นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (2)

นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (2)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ก่อนเข้าเรื่องกัณหา นาง 5 ผัวต่อจากที่เล่าค้างไว้ อยากชักชวนคนอ่านทั้งหลายไปหาหนังสือมหาภารตยุทธ แปลโดยท่านอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย มาอ่าน ฉบับที่ผู้เล่ามีเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 โดยสำนักพิมพ์ศยาม วรรณกรรมเรื่องนี้ถือกันว่าเป็นหนังสือประเภทมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ในโลกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างพี่น้องสองตระกูลผู้สืบเชื้อสายมาจากรากเหง้าเดียวกัน แต่ในเรื่องไม่ได้มีแต่การสู้รบอย่างเดียว มีเรื่องคุณธรรม ปรัชญา ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ อารมณ์ความรู้สึกและชีวิตปะปนคลุกเคล้ากันไป ตัวละครมีชีวิตชีวา เป็นตัวเป็นตนเหมือนเราจะจับต้องลูบคลำได้

มหากาพย์ มหาภารตยุทธ เป็นเรื่องราวแต่ครั้งโบราณนานเนายากจะคาดเดาจุดเริ่มต้นได้แน่นอน แต่ครั้งเมื่อเผ่าอารยันยังไม่ค่อยได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวลงมาสู่ทางภาคกลางของประเทศอินเดียปัจจุบัน นักปราชญ์ราชครูทั้งแขกและฝรั่งหลากหลายท่านให้ความเห็นกันว่าน่าจะมีอายุราวๆ สามพันกว่าปีเป็นอย่างต่ำ ในเรื่องนี้มีตัวละครหญิงคนหนึ่งที่น่าสนใจมากชื่อนางเทราปที

นางเทราปทีก็คือนางกฤษณาในพระนิพนธ์ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ อย่างที่พาดพิงถึงในตอนก่อน กล่าวเฉพาะเรื่องกฤษณาสอนน้องก่อน ผู้เล่าเคยเรียนมาบ้างในบางส่วนตอนเรียนปริญญาตรี เนื้อหาสาระว่าด้วยหญิงสาวพี่น้องสองคน คนพี่ชื่อกฤษณา เลือกผัวได้ห้าคนซึ่งก็ตรงกับนางเทราปทีใน มหาภารตยุทธ และตรงกับนางกัณหาในกุณาลชาดก ในกฤษณาสอนน้อง ท่านผูกเรื่องให้นางกฤษณามีห้าผัวแต่ก็ครองเรือนราบรื่น แต่น้องสาวซึ่งเลือกได้ผัวเดียวกลับครองเรือนไม่เป็นสุข พี่สาวจึงสอนน้องถึงสิ่งที่กุลสตรีควรประพฤติปฏิบัติเพื่อมัดใจชาย จะตื่นก่อนนอนหลังตามแบบคติไทยหรืออย่างไรก็เลือนๆ ไปแล้วเพราะผ่านกาลเวลามาสี่สิบกว่าปี ความทรงจำมันเสื่อม

บัณฑิต ศรีเนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ท่านเขียนถึงมหากาพย์ภารตะไว้ตอนหนึ่งว่า

เป็นการยากที่จะกำหนดอายุของมหากาพย์ อันเป็นวรรณกรรมที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ในยุคดึกดำบรรพ์ไกลโพ้น สมัยที่ชาวอารยันกำลังอยู่ในระยะตั้งหลักแหล่งและเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของตนขึ้นในประเทศอินเดีย—มหากาพย์ภารตะนั้นเป็นที่รวมของปกิณกะโบราณนานชนิดจำนวนมหาศาล คงจะได้รับการรจนาขึ้นก่อนยุคพุทธศาสนา (อ้างอิงจาก พบถิ่นอินเดีย แปลโดย กรุณา กุศลาสัย สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งที่ 4 หน้า 185)

อีกตอนหนึ่งในเล่มเดียวกันท่านเขียนว่า

ยุคมหากาพย์ภารตะคงจะเป็นระยะเวลาที่ชาวต่างด้าวกำลังหลั่งไหลเข้าไปในอินเดีย พร้อมกับนำเอาขนบประเพณีของตนติดตัวเข้าไปด้วย มีขนบประเพณีอยู่หลายอย่างหลายประการที่ไม่เหมือนกับของเผ่าชนอารยัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่สังเกตได้ว่า ได้เกิดการผสมกันขึ้นอย่างน่าประหลาดระหว่างความคิดและขนบประเพณีที่ตรงกันข้าม เป็นต้นว่าประเพณีที่หญิงคนเดียวมีสามีหลายคนในเวลาเดียวกันนั้น ไม่มีให้เห็นในชนชาติอารยันแขนงอื่น แต่ในมหากาพย์ภารตะ ตัวนางที่ชูโรงตัวหนึ่งปรากฏว่าเป็นภรรยาร่วมของชายพี่น้องห้าคนด้วยกัน

ลองไปหาอ่านกันดูนะ ในหนังสือจะหนักแน่นจริงจังกว่าที่เห็นตัดต่อตัดตอนกันมาลงในคลิปต่างๆ

——————————————————————————————————————————–

กลับมาสู่เรื่องราวของกัณหานาง 5 ผัวที่หยิบเอามาเล่า ก็อย่างที่ได้บอกแล้วว่าชาดกเรื่องนี้ท่านต้องการแสดงถึงด้านไม่ดีของผู้หญิง ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงมีแต่ด้านไม่ดี ด้านดีๆ ท่านเอาไปแสดงไว้ในนางดีคนอื่นๆ ค่อยสรรหามาเล่าภายหลัง แล้วก็อย่าด่วนทึกทักว่าพระพุทธเจ้ามีอคติต่อผู้หญิง ปัญญาพระพุทธเจ้าลึกซึ้งและกว้างใหญ่ไพศาลปานประหนึ่งห้วงมหาสมุทร เราเองแค่จ้อนตัวหนึ่ง เอาหางจุ่มลงไปหยั่งไม่ถึงก้นสมุทร แล้วก็อีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก เนื้อความในอรรถกถา ไม่ใช่พุทธวาจาทั้งหมด พระสงฆ์ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมยุคหลังท่านอธิบายเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้เรื่องราวชัดเจนยิ่งขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ต่อมาในชั้นหลังๆ ก็มีการเพิ่มเติมกันเข้าไปอีก นานๆ เข้าอาจเหมือนชาดกเรื่องกลอง ชื่อเรื่องอะไรจำไม่ได้ วันหลังค่อยไปค้น ชาดกเรื่องกลองพระพุทธองค์ตรัสว่ากลองใบหนึ่งผุ มีการซ่อมกลองโดยเอาเนื้อไม้อันอื่นมาปะ นานๆ เข้าเนื้อเดิมก็หายไปทุกที เนื้อใหม่ที่เอามาปะผุก็มากเข้าๆ จนกลบเนื้อเดิม เอาเป็นว่าเราจะว่ากันไปตามอรรถกถาฉบับแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วเท่านั้นนะ ไม่มีปัญญาจะไปแคะไค้ในภาษาบาลีเพราะไม่เคยเรียนให้หนักแน่นเป็นแก่นเป็นสารเลย เคยเรียนแค่คอร์สเดียวในระดับปริญญาตรีเท่านั้น เรื่องนางกัณหาในอรรถกถาชาดก ท่านเดินเรื่องต่อไปดังนี้

————————————————————————————————————–

ทุกๆ คนเห็นอาณัติสัญญาแล้วก็รู้เนื้อความ เพราะนางเคยพูดมาแต่ก่อนเนืองๆ แต่อัชชุนกุมารสังเกตเห็นอาการเคลื่อนไหวมือเท้าและลิ้นของนางก็ดำริว่า นางกัณหาให้อาณัติสัญญาแก่เราฉันใด ชะรอยจะให้แก่ผู้อื่นฉันนั้น เห็นจะทำความรักใคร่ชิดชมกับอ้ายเปลี้ยด้วย โดยไม่ต้องสงสัย ดำริแล้วจึงพาน้องชายออกไปข้างนอกแล้วไต่ถามว่านาง 5 ผัวแสดงท่าด้วยศีรษะให้เรา เจ้าเห็นหรือไม่ พระราชกุมาร 4 องค์ก็รับว่าเห็น อัชชุนกุมารจึงถามว่า เจ้ารู้เท่าทันหรือไม่ พระราชกุมารทั้ง 4 ตอบว่าไม่รู้ อัชชุนกุมารจึงถามว่า ก็ที่นางทำอาณัติสัญญาให้เจ้าทั้ง 4 ด้วยมือ และเท้าทั้ง 4 นั้นเจ้ารู้หรือไม่เล่า. พระราชกุมารทั้ง 4 ตอบว่ารู้ อัชชุนกุมารจึงตรัสว่า นางให้สัญญาแก่พวกเราด้วยเรื่องอย่างเดียวกันนั่นแหละแล้วถามต่อไปว่า ที่นางแสดงกิริยาพิรุธด้วยลิ้นแก่อ้ายเปลี้ยนั้น เจ้ารู้เท่าทันหรือไม่เล่า พระราชกุมารทั้ง 4 ก็ตอบว่าไม่รู้ ลำดับนั้น อัชชุนกุมารจึงบอกแก่น้องชายว่า ชะรอยนางนี่จะได้ประพฤติชั่วกับอ้ายเปลี้ยด้วยอีกคนหนึ่งเป็นแน่ เมื่อเห็นว่าน้องชายทั้ง 4 ไม่เชื่อ จึงเรียกให้บุรุษเปลี้ยเข้ามาถาม บุรุษเปลี้ยก็ยอมรับสารภาพทั้งหมดสิ้น พระราชกุมารทั้ง 5 ได้ฟังแล้วก็หมดความยินดีรักใคร่ ติเตียนมาตุคามโดยอเนกปริยายว่า น่าสลดใจนัก ขึ้นชื่อว่ามาตุคามแล้วลามกทุศีล มาสละละคนที่บริบูรณ์ด้วยชาติและสวยงามเช่นพวกเราเสีย แล้วไปประพฤติลามกกับด้วยอ้ายเปลี้ยอันน่าเกลียดปฏิกูลได้ ก็ใครเล่าที่เขาเป็นนักปราชญ์จะพึงรื่นรมย์ยินดีกับด้วยหญิงทั้งหลาย ผู้หาความละอายมิได้ มีแต่ธรรมลามก เมื่อติเตียนแล้ว พระราชกุมารทั้ง 5 ก็ตกลงใจกันว่า ไม่ต้องการอยู่เป็นฆราวาสจึงพากันเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ ถือเพศบรรพชา กระทำกสิณบริกรรม เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ได้ไปตามยถากรรม.

เรื่องกัณหา นาง 5 ผัว ในอรรถกถาชาดกก็จบลงเพียงแค่นี้ แต่หากใครที่ได้อ่าน มหาภารตยุทธ ก็อาจจะได้ภาพนางเทราปทีไปอีกแบบ เป็นนางดี นางเลิศ นางผู้ดูแลและติดตามราชกุมารทั้งห้าไปในทุกที่ทุกแห่ง ร้อนร้าวหนาวเย็นไปด้วยกัน ตกระกำลำบากไปด้วยกัน อ่านแล้วไม่ควรเอามาคิดต่อว่าพระพุทธเจ้าใส่ร้ายปรักปรำนางเทราปที ทรงจำลองเหตุการณ์และตัวละครมา แต่ใส่จุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันเข้าไป กำหนดบทบาทและพฤติกรรมให้นางเล่น หากเป็นละครทีวีสมัยใหม่ ก็คล้ายกับการเอาเค้าจากเรื่องอื่นมาดัดแปลงแล้วแสดงออกไปตามผู้สร้างต้องการ

ย้อนเข้าไปอ่านในขุททกนิกาย ชาดก เรื่องราวของนางกัณหาที่ปรากฏในตัวพระไตรปิฎกจริงๆ ว่าอย่างนี้

ดูกรสหายปุณณมุขะ เราเห็นมาแล้ว นางกัณหาสองพ่อ นางมีผัว 5 คน ยังมีจิตปฏิพัทธ์ในบุรุษคนที่ 6 ซึ่งเป็นคนเปลี้ย เหมือนตัวกระพันธ์.

และในเรื่องนี้มีคำเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า

ครั้งนั้น นางคนหนึ่งล่วงละเมิดสามี 5 คน คือ พระเจ้าอัชชุนะ พระเจ้านกุละ พระเจ้าภีมเสน พระเจ้ายุธิษฐิร และพระเจ้าสหเทพ แล้วได้กระทำลามกกับบุรุษเปลี้ยแคระ.

มีเพียงแค่นี้ ส่วนที่เหลือไปปรากฏอยู่ในอรรถกถา อ่านแล้วก็อย่าไปตำหนิประณามท่านเลย ท่านมีหน้าที่ต้องอธิบาย ขยายรายละเอียดเพื่อให้ชาวพุทธเข้าใจ จึงกำหนดเรื่องราวใส่เข้าไป ไม่ใช่ท่านจงใจจะทำลายนางเทราปทีใน มหาภารตยุทธ ท่านไม่ได้บอกเลยว่าเป็นคนคนเดียวกัน และก็ในส่วน มหาภารตยุทธ เอง นักปราชญ์ทั้งหลายที่ศึกษาเรื่องนี้ พวกท่านก็มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า มหาภารตยุทธ ไม่ได้เขียนหรือแต่งขึ้นจากคนคนเดียว แต่ผ่านการขัดเกลาจากปวงปราชญ์ราชบัณฑิตและนักกวีหลายยุคหลายสมัย นางเทราปทีที่เราพบเห็น อาจถูกต่อเติมเสริมแต่งให้มีตัวตนอย่างเรารู้จักในปัจจุบันก็เป็นไปได้

ในชาดก พระพุทธองค์ก็หยิบยกเอามาในฐานะเรื่องเล่าเก่าก่อน ย้อนไปในกัปกัลป์ที่เท่าไรก็ไม่รู้ ไม่ได้บอกว่าย้อนไปในสมัยมหาภารตยุทธ สถานที่ก็ไม่ได้บอกว่าเกิดที่ทุ่งกุรุเกษตรที่เกิดสงครามยิ่งใหญ่ นางกัณหาในชาดกอาจได้เค้ามาจากนางเทราปที เอามาแต่เค้า ไม่ใช่เอามาทั้งหมด

นอกจากเรื่องนางปัญจปาปี เทวีผู้มีบาปและเรื่องนางกัณหาหญิงห้าผัว ในชาดกเรื่องเดียวกัน พญานกกุณาลยังยกเอาเรื่องนางร้ายๆ อีกหลายคนมาแสดง ท่านแสดงแต่ด้านร้าย แสดงแต่โทษ ไม่แสดงคุณ ทำไมท่านไม่แสดงคุณ ไม่ใช่จงใจใส่ร้ายผู้หญิง แต่เพื่อต้องการให้ภิกษุบวชใหม่จากราชตระกูลสองฝ่ายทั้งห้าร้อยรูปเบื่อหน่ายคลายใจจากการหมกมุ่นในเรื่องราวชาวโลกที่ไม่เอื้อต่อการบรรลุผลคือพระนิพพาน จริงอยู่ ในสมัยพุทธกาลก็มีฆราวาสหรือคนที่ไม่ได้บวชบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่คนดิบที่บรรลุอรหันต์มีน้อยมาก เท่าที่จำได้มีเพียงคนสองคนเท่านั้น แต่ราชกุมารทั้งห้าร้อยคนนั้นพระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าอยู่ในวิสัยที่จะบรรลุได้ แต่หากสึกออกไปก็น่าเสียดาย จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในทะเลทุกข์อีกกี่ร้อยกี่พันชาติก็ไม่รู้ถึงจะขึ้นฝั่งคือบรรลุพระนิพพาน

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว พวกเราเองก็อาจเป็นคนที่คลาดจากการบรรลุในสมัยพุทธกาลก็เป็นได้ ก็เลยมาลอยคอตุ๊บป่อง ป่องตุ๊บผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ในทะเลทุกข์อันมองไม่เห็นฝั่ง จะกลายเป็นเหยื่อของเต่าร้ายปลาร้าย กุ้งร้าย ปูร้ายคือกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายวันใดก็ไม่รู้

พระพุทธองค์ทรงแสดงกุณาลชาดกเพื่อให้ราชกุมารคลายกำหนัด อาจแสดงเป็นธรรมเบื้องต้นเพื่อตะล่อมจิตใจให้เข้าที่เข้าทางก่อน ต่อมาอาจแสดงธรรมชั้นสูงอื่นๆ อีก ภายหลังภิกษุราชกุมารทั้งหมดบรรลุพระอรหันต์ ขากลับเลยไม่ต้องอาศัยอิทธิฤทธิ์ของพระบรมครู เหาะได้เองหมดเลย ต่างเหาะคืนสู่พระนครเหมือนฝูงบินมหึมา

เอ่ยถึงปู นึกออกเรื่องหนึ่ง เคยอ่านพบในเอกสารโบราณล้านนา เรื่องอะไรก็จำไม่ได้แล้วเพราะอ่านเยอะมาก เป็นเรื่องราวการพรรณนาเกี่ยวกับโลกสัณฐานหรือภูมิศาสตร์โลก เป็นเรื่องที่อธิบายถึงสาเหตุที่น้ำทะเลขึ้นๆ ลงๆ ในทัศนะของท่าน ท่านว่ายังมีพญาปูยักษ์ตัวหนึ่งหมอบอยู่ตรงสะดือทะเล เอาอกคร่อมรูที่น้ำทะเลจะไหลลงสู่ห้วงลึกข้างล่าง ดูเหมือนจะชื่อพญากุเฬระ ถ้าจำไม่ผิด เมื่อปูเอาอกอุดรูอยู่ น้ำทะเลก็ไหลลงไปยังโลกข้างล่างอันได้แต่เมืองบาดาลไม่ได้ น้ำทะเลก็จะหนุนเนื่องขึ้น แต่ใต้โลกของเราลงไปไม่ใช่มีแต่บาดาลนครใต้โลกอย่างเดียว ยังมีนรกซ้อนๆ กันลงไปอีกหลายหม้อ หม้อแรกหรือขุมแรกชื่อว่าสัญชีวนรก เป็นนรกคืนชีพ ผู้ใดทำบาปกรรมหนักหนาหากพญายมขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาว่าโทษของเอ็งควรแก่การตกสัญชีวนรก ก็จะไปรับโทษรับทัณฑ์เป็นวันเวลาเท่านั้นเท่านี้แล้วแต่บาปกรรม ทุกข์ทัณฑ์ในสัญชีวนรกโหดร้ายมาก หากมีโอกาสค่อยหามาเล่าวันหลัง มีอยู่ในพระไตรปิฎกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี่เอง หากสัตว์นรกทนทุกข์ในนรกไม่ได้ก็จะตายไป แล้วจะมีลมนรกพัดมา สัตว์นรกต้องลมนรกก็จะฟื้นชีพมารับโทษนรกอีก จึงเรียกชื่อว่าสัญชีวนรก

ส่วนพญากุเฬระปูยักษ์ เอาอกอุดสะดือทะเล น้ำทะเลหนุนเนื่องขึ้น แต่นานเข้าคลื่นความร้อนจากสัญชีวนรกก็รมอกปู ปูร้อนก็ยกอกขึ้น น้ำทะเลที่หนุนขึ้นสูงก็ลดวูบเพราะไหลลงสู่โลกล่าง จึงกลายมาเป็นปรากฏการณ์ของน้ำลง

ดูจินตนาการท่านสิ หากเป็นคนเมืองก็จะอุทานว่างืดๆๆๆ

งืด แปลว่าทึ่ง พิศวง มหัศจรรย์พันลึก

 

Don`t copy text!