ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (4)

ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (4)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เริ่มต้นเรื่องก็คงคล้ายเริ่มต้นสร้างบ้าน ต้องตอกหลักขึงเชือก ขุดเสาขึ้นโครงให้รัดกุมก่อน อาจรุ่มร่างรุงรัง เอ้อเร่อเอ้อเต่อไปบ้างก็ขอต่อท่านผู้อ่านว่าอภัยให้ด้วย ยิ่งการเขียนแบบไม่มีพล็อตเป็นตัวบล็อกอย่างนี้ มันก็ยิ่งจะเภทพังพลั้งเผลอได้ง่ายมาก เล่าเรื่องนี้ เล่าๆ ไป อดแวะลงข้างทางไม่ได้ เหมือนเดินในป่า บางทีก็แวะลงข้างทางเพราะพบสิ่งที่น่าสนใจ อะไรอย่างนี้

สนุกในพระไตรปิฎก ตั้งใจจะเอาเรื่องราวน่ารู้ น่าคิด น่าสนใจมาเสนอ อยากใช้ท่าทีลีลาชวนสนุกผ่อนคลายให้สบายใจไม่ต้องเคร่งเครียดแบบว่าอ่านไปสองบรรทัดก็ชักหัวคิ้วชนกันครั้งหนึ่ง แต่ก็คงไม่เอามาละเลงจนเละเป็นโจ๊ก

เนื้อหาสาระที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกกว้างใหญ่ไพศาล เปรียบได้ก็ดุจทะเล แต่ตัวผู้เขียนแค่เพียงจ่อนจุ่มหางเท่านั้น

จ่อนจุ่มหางคืออะไรยังไม่บอก

เล่าเรื่องในพระไตรปิฎกช่วงแรกๆ จะว่าด้วยนางในพระไตรปิฎกไปก่อน มีทั้งนางร้าย นางดี นางเก่ง นางฉลาด แล้วแต่ว่าจะไปคว้าแขนนางผู้ใดได้ก่อน ความรู้ที่อยู่ในหัวมันกระท่อนกระแท่นไปเสียแล้ว พอนึกจะเขียนก็ต้องไปไล่หาข้อมูลความรู้เก่าๆ ที่เคยจำได้ ค้นคว้ามาจากหนังสือบ้าง ซีดีเก่าๆ บ้าง กูเกิลและยูทูปบ้าง หนังสือบางเล่มก็หาย ซีดีบางแผ่นก็เน่าเพราะโดนเชื้อราเข้าไปอาศัยอยู่ เว็บไซต์เก่าๆ เคยอาศัยเขาก็ปิดไปบ้าง ยุติบทบาทบ้าง อะไรที่นึกว่าง่ายก็เลยไม่ค่อยจะง่าย แต่ก็จะพยายาม…ยถาสติ ยถาพลัง…ตามสติ ตามกำลัง เรื่องนางปัญจปาปี เทวีห้าบาป (ห้ามผวนคำว่าหาบบ้า) เล่ามาถึงอุบายของพระเจ้าพกะที่จะเอานางไปกอดดมชมเชยในวัง พระองค์สร้างเรื่องให้นางได้สัมผัสผู้ชายหลากหลายไม่เว้นแม้กระทั่งหมู่โจรห้าร้อย ใครที่โดนนางจับมือต่างหลงใหลคลั่งไคล้ในสัมผัสทิพย์จากมือนางถ้วนทั่วตัวคน พระเจ้ากรุงพาราณสีทำอย่างนี้ก็เพื่อให้ทุกคนประจักษ์ถึงคุณสมบัติพิเศษของนาง ข้อความในอรรถกถาท่านกล่าวว่า

ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสว่า ที่เราให้ทำอย่างนี้ก็เพื่อจะนำหญิงนี้มาไว้ในวัง แต่ยังคิดเห็นว่า เมื่อท่านทั้งหลายไม่รู้สัมผัสของหญิงนี้ก็จะหมิ่นประมาทเราได้ เพราะฉะนั้น จึงให้เจ้าทั้งหลายรู้ไว้ จงว่าไปดูที หญิงนี้จะสมควรอยู่ในเรือนใคร ราชบุรุษทั้งหลายก็กราบทูลว่า สมควรอยู่ในวังของ

พระองค์ ครั้นแล้วพระเจ้าพาราณสีก็พระราชทานอภิเษกตั้งให้เป็นพระอัครมเหสี และพระราชทานอิสริยยศแก่บิดามารดาของนาง. ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าพาราณสีก็ทรงมัวเมาด้วยนางปัญจปาปี จนไม่เอาพระทัยใส่ในอันที่จะตัดสินความของราษฎร และไม่ทรงเหลียวแลหญิงอื่น พวกนางนักสนมทั้งหลายจึงคอยจ้องหาโทษใส่…

———————————————————————————-

จากสาวน้อยรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ลูกคนยากคนจน ปัญจปาปีกลายเป็นราชเทวีหรืออัครมเหสีพระเจ้าพกะ เราไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่านางรู้สึกนึกคิดอะไรยังไงเพราะในชาดกท่านไม่ได้แสดงไว้ ท่านเดินเรื่องรวดเร็วว่าอยู่มาวันหนึ่งนางฝันว่าได้นั่งบนคอช้างเผือกเอามือลูบคลำพระจันทร์เล่น นางกราบทูลพระภัสดา พระองค์ก็ให้พราหมณ์ผู้รู้วิชาทำนายฝันมาเฝ้า แต่พวกพราหมณ์รับสินบนนางนักสนมทั้งหลายที่จ้องหาเรื่องเพราะพระเจ้าพกะไม่สนใจไยดีอะไรพวกนางเลย พระองค์หลงใหลแต่ทิพยรสที่ได้รับจากมเหสีรูปร่างเหมือนยักษิณีเหมือนปีศาจ ได้โอกาสก็เลยติดสินบนพราหมณ์ พราหมณ์ทำนายว่าอย่างไร ถ้อยคำในอรรถกถาท่านว่าอย่างนี้

การที่พระราชเทวีทรงสุบินว่าได้นั่งบนคอช้างเผือกนั้นเป็นบุรพนิมิตนำมรณะมาสู่พระองค์ ที่พระนางทรงสุบินว่านั่งอยู่บนคอช้างแล้วลูบคลำพระจันทร์เล่นนั้นเป็นบุรพนิมิตที่นำพระราชาข้าศึกมาสู่พระองค์

เหตุการณ์ต่อเนื่องกัน เรามาอ่านอรรถกถาชาดกเรื่องกุณาลชาดกไปพร้อมๆ กันเลยนะ ท่านผู้แปลจากบาลีแล้วเรียบเรียงเป็นภาษาไทยท่านไม่ทำให้สำนวนแปลยุ่งยากต่อการรับสารของคนที่ไม่เข้าใจไวยากรณ์บาลีเช่นพวกเรา อ่านได้ง่าย เข้าใจได้ง่ายดังต่อไปนี้

ครั้นพระเจ้าพาราณสีทรงซักว่า ถ้าฉะนั้นจะควรทำอย่างไร จึงกราบทูลว่าขอพระราชทานโอกาส ไม่ควรจะให้สำเร็จโทษพระนางเสีย ควรใส่เรือปล่อยลอยไปตามแม่น้ำ พระเจ้าพาราณสีจึงให้นางปัญจปาปีลงในเรือพร้อมทั้งอาหารและเครื่องอลังการ พอเวลาราตรีก็ปล่อยลอยไปในแม่น้ำ เรือนางปัญจปาปีลอยไปตามน้ำก็ไปจนถึงหน้าฉาน พระเจ้าพาวรีย์ซึ่งทรงลงเล่นเรืออยู่ข้างใต้น้ำ เสนาบดีของพระเจ้าพาวรีย์แลเห็นเรือจึงร้องว่า เรือนั้นเป็นของเรา พระเจ้าพาวรีย์ตรัสว่าของในเรือเป็นของเรา พอเรือมาถึงเข้าได้ทอดพระเนตรเห็นนางปัญจปาปี จึงตรัสถามว่า นางนี่ชื่อไร รูปร่างคล้ายปีศาจ. นางปัญจปาปียิ้มแล้วทูลความว่า ตนเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพกะ และทูลเล่าเหตุทั้งปวงให้ทรงทราบ ก็นางปัญจปาปีนั้นมีชื่อเสียงปรากฏตลอดชมพูทวีป พระเจ้าพาวรีย์จึงทรงจับมือจูงขึ้นจากเรือ พอจับเข้าก็เกิดกำหนัดยินดีในสัมผัสจนไม่รู้สึกว่าหญิงอื่นมี จึงทรงตั้งนางปัญจปาปีไว้ในที่อัครมเหสี นางก็เป็นที่รักเสมอพระชนม์ชีพ

พระเจ้าพกะทรงทราบข่าวก็ทรงดำริว่า เราจักไม่ยอมให้พระเจ้าพาวรีย์ตั้งนางปัญจปาปีเป็นอัครมเหสี จึงรวบรวมเสนาเสด็จเป็นกระบวนทัพไปตั้งพักอยู่ที่ท่าน้ำ แล้วส่งราชสาส์นไปว่า ให้พระเจ้าพาวรีย์คืนภริยาให้หรือจะรบกันก็ตามที พระเจ้าพาวรีย์จึงตอบไปว่า เรายอมรบไม่ยอมให้ภริยา แล้วทรงตระเตรียมการรบ พวกอำมาตย์ทั้งสองฝ่ายจึงปรึกษากันว่าที่จะพากันมาตายเพราะเหตุแห่งมาตุคามนั้นไม่สมควรเลย

ย้อนกลับไปอ่านโดยละเอียด หมายถึงตัวผู้เล่านะ หากผู้อ่านคนใดอยากอ่านโดยละเอียดอย่างนี้บ้างก็ลองเข้าไปค้นหาในกูเกิลหรือยูทูปนะ พิมพ์คำว่ากุณาลชาดก หรือปัญจปาปา หรือปัญจปาปีก็ได้ ในกุณาลชาดกที่ผู้เล่าคือเฒ่ามาลมคนนี้หยิบยกมา เอามาจากกุณาลชาดก ในเรื่องนี้ท่านเรียกชื่อนางว่าปัญจปาปี

อ่านโดยละเอียด ทบทวน ตั้งคำถามว่าชะตากรรมของนางเกิดจากอะไร ในเรื่องท่านบอกว่าเป็นผลมาจากกรรมในชาติก่อนที่ไม่พอใจพระปัจเจกพุทธเจ้าที่มาขอบิณฑบาตดินเหนียว นางกำลังขยำดินเหนียวจะเอาไปไล้หรือทาหรือฉาบฝาเรือน น่าจะเป็นฝาสานจากไม้ไผ่ ผู้เล่าเดาเอานะ ท่านไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นฝาไม้กระดานหรือหรือฝาไม้อัด นางโมโหฉุนเฉียวหรือไม่พอใจอะไรก็แล้วแต่ จึงหลุดคำพูดอันเป็นวจีกรรมออกไปอย่างนั้น แต่พลันก็สำนึกได้จึงให้ทานดินเหนียว พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เอาดินไปไล้ฝาที่ท่านอาศัยกำบังแดดลมและฝน สำนวนแปลเป็นภาษาไทยในอรรถกถาท่านใช้คำว่าเงื้อมฝา แต่ในมังคลัตถทีปนีฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2518 ท่านพิมพ์เป็นเงื้อมผา อาจผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เพราะโดยทั่วไปเราคุ้นเคยกับคำว่าเฝื้อมผามากกว่าเงื้อมฝา

เงื้อฝา ให้ภาพว่าเป็นฝาที่ตั้งเฉียงๆ อาจใช้ไม้ค้ำยันไม่ให้ล้ม คนเมืองกรุงเมืองไกรหรือคนรุ่นใหม่อาจนึกภาพไม่ออกเพราะไม่เคยอยู่กระท่อม แต่คนรุ่นเก่าที่เคยอยู่กระท่อมจะนึกออกว่าทำไมต้องไล้หรือฉาบฝาเรือน เพราะมันมีรู ลมลอดได้

จะออกนอกเรื่องไกลเกินไปแล้ว รีบรวบเลยนะ นางกระทำสองกรรมติดต่อกัน กรรมแรกส่งผลให้ชาตินี้นางมีรูปร่างพิกลพิการห้าแห่ง กรรมหลังส่งผลให้นางมีรสสัมผัสอันเป็นทิพย์ ชายใดได้สัมผัสแม้เพียงมือของนาง จะติดใจหลงใหลจนลืมหญิงอื่น เหมือนอย่างที่พระอรรถกถาจารย์ท่านบรรยายพระเจ้าพาวรีย์ว่า

จึงทรงจับมือจูงขึ้นจากเรือ พอจับเข้าก็เกิดกำหนัดยินดีในสัมผัสจนไม่รู้สึกว่าหญิงอื่นมี

จนไม่รู้สึกว่าหญิงอื่นมี…ข้อความนี้สำคัญมาก

กรรมเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นแนวคิดหลักแนวคิดหนึ่งของพุทธศาสนา กรรมในพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่กรรมเก่าอย่างเดียว แต่ในเรื่องนี้ท่านพูดถึงแต่กรรมเก่าที่เป็นอดีตชาติของนางอันส่งผลให้เกิดเป็นวิบากในชาตินี้ ท่านไม่ได้แสดงถึงกรรมในชาตินี้ของนางไว้เลย เรามองด้วยสายตาของคนธรรมดาสามัญที่ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากมายนักในแนวคิดเรื่องกรรม อดคิดไม่ได้ว่านางเป็นผู้ถูกกระทำถ่ายเดียว

ไม่ได้โต้แย้งแนวคิดเรื่องกรรมนะ เป็นแต่เพียงตั้งประเด็นชวนคิดเท่านั้น

—————————————————————————————————————–

ปัญจปาปีกลายเป็นราชเทวีสองผัว เพราะเสนาอำมาตย์ทั้งสองเมืองมีความเห็นว่าหากรบกันคนก็จะตายกันมากมายเพราะผู้หญิงคนเดียว ถ้อยคำสำนวนในอรรถกถาท่านกล่าวไว้ดังนี้

นางปัญจปาปีควรได้แก่พระเจ้าพกะเพราะได้เคยเป็นสามีมาก่อน แต่ก็ควรได้แก่พระเจ้าพาวรีย์

เพราะทรงเก็บได้ในเรือ ต่างก็กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองให้ทรงสัญญา พระราชาทั้งสองพระองค์ก็ตกลงพระหฤทัยสั่งให้สร้างพระนครขึ้นฝั่งละนครแล้วเสด็จประทับอยู่ นางปัญจปาปีทำหน้าที่เป็นอัครมเหสีของสองพระราชา คืออยู่ประจำฝ่ายละ 7 วัน เมื่อนางลงไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง นางได้ทำลามกกับชาว

ประมงค่อมคนหนึ่งซึ่งเป็นคนขับเรือในกลางแม่น้ำ…

น่าเห็นใจนะ นางเทียวไล้เทียวขื่อระหว่างสองนครเพื่อบำเรอสองพระราชาคราวละเจ็ดวัน ตลอดมา เราไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่านางรู้สึกนึกคิดอะไร ชอบไหม หรือไม่ชอบ พอใจไหม หรือไม่พอใจ นางเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ท่านไม่ได้แสดงไว้เลย ตรงนี้ไม่ใช่คำตำหนิติติงเพราะรูปแบบของชาดกกับรูปแบบของนวนิยายไม่เหมือนกัน ที่สะเทือนใจมากๆ ก็คือ ข้อความลงจบที่ว่า

เมื่อนางลงไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง นางได้ทำลามกกับชาวประมงค่อมคนหนึ่งซึ่งเป็นคนขับเรือในกลางแม่น้ำ

เรื่องของนางปัญจปาปีในกุณาลชาดกจบลงเพียงแค่นี้ เป็นเรื่องที่พญานกดุเหว่าชื่อกุณาละยกมาแสดงโทษของอิตถีเพศให้พญาปุณมุขผู้สหายฟัง ยังมีเรื่องที่แสดงทัศนะเชิงลบต่อผู้หญิงอีกหลายเรื่องที่ซ้อนอยู่ในชาดกเรื่องนี้ ค่อยเอามาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป เกือบลืม ยังไม่ได้ไขคำว่าหัวป่าก์เลย คำว่าป่าก์ ราชบัณฑิตยสภาท่านสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากคำว่า ปาก (ออกเสียงว่าปากะ) ในภาษาบาลีสันสกฤต แปลว่าการหุงต้ม

 

Don`t copy text!