นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๑)

นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๑)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ถ้ายักษ์ทั้งหลายได้ทำบุตรของดิฉันให้เป็นอย่างนี้

ขอท่านผู้เป็นพรหมจารีเท่านั้น อย่าได้โกรธบุตรดิฉันเลย 

ดิฉันขอถึงฝ่าเท้าของท่านนั่นแหละเป็นที่พึ่ง

ข้าแต่ท่านผู้เป็นภิกษุ ดิฉันตามมาก็เพราะความเศร้าโศกถึงบุตร.

—————————————————————————————————————-

เรื่องนี้สนุก อยากให้หมอโอ๊ตเอาไปกลับหัวกลับหาง กลับซ้ายกลับขวา ตีลังกามองหรือกระดกหัวกลับหลัง ก้มมองส่องมา เชื่อว่าท่านผู้อ่านทั้งหลายจะได้อ่านนิยายดีๆ ที่สนุกสนานเปี่ยมรสชาติแน่นอน

ข้อความมันพาไป เขียนคำว่ากระดกหัวกลับหลัง ก้มมองส่องมาพาให้นึกถึงผีล้านนาชนิดหนึ่ง ขออนุญาตเอามาเล่าแทรกตรงนี้ ผีตัวนั้นพวกเราเหล่าลูกหลานล้านนาเมื่อห้าหกสิบปีก่อนกลัวมันมาก รู้จักมันดี

ผีเลียก้น

ไม่รู้หมู่เฮาคนเมืองที่อายุเกิน ๖๐ ปี ที่รู้จักผีตัวนี้ยังจำกันได้หรือเปล่า  ตัวที่มันตามเราออกมาจากสวมหลุมท้ายสวน แล้วกระดกหัวกลับหลัง เอาหัวลอดก้นแล้วกระเดิ๊บๆ ตามหลังเรามาในอาการแบบกบเต้น

ไม่เต้นเชิ้บๆ เอ้ากระเดิ๊บๆ ฮ้าไฮ้… เปล่าๆ นะ แค่นั้นไม่น่ากลัว น่ารักดีออก แต่มันแลบลิ้นยาวมาเลียก้นเรานี่สิ… เหวอเลย

เรื่องผีเลียก้นคนรุ่นเก่าท่านผูกเรื่องมาเล่าไม่ใช่ให้เรากลัว แต่ท่านหยิบเอาความกลัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในแง่การสร้างสมบ่มเพาะผู้คนให้แก่สังคม คำภาษาอังกฤษว่า Socialization ภาษาไทยท่านบัญญัติมาใช้ว่าสังคมประกฤต สมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ฟังคำนี้แล้วไม่รู้เรื่อง แต่คำว่า Socialization ฟังเข้าใจง่ายกว่า

ผีเลียก้นคนเฒ่าเก่าก่อนท่านเอามาใช้ประโยชน์อย่างไรหรือ ท่านสอนให้เรารักความสะอาด ทำความสะอาดก้นให้ดีก่อนออกจากส้วม เรื่องผีเลียก้นนี้คล้ายจะเคยเขียนไว้ในชุดตำนานพงไพรบ้างหรือเปล่า ไม่ค่อยแน่ใจ มันเบลอๆ เลอะๆ อยู่ คือเขียนไว้เยอะจนเลอะเลือนว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไอ้ครั้นจะกลับไปค้นก็ขี้เกียจ นักอ่านรุ่นใหม่อาจมองไม่เห็นเป็นภาพเป็นเรื่องชัดเจนนัก นักอ่านรุ่นเก่าหากเป็นคนต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมก็คงไม่ชัดเช่นกัน มันมีลักษณะจำเพาะบางอย่างที่ต้องอธิบาย คือบ้านนอกคอกนาห้าหกสิบปีก่อนในแถบถิ่นตำบลห่างไกลมันไม่มีส้วมซึม มีแต่ส้วมหลุม เป็นหลุมที่ขุดลงไปแล้วเอาไม้กระดานมาพาดปากหลุมสักสองแผ่น ไม่ได้วางชิดกัน แต่เว้นช่องให้เรานั่งคร่อมแล้วถ่ายลงไปตรงช่องว่าง ส่วนเครื่องทำความสะอาดไม่มีหรอกทิชชู่ทิชแช่ แค่หนังสือพิมพ์สักแผ่นยังหาได้ยากมาก แล้วใช้อะไรทำความสะอาดล่ะ น้ำหรือ โน อย่าพูดถึงน้ำประปาที่มาตามท่อเลย แม้แต่ฝันเรายังฝันไม่ถูก น้ำดื่มน้ำใช้ต้องตักมาจากบ่อ จะเอาไปใช้ล้างก้นล้างกอยไม่ค่อยสะดวกเพราะไม่รู้จะเอาถังหรือหม้อน้ำตั้งไว้ตรงไหน แล้วใช้อะไรล่ะ ใช้ไม้แก้งก้น เป็นคำเฉพาะถิ่น หมายถึงไม้ไผ่ซีกเล็กๆ ที่ลบคมออกเสีย ใช้ปาดไปปาดมาแถวทวารหนัก ผู้ใหญ่คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เด็กๆ มักไม่พิถีพิถัน หากทำไม่ดีก็อาจมีเศษมีซากติดก้น ท่านเลยสร้างผีเลียก้นมากำกับพฤติกรรมเด็กๆ ตรงนี้

———————————————————————————————————————-

พาท่านผู้อ่านแถกไถเป็นปลาหมอแถกเหงือก ลงหนองกันเถอะนะ เรื่องนางทิกฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์เอามาจากชาดกเรื่องมาตังคชาดก เรื่องนี้เหมาจะดัดแปลงเอามาเขียนเป็นนวนิยาย ดัดแปลงโน่นนิดนี่หน่อย ไม่ต้องเอาตามชาดกทั้งหมด จะได้นิยายน่าอ่านเรื่องหนึ่งเป็นอย่างต่ำ หากทำกันหลายคนก็อาจได้หลายเรื่อง แต่ข้าพเจ้าคนหนึ่งละที่ไม่ทำ มันเหนื่อย

ทิฏฐมังคลาเป็นชื่อของผู้หญิงคนหนึ่ง เธอจะสังกัดวรรณะใดเราไม่รู้เพราะอรรถกถาท่านไม่ได้บอกชัด แต่เดาเอาว่าน่าจะวรรณะแพศย์ที่ไม่เกี่ยวกับนางแพศยาทั้งหลาย เพราะมีข้อความตอนหนึ่งท่านเรียกว่าธิดาเศรษฐี ส่วนดาบสเรืองฤทธิ์ชื่อมาตังคะ อยู่ในวรรณะจัณฑาล

ท่านผู้อ่านที่พอจะรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินภารตะหรือประเทศอินเดียโบราณคงมีข้อมูลคร่าวๆกันแล้วว่าจัณฑาลเป็นวรรณะต่ำสุดในระบบสังคมอินเดียดั้งเดิม ไม่อยู่ในวรรณะสี่ด้วยซ้ำ อยู่นอกระบบวรรณะ เป็นชนชั้นต่ำสุด ถูกกีดกัน ถูกรังเกียจเหยียดหยาม เป็นตัวเสนียดจัญไร ไม่ควรแม้แต่การบังเอิญพบเห็น ในเรื่องนี้เอง ท่านก็สะท้อนทัศนะเช่นนี้ไว้ว่า

บริวารชนตอบว่า ข้าแต่แม่เจ้าผู้นั้นเป็นคนจัณฑาล จึงคิดว่าเราเห็นคนที่ไม่สมควรจะเห็นแล้วหนอ ดังนี้แล้วจึงล้างตาด้วยน้ำหอม กลับแค่นั้น. ส่วนมหาชนที่ออกไปกับธิดาของท่านเศรษฐีบริภาษว่า  เฮ้ยไอ้คนจัณฑาลชาติชั่ว เพราะอาศัยเจ้าแท้ๆ วันนี้พวกเราจึงไม่ได้ลิ้มสุราและกับแกล้มที่ไม่ต้องซื้อหา…

คนจัณฑาลมาจากไหน เกิดจากอะไร คนจัณฑาลมาจากภายในสังคมภารตะนั่นเอง เกิดจากอะไร เกิดจากการอยู่กินกันข้ามวรรณะของชายหญิง หากจัณฑาลกับจัณฑาลอยู่กินกัน เกิดลูกออกมาก็เป็นจัณฑาลอีก คนจัณฑาลแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรเลย เหมือนต้องคำสาปตั้งแต่เกิดมา ชาดกบางเรื่อง ท่านสะท้อนถึงทัศนะว่าคนจัณฑาลถูกรังเกียจเหยียดหยามหนักหน่วง นอกจากเรื่องมาตังคชาดกที่เอามาเล่านี้ มีอีกเรื่องหนึ่งที่ค้นเจอ ชื่อเรื่องว่าเสตเกตุชาดก ขอเอามาเล่าแทรกดังนี้

เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์  ในนครพาราณสีสอนมนต์มาณพ ๕๐๐ คน. หัวหน้ามาณพเหล่านั้นชื่อว่าเสตเกตุเป็นมาณพเกิดในสกุลอุททิจพราหมณ์. เขาได้มีมานะมาก เพราะอาศัยชาติตระกูล. อยู่มาวันหนึ่ง เขาออกจากพระนครไปพร้อมกับมาณพอื่นๆ ได้เห็นจัณฑาลคนหนึ่ง กำลังเข้าพระนคร จึงถามว่า เจ้าเป็นใคร? เมื่อเขาตอบว่าเป็นจัณฑาล  จึงพูดว่าฉิบหายไอ้จัณฑาลกาลกรรณี เอ็งจงไปใต้ลมดังนี้ เพราะกลัวลมที่พัดผ่านตัวของเขาจะมากระทบร่างของตน แล้วได้ไปเหนือลมโดยเร็ว. แต่คนจัณฑาลเดินเร็วกว่า จึงได้ไปยืนเหนือลมเขา. เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนั้น มาณพนั้นก็ได้ด่าแช่งเขาอย่างหนักว่า ฉิบหาย ไอ้ถ่อย กาลกรรณี. คนจัณฑาลครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงถามว่า คุณเป็นใคร ?

          พ.  ฉันเป็นพราหมณมาณพสิ

          จ.  เป็นพราหมณ์ ก็เป็นไม่ว่า แต่คุณสามารถจะตอบปัญหาที่ผมถามได้ไหม?

          พ.  เออได้ซิ

          จ.  ถ้าแม้ว่าคุณไม่สามารถตอบได้ไซร้ ผมจะให้คุณลอดหว่างขาผม

          เขาตรึกตรองดูตัวเองแล้ว พูดว่า แกถามได้

          บุตรคนจัณฑาล ให้บริษัทเพื่อนของมาณพนั้น. ยึดถือถ้อยคำสัญญานั้นแล้ว ถามปัญหาว่า ข้าแต่ท่านมาณพ ธรรมดาทิศมีเท่าไร ?

          พ.  ธรรมดาทิศมี ๔ มีทิศตะวันออกเป็นต้น.

คนจัณฑาลพูดว่าผมไม่ได้ถามคุณถึงทิศนั้น แม้เท่านี้คุณก็ไม่รู้ยังรังเกียจลมที่พัดผ่านตัวผม. แล้วจับคอเขาโน้มลงมาลอดหว่างขาของตน.

 

ทิ้งเรื่องเสตเกตุชาดกไว้เพียงแค่นี้ก่อน ที่เหลือไปหาอ่านเอาเอง  ในเรื่องมาตังคชาดกที่เอามาตั้งชื่อใหม่ว่าทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ท่านกำหนดให้มาตังคมาณพกำเนิดในวรรณะจัณฑาล อยู่นอกพระนคร โตขึ้นคนเรียกว่ามาตังคบัณฑิต วันหนึ่งมาตังคะหนุ่มน้อยหรือหนุ่มมากก็ไม่รู้ท่านไม่ได้ระบุไว้ เดินทางเข้าไปในพระนคร พอดีวันนั้นเป็นวันครบรอบเดือนที่นางเอกของเรื่องคือทิฏฐมังคลิกากุมารีธิดาเศรษฐีพาบริวารออกไปชมนกชมไม้เที่ยวเล่นในอุทยาน ระหว่างทางพระเอกกับนางเอกเจอกัน พระเอกต่ำต้อยด้อยค่าคงสำนึกถึงฐานะอันต่ำสุดของตัวเองในสังคม เห็นขบวนนางเอกตรงมาก็เลยยืนแอบอยู่ข้างทาง อาจเกรงว่าลมจะพัดจากทางตนไปหานางอย่างในเรื่องเสตเกตุชาดกหรืออย่างไร อี่นีฉานไม่รู้จ้ะนาย

ข้างฝ่ายแม่นางชื่อย้าวยาวแถมออกเสียงยากอีกต่างหากฉับพลันที่ซัดตาเห็น แทนที่จะเสียวซ่านสะท้านอุราประหนึ่งว่าโดนศรกามเทพปักอก นางกลับถามบริวารว่านั้นใคร บริวารตอบว่าคนจัณฑาล จึงคิดว่า

…เราเห็นคนที่ไม่สมควรจะเห็นแล้วหนอ ดังนี้แล้วจึงล้างตาด้วยน้ำหอม กลับแค่นั้น

คือไม่ไปละ รมณ์บ่จอย อารมณ์บูดเพระบังเอิญพบสิ่งที่ไม่ควรพบ ข้างฝ่ายบริวารที่เป็นชายก็พลอยหงุดหงิดฉุนเฉียวไปตามนายเพราะโอกาสจะได้ดื่มเหล้าฟรีถูกทำลายไปเสียแล้ว ก็เลยรุมถีบท้องเตะถีบมาตังคะคนจัณฑาลจนสลบเหมือดไปเลย สำนวนในอรรถกถาท่านว่าดังนี้

…อันความโกรธครอบงำแล้ว จึงรุมซ้อมมาตังคบัณฑิต ด้วยมือและเท้า จนถึงสลบแล้วหลีกไป…

พระเอกของเราเลยกองเอาะเหยาะเป็นผ้าขี้ริ้วเก่าๆ อยู่ตรงนั้นเอง ถ้อยคำในอรรถกถาท่านเดินเรื่องต่อจากตรงนี้ว่า

มาตังคบัณฑิตสลบไปชั่วครู่ กลับฟื้นขึ้นรู้ตัว คิดว่าบริวารชนของนางทิฏฐมังคลิกาโบยตีเราผู้ไม่มีความผิด โดยหาเหตุมิได้ เราได้นางทิฏฐมังคลิกาเป็นภรรยาแล้วนั่นแหละจึงจะยอมลุกขึ้น ถ้าไม่ได้จักไม่ยอมลุกขึ้นเลย ครั้นตั้งใจดังนี้แล้วจึงเดินไปนอนที่ประตูเรือนบิดาของนางทิฏฐมังคลิกานั้น. เมื่อเศรษฐีผู้บิดาของนางทิฏฐมังคลิกามาถามว่า เพราะเหตุไรเจ้าจึงมานอนที่นี่? มาตังคบัณฑิตจึงตอบว่าเหตุอย่างอื่นไม่มี แต่ข้าพเจ้าต้องการนางทิฏฐมังคลิกาเป็นภรรยา. ล่วงมาได้วันหนึ่งเศรษฐีนั้นก็มาถามอีก พระโพธิสัตว์ก็ตอบยืนยันอยู่อย่างนั้น จนล่วงมาถึงวันที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ พระโพธิสัตว์ก็ยังคงนอนและตอบยืนยันอย่างนั้น. ธรรมดาว่าการอธิษฐานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ เพราะเหตุนั้น เมื่อครบ ๗ วัน คนทั้งหลายมีท่านเศรษฐีเป็นต้น จึงนำนางทิฏฐมังคลิกามามอบให้มาตังคบัณฑิต. 

——————————————————————————————————–

ชาดกเรื่องนี้ ท่านกำหนดให้มาตังคะเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านว่า… ธรรมดาว่าการอธิษฐานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ… คำว่าอธิษฐานไม่ได้แปลว่าอ้อนวอน ร้องขอ แต่แปลว่าความตั้งมั่น ความมั่นคง หรือเจตจำนงอันแน่วแน่  ด้วยอำนาจแห่งความแน่วแน่มั่นคงเข้มแข็งทางจิตใจของพระโพธิสัตว์ จึงทำให้พ่อนางเอกยอมยกลูกสาวให้ง่ายๆ ไม่ต้องร้อนถึงพระอินทร์ลงมาข่มขู่คุกคามอะไรเลย อ่านชาดก สิ่งหนึ่งที่เราพบบ่อยๆ ก็คือ หากพระเอกอับจนหรือสิ้นหนทาง พระอินทร์ก็มักจะลงมาอนุเคราะห์เสมอ แต่ก่อนตอนเป็นหนุ่มก็คิดแบบคนหนุ่มว่าพระเอกเหยาะแหยะ ขี้แย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่ออะไรทำนองนั้น ตอนแก่ความคิดเห็นเปลี่ยนไป ท่านไม่อยากให้พระเอกหรือพระโพธิสัตว์ประกอบกรรมรุนแรงก็เลยให้พระอินทร์ทำแทน

ก็เป็นอันว่าดอกฟ้ายอมร่วงลงมาสู่หมาวัดอะไรทำนองนั้น อรรถกถาท่านเดินเรื่องต่อไปว่า

ลำดับนั้นนางทิฏฐมังคลิกากล่าวกะมาตังคบัณฑิตว่า  ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี  เชิญท่านลุกขึ้นเถิด  เราจะไปเรือนของท่าน.  มาตังคบัณฑิตจึงกล่าวว่า  นางผู้เจริญ  เราถูกบริวารชนของเจ้าโบยตีเสียยับเยิน  จนทุพลภาพ  เจ้าจงยกเราขึ้นหลังแล้วพาไปเถิด.  นางก็ทำตามสั่ง  เมื่อชาวพระนครกำลังมองดูอยู่นั่นแล  ก็พามาตังคบัณฑิตออกจากพระนครไปสู่จัณฑาลคาม.

          ลำดับนั้นพระมหาสัตว์มิได้ล่วงเกินนางให้ผิดประเพณีแห่งเผ่าพันธุ์ วรรณะ ให้นางพักอยู่ในเรือนสองสามวันแล้วคิดว่า เมื่อตัวเราจักกระทำให้นางถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภยศจำต้องบวชเสียก่อน จึงจักสามารถกระทำได้ นอกจากนี้แล้วไม่มีทาง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงเรียกนางมากล่าวว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เมื่อเรายังไม่ได้นำอะไรๆ ออกมาจากป่า การครองชีพของเราทั้งสองย่อมเป็นไปไม่ได้ เจ้าอย่ากระสันวุ่นวายไปจนกว่าเราจะกลับมา เราจักเข้าไปสู่ป่าดังนี้แล้ว กล่าวเตือนบริวารว่า แม้พวกเจ้าผู้อยู่เฝ้าเรือนก็อย่าละเลย ช่วยดูนางผู้เป็นภรรยาของเราด้วย ดังนี้แล้วก็เข้าไปสู่ป่าบรรพชาเพศเป็นสมณะ มิได้ประมาทมัวเมา บำเพ็ญสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้นในวันที่ ๗ คิดว่า บัดนี้เราจักสามารถเป็นที่พึ่งแก่นางทิฏฐมังคลิกาได้จึงเหาะมาด้วยฤทธิ์ไปลงตรงประตูจัณฑาลคาม แล้วได้เดินไปสู่ประตูเรือนของนางทิฏฐมังคลิกา. นางได้ยินข่าวการมาของมาตังคบัณฑิตแล้วจึงออกจากเรือนแล้วร้องไห้คร่ำครวญว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี เหตุไฉนท่านจึงไปบวช ทิ้งฉันไว้ไร้ที่พึ่งเล่า.

ภาษาสำนวนของท่านตอนนี้ง่าย ไม่ต้องเล่าซ้ำเป็นสำนวนภาษานอกพระอรรถกถถาก็น่าจะได้ มาถึงตรงนี้ กุมาริกานางน้อยชื่อเรียกยากไม่น่าจะออกฤทธิ์ออกลายเป็นนางร้ายนางกาจประเภทหน่ายผัวมั่วชู้ ผลักผัวลงเหวแล้วเอาโจรมือกุดเท้าด้วน จมูกแหว่งหูวิ่นใส่กระชุกระเชอแล้วเทินขึ้นบนหัวเที่ยวขอทานเรื่อยไปอย่างในเรื่องจุลปทุมชาดก ดูๆ นางก็เป็นคนดีนะ แต่แรกอาจรังเกียจจัณฑาลตามการสั่งสอนอบรมที่สืบเนื่องกันมา แต่เมื่อพ่อยกนางให้จัณฑาล นางก็ไม่ต่อต้านตอบโต้อะไรเลย หนักกว่านั้นเมื่อจัณฑาลเกี่ยงงอนว่าบริวารเจ้าทุบตีข้าสาหัสนัก ข้าลุกไม่ไหว นางจงแบกข้าไปนางก็แบก ธรรมเนียมแขกในชาดกเมื่อหญิงแต่งงานจะไม่ได้อยู่เรือนเดิม จะต้องออกจากเรือนตนไปสู่เรือนหน้าคือเรือนของสามี

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ยกไปต่ออีกตอนก็แล้วกัน

 

Don`t copy text!