นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (1)

นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (1)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

อกฺโกเธน ชิเน โกธํ  อสาธุํ สาธุนา ชิเน

ชิเน กทริยํ ทาเนน  สจฺเจนาลิกวาทินํ.

“พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ, พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี,

พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้,

พึงชนะคนพูดเหลวไหล ด้วยคำจริง.”

ถ้อยคำที่ยกมา เอามาจากธรรมบทหมวดความโกรธ เป็นส่วนหนึ่งของคาถาหรือโศลกเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด อรรถกถาที่ท่านพรรณนาถึงหญิงผู้ไม่โกรธ ไม่ผูกจิตคิดอาฆาต แม้คนที่ทำร้ายตัวเธอเองจะเป็นคนที่เธอจ้างมาปฏิบัติบำเรอผัว

ดีเลิศประเสริฐศรีไหม

เป็นไปได้ไหม

อาจเป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบันนี้

แต่เมื่อราวสองพันหกร้อยปีก่อน อาจเป็นไปได้

ผู้หญิงคนนี้ชื่อว่าอุตตรา น่าจะเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่ตัวละครในชาดกเพราะไม่ได้เอามาจากชาดก แต่เอามาจากธรรมบท ธรรมบทบันทึกตัวคนที่เป็นคนจริงๆ ไว้มาก แต่คนทั้งหมดที่ปรากฏในธรรมบทก็อาจไม่ใช่คนทั้งหมด พูดแล้วงงไหม ไม่ต้องงงหรอก พูดเผื่อๆ ไว้ว่าในบรรดาคนทั้งหมดที่ปรากฏให้เราเห็นอาจมีบ้างที่เป็นโรบอตปนเข้ามา แต่หน้าตาเนื้อตัวตลอดจนกิริยาท่าทีเหมือนคนเด๊ะเลย

อุตตราจะเป็นคนจริงๆ หรือเป็นตัวละครพลัดหลงเข้าก็ได้ บทความชิ้นนี้ไม่มีวัตถุประสงค์จะพิสูจน์สมมุติฐานอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่งานวิจัย ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ที่จะต้องพิสูจน์สมมุติฐานว่าจริงไม่จริง เป็นเพียงเรื่องเล่าของคนเฒ่าขี้โม้ขี้ลมคนหนึ่งเท่านั้นเอง เอาเป็นว่าเรามายอมรับร่วมกันว่าอุตตราเป็นนางในพระไตรปิฎกคนหนึ่ง นี่เป็นข้อตกลงเบื้องต้น อ้าว…ดันไปใช้ศัพท์ทางการวิจัยอีกแล้ว

คนคืออะไร

คนคือผลิตผลของความคิด

คนชั่วเป็นผลผลิตของความคิดชั่วๆ

คนดีเป็นผลผลิตของความคิดดีๆ

ความคิดชั่วๆ ความคิดเดียว อาจให้กำเนิดคนชั่วนับร้อยนับพัน

แต่ความคิดดีๆ ความคิดเดียว อาจให้กำเนิดคนดีได้ไม่ถึงหนึ่งในร้อย

เกิดความคิดแทรกเข้ามาอย่างนี้ ในระหว่างกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ นางอุตตราเป็นคน เป็นผลิตผลที่ความคิดสร้างขึ้น อาจเป็นหนึ่งในร้อยที่อยากทำอะไรดีๆ ที่ทำได้สำเร็จ ส่วนอีก 99 คน อาจอยากทำดี แต่ทำไม่สำเร็จ…

ก็ไม่รู้นะ ใครจะตามความคิดผู้เฒ่าไม่ทันก็ไม่เป็นไร ใครเห็นแย้ง ไม่เห็นด้วย หรือจะคัดค้านก็เป็นสิทธิของแต่ละท่าน ผู้เฒ่าเองก็ตามไม่ทันความคิดคนอื่นปะเลอะปะเต๋อ…แปลว่าเยอะแยะถมไป อ่านผ่านตา ฟังผ่านหูก็แล้วกัน

เข้าสู่โหมดนางในพระไตรปิฎกผู้ดีแสนดีคนนี้ดีกว่า

อุตราเป็นลูกสาวปุณณเศรษฐี เป็นลูกสะใภ้สุมนเศรษฐี ปุณณเศรษฐีเคยเป็นกุลีหรือคนงานของสุมนเศรษฐีมาก่อน รับจ้างถางไร่ไถนาไปวันๆ อยู่มาวันหนึ่ง มีงานนักษัตรในเมืองราชคฤห์เป็นเวลาเจ็ดวัน สุมนะผู้เป็นนายจ้างจึงถามลูกจ้างชื่อปุณณะว่า

“เอ็งจะหยุดงานกับเขาไหมวะ”

ปุณณซึ่งตอนนั้นยังเป็นกุลี ยังไม่ได้เป็นเศรษฐีตอบนายจ้างว่า

“นาย ชื่อว่าการเล่นนักษัตร ย่อมเป็นของพวกท่านผู้มีทรัพย์, ก็ในเรือนของผม แม้ข้าวสารจะต้มข้าวต้มเพื่อรับประทานในวันพรุ่งนี้ก็ไม่มี. ผมจะต้องการอะไรด้วยนักษัตรเล่า? ผมได้โคแล้ว ก็จักไปไถนา”.

สุมนเศรษฐีก็ตามใจลูกจ้าง ให้รับวัวไถนาไป ประเทศอินเดียใช้วัวไถนา ไม่ใช้ควายอย่างบ้านเรา ขอนอกเรื่องนิดหน่อย บังเอิญนึกได้ถึงหนังแขกเรียกน้ำหูน้ำตาไหลพรากๆ เรื่องหนึ่งชื่อธรณีกันแสง ไม่รู้ผู้อ่านคนใดเคยดูบ้างไหม โน้น…ย้อนๆ ไปเมื่อราวหลัง พ.ศ.2500 หน่อยๆ ผู้เล่าชื่อเฒ่ามาลมเกิดแล้ว อายุราวแปดเก้าปี หนังเรื่องนี้เข้ามาโด่งดังระเบิดเถิดเทิงในเมืองไทย ฉากที่แม่ในเรื่อง…ลืมชื่อไปแล้ว จำได้แต่ดาราผู้เล่นเป็นแม่ว่าชื่อนีรูปา รอย…

ฉากที่นีรูปา รอยลากไถแทนวัวที่ถูกเศรษฐียึดไป เรียกคนร้องไห้โฮเลย

ไม่ใช่ร้องคนเดียวกระซี้กระซิกอิกๆ อุกๆ แบบหน้าม้า แต่ร้องแทบทั้งโรงเลย ยุคสมัยนั้นเกิดการท้ากันว่า ใครที่ว่าใจแข็ง โหดอำมหิต ใจหิน ทมิฬหินชาติ หากดูหนังเรื่องธรณีกันแสงแล้วไม่เสียน้ำตา มารับเงินรางวัลไปเลย…ว่าแล้วจะยาว เล่าความต่อตามอรรถกถา ปุณณะรับวัวจากนาย ถึงบ้านตนก็บอกกับเมียว่า

“นางผู้เจริญ ชาวพระนครเล่นนักษัตรกัน, ฉันต้องไปทำการรับจ้าง เพราะความที่เราเป็นคนจน, วันนี้เจ้าพึงต้มผักสัก 2 เท่า แล้วนำภัตไปให้เราก่อน” (ลอกมาจากอรรถกถาทั้งหมดเลย) ไหนๆ ก็หลวมตัวมาอ่านถ้อยคำในอรรถกถาแล้ว อ่านต่อไปเลย

—ในกาลนั้น พระสารีบุตรเถระเข้านิโรธสมาบัติตลอด 7 วันแล้ว ในวันนั้นออกแล้ว ตรวจดูว่า “วันนี้ เราควรจะทำความสงเคราะห์แก่ใครหนอแล?” เห็นนายปุณณะ ซึ่งเข้าไปในข่ายคือญาณของตนแล้วจึงตรวจดูว่า “นายปุณณะนี้ มีศรัทธาหรือหนอ? เขาจักอาจทำการสงเคราะห์แก่เราหรือไม่?” ทราบความที่เขามีศรัทธา มีความสามารถจะ

ทำการสงเคราะห์ได้ และเขาจะได้รับสมบัติใหญ่เพราะบุญนั้นเป็นปัจจัยแล้ว จึงถือบาตรและจีวรไปยังที่ไถนาของเขา ได้ยืนแลดูพุ่มไม้ที่ริมบ่อ. นายปุณณะเห็นพระเถระแล้ว จึงวางไถ ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว คิดว่า “พระเถระคงจักต้องการไม้สีฟัน” จึงได้ทำไม้สีฟันให้เป็นกัปปิยะถวาย.

ลำดับนั้น  พระเถระได้นำเอาบาตรและผ้ากรองน้ำออกมาให้เขา. เขาคิดว่า “พระเถระจักมีความต้องการด้วยน้ำดื่ม” จึงถือเอาบาตรและผ้ากรองน้ำนั้นแล้ว ได้กรองน้ำดื่มถวาย.

พระเถระคิดว่า “นายปุณณะนี้ อยู่เรือนหลังท้ายของชนเหล่าอื่น, ถ้าเราจักไปสู่ประตูเรือนของเขา, ภรรยาของนายปุณณะนี้จักไม่ได้เห็นเรา; เราจักต้องอยู่ ณ ที่นี้แหละ จนกว่าภรรยาของเขาจักเดินทางนำภัตมาให้เขา.”

พระเถระได้ยังเวลาให้ล่วงไปเล็กน้อย ณ ที่นั้นเอง ทราบความที่ภรรยาของนายปุณณะนั้นขึ้นสู่ทางแล้ว จึงเดินมุ่งหน้าไปภายในพระนคร. นางพบพระเถระในระหว่างทางแล้ว คิดว่า “บางคราว เมื่อมีไทยธรรม, เราก็ไม่พบพระผู้เป็นเจ้า, บางคราว เมื่อเราพบพระผู้เป็นเจ้า, ไทยธรรมก็ไม่มี, ก็วันนี้ เราได้พบพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ทั้งไทยธรรม

ก็มีอยู่; พระผู้เป็นเจ้าจักทำความอนุเคราะห์แก่เราหรือหนอแล”—

อย่ารำคาญคำทางไวยากรณ์ประเภท หรือหนอแล…อะไรทำนองนี้เลย ท่านจำเป็นต้องรักษาโครงสร้างทางประโยคภาษาบาลี มากมีด้วยวิภัตติปัจจัยอะไรวุ่นวายซึ่งภาษาไทยเราไม่มี ท่านจำเป็นต้องคิดคำไทยมาใช้ จึงมีคำประเภทหรือหนอแล…อะไรพวกนี้เข้ามาเพ่นพ่านวุ่นวายมากอยู่พอสมควร

นางวางภาชนะใส่ภัตลงแล้ว ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าคิดว่า ‘ภัตนี้ เศร้าหมองหรือประณีต’ จงทำความสงเคราะห์แก่ทาสของพระผู้เป็นเจ้าเถิด.”

พระเถระน้อมบาตรเข้าไป เมื่อนางเอามือข้างหนึ่งรองภาชนะ อีกข้างหนึ่งถวายภัตอยู่, เมื่อถวายไปได้ครึ่งหนึ่ง จึงเอามือปิดบาตรด้วยพูดว่า

“พอแล้ว.”

นางกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ส่วนเพียงส่วนเดียว ดิฉันไม่อาจทำให้เป็นสองส่วนได้, พระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องทำความสงเคราะห์แก่ทาสของพระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ จงทำความสงเคราะห์ในปรโลกเถิด, ดิฉันประสงค์จะถวายมิให้เหลือเศษเลย”

ตรงนี้อาจเข้าใจยากหน่อย ตรงที่ว่า ส่วนเพียงส่วนเดียวไม่อาจทำเป็นสองส่วนได้ ความหมายคือนางตั้งใจจะถวายหมด ไม่อาจทำให้เป็นสองส่วนได้คือถวายไปส่วนหนึ่งแล้วเหลืออีกส่วนหนึ่ง แต่ข้อความถัดไปกินใจ

พระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องทำความสงเคราะห์แก่ทาสของพระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ จงทำความสงเคราะห์ในปรโลกเถิด

 

นางกลับไปหุงหาอาหารใหม่ เอากลับมาให้ผัวซึ่งหิวแทบแย่อยู่แล้ว กลัวผัวโกรธแล้วเอาปฏักหรือเหล็กแหลมใช้ทิ่มแทงฟาดนาง จึงค่อยโลมเล้าเอาใจว่าอย่าโกรธเลย ฉันตั้งใจทำอาหารมาให้ท่านแต่เช้า บังเอิญพบพระธรรมเสนาบดี

จึงถวายท่านก่อนแล้วกลับไปหุงหามาใหม่ ฝ่ายผัวก็ไม่โกรธ พลอยอนุโมทนา

ผลจากการถวายทานด้วยเจตนาสูงส่งของสองผัวเมียให้ผลในวันนั้นเลย ท่านว่าอย่างนั้น ที่ให้ผลเร็วเพราะได้ถวายทานต่อพระอรหันต์ผู้เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ชาวพุทธถือว่ามีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ทำให้เนื้อนาที่ไถพลิกในวันนั้นกลายเป็นทองคำไปหมด สองผัวเมียงงงันทำอะไรไม่ถูก จึงเอาทองใส่กล่องข้าวไปถวายพระราชา พระราชาเองก็คงงงันทำอะไรไม่ถูก จึงถามสองผัวเมียว่าทองคำเหล่านี้ท่านจะจัดการอย่างไร เล่าไปตามอรรถกถานะ สองผัวเมียคงคิดว่าทองเกิดจากเนื้อดินต้องเป็นสมบัติของแผ่นดิน จึงถวายเข้าท้องพระคลังหมด พระราชาส่งเกวียนไปขนทอง ทองกลับเป็นดินไปตามเดิม แต่พอสองผัวเมียจับดิน ดินกลับเป็นทองตามเดิม พระราชาจึงว่าทองเกิดจากบุญของท่าน ท่านเป็นเจ้าของ

สองผัวเมียจึงกลายเป็นเศรษฐีไปภายในวันเดียว พระราชาพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีของเมืองให้แก่ปุณณะ พระราชชื่อใหม่ให้ว่าพหุธนเศรษฐี เศรษฐีใหม่ทำบุญถวายทานเป็นการใหญ่ครบถ้วนเจ็ดวัน พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาแล้วแสดงธรรม เมื่อจบลงสองผัวเมียกับลูกสาวอีกหนึ่งคนบรรลุพระโสดาบัน

ลูกสาวคนนั้นชื่ออุตตรา

อยู่ต่อมา สุมนเศรษฐีผู้เป็นนายจ้างเก่าของปุณณเศรษฐีส่งคนมาขอนางอุตตราไปแต่งงานกับลูกชายของตน แต่ปุณณเศรษฐีใหม่รังเกียจว่าครอบครัวนายเก่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิคือไม่ได้ยอมรับนับถือพุทธศาสนา เกรงว่าหากให้ลูกสาวแต่งออกไป ลูกสาวจะเหินห่างจากพุทธศาสนา ต่อมาพวกคหบดีทั้งหลายในเมืองราชคฤห์เกลี้ยกล่อมให้เห็นแก่ความเป็นเศรษฐีด้วยกัน ปุณณเศรษฐีจึงให้ลูกสาวออกจากเรือนตนไปอยู่เรือนพ่อผัว อิสรภาพในตัวนางสิ้นสุดลง ตรงนี้ก็อาจพอจะสะท้อนสภาพสตรีในสังคมอินเดียโบราณได้บ้าง นางอุตตราไม่มีโอกาสเข้าวัดฟังธรรมหรือทำบุญสุนทานตามคติของพุทธศาสนาได้เลย จึงโอดครวญกับเศรษฐีผู้พ่อว่า

“เหตุไฉน บิดาจึงขังดิฉันไว้ในเรือน มีรูปอย่างนี้? การที่บิดาทำฉันให้เป็นคนเสียโฉม แล้วประกาศว่า เป็น

ทาสีของชนพวกอื่น ยังจะประเสริฐกว่า, การที่ยกให้แก่ตระกูลมิจฉาทิฏฐิเห็นปานนี้ ไม่ประเสริฐเลย, ตั้งแต่ดิฉันมาแล้ว ดิฉันไม่ได้ทำบุญแม้สักอย่างในประเภทบุญ มีการพบเห็นภิกษุเป็นต้นเลย.” (ข้อความในอรรถกถา)

ปุณณเศรษฐีเองก็อึดอัด จัดการอย่างไรก็ไม่ถนัดเพราะยกลูกสาวไปเข้าสู่อำนาจของชายในตระกูลอื่นเสียแล้ว จึงส่งเงินจำนวนหนึ่งไปให้ลูกสาวแล้วบอกให้ลูกสาวไปจ้างนางคณิกาชื่อสิริมามาบำเรอผัว เธอจะได้มีเวลาตักบาตรทำบุญตามความพอใจ นางทำตาม สิริมาก็ตกลง ฝ่ายสามีก็พอใจเพราะนางสิริมาสวยมาก

ข่วงนั้นเหลือเวลาอีกราวครึ่งเดือนจะออกพรรษา ท่านว่าอย่างนั้น ค่าจ้างดูเหมือนจะตกลงกันที่หนึ่งพันกหาปณะ ที่เราคุ้นกันในภาษาไทยคือกษาปณ์ กหาปณะเป็นคำบาลี กษาปณ์เป็นคำสันสกฤต ความหมายเดียวกัน ระหว่างนั้นนางอุตตราวุ่นวายกับงานใหญ่คือนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มารับภัตตาหาร นางทำงานร่วมกับพวกแม่ครัวจนเนื้อตัวมอมแมมขะมุกขะมอม สามีนางเยี่ยมหน้ามองตามหน้าต่าง เห็นสภาพนางเช่นนั้นก็รู้สึกตลกปนสมเพช ถ้อยคำในอรรถกถาท่านว่า

แลเห็นธิดาเศรษฐีนั้น ขะมุกขะมอมไปด้วยเหงื่อ เปรอะด้วยเถ้า มอมแมมด้วยถ่านและเขม่า เที่ยวจัดทำอยู่อย่างนั้น จึงคิดว่า “พุทโธ่ หญิงอันธพาล ไม่เสวยสมบัติมีสิริเช่นนี้ในฐานะเห็นปานนี้, กลับมีจิตยินดีว่า ‘เราจักอุปัฏฐากสมณะศีรษะโล้น’ เที่ยวไปได้” จึงหัวเราะแล้วหลบไป.

นางสิริมาผู้ถูกจ้างมาบำเรอลูกเศรษฐีได้เห็นเช่นนั้นกลับมีจิตริษยางุ่นง่าน นางลืมตัวหรืออย่างไรไม่รู้ หรือว่าลูกเศรษฐีแอบส่งซิกส่งแซ็กอะไรไว้ก่อนเราก็ไม่รู้ อาจเป็นไปได้ว่าสามีนางอุตตราติดอกติดใจแล้วให้ความหวังว่าจะให้สิริมามาแทนที่อุตตรากระมัง อรรถกถาท่านพรรณนาว่า

นางผูกอาฆาตต่อนางอุตตราว่า “จักต้องยังทุกข์ให้เกิดแก่มัน” จึงลงจากปราสาท เข้าไปสู่โรงครัวใหญ่ เอา

ทัพพีตักเนยใสอันเดือดพล่านในที่ทอดขนมแล้ว ก็เดินมุ่งหน้าตรงไปหานางอุตตรา.

เล่าตอนเดียวไม่จบเสียแล้ว ไม่ตั้งใจจะยืดเรื่องเลย เรื่องมันยืดเอง

Don`t copy text!