นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๒)

นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๒)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ราชกุมารอุเทนประสูติในวันนั้น ในวันที่แสงฟ้าพรุ่งรุ่งอรุณมีเมฆหมอกขึ้นมา เกิดที่บนคบไม้ไทรใหญ่สูงไม่ไกลจากอาศรมของอัลลกัปปดาบสสักเท่าใดนัก อรรถกถาธรรมบทท่านกล่าวว่า ปกติวันใดหากมีฝน ดาบสหรือบางทีเราก็เรียกว่าฤษีบ้างฤๅษีบ้างจะไม่เข้าไปไกลในป่าลึกเพราะกลัวหนาว เหมือนๆ ว่าที่อาศรมของท่านยังไม่ลึกเท่าใดนัก แต่ในธรรมบทท่านไม่ได้ให้รายละเอียดไว้

วันใดหากฝนตก พระฤษีมีศีลแต่คงไม่กินเจจะไปยังโคนไม้ใหญ่ๆ ใกล้อาศรมเพื่อเก็บกระดูกจากซากที่นกช้างกินเหลือแล้วทิ้งลงมา พระดาบสผู้เฒ่าเอากระดูกไปทำอะไรหรือ อรรถกาถาธรรมบทท่านว่า

“เก็บกระดูกเนื้อที่นกกินแล้ว ทุบต้มให้มีรส ก็ดื่มกิน”

ทำไมถึงต้องทุบก่อนต้ม ใครตอบได้ไหมเอ่ย

พินิจดูตามข้อความนี้ กระดูกที่นกทิ้งลงมา อาจไม่ใช่กระดูกคนโดยเฉพาะเจาะจงก็เป็นได้ หากเป็นกระดูกคนอย่างเดียว ษ.ฤษีหนวดยาวตนนี้น่าจะรังเกียจ อันนี้เดาเอานะ ไม่มีประจักษ์พยานหลักฐานชี้ชัดอะไร แต่การกินซากคนหรือกินเนื้อคนเป็นสิ่งที่สังคมปฏิเสธ ข้อคาดเดานี้มีร่องรอยอยู่ในมหาสุตตโสมชาดกที่กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งโปรดปรานการกินเนื้อคน ประชาชนเลยขับไล่ หนีไปเป็นโจรป่าชื่อโปริสาท

วรรณกรรมโบราณล้านนามีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อโปริสาทกินผี ผู้เล่าได้ยินมากับหูสมัยที่เป็นเด็กบ้านดอยตัวน้อยตัวนิดติดตามย่าไปนอนวัด ก็ไม่นานเท่าไร ราว ๖๐ ปีผ่านมานี่เอง 555 (หัวเราะแบบเฟซบุ๊ก)

เล่าเรื่อยเจื้อยนะ พบอะไรน่าเล่าก็จะเล่าอันนั้น เอามาคั่นคล้ายการแสดงสลับฉากของลิเกโบราณ เดี๋ยวนี้ไม่รู้จะมีอยู่ไหม ไม่ใช่แฟนลิเก ออกจากวัยเด็กก็เลิกดูเลยเพราะมันไม่มีจะให้ดู ไปเรียนวิทยาลัยครูก็อยู่แต่ในเมือง จบออกมาเป็นครูก็ไม่ได้ไปยุ่งยิ่งสุงสิงหน้าโรงลิเกอีก มันเขินๆ ประดักประเดิดอย่างไรไม่รู้   เรื่องโปริสาทกินผี ไม่ได้ดูจากลิเก แต่พ่อหนานทาเล่า จำได้กระท่อนกระแท่นเลยค้างคาใจอยากรู้เรื่องต่อจนจบ กระทั่งโตมากๆ ได้อ่านมหาสุตตโสมชาดก เพิ่งรู้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

กลับเข้าเรื่องต่อ

อัลลกัปปฤษีไปหากระดูกที่โคนต้นไทรเพื่อจะเอาไปทุบแล้วต้ม ที่ต้องทุบกระดูกเสียก่อนก็เพื่อให้ไขในกระดูกมันออกมาได้ง่ายจ้ะ อันนี้เล่าจากประสบการณ์จริงในชีวิตจริงของพ่อเฒ่า เปล่า… ไม่เคยขโมยกระดูกผีตายในป่าช้าไปทุบแล้วต้มกินเลยนะ แต่เคยเป็นลูกมือแม่ทำขนมเส้นน้ำเงี้ยว จะให้อร่อยต้องเอากระดูกควายหรือกระดูกหมูมาต้มจนไขในกระดูกละลายออกมา หากไม่ทุบกระดูก จะเปลืองฟืนมาก ฟืนจ้า ไม่ใช่แก๊สหุ้งต้ม สมัยนั้นจะนึ่งข้าวต้มแกงอะไรใช้ฟืนเป็นพื้น

อัลลกัปปดาบสไปหากระดูกตกเรี่ยตกรายใต้ต้นไม้ ได้ยินเสียงเด็กแรกคลอดร้องแว้ๆ อยู่บนต้นไม้ก็แปลกใจ แหงนหน้าขึ้นไปดู ข้างฝ่ายราชเทวีก็มองลงมา ต่อไปนี้เป็นบทเจรจาในอรรถกถา ลองอ่านดู

ดาบส   ‘ท่านเป็นใคร?’

พระราชเทวี.  ข้าพเจ้าเป็นหญิงมนุษย์.

ดาบส.  ท่านมาได้อย่างไร?

เมื่อพระนางกล่าวว่า  ‘นกหัสดีลิงค์นำข้าพเจ้ามา’  จึงกล่าวว่า ‘ท่านจงลงมา.’

พระเทวี.  ข้าพเจ้ากลัวแต่ความเจือด้วยชาติ พระผู้เป็นเจ้า.

ดาบส.  ท่านเป็นใคร?

พระราชเทวี.  ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์.

ดาบส.  แม้ข้าพเจ้าก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน.

พระราชเทวี.  ถ้ากระนั้น ท่านจงแถลงมายากษัตริย์.

พระดาบสนั้น  แถลงแล้ว.

พระราชเทวี.  ถ้ากระนั้น ท่านจงขึ้นมา พาบุตรน้อยของข้าพเจ้าลง.

อาจงงๆ กันหน่อยนะ ไม่ค่อยคุ้นเคย บางอย่างเป็นเรื่องจำเพาะทางวัฒนธรรมแต่ท่านไม่อธิบายไว้ อย่างคำของพระราชเทวีที่ว่า ข้าพเจ้ากลัวแต่ความเจือด้วยชาติ หมายถึงกลัวเรื่องความเจือปนทางวรรณะ พระนางคงเข้าใจว่าอัลลกัปปฤษีสังกัดวรรณะพราหมณ์จึงตอบไปอย่างนั้น อีกคำที่มีปัญหาคือมายากษัตริย์ ยังหาไม่เจอว่าหมายถึงอะไร อาจเพราะเหตุนี้เองกระมัง จึงมักมีวรรณกรรมอีกชั้นที่มาอธิบายอรรถกถา เรียกว่าฎีกา อ่านอรรถกถาต่อเลยนะ

พระดาบสนั้น ทำทางขึ้นโดยข้างหนึ่ง ขึ้นไปแล้ว รับเด็ก, เมื่อพระราชเทวีกล่าวห้ามว่า “อย่าเอามือถูกต้องข้าพเจ้า,” ก็ไม่ถูกพระนางเลย อุ้มเด็กลงมา. แม้พระราชเทวีก็ลงแล้ว. ครั้งนั้น พระดาบสนำนางไปสู่อาศรมบท ไม่กระทำศีลเภทเลย บำรุงแล้ว ด้วยความอนุเคราะห์, นำน้ำผึ้งที่ไม่มีตัวมา นำข้าวสาลีอันเกิดเองมา ได้ต้มเป็นยาคูให้แล้ว. เมื่อพระดาบสนั้น กำลังบำรุงอย่างนั้น, ในกาลอื่น พระนางจึงคิดว่า “เราไม่รู้จักทางมาทางไปเลย, แม้เหตุสักว่าความคุ้นเคยของเรากับพระดาบสแม้นี้ ก็ไม่มี; ก็ถ้าว่าพระดาบสนี้จักทอดทิ้งเราไปไหนเสีย, เราแม้ทั้งสองคน ก็จักถึงความตายในที่นี้นั่นเอง, ควรเราทำอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง  ทำลายศีลของพระดาบสรูปนี้เสีย ทำโดยอาการที่ดาบสรูปนี้จะไม่ปล่อยปละเราไปได้. ทีนั้น พระราชเทวี  จึงประเล้าประโลมพระดาบสด้วยการแสดงผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย ให้ถึงความพินาศแห่งศีลแล้ว. ตั้งแต่วันนั้นชนทั้งสองก็อยู่สมัครสังวาสกันแล้ว.

—————————————————————————————————————————————–

อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านรู้สึกอะไรไหม ผู้เล่ารู้สึกเห็นใจผู้หญิงอับจนหนทางจับใจ พระนางเองแม้จะดำรงสถานภาพสูงส่ง แต่มาตกอยู่กลาสงดงพงไพรใหญ่กว้าง แถมมีลูกน้อยแรกคลอดไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้จะพึ่งใคร ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงต้องยึดพระฤษีไว้เป็นที่พึ่ง

นึกถึงถ้อยคำหนึ่ง อยู่ในอรรถกถาชาดกโน่น ที่เล่าเรื่องพระนางสามาวดีนี้อยู่ในอรรถกถาธรรมบท คนละส่วนกัน แต่ต่างก็สังกัดอยู่ในขุททกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎกด้วยกัน ถ้อยคำนั้นมีว่า

ผู้หญิง ทรงกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหลาย

พระราชเทวีอับจนหนทาง จึงใช้กำลังแห่งหญิงเอาชนะพระดาบสได้ง่ายดาย ดาบสเองก็คงเป็นฤษีที่ไม่ค่อยแข็งกล้าทางตบะเดชะอะไรมากนัก ในเรื่องไม่กล่าวถึงฌานหรือพละพลังขลังแข็งทรงอำนาจอะไรของท่านเลย จึงถูกสยบได้โดยง่ายดายจากผู้ทรงกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหลาย แต่ต่อให้กล้าแข็งกว่านี้ ก็ยากจะเอาชนะพละกำลังของหญิงได้ ฤษีที่เก่งกว่านี้ ถูกหญิงยั่วยวนจนฌานแตกมานักต่อนัก ยกตัวอย่างจากโลมสกัสสปะมาเล่า ชาดกเล่าวว่าท่านเป็นดาบสที่มีอินทรีย์สงบระงับอย่างยิ่ง มีตบะแรงกล้า ภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหวด้วยเดชแห่งตบะของดาบสนั้น ท้าวสักกะหรือพระอินทร์หวั่นไหว ดำริว่าดาบสนี้มีเดชสูงนัก จะทำเราให้เคลื่อนจากความเป็นท้าวสักกะ จึงไปบอกให้ท้าวพรหมทัตกษัตริย์ผู้ครองเมืองว่าหากท่านอยากมีอำนาจครอบคลุมชมพูทวีปจงไปเชิญโลมสกัสสปดาบสเข้ามาสู่เมือง แต่ถึงเอาอะไรมาล่อ พระดาบสผู้ทรงตบะแรงกล้าจนพระอินทร์กลัวก็ไม่ยอมมา สุดท้ายพระองค์ทรงส่งพระราชธิดาผู้สวยสคราญอย่างยิ่ง น่ารักน่าใคร่อย่างยิ่ง ทรงเสน่ห์อย่างยิ่งไปล่อ พระฤๅษีเลยตบะแตก

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องผู้หญิงลวงฤษีให้ตบะแตกอีกเหมือนกัน อยู่ในอลัมพุสาชาดก ใครยังไม่ได้อ่านให้ย้อนกลับไปอ่านได้เลยในเว็บไซต์ฮ.นกฮูกตาโตแห่งนี้ได้เลย กลับมากล่าวถึงอัลลกัปปดาบสผู้เสียศีลเพราะสมสู่อยู่กินกับนางราชเทวีผู้ถูกนกหัสดีลิงค์โฉบมา อยู่มาคืนหนึ่งฤษีแหงนดูท้องฟ้าแล้วเห็นดาวประจำตัวพระเจ้าปรันตปะเศร้าหมองจึงบอกแก่นางเทวี พระนางได้ยินดังนั้นก็ร้องไห้ ฤษีถามว่าร้องไห้ทำไม นางว่าพระเจ้าปรันตปะเป็นพระราชสวามีของนางเอง ฤษีปลอบนางให้หายโศกแล้วคิดหาหนทางจะช่วยให้อุเทนราชกุมารได้เมือง จึงสอนพิณช้างใคร่และมนต์ช้างใคร่ให้แก่กุมาร คำนี้ท่านแปลดี๊ดี แปลมาจากหัสดีกันต์ หัสดีก็คือช้าง กันต์ หรือกันตะแปลว่ารัก หรือใคร่ก็ได้ คงจำกันได้อยู่นะว่าพิณกับมนต์ต้องใช้ควบคู่กัน ดีดพิณพร้อมร่ายมนต์บังคับช้างให้ทำอย่างไรก็ได้ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงหนังแขกแบบจักรๆ วงศ์ๆ นะ ฉากนี้น่าจะโอ่อ่าอลังการงานสร้าง คงมีช้างเป็นร้อยตัวมาเข้าฉาก มีภาพพระเอกคืออุเทนราชกุมารนั่งบนคอช้าง ดีดพิณไปด้วย ร่ายมนต์แต่เอามาใส่ทำนองร้องเป็นเพลงแบบแขก แล้วก็มีนางระบำเป็นร้อยออกมาร่ายรำแบบแขกดึ๋งๆ ดั๋งๆ

ต่อไปเป็นนี้ข้อความในอรรถกถา ลองอ่านดูนะ

ครั้งนั้น พระดาบสได้ให้พิณและมนต์อันยังช้างให้ใคร่ แก่บุตรของพระนางแล้ว. ในกาลนั้น ช้างหลายแสนมาพักอยู่ที่โคนต้นไทรย้อย. ลำดับนั้น พระดาบส จึงตรัสกะกุมารนั้นว่า “เมื่อช้างทั้งหลาย ยังไม่มาถึงนั่นแล, เจ้าจงขึ้นต้นไม้, เมื่อช้างทั้งหลายมาถึงแล้ว, จงร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้; ช้างทั้งหมด  ไม่อาจแม้จะหันกลับแลดู จักหนีไป, ทีนั้น  เจ้าพึงลงมา,” กุมารนั้น ทรงทำตามนั้นแล้ว กลับมาทูลบอกความเป็นไปแล้ว. ครั้นถึงวันที่ ๒ พระดาบส จึงตรัสกับกุมารนั้นว่า “ในวันนี้ เจ้าจงร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้; ช้างกลับเหลียวดูเบื้องหลังพลางหนีไป แม้ในกาลนั้น พระกุมารก็ทรงทำตามนั้นแล้ว กลับมาทูลบอกความเป็นไปนั้น. ครั้งนั้น พระดาบสตรัสเรียกพระมารดาของกุมารนั้นมาแล้ว ตรัสว่า “นางผู้เจริญ  หล่อนจงให้ข่าวสาสน์แก่บุตรของหล่อน, เขาไปจากที่นี่เทียว จักเป็นพระเจ้าแผ่นดิน.”

พระราชเทวี ตรัสเรียกพระโอรสมาแล้ว ตรัสว่า “เจ้าเป็นลูกของพระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพี, นกหัสดีลิงค์ นำเรามาทั้งที่มีครรภ์” ดังนี้แล้วตรัสบอกชื่อของเสนาบดีเป็นต้น แล้วตรัสว่า “เมื่อเขาพากันไม่เชื่อเจ้าพึงเอาผ้ากัมพลอันเป็นพระภูษาห่ม และพระธำมรงค์อันเป็นเครื่องประดับของพระบิดานี้ แสดง” ดังนี้  จึงส่งไปแล้ว.

พระกุมารจึงทูลถามพระดาบสว่า “บัดนี้ หม่อมฉันจะทำอย่างไร?”

ดาบสกล่าวว่า “เจ้าจงนั่งกิ่งข้างล่างแห่งต้นไม้ ร่ายมนต์บทนี้ดีดสายพิณสายนี้ ช้างนายฝูงน้อมหลังเข้ามาหาเจ้า เจ้านั่งบนหลังของมันเทียว จงไปยึดเอาราชสมบัติ.”

พระกุมารนั้น ถวายบังคมพระราชบิดาพระราชมารดาแล้ว ทรงทำตามนั้นแล้ว นั่งบนหลังของช้างตัวที่มาแล้ว กระซิบบอกช้างว่า

“ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพี, ขอท่านจงยึดเอาราชสมบัติอันเป็นของบิดาให้แก่ข้าพเจ้าเถิด  นาย.”

ช้างนายฝูง ฟังคำนั้นแล้ว จึงร้องเป็นเสียงช้างว่า “ช้างจงมาประชุมกันหลายๆ พัน.”

ช้างหลายพัน มาประชุมกันแล้ว. ร้องอีกว่า “ช้างแก่ๆ จงถอยไป.” ช้างแก่พากันถอยไปแล้ว. ร้องอีกว่า “ช้างตัวเล็กๆ จงกลับไป.” แม้ช้างเหล่านั้น ก็พากันกลับแล้ว. พระกุมารนั้น อันช้างนักรบตั้งหลายพันพากันแวดล้อมแล้ว ถึงบ้านปลายแดนแล้ว ประกาศว่า “เราเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ที่ปรารถนาสมบัติ จงมากับเรา.” ตั้งแต่นั้นไปก็ทรงทำการรวบรวมผู้คน ไปล้อมพระนครไว้แล้  ส่งคำขาด (สาสน์) ไปว่า “จะให้เรารบหรือจะให้ราชสมบัติ?” ชาวเมืองทั้งหลายกล่าวว่า

“เราจักไม่ให้ทั้งสองอย่าง, แท้จริง พระราชเทวีของพวกเรามีพระครรภ์แก่ ถูกนกหัสดีลิงค์พาไปแล้ว, เราทั้งหลาย ไม่ทราบว่า พระนางยังมีพระชนม์อยู่ หรือว่าหาพระชนม์ไม่แล้ว ตลอดกาลที่เราไม่ทราบเรื่องราวของพระนาง เราจักไม่ให้ทั้งการรบและราชสมบัติ.” ได้ยินว่าความเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสืบเชื้อสาย ได้มีแล้วในกาลนั้น. ลำดับนั้นพระกุมาร จึงตรัสว่า “ฉันเป็นบุตรของพระนาง” แล้วอ้างชื่อเสนาบดีเป็นต้น เมื่อพวกเหล่านั้นไม่เชื่อถือแม้อย่างนั้น จึงแสดงผ้ากัมพลแดงและพระธำมรงค์. พวกชาวเมือง จำผ้ากัมพลแดงและพระธำมรงค์นั้นได้ หมดความกินแหนงใจ จึงเปิดประตู อภิเษกกุมารนั้นไว้ในราชสมบัติแล้ว.

นี้เป็นเรื่องกุมารสัมภวะ การเกิดแห่งอุเทนราชกุมาร แล้วท่านก็ยุติบทบาทพระเอกอุเทนแสนเท่ไว้ก่อน เพื่อเปิดตัวละครเอกตัวใหม่ เป็นนางเอกที่ถูกเขาเอาไฟคลอก ตายไปพร้อมกันกับนางรับใช้อีกห้าร้อยคน แต่ท่านเท้าความไปไกลแสนไกล ไกลมาก กล่าวถึงแต่เมือครั้งเมืองอัลลกัปปะเกิดโรคอหิวาต์ระบาด อีกแห่งท่านว่าเกิดภัยแล้งคุกคามจนไพร่หล้าหน้าเหลืองหนีตายไปสู่ดาบหน้า ว่ากันว่าสำนวนนี้เกิดขึ้นเมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒ ใครจำได้บ้างไหมเอ่ย ไม่รู้ว่าคนรุ่นหลังถูกบังคับให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ชั้นประถมรวดถึงมะยมหรือไม่ คำว่ามะยมไม่ได้เขียนผิดนะ ได้ยินเด็กรุ่นหลานเขาพูดกันอย่างนี้ เขาไม่พูดคำเต็มว่าชั้นมัธยมเหมือนเรา เขาพูดว่าชั้นมะยม

สมัยเมื่อคนขี้เล่าที่ไม่ใช่ขี้เหล้าเป็นนักเรียน ได้เรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ชั้น ป.๓-มศ.๓ ประวัติศาสตร์เป็นวิชาโปรดอีกวิชาหนึ่ง แต่ก่อนสมัยความทรงจำยังดี ไล่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้เด๊ะๆ จนไอ้พวกลูกศิษย์หน้าแก่ใกล้ครูไล่เรียงไปถึงวัยเอ๊าะหน้าอ่อนมันงืดว่าพ่อครูจำได้อย่างไร บอกว่ากูจื่อ มันถึงจำ พวกเอ็งไม่ยอมจื่อ จึงไม่จำ

คำว่างืดกับจื่อฟังเข้าหูแล้วปล่อยให้มันออกหูไปก่อน เรื่องราวมันจะฟุ้งจนตะล่อมเข้าขอบเขตไม่ได้ สำนวนว่าไปตายเอาดาบหน้าครูบาอาจารย์รุ่นก่อนหน้าพ่อเฒ่ามาลมท่านว่าเกิดขึ้นสมัยบ้านแตกสาแหรกขาดเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าครั้งที่ ๒ สำนวนบ้านแตกสาแหรกขาดก็เกิดจากสงคราม ครูว่าอย่างนั้น แต่จะครั้งเดียวกันกับสำนวนว่าไปตายเอาดาบหน้าถือกำเนิดขึ้นหรือไม่ ครูไม่ยืนยัน

ไปตายเอาดาบหน้า ท่านผู้อ่านลองหลับตาคิดดูนะ ว่ามันจะเป็นอย่างไร

————————————————————

เมื่อครั้งที่เมืองอัลลกัปปะห่าลง ยังมีผัวเมียคู่หนึ่งหอบหิ้วลูกน้อยหนีตายไปสู่เมืองโกสัมพี อีตาผัวดันทิ้งลูกข้างทาง จงใจจะให้ตาย ฝ่ายนางเมียเดินไปข้างหน้า เดินทางไปได้ช่วงใหญ่ๆ นางหันมาถามหาลูก ตาผัวชื่อยาวๆ จำยากว่าโกตุหลิกตอบว่าลูกหลับเลยเอานอนไว้ใต้พุ่มไม้ข้างทาง นางเมียชื่อสั้นๆ จำง่ายว่ากาลีมีความอาลัยรักลูก ไม่อาจจะตัดขาดได้ จึงร้องไห้คร่ำครวญจนโกตู่แกใจอ่อน (โกตุหลิก ออกเสียงว่าโก-ตุ-หะ-ลิ-กะ เรียกว่าโกตู่จำง่ายดี) แกก็พาเมียเดินย้อนกลับมาเอาลูกแต่เด็กคงอ่อนแอลง จึงเสียชีวิตในระหว่างเดินทาง ยังไปไม่ถึงเมืองโกสัมพีที่พระเจ้าอุเทนเป็นพระราชา

บาปกรรมอันนี้จะส่งผลอย่างไรหนอ อดใจรอไปอ่านตอนหน้า

Don`t copy text!