นางในพระไตรปิฎก : กิสาโคตมี
โดย : มาลา คำจันทร์
‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด
**********************
โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อมตํ ปทํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อมตํ ปทํ.
เอาคาถาธรรบทมาแปะไว้ ใครอ่านแล้วไม่เข้าใจไม่ต้องคิดว่าตัวเองโง่ มาลมผู้เฒ่าก็ไม่เข้าใจหรอก เพราะว่าไม่ได้เรียนบาลีจบประโยคนั้นประโยคนี้เป็นมหาบาเรียญ เคยเรียนเหมือนกันแต่ในหลักสูตรเอกวิชาภาษาไทยสมัยปริญญาตรี ได้เรียนบาลีหนึ่งคอร์ส กับสันสกฤตอีกหนึ่งคอร์สเท่านั้นเอง ตอนเรียนปริญญาโทก็ไม่ใช่สายตรงทางด้านภาษา แต่เป็นสายตรงทางด้านอักษรโบราณ จำเพาะให้แคบเข้าไปอีกก็คือเรียนสาขาจารึกภาษาไทย เอาจารึกภาษาเขมรมาให้อ่านก็อ่านบ่ได้
แต่ไม่ต้องกังวลอะไร คำแปลมีจ้ะ ท่านผู้แปลอรรถกถาเป็นภาษาไทยท่านแปลไว้ให้แล้ว เดี๋ยวค่อยเอามาไข
กิสาโคตมี เป็นพระเถรีอรหันต์อีกพระองค์หนึ่งที่มีความเป็นมาน่าสนใจ ชีวิตนางผ่านความอาดูรสูญเสียหนักหน่วง อาจไม่หนักหนาสาหัสเท่าพระปฏาจาราเถรี เพราะพระกิสาท่านเสียลูกไปเพียงคนเดียว แต่พระปฏาที่ไม่ใช่พระปฏฏักเสียสามี เสียลูกชายทั้งสอง เสียพ่อแม่และพี่ชายในเวลาไล่เลี่ยกัน
ท่านรับไม่ได้
สติขาดผึง กลายเป็นผีบ้า
แต่พระกิสาท่านไม่ถึงกับบ้า ความเป็นมาของท่าน อรรถกถาธรรมบทท่านกล่าว่า
ได้ยินว่า ทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ในเรือนของเศรษฐีคนหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ได้กลายเป็นถ่านหมดตั้งอยู่. เศรษฐีเห็นเหตุนั้นเกิดความเศร้าโศก จึงห้ามอาหารเสีย นอนอยู่บนเตียงน้อย. สหายผู้หนึ่งของเศรษฐีนั้นถามว่า “เหตุไร จึงเศร้าโศกเล่า? เพื่อน” ฟังความเป็นไปนั้นแล้ว กล่าวว่า “อย่าเศร้าโศกเลย เพื่อน, ฉันทราบอุบายอย่างหนึ่ง,จงทำอุบายนั้นเถิด.”
เศรษฐี. ทำอย่างไรเล่า? เพื่อน.
สหาย. เพื่อน ท่านจงปูเสื่อลำแพนที่ตลาดของตน ทำถ่านให้เป็นกองไว้ จงนั่งเหมือนจะขาย, บรรดามนุษย์ที่มาแล้วๆ คนเหล่าใดพูดอย่างนี้ว่า ‘ชนที่เหลือ ขายผ้า น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น ส่วนท่านนั่งขายถ่าน,’ ท่านพึงพูดกับคนเหล่านั้น ว่า ‘เราไม่ขายของๆ ตนจักทำอะไร?’ ส่วนผู้ใดพูดกับท่านอย่างนี้ว่า ‘ชนที่เหลือ ขายผ้า น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น, ส่วนท่านนั่งขายเงินและทอง,’ ท่านพึงพูดกะผู้นั้นว่า ‘เงินและทองที่ไหน?’ ก็เมื่อเธอพูดว่า ‘นี้,’ ท่านพึงพูดว่า ‘จงนำเงินทองนั้นมาก่อน, แล้วรับด้วยมือทั้งสอง ของที่เขาให้ในมือของท่านอย่างนั้น จักกลายเป็นเงินและทอง; ก็ผู้นั้นถ้าเป็นหญิงรุ่นสาว, ท่านจงนำนางมาเพื่อบุตรในเรือนของท่าน มอบทรัพย์ ๔๐ โกฏิให้แก่นาง พึงใช้สอยเงินทองที่นางให้, ถ้าเป็นเด็กชาย, ท่านพึงให้ธิดาผู้เจริญวัยแล้วในเรือนของท่านแก่เขา แล้วมอบทรัพย์ ๔๐ โกฏิให้แก่เขาใช้สอยทรัพย์ที่เขาให้.
อันที่จริง ตั้งใจจะไม่เรียบเรียงสำนวนภาษาของท่านเลย อยากให้คนอ่านคุ้นเคยแล้วตามไปอ่านพระไตรปิฎกกันเอาเอง แต่หลายคนบ่นเข้าหูว่าช่วยเก็บความให้ง่ายขึ้นสักหน่อยเถอะ เอาพอได้ความนะ ท่านว่าเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถีมีทรัพย์สินมูลค่า ๔๐ โกฏิ หรือประมาณ ๔๐๐ ล้านสมัยกระโน้น แต่ทรัพย์ทั้งหมดกลายเป็นถ่านไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เศรษฐีเศร้าโศกมาก เพื่อนผู้หนึ่งของเศรษฐีถามว่าเศร้าเรื่องอะไร พอได้คำตอบก็แนะอุบายว่าให้เอาทองที่กลายเป็นถ่านไปขาย หากมีผู้ชายมาทักว่าขายทองทำไมก็ให้เอาเป็นลูกเขย หากมีหญิงถามว่าขายทองทำไมก็ให้เอาเป็นลูกสะใภ้ เก็บความรวบๆ นะ
หลังจากนั้นก็มีหญิงสาวคนหนึ่งมาถามว่าขายทองทำไม นางนั้นชื่อว่ากิสาโคตมี กิสา แปลว่าผอมบาง เศรษฐีให้นางจับก้อนถ่านที่ตนมองเหน ถ่านกลายเป็นทองตามเดิม เศรษฐีดีใจมาก จึงส่งไปสู่ขอทาบทามนางมาเป็นสะใภ้ มอบเงินทองทั้ง ๔๐ โกฏิให้นางบริหารจัดการตามคำของเพื่อน อ่านอรรถกถาต่อเลย
กาลล่วงไป ๑๐ เดือน นางคลอดบุตรแล้ว. บุตรนั้นได้ทำกาละแล้วในเวลาเดินได้. นางห้ามพวกชนที่จะนำบุตรนั้นไปเผา เพราะนางไม่เคยเห็นความตาย อุ้มร่างบุตรผู้ตายแล้วด้วยสะเอว ด้วยหวังว่า “จักถามถึงยา เพื่อบุตรเรา” เที่ยวถามไปตามลำดับเรือนว่า “ท่านทั้งหลายรู้จักยาเพื่อบุตรของฉันบ้างไหมหนอ?” ทีนั้นคนทั้งหลายพูดกับนางว่า “แม่ เจ้าเป็นบ้าแล้วหรือ? เจ้าเที่ยวถามถึงยาเพื่อบุตรที่ตายแล้ว.” นางสำคัญว่า “จักได้คนผู้รู้จักยาเพื่อบุตรของเราแน่แท้” จึงเที่ยวไป.
ทีนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่ง เห็นนางแล้วคิดว่า “ธิดาของเรานี้จักคลอดบุตรคนแรก ไม่เคยเห็นความตาย, เราเป็นที่พึ่งของหญิงนี้ย่อมควร” จึงกล่าวว่า “แม่ ฉันไม่รู้จักยา, แต่ฉันรู้จักคนผู้รู้ยา.”
นางโคตมี. ใครรู้? พ่อ.
บัณฑิต. แม่ พระศาสดาทรงทราบ, จงไปทูลถามพระองค์เถิด.
นางกล่าวว่า “พ่อ ฉันจักไป, จักทูลถาม พ่อ” ดังนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่สุดข้างหนึ่ง ทูลถามว่า “ทราบว่า พระองค์ทรงทราบยาเพื่อบุตรของหม่อมฉันหรือ? พระเจ้าข้า.”
พระศาสดา. เออ รารู้.
นางโคตมี. ได้อะไร? จึงควร.
พระศาสดา. ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดสักหยิบมือหนึ่ง ควร.
นางโคตมี. จักได้ พระเจ้าข้า, แต่ได้ในเรือนใคร? จึงควร.
พระศาสดา. บุตรหรือธิดาไรๆ ในเรือนของผู้ใด ไม่เคยตาย. ได้ในเรือนของผู้นั้น จึงควร.
———————————————————————————————————————–
คำตอบนี้สำคัญมาก พระศาสดาไม่ได้ตรัสพระธรรมเทศนาสอนนางตรงๆ แต่ตอบโดยอุบายเพื่อนางตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง โคตมีผู้ผอมบางก็เอาร่างลูกน้อยห้อยเอว ไม่ใช่ สำนวนพาไป ก็เอาร่างของลูกคีบเอวแล้วเดินเที่ยวไปตามในเมือง พบเรือนไหนก็ถามคนเรือนนั้นว่า
“บ้านนี้มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดไหมจ๊ะ”
เมื่อเขาตอบว่ามีจ้า นางก็ถามว่าเรือนนี้มีคนตายไหม เขาก็ตอบว่ามีจ้า นางก็ไปต่อยังเรือนหลังถัดๆ ไปอีกเที่ยวหาอยู่นั่นแล้ว เมล็ดผักกาดจากเรือนที่ไม่เคยมีคนตาย ไม่ได้เลยสักเมล็ด
จนบ่ายเย็นค่ำคล้อย หมู่นกน้อยบินกลับรัง สำนวนในอรรถกถาท่านว่า
เที่ยวถามโดยทำนองนี้ ตั้งแต่เรือนหลังต้น. นางไม่รับเมล็ดพันธุ์ผักกาดแม้ในเรือนหลังหนึ่ง ในเวลาเย็นคิดว่า “โอ กรรมหนัก, เราได้ทำความสำคัญว่า ‘บุตรของเราเท่านั้นตาย,’ ก็ในบ้านทั้งสิ้น คนที่ตายเท่านั้นมากกว่าคนเป็น.” เมื่อนางคิดอยู่อย่างนี้ หัวใจที่อ่อนด้วยความรักบุตร ได้ถึงความแข็งแล้ว. นางทิ้งบุตรไว้ในป่า ไปยังสำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ได้ยืน ณ ที่สุดข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า “เธอได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดประมาณหยิบมือหนึ่งแล้วหรือ?”
นางโคตมี. ไม่ได้ พระเจ้าข้า, เพราะในบ้านทั้งสิ้น คนตายนั้นแหละมากกว่าคนเป็น.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า “เธอเข้าใจว่า ‘บุตรของเราเท่านั้นตาย,’ ความตายนั่นเป็นธรรมยั่งยืนสำหรับสัตว์ทั้งหลาย, ด้วยว่า มัจจุราชฉุดคร่าสัตว์ทั้งหมด ผู้มีอัธยาศัยยังไม่เต็มเปี่ยมนั่นแลลงในสมุทรคืออบาย ดุจห้วงน้ำใหญ่ฉะนั้น” เมื่อจะทรงแสดงธรรมจึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
“มฤตยู ย่อมพาชนผู้มัวเมาในบุตรและสัตว์
ของเลี้ยง ผู้มีใจซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ไป
ดุจห้วงน้ำใหญ่ พัดชาวบ้านผู้หลับไหลไปฉะนั้น.”
กิสาโคตรมีแทงทะลุลึกซึ้งถึงคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงชี้ให้นางเห็นโดยอุบาย ไม่ได้ชี้โดยตรง อันนี้ก็เป็นอีกเทคนิควิธีหนึ่งที่ทรงใช้ในการสอน ไม่สอนตรงๆ ไม่บอกออกปาก แต่หากนางเรียนรู้จากการกระทำ สำนวนทางวิชาการศึกษาท่านว่า Learning by Doing สะกดถูกหรือเปล่าวะ คือให้ไปหาเมล็ดพันธุ์พืชจากเรือนที่ไม่เคยมีใครตายเลย นางหาไม่ได้เลยสักเมล็ด จึงประจักษ์ได้ด้วยตัวเองว่าใช่แต่บุตรของนางเท่านั้นที่ต้องตาย ใครต่อใครต่างต้องตายทั้งนั้น
นางสรุปได้เอง แทงทะลุคำสอนได้ง่าย เมื่อจบพระคาถา นางกิสาโคตมีดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ส่วนคนอื่นๆ ที่ร่วมรับพระธรรมเทศนาก็บรรลุอริยผลกันเป็นส่วนมาก นางทูลขอบวชเป็นภิกษุณี ปรากฏชื่อว่ากิสาโคตมีเถรี อยู่มาวันหนึ่งถึงเวรที่นางเป็นผู้จุดประทีปตามไฟในพระอุโบสถ เห็นเปลวเทียนลุกเรืองและหรี่โรย ด้วยนิมิตนิดเดียวนั้น พลันนางก็เข้าใจลึกซึ้งถึงพระไตรลักษณ์ข้ออนิจจังคือความไม่เที่ยง อรรถกถาท่านว่า
วันหนึ่ง นางถึงวาระในโรงอุโบสถ นั่งตามประทีปเห็นเปลวประทีปลุกโพลงขึ้นและหรี่ลง ได้ถือเป็นอารมณ์ว่า “สัตว์เหล่านี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นและดับไปดังเปลวประทีป, ผู้ถึงพระนิพพาน ไม่ปรากฏอย่างนั้น.
ณ เวลาเดียวกันนั้น… พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นแล ทรงแผ่พระรัศมีไป ดังนั่งตรัสตรงหน้านาง ตรัสว่า “อย่างนั้นแหละโคตมี สัตว์เหล่านั้น ย่อมเกิดและดับเหมือนเปลวประทีป, ถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมไม่ปรากฏอย่างนั้น; ความเป็นอยู่แม้เพียงขณะเดียว ของผู้เห็นพระนิพพาน ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นพระนิพพานอย่างนั้น” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อมตํ ปทํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อมตํ ปทํ.
“ก็ผู้ใด ไม่เห็นบทอันไม่ตาย พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียว ของผู้เห็นบทอันไม่ตาย ประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่ของผู้นั้น.”
————————————————————————–
สำนวนที่แปลเป็นภาษาไทย มันติดๆ ขัดๆ อย่างไรไม่รู้ ขอขมาต่อท่านผู้แปล ไม่ได้ตำหนิติเตียน เข้าใจอยู่ว่าท่านต้องรักษาทั้ง “อรรถ” และ “พยัญชนะ”โดยเคร่งครัด แต่บางครั้งการรักษาอรรถและพยัญชนะมันกระทบกระเทือนต่อรสที่คนอ่านหรือคนฟังพึงได้รับ ข้อความที่ท่านแปลไว้ก่อนหน้าที่ว่า
ความเป็นอยู่แม้เพียงขณะเดียว ของผู้เห็นพระนิพพาน ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นพระนิพพานอย่างนั้น… ดูจะมีผลต่อการรับรู้ของผู้อ่านผู้ฟังที่เป็นคนทั่วไปมากกว่า
เรื่องของพระกิสาโคตมีเถรีในอรรถกถาธรรมบทจบลง แต่ในอรรถกถาเถริยาปทานก็มีเรื่องของท่านปรากฏอีกที่หนึ่ง คำว่าเถริยาปทาน มาจากคำว่าเถรีกับอปทานรวมกัน รวมโดยกรรมวิธีทางไวยากรณ์ของท่าน ออกจะยากหน่อยสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนบาลีอย่างพวกเรา เถริยาปทานแปลว่าประวัติของพระเถรี ท่านย้อนเรื่องไปไกลมาก โน้น…. ย้อนหลังไปแสนกัปจากปัจจุบัน แต่เมื่อครั้งพระปทุมุตระลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีมากมายหลายพระองค์นะ เฉพาะที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธวงศ์มีอยู่ ๒๙ พระองค์ พระโคตมะ หรือพระโคดมที่เราเรพนับถือกันอยู่ในปัจจุบันเป็นองค์ที่ ๒๘ ส่วนพระปทุมุตระเป็นองค์ที่ ๑๓ เรื่องราวของพระอรหันตเถรีพระองค์นี้ในคัมภีร์นั้นจะเป็นอย่างไรไปอ่านกันเองนะจ๊ะ
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๓)
- READ นางในพระไตรปิฎก : แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (2)
- READ นางในพระไตรปิฎก : ปฏาจาราผู้เศร้าสูญ
- READ นางในพระไตรปิฎก : มาณวิกานางหนึ่ง
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางดี ไม่มีชื่อ
- READ นางในพระไตรปิฎก : นฬินิกา จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กินรีเทวี
- READ นางในพระไตรปิฎก : ทุษฐกุมารี นางดุร้าย
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (2)
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กิสาโคตมี
- READ นางในพระไตรปิฎก : จันทากินรี อดีตชาติของพระนางพิมพา
- READ นางในพระไตรปิฎก : กุณฑลเกสี พระเถรีผู้ผลักผัวลงเหว
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (4)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (2)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (3)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (1)