ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (2)

ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (2)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ดีละ ดีละน้องหญิงทั้งหลาย กาลที่เธอทั้งหลายบำรุงบำเรอสามีอย่างนี้ สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลธิดา (ปุณมุขวาท)

——————————————————————

เรื่องนางปัญจปาปีเป็นเรื่องย่อยเรื่องหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในกุณาลชาดก ข้อความที่ยกมานี้ไม่ใช่วาทกรรมของพญากุณาละ แต่เป็นวาทกรรมหรือคำพูดของพญานกอีกตัวชื่อปุณมุข (ออกเสียงว่า ปุน-นะ-มุ-ขะ) พญานกตัวนี้ก็มีนางบำเรอเป็นบริวารจำนวนมากพอสมควร เป็นสหายของกุณาล (ออกเสียงว่า กุ-นา-ละ) แต่นิสัยแตกต่างกัน ข้อความที่ยกมาขึ้นต้นเป็นคำพูดของพญาปุณมุขที่พูดกับนางบำเรอทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่งพญาปุณมุขก็ไปเยี่ยมสหายโดยไม่ต้องกางปีกบินไปเองให้เหน็ดเหนื่อย แต่นั่งเกาะคอนโดยมีนางบำเรอสองตัวคาบหัวคอนท้ายคอนบินไป นางอื่นๆ ก็ช่วยกันบำเรอบำรุงฟุ้งเฟ้อเหมือนข้อความตอนก่อนที่ยกมาตอนว่าด้วยเหล่าบาทบริจาริกาปฏิบัติปัดโปพญากุณาลให้ถึงที่สุดแห่งเบญจกามคุณสุข

พญาปุณมุขยังมาไม่ถึง บรรดานางข้าใช้แต่งต้อนบำเรอบาทมูลของพญากุณาลก็บินออกไปต้อนรับพร้อมกับพูดว่า

“กุณาลสหายของท่านปากร้าย ไฉนหนอ เราจะพึงได้รับมธุรสวาที เหมือนที่นางข้าใช้ทั้งหลายได้รับจากท่านบ้าง”

พญาปุณมุขตอบว่า “บางทีอาจจะได้ น้องหญิง”

ว่าแล้วปุณมุขผู้อ่อนเอี้ยงเสียงหวานก็เข้าไปหาสหาย พูดจากันพอหอมปากหอมคอ ปุณมุขปากหวานก็เปรยๆ ขึ้น

“สหายกุณาลฟังข้าว่านะ ท่านควรพูดดีๆ ต่อเมียทั้งห้าร้อยของท่านบ้าง”

กุณาลปากร้ายได้ยินดังนั้นก็เดือด

“เหวยๆ ปุณมุข สหายลามกผู้ถ่อย เจ้าฉิบหาย เจ้าละลาย ใครจะเป็นผู้ฉลาดด้วยด้วยการชนะเมียยิ่งไปกว่าเจ้า”

คำเดือดทั้งหมดนี้ ลอกมาจากอรรถกถา ยกเว้นเหวยๆ ปุณมุขเท่านั้นที่ผู้เล่าเพิ่มเติมเข้ามา อ่านไปก็ขำไปกับคำด่าที่ว่าเจ้าละลาย ไม่เห็นจะเจ็บเลย นึกไปถึงคำด่าพื้นบ้านพื้นเมืองคำหนึ่งสมัยผู้เล่ายังเป็นเด็ก คำนั้นคือ ‘แตะควบ’ หากด่าผู้หญิงก็เติมอีเข้าข้างหน้า หากด่าผู้ชายก็เติมไอ้เข้าข้างหน้า คำว่าแตะควบคนนอกถิ่นอาจไม่เข้าใจ แตะแปลว่าแผงหรือกระแชง ควบแปลว่าครอบ ลองด่าเป็นคำไทยดูซิ

“อีแผงครอบ”

เจ็บไหม ท่านผู้อ่าน

กับคำด่าเจ้าละลาย (ท่านแปลสุภาพ ใช้คำว่าเจ้า ไม่ใช้ไอ้) แต่ถึงเอาไอ้เข้าใส่ เราเป็นคนนอกภาษา นอกวัฒนธรรม ฟังแล้วไม่เห็นจะปวดแสบปวดร้อนอะไรที่ไหนเลย

คงเหมือนคำด่าว่าไอ้แผงครอบหรืออีแผงครอบนั่นเอง แปลมาจากคำว่าแตะควบ มันมีความหมายอะไรยังไงหรือ ค่อยอ่านค่อยตามกันไป ตอนนี้ผู้เล่าตื้อๆ ตันๆ ขอติดไว้ก่อน กล่าวถึงปุณมุขพญานกปากหวาน โดนถากถางแดกดันอย่างนั้นก็เลยกลับไป อยู่ต่อมาไม่นาน นกปากหวานป่วย นางบำเรอทั้งหลายหนีมาหานกปากร้ายขอเอาเป็นที่พึ่ง แต่โดนด่าเปิงกลับไป นกปากร้ายไปหาสหายปากหวาน เยียวยารักษาจนหายป่วย แล้วก็หยิบยกสาธกสาธยายถึงเรื่องราวของนางร้ายหรือหญิงไม่ดีหลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือนางปัญจปาปี

ปัญจแปลว่าห้า

ปาปีแปลรวบรัดว่านางผู้มีบาป

นางปัญจปาปีเป็นผู้มีรอยบาปแสดงออกที่อวัยวะห้าแห่ง อาจปากแหว่ง ตาโปน จมูกคด มือแป เท้ากะเผลกหรืออะไรก็ไม่รู้ละ อรรถกถาท่านแสดงแต่ว่า…มือ เท้า ปาก ตา จมูก 5 แห่งจึงวิกลวิปริตไป ดังนั้นเขาจึงตั้งชื่อให้ว่านางปัญจปาปี…

นางปัญจปาปีเป็นลูกสาวของครอบครัวยากไร้ในเมืองพาราณสีสมัยที่พระเจ้าพกะเป็นพระราชา อรรถกถาท่านเล่าเรื่องย้อนหลังไปอีกชาติว่าแต่ก่อนนางก็เกิดมาเป็นลูกสาวครอบครัวยากไร้อีกเช่นกัน วันหนึ่ง นางนั่งขยำดินจะเอาทาฝาเรือน ช่วงเวลาเดียวกันมีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งกำลังหาดินละเอียดจะเอามาฉาบทาฝาบังที่ท่านอาศัยอยู่จึงเข้าไปในเมืองพาราณสี หยุดยืนอยู่ใกล้นางผู้กำลังนั่งขยำดิน นางเห็นก็โกรธ จึงประชดเอาว่า

“ชั้นแต่ดินก็จะขอหรือ”

พระปัจเจกพุทธเจ้าก็นิ่งเสีย ไม่แสดงความโกรธเกลียดเคียดแค้นอะไรทั้งสิ้น นางรู้สึกละอายจึงถามว่าท่านอยากได้ดินหรือ ท่านก็ตอบว่าใช่ นางก็ขยำดินก้อนใหญ่ใส่ลงในบาตรท่าน พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เอาไปฉาบทาฝาสานที่ท่านอาศัยอยู่  นางเองพอละอัตภาพจากชาตินั้นก็มาเกิดเป็นนางปัญจปาปีในชาตินี้

นางมีความวิกลวิการห้าแห่งในร่างกายเพราะบาปที่ได้แสดงกิริยาอาการไม่เหมาะสมต่อพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่บุญกุศลที่นางได้ถวายดินขยำสำหรับฉาบทาฝาสานไม้ไผ่ เป็นเหตุให้นางได้รับสิ่งที่ไม่มีนางใดในโลกเลยที่จะได้รับ

ได้รับอะไร อุบไว้ก่อน

——————————————————————

ย้อนกลับไปยังคำด่าว่าแตะควบที่ยังไม่ได้ไขว่ามันเจ็บแสบอย่างไรถึงกลายไปเป็นคำด่าของบางท้องถิ่นในแถบถิ่นล้านนา ที่จริงไม่ใช่คำด่า เป็นคำแช่ง แล้วที่แช่งว่าแตะควบหรือแผงครอบมันน่ากลัวอะไรนักหนาหรือ ก่อนไข ขอพาผู้อ่านไปที่ปี พ.ศ.2524-2525 ผู้เล่าได้ร่วมเวทีสัมมนาเกี่ยวกับคำด่าคำแช่งสี่ภาค มหาวิทยาลัยไหนจัดหรือ ไม่มีหรอก แต่เป็นวงพูดคุยของนักเขียนหนุ่มยุคนั้นในเย็นวันหนึ่ง ก็สรรหากันมาว่าภาคไหนด่าว่าอย่างไรบ้าง เฒ่ามาลมตอนนั้นยังหนุ่มฟ้อ ก็ยกคำด่าของภาคเหนือขึ้นมาเสนอว่า

อีห่ากิน อีห่าปัก อีห่ายอก อีวอก อีฉิบหาย อีพลันตาย อีพรายแหมะ อีแตะควบ คำอื่นๆ ไม่มีปัญหา แต่สองคำหลังคืออีพรายแหมะกับอีแตะควบมีปัญหาต่อเพื่อนนักเขียนต่างภาค พรายแหมะแปลว่าพรายประชิด แต่พอแปลอีแตะควบว่าอีแผงครอบ เพื่อนหัวเราะกันกลิ้งเลย

คงขำเหมือนผู้เล่าขำคำด่าว่าเจ้าละลาย

แตะควบในคำเมืองล้านนา มีความหมายเชิงลึกทางวัฒนธธรรม มันหมายถึงแผงหรือกระแชงที่สานจากไม้ไผ่เป็นตาๆ ให้ได้ขนาดตามต้องการว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร แต่แตะควบเขาใช้ครอบบนโลงศพ คำด่าหรือคำแช่งว่าอีแตะควบจึงหมายถึงแช่งให้รีบตาย กลับไปต่อที่เรื่องของนางปัญจปาปีร่างร้ายเพราะพิกลพิการถึงห้าแห่ง พระเจ้ากรุงพาราณสีเองยังออกปากเลยว่าเหมือนยักษิณี ส่วนพวกโจรห้าร้อยที่ได้เห็นนางก็ออกปากด่าว่าถุยๆ อีปีศาจ

แต่นางมีทีเด็ด

นางได้รับสิ่งที่ดี ที่วิเศษเนื่องจากกุศลผลบุญที่ถวายดินฉาบฝาต่อพระปัจเจกพุทธเจ้า สำนวนในอรรถกถาท่านเขียนว่า ด้วยผลที่ได้ถวายดินเหนียว ร่างกายของนางจึงประกอบด้วยสัมผัสที่ดียิ่งนัก

หากชายใดได้สัมผัสนาง จะเกิดกำหนัดยินดีเหมือนสัมผัสทิพย์

กล่าวถึงพระเจ้าพกะ ทำไมถึงทรงพระนามอย่างนี้ก็ไม่รู้ คงขายาวโย่งเย่งเหมือนนกกระยางกระมัง เพราะคำว่าพกะแปลว่านกกระยาง อาจแปลอย่างอื่นได้อีกแต่เฒ่ามาลมคนนี้ไม่รู้ อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าพกะปลอมตัวเที่ยวไปในพระนครพาราณสี นางปัญจปาปีเล่นอยู่กับเพื่อนสาวแรกรุ่นวัยกระเตาะ นางบาปห้าแห่งไม่รู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นางเผลอเอามือไปถูกมือพระองค์ ถ้อยคำสำนวนในอรรถกถาท่านเขียนว่า…พระเจ้าพาราณสีถูกสัมผัสมือของนางปัญจปาปีก็ดำรงพระองค์ไว้ไม่อยู่ ดุจดังสัมผัสทิพย์เกิดกำหนัดยินดีในสัมผัสยิ่งนัก จึงเอาพระหัตถ์จับนางปัญจปาปี ซึ่งมีรูปวิกลถึงปานนั้นแล้วตรัสถามว่า เจ้าเป็นลูกสาวของใคร ครั้นนางตอบว่า เป็นลูกสาวชาวบ้านที่ประตูจึงทรงซักถามได้ความว่า ยังไม่มีสามี ก็ตรัสว่า เรานี้แหละจะเป็นสามีของเจ้า เจ้าจงไปขออนุญาตต่อบิดามารดา. นางปัญจปาปีก็เข้าไปหาบิดามารดาแล้วบอกว่า ชายคนหนึ่งเขาต้องการข้า บิดามารดาคิดเห็นว่า ชายคนนั้นเห็นจะไม่ใช่คนทุคตะจึงกล่าวว่า ถ้าเขาอยากได้คนอย่างเอ็งก็ดีแล้ว…

มีคำยากไม่มาก ทุคตะแปลว่าไปไม่ดี ส่วนมากจะหมายถึงคนลำบากยากจน

พ่อแม่คงเห็นว่าคนรูปชั่วอัปลักษณ์อย่างนาง หากมีผัวเป็นตัวเป็นตนคงประเสริฐยิ่งแล้ว ในเรื่องท่านไม่ได้บอกไว้ว่าพ่อแม่รู้หรือไม่ว่าลูกสาวมีสัมผัสซึ่งคงหมายถึงรสสวาทอันเป็นทิพย์ คิดว่าคงไม่รู้ ส่วนนางเองก็คงไม่รู้ตัวเหมือนกัน คงไม่เคยถูกเนื้อต้องตัวชายใดมาก่อน แล้วท่านก็ดำเนินความต่อไปว่า…นางจึงกลับมาบอกว่า บิดามารดาอนุญาตแล้ว พระเจ้าพาราณสีก็อยู่กับนางปัญจปาปีที่เรือนนั้นจนรุ่งเช้าจึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าพาราณสีก็ทรงปลอมพระองค์ไปหานางปัญจปาปีเสมอ ไม่ทรงปรารถนาจะเหลียวแลหญิงอื่นเลย

เห็นไหม พระไตรปิฎกไม่ยากอย่างที่เราคิดเลย ไม่เชื่อลองเข้าไปอ่านดูนะ

 

Don`t copy text!