นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๓)

นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๓)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

อรรถกถาเรื่องนางสามาวดี ท่านเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างที่นำขยายพระคาถาหมวดอัปปมาทวรรคหรือความไม่ประมาท ในตัวพระไตรปิฎกนั้นมีเพียงคาถาสั้นๆ ไม่มีเรื่องราว ส่วนที่เป็นเรื่องราวของพระนางสามาวดีพระอรรถกถาจารย์ท่านเขียนไว้ในอรรถกถา แล้วนักปราชญ์ราชบัณฑิตไทยแปลออกมาเป็นภาษาไทย เล่ามาแล้วสองตอนนางเอกยังไม่โผล่เลย ยังหรอก ยังอีกนาน ตอนที่แล้วเล่ามาถึงโกตู่หรือนายโกตุหลิกทิ้งลูกน้อยไว้ข้างเพราะจงใจจะฆ่า แต่ทนเมียรบเร้าไม่ไหวเลยกลับไปเอาซึ่งคงเสียเวลาไม่น้อยเหมือนกัน ในพระอรรถกถาท่านไม่ได้บอกไว้ว่าเป็นระยะทางเท่าไรใช้เวลาเท่าไร ส่วนเด็กอายุเท่าไรท่านก็ไม่ได้บอก อาจเป็นทารกวัยแบเบาะก็เป็นได้ เด็กน้อยยังไม่ตาย แต่ก็ไม่อาจรอดชีวิตไปถึงเมืองโกสัมพี บาปกรรมนี้ท่านว่า

นายโกตุหลิก ทิ้งบุตรในฐานะมีประมาณเท่านี้ จึงถูกเขาทอดทิ้ง ๗ วาระ ในระหว่างภพ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ด้วยประการฉะนี้. ชื่อว่าบาปกรรมนี้ อันบุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า “น้อย,” 

ถูกเขาทอดทิ้งเจ็ดวาระในระหว่างภพคงหมายถึงเกิดมาอีกเจ็ดชาติก็ถูกทอดทิ้งถึงเจ็ดครั้ง อันนี้เป็นความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและความเชื่อเรื่องกรรม เรื่องตายแล้วดับหรือตายแล้วเกิดถกเถียงกันมาตั้งห้าหกพันปีแล้วกระมัง ฝ่ายพุทธเชื่อเรื่องตายแล้วเกิด แต่ก็มีศาสนาหรือลัทธิร่วมยุคร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าหลากลัทธิที่เชื่อเรื่องตายแล้วดับ อย่างพระเจ้าปายาสิที่มีเรื่องราวปรากฏในปายาสิสูตร ในพระสุตตันตปิฏก พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด ทรงโต้เถียงกับพระกุมารกัสสปะ จนในที่สุดก็อับจนหนทางที่จะแถกๆ ไถๆ ไปต่อ ก็เลยอ้อมแอ้มยอมจำนน ผู้อ่านท่านใดอยากรู้เหตุผลที่เขายกมาโต้ตอบกันว่าเป็นอย่างไร เชิญไปอ่านได้ เข้ากูเกิลแล้วพิมพ์คำว่าปายาสิสูตร จะมีคลิปให้เลือกเยอะแยะเลย

ตานี้ก็มาเดินเรื่องต่อจากที่ค้างไว้ได้แล้ว โกตู่กับเมียชื่อนางกาลีเดินทางต่อไปจนถึงเมืองโกสัมพี วันนั้นที่ในเมืองมีชายเลี้ยงวัวคนหนึ่งกวนข้าวปายาสถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า สองสามีคงทราบข่าวจึงไปยังเรือนนั้น ข้างฝ่ายชายเลี้ยงวัวเป็นคนใจดี เห็นผัวเมียอดอยากดูทรุดโทรมจึงสอบถามความเป็นมา ครั้นได้ความว่าเป็นคนอนาถอนาถาหนีมาจากเมืองอัลลกัปปะที่ห่าลง (อหิวาตกโรค ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกว่าห่าลง) ก็สงสาร จึงควักข้าวปายาสเป็นทานให้ส่วนหนึ่ง โกตู่แกหิวจัด ท่านว่าไม่ได้กินอะไรมาเจ็ดแปดวันแล้ว จึงสวาปามเข้าไปมาก ฝ่ายเจ้าของบ้านเมื่อจัดแจงแต่งทานพร้อมถ้วนดิบดีแล้วค่อยลงมือกิน ขณะกินก็ปั้นข้าวปายาสโยนให้แม่หมาท้องแก่ที่ใต้ถุนเรือน โกตู่แกเห็นเช่นนั้นก็เอาจิตเข้าไปผูกจะอิจฉาด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ สำนวนในอรรถกถาแปลแล้วท่านว่า

นายโกตุหลิกนั่งแลดูเขาแล้ว เห็นก้อนข้าวปายาสที่นายโคบาลปั้นให้แก่นางสุนัขซึ่งนอนอยู่แล้วใต้ตั่ง จึงคิดว่า “นางสุนัขตัวนี้ มีบุญ จึงได้โภชนะเห็นปานนี้เนืองนิตย์.” ตกกลางคืนนายโกตุหลิกนั้นไม่สามารถจะยังข้าวปายาสนั้นให้ย่อยได้ จึงทำกาละ ไปเกิดในท้องแห่งนางสุนัขนั้น.

จิตที่แกเอาเข้าไปผูก ภาษาธรรมท่านเรียกว่าจุติจิต คือจิตสุดท้ายของคนเราเมื่อจะออกจากร่างที่ตายลง ท่านว่าสำคัญมาก เพราะมันจะนำเราไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่หรือไปเกิดในภพนั้นภพนี้ นายคนนี้แกเอาจิตไปผูกกับภาวะความเป็นหมาหรือภพของหมาก็เลยไปเกิดเป็นหมาในเรือนของชายเลี้ยงวัวนั่นเอง

จิตสุดท้ายหรือจุติจิต หรือจิตที่เคลื่อนไปเพื่อกำเนิดใหม่นี้ท่านว่าสำคัญมาก คนเฒ่าเก่าแก่แต่ก่อนแต่เดิมสั่งสอนสืบต่อกันมาว่าหากมีคนในบ้านเราหรือญาติใกล้ชิดเราใกล้จะถอดจิต ให้บอกคำว่าอรหังแล้วให้คนใกล้ถอดจิตน้อมใจตามเพื่อแต่งใจหรือแต่งจิตดวงสุดท้ายให้เป็นกุศล เมื่อจิตจุติไปแล้ว จะได้ไปทางกุศล จะได้ไปเอากำเนิดใหม่ในภพภูมิที่ดี แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ากรรมดีและกรรมชั่วที่ทำมาไม่ส่งผลอะไรเลย ไม่ใช่อย่างนั้นกรรมทั้งหมดที่ทำมาไม่หายไปไหน ยังรอส่งผลอยู่ เรื่องกรรมเป็นเรื่องซับซ้อนมาก มีมากมายหลายอย่าง แบ่งง่ายๆ เปนสองอย่างคือกรรมหนักกับกรรมเบา กรรมหนักก็ยังผลหนักให้เกิด กรรมเบาก็ยังผลเบาให้เกิด ในส่วนที่เป็นกรรมหนักกรรมเบานี้ก็ยังจำแนกได้เป็นอีกสองอย่างคือกรรมดีกับกรรมชั่ว ถ้ากรรมหนักดี กรรมชั่วเบา ผลที่จะเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดีมากกว่าชั่ว ถ้ากรรมหนักชั่ว กรรมเบาดี ผลที่เกิดขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่ชั่วมากกว่าดี

จุติจิตเพียงแค่บรรทุกความดีหรือความชั่วไปเท่านั้นเอง ไม่ได้ลบล้างความดีหรือความชั่วที่ได้ทำมา ในคำอธิบายเรื่องกรรมของนักปราชญ์ราชบัณฑิตทางพุทธศาสนาท่านว่าจุติจิตมักจะบรรทุกเอาสิ่งที่เป็นอาจิณกรรมไปเกิด อาจิณกรรมคือกรรมที่ทำบ่อยๆ หรือทำถี่ๆ มันจะฝังเข้าไปในจิต หากเราทำดีถี่ๆ หรือทำบ่อยๆ ความดีก็เป็นอาจิณกรรมของเรา เราก็มีโอกาสไปเกิดในที่ดีๆ มากกว่าจะพลัดหลงไปในทางที่ไม่ดี ดังนั้นเราจึงควรทำดีมากกว่าทำชั่ว เพราะมันเป็นได้ยากอย่างยิ่งที่ทำชั่วมาตลอดชีวิตแล้วทำดีนิดเดียว แล้วจุติจิตจะไปฉวยเอาความดีนิดเดียวติดตัวไปเกิด มันฉวยขึ้นมาได้ยากมาก เพราะถูกกลบถูกท่วมด้วยความชั่วที่เป็นอาจิณกรรมไปเรียบร้อยแล้ว

อยากเข้าใจเรื่องกรรมแจ่มแจ้ง ศึกษาได้จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรมของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เลย

————————————————————————————–

ฝ่ายนางกาลีผู้ภรรยา เมื่อเผาผีจีศพผัวเรียบร้อยแล้วก็เลยทำงานรับจ้างอยู่ที่เรือนคนเลี้ยงวัวนั่นเอง ได้ข้าวสารก็เอามาหุงแล้วแบ่งใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า กุศลผลบุญนี้จะเป็นอย่างไรค่อยไปว่ากันข้างหน้า ส่วนโกตู่จุติแล้วไปปฏิสนธิในท้องหมา อยู่มาไม่นานก็เกิด เจ้าเรือนก็เลี้ยงไว้ ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าก็มารับเอาทานยังเรือนคนเลี้ยงวัวอยู่เรื่อยๆ เมื่อฉันเสร็จก็มักให้ก้อนข้าวแก่ลูกหมาตัวน้อยๆ น่ารักน่าเอ็นดูอยู่เรื่อย ลองอ่านสำนวนในอรรถกถาต่อไปนี้

ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อฉัน ย่อมให้ก้อนข้าวแก่ลูกสุนัขนั้นก้อนหนึ่งเป็นนิตย์. เพราะอาศัยก้อนข้าว สุนัขนั้นจึงได้มีความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า. นายโคบาลย่อมไปสู่ที่บำรุงของพระปัจเจกพุทธเจ้า (วันหนึ่ง) ๒ ครั้งเนืองนิตย์. นายโคบาลนั้นแม้เดินไป  ก็เอาไม้ตีที่พุ่มไม้และพื้นที่ดินในที่ซึ่งมีเนื้อร้ายระหว่างทาง ส่งเสียงว่า “สุ สุ” ๓ ครั้ง ยังเนื้อร้ายให้หนีไปแล้ว. แม้สุนัขก็ไปด้วยกับนายโคบาลนั้น.  ในวันหนึ่ง นายโคบาลนั้นกล่าวกะพระปัจเจกพุทธเจ้า “ท่านผู้เจริญ กาลใด ผมไม่มีโอกาสว่างกาลนั้นผมจักส่งสุนัขตัวนี้มา: ขอพระผู้เป็นเจ้าพึงมาด้วยเครื่องหมายแห่งสุนัขนี้ที่กระผมส่งมาแล้ว.” ตั้งแต่นั้นมา  ในวันที่ไม่มีโอกาส นายโคบาลนั้น ก็ส่งสุนัขไปว่า “พ่อ จงไป จงนำพระผู้เป็นเจ้ามา” ด้วยคำเดียวเท่านั้น  สุนัขนั้นก็วิ่งไป ถึงที่ซึ่งนายตีพุ่มไม้และพื้นดินก็เห่าขึ้น ๓ ครั้ง รู้ว่าเนื้อร้ายหนีไปแล้วด้วยเสียงนั้น ไปถึงที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้กระทำสรีปฏิบัติแต่เช้าตรู่ เข้าไปยังบรรณศาลา นั่งอยู่แล้วถึงประตูบรรณศาลา จึงเห่าขึ้น ๓ ครั้ง ให้ท่านรู้ว่าตนมาแล้ว ก็นอนหมอบอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง. เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ากำหนดเวลาออกไปแล้วสุนัขนั้นก็เดินเห่าไปข้างหน้าๆ เทียว พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัข จึง (ทำเป็น) เดินไปทางอื่นในระหว่างๆ ทีนั้น สุนัขจึงไปยืนเห่าขวางหน้าของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไว้ แล้วนำท่านลงทางนอกนี้.

ต่อมาในกาลวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัขนั้น จึงเดินไปสู่ทางอื่นแล้ว แม้สุนัขนั้นจะยืนขวางห้ามอยู่ข้างหน้าก็ไม่กลับ เอาเท้ากระตุ้นสุนัขแล้วเดินไป: สุนัขรู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ  จึงกลับไปคาบชายผ้านุ่งฉุดมา นำท่านลงสู่ทางนอกนี้. สุนัขนั้นได้ยังความรักอันมีกำลัง ให้เกิดขึ้นแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยประการอย่างนี้. ต่อมาในกาลอื่น จีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้าเก่าแล้ว. ครั้งนั้นนายโคบาล จึงได้ถวายผ้าสำหรับทำจีวรแก่ท่าน. พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกับนายโคบาลนั้นว่า “ผู้มีอายุ  ชื่อว่าการทำจีวร อันบุคคลผู้เดียวทำได้ยาก, อาตมา ไปสู่สถานที่สบายแล้วจักกระทำ.”

นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ นิมนต์ทำที่นี่เถิด.

พระปัจเจกพุทธเจ้า. ผู้มีอายุ อาตมา ไม่อาจ.

นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ท่านอย่าไปอยู่ภายนอกให้นานนัก.

สุนัขได้ยืนฟังคำของคนทั้งสองนั้นอยู่เหมือนกัน.

 พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวกะนายโคบาลนั้นว่า “จงหยุดเถิดอุบาสก” ให้นายโคบาลกลับแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส บ่ายหน้าต่อเขาคันธมาทน์ หลีกไปแล้ว. สุนัขแลดูพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เหาะไปทางอากาศ  ยืนเห่าอยู่แล้ว เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นลับคลองจักษุไป หทัยก็แตกทำลายลง.

—————————————————————————————————————————

เล่ารวบรัดละนะ ขืนโอ้เอ้โว้เว้เรื่องจะอืดมากกว่านี้ หลังจากชาติที่เป็นหมาน้อยธรรมดา โกตู่ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีชื่อว่าโฆสกเทพบุตร ที่ได้ชื่อนี้เพราะเสียงดัง แค่กระซิบยังดังไปถึง๑๖ โยชน์ เหตุที่เสียงดังเพราะชาติที่เป็นหมาคอยเห่าให้สัญญาณแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์นี้ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ไม่ใช่องค์นี้ มีหลายองค์ คนไกลวัดอาจไม่ค่อยคุ้น คนคุ้นเคยกับวัดคงรู้จักดี หมายถึงพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เฉพาะตน คือรู้เฉพาะตน สอนใครให้รู้ตามไม่ได้ เมื่อจุติจากชาติที่เป็นโฆษกเทวบุตร ก็มาบังเกิดในเมืองโกสัมพี เป็นลูกของโสเภณี ชื่อเป็นทางการว่านางนครโสเภณี แปลว่าเป็นศรีแก่เมือง บางทีเราก็แปลกันว่าหญิงงามเมืองหรือนางงามเมือง อาชีพนี้ท่านว่ากำเนิดที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี หญิงนครโสเภณีในยุคนั้นเป็นคนที่มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของสังคม หากมีโอกาสค่อยเอามาเล่า

โฆสกเทพบุตรมาเอากำเนิดใหม่เป็นชาย นางงามเมืองแห่งนครโกสัมพีไม่ต้องการจะเลี้ยงไว้จึงให้ทาสีเอาไปทิ้ง แต่ก็มีคนเก็บเอาไปเลี้ยง เล่ารวบๆ นะ ไม่เล่าก็ไม่ครบถ้วนกระบวนความคนผู้นี้เป็นคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติพุทธศาสนา บทบาทและพฤติกรรมของแกส่งผลต่อบุคลิกภาพของในวรรณกรรมทางพุทธศาสนายุคหลังพุทธกาลอย่างน้อยก็สองสามคน อย่างพระเจ้าจันทรคุปต์ในเรื่องมหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีปเป็นต้น เป็นคนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ และเป็นคนในวรรณกรรมคือถูกนำมาเขียนเป็นตัวละครในมหาวงศ์ด้วย ไม่สืบความยาวสาวความยืดนัก มันจะกลายเป็นน้ำท่วมทุ่ง

ทารกคนนี้พอคลอดออกมาก็ถูกนำไปทิ้งแล้วมีคนเก็บไปเลี้ยง วันเดียวกันนั้นท่านเศรษฐีในเมืองโกสัมพีไปพบปุโรหิตกำลังกลับออกมาจากพระราชวังจึงไถ่ถามทักทายกัน ถ้อยคำสำนวนในอรรถกถาที่แปลมาท่านว่าไว้อย่างนี้

ในกาลครั้งนั้น เศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี ไปสู่ราชตระกูล พบปุโรหิตเดินมาแต่พระราชวัง จึงถามว่า  “ท่านอาจารย์ วันที่ท่านได้ตรวจตราดูความประกอบของดาวนักษัตร (๑. ติถิกรณนกฺขตฺตโยโค  ความประกอบแห่งนักษัตรอันเป็นเครื่องกระทำซึ่งดิถี.) อันเป็นเหตุเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายแล้วหรือ?”

ปุโรหิต. จ้ะ ท่านมหาเศรษฐี, กิจอะไรอื่นของพวกเราไม่มี,

เศรษฐี. อะไรจะมีแก่ชนบทหรือ? ท่านอาจารย์ .

ปุโรหิต. อย่างอื่นไม่มี, แต่เด็กที่เกิดในวันนี้ จักได้เป็นเศรษฐี ผู้ประเสริฐในเมืองนี้.

ครั้งนั้น ภรรยาของเศรษฐีมีครรภ์แก่, เพราะฉะนั้น เศรษฐีนั้น จึงส่งคนใช้ไปสู่เรือนโดยเร็วด้วยคำว่า  “จงไป จงทราบภรรยาของเรานั้นว่า “คลอดแล้ว หรือยังไม่คลอด,” พอทราบว่า “ยังไม่คลอด,” เฝ้าพระราชาเสร็จแล้ว รีบกลับบ้าน เรียกหญิงคนใช้ชื่อกาลีมาแล้วให้ทรัพย์ ๑ พัน กล่าวว่า “เจ้าจงไป จงตรวจดูในเมืองนี้ ให้ทรัพย์ ๑ พัน พาเอาเด็กที่เกิดในวันนี้มา.” นางกาลีนั้นตรวจตราดู ไปถึงเรือนนั้น เห็นเด็กแล้ว จึงถามหญิงแม่บ้านว่า “เด็กนี้ เกิดเมื่อไร” เมื่อหญิงนั้นตอบว่า “เกิดวันนี้.” จึงพูดว่า “จงให้เด็กนี้แก่ฉัน จึงประมูลราคา ตั้งแต่ ๑ กหาปณะเป็นต้น จนถึงให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว นำเด็กนั้นไปแสดงแก่เศรษฐี. เศรษฐีคิดว่า “ถ้าว่าลูกของเรา จักเกิดเป็นลูกหญิง, เราจักให้มันอยู่ร่วมกับลูกสาวของเรานั้น แล้วทำให้มันเป็นเจ้าของตำแหน่งเศรษฐี; ถ้าว่าลูกของเราจักเกิดเป็นลูกชาย เราก็จักฆ่ามันเสีย” ดังนี้แล้ว จึงให้รับเด็กนั้นไว้ในเรือน. 

ต่อมา ภรรยาของเศรษฐีนั้นคลอดบุตรเป็นชาย โดยล่วงไป ๒-๓ วัน. เศรษฐีจึงคิดว่า “เมื่อไม่มีเจ้าเด็กนี้ ลูกชายของเรา ก็จักได้ตำแหน่งเศรษฐี, บัดนี้ควรที่เราจักฆ่ามันเสียเถิด” ดังนี้แล้ว จึงเรียกนางกาลีมาแล้ว กล่าวว่า “แม่จงไป ในเวลาที่พวกโคออกจากคอก เจ้าจงเอาเด็กนี้ให้นอนขวางไว้ที่กลางประตูคอก  แม่โคทั้งหลายจักเหยียบมันให้ตาย, แต่ต้องรู้ว่าโคเหยียบมันหรือไม่เหยียบแล้วจึงมา.” นางกาลีนั้น ไปแล้ว  พอนายโคบาลเปิดประตูคอกเท่านั้น ก็เอาเด็กนั้นให้นอนไว้ ตามนั้น (เหมือนที่เศรษฐีสั่ง). โคอุสภะซึ่งเป็นนายฝูง แม้ออกภายหลังโคทั้งปวงในเวลาอื่น (แต่) ในวันนั้น ออกไปก่อนกว่าโคอื่นทั้งหมด ได้ยืนคร่อมทารกไว้ในระหว่างเท้าทั้งสี่. แม่โคตั้งหลายร้อย ต่างก็พากันเบียดเสียดข้างทั้งสองของโคอุสภะออกไป. ถึงนายโคบาลก็คิดว่า “เจ้าโคอุสภะตัวนี้ เมื่อก่อน ออกทีหลังโคทุกตัว, แต่วันนี้ ออกไปก่อนโคทั้งหมดแล้วยืนนิ่งอยู่ที่ประตูคอกเทียว, นั่นจะมีเหตุอันใดหนอ?” จึงเดินไปแลเห็นเด็กนอนอยู่ภายใต้ท้องโคนั้น หวนกลับได้ความรักเสมือนบุตรจึงนำไปสู่เรือน ด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว.” นางกาลี ไปแล้วถูกเศรษฐีถาม จึงเล่าเรื่องนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป จงให้ทรัพย์เขา ๑ พันแล้ว นำมันกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว ได้นำกลับมาให้อีก.

นางกาลีนำโฆสกะไปให้เกวียนทับ

 ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกับนางกาลีว่า “แม่กาลี ในเมืองนี้มีพวกเกวียน ๕๐๐ เล่ม ลุกขึ้นแต่เช้ามืด  ย่อมไปค้าขาย, เจ้าจงเอาเด็กนี้ไปให้นอนไว้ที่ทางเกวียน (ทางล้อ) พวกโคจักเหยียบมันหรือล้อเกวียนจักตัด  (ตัวมัน) พอรู้เรื่องของมันแล้ว จึงกลับมา.” นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไปแล้ว ให้นอนอยู่ที่ทางเกวียน. ในกาลนั้นหัวหน้าเกวียนได้ไปข้างหน้า. ครั้งนั้น พวกโคของเขา ถึงที่นั้นแล้ว ต่างพากันสลัดแอกเสีย. แม้จะถูกหัวหน้ายกขึ้นแล้วขับไปตั้งหลายครั้ง ก็ไม่เดินไปข้างหน้า. เมื่อหัวหน้านั้นพยายามอยู่กับโคทั้งสองนั้นอย่างนี้เทียวอรุณขึ้นแล้ว (ก็พอสว่าง). เขาจึงคิดว่า “โคทั้งสองพากันทำเหตุนี้เพราะอะไร?” จึงตรวจตราดูทาง เห็นทารกแล้วก็คิดว่า “กรรมของเราหนักหนอ” มีความยินดีว่า “เราได้ลูกชายแล้ว” จึงนำเด็กนั้นไปสู่เรือน. นางกาลีไปแล้ว อันเศรษฐีถาม จึงบอกความเป็นไปนั้น อันเศรษฐีบอกว่า  “เจ้าจงไปให้ทรัพย์ (เขา)  ๑ พันแล้ว จงนำเด็กนั้นกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ได้กระทำตามนั้นแล้ว.

นางกาลีนำโฆสกะไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ

ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะนางกาลีนั้นว่า “บัดนี้ เจ้าจงนำมันไปยังป่าช้าผีดิบ แล้วเอานอนไว้ในระหว่างพุ่มไม้, มันจักถูกสัตว์มีสุนัขป่าเป็นต้นกัด หรือถูกอมนุษย์ประหารตายในที่นั้น, เจ้ารู้ว่ามันตายแล้วหรือไม่ตายเทียว จึงกลับมา.” นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไป ให้นอนอยู่ที่ป่าช้าผีดิบแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง.  สุนัขบ้าง กาบ้าง อมนุษย์บ้าง ไม่อาจเข้าใกล้เด็กนั้นได้. มีคำถามสอดเข้ามาว่า “ก็มารดาบิดาและบรรดาพี่น้องเป็นต้น ใครๆ ชื่อว่าผู้รักษาของเด็กนั้น ไม่มีมิใช่หรือ? ใครรักษาตัวเด็กนั้นไว้?” แก้ว่า “กรรมสักว่าความเห่าเท่านั้นซึ่งเด็กให้เป็นไปแล้ว ด้วยความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ในเวลาเป็นสุนัข รักษาเด็กไว้.”

———————————————————————————————————————————–

ออกจะมึนๆ กันบ้างใช่ไหม สรุปความได้ว่าพอเศรษฐีรู้ว่าเด็กที่เกิดในวันนี้จะได้เป็นเศรษฐีผู้ประเสริฐก็เกิดความคิดว่าจะนำเด็กคนนั้นมาเลี้ยงไว้ หากลูกตนเกิดมาเป็นหญิงก็จะให้แต่งงานกัน แต่หากเกิดเป็นชายก็จะฆ่าทิ้งเสีย แต่ลูกตนเกิดเป็นชายจึงพยายามจะกำจัดเด็กน้อยผู้จุติมาจากโฆสกเทพบุตร โดยให้นางกาลีที่เป็นทาสเอาไปนอนขวางที่ประตูคอกวัวหวังให้วัวเหยียบตายวัวก็ไม่เหยียบ เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบหวังให้สัตว์หรืออมนุษย์ออกมากินก็ไม่สำเร็จ พระอรรถกถาจารย์ท่านตั้งคำถามแทรกขึ้นมาว่าพ่อแม่พี่น้องซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาเด็กไม่มี แล้วใครรักษาเด็กไว้ ท่านตอบว่าผลจากกรรมเมื่อครั้งเกิดเป็นหมาแล้วเห่าด้วยความเคารพรักพระปัจเจกพุทธเจ้ารักษาไว้

ตอนนี้คงพอแค่นี้ก่อน มึนไปหมดทั้งคนเล่าและคนฟัง

Don`t copy text!