นางในพระไตรปิฎก : อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป
โดย : มาลา คำจันทร์
‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด
**********************
[2479] แน่ะ นางอลัมพุสาผู้เจือปนด้วยกิเลส สามารถจะเล้าโลมฤๅษีได้ เทวดา
ชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ขอร้องเจ้า เจ้าจงไปหาอิสิสิงคดาบสเถิด.
[2483] หม่อมฉันอันท้าวเทวราชทรงใช้ จักไม่ไปหาได้ไม่ แต่ว่าหม่อมฉันกลัว
ที่จะเบียดเบียนดาบสนั้น เพราะท่านเป็นพราหมณ์มีเดชฟุ้งเฟื่อง. ชน
ทั้งหลายมิใช่น้อย เบียดเบียนฤๅษีแล้วต้องตกนรก ถึงสังสารวัฏเพราะ
ความหลง เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันขนลุกขนพอง.
ข้อความที่ยกมา เอามาจากอลัมพุสาชาดก ส่วนที่เป็นตัวชาดกจริงๆ ไม่ใช่อรรถกถาหรือคำอธิบาย ยังไม่ต้องกังวลใจอะไร อ่านเอาความงุนงงสงสัยไปก่อน เดี๋ยวจะเข้าใจไปเอง
ชาดกเรื่องนี้ท่านเริ่มต้นด้วยความวิตกกังวลของพระอินทร์ อันเนื่องจากดาบสหนุ่มตนหนึ่งบำเพ็ญพรตจนมีตบะแก่กล้า เนื้อความในอรรถกถาท่านกล่าวว่า
ครั้งนั้นพิภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหว ด้วยเดชแห่งศีลของพระดาบส ท้าวสักกเทวราชทรงใคร่ครวญดูก็ทราบเหตุนั้น ทรงพระดำริว่า พระดาบสนี้จะพึงยังเราให้เคลื่อนจากความเป็นท้าวสักกะ เราจักต้องส่งนางอัปสรคนหนึ่งให้ไปทำลายศีลของเธอ ดังนี้แล้ว ทรงพิจารณาเทวโลกทั้งสิ้น ในท่ามกลางเหล่าเทพบริจาริกาจำนวนสองโกฏิครึ่งของพระองค์ มิได้ทรงเห็นใครอื่นซึ่งสามารถที่จะทำลายศีลของพระอิสิสิงคดาบสได้ นอกจากนางเทพอัปสร ชื่ออลัมพุสา
ผู้เดียว จึงรับสั่งให้นางมาเฝ้าแล้วทรงบัญชาให้ทำลายศีลของพระอิสิสิงคดาบสนั้น.
พูดง่ายๆ ว่าพระอินทร์องค์ปัจจุบันที่ยังประทับนั่งอยู่บนพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พรั่นพรึงหวั่นไหวในบุญญานุภาพของดาบสหนุ่ม เกรงว่าตนจะเคลื่อนจากความเป็นพระอินทร์ เหมือนพระอินทร์องค์ก่อนที่เคลื่อนหรือจุติไปเพราะพระองค์ขึ้นมาเบียด เล่าแล้วงงไหม มีพระอินทร์เก่าพระอินทร์ใหม่ด้วยหรือ มีสิจ๊ะ
พระอินทร์ที่อยู่ในความรับรู้ของคนไทยมีสองแบบ แบบแรกคือพระอินทร์แบบพราหมณ์อย่างที่อยู่ในเรื่อง รามเกียรติ์ ที่เสียหายขายหน้าหลายหน เช่นรบแพ้อินทรชิตลูกชายของทศกัณฐ์บ้างละ ถูกฤๅษีทุรวาสสาปให้มีโยนีตั้งพันติดตามตัว ต้องขอขมาฤๅษี ฤๅษียกโทษให้เลยยอมแก้ไขรูปโยนีให้กลายเป็นดวงตา พระอินทร์แบบพราหมณ์เลยได้ชื่ออีกชื่อว่าท้าวสหัสนัยน์ แปลว่าท่านท้าวผู้มีดวงตาตั้งพันดวง แต่คำว่าสหัสนัยน์ที่แปลว่าดวงตาพันดวงนี้ พุทธศาสนาอธิบายอีกแบบ ปรากฏในสักกสังยุตต์ สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพย่อมทรงคิดเนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียวเพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์”
เรียกว่าตีความกันคนละแบบ
พระอินทร์แบบพราหมณ์ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติคือเคลื่อนไป อยู่ในตำแหน่งโดยตลอด แต่ก็มีเสื่อมฤทธิ์เสื่อมเดชไปบ้าง อยู่ไปนานเข้า ในตัวศาสนาเองมีความเปลี่ยนแปลง เกิดเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ชุดใหม่ขึ้นมา พระอินทร์ถูกลดบทบาทลง บางช่วงตกต่ำถึงขั้นถูกฤๅษีซึ่งเป็นคนบนโลกแต่มีตบะเดชะแก่กล้าสาปให้มีโยนีติดเต็มตัวอย่างที่ได้เล่าไปแล้ว
พระอินทร์อีกแบบเป็นพระอินทร์แบบพุทธ ไม่เที่ยง ไม่คงทน มีเกิดมีดับ ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาที่ได้สะสมมา หากบุญวาสนาเสื่อม แล้วเกิดมีมนุษย์คนอื่นบำเพ็ญบุญมาแก่กล้าพอจะแข่งบารมีกับพระองค์ได้ พระอินทร์ก็หวั่นไหวกลัวเคลื่อนไปจากทิพอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจอย่างบทกลอนใน สังข์ทอง พรรณนาไว้ เรื่องพระอินทร์สนุกมาก เล่าแบบพุทธก็สนุก เล่าแบบพราหมณ์ก็สนุก แต่ในเรื่องอลัมพุสาชาดกนี้ จะเล่าแบบพุทธตามเรื่องราวที่ท่านผูกไว้ สองคาถาที่ยกมาเกริ่นที่มีหมายเลขในวงเล็บใหญ่คร่อมไว้เป็นข้อความในพระไตรปิฎก สมัยแรกๆ เมื่อเริ่มทำสังคายนากัน เฉพาะเนื้อความในพระคาถา อาจยังสื่อสารกันได้ เข้าใจตรงกัน แต่ต่อมาเวลาผ่านไปนาน รายละเอียดที่ไม่ได้สาธยายจดจำกันอาจเลือนหาย จำได้ไม่หมด หรือถ้อยคำอาจคลาดเคลื่อน ความหมายอาจเปลี่ยนไป พระอรรถกถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทรงความรู้ในพระไตรปิฎกจึงจำเป็นต้องแต่งอรรถกถามาช่วยอธิบาย ต่อมาอีก วันเวลาคลี่คลายยืดยาวออกไป ข้อความในอรรถกถาอาจเป็นปัญหาในแง่การสื่อสารอีก พระฎีกาจารย์รุ่นหลังจึงต้องมาแต่งฎีกาอธิบายอรรถกถาอีกที
————————————————————————————————————————
ชาดกเรื่องนี้ ปรารภเหตุถึงภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งอยากสึกเพราะเมียเก่าตามตอแย พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุ จึงยกเอาชาดกเรื่องนี้มาเล่าว่า ไม่ใช่เพียงชาตินี้นะที่เธอเสื่อมจากธรรม ชาติกระโน้นเธอก็เสื่อมจากฌานเพราะผู้หญิงเหมือนกัน แล้วก็ยกเอาชาดกเรื่องอิสิสิงคดาบสกับนางอลัมพุสามาเล่าว่าแต่เมื่อเนิ่นเนาเก่าก่อน สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เอาชาติเป็นกุลบุตรอยู่ในเมืองนั่นเอง โตแล้วร่ำเรียนศิลปศาสตร์นานาครบถ้วนแล้วออกไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์ ยังฌานตบะแก่กล้าให้เกิดแก่ตัวท่านได้ ใกล้ๆ อาศรมบทของท่านมีนางเนื้อตัวหนึ่งอาศัยอยู่ วันหนึ่งนางไปดื่มน้ำปัสสาวะของพระฤๅษีแล้วตั้งท้องคลอดลูกออกมาเป็นคน
เรื่องการตั้งท้องหรือตั้งครรภ์นี้ คนโบราณท่านมีความเชื่อแปลกๆ ในอรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมวิภาค ท่านบันทึกเหตุที่ทำให้ผู้หญิงตั้งท้องได้ด้วยประการอื่นๆ ว่ามีอยู่ 7 ประการ ได้แก่ 1.เพราะการเคล้าคลึงกาย 2.เพราะการจับผ้านุ่งห่ม 3.เพราะการดื่มน้ำอสุจิ 4.เพราะการลูบคลำที่สะดือผู้หญิง 5.เพราะการจ้องดูรูป 6.เพราะการฟังเสียง 7.เพราะการดมกลิ่น พร้อมกันนั้น ท่านก็ยกตัวอย่างประกอบด้วย ทำให้เราได้รับรู้รับทราบถึงความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมและเรื่องราวที่อาจเกิดขึ้นจริง หรือที่ท่านเชื่อว่ายกตัวอย่างจากการได้ยินเสียงก็ทำให้ตั้งครรภ์ได้จากที่ท่านบันทึกไว้มาแสดงดังนี้
อนึ่ง บรรดานกตะกรุมทั้งหลาย (นกยาง) ชื่อว่านกตะกรุมตัวผู้ย่อมไม่มี. นางนกตะกรุมเหล่านั้น ในเวลาที่ตนมีระดู ครั้นได้ฟังเสียงเมฆ (คำราม) แล้วย่อมตั้งครรภ์ ถึงแม่ไก่ทั้งหลายจะมากตัวก็ตาม ในกาลบางครั้งครั้นได้ฟังเสียงไก่ผู้ตัวเดียว (ขัน) ก็ย่อมตั้งครรภ์ได้. ถึงแม่โคทั้งหลาย ครั้นได้ฟังเสียงโคอุสภะ (โคตัวผู้) แล้ว ก็ย่อมตั้งครรภ์เหมือนอย่างนั้น. การตั้งครรภ์ย่อมมีได้เพราะเสียง ด้วยอาการอย่างนี้.
กลับเข้าสู่ชาดก แม่เนื้อคลอดลูกออกทารกเพศชาย พระดาบสเอาไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อให้ว่าอิสิสิงคกุมาร อ่านเนื้อความในอรรถกาเลยนะ ไม่ยาก
ในเวลาต่อมา พระมหาสัตว์จึงให้อิสิสิงคกุมารผู้รู้เดียงสาแล้วบวช ในเวลาตนชราลงได้พาดาบสกุมารนั้นไปสู่นารีวัน กล่าวสอนว่า ลูกรัก ขึ้นชื่อว่าสตรีเช่นกับดอกไม้เหล่านี้ มีอยู่ในป่าหิมพานต์นี้ สตรีเหล่านั้นย่อมยังชนผู้ตกอยู่ในอำนาจตน ให้ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวงได้ ไม่ควรที่เจ้าจะไปสู่อำนาจของสตรีเหล่านั้นดังนี้แล้ว ครั้นในเวลาต่อมา ก็ทำกาลกิริยา เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ฝ่ายอิสิสิงคดาบส เมื่อประลองฌานกีฬาก็พักอยู่ในหิมวันต-
ประเทศ ได้เป็นผู้มีตบะกล้า เป็นผู้มีอินทรีย์อันชำนะแล้วอย่างยวดยิ่ง. ครั้งนั้นพิภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหว ด้วยเดชแห่งศีลของพระดาบส ท้าวสักกเทวราชทรงใคร่ครวญดูก็ทราบเหตุนั้น ทรงพระดำริว่า พระดาบสนี้จะพึงยัง
เราให้เคลื่อนจากความเป็นท้าวสักกะ เราจักต้องส่งนางอัปสรคนหนึ่งให้ไปทำลายศีลของเธอ ดังนี้แล้ว ทรงพิจารณาเทวโลกทั้งสิ้น ในท่ามกลางเหล่าเทพบริจาริกาจำนวนสองโกฏิครึ่งของพระองค์ มิได้ทรงเห็นใครอื่นซึ่งสามารถที่จะทำลายศีลของพระอิสิสิงคดาบสได้ นอกจากนางเทพอัปสร ชื่ออลัมพุสาผู้เดียว จึงรับสั่งให้นางมาเฝ้าแล้วทรงบัญชาให้ทำลายศีลของพระอิสิสิงคดาบสนั้น.
อ่านมาถึงตรงนี้ผู้เล่าเฒ่ามาลมขอแทรกนิดหน่อย จะเอาพระคาถาในพระไตรปิฎกที่ยกมาเกริ่นตอนต้นเรื่องมาต่อตรงนี้เลย จะได้หายงง
[2479] แน่ะ นางอลัมพุสาผู้เจือปนด้วยกิเลส สามารถจะเล้าโลมฤๅษีได้ เทวดา
ชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ขอร้องเจ้า เจ้าจงไปหาอิสิสิงคดาบสเถิด.
[2483] หม่อมฉันอันท้าวเทวราชทรงใช้ จักไม่ไปหาได้ไม่ แต่ว่าหม่อมฉันกลัว
ที่จะเบียดเบียนดาบสนั้น เพราะท่านเป็นพราหมณ์มีเดชฟุ้งเฟื่อง. ชน
ทั้งหลายมิใช่น้อย เบียดเบียนฤๅษีแล้วต้องตกนรก ถึงสังสารวัฏเพราะ
ความหลง เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันขนลุกขนพอง.
หมายเลขในวงเล็บใหญ่ หมายถึงนับเบอร์ประจำคาถา หมายเลข 2479 เป็นถ้อยคำของพระอินทร์ที่เรียกนางอลัมพุสาเฝ้า มีอีกสามพระคาถาตัดออกไป หมายเลข 2483 เป็นคำกราบทูลของนางอัปสรทวยเทพธิดาผู้เป็นบริวารท่านท้าวสหัสนัยน์ไตรตรึงศา นางไม่เต็มใจเลยนะ อิดๆ ออดๆ ไม่อยากไปเลย กลัวจะตกนรกเพราะไปทำลายศีลของดาบสผู้เป็นพราหมณ์อันมีเดชฟุ้งเฟื่องกระเดื่องไกล คำว่าพราหมณ์มีหลายความหมาย ความหมายสามัญหมายถึงคนในวรรณพราหมณ์ทั่วๆ ไป ความหมายในทางศาสนาหมายถึงผู้มีบาปอันลอยแล้ว หมายความว่าชำระบาปหรือขจัดบาปปฏิกูลในตัวได้หมดจดแล้ว นางกลัวจะตกนรก กลัวต้องไปว่ายเวียนเป็นวงในวัฏสงสารคือการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบไม่รู้สิ้น แต่จะไม่ไปก็ไม่ได้เพราะเจ้านายสั่ง นางจึงพูดว่า
“หม่อมฉันขนลุกขนพอง”
——————————————————————————————————————————
พระอินทร์หวั่นไหวมาก ข้อความในอรรถกถาตอนหนึ่งกล่าวว่า ดาบสนี้จะครอบงำพวกเราไม่ได้ คือไม่ครอบงำ ทำให้พวกเราเคลื่อนจากที่ได้เพียงใด เจ้าจงไปห้ามมรรคที่จะไปสู่เทวโลกของเธอเสียเพียงนั้น เธอจงทำโดยประการที่ดาบสนั้นจะมาในที่นี้ไม่ได้
อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป จึงต้องไปทำบาปมหันต์นั่นคือทำลายพรหมจรรย์ของดาบสผู้มีนูนเนื้อเป็นปุ่มสองปุ่มคล้ายเขากวางหนุ่ม คำว่าทำลายพรหมจรรย์ไม่ใช่คำสามัญแบบที่เรียกว่าถ้อยคำหนโลก แต่เป็นคำทางศาสนา ความหมายรุนแรงกว่าปลุกปล้ำชำเราหรือข่มขืนฝืนใจผู้อื่น แม้จะเป็นเพียงแค่นี้ก็บาปมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นางถูกบังคับให้ไปทำคือการทำลายความประพฤติแบบพรหมของพระดาบสหนุ่มน้อยอ้อยหล้อยเอวบาง ไปขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้หนุ่มมีปุ่มหัวเหมือนเขากวางพบทางขึ้นสู่เทวโลก
นางลงมาจากดาวดึงส์ ดาวดึงส์อยู่ที่ไหน อยู่บนฟ้า เป็นสวรรค์ชั้นที่สอง พระอินทร์เป็นเจ้าเป็นใหญ่อยู่ยังสวรรค์ชั้นนี้ สวรรค์มีทั้งหมดหกชั้น ชั้นสูงสุดเป็นที่อยู่ของพญามารผู้จ้องแต่จะทำลายพระพุทธองค์
เรื่องมารก็น่าคิด น่าเล่า แต่เอาไว้ก่อน แล้วแต่วาสนาคือความผูกพันกันมาแต่ชาติปางก่อนระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง เรื่องนางอลัมพุสาตั้งใจจะเขียนตอนเดียว รีบเล่าละ พยายามจะไม่พาลูกทัวร์แวะลงข้างทาง ควบคุมยาก หมายถึงควบคุมตัวเองนะ นางอลัมพุสาเข้าไปหาดาบสหนุ่มในเวลาเช้า ท่านกำลังกวาดโรงไฟอยู่ ฤๅษีเห็นนางย่างเยื้องชำเลืองเดินเข้ามาก็ตะลึง ไม้กวาดแทบหลุดจากมือกระมัง พระคาถาหรือถ้อยคำที่ร้อยกรองเป็นบทกวีตรงนี้ไพเราะมาก ไม่ได้อ่านจากภาษาบาลีนะ แต่อ่านจากภาษาไทยที่ท่านแปลไว้แล้ว จะเอามาลงก็ยืดยาวมาก อย่ากระนั้นเลย ท่านผู้ใช้บริการอ่านเอาทัวร์ไปหาอ่านกันเองเน้อ
ฝ่ายนางอลัมพุสาผู้ซึ่งพระอินทร์เรียกว่าผู้เจือปนด้วยกิเลส เห็นอาการเช่นนั้นของดาบสผู้ถือปฏิสนธิในท้องแม่เนื้อ ก็รู้ได้เลย
“เสร็จตูแล้ว”
ทำไมพระอินทร์เรียกนางโดยมีคำว่าผู้เจือปนด้วยกิเลส อรรถกถามีคำอธิบายว่า เพราะคลุกเคล้าระคนด้วยกิเลสในบุรุษ. อีกแห่งท่านกล่าวถึงคุณสมบัติพิเศษของนางอลัมพุสาที่ไม่มีในนางเทพอัปสรใดๆ ว่า นางเทพอัปสรเหล่านั้นไปถึงชายเข้าแล้ว ย่อมไม่รู้จักการบำเรออย่างที่เจ้ารู้.
อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป บรรลุภารกิจที่จอมเทพแห่งดาวดึงส์มอบหมายให้ทำสำเร็จ ด้วยอำนาจคือคุณสมบัติที่นางมี ฤๅษีหนุ่มน้อยแม้แก่กล้าทางฌานและตบะแค่ไหนก็ไม่อาจต้านทานได้ ฤๅษีตบะแตก สู่สมเสพสมกับนางแล้วหลับไปสามปี ฌานเสื่อม เมื่อฟื้นขึ้น นางอลัมพุสาหมอบแทบเท้ากราบขอขมาว่าไม่อยากทำเลยแต่จำใจทำ ฤๅษีอภัยให้นาง นางกลับสู่ดาวดึงส์ พระอินทร์ชมเชยยกใหญ่ ให้โอกาสนางขอพรได้ตามใจ พรที่นางขอก็คือ
ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะทรงประทานพรแก่หม่อมฉันไซร้
ขออย่าให้หม่อมฉันต้องไปเล้าโลมพระฤๅษีอีกเลย
ข้าแต่ท้าวสักกะหม่อมฉันขอพรข้อนี้.
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๓)
- READ นางในพระไตรปิฎก : แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (2)
- READ นางในพระไตรปิฎก : ปฏาจาราผู้เศร้าสูญ
- READ นางในพระไตรปิฎก : มาณวิกานางหนึ่ง
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางดี ไม่มีชื่อ
- READ นางในพระไตรปิฎก : นฬินิกา จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กินรีเทวี
- READ นางในพระไตรปิฎก : ทุษฐกุมารี นางดุร้าย
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (2)
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กิสาโคตมี
- READ นางในพระไตรปิฎก : จันทากินรี อดีตชาติของพระนางพิมพา
- READ นางในพระไตรปิฎก : กุณฑลเกสี พระเถรีผู้ผลักผัวลงเหว
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (4)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (2)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (3)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (1)