14 เรียนจบ ‘ประโยคหนึ่ง’ จากโรงเรียนครูชดละแวกตึกดิน ซึ่งสอนภาษาอังกฤษด้วยเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่เด็กสิบขวบอีกต่อไป
มีผู้เคยถามฉันว่า เหตุไฉนจึงบรรยายการทำทอง ตีทอง ทั้งทองรูปพรรณและทองคำเปลวได้ละเอียดขนาดนี้
ฉันก็เลยจะบอกกล่าวไว้ด้วยว่า
ความรู้เรื่องทองคำทุกขั้นตอน ฉันได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ราชบัณฑิต บรมครูผู้คือคลังแห่งความรู้เกี่ยวกับความเป็นชนชาติไทยที่ดีที่สุดในโลกใบนี้
จึงจะขอเล่าถึงวันที่ฉันได้รับความกรุณาจากท่านโดยฉันบังอาจตัดสินใจขอความรู้ในการทำทองฝากเพื่อนร่วมองค์กรของท่านคนหนึ่งผ่านไปถึงท่าน โดยท่านรับทราบแล้ว หากก็ยังเงียบอยู่ จนกระทั่งสัปดาห์ต่อมา…จึงได้ยินเสียงไม่คุ้นหูผ่านโทรศัพท์ที่เพื่อนช่วยต่อให้ มาถึงฉัน
“ผม…จุลทัศน์นะครับ”
ฉัน…ในขณะนั้นจึงทั้งตกใจและปลาบปลื้มใจที่บรมครูระดับท่านให้เกียรติฉันถึงเพียงนี้
“มีอะไรก็ถามมาได้เลย”
ครั้นหายตื่นตระหนกแล้ว จึงรีบฉวยปากกามาคอยจดพร้อมกับตั้งคำถามถามทุกเรื่องราวการทำทองอันเป็นรายละเอียดที่ฉันใคร่รู้เพื่อนำไปประกอบในบทต่อไปของนวนิยาย
แท้จริงแล้ว ฉันไม่ต้องซักไซ้ไต่ถามท่านมากมายแต่อย่างใด เพราะท่านเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบอย่างคล่องแคล่วง่ายดายภายในเวลาเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
ที่จริง ฉันก็เคยเชิญท่านผ่านเพื่อนขอพบท่าน ด้วยใคร่จะไปกราบขอบพระคุณ
แต่เพื่อนบอกว่าท่านไม่สู้สบาย จึงขัดข้องแม้กระทั่งจิบชากาแฟ
ต่อมาเพียงไม่นาน ท่านก็อำลาจากไปท่ามกลางความเสียดายอาลัยรักของศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ
ฉันก็ได้แต่ไปกราบศพท่านพร้อมด้วยขอบพระคุณและขอขมา
หากก็จารึกนามท่านไว้เอ่ยถึงด้วยความเคารพอย่างสูงทุกครั้งที่สวดมนต์
ดังนั้น เมื่อตนเองต้องเข้ามาอยู่ ‘หลังม่าน’ เพื่อทำหน้าที่ผู้กำกับอีกครั้ง จึงพลันต้องรำลึกถึง ‘ครู’
ครั้นแล้วจึงเริ่มเรื่องด้วยเจิมกับละวาดภาคหนุ่มสาว
เจิม…ณ บัดนี้ มิใช่เจิมคนเก่าผู้คือเด็กชายวัย 13 อีกต่อไป ฝ่ายละวาดก็มิใช่เด็กหญิงวัย 9 ขวบ เช่นเดียวกัน เนื่องด้วยบัดนี้หล่อนโกนจุกแล้ว
กลายเป็นสาวงามทรามเชยวัยรุ่นที่ฉันบรรยายไว้ว่า
“เด็กหญิงผู้พี่นั้นเริ่มสูงชะลูดเอวบาง ผมทรงดอกกระทุ่มที่เพิ่งไว้เป็นพุ่มหลังโกนจุก เมื่อเสยตั้งขึ้นเหนือหน้าผากอันวาดโค้งดั่งวงพระจันทร์ จึงรับกับดวงหน้ากลมแป้นที่มีดวงตารูปยาวแต่กว้าง ขนตางอนให้ดูเป็นสาวขึ้นทันใจในผ้านุ่งโจงกระเบนสีคราม คาดอกด้วยผ้าแถบหนาผืนใน พันไว้อย่างแน่น ซ้อนทับด้วยสไบมัสลินบางสีนวลห่มเฉียงบ่า เดินตามมารดาออกจากบ้านตั้งแต่แดดยังไม่จัด…”
ด้วยว่าวันนี้เป็นวัน ‘ตรียัมปวาย’ มีผู้คนหลั่งไหลมาชมพิธี ‘โล้ชิงช้า’ โดยคณะพราหมณ์แห่งโบสถ์พราหมณ์ที่ตั้งอยู่เกือบหัวถนนละแวกตึกดิน เยื้องวัดสุทัศน์ฯ อันถือเป็นใจกลางพระนคร
พิธีตรียัมปวายนี้มีทั้งหมด 10 วัน
พิธีตรีปวายอีก 10 วัน
พิธีตรียัมปวายแท้จริงก็คือพิธีขึ้นปีใหม่ของศาสนาพราหมณ์ คณะพราหมณ์จึงต้องประกอบพิธีบวงสรวงพระอิศวร พระอุมาและพระนารายณ์ที่พราหมณ์ถือว่าพระองค์จะเสด็จลงมาเยี่ยมเยือนโลกมนุษย์ปีละ 1 ครั้ง
พิธีรับและส่งเสด็จพระอิศวรและพระนารายณ์นี้ จึงมักเรียกอย่างย่นย่อว่า
‘พระนเรศวร์เดือนหงาย พระนารายณ์เดือนมืด’
แต่เจิมผู้มาชมพิธีกับบุตรและมารดาพร้อมด้วยมหาชูอุ้มลูกสาว…ก็แทบไม่ได้เห็นแม้แต่ ‘นาลิวัน’ 12 คน สวมหมวกรูปพญานาคผลัดกันทีละ 4 คน รวม 3 ผลัด ขึ้นไปถีบชิงช้าด้วยท่าทางอันพลิกแพลงโลดโผนนั้นเลย
ด้วยว่า สายตามัวแต่มองข้ามถนนฝ่าฝูงชนไปยังหญิงรุ่นสาวผู้นุ่งโจงกระเบนสีคราม ห่มสไบสีนวล นั่งอยู่กับมารดาและเจ้านายเชื้อพระวงศ์ผู้สนิทสนมกับคุณล้อมเนื่องด้วยเป็นลูกค้าเครื่องทองมาเนิ่นนาน
แม่เกิด มารดาของเจิม มักจะคอยเตือนลูกชาย
‘เรามันจนกว่าเขาเยอะ ต้องรู้จักเจียมตัว’
แต่เจิมไม่เคยหยุดฟัง
ใช่เลย แม่เกิด เป็นฉันฉันก็ไม่ฟัง ฮิฮิ
เรื่องราวจึงดำเนินสืบมา
ครั้นแล้ว ฉันก็บอกบทให้คุณล้อมสอนวิชาการทำทองให้ละวาด เพื่อจะได้รับรู้ถึงงานฝีมือทุกชิ้นที่หล่อนจะต้องรับช่วงสืบทอดต่อไป นั่นก็คืองานทำทองรูปพรรณ ซึ่งยากอันดับหนึ่ง
ฉันจึงนำความรู้จากบรมครูท่านอาจารย์จุลทัศน์มาบรรยายไว้อย่างละเอียด
นอกจากงานทำทอง มารดาหล่อนยังสอนลูกสาวให้ทำกับข้าวทั้งคาวหวานโดยบอกเคล็ดลับในการปรุงอย่างหมดจดแจ่มแจ้ง เรียกได้ว่าในวัยแค่ 15 ปี ละวาดคือสตรีผู้เพียบพร้อมทั้งรูปโฉม คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ไม่มีขาดตกบกพร่องไม่ว่าด้านใด
หากสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณล้อมสุดแสนกังวลใจก็คือ
รู้ว่าละวาดยังคงลอบติดต่อกับเจิมมิได้ขาด
โดยฝ่ายหญิงคอยเปิดไม้ขัดดาลประตูออกมาพูดคุยกับเขาแม้ด้วยประโยคสั้นๆ
“คุณวาด…เราไม่ค่อยได้พบกันเลยนะ รู้ไหมว่า ฉันคิดถึงคุณวาดมาก มากจนใจจะขาดหลายหน”
ดู…ดูฉันใส่สีตีไข่ให้ตัวละครคร่ำครวญ
แต่ก็ยังไม่ใช่แค่นั้นดอกเจ้าค่ะ…ยังมี…มีอีกมากที่เจ้าตัวเขาแต่งเอง
นั่นก็คือ ท้ายที่สุด เจิมก็เริ่มเขียน ‘เพลงยาว’
คนสมัยใหม่อาจจะรู้จักหรือไม่รู้จักคำนี้
ถ้ารู้จักจากการเรียนวรรณคดีก็ดีไป ถ้าไม่รู้จัก ก็ไม่ว่ากระไร เนื่องจากรู้อยู่ รู้ดีและรู้สึก
แม้แต่เพื่อนบ้านก็ยังถามมหาชู
“หมู่นี้เจิมมันเป็นอะไรไป”
“มันจะเป็นอะไร” ผู้เป็นน้าบอกกล่าว “นอกจากติดผู้หญิง”
“คิดเด็ดดอกฟ้า ว่างั้นเหอะ”
“เขาคงยอมให้เด็ดละ” แม่เกิดพึมพำ
แต่ทั้งเจิมและบุตรต่างก็เล่าเรียน เขียนอ่านจนจบหลักสูตร ‘ประโยคสอง’ จากวัดสุทัศน์ฯ เรียบร้อยแล้ว มหาชูผู้เป็นน้าผู้คอยแนะนำให้ได้เรียนสิ่งที่ควรเรียน จึงนำรุ่นหนุ่มทั้งคู่ไปฝากกับชาวอินเดียผู้หนึ่งซึ่งขายผ้าอยู่แถวถนนบำรุงเมือง ช่วยสอนภาษาอังกฤษให้เฉพาะตอนเย็นวันละ 2 ชั่วโมง ส่วนตอนกลางวันก็ให้ตามน้าชายไปเรียนภาษาบาลี ที่วัดราชบพิธฯ และวัดสุทัศน์ฯ แล้วแต่วันไหนมีสอนที่วัดใด
ส่วนเวลาอื่นที่พอจะมีเหลือ บุตรผู้ชอบงานช่าง จึงไปเรียนวิชาช่างไม้กับลุงเขียน ผู้เป็นช่างสร้างบ้าน บางวันก็ถึงแก่ตามลุงไปถึงบ้านที่ลุงรับงาน เป็นลูกมือให้ด้วยความเต็มใจ
นิสัยใฝ่ดีเหล่านี้มีในตัวเขาทั้งคู่โดยธรรมชาติของตัวเขามาแต่ต้น โดยนักเขียนหรือผู้กำกับไม่ต้องสรรสร้างให้เขาเป็น
จึงไม่ต้องคอยส่งเสียงหลงอยู่ ‘หลังม่าน’
แต่เจิมนั้น ชอบคนละอย่าง แตกต่างจากบุตรผู้เป็นญาติ
เจิมชอบแต่งานหนังสือ มหาชูจึงฝึกให้แต่งกลอน
‘เผื่อเจ้าอาจมีหัวทางนี้ จะได้เดินตามรอยสุนทรภู่’
ขณะนี้ เจิมอายุ 20 ปี บุตร 21 ปี ต่างก็สมัครเข้าไปเป็นเสมียนของกระทรวงยุติธรรม การแต่งกายจึงเปลี่ยนจากผ้าพื้นโจงกระเบน คาดผ้าขาวม้า สวมเสื้อบ้างไม่สวมบ้าง มาเป็นนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีน้ำเงินเข้ม สวมเสื้อราชปะแตนสีขาวกระดุม 5 เม็ดปิดคอ สวมถุงเท้าขาวรองเท้าดำผูกเชือก ครั้นแล้วจึงชวนกันเดินผ่านหน้าบ้านคุณล้อมไปทางถนนเฟื่องนคร เพื่อไปทะลุถนนอัษฎางค์ แล้วข้ามสะพานไปยังกระทรวงยุติธรรม
ฉัน…ในวัยขนาดนี้ ที่กำลังผันตัวเองมาส่งเสียงอยู่ข้างม่าน ยังจดจำวันอันแสนตระการในอดีตได้อย่างหมดจดจนน้ำตาใกล้หยดบ่อยๆ
แต่แม้กระนั้น เจิมกับบุตรก็ยังไม่หยุดไปเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ร้านเปรมสิงห์ตอนเลิกงาน
เจิมนั้น…อาการบัดนี้แสนหนัก นั่นก็คือ จะต้องเพียรเดินผ่านบ้านละวาดทุกยามค่ำ จนมหาชูพึมพำ
“มันทำยังกะว่า ถ้าไม่เห็นหลังคาบ้านผู้หญิง ก็จะนอนไม่หลับงั้นละ อาการมันชักจะหนักขึ้นทุกวันแล้วนะนี่”
ใช่…ก็ฉันนี่เองคอยใส่ไฟหัวใจให้ลุกไหม้เจิมทุกทิวาราตรีเลยทีเดียว เทียมเท่ากับอารมณ์อันเขาโหยหา
ละวาดเองก็เป็นใจ คอยถอดไม้ขัดดาลออกมาจ๊ะจ๋ากับเขา
“พี่เจิม” หล่อนเรียกขานเต็มคำ ดวงตาขึ้นเงาแวววาวแข่งกับแสงจากดวงดาวบนท้องฟ้า “พี่ไปทำงานให้ราชการกี่วันแล้ว”
“สามวัน” เจิมตอบพลางเนื้อตัวสั่นสะท้านจนฉันนึกชม
พระเอกผู้นี้ช่างสมกับที่ฉันคัดเฟ้นมา
ต่างก็มองจ้องกันและกันราวกับจากกันไปนานแสนนาน
ครั้นแล้ว เจิมก็ลองเขียนเพลงยาวส่งไป โดยใช้เจา เด็กชายที่เคยวิ่งเล่นกันมา เป็นพ่อสื่อ ถือสารรักไปส่ง
ละวาดบัดนี้จึงเอาแต่หลงใหลได้ปลื้มในแต่ละตัวอักษรอาบน้ำผึ้ง ซึ่งฉันแอบชิ้วเบาๆ เมื่อนึกถึงเขาและเธอในเวลาต่อมา
แต่ ณ กาละนี้ ทั้งคู่ต่างก็ใหลหลงวงดนตรีพิศวาสไปด้วยกัน
‘สลักหลังสั่งสารว่าสารจ๋า’ …เจิมเริ่มต้นเพลงยาวฉบับแรกของเขา
อั๊ยย่ะ…ผู้กำกับเองยังต้องร้องออกมา
‘น้องโกรธาสารพี่วอนให้อ่อนหวาน
ว่าตกยากจากแหล่งแสนกันดาร
จึงใช้สารต่างผู้ใหญ่มาให้นวล’
จะพริ้งเพราะเสนาะในขนาดไหนก็นึกเอา
ผู้ชมคงเข้าใจนะเจ้าคะว่า พระเอกผู้นี้เพิ่งเริ่มฝึกเขียนกลอน
ไหนจะถึงขั้นเทียมเท่า แม้แต่หลาน ‘สุนทรภู่’ หรือแม้แต่ของมหาชูเอง
‘จงตอบด้วยเสมือนหนึ่งช่วยให้หายไข้
หวังจะได้ตามนุชสุดสงวน
พี่จึงวอนหล่อนให้ใจรัญจวน
ขอนิ่มนวลตอบสาราอย่าช้าเอย’
เอ…สี่บาทนี้ชักจะเข้าหู เข้าตาใช้ได้ขึ้นมาแล้วนะ
จนทำให้ฉันเกือบลืมไปว่าจะเขียนเรื่อง ‘ทองลงยา’
ก็นางเอกเป็นลูกสาวของเจิมกับละวาดอย่างไรเล่า
ไงๆ ก็ต้องอารัมภบทถึงพ่อแม่ไว้สักหน่อยเพื่อจะสอดร้อยเรื่องราวจนกระทั่งสืบเนื่อง
นั่นก็คือ ในที่สุด เจิมก็เรียนสำเร็จ เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชนาถพินิจฉัย ข้ามบรรดาศักดิ์ชั้น ‘ขุน’ ไป เนื่องด้วยสอบได้ที่ 1
ครั้นแล้วจึงคิดเรื่องแต่งงานทันใด
เจิมพาพ่อแม่ไปสู่ขอละวาดจากคุณล้อมพร้อมกับหาทำเลปลูกเรือนหอแยกออกมาอยู่ด้วยกันต่างหาก
ฝ่ายบุตรพาพ่อแม่ไปสู่ขอหม่อมหลวงไศล บุตรีของหม่อมราชวงศ์โสภณพิศุทธิ์และคุณเปลา นั่นก็ด้วยบุตรรักชอบการช่าง จึงมักตามลุงเขียนเข้าไปต่อเติมซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างภายในวัง จนสนิทชิดใกล้เป็นอันดีกับหม่อมหลวงไศล กลายเป็นความรักลึกซึ้ง ซึ่งคุณชายโสภณฯ ผู้ไม่เคยถือตนว่าเป็นใคร ก็ยินยอมพร้อมใจให้บุตรเข้าไปอยู่ด้วยกันภายในวัง โดยไม่ต้องปลูกบ้านใหม่
ครั้นแล้ว ละวาดก็คลอดบุตรชายและบุตรสาวให้เจิมคู่หนึ่ง มหาชูหรือที่แท้แล้วก็ฉันนั่นเองเป็นผู้ตั้งชื่อลูกชายคนโตว่า ‘จาป’ ลูกหญิงคนเล็กว่า ‘ทองลงยา’
ฝ่ายบุตร มีลูกสาวเพียงหนึ่ง มหาชูหรือฉันเองก็เป็นผู้ตั้งให้เช่นเดียวกัน นามว่า ‘ศศิน’
ส่วนตัวมหาชูเองมีลูกถึงสามคน คนกลางเป็นชาย นามว่า ‘เด็กชายชิต’ มีพี่สาวหนึ่ง น้องสาวอีกหนึ่ง
เด็กชายชิตเป็นผู้มีวาจาแหลมคม ครั้นเรียนจบชั้นมัธยมจากวัดสุทัศน์ฯ มหาชูผู้บิดาจึงให้เขาบวชเณรที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อันเป็นวัดที่ชิตเริ่มเรียนภาษาบาลี
ชิตผู้นี้มีความสำคัญอย่างไร ฉันจะขอขยายความในภายหลัง
ครั้นแล้ววันเวลาก็ผ่านไป เจิมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จาก ‘หลวง’ เป็น ‘พระ’ เป็น ‘พระยามนธาตุราชพิจิตร’
บุตรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระยาลักษมาวรา’ โดยที่ยังพักอาศัยอยู่ ณ เรือนเล็ก ริมท่าน้ำภายในวังที่พ่อตาปลูกสร้างให้
ก่อนหน้านั้นเนิ่นนาน ณ ท่าน้ำนี้เอง ในวันใดวันหนึ่ง ตั้งแต่บุตรยังไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใดๆ ขณะกำลังอุ้มศศินเดินเล่นรับลมไปจนถึงท่าที่ว่า มีหม่อมหลวงไศลตามมาข้างๆ จึงพบเรือประทุนลำหนึ่งพร้อมเด็กชายวัย 5 ขวบ นามว่าเหลียง มากับพ่อผู้กำลังป่วยหนัก ครั้นแล้วจึงเสียชีวิตลงในคืนนั้น
ช่วยให้บุตรต้อนรับ ‘เหลียง’ มาไว้ในอุปการะ ส่งเสียให้เรียนหนังสือ พร้อมกับเป็นเพื่อนเล่นและพี่เลี้ยงเด็กหญิงศศิน
จนกระทั่งกลายเป็นคนสำคัญโดยมิคาดคิดในวันเวลาต่อมา
เนื่องด้วยชีวิตของบุคคลในโลกหล้า หาความแน่นอนยั่งยืนมิได้
ในที่สุด พระยามนธาตุราชพิจิตร หรือเจิมก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากชายคนเดิม เขยิบมาสวมบทบาทใหม่
จากที่เคยเคร่งขรึมสมเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และข้าหลวงพิเศษศาลยุติธรรม ก็กลับดูกระชุ่มกระชวยแช่มชื่นเหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นด้วยไม้เท้ากายสิทธิ์
นั่นก็คือในวันเวลาที่ผ่านไป ท่านพระยาเริ่มมีฐานะอันดีที่จะปลูกบ้านหลังใหม่ โอ่อ่า ใกล้ๆบ้านคุณล้อมผู้เป็นแม่ยาย รับเด็กสาวๆ คราวหลานมาไว้ มิใช่คนเดียวแต่หลายคน บางคนมาเรียนทำทอง บางคนมาฝึกปรือการเรือนจากคุณหญิงละวาดผู้ได้รับยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่การทำทองรูปพรรณ ทองคำเปลวไปจนถึงอาหารคาวหวาน…จึงก่อให้เกิด ‘นางเล็กๆ’ ขึ้นมาหลายราย
ความเป็นชายมีเสน่ห์ของเจ้าคุณจึงถูกกระตุ้นทุกวันด้วยกิเลสตัณหาของชายหนุ่มใหญ่ผู้อุดมด้วยยศตำแหน่งและบุคลิกภาพ
ขณะที่เด็กๆ ผู้เป็นลูกและหลานต่างก็เติบใหญ่กลายเป็นหนุ่มเป็นสาวในละแวกเดียวกัน
เหลียง ณ บัดนี้ คือชายหนุ่มอายุ 22 ปีเต็ม เรียนจบวิชาการบัญชีจากโรงเรียนอัสสัมชัญ
ทองลงยาอายุ 17 ปี เติบโตขึ้นมาในโรงเรียนประจำของมิชชันนารีอเมริกัน เปลี่ยนจากศาสนาพุทธเป็นคริสต์เรียบร้อยแล้ว แต่การแต่งกายยังคงตามสมัยพระราชนิยมของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 คือนุ่งซิ่นไหมหรือแพรจีน สวมเสื้อติดลูกไม้ตัวยาวมีแขนหรือไม่มีที่ตัดด้วยฝีมือตนเองอย่างชำนิชำนาญ
‘ตัวละครของฉัน’ ในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จึงล้อเลียนยั่วเย้าไม่ถนัด ด้วยว่าแต่ละคนมักสันทัดจัดเจน
ที่จริงยิ่งกว่าก็คือ แต่ละคนล้วนแล้วเนี้ยบแทบทั้งนั้น
ฉันก็เลยต้องชั่งน้ำหนักเสียงบัญชาให้คนหน้าม่านแสดงนั่นนี่ เนื่องด้วยบางทีคุณล้อมก็ย้อนศรเอาได้เหมือนกัน
เป็นต้นว่า
“นี่คุณจ๋า ไอ้เรื่องกิริยามารยาทผู้ดีน่ะ คุณไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชฉันก็ได้ ไปคอยบอกนังพยุงดีกว่า”
หรือมิฉะนั้น เจิมในเรือนร่างพระยานาหมื่นก็ยืนยัน
“เธอจะไม่ให้ฉันมีเมียใหม่น่ะไม่ได้ดอกนา…อย่าลืมไปเสียซีว่า ฉันนี่…ผู้ชายนะ…ผู้ชาย…แถมยังเป็นถึงพระยา…พระยาที่เธอเองก็รู้ดีว่าใหญ่ขนาดไหน ไอ้ที่จะให้ฉันมีเมียเดียวอย่างพระยา…น่ะ ฉันไม่ขอเล่นด้วย จำไว้ให้แม่น ท่องไว้ให้ได้เหมือนท่องอาขยาน”
ดู…ดูบทบาทของท่านเจ้าคุณที่บัดนี้ตั้งใจจะใช้กระสุนที่ตุนไว้เยอะให้หมดๆ
แล้วเลยเห็นว่าพระยาที่ท่านเอ่ยนามเมื่อกี้ดูราวกับชายโง่เง่า เต่าล้านปียังไงยังงั้น
หันหลังให้น้ำตาคุณหญิงละวาดเอาดื้อๆ
ฉันละก็นะ…นี่ถ้าไม่นึกนิดเดียวว่าท่านคือบรรพบุรุษของเพื่อนละก็…ฮึ่ม…ก็คงได้รู้ฤทธิ์มือมีดหลังม่านกันคราวนี้
พอนึกขึ้นได้ว่า
‘ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิว์ขังไว้’ ฉันก็เลยต้องวางความหมั่นไส้เจ้าคุณเจิมไว้พลางๆ หันไปเก็บความระริกระรวยจากนางเล็กๆคนแรกอันมีนามที่ฉันตั้งให้ฟังแล้วคันหูหน่อยๆ ว่าอิ่ม
อิ่มผู้นี้มีรกรากอยู่ฉะเชิงเทรา
ดังนั้น หลังจากเจ้าคุณ ‘ปิดไฟใส่กลอน จะกล่อมน้องนอนคิดถึงใบหน้า…’ เสร็จสรรพสมแก่เดชาชาญของกระสุนเต็มกล่องที่เพิ่งมีโอกาสนำออกมาแจกจ่ายเป็นวิทยาทานให้นางเล็กๆได้ลิ้มรสแล้ว จึงถึงคราวที่แม่อิ่มจะต้องนำร่องพาเจ้าคุณและทองลงยาพร้อมศศินและเหลียงไปด้วย เพราะคุณหญิงไศล มารดาของศศินก็ใคร่ให้ลูกมีผู้คุ้มกันดูแล
แม้กระนั้นเจ้าคุณก็ยังไม่มีเงินทองติดตัวเนื่องจากมอบให้คุณหญิงละวาดเก็บหมด ก็ต้องถึงแก่
“แล้วฉันก็ยังต้องขอทองสักห้าบาทไปเป็นสินสอดให้พ่อเด็กที่เคยเป็นลูกน้องฉัน คือเจ้าเอื้อนมันก็เป็นคนดีคนซื่อ ถึงฉันจะขอลูกมันเปล่าๆ มันก็คงยอมให้ แต่เราจะไปเอาของใครเปล่าๆได้ละหรือ”
งานนี้ ทองลงยาของฉันก็เลยต้องกลายเป็น ‘หนังหน้าไฟ’ ให้แก่เรื่องเดือดร้อนในบ้านที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งใหญ่ระหว่างบิดากับมารดา
โดยบอกเจ้าคุณว่า
“วันนี้ คุณแม่เศร้ามาก เลยอยู่แต่ในครัว”
“พ่อผิดเอง” ฝ่ายบิดายอมรับอย่างง่ายดาย “ก็รู้นะว่าออกจะโหดเหี้ยมเกินไปที่ทำเช่นนี้กับแม่เจ้า แต่พ่อก็บังคับใจไว้ไม่ได้”
จะบังคับได้ไงกันล่ะ…ฉันก็เลยแอบกระซิบเบาๆ ริมใบหูเจ้าคุณ ก็ท่านเซ็กซี่ใส่เด็กขนาดนั้น มันก็ชอบไปละซี
คนแสดงเป็นเจ้าคุณก็ได้แต่หัวเราะใส่หน้าผู้กำกับ
ขืนยืดยาดอย่างเธอ ฉันจะได้กินเด็กเมื่อไหร่กัน
ครั้นแล้ว จึงได้เวลาพระยามนธาตุฯ พาทองลงยา ศศิน เหลียง และเหล่าบริวารลงเรือกลไฟไปฉะเชิงเทราพร้อมทองห้าบาท ไปมอบให้นายเอื้อน พ่อของอิ่มผู้เคยเป็นลูกน้องซึ่งต้อนรับคณะของเจ้าคุณเป็นอย่างเลิศ
นั่นก็คือ ขอให้เถ้าแก่ฮงผู้เป็นเจ้าของโรงสีและเป็นพี่เขยช่วยจัดห้องหับไว้รับรอง เนื่องด้วยมีบ้านใหญ่ ที่หลับที่นอนอันคือฟูกใหญ่มุ้งใหม่จึงเหมาะจะต้อนรับท้าวพระยาผู้จะมาสู่ขอแม่อิ่ม ผู้เป็นลูกสาวนางชิน น้องสาวนางชั้น เมียน้อยอีกหนึ่งนางของเถ้าแก่ โดยนางชั้นคนนี้ก็ยังมีลูกชายลูกสาวและขบวนญาติๆนั่งลอยหน้าคอยเจ้าคะเจ้าขาพระยามนธาตุฯ เต็มแน่นไปทั้งนอกชาน
ลูกนางชั้นเมียน้อยมีสองคน ชื่อนายชุนและนางสาวเชื้อ
ก็นางสาวผู้นี้อีกแล้วไง ที่เจ้าคุณกวาดตาไปพลัน จึงได้ปะทะกับธนูดอกใหญ่ของกามเทพผู้ยืนรอแผลงศรอยู่ข้างม่าน
ฉันก็เลยรีบสะกิดท่านให้ก้าวออกไป
ยิงปุ๊บ ตกหลุมรักปั๊บ
น่าน-น…มันต้องยังง้านนน…ฉันรีบส่งสายตาชมเชย
กามเทพก็ได้แต่พลอยพยักหน้า เป็นลูกคู่ร้องรับขยับเกราะลูกศรจนหูแทบสั่นแทบคลอน หากในนาทีต่อจากนั้น ฉันก็ได้แต่สะท้อนสะท้านในอารมณ์ แม้จะสมอุราที่เรื่องราวตรงหน้าช่วยให้ผู้กำกับต้องบากบั่นฟันฝ่า พาเรื่องราวซึ่งไม่ควรมี แต่บัดนี้กลับมีมา…ได้ออกเดินทางต่อไป เป็นเส้นทางที่เห็นแต่ไกลแล้วบัดนี้ว่า นับวันจะยิ่ง ‘ดราม่า’
นั่นก็เนื่องด้วย สายตานางชั้นแม่ของเด็กสาวเชื้อวัย 16 ปะทะเข้ากับสายตาอันวาบหวามยามเจ้าคุณมองมา
‘สงสัยจะเจ้าชู้ฉิบหาย’ นางกำลังนึกอย่างรู้ทัน
ผู้แสดงเป็นนางชั้นเป็นคนที่ฉันคัดเฟ้นมาแล้วเป็นอย่างดี ด้วยว่ามีชั้นเชิงฉาดฉานประมาณอาจารย์ใหญ่ของเมียน้อย จึงไม่ค่อยสงสัยว่า เหตุไฉนเมียหลวงจึงหลบไป ถึงแก่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านถัดออกไปอย่างไร้ปากเสียง
ขากลับจากฉะเชิงเทราคราวนี้ เรือกลไฟที่เช่ามาจึงเต็มเพียบด้วยเถ้าแก่ เมียน้อยและลูกสาว
เมียน้อยผู้มีคำขวัญประจำใจ…ความว่า
“เป็นเมียน้อยเจ้าคุณ ดีกว่าเป็นเมียหลวงไอ้พวกหนุ่มๆ ไพร่สถุลไม่มีจะแดก ที่มันขยันมาแหกปากร้องเพลงเกี้ยวเดี๋ยวกูคงต้องตบพวกมันสักวันจนได้”
ครั้นแล้ว ขากลับนี้ ฉันก็เลยแอบตบมืออยู่ใกล้ๆ
จนนางชั้นหันมายิ้มพร้อมยิงฟันอันดำเมี่ยมด้วยคราบน้ำหมาก
ฝ่ายนางสาวเชื้อนั้นเล่า…ฉันก็คอยสั่งให้นางทำสีหน้าชื่นบานจนปิดไม่มิด ด้วยทีท่าสนิทเสน่หาท่านพระยาตั้งแต่แรกพบพักตรากันและกันนั่นทีเดียว
แม้ใจนั้นจะเสียวไส้ สันหลังก็คล้ายผ่าวๆ ด้วยเหมือนกัน เมื่องึมงำใส่หูแม่
“ไม่รู้ว่าคุณหญิงจะเป็นยังไร”
“โฮ่ย…จะเป็นยังไรก็เป็นไปเฮอะ เอ็งจะต้องไปพะวงทำไม ‘ของคุณหญิง’ น่ะท่านเก็บเข้ากำปั่นไปแล้ว แต่ของเอ็งของนังอิ่มยังอยู่นอกกำปั่น เอ็งก็เลยต้องแข่งกะนังอิ่ม ไม่ใช่แข่งกะคุณหญิง”
นางเชื้อตัดสินฉึบฉับอย่างมีนัย
ฉันก็เลยแอบยกนิ้วให้นางในคำพังเพยเย้ยหยัน
แล้วนี่ ถ้าคุณหญิงละวาดมาได้ยินจะว่าอย่างไร
ในที่สุด บ้านใหญ่ที่เคยผาสุกก็ถูกล้ำรุกด้วยกองไฟ
ไฟกองแรกและกองเล็กคือแม่อิ่ม แต่ขณะกำลังลุกไหม้ ก็กลับมีไฟกองใหญ่โชนขึ้นมา
ทองลงยาผู้บัดนี้จำเป็นจำใจต้องกลายมาเป็นคนกลางระหว่างบิดาและมารดา คอยไกล่เกลี่ยให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันสืบไปโดยคุณหญิงละวาดจำต้องทำใจให้อภัยสามีที่บัดนี้มีเมียน้อยถึงสองนางลอยหน้าอยู่ในบ้าน
ฉันจึงต้องบอกกล่าวนางเอกของฉันไว้ดังนี้
“อันการเมาผู้หญิงของชายโดยเฉพาะของขุนนางท้าวพระยา แม้คุณหญิงของท่านนั้นท่านนี้ที่มีทั้งใจเด็ดและใจดี ที่เสียใจจนชีวิตสลายไปเลยก็มีบ้าง ที่ตั้งสติได้ก็มักเป็นผู้ชนะ คุมตำแหน่ง คุมบ้าน คุมคน ตลอดจนคุมนางเล็กๆ ไว้ในอุ้งมือ หากนางเล็กๆ มีลูกก็ยังคุมเลยไปถึงลูกของนางเหล่านั้นด้วยอีกโสดหนึ่ง และหากถึงซึ่งแรงปรานี คุณหญิงผู้ฉลาดก็มักจะส่งเสียให้ลูกเมียอื่นได้ชื่นชมกับการเรียนในระดับที่เท่าเทียมลูกหลานของท่าน เนื่องด้วยถือว่าเป็นทายาทของตระกูลนี้ด้วยเช่นกัน ช่วยให้ทุกคนในคฤหาสน์ใหญ่เป็นสุขทุกเพลา เว้นแต่คุณหญิงผู้บางขณะก็ต้องแอบกินน้ำตาต่างข้าว”
ทองลงยานั้นเป็นผู้หญิง ‘สมองใหม่’ ในยุคสมัยที่หล่อนเดินเคียงบ่าไหล่บุพการีมาจนถึงบัดนี้…ที่พ่อและแม่มีปัญหา เป็นปัญหาเดิมๆ ที่คอยเสริมเข้ามาโดยมิเคยลิดรอนออกไป
หญิงสาวผู้เคยบูชาพ่อ รำคาญแม่อยู่บ้างที่ช่างจู้จี้ จึงบัดนี้ เปลี่ยนมาเห็นใจ
หมองไหม้เรื่องในครอบครัวยังไม่พอ
วันใดวันหนึ่ง ศศินก็มาบอกหล่อนว่า
“คือฉันกับเหลียงน่ะจ้ะ เรารักกัน”
“เขาสารภาพกับเธอหรือไงจ๊ะ” คนถามถามอย่างวาบหวิวนิดๆ
“จ้ะ…เขาบอกว่าเขารักฉัน รักหมดใจ”
“ก็แล้วเธอล่ะ รักเขาด้วยหรือเปล่า”
“ก็…ก็…รักนะ…ฉันรักเหลียง ก็เราสนิทกันมาแต่เด็กไงยา”
“มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสนิทไม่สนิทดอกน่ะ”
ขณะนั้น…ฉันก็กำลังสงสารทองลงยาจนหัวอกหัวใจไม่อยู่กับตัวเหมือนกัน นั่นก็เพราะรู้อนาคตทั้งใกล้และไกลของนางเอกเป็นอย่างดี
หล่อนกับศศินบัดนี้ได้สมัครเข้าไปเป็นครูสอนเด็กที่โรงเรียนใกล้บ้าน ทองลงยาเองก็มี ‘ท่านขุน’ ผู้หนึ่ง บรรดาศักดิ์เต็มๆ ก็คือ ขุนพินิจเนติการ เป็นผู้คอยเพ่งพิจติดตามครูทองลงยามาอย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยภรรยาเพิ่งวายชนม์ มีลูกติดเพียงคนเดียวคือเด็กหญิงดารา เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 อันเป็นชั้นที่นางเอกจะต้องสอนทุกตอนเย็น ท่านขุนจึงต้องเป็นผู้มารับลูกสาวกลับบ้าน
อันทองลงยาและศศินนั้น ตั้งแต่เข้ามาเป็นครูที่นี่ โรงเรียนนี้ก็เริ่มคลี่คลายจากเคร่งขรึมกลายเป็นมีชีวิตชีวา
แค่สีเสื้อผ้าของนางเอก ก็ช่วยให้หลังอรุณเบิกฟ้าทุกวัน ความคึกคักเบิกบานก็พรูตามกันเข้ามาในโรงเรียน
ส่วนครูศศินผิวขาว วงหน้าราวตุ๊กตาญี่ปุ่น คนละแบบกับทองลงยา
แม้กระทั่ง ‘ความรัก’ ก็คนละสีคนละทาง
คุณหญิงไศลมักจะเตือนบุตรีอยู่เสมอเกี่ยวกับหนุ่มในบ้าน
“ลูกต้องคิดให้รอบคอบนะจ๊ะ เรายังจะมีชีวิตอีกนาน เลือกคู่นี่ควรต้องครบทั้งฐานะสกุลรุนชาตินะลูก”
แต่ทองลงยากลับไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องรักชอบ ด้วยว่าหล่อนมีกิจวัตรใหม่ที่ต้องไปและต้องทำ นั่นก็คือไปฝึกขี่ม้ากับลุงจำและหลานของเขาที่มาเป็นผู้ช่วย โดยชวนศศินไปด้วย เพื่อนของหล่อนก็ขอบิดามารดาให้พาเหลียงไปเป็นเพื่อน
เจ้าคุณบุตรและคุณหญิงไศลบัดนี้ก็พลันเปลี่ยนไป ไม่เป็นมิตรไม่สนิทชิดใกล้กับเจ้าคุณเจิมหมือนเคยมา ด้วยว่ารังเกียจพฤติกรรมอันมิชวนหรรษา นั่นก็ได้แก่แม่เชื้อคลอดลูกออกมาเป็นชาย
คุณหญิงละวาดทนไม่ไหว จึงขนของจากไปอาศัยคุณล้อม มิว่าทองลงยาจะเกลี้ยกล่อมให้ใจเย็นเพียงไร หากก็ไม่เป็นผล
ดังนั้น เจ้าคุณบุตรและคุณหญิงไศลจึงไม่สามารถกล้ำกลืนฝืนใจไปสู่ขอหล่อนให้บุรินลูกชายคนใหญ่ผู้ขณะนี้ยังคงเล่าเรียนใกล้จบอยู่ต่างแดน
ระหว่างนั้นนั่นเอง เจ้านายหนุ่มใหญ่สูงศักดิ์ก็ส่งคนมาทาบทามสู่ขอ
แต่นางเอกของฉันตอบกลับไป
‘เคารพสักการะท่านอย่างของสูงมากกว่า จึงไม่สามารถรับตำแหน่งนี้ได้’
หน้าตาท่าทางของทองลงยาในยามนั้นดูเป็นหญิงก๋ากั่นลือเลื่องแห่งยุคสมัยรัชกาลที่ 6 บางอิริยาบถราวเพิ่งกลับจากยุโรปก็มิปาน
“ลงยานี่เขาเก๋สมัยใหม่ดีจังเลยนะเหลียง” ศศินมักจะเปรยอยู่เสมอยามได้เห็นทองลงยานั่งตัวตรงบนหลังม้า หล่อนสวมกางเกงขาลีบแต่พองข้างสีกากี รองเท้าบู๊ต แถมสวมหมวกสวยปีกกว้างที่เรียกกันว่าหมวกหางนกยูงซึ่งผู้ชายมักใช้กัน ดูรับกันดีกับดวงหน้าซึ่งมักจะหันมาหัวเราะกว้างกับศศิน
“เธอใส่หมวกแล้วดูโก้มาก” ศศินชมเชย “เหมือนผู้หญิงฝรั่ง”
ฉันก็ต้องจำลองภาพ ‘ทองลงยาตัวจริง’ จากชีวิตจริงมาทิ้งทวนบนเวทีให้เกิดรัศมีคนพิเศษผู้มีดวงใจอันแสบร้อนด้วยเลศนัยนับแต่นี้เป็นต้นไปอย่างไรเล่า
ประโยคหนึ่งที่นางเอกตรึงศศินไว้ก็คือ
“เวลานี้ฉันทุกข์หนักเธอก็รู้…ที่หนักยิ่งกว่าอะไรก็คือเข้าใจแล้วว่าคุณลุงคุณป้ารังเกียจฉัน”
เหลียงยืนฟังอยู่ด้วยก็ยังอยากจะเสริมไปกับถ้อยคำของหล่อนที่แทงทะลุขั้วหัวใจของเขาเช่นกัน…ว่า
‘ท่านก็รังเกียจผม’
เห็นหรือไม่ว่า ฉันต้องต่อ เติม ตัดเรื่องนี้เพียงใด
เนื่องด้วยในชีวิตจริงของพวกเขา ตัวละครแต่ละคนมิใช่นักสู้
แม้ว่าจำเป็นต้องสู้ ก็ไม่มีเรี่ยวแรงเท่าผู้กำกับ
ในที่สุด ทองลงยาก็ฝืนใจรับหมั้นท่านขุนหนุ่มเพียงเพื่อ ‘หนี’ หลายอย่าง ทั้งหนี ‘เจ้านาย’ หนีความแตกสลายระหว่างบิดาและมารดา หนีความรังเกียจเดียดฉันท์จากมิตรเก่าแก่ของครอบครัวที่รุนแรงถึงขนาดไม่ยอมมาสู่ขอหล่อนให้ลูกชาย… ‘หนีสุดท้าย’ เป็นหนีที่ฉันกับหล่อนเท่านั้นล่วงรู้ความในใจของกันและกัน
แต่พร้อมกันนั้นก็เกิดเหตุเภทภัยร้ายแรงขึ้นกับจาป
นั่นก็เนื่องด้วยวันหนึ่งใกล้ค่ำ พระยาผู้บิดาบังเอิญลืมเอกสารไว้ในลิ้นชักโต๊ะเขียนหนังสือ จึงเรียกลูกชายให้กลับบ้านไปนำมาให้…ขณะรีบวิ่งขึ้นบันไดก็เกือบชนเข้าให้กับแม่เชื้อ เมียคนใหม่ของบิดาผู้บัดนี้แท้งลูกคนที่สองแต่กลับมามีน้ำนวลอิ่มเอิบพอดิบพอดี
นางก็เลยถือโอกาสสัพยอกหยอกยั่วลูกชายของสามี
ทิ้ง ‘ตาเฟื้องตาสลึง’ เข้าสู้ พลางสัพยอกหยอกยั่วจนไปอย่างไรมาอย่างไรไม่รู้…แต่ผู้กำกับรู้…จาปผู้เป็นหนุ่มวัยต้น จึงเริ่มคึกคักครึกครื้นเข้ามาในอารมณ์นับแต่วันนั้น
ขณะเดียวกัน แม่เชื้อก็รอคอยรสชาติแปลกใหม่จากเนื้อกล้ามหนั่นแน่นของคนหนุ่ม ดูทีหรือว่าจะผิดแผกแตกต่างจากเนื้อหนังฟุบฟ่ามของรุ่นพ่ออย่างไรบ้าง
เอากะนางซีจ๊ะ…ฮะอ่ะ…นางใช่เล่นเสียเมื่อไหร่
ใครต่อใครนอกจากฉัน…หาได้รู้ไม่ว่าแม่เชื้อนี่แหละหญิงเจ้าชู้ตัวยง
ครั้นแล้ว วันใดวันหนึ่งก็มาถึง
แม่เชื้อผู้กลั่นกล้าในเกมโลกีย์ จึงมีโอกาสเปล่งเสียง
“ปิดไฟใส่กลอน จะกล่อมพี่นอน คิดถึงดวงหน้า-า-า-“
จนจาปผู้เป็นแค่ ‘หมาหยอกไก่’ หยอกล้อเอาสนุกแค่นั้น ถึงแก่ร้องลั่นเมื่อแลเห็นแม่เชื้อลงกลอนแล้วยิ้มกว้างพลางเท้าสะเอวเชิงบอกกล่าว “เอาไงเอากันW
เจ้าคุณนั้นก็ไปแล้วจ้า ไปเรือกลไฟ ไปราชการ
ก่อนไปก็สุดแสนจะละล้าละลังคล้ายมีสังหรณ์
ฉันละก็นะ…ยืนบอกบทอยู่หลังม่านก็เอาแต่สงสารตัวละคร…แม้จะแอบสมน้ำหน้าอยู่บ้างก็ตาม
นี่เขาเรียกว่ากรรมตามสนองใช่หรือไม่
เมื่อร่างในผ้าโจงกระเบนผ้าคาดอกก็ร่วงตามมือจาปลงไปนอนแผ่คิกคักคู่กันบนเตียงในห้องฝ่ายชาย
นับเป็นรสเร้ารึงซึ้งใจใหม่เอี่ยมที่รสของเจ้าคุณสู้ไม่ได้
เห็นหรือไม่ว่า
มนุษย์เรานี้หาทางทำเรื่องได้ไม่ว่าเมื่อไร
จาปผู้เคยมีอนาคตอันงาม จึงจบสิ้นความรุ่งเรืองนับแต่นาทีนั้น
เนื่องด้วยในที่สุด เจ้าคุณก็ทนตรวจราชการนานตามกำหนดการมิได้ จึงขอกลับก่อน เดินตะลอนๆ จากท่าเรือกับเสมียนมาถึงบ้าน ย่องขึ้นชั้นบน พลางค่อยๆ เปิดมุ้ง
กะจ๊ะเอ๋กระมังนั่น
ฉันละก็สงสารจนน้ำตาซึม
เฮ้อ…แต่ก็สมอยากแล้วใช่หรือไม่เจ้าคะ…เมื่อแลไม่เห็นเมียใหม่บนที่นอน
ฉันก็เลยบุ้ยใบ้ให้ข้ามชานไปโน่น…โน่นเจ้าค่ะ…
เจ้าคุณก็เลยตามมือบ่างช่างยุไปจนถึงประตูห้องลูกชาย พลางเคาะถี่ๆ
ในที่สุดก็แผดเสียงกึกก้อง
“ถ้ามึงไม่ออกมา กูจะพังเข้าไป”
จาปในเสื้อกางเกงเรียบร้อยจำใจเปิดออกมา สารภาพว่า
“แม่เชื้ออยู่ในห้องครับผม”
เท่านั้นเอง…ฝ่าเท้าเจ้าคุณก็เตะสวนคางเขาจนจาปล้มกลิ้ง
“มึงทำไมระยำขนาดนี้ ไม่มีใครเอาแล้วรึ ถึงได้มาเอาเมียกู”
ครั้นแล้ว จาปก็เลยถูกไล่ออกจากบ้าน ทองลงยาสงสารพี่ชาย จึงหยิบเงินที่เก็บไว้ในถุงผ้าให้เขา ตามออกไปส่งจาปพร้อมกับแนะนำให้ไปหางานทำที่ภูเก็ต เพราะนึกขึ้นได้ว่าในไม่ช้าไม่นานนักนี้ ขุนพินิจฯ คู่หมั้นก็จะถูกย้ายไปรับราชการที่เมืองดังกล่าว
จาปรับปากแล้วจึงดั้นด้นเดินทางไป
ฉันละก็เวทนาชายหนุ่มอายุเพิ่งเต็มยี่สิบคนนี้จนแทบบอกบทไม่ไหว
หากก็ตั้งสติจนได้แหละน่า
ในเมื่อก่อนเป็นนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา เจ้าของเรื่องก็เคยเกริ่นไว้ก่อนหน้าแล้วว่า เป็นเรื่องของบรรพบุรุษผู้เป็น ‘กระจก’ ของตระกูลเขา
เพียงแต่ขอบกระจกอาจจะขะมุกขะมอมมากไป…มิได้ผ่องใสแสนสะอาดดุจบางตระกูล…ลูกหลานสืบทอดกันต่อมา จึงต้องนำเอาทองคำเปลวมาปิดไว้ อย่างน้อยก็เพื่อให้แลดูผ่องใสไร้ราคีตามสมควร
ดังเช่นชิต ลูกของมหาชูผู้เป็นญาติสนิท…
ท้ายที่สุด ก็กลายเป็น ‘กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’ หนึ่งในแผ่นทองคำเปลวบนขอบกระจกนั่นอย่างไร
ดังนั้น ฉันจึงเปี่ยมด้วยแรงกายและแรงใจที่หมายมั่น พากระจกบานนี้ไปจนถึงผนังอันสมเกียรติแล้วติดตั้งไว้ที่นั่น
หลังจากเดินนำตัวละครไปสู่บทตอนทุกข์ทนปรุงปนด้วยความรู้ใหม่ ที่โลกกว้างมีให้ บนดินแดนที่ไม่เคยรู้จัก
จนได้รู้ว่า นอกจากมีเหมืองดีบุกอยู่ที่นั่น มีเหตุการณ์สารพันชวนตื่นตา ท้าทายความไม่เข้าใจให้ได้เรียนจนพบว่าโลกมิได้แคบแต่อย่างใด
เราต่างหากที่แคบเอง
วันเวลาก็ผ่านไปจนถึงทองลงยาแต่งงานแล้วท่านขุนพาลงใต้ที่ภูเก็ต จนได้มีเวลาตามหาจาปจนพบกัน
ขณะที่ศศินกลับถูกบังคับให้แต่งงานกับสิทธิพงษ์ ลูกชายพระยาอีกท่านหนึ่ง ด้วยแลเห็นแล้วว่าเหลียงไม่ควรคู่กับบุตรี
ทุกเหตุการณ์ก็เลยมีแต่โศกสลด
ฉันเองก็เกือบจะหมดแรง…เนื่องด้วยบทบาทของตัวละครช่วงตอนนี้ มีแต่โศกนาฏกรรม
เพราะพระเอกของฉัน…นับแต่วันสูญเสียศศินก็เอาแต่ดื่มสุรา เพื่อทำลายความอาวรณ์จากการสูญเสียรักที่เพิ่งรู้รสว่าช่างแสนสาหัสนี่กระไร แม้มีอาชิตคอยปลอบใจพร้อมกับดื่มเป็นเพื่อนไปด้วย ก็หาได้ช่วยคลี่คลายความทรมานอันเนื่องมาจากบาดแผลใหญ่แม้แต่น้อย
แม้จะมีคำปลอบใจที่ฉันเองยังชื่นบานเมื่อได้ฟัง
“ฉันเห็นใจเจ้าจริงๆ” นี่คือคำของอาชิต “แต่ก็ช่วยอะไรเจ้าไม่ได้เลย…ได้แต่แนะนำให้เจ้าฝัน…ฝันว่าสักวันเจ้าจะได้อยู่กับคนที่รักเจ้าเข้าใจเจ้า ฝันว่าสักวัน เจ้าจะได้พบผู้หญิงที่ไม่สนใจว่าเจ้าคือใคร”
กาลเวลาผ่านผันจนถึงวันที่ฉันได้มาอยู่ ‘หลังม่าน’
จึงสามารถปิดม่านด้วยการนำถ้อยคำของชิตมาเป็นคาถา
เสกเป่าให้ทองลงยาหย่ากับขุนพินิจฯ กลับมาเป็นแม่ม่ายทรงโฉม ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่บอกกล่าวกับบิดาถึงสาเหตุหย่าครั้งนี้
“คือเขาก็เปรยบ่อยๆว่าทำไมไม่มีลูกสักที ลูกก็เลยตัดสินใจได้ว่า ถ้าแต่งกับเราเพียงเพื่อจะมีลูก ก็ไม่ควรต้องอยู่ด้วยกันอีกต่อไป”
ฝ่ายเหลียงก็หายหน้าไปหลายปีเช่นกัน เนื่องด้วยได้สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการตามเดิม หากก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกซึ่งต่อๆ ไปก็คงได้เลื่อนเป็นหัวหน้ากองจนถึงขั้นอธิบดีตามลำดับ
จนกระทั่งเกิดเรื่องใหญ่ในงานเลี้ยงฉลองยศร้อยเอกของบุรินลูกชายเจ้าคุณบุตร พร้อมข่าวศศินตั้งครรภ์อันทำให้มาถึงจุดสุดท้ายของเรื่องราว โดยบุรินชกเหลียงจนหน้าคว่ำ
ทำให้เจ้าคุณบุตรกังวลใจ
จึงเอ่ยกับเหลียงว่า
“ตั้งแต่เจ้ามาอยู่กับข้า ข้ายังไม่เคยให้อะไรเจ้าเลย นี่ก็เพิ่งนึกออก…พอดีเมื่อคืนมีเรื่องลูกข้าทำร้ายเจ้า ข้าก็เลยจะตอบแทนความดีของเจ้าที่ไม่ชกตอบบุริน…เหลียง…เจ้าอยากได้สิ่งใดก็บอกมา ข้าจะให้ตามที่เจ้าขอ”
เหลียงได้แต่นิ่งไปอึดใจเต็ม
ขณะนั้นเสียงบุรินก็ดังขึ้นในใจ ช่วยกระตุ้นให้เขาตัวสั่น
“ไอ้ขี้ข้า มึงเป็นใคร แล้วกูเป็นใคร”
แหม…นี่ฉันเองก็สงสารพระเอกแทบแย่อยู่แล้วเหมือนกัน ก็เลยพยักหน้า เทใจให้เขาจนหมดใจ
ฉะเลย เหลียง
เหลียงก็เลยตอบกลับด้วยหมัดน็อกเอาต์ล็อกดาวน์…แหะ แหะ
“เอ้อ…กระผม…อยากขอประทานอภัยที่บังอาจขอให้ใต้เท้าให้สิ่งที่สูงค่าเกินฐานะของกระผมขอรับ”
“ไม่เป็นไร ถ้าเจ้าอยากได้ละก็ ข้าให้ได้ บอกแล้วยังไรล่ะว่าให้ได้”
“คือกระผม…อยากกราบขอให้ใต้เท้าไปสู่ขอคุณทองลงยาให้กระผมด้วยน่ะขอรับ”
เจ้าคุณบุตรจึงถามอีกครั้ง เสียงดังราวตะโกน
“เหลียง…ไหน…เจ้าลองทวนคำพูดของเจ้าอีกทีซิ”
เมื่อเหลียงทวนคำเดิมอีกครั้ง เจ้าคุณจึงตอบกลับ
“ข้าจะลองไปขอแม่ยาให้เจ้า แต่ก็หวังว่าญาติข้าจะไม่ถีบข้าออกจากบ้านเสียก่อนดอกนะ”
ชิตผู้สงสารน้ำใจเด็กกำพร้าอยู่เสมอ เมื่อมาถึงวันนี้จึงแลเห็นว่า
วันเวลาแห่งการปรากฏกายของเหลียงมาถึงแล้ว
เนื่องจากเหลียงวันนี้ไม่เหมือนเหลียงวันโน้น เหลียงวันนี้คือ
“ชายหนุ่มงามสง่า ดวงตาดำขลับเรียวยาวเปลือกตาบาง จมูกโด่ง ริมฝีปากอิ่มเอิบ หน้าผากกว้างผึ่งผาย แม้พระยาลักษมาวราก็ยังเคยเอ่ยกับชิตอยู่เสมอว่า นานไปเบื้องหน้าเด็กกำพร้าผู้นี้จะอุดมด้วยศักดิ์ศรี ไม่เป็นรองคนรุ่นเดียวกัน”
ฉันนั้นถึงแก่ขนลุกซู่เลยทีเดียวเมื่อได้เห็นทองลงยาก้มลงกราบชิต ด้วยว่าชิตเป็นคนเดียวที่สนับสนุนเหลียง เห็นว่าเหลียงจะต้อง ‘เป็นใหญ่เป็นโต’ ในภายภาคหน้า
นางเอกของฉันจึงกล่าววาจาสุนทรีย์
“หนูยินดีเต็มใจรับคำขอของคุณลุงว่า จะแต่งงานกับเหลียงค่ะ”
เมื่อเจ้าคุณบุตรถามเจ้าคุณเจิมว่า แต่งแล้วจะให้ทั้งคู่อยู่ที่ไหน หล่อนจึงตอบได้อย่างฉาดฉานว่าจะยังอยู่ที่บ้านหลังนี้ ที่เป็นบ้านของบรรพบุรุษ
นั่นก็ด้วยทองลงยายังจำคำของมารดาที่บอกกล่าวตามที่เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามเคยจำกัดความไว้ว่า
“บรรพบุรุษของเราคือกระจกบานใหญ่ที่ส่องให้เห็นความหลังทั้งดีและร้าย ทุกท่านต่างก็ร้ายและดีตามวิสัยปุถุชน
แม่ก็เพิ่งมาคิดได้หลังจากสาละวนกับทุกข์หนัก แม้จะเฝ้าเช็ดกระจกทั้งบานเพื่อให้ยังคงใสสะอาด แต่ขอบกระจกก็ยังมัวหมอง มีร่องรอยกระดำกระด่าง…
เจ้าเป็นลูกของพ่อแม่ที่เหลืออยู่ ก็จงช่วยรักษากระจกของบรรพบุรุษบานนี้ให้ยืนนานต่อไป อย่าให้แตกร้าว
จงหมั่นล้าง เช็ดทั้งตัวกระจกและขอบกระจก หากเห็นว่ายังสกปรกส่วนใด ก็จงปิดทองทับลงไป
เอาความดีชนะความชั่ว”
– จบ –
- READ "หลังลับแล" เบื้องหลังแสงสว่างมีความมืด...เบื้องหลังความมืดมีแสงสว่าง
- READ ประจิมและอรอินทรา จาก "พฤกษาสวาท"
- READ รู้จักกับ 'เทียนธารา' ให้มากขึ้นใน "ควันเทียน"
- READ "รัด" จาก พญาไร้ใบ
- READ ไฟพ่าย..."พิจิกา" ดวงดาวอันเจิดจ้าและหมองมัว
- READ ข้ามสีทันดร “เดือนสิบและเที่ยงวัน”
- READ "วิมานไฟ" ความคั่งแค้นในใจ 'ภุมเรศ'
- READ วิมวิริยา แห่ง "วิหคโสภา"
- READ "อุโมงค์เวลา" สำปันนีและแคว
- READ "รอบรวงข้าว" ก่องและอัญชัน
- READ "จำหลักไว้ในแผ่นดิน" เจ้าหญิงโสคนเทียและสู
- READ "จันทร์ยาตรา" ปั้นหยาและลุ่มน้ำ
- READ "ไฟทะเล" เรื่องของ 'ชับ' และ 'สิชล'
- READ 'มัลลิกา' มารดายืนหนึ่งใน "กิ่งมัลลิกา"
- READ เรื่องราวของ "ศศิน" ใน "เงาจันทร์"
- READ "ทองลงยา" นางเอกของฉันจาก "กระจกขอบทอง"
- READ ข้ามเมฆา และนางเอก ‘บ้านๆ’ นาม "สีทับทิม"
- READ รสรักปักอุรา "มฤคีและอุบากอง"
- READ ป่ากามเทพ : รำพรและสดมภ์
- READ ตะวันตกดิน : วิธูและโสรวาร
- READ 'บนฟ้า' และ 'สมุทรไท' ณ ขอบฟ้าจรดขอบน้ำ
- READ เมื่อ "ขอบน้ำจรดขอบฟ้า" บนฟ้าและสมุทรไท
- READ ข้ามมหาสาคร 'ดูรา' และ 'กันตัง'
- READ 'ระย้า' เด็กสาวแห่งวังอาชาไนย
- READ "รสอมฤต" การสืบสวนที่พา 'ปูนปั้น' และ 'ร้อยรัด' มาพบกัน
- READ ‘ตวง’ ตัวละครวัยเยาว์ใน 'เมรัยสีกุหลาบ'
- READ "รำนำ" ฤทธิ์เดชจาก ‘กระเช้าสีดา’