นางในพระไตรปิฎก : แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง

นางในพระไตรปิฎก : แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เรื่องนี้ไม่ใช้ชื่อนางนั่นนางนี่ แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับนางๆ อยู่นั่นเอง ใช้ชื่อชุดว่านางในพระไตรปิฎก แต่เอาไปเอามา สำนึกตัวเองได้ว่าเป็นแค่จ่อนจุ่มหางเท่านั้นเอง

จ่อนคือพังพอน จุ่มคือจ่อม หรือหย่อนลงไป รวมๆ แล้วแปลว่าพังพอนหย่อนหางเพื่อจะหยั่งความลึกของมหาสมุทร มาลมผู้เฒ่าข้าพเจ้าเองเป็นแค่จ่อน พระไตรปิฎกคือมหาสมุทร เท่าที่ได้ทำมา ขอบเขตไปได้แค่นางในชาดกเท่านั้นเอง เอาคนในชาดกมาเล่า คนจริงๆ ที่อยู่นอกชาดกเอามาเล่าน้อยมาก ท่านทั้งหลายที่เป็นคนจริงๆ ในพระไตรปิฎกจะเป็นคนดีโดยส่วนใหญ่ อย่างพระเถรีอรหันต์ทั้งหลาย มหาอุบาสิกาทั้งหลายเป็นต้น แต่พูดก็พูดเถอะ นางดีๆ ชีวิตท่านราบเรียบจืดชืด หากเป็นกับข้าวก็เหมือนต้มจืด ไม่ได้พูดว่าต้มจืดไม่ดีไม่มีประโยชน์นะ มีแน่นอน แต่คนครัวฝีมือดีๆ มีมากมาย ปรุงต้มจืดอร่อยๆ ออกมาเสิร์ฟก็หลายคน แต่มาลมผู้เฒ่าฝีมือไม่ถึง ปรุงต้มจืดไม่อร่อย ก็เลยเลี่ยงไปปรุงแกงส้มต้มยำ คั่วผำยำเทาแกงโฮะแกงแฮะตามถนัด

อย่าว่ากันเลยนะ

นางในพระไตรปิฎกเรื่องนี้ ยกเอามหาปทุมชาดกมาเล่า นางในเรื่องนี้ก็ร้ายอยู่ แต่มันก็มีเหตุผลอะไรลึกๆ อยู่เบื้องหลังความร้ายอยู่เหมือนกัน พูดว่าร้ายนะ ไม่ได้พูดว่าเลวร้ายหรือชั่วร้าย ใช่คำว่าชั่วกับนางในชาดกน้อยมาก ที่จำได้คือเรื่องนางชั่วแบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต เอามาจากจุลลปทุมชาดก ส่วนเรื่องนี้เอามาจากมหาปทุมชาดก ตัวละครหลักคือแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง เรื่องนี้ท่านไม่ได้ปรารภเหตุเรื่องภิกษุผู้กระสันอยากสึกออกไปแล้วพระพุทธองค์ทรงชักเอาโทษของผู้หญิงคนนั้นคนนี้มาแสดงให้ภิกษุเห็นว่าผู้หญิงมีโทษที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายทางพรหมจรรย์ แต่เรื่องนี้ปรารภเหตุนางจิณจมาณวิกากล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าทำให้นางตั้งครรภ์

นางจิณจมาณวิกาเป็นบุคคลคลุมเครือ

คลุมเครือในทัศนะของข้าพเจ้าผู้เล่า

เป็นแค่ทัศนะ ถูกหรือผิดก็ได้ ผู้เล่ายังไม่ชัดเจนว่านางมีตัวตนจริงๆ ในสมัยพุทธกาล หรือเป็นแค่นางในเรื่องเล่า

เรามาอ่านมหาปทุมชาดกพร้อมกันเลยนะ คัดลอกมาจากพระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน

———————————————————————————————–

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงพระปรารภนางจิญจมาณวิกา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นาทิฏฺฐา ปรโตโทสํ ดังนี้.

ความพิสดารว่า ครั้งปฐมโพธิกาล เมื่อพระสาวกของพระทศพลมีมากขึ้น เทวดาและมนุษย์หยั่งลงสู่อริยภูมิหาประมาณไม่ได้คุณสมุทัยของพระศาสดาได้แผ่ไปทั่ว ลาภสักการะได้เกิดขึ้นมามากมาย พวกเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ เหมือนหิ่งห้อยเวลาพระอาทิตย์ขึ้น จึงพากันเที่ยวยืนในระหว่างถนน ชักชวนคนทั้งหลายอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นพระพุทธเจ้าผู้เดียวเมื่อไร แม้พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้า ทานที่ถวายพระสมณโคดมมีผลมาก แม้ที่ถวายแก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลายจงทำทานแก่พวกเราบ้างดังนี้ ก็ไม่ได้ลาภสักการะ จึงประชุมลับหารือกันว่า พวกเราใช้อุบายอย่างไรดีหนอ จึงจะสร้างความผิดของพระสมณโคดมขึ้นในหมู่มนุษย์ แล้วทำลาภสักการะให้ฉิบหายได้.

ครั้งนั้น ในพระนครสาวัตถี มีนางปริพาชิกาคนหนึ่ง ชื่อจิญจมาณวิกา มีรูปร่างงามเลิศดุจเทพอัปสร มีรัศมีซ่านออกจากร่างของนาง เดียรถีย์คนหนึ่งมีความคิดกล้า ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราพึงอาศัยนางจิญจมาณวิกาสร้างความผิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ทำลาภสักการะให้ฉิบหาย พวกเดียรถีย์ต่างรับว่าอุบายของท่านเข้าที ครั้งนั้นนางจิญจมาณวิกามาสู่อารามเดียรถีย์ ไหว้แล้วยืนอยู่ พวกเดียรถีย์มิได้พูดกับนาง นางจึงคิดว่า เรามีความผิดอย่างไรหนอแล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันไหว้ ดังนี้ถึงสามครั้ง แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันมีความผิดอย่างไรหนอ เหตุไรท่านทั้งหลายจึงไม่พูดกับดิฉัน พวกเดียรถีย์กล่าวว่า ดูก่อนน้องหญิง เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่าพระสมณโคดมเบียดเบียนพวกเรา เที่ยวทำให้พวกเราเสื่อมลาภสักการะ

ดิฉันไม่รู้ เจ้าข้า ก็ดิฉันควรจะทำอย่างไรในเรื่องนี้

ดูก่อนน้องหญิง ถ้าเจ้าปรารถนาหาความสุขแก่พวกเรา จงใช้ตัวของเจ้าสร้างความไม่ดีขึ้นแก่พระสมณโคดม ทำลาภสักการะให้ฉิบหาย

นางรับว่า ดีละเจ้าข้า เรื่องนี้เป็นภาระของดิฉัน ขอท่านทั้งหลายอย่าวิตกไปเลยแล้วหลีกไป โดยที่นางเป็นผู้ฉลาดในมายาหญิง ตั้งแต่นั้นมา เวลาชาวพระนครสาวัตถีฟังธรรมกถาแล้วออกจากพระเชตวัน นางห่มผ้าสีดังแมลงค่อมทอง ถือของหอมแลดอกไม้เป็นต้นเดินตรงไปพระเชตวัน เมื่อมีคนถามว่า จะไปไหนเวลานี้ ก็กล่าวว่าประโยชน์อะไรด้วยที่เป็นที่ไปของฉันสำหรับท่าน  แล้วก็เข้าอารามเดียรถีย์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ พระเชตวัน ครั้นเวลาเช้า เมื่อพวกอุบาสกออกจากพระนครเพื่อถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นางก็ทำเป็นอยู่ในพระเชตวันแล้วเข้าพระนครเมื่อมีใครถามว่า ท่านอยู่ที่ไหน นางก็กล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ของเราสำหรับท่าน ครั้นล่วงไปเดือนสองเดือน ถูกถามอีก นางก็กล่าวว่าฉันอยู่ร่วมคันธกุฎีกับพระสมณโคดมในพระเชตวัน ได้ทำความสงสัยแก่พวกปุถุชนว่า นางจิญจมาณวิกาพูดนี้ จริงหรือไม่หนอ ครั้นล่วงไปสามสี่เดือนนางก็เอาผ้าขี้ริ้วมาพันท้อง ทำเป็นหญิงมีท้อง เอาผ้าแดงคลุมข้างบน ทำให้พวกอันธพาลเชื่อว่า มีท้องกับพระสมณโคดม ครั้นล่วงไปแปดเก้าเดือนนางก็เอาไม้วงกลมผูกไว้ที่ท้อง เอาผ้าคลุมข้างบน ให้พวกเดียรถีย์เอาไม้คางโคทุบหลังมือ หลังเท้าให้บวมมีอินทรีย์ลำบาก ครั้นเวลาเย็น เมื่อพระตถาคตนั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ที่ตกแต่งไว้ นางไปธรรมสภา ยืนตรงพระพักตร์พระตถาคต เหมือนหญิงที่พยายามเอาก้อนคูถขว้างดวงจันทร์ ด่าพระตถาคตในท่ามกลางบริษัททีเดียวว่า แน่ะมหาสมณะ ท่านแสดงธรรมแก่มหาชน เสียงของท่านไพเราะ ริมฝีปากสนิทดี แต่ฉันมีท้องเพราะท่าน เวลานี้ก็ครบกำหนดแล้ว ท่านยังไม่เตรียมเรือนคลอดแก่ฉัน เนยใสและน้ำมันเป็นต้นก็ยังไม่มีเมื่อท่านไม่ทำเอง ก็ไม่บอกแก่อุปัฏฐากของตนคนใดคนหนึ่งเช่นพระเจ้าโกศลอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา ว่าจงช่วยทำสิ่งที่ควรทำแก่นางจิญจมาณวิกานี้ ท่านรู้จักแต่อภิรมย์เท่านั้น ไม่รู้จักบริหารครรภ์ พระตถาคตได้ทรงสดับดังนั้น จึงหยุดธรรมกถามีอาการดุจพระยาสีหะ ทรงบันลือพระสุรสิงหนาทว่า น้องหญิง ฉันกับเธอสองคนเท่านั้น รู้คำที่เธอกล่าวว่าจริงหรือไม่จริง นางจิญจมานวิกากล่าวว่า ถูกแล้ว พระสมณะ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะท่านกับฉันรู้กัน.

ขณะนั้น ภพของท้าวสักกะได้แสดงอาการเร่าร้อน ท้าวสักกะพิจารณาดูก็ทรงทราบว่า นางจิญจมาณวิกาด่าพระตถาคต ด้วยเรื่องไม่เป็นจริง จึงทรงดำริว่า จักชำระเรื่องนี้ แล้วเสด็จมากับเทพบุตรสี่องค์ เทพบุตรเหล่านั้นแปลงเพศเป็นลูกหนู เข้าไปกัดเชือกผูกไม้วงกลมพร้อมกัน ได้มีลมพัดเปิดผ้าคลุมขึ้น ไม้วงกลมตกลงถูกหลังเท้านางจิญจมาณวิกา ปลายเท้าทั้งสองแตกพวกมนุษย์เห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า อีกาลกรรณี มึงด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและช่วยกันถ่มน้ำลายรดศีรษะ ถือก้อนดินท่อนไม้ขับออกจากพระเชตวัน พอนางจิญจมาณวิกาได้พ้นครองจักษุพระตถาคต แผ่นดินใหญ่แยกเป็นช่อง เปลวไฟพลุ่งขึ้นจากอเวจี  โอบอุ้มนางจิญจมาณวิกา เหมือนกับห่มผ้ากัมพลที่ตระกูลให้ไว้ จมลงไปในอเวจี ลาภสักการะของอัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็เสื่อมไป แต่ของพระทศพลเจริญยิ่งขึ้นเหลือประมาณ.

วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลาย ยกเรื่องขึ้นสนทนาในธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกาด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอัครทักษิไณยบุคคลอันโอฬาร ด้วยเรื่องไม่จริง ถึงความพินาศใหญ่ พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลาย นั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไรเมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่นางจิญจมาณวิกานี้ด่าเราด้วยเรื่องไม่จริงแล้วถึงความพินาศแม้ในกาลก่อน นางก็ด่าเราด้วยเรื่องไม่จริง แล้วถึงความพินาศเหมือนกันแล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าดังต่อไปนี้.

————————————————————————–

ที่ยกมาเป็นต้นเรื่องหรือปรารภเหตุที่ทำให้พระศาสดาแสดงชาดก ตัวชาดกท่านเล่าถึงพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพาราณสีมีพระโอรสองค์หนึ่งชื่อเจ้าชายปทุม ต่อมาพระมเหสีสิ้นพระชนม์จึงหาพระชายาองค์ใหม่มาเป็นคู่ครอง เมื่อพระโอรสเจริญวัยสำเร็จศิลปวิทยากลับมา ทรงตั้งให้เป็นรัชทายาท อยู่มาวันหนึ่งทางขอบปลายชายแดนไม่เรียบร้อย คล้ายจะเกิดการกระด้างกระเดื่องหรือโจรร้ายชุกชุมอะไรสักอย่าง พระราชายกทัพไปปราบ ฝ่ายราชเทวีคนใหม่เห็นพระโอรสรูปงามกิเลสก็กำเริบ

ตรงนี้เองที่อาจเป็นสาเหตุหรือต้นเหตุแห่งการกลายเป็นนางร้ายของราชเทวีหรือมเหสีบางคนในชาดก ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็น ไม่ใช่คำตัดสิน ไม่ใช่คำพิพากษา ผู้เล่าคิดว่ามันเป็นไปได้ไหมที่พระนางทั้งหลายเกิดอารมณ์ขึ้นมาจากรูป รส กลิ่น เสียงที่มากระทบแล้วไม่อาจระงับยับยั้ง รั้งตัวอยู่ในกรอบระเบียบที่กำหนดว่าหญิงดีต้องมีชายเดียว ในขณะเดียวกัน กรอบระเบียบอันเดียวกันมันไม่กำหนดว่าชายดีต้องมีหญิงเดียว ในขณะที่พระราชามีนางนาฏสนมตั้งหมื่นหกพันนาง   แต่พระนางทั้งหลายไม่มีชายใดเลย นอกจากพระราชาคนเดียว พระนางอื่นๆ อาจดำรงอยู่ในกรอบได้ แต่บางพระนางดำรงตนอยู่ในกรอบไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นนางร้ายในสายตาสังคม

คิดเห็นอย่างนี้

อ่านอรรถกถาต่อดีกว่านะ

พระอัครมเหสีเห็นรูปสมบัติของพระโพธิสัตว์ ก็มีจิตรักใคร่ พระโพธิสัตว์ถวายบังคมพระนางแล้ว ทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระแม่เจ้าประสงค์สิ่งใดหม่อมฉันจะทำถวาย ลำดับนั้น พระนางตรัสว่า เธออย่าเรียกฉันว่าแม่ เสด็จลุกขึ้นจูงมือพระโพธิสัตว์ตรัสว่า เธอจงขึ้นบนพระที่เถิด ทูลถามว่า เพื่ออะไร ตรัสว่าเราทั้งสองจักรื่นรมย์ด้วยความยินดีในกิเลส ชั่วเวลาที่พระราชายังไม่เสด็จมา

ข้าแต่พระแม่เจ้า เสด็จแม่เป็นแม่ของหม่อมฉันด้วย ยังมีพระสามีอยู่ด้วย ขึ้นชื่อว่าหญิงที่มีผู้หวงแหน หม่อมฉันไม่เคยทำลายอินทรีย์แลดูด้วยอำนาจกิเลสเลย หม่อมฉันจักทำกรรมที่เศร้าหมองถึงเพียงนี้กับพระแม่อย่างไรได้

พระนางได้ตรัสถึงสองสามครั้ง เมื่อพระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนา พระนางจึงตรัสว่า เจ้าจะไม่ทำตามคำของเราหรือ ทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันทำไม่ได้ ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เราจักกราบทูลแด่พระราชาอย่างนี้ แล้วให้ตัดศีรษะของท่านเสีย พระมหาสัตว์ตรัสว่า จงทำตามชอบของพระแม่เจ้าเถิดได้ทำให้พระนางละอายพระทัยแล้วหลีกไป.

พระนางมีความสะดุ้งกลัว ทรงดำริว่า ถ้ากุมารนี้ไปกราบทูลพระบิดาก่อนเรา เราคงไม่รอดชีวิต เราจักกราบทูลเสียก่อน ทรงดำริเช่นนี้แล้ว ไม่เสวยกระยาหาร ทรงนุ่งห่มผ้าเศร้าหมอง แสดงรอยเล็บที่พระสรีระ แล้วให้สัญญาแก่พวกหญิงคนใช้ว่า เมื่อพระราชาตรัสถามว่าพระเทวีเสด็จไปไหน ท่านทั้งหลายทูลว่าเป็นไข้ แล้วก็ลวงว่าเป็นไข้บรรทมอยู่ พระราชาทรงทำประทักษิณพระนครแล้วเสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ เมื่อไม่เห็นเทวี จึงตรัสถามว่าพระเทวีไปไหน ทรงสดับว่าเป็นไข้ จึงเสด็จเข้าห้องบรรทม ตรัสถามว่าแน่ะพระเทวี พระน้องไม่สบายไปหรือ พระนางทำเป็นไม่ได้ยินดำรัสพระราชา แม้ถูกถามถึงสองสามครั้ง ก็นิ่งเสีย พระราชาตรัสถามว่า แน่ะพระเทวี เหตุไรจึงไม่พูดกับฉัน พระนางทูลว่า บรรดาหญิงที่มีสามีแล้วไม่มีใครเขาเป็นเหมือนหม่อมฉัน พระราชาตรัสถามว่า ใครเบียดเบียนพระน้องหรือ จงบอกพี่เร็วพี่จักตัดหัวมันเสีย พระนางทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ทรงตั้งใครรักษาพระนครแล้วเสด็จไป ตรัสว่า ตั้งเจ้าปทุมกุมารโอรสของเรา พระนางทูลว่า ปทุมกุมารมาที่อยู่ของหม่อมฉัน แม้หม่อมฉันจะกล่าวว่า แน่ะพ่อเจ้าอย่าทำอย่างนี้ ฉันเป็นแม่ของเจ้า ปทุมกุมารกล่าวว่า นอกจากเรา คนอื่นชื่อว่าเป็นพระราชาไม่มี เราจักให้พระนางอยู่ในพระราชฐาน รื่นรมย์กันด้วยความยินดีแห่งกิเลส แล้วจับมวยผมของหม่อมฉันทิ้งไปมา เมื่อหม่อมฉันไม่ยอมทำตามคำของตน ก็ทุบตีแล้วออกไป.

เล่ารวบรัดตัดความนะ พระราชาพิโรธมาก สั่งจับพระโพธิสัตว์มาลงโทษ แม้บรรดาเสนาพฤฒามาตย์จะคัดค้านอย่างไรก็ไม่ฟัง สั่งให้เอาไปทิ้งที่เหวทิ้งโจรอย่างเดียว ตรงนี้อรรถกถาท่านแสดงคาถาไว้เจ็ดบท ข้อความท่านดี พูดถึงพระราชาว่าควรไม่ควรทำอะไร

 

พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน  ไม่เห็นโทษของ

ผู้อื่นว่าน้อยหรือมากโดยประการทั้งปวง  ไม่พิจารณา

ด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว  ไม่พึงลงอาชญา.

 

กษัตริย์พระองค์ใด  ยังไม่ทันพิจารณา  แล้วทรง

ลงพระราชอาญา  กษัตริย์พระองค์นั้นชื่อว่า  ย่อม

กลืนกินพระกระยาหาร  พร้อมด้วยหนาม  เหมือนคน

ตาบอดกลืนกินอาหารพร้อมด้วยแมลงวัน  ฉะนั้น.

 

กษัตริย์พระองค์ใด  ทรงลงพระราชอาชญากับผู้

ไม่ควรจะลงพระอาญา  กษัตริย์พระองค์นั้น  เป็น

เหมือนคนเดินทางไม่ราบเรียบ  ไม่รู้ว่าทางเรียบหรือ

ไม่เรียบ.

 

กษัตริย์พระองค์ใด  ทรงเห็นเหตุที่ควรลงพระ-

ราชอาญา  และไม่ควรพระราชอาชญา  และทรงเห็น

เหตุนั้น  โดยประการทั้งปวงเป็นอย่างดีแล้ว  ทรง

ปกครองบ้านเมือง  กษัตริย์พระองค์นั้นสมควรปกครอง

ราชสมบัติ.

 

กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อนโยนโดยส่วนเดียว  หรือมี

พระทัยกล้าโดยส่วนเดียวก็ไม่อาจที่จะดำรงพระองค์ไว้

ในอิสริยยศที่สูงใหญ่ได้  เพราะเหตุนั้น  กษัตริย์ไม่พึง

ประพฤติเหตุทั้งสอง   คือพระทัยอ่อนเกินไปและกล้า

เกินไป.

 

กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อน  ก็ถูกประชาราษฎร์

ดูหมิ่น  กษัตริย์ผู้มีพระทัยแข็งนักก็มีเวร  กษัตริย์ควร

ทราบเหตุทั้งสองอย่างแล้วประพฤติเป็นกลาง ๆ

ข้าแต่พระราชา  คนมีราคะย่อมพูดมาก  แม้คนมี

โทสะก็พูดมาก  พระองค์ไม่ควรจะให้ปลงพระชนม์

พระราชโอรส  เพราะเหตุแห่งหญิงเลย.

 

แต่ไม่ว่าอย่างไร ในที่สุดเจ้าชายปทุมก็ถูกนำขึ้นภูเขาแล้วถูกผลักลงไปในเหวทิ้งโจร ด้วยบุญญาธิการที่ได้บำเพ็ญมาตลอดเวลาที่เสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์ พญานาคมารับตัวไปอยู่เมืองนาคชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วออกบวชเป็นฤษีอยู่ที่ป่าหิมพานต์ ชื่อเสียงเล่าลือไปถึงพระราชา พระองค์เองก็เสียพระทัยมากที่หูเบาเชื่อราชเทวี จึงเสด็จออกไปหา ชักชวนให้กลับมาครองราชย์ แต่ปทุมดาบสไม่กลับ พระราชาก็เลยกลับไปจับนางร้ายแล้วให้คนเอาไปทิ้งลงที่เหวทิ้งโจร ท้ายชาดกอรรถกถาสรุปว่า

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน นางจิญจมาณวิกานี้ก็ด่าเราแล้วถึงความพินาศมาแล้วอย่างนี้ ทรงประชุมชาดกด้วยคาถาสุดท้ายว่า

พระราชมารดา (แม่เลี้ยง)  ของเราคือ  นางจิญจมาณวิกา  พระราชบิดาของเราคือ  พระเทวทัต

พญานาคผู้บัณฑิตคืออานนท์  และเทวดา  คือ  พระสารีบุตร  พระราชบุตรในกาลนั้นคือ  เราตถาคต

ท่านทั้งหลายจงจำชาดกไว้อย่างนี้เถิด.

จบอรรถกถามหาปทุมชาดก

Don`t copy text!