นางในพระไตรปิฎก : นฬินิกา จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง

นางในพระไตรปิฎก : นฬินิกา จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

[1] ชนบทเร่าร้อนอยู่ แม้รัฐก็จะพินาศ

ดูกรลูกนฬินิกา มานี่เถิด

เจ้าจงไป นำพราหมณ์ผู้นั้นมาให้เรา.

[5] อิสิสิงคดาบสเห็นพระราชธิดา

ผู้สวมใส่กุณฑลแก้วมณีเสด็จมาอยู่

กลัวแล้ว เข้าไปสู่อาศรมที่มุงด้วยใบไม้

ส่วนพระราชธิดาแสดงอวัยวะอันซ่อนเร้น และอวัยวะที่ปรากฏ

เล่นลูกข่างอยู่ที่ประตูอาศรมของดาบสนั้น

หยิบเอาสองคาถาแต่ไม่ต่อเนื่องกันมาตั้งวางเป็นเป้าล่อ เอามาจาก นฬินิกาชาดก สนุกนะ เรื่องนี้ สำนวนออกจะหวือหวาผาดโผนทีเดียว อีโรติกนิดๆ ไม่ค่อยพบถ้อยคำสำนวนแบบนี้ในชาดกบ่อยนัก ท่านผูกเรื่องให้นางนฬินิกา ออกเสียงเร็วๆ จะกลายเป็นนาฬิกา เป็นนางตัวร้ายทำลายพรหมจรรย์นักบวช คล้ายกับนางอัปสรอลัมพุสาที่พระอินทร์บังคับขืนใจให้มาทำลายฌานอิสิสิงคดาบสจนตบะแตก

สาเหตุหรือปัจจัยอันเป็นที่มาของชาดกเรื่องนี้ ท่านปรารภเรื่องภิกษุหนุ่มอยากสึกเพราะตัดใจจากเมียไม่ได้อีกเช่นเคย เรื่องอย่างนี้มีเยอะแยะ อย่าได้แปลกใจ และก็อย่าด่วนสรุปว่าพระพุทธเจ้ามองผู้หญิงแต่ในแง่ร้าย แง่ดีก็ทรงมอง ผู้หญิงดีๆ ในพระไตรปิฎกมีมากกว่าผู้หญิงไม่ดีเสยด้วยซ้ำ

ในแง่อุดมคติหรือเป้าหมายของพุทธศาสนา พระพุธเจ้าวางเป้าไปที่พระนิพพานว่าเป็นจุดหมายที่ชาวพุทธทุกคนควรเข้าถึง แต่การครองเรือนทำให้ไปสู่เป้าหมายช้าลง เป็นทางไม่โล่ง ไม่สะดวก ถึงเป้าหมายช้า จึงไม่สนับสนุนให้ภิกษุสึกออกไปครองเรือน

ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งอยากสึก พระพุทธองค์จึงทรงชักเอาชาดกเรื่องนฬินิกาชาดกมาเล่าว่า นานมาแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นอุทิจจพราหมณ์ ออกบวชเป็นฤษีอยู่ในป่าหิมพานต์สำเร็จฌาน ต่อมามีนางเนื้อตัวหนึ่งอยู่ใกล้ๆ อาศรม ดื่มน้ำปัสสาวะซึ่งเจือด้วยอสุจิของฤษีแล้วตั้งท้องเกิดลูกออกเป็นคน ฤษีเก็บเอามาเลี้ยงแล้วตั้งชื่อทารกว่าอิสิสิงคะหรืออิสิสิงโค คล้ายๆ กับเรื่องที่เกิดในอลัมพุสาชาดก ต่างแต่ในเรื่องนี้พระฤษีผู้พ่อไม่ได้จากไปไหน ยังอยู่กับลูกชายที่อาศรม ฤษีพ่อสั่งสอนฤษีลูกให้บำเพ็ญธรรมจนได้ฌานแก่กล้าแต่ยังหนุ่มน้อย เป็นผู้ทรงตบะและอภิญญาอย่างกล้าแข็ง คำว่าอภิญญานี้แปลว่าความรู้อย่างยิ่งยวดหกอย่าง คือ หูทิพย์ ตาทิพย์ ทายใจผู้อื่นได้ ระลึกชาติได้ แสดงฤทธิ์ได้ กำจัดกิเลสได้ ห้าอย่างแรกเป็นระดับโลกิยอภิญญา ประการสุดท้ายคือกำจัดกิเลสได้เป็นโลกกุตตรอภิญญา ส่วนตบะหมายถึงอำนาจพิเศษบางประการ อำนาจเหนือสามัญวิสัยซึ่งเกิดจากการทรมานตัวเองอย่างยิ่งยวดของนักบวชประเภทหนึ่งในสมัยพุทธกาลหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป ใครที่เคยอ่านหรือได้ยินได้ฟังเรื่องรามเกียรติมาแล้ว จะคุ้นเคยดีกับยักษายักษีเอาหัวปลีไปแลกหัวปลานานาต่างๆ ที่บำเพ็ญตบะจนมีฤทธิ์พิลึกพิลั่นต่างๆ นานา

อิสิสิงคะดาบสหนุ่มน้อยทรงตบะแก่กล้าจนพระอินทร์กลุ้มใจว่าจะมาสั่นคลอนบัลลังก์อาตมาอีกแล้วหรืออย่างไร แต่ในเรื่องนี้ไม่เคี่ยวเข็ญนางอัปสรผู้ใดให้ไปทำลายฌานฤษีหนุ่ม แต่ใช้วิธีบังคับฝนไม่ให้ตกในเมืองพาราณสีเป็นเวลาสามปี พระเจ้าพรหมทัตจะแก้ไขอย่างไรก็ไม่เป็นผล คืนหนึ่งพระอินทร์จึงเสด็จลงมาให้คำแนะนำว่าหากอยากให้ฝนตกต้องทำให้ฤษีหนุ่มตบะแตกเสียก่อน พระเจ้าพรหมทัตถามว่าแล้วจะมีผู้ใดทำให้ฤษีตบะแตกได้ พระอินทร์ก็ว่า

“นางนฬินิกา ลูกสาวท่านไง”

พระเจ้าพรหมทัต ชาดกเรื่องไหนก็พระเจ้าพรหมทัตเป็นผู้แสดงบทบาทนี้แทบจะทั้งนั้น จึงเรียกราชิดานฬินิกามาเฝ้า

[1] ชนบทเร่าร้อนอยู่ แม้รัฐก็จะพินาศ

ดูกรลูกนฬินิกา มานี่เถิด

เจ้าจงไป นำพราหมณ์ผู้นั้นมาให้เรา

ราชธิดาน้อยดูเหมือนจะไม่เต็มใจนัก อ้างเรื่องทางไกลไปมาลำบาก แต่ที่สุดก็จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง นางเข้าไปในป่าหิมพานต์โดยมีข้าราชบริพารแวดล้อมห้อมแหนถวายการอารักขาเต็มที่ แต่กองทัพพร้อมเสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลายไม่เข้าไปในป่า ให้นางเข้าไปคนเดียว ตรงนี้เป็นที่มาของคาถาที่ 5

[5] อิสิสิงคดาบสเห็นพระราชธิดา

ผู้สวมใส่กุณฑลแก้วมณีเสด็จมาอยู่

กลัวแล้ว เข้าไปสู่อาศรมที่มุงด้วยใบไม้

ส่วนพระราชธิดาแสดงอวัยวะอันซ่อนเร้น และอวัยวะที่ปรากฏ

เล่นลูกข่างอยู่ที่ประตูอาศรมของดาบสนั้น

—————————————————————–

ท่านผู้รจนาชาดกเรื่องนี้ให้ภาพหนุ่มน้อยไร้เดียงสาได้ชัดเจนดีมาก ดาบสหนุ่มรู้จักมนุษย์แต่เพียงผู้เดียวคือพ่อ ยังไม่เคยเห็นผู้หญิงมาก่อนเลย ท่านใช้คำว่ากลัวอยู่ เกิดความกริ่งเกรงกังวลก็เลยหนีเข้ากระท่อม ฝ่ายพระธิดานุ่งผ้าบางๆ อันนี้ผู้เล่าไม่ได้จินตนาการเอาเอง อรรถกถาท่านว่าไว้อย่างนั้น ถ้อยคำของท่านคือ

ให้พระราชธิดาถือเพศเป็นฤษี เอาผ้าใยไม้สีทองชนิดบางทำเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม

เธอคงไม่ได้จงใจจะแสดงอวัยวะอันซ่อนเร้นกระมัง มันคงปรากฏเองวับๆ แวมๆ แพลมๆ ผลุบโผล่ เข้าไปด้วยก็เล่นลูกข่างไปด้วย ดาบสน้อยผู้ไม่คุ้นคนคงเห็นว่านางน่ารัก หรือเห็นว่าน่าสงสัยใคร่รู้ใคร่เล่นบ้าง ก็ค่อยๆ โผล่หน้าที่ประตู ถามเป็นคาถาที่ 6 ในพระไตรปิฎกว่า

[6] ดูกรท่านผู้เจริญ

ต้นไม้ของท่านที่มีผลเป็นไปอย่างนี้ มีชื่อว่าอะไร

แม้ท่านขว้างไปไกลก็กลับมา

มิได้ละท่านไป.

ราชธิดาในเครื่องแต่งตัวแบบฤษีตอบว่า

[7] ข้าแต่ท่านพราหมณ์

ต้นไม้ที่มีผลเป็นไปอย่างนี้นั้น มีอยู่มากที่เขาคันธมาทน์

ณ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า

ผลไม้นั้นแม้ข้าพเจ้าขว้างไป ไกลก็กลับมา

ไม่ละข้าพเจ้าไปเลย.

นางเนียนมาก ก็ถูกอุปโลกน์ให้เป็นดาบสินี หรือฤษิณีออกปานนี้ จะให้ตอบว่าต้นไม้ที่มีผลอย่างนี้มีอยู่มากที่อุทยานใกล้ตำหนักของข้าพเจ้าเดี๋ยวหางจิ้งจอกก็จะโผล่ อันนี้เป็นสำนวนกำลังภายใน ยืมมาใช้กับนิยายแขกเพราะนึกสำนวนแขกไม่ออก

เขาคันธมาทน์ที่นางเอ่ยถึงอยู่ที่ไหน นึกอันใดไม่ออก ขอยืมมาจากอรุณวดีสูตรสำนวนล้านนามาแสดงไปพลางก่อน จำได้เพราะถอดจากอักษรโบราณกับมือ มันยาก มีอุปสรรคขลุกขลักนานา เลยจำได้ดี

ดอยคันธมาทน์นั้นแล้วด้วยแก้วนาค ก็ส้วย (เว้า) ภายในประดุจดั่งหมากถั่วควาง แม้นว่าไม้ทั้งหลายอันมีเหนือดอยที่นั่นก็ประกอบด้วยคันธะ 10 ประการ [มูลคันโธ] อันว่าคันธะแต่ราก [สารคันโธ] คันธะแต่แก่น [นธคันโธ] คันธะแต่ลำ [ตัจจาคันโธ] คันธะแต่เปลือก [เตนคันโธ] แต่ค่า [พีสัปปติกคันโธ] คันธะแต่เกล็ด [อณุรคันโธ] คือคันธะแต่ยอด [ปัตตคันโธ] คันธะแต่ใบ [ปุปผคันโธ] คันธะแต่ดอก [ผลังคันโธ] คันธะแต่ลูก [คันโธคันธา] แต่กลิ่นรส มักว่าเขาคันธมาทน์นั้นมีไม้ย่อมประกอบด้วยรส (กลิ่น) ทุกอันฉันนี้แล

เขาคันธมาทน์นั้นดาษเต็มไปด้วยเครือเขาอันเป็นยาต่างๆ ก็มีหลายประการ ในวันอุโบสถปักขะแห่งวันเดือนดับเดือนเพ็ง ภายในเขารุ่งเรืองเป็นประดุจดั่งถ่านไฟแดงนั้นก็ตั้งอยู่ ดอยอันนั้นยังคนอันเข้าไปใหม่หื้อชมชื่นยินดีด้วยคันธรส(กลิ่นหอม) เหตุนั้นจึงได้ชื่อว่าคันธมาทน์แล

 [นันทมูลกนามปภารัง ปัจเจกพุทโธทานัง สวโนกาโส] เงื้อมดอยนันทมูลประภามีข้างดอยคันธมาทน์กล้ำเหนือ(ด้านเหนือ) เป็นอาวาสที่อยู่แห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล เงื้อมอันนั้นมีคูหา 3 อัน คือว่าคูหาฅำอัน 1 คูหาแก้วอัน 1 คูหาเงินอัน 1 แล ยังมีไม้ต้น 1 ชื่อว่ามัญชุสกะสูงได้โยชน์ มีปริมณฑลร่มกว้าก็โยชน์คือ 8 พันวา ตั้งอยู่ที่ใกล้ปากถ้ำคูหาแก้วนั้นแล ไม้ต้นนั้นเป็นดอกมั่นเที่ยงทุกเมื่อ อันหื้อแล้วไปด้วยดอกไม้ทั้งมวลอันหล้าง (ควร) มีในน้ำก็มี อันหล้างมีในบกก็มีพร้อมทุกอัน ใต้ไม้ต้นนั้นแผ่นดินเป็นข่วงทั้งหลาย (ใต้ร่มไม้เป็นลาน) มีพื้นแล้วด้วยแก้ว 7 จำพวกเกิดมีภายใต้เค้าไม้ต้นนั้นแล ลมอันรู้กวาดหื้อหมดก็มากวาดมาปัดใบไม้ดอกไม้ฝูงหล่นตกหื้อออกไปเสียภายนอก ลมอันรู้กวาดฝุ่นหื้อราบเพียงก็กระทำหื้อทรายแก้ว 7 จำพวกหื้อราบเพียงงาม ลมอันรู้นำเอาคันธชาติอันหอมก็มาเอายังสุคันธชาติทั้งหลายมา ลมอันรู้พัดเอายังดอกไม้บานงามพัดมาเรี่ยรายปรายไว้ในข่วงแก้วที่นั้น ลมอันรู้ปูอาสนะกับทั้งเครื่องลาดเครื่องปูก็มาปูเครื่องลาดอาสนะไว้ในข่วงแก้วที่นั่นก็มีเที่ยงนักแล

ฝ่ายหนึ่งเป็นหนุ่มน้อย อีกฝ่ายเป็นสาวน้อย ท่าทีอ่อนวัยไร้เดียงสาทั้งคู่ ทั้งคู่โอภาปราศรัยกัน เริ่มวิสาสะคุ้นเคยกันดี ดาบสหนุ่มเชิญดาบสินีปลอมเข้าในอาศรม เชื้อเชิญให้กินผลหมากรากไม้ นางเริ่มทำวับๆ แวมๆ อีกแล้ว มาถึงคาถาที่ 9 ในอรรถกถาท่านเขียนว่า

ในระหว่างขาอ่อนทั้งสองของท่าน

นี้เป็นอะไรมีสัณฐานเรียบร้อย ปรากฏดุจสีดำ

เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า

อวัยวะส่วนยาวของท่าน เข้าไปอยู่ในฝักหรือหนอ.

———————————————————————

ที่ผู้เล่าเกริ่นมาแต่ต้นว่าค่อนข้างโลดโผน หวือหวา ออกจะอีโรติกด้วยซ้ำคือฉากหรือเหตุการณ์ตอนนี้ ให้ภาพ ใสๆ ไม่ถึงกับจะกระตุ้นยั่วยุให้เกิดความรู้สึกแรงกล้าทางกามารมณ์ นางจำใจเลวหากเป็นละครก็เล่นได้เนียนมาก ดูซื่อๆ แต่ก็กวนกามนิดๆ ไม่ค่อยพบเห็นนักคาแร็กเตอร์นี้ในชาดก ลองอ่านดูอีกสักคาถา เป็นถ้อยคำของนางนฬินิกาที่ตอบคำถามนักบวชหนุ่มไม่เคยเห็นผู้หญิงมาก่อนเลย

ข้าพเจ้านี้ เที่ยวแสวงหามูลผลาหารในป่า ได้พบหมีมีรูปร่างน่ากลัวยิ่งนัก มันวิ่งไล่ข้าพเจ้ามาโดยเร็ว มาทันเข้าแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้ว มันกัดอวัยวะส่วนยาวของข้าพเจ้าเสีย แผลนั้นก็เหวอะหวะและเกิดคันขึ้น ข้าพเจ้าไม่ได้ความสบายตลอดกาลทั้งปวง ท่านคงสามารถกำจัดความคันนี้ได้ ข้าพเจ้าวิงวอนแล้ว ขอท่านได้โปรดกระทำประโยชน์ให้แก่ข้าพเจ้า ผู้เป็นพราหมณ์เถิด.

—————————————————————-

รวบเรื่องละนะ ใครอยากรู้รายละเอียดไปอ่านเอาเองในพระไตรปิฎก นางนฬินิกาทำลายตบะฤษีหนุ่มสำเร็จ หนุ่มนี้ไม่หลับยาวสามปีเหมือนอีกหนุ่มในอลัมพุสาชาดก แต่ก็เมาซบสลบไสลไปครึ่งค่อนวัน นางราชธิดาผลาญพร่าพรหมจรรย์หนุ่มชาวป่าแต่ตบะกล้าแข็งได้ดังใจก็กลับไปสู่พรรคพวกข้าราชบริพารทั้งหลายแล้วแห่แหนกันกลับเข้าเมืองพาราณสี ฝนก็ตกลงมา อันที่จริงสาเหตุที่ฝนไม่ตกไม่ใช่เพราะอิสิสิงคะห้ามฝน แต่เป็นเพราะพระอินทร์ห้ามฝน สาเหตุที่พระอินทร์ห้ามฝนก็เพราะกลัวว่าอิสิสิงคะจะมาเขย่าบัลลังก์

เรื่องนี้ราชธิดากุมารีผู้ชื่อคล้ายนาฬิกาไม่มีโอกาสได้แสดงออกว่านางเต็มใจหรือฝืนใจเหมือนนางอลัมพุสา ท่านผู้รจนาวรรณกรรมตัดบทบาทนางทิ้งไปเลยแต่หันไปกล่าวถึงฤษีผู้พ่อกลับจากป่ามาเห็นลูกชายยังเซาซบสลบหลับก็ปลุกให้ตื่นแล้วซักถาม ลองอ่านอีกสักสองสามคาถาดูนะ

[17] ฟืนเจ้าก็ไม่หัก น้ำเจ้าก็ไม่ตัก แม้ไฟเจ้าก็ไม่ติด เจ้าอ่อนใจ ซบเซาอยู่ทำไมหนอ ดูกรเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อก่อนฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็ติด แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดไว้ ตั่งเจ้าก็ตั้ง น้ำเจ้าก็ตักไว้ให้เรา วันอื่นๆ เจ้าเป็นผู้ประเสริฐดีอยู่ วันนี้เจ้าไม่หักฟืน ไม่ตักน้ำ ไม่ติดไฟ ไม่จัดเครื่องบริโภคไว้ ไม่ทักทายเรา ของอะไรของเจ้าหายไปหรือ หรือ

ว่าเจ้ามีทุกข์ในใจอะไร.

อิสิสิงคะตอบพ่อว่า

[18] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์มาในอาศรมนี้ มีรูปร่างน่าดู น่าชม เอวเล็ก เอวบาง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก รัศมีสวยงาม มีศีรษะปกคลุมด้วยผมอันดำเป็นเงางาม ไม่มีหนวด บวชไม่นาน มีเครื่องประดับเป็นรูปเชิงบาตรอยู่ที่คอ มีปุ่มสองปุ่มงามเปล่งปลั่งดังก้อนทองคำเกิดดีแล้วที่อก หน้าของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก มีกรรเจียกจอนห้อยอยู่ที่หูทั้งสองข้าง กรรเจียก เหล่านั้นย่อมแวววาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมาสายพันชฎาก็งามแพรวพราว เครื่องประดับเหล่าอื่นอีกสี่อย่างของชฎิลนั้น มีสีเขียว เหลือง แดง และขาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมา เครื่องประดับเหล่านั้นย่อมดังกริ่งกร่าง เหมือนฝูงนกติริฏิร้องในเวลาฝนตกฉะนั้น ชฎิลนั้นไม่ได้คาดเครื่องรัดเอวที่ทำด้วยหญ้าปล้อง ไม่ได้นุ่งผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้ เหมือนของพวกเรา ผ้าเหล่านั้นพันอยู่ที่ระหว่างแข้งงามโชติช่วง ปลิวสะบัดดังสายฟ้าแลบอยู่ในอากาศ…ผิวพรรณของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ไม่เป็นเช่นกับผิวพรรณที่กายของข้าพเจ้า ผิวกายของชฎิลนั้นถูกลมรำเพยพัดแล้ว ย่อมหอมฟุ้งไป ดุจป่าไม้ อันมีดอกบานในฤดูร้อน ข้าแต่ท่านพ่อ…ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้เห็นเขาอีก แผลที่ต่อสนิทดีเกลี้ยงเกลาในที่ทั้งปวง ใหญ่ เกิดดีแล้ว คล้ายกับกลีบบัว ชฎิลนั้นให้ข้าพเจ้าคร่อมตรงแผลนั้น แหวกขาเอาแข้งบีบไว้…อนึ่ง แขนทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่ม…กอดรัดข้าพเจ้าด้วยแขนทั้งสองอันอ่อนนุ่มบำเรอให้รื่นรมย์ ข้าแต่ท่านพ่อ…หมีได้กัดชฎิลนั้นเป็นแผล เธอจึงกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขเถิด ข้าพเจ้าจึงช่วยทำให้เธอมีความสุข และความสุขก็เกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าแต่ท่านผู้เป็นพรหม เธอได้บอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้ามีความสุขแล้ว ก็ที่อันปูลาดด้วยใบเถาย่างทรายของท่านนี้กระจุยกระจายแล้ว เพราะข้าพเจ้าและชฎิลนั้น เราทั้งสองเหน็ดเหนื่อยแล้ว ก็รื่นรมย์กันในน้ำ แล้วเข้าสู่กุฏีอันมุงบังด้วยใบไม้บ่อยๆ ข้าแต่ท่านพ่อ วันนี้มนต์ทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าเลย การบูชาไฟข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย แม้การบูชายัญในที่นั้นข้าพเจ้าก็ไม่ชอบใจ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังมิได้พบเห็นชฎิล ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะไม่บริโภคมูลผลาหารของท่านพ่อเลย

———————————————————–

ข้างฝ่ายท่านพ่อก็รู้ได้ว่าลูกชายสูญเสียฌานและอภิญญาอันได้มาด้วยยากยิ่งไปหมดแล้ว จึงปลุกปลอบลูกชายให้ตั้งใจใหม่ ท่อนท้ายตอนจบชาดก ท่านผู้รจนาชาดกให้พ่อพูดกับลูกว่า

ดูกรลูกรัก พวกยักษ์นั้นย่อมเที่ยวไปในมนุษย์โลกโดยรูปแปลกๆ นรชนผู้มีปัญญาไม่พึงคบพวกยักษ์นั้น

พรหมจารีย่อมฉิบหายไป เพราะความเกาะเกี่ยวกัน.

จบ นฬินิกาชาดก

 

Don`t copy text!