นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (2)

นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (2)

โดย : มาลา คำจันทร์

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

‘จักรวาลแคบนัก พรหมโลกก็ยังต่ำเกินไป,

คุณของหญิงสหายข้าพระองค์เท่านั้นใหญ่,

เพราะหม่อมฉันอาศัยเขา จึงได้ถวายทานและฟังธรรม;

ถ้าว่าหม่อมฉันมีความโกรธอยู่เหนือนางนี้,

เนยใสที่เดือดพล่านนี้ จงลวกหม่อมฉันเถิด,

ถ้าหาไม่แล้ว, ขออย่าลวกเลย,’

นางอุตตรามีหลายคน แต่คนที่ปรากฏบทบาทพฤติกรรมเป็นตัวเป็นตน เป็นบุคคลให้เราสัมผัสได้มีอยู่สองคน คนหนึ่งคือพระอุตตราเถรีผู้บวชเป็นภิกษุณีพร้อมพระมหาปชาบดีเถรีพระเจ้าน้าผู้ฟูมฟักรักษาพระสิทธัตถะกุมารมาแต่เมื่อพระมารดาขึ้นฟ้าเมืองบน ในอรรถกถาเถรีกถา ขุททกนิกายให้รายละเอียดว่าพระอุตตราเถรีเป็นเจ้าหญิงองค์หนึ่งในศากยวงศ์นั่นเอง เป็นพระสนมคนหนึ่งของพระสิทธัตถะกุมาร

ขอแทรกความคิดเห็นส่วนตัวต่อนักสนมหมื่นหกพันนางทั้งหลายแหล่ที่เรามักพบเห็นผ่านตาบ่อยๆ จำนวนจริงๆ คงไม่ถึงขนาดนั้น น่าจะเป็นโวหารทางวรรณคดีมากกว่า แต่ก็น่าจะเยอะอยู่พอสมควร ทำไมมหากษัตราธิราชเจ้าในสมัยโบราณถึงมีนักสนมมากมายหลายแหล่ เรื่องนี้ซับซ้อน มีเหตุผลมากมายมารองรับ ไม่มีพื้นที่มากพอจะขยับขยายในรายละเอียด เหตุผลหนึ่งคือเพื่อเพิ่มตัวเลือกที่จะมาเป็นรัชทายาท อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเรื่องการเพิ่มพูนบารมีของมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ ใครมีสนมมากก็แสดงว่ามีอำนาจมาก สนมเป็นส่วนหนึ่งของยศบริวาร อำมาตย์ราชพฤฒา เสนาเสนีก็เป็นส่วนหนึ่งของยศบริวาร ทหารหรือกองทัพก็เช่นกัน

ยศบริวาร แปลให้เข้าใจง่ายได้ว่า บริวารคือยศ

กลับเข้าเรื่องต่อ นางอุตตราอีกคนก็คือลูกสาวของปุณณะคนทุกข์ยากผู้ไถนาแล้วดินนากลายเป็นทองคำไปหมด แกมีทองมากมายแค่ไหนหรือ ก็ไม่มากเท่าไร ก็แค่พวกผู้รู้ปุโรหิตในสำนักพระราชากราบทูลว่าในเมืองนี้ไม่มีใครรวยเท่าแกเท่านั้นเอง พระอรรถกถาจารย์ท่านว่าเป็นอานิสงส์ที่ได้ใส่บาตรพระอรหันต์ผู้เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ คำนี้เป็นคำใหญ่คำหลวงในพุทธศาสนา พระพรหมคุณาภรณ์ (สมณศักดิ์ในสมัยนั้นของท่าน) อธิบายไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสน์อันระบือลือลั่นของท่านว่า

นิโรธสมาบัติ การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญาความจำได้หมายรู้ และเวทนาการเสวยอารมณ์ เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ พระอรหันต์และพระอนาคามีที่ได้สมาบัติ 8 แล้วจึงเข้านิโรธสมาบัติได้

นั่นหมายความว่า ใช่ว่าใครๆ ก็เข้านิโรธได้

เข้านิโรธเป็นคำปาก หรือภาษาปาก หรือพูดแบบชาวบ้าน ความหมายจริงๆ ก็คือความหมายของการเข้านิโรธสมาบัตินั่นเอง แต่พูดว่าเข้านิโรธเป็นการพูดแบบกำกวม เผื่อมีใครมาทักท้วงว่าพระอาจารย์ของคุณเป็นพระอรหันต์หรือถึงเข้านิโรธสมาบัติได้ ก็มีช่องให้แถว่าเปล่า เข้านิโรธ ไม่ใช่เข้านิโรธสมบัติ

——————————————————-

ลากลูกทัวร์ถูลู่ถูกังลงข้างทางอีกแล้ว รีบกลับก่อนจะเข้ารกเข้าพงจนกู่ไม่ได้ยิน เรื่องปุณณะคนยากกลายเป็นเศรษฐีในพริบตา ใครเชื่อเรื่องอานิสงส์ก็เชื่อไป ใครไม่เชื่อมันก็มีช่องให้มองเห็นความเป็นไปได้ว่า ใต้ผืนนานั้นมีสายแร่ทองคำแล่นผ่าน หรือไม่ก็อาจเป็นขุมทองที่กษัตริย์แต่ดั้งเดิมโบราณฝังไว้เพราะเหตุผลอะไรสักอย่าง เช่นอาจหนีมหาปัจจามิตรผู้มีพลานุภาพมากกว่าเป็นต้น ห่าอาจลง โคหวิดโบราณอาจไล่ขวิดผู้คนโบราณล้มตายระเนระนาด กษัตริย์เลยหนี ก่อนหนีก็ฝังสมบัติไว้ก่อน อีตาปุณณะแกเป็นคนพบเลยได้ครอบครอง พูดแบบรวบรัดเพื่อจะไปเร็วๆ นะ หลายคนร้อนใจแล้วว่านางเอกถูกนางร้ายตักเนยใสเดือดพล่านราดหัวแล้วจะเป็นอย่างไร อรรถกถาท่านพรรณนาไว้ว่า

—นางอุตตราเห็นนางสิริมาเดินมา จึงแผ่เมตตาไปถึงนางว่า “หญิงสหายของเราทำอุปการะแก่เรามาก, จักรวาลก็แคบเกินไป, พรหมโลกก็ต่ำนัก, ส่วนคุณของหญิงสหายเราใหญ่มาก; ก็เราอาศัยนางนั่น จึงได้เพื่อถวายทานและฟังธรรม; ถ้าเรามีความโกรธเหนือนางสิริมานั้น เนยใสนี้จงลวกเราเถิด; ถ้าไม่มี อย่าลวกเลย.” เนยใสซึ่งเดือดพล่านที่นางสิริมานั้นรดลงเบื้องบนนางอุตตรานั้น ได้เป็นเหมือนน้ำเย็น—

พิจารณาในแง่สัจกิริยาหรือการกล่าวอ้างอำนาจของคำสัตย์ นางอุตตราอ้างว่า ถ้าเราโกรธนางสิริมา เนยเดือดพล่านจงลวกเรา แต่หากเราไม่โกรธเลย เนยร้อนอย่าลวกเรา

มั้ยล่ะ เป็นเราเป็นท่านจะกล้าถึงขนาดนี้ไหม

ผู้เล่าเฒ่าขี้ลมจึงพูดว่านางอุตตราเป็นยอดคน

————————————————————————————————–

เล่ามาถึงตรงนี้ก็จะขออนุญาตลูกทัวร์ทั้งหลายพักผ่อนหย่อนก้นใต้ต้นไม้ร่มใหญ่ตรงนี้สักเล็กน้อย ไม่ไถลลงดอยเก็บหอยในห้วยหรอก อยากพาย้อนไปสู่ความคิดที่ค้างเติ่งมาแต่ตอนก่อนไม่มีโอกาสขายเห็ดลมแปลว่าฟุ้งฝอยสาธยายขยายความคิดความเห็นของตน พูดค้างไว้ว่า

คน เป็นผลิตผลของความคิด

คนชั่วเป็นผลผลิตของความคิดชั่วๆ

คนดีเป็นผลผลิตของความคิดดีๆ

ความคิดชั่วๆ ความคิดเดียว อาจให้กำเนิดคนชั่วนับร้อยนับพัน

แต่ความคิดดีๆ ความคิดเดียว อาจให้กำเนิดคนดีได้ไม่ถึงหนึ่งในร้อย

ที่ว่าคนเป็นผลิตผลของความคิด เพราะคนมีความคิด มีจินตนาการ สัตว์เองก็มีความคิด แต่สัตว์ขาดจินตนาการเป็นส่วนมาก (เป็นส่วนมากนะ ไม่ใช่ทั้งหมด เผื่อช่องไว้นิดหน่อยพอให้ตัวเองแถกแถเอาตัวรอดได้หากคิดผิด) คนเอาจินตนาการ (ความคิดในอนาคต) มาปรุงปนกับความคิดในปัจจุบันได้ แต่สัตว์ทำอย่างนี้ไม่ได้ คนกับสัตว์จึงต่างกันตรงนี้ ความคิดมันมีทั้งความคิดดีๆ กับความคิดชั่วๆ แต่ความคิดชั่วๆ เพียงความคิดเดียวอาจสร้างคนชั่วได้เป็นพัน ส่วนความคิดดีๆ ความคิดเดียวที่อาจมีคนคิดได้เป็นร้อย แต่คนที่ทำได้ตามความคิดนั้นอาจมีไม่ถึงหนึ่งคน

แต่นางอุตตราคิดได้และทำได้ นางจึงเป็นยอดคน

เห็ดลมหมดแล้ว ขายเกลี้ยงกระบุงถุงไถ้ที่ใส่เห็ดลมมาขาย ฟังแล้วไม่ต้องเชื่อตาม นางอยู่เหนือความโกรธ นางไม่โกรธ นี่คือสัจกิริยาของนาง นางไม่ได้รับอันตรายใดๆ จากเนยใสเดือดพล่านที่นางตัวร้ายแต่ภายหลังกลับตัวกลับใจกลายเป็นคนดีที่น่าสรรเสริญอีกคนในตำนานพุทธศาสนาตักมาเต็มทัพพีแล้วราดโครม อรรถกถาท่านเดินความต่อไปว่า

—ลำดับนั้น พวกทาสีของนางอุตตรา เห็นนางผู้ตักเนยใสให้เต็มทัพพีอีกด้วยเข้าใจว่า “เนยใสนี้คงจักเย็น” ถือเดินมาอยู่ จึงคุกคามว่า “นางหัวดื้อ เจ้าจงหลีกไป, เจ้าไม่ควรจะรดเนยใสที่เดือดพล่าน บนเจ้าแม่ของพวกเรา” แล้วต่างลุกขึ้นจากที่นี้บ้าง ที่นั้นบ้าง ใช้มือบ้าง เท้าบ้าง ทุบถีบให้ล้มลงบนพื้น. นางอุตตราไม่สามารถจะห้ามปรามนางทาสีเหล่านั้นได้—

เรียกว่านางคณิกาที่ถูกจ้างมาผู้นั้นถูกรุมตื้บ ลงไปกองเอาะเหยาะเป็นกองผ้าขี้ริ้วเก่าๆ เลยทีเดียว

อรรถกถาท่านบรรยายต่อไปว่านางอุตตรายอดคนหายตกใจก็รีบห้ามปรามทาสีทั้งหลายแล้วไปหาหยูกยามาใส่ให้นางสิริมา สิริมาสำนึกตัวตอนนั้น เล็งเห็นโทษของตัวเองว่า

—ถ้าเราไม่ขอให้นางอุตตรานี้อดโทษให้, ศีรษะ

ของเราจะพึงแตกออก 7 เสี่ยง—จึงหมอบฟุบกราบกรานแทบเท้ายอดหญิงผู้ทรงเมตตาธรรมสูงส่งกล่าวคำขอขมาว่า—คุณแม่ ขอคุณแม่จงอดโทษให้ดิฉันเถิด

ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำที่คัดลอกออกมาจากอรรถกถาฉบับแปลเป็นภาษาไทยในพระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน

นางอุตตรา. ดิฉันเป็นธิดาที่มีบิดา เมื่อบิดาอดโทษให้, ก็จักอดโทษให้.

นางสิริมา. คุณแม่ ข้อนั้นจงยกไว้เถิด, ดิฉันจักให้ท่านปุณณเศรษฐีผู้บิดาของคุณแม่อดโทษให้ด้วย.

นางอุตตรา. ท่านปุณณะ เป็นบิดาบังเกิดเกล้าของคุณแม่ในวัฏฏะ แต่เมื่อบิดาผู้บังเกิดเกล้าในวิวัฏฏะอดโทษให้ ดิฉันจึงจักอดโทษ.

นางสิริมา. ก็ใครเล่า? เป็นบิดาบังเกิดเกล้าของคุณแม่ในวิวัฏฏะ.

นางอุตตรา. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

นางสิริมา. ดิฉันไม่มีความคุ้นเคยกับพระองค์.

นางอุตตรา. ฉันจักทำเอง, พรุ่งนี้ พระศาสดาจักทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จมาที่นี้: เธอจงถือสักการะตามแต่จะได้มาที่นี้แหละ แล้วขอให้พระองค์อดโทษเถิด.

นางสิริมานั้นรับว่า “ดีละ คุณแม่”

ลุกขึ้นแล้วไปสู่เรือนของตนสั่งหญิงบริวาร 500 ให้ตระเตรียมขาทนียะและสูเปยยะ*

(สูเปยฺย วัตถุเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สูปะ.) ต่างๆ อย่าง รุ่งขึ้นก็ถือสักการะนั้นมาเรือนของนางอุตตรา ไม่กล้าจะใส่บาตรภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จึงได้ยืนอยู่แล้ว. นางอุตตรารับเอาสิ่งของทั้งหมดนั้นมาจัดแล้ว.

ในเวลาเสร็จภัตกิจ นางสิริมาพร้อมด้วยบริวาร หมอบลงแทบเบื้องพระบาทของพระศาสดา.

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามนางว่า “เจ้ามีความผิดอะไร?”

นางสิริมา. พระเจ้าข้า วานนี้หม่อมฉันได้ทำกรรมชื่อนี้, เมื่อเป็นเช่นนั้น หญิงสหายของหม่อมฉัน ยังห้ามทาสีซึ่งเบียดเบียนหม่อมฉัน ได้ทำอุปการะแก่หม่อมฉันโดยแท้, หม่อมฉันนั้นรู้สึกถึงคุณของนางนี้ จึงขอให้นางนี้อดโทษ, เมื่อเป็นเช่นนั้น นางกล่าวกับหม่อมฉันว่า ‘เมื่อพระองค์ทรงอดโทษให้ จึงจักอดโทษให้.’

พระศาสดา. อุตตราได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ?

นางอุตตรา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า, วานนี้หญิงสหายของหม่อมฉันได้รดเนยใสที่เดือดพล่าน บนศีรษะของหม่อมฉัน.

พระศาสดา. เมื่อเช่นนั้น เธอคิดอย่างไร?

นางอุตตรา. หม่อมฉันคิดอย่างนี้ว่า ‘จักวาลแคบนัก พรหมโลก ก็ยังต่ำเกินไป, คุณของหญิงสหายข้าพระองค์เท่านั้นใหญ่, เพราะหม่อมฉันอาศัยเขา จึงได้ถวายทานและฟังธรรม; ถ้าว่าหม่อมฉันมีความโกรธอยู่

เหนือนางนี้, เนยใสที่เดือดพล่านนี้ จงลวกหม่อมฉันเถิด, ถ้าหาไม่แล้ว, ขออย่าลวกเลย,’ แล้วได้แผ่เมตตาไปยังนางสิริมานี้ พระเจ้าข้า.

พระศาสดาตรัสว่า “ดีละ ดีละ อุตตรา การชนะความโกรธอย่างนั้น สมควร; ก็ธรรมดาคนมักโกรธ พึงชนะด้วยความไม่โกรธ, คนด่าเขา ตัดพ้อเขา พึงชนะได้ด้วยความไม่ด่า (ตอบ) ไม่ตัดพ้อ (ตอบ), คนตระหนี่จัด พึงชนะได้ด้วยการให้ของตน, คนมักพูดเท็จ พึงชนะได้ด้วยคำจริง” ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

 อกฺโกเธน ชิเน โกธํ             อสาธุํ สาธุนา ชิเน

ชิเน กทริยํ ทาเนน             สจฺเจนาลิกวาทินํ.

“พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ, พึงชนะ

คนไม่ดี ด้วยความดี, พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการ

ให้, พึงชนะคนพูดเหลวไหล ด้วยคำจริง.”

เรื่องอุตตราอุบาสิกาจบ–

เรื่องนางอุตตราผู้ไม่โกรธตามอรรถกถาธรรมบทจบลง แต่พื้นที่ยังเหลือ ขอเล่าต่อถึงนางสิริมาซึ่งก็เป็นนางดีอีกคน นางผู้นี้แต่เดิมเป็นนางคณิกาอยู่ในมหานครราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ นางสวยมาก บุตรชายสุมนเศรษฐี สามีนางอุตตราอาจลุ่มหลงนาง อาจพลั้งปากอะไรสักอย่างจึงทำให้นางเผลอไผลเฟือนฟุ้งไปว่าจะได้เป็นเมียเสี่ยหนุ่มเมืองแขกยุคนั้น แต่เมื่อทำผิดฉกาจฉกรรจ์แต่นางอุตตรากลับไม่โกรธเลย ยิ่งกว่านั้นยังหยูกยาพยาบาลตัวเองด้วยดีอีกต่างหาก สิริมาสำนึกได้ กราบขออภัย อุตตราให้ไปขออภัยจากพ่อของนางคือพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พ่อในวัฏฏะ แต่เป็นพ่อในวิวัฏฏะ วัฏฏะคือหมุนวน คือวงเวียนที่คนเทียวไล้เทียวขื่อ วนๆ วนๆ หาทางออกไม่พบ วิวัฏฏะคือพ้นไปจากวัฏฏะ ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นพ่อผู้ให้กำเนิดของนาง เมื่อนางมีโอกาสขออภัย พระพุทธเจ้าก็ให้อภัย ขออภัยคือขอในสิ่งที่ไม่เป็นโทษ ให้อภัยก็คือให้ในสิ่งที่ไม่เป็นโทษ นางได้ฟังธรรม จบธรรมนางบรรลุโสดาปัตติผล แต่นั้นมานางนิมนต์พระสงฆ์วันละ 8 รูปมารับบิณฑบาตที่เรือนนาง มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งลุ่มหลงในความงามของนางจนไม่เป็นอันปฏิบัติกิจเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น เอาแต่นอนเอามือก่ายหน้าผากจนผ่ายผอมจะตรอมตายอยู่รอมร่อ ต่อมานางสิริมาป่วยหนักจนเสียชีวิต ศพถูกนำไปไว้ในป่าช้าผีดิบ คำว่าป่าช้าผีดิบ ไม่ใช่ป่าช้าที่มีผีดิบอย่างพ่อมดมรรตรัย (สะกดยังไงวะ ช่วยตรวจสอบด้วย) ออกมาเพ่นพ่านเต็มไปหมด ป่าช้าผีดิบแปลว่าที่ไว้ศพที่ยังไม่ได้เผา แต่เผาแล้วท่านก็ไม่เรียกว่าป่าช้าผีสุกนะ พระพุทธองค์ทรงทราบจึงพาภิกษุผู้ลุ่มหลงมัวเมาในความงามของนางสิริมาไปดู โวหารในอรรถกถาท่านว่าไว้ดังนี้

—ในวันที่ 4 สรีระขึ้นพองแล้ว. หมู่หนอนไต่ออกจากปากแผลทั้ง 9. สรีระทั้งสิ้นได้แตกสลายคล้ายถาดข้าวสาลีฉะนั้น. พระราชาให้พวกราชบุรุษตีกลองโฆษณาในพระนครว่า “เว้นเด็กๆ ที่เฝ้าเรือนเสีย ใครไม่มาดูนางสิริมาจะถูกปรับ 8 กหาปณะ,” และได้ส่ง (พระราชสาสน์) ไปสำนักพระศาสดาว่า “นัยว่าภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ขอจงมาดูนางสิริมา; พระศาสดารับสั่งให้เผดียงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “เราทั้งหลายจะไปดูนางสิริมา.” ภิกษุหนุ่มแม้รูปนั้นไม่เชื่อฟังคำของใครๆ เลย ตลอด 4 วัน อดอาหารนอนแซ่วอยู่แล้ว. ข้าวสวยในบาตรบูด, สนิมก็ตั้งขึ้นในบาตร. ลำดับนั้น ภิกษุสหายนั้น จึงเข้าไปหาเธอแล้วบอกว่า “ผู้มีอายุ พระศาสดาจะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา.” เธอแม้ถูกความหิวแผดเผาอย่างนั้น ก็ลุกขึ้นได้โดยรวดเร็ว ในเพราะบทที่กล่าวว่า “สิริมา” นั่นเอง กล่าวถามว่า “ท่านว่าอะไรนะ” เมื่อภิกษุสหายตอบว่า “พระศาสดาจะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา, ท่านจะไปด้วยไหม?” รีบรับว่า “ไปขอรับ” แล้วเทข้าวล้างบาตรใส่ในถลก ได้ไปกับหมู่ภิกษุ. พระศาสดามีหมู่ภิกษุห้อมล้อมแล้ว ได้ประทับอยู่ ณ ข้างหนึ่ง. ภิกษุณีสงฆ์ก็ดี ราชบริษัทก็ดี อุบาสกบริษัทก็ดี อุบาสิกาบริษัทก็ดี ได้ยืนอยู่พวกละข้าง.

ศพนางสิริมาผู้เลอโฉมหาค่ามิได้

พระศาสดาตรัสถามพระราชาว่า “นี่ใคร? มหาบพิตร.”

พระราชา. น้องสาวหมอชีวก ชื่อสิริมา พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. นางสิริมาหรือนี่?

พระราชา. นางสิริมา พระเจ้าข้า.

พระศาสดา ถ้ากระนั้น ขอพระองค์ได้โปรดให้ราชบุรุษตีกลองโฆษณาในพระนครว่า “ใครให้ทรัพย์พันหนึ่ง จงเอานางสิริมาไป.”

พระราชาได้ทรงทำอย่างนั้นแล้ว. ผู้ที่จะออกปากว่า “ข้าพเจ้าหรือว่าเรา” แม้คนหนึ่งก็ไม่มี. พระราชาทูลแก่พระศาสดาว่า “ชนทั้งหลายไม่รับ พระเจ้าข้า.” พระศาสดาตรัสว่า “มหาบพิตร ถ้ากระนั้น จงลดราคาลง (อีก). พระราชารับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า “ใครให้ทรัพย์ 500 จงเอาไป” ไม่ทรงเห็นใครๆ จะรับเอา จึงรับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า

“ใครให้ทรัพย์ 250-200-100-50-25 กหาปณะ, 10 กหาปณะ, 5 กหาปณะ, 1 กหาปณะ, ครึ่งกหาปณะ, บาท 1, มาสก 1, กากณิก 1 แล้วเอานางสิริมาไป” (ก็ไม่เห็นใครจะรับเอาไป) จึงรับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า “จงเอาไปเปล่าๆ ก็ได้.” ผู้ที่จะออกปากว่า “ข้าพเจ้า, หรือว่าเรา” (แม้คนหนึ่ง) ก็ไม่มี. พระราชาทูลว่า “พระเจ้าข้า ชื่อว่าผู้ที่จะรับเอาไปแม้เปล่าๆ ก็ไม่มี.” พระศาสดาจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงดูมาตุคามซึ่งเป็นที่รักของมหาชน, ในกาลก่อน ชนทั้งหลายในพระนครนี้แล ให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้ว ได้ (อภิรมย์) วันหนึ่ง, บัดนี้ แม้ผู้ที่จะรับเอาเปล่าๆ ก็ไม่มี, รูปเห็นปานนี้ ถึงความสิ้นและความเสื่อมแล้ว, ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงดูอัตภาพอันอาดูร” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ อรุกายํ สมุสฺสิตํ

อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ  ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ.

“เธอจงดูอัตภาพ ที่ไม่มีความยั่งยืน (และ)

ความมั่นคง (อันกรรม) ทำให้วิจิตรแล้ว มีกายเป็น

แผล อันกระดูก 300 ท่อนยกขึ้นแล้ว อันอาดูร ที่

มหาชนครุ่นคิดแล้วโดยมาก.

ในเวลาจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแล้วแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน

ภิกษุแม้รูปนั้น ก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

                                                เรื่องนางสิริมา จบ—

Don`t copy text!