ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (1)
โดย : มาลา คำจันทร์
‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด
อีถ่อยฉิบหาย อีถ่อยละลาย อีนางโจร อีนางนักเลง อีเผอเรอ อีใจง่าย อีไม่รู้คุณคน อีไปตามใจเหมือนลม (กุณาลวาท)
อย่าเพิ่งงุนงงสงสัยอะไรนะ ลิเกเพิ่งโหมโรงเพื่อเรียกแขกเท่านั้นเอง ยังไม่ทันจะออกแขกเสียด้วยซ้ำ
เอ่ยคำว่าออกแขก ไม่แน่ใจว่าผู้อ่านอายุแต่สี่สิบลงมาจะรู้จักไหม ออกแขกคือการขับขานของคณะลิเกก่อนจะเปิดฉากแรก ประโยคคุ้นๆ ในหูผู้เฒ่ามาลมคนนี้คือ…แขกสะลามมานา ละลาละลา ละลาละลา ลาลา ลาลาลาลา— แล้วก็มักจะมีถ้อยคำไทยปนแขกบอกกล่าวนั่นนี่ ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ไอ้ส่วนที่ไม่รู้เรานึกว่าเป็นคำแขก ต่อเมื่อโตมีเพื่อนแขก ถามแขกว่าลิเกมันว่าอย่างไร เพื่อนแขกก็บอกกูก็ไม่รู้ว่ะ ไม่ใช่คำแขก…เอ๊า เป็นงั้นไป
นึกไปถึงเรื่องราวคล้ายคลึงกัน คือเพลงม่านมุ้ยเชียงตา ที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีคิดค้นท่าร่ายรำแล้วให้นักแต่งเพลง นักแต่งทำนองดนตรีในสังกัดของท่านแต่งเนื้อร้องแต่งทำนอง ตัวเนื้อมีถ้อยคำคล้ายจะเป็นคำม่านหรือภาษาพม่าเยอะแยะเลย เราฟังไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นภาษาพม่า ต่อมาในวัยปลายของชีวิต มีโอกาสได้รู้จักอาจารย์ม่าน (พม่า) สอนคำม่านหรือภาษาพม่าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถามท่านว่าคำม่านในม่านมุ้ยเชียงตาว่ากล่าวอะไรไว้บ้าง ท่านส่ายหน้าว่าไม่รู้ ไม่ใช่ภาษาพม่า ก็เลยทำให้นึกถึงถ้อยคำของนักเขียนใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้ว ท่านว่าวรรณกรรมทำให้เหมือนจริง ไม่จำเป็นต้องเป็นจริง
ฝากให้ลูกหลานเอาไปคิดด้วยนะ
กลับไปคุยกันเรื่องลิเกก่อน สมัยเก่าก่อนตอนมาลมผู้เฒ่ายังเป็นละเอ็กละอ่อนอายุราว 7-8 ขวบ อยู่จังหวัดขอบปลายชายแดนทางภาคเหนือ ยังมีลิเกร่อนเร่คณะหนึ่งมาตกค้างอยู่ที่ตลาดในหมู่บ้าน สาเหตุอะไรที่ต้องตกค้างไม่รู้แจ้ง รู้แต่ว่าไม่มีค่าเดินทางจะไปต่อ เลยเล่นลิเกหาเงินเลี้ยงดูกันทุกคืน พอกินบ้างไม่พอกินบ้างหรืออย่างไรไม่รู้เพราะเรายังเด็กอยู่มาก ไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้แต่พวกผู้ใหญ่คงรู้ ยามแลงแสงอ่อนตะวันรอนลับ เขาจะโหมโรงเรียกแขกรัวระนาดเร้าใจ มีเสียงกลองตัดกลองทัดหรือกลองมโหระทึกตึกตำตัดเสียงระนาดตุ่มๆ ตุ้มๆ เป็นเสียงต่ำ มันระทึกตึกเต้นในหัวอกหัวใจดีนัก วันใดจะได้ดูลิเกเราจะเร่งอาบน้ำแต่ตอนตะวันต่ำตกนกกลับรัง ไม่ได้ไปทุกคืน ได้ไปบางคืนที่แม่ หรือน้าอาป้าลุงมีค่าผ่านประตู พวกเราเป็นเด็กไม่ต้องเสีย แต่หากไปเองไม่มีผู้ใหญ่เสียค่าผ่านประตูเขาก็ไม่ให้เข้าดู เขาไม่ได้เล่นเรื่องนางปัญจปาปีราชเทวีสองผัวหรอก เรื่องนี้มันอยู่ลึกเข้าไปในพระไตรปิฎก เล่นเรื่องอื่น พื้นๆ ดาษๆ อย่างเรื่องเจ้าหงส์หิน หมาขนคำอะไรทำนองนี้ แต่ตอนนี้ที่แก่เฒ่าจับเอาเรื่องนางปัญจปาปีมาเขียน นึกถึงลิเก ก็เลยเอามาประกอบการเกริ่นเหมือนลิเกโหมโรงออกแขกเท่านั้นเอง
โหมโรงก็ยาว ออกแขกก็ยาว ไม่ใช่อะไรหรอก พาออกนอกเรื่องไปไกลเพื่อจะล่อให้หลง ที่ยกมาเกริ่นสองย่อหน้าแรกยังไม่ต้องสนใจอะไรก็ได้ แง้มประตูให้กว้างอีกนิดว่าเอาออกมาจากอรรถกถาชาดก ขุททกนิกาย สุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกฉบับแปลออกเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว
พระไตรปิฎกคืออะไร
พระไตรปิฎกคือคัมภีร์สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา
พระไตรปิฎกใช่จะมีแต่เรื่องยากๆ เครียดๆ
เรื่องสนุกๆ ก็มี
ได้ความคิดดีๆ ว่าน่าจะเขียนสนุกในพระไตรปิฎก เผื่อจะชักชวน จูงใจให้คนไทยที่นับถือพุทธศาสนาหันมาสนใจพระไตรปิฎกมากกว่านี้ ก็เลยทดลองทำดู
เรื่องแรก สนุกไหม ยังไม่บอก เอาออกจากกุณาลชาดก ชาดกคืออะไร ชาดกคืออดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงเล่าเอง คนอื่นเล่าไม่เรียกว่าชาดก เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงใช้อตีตังสญาณ หรือญาณหยั่งรู้อดีต หรือญาณระลึกชาติสอดส่องมองเข้าไปในอดีตกาลที่พระองค์เคยผ่านมาแล้วในชาติปางก่อนตอนที่ยังไม่ได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คนรุ่นใหม่ คนหัวสมัยใหม่อาจคลางแคลงใจว่าจริงเร้อ การระลึกชาติมีจริงเหรอ เอาอะไรมาพิสูจน์ ทดลองได้มั้ย ตั้งสมมุติฐาน หาหลักฐานมาแสดงให้มันชัดเจนสิ อะไรทำนองนี้
ไม่เป็นไร ไม่เชื่อไว้ก่อนนั่นแหละดี พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเชื่อง่ายๆ แต่ก็ไม่เคยสอนว่าอะไรที่เธอไม่เชื่อให้ปฏิเสธทันที
ทรงสอนให้คิด ตรึกตรองให้ถ่องแท้ พินิจพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้วค่อยเชื่อ ญาณเป็นเรื่องละเอียดลออลึกซึ้งมาก จะเชื่อตามพระองค์ก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ไม่บังคับให้เชื่อ ไม่ผิด ไม่บาป
กุณาลชาดกเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงเล่าให้เหล่าราชกุมารบวชใหม่ 500 รูปฟัง ยกเอาเรื่องราวปางที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพญานกดุเหว่ามาเล่า สาเหตุที่เล่าเรื่องนี้ก็เพราะประสงค์จะให้ราชกุมารบวชใหม่ทั้งหลายคลายกำหนัดกลัดกลุ้มเกี่ยวกับมาตุคามจึงยกเอากุณาลชาดกมาแสดง
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับนางปัญจปาปี ราชเทวีสองผัวบวกกับอีกหนึ่งชู้
เกี่ยวตรงที่เรื่องนางปัญจปาปีเป็นเรื่องย่อยเรื่องหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในกุณาลชาดก ข้อความสองย่อหน้าที่ยกเอามาล่อแล้วสร้างความงุนงงสงสัยให้แก่ผู้อ่านนั้น ย่อหน้าแรก มีวงเล็บต่อท้ายว่ากุณาลวาท กุณาลหรือกุณาละคือชื่อของพญานกดุเหว่าผู้เป็นโพธิสัตว์ โพธิสัตว์คือผู้ที่จะตรัสรู้ในเวลาข้างหน้า ตอนที่ยังเป็นโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ จึงยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ในชาตินี้พระพุทธองค์เป็นพญานกดุเหว่าชื่อกุณาลหรือกุณาละ ส่วนคำว่าวาทที่มาต่อท้ายกุณาลกลายเป็นกุณาลวาทนั้น แปลว่าคำพูดหรือถ้อยคำ รวมๆ แล้ว กุณาลวาทแปลว่าคำพูดของกุณาละ หรือถ้อยคำของกุณาละ
ลองกลับไปอ่านกันอีกที
“อีถ่อยฉิบหาย อีถ่อยละลาย อีนางโจร อีนางนักเลง อีเผอเรอ อีใจง่าย อีไม่รู้คุณคน อีไปตามใจเหมือนลม” (กุณาลวาท)
อ่านเผินๆ อ่านโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้จุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์ ก็อาจลงความเห็นทันทีว่าวาทะนี้หยาบคาย เป็นคำตำหนิ ก่นด่าและประณามผู้หญิงเสียๆ หายๆ ผู้เล่าไม่แก้ต่างแก้แทนอะไรทั้งสิ้นนะ ผู้อ่านหลานเหลนที่เป็นสาวแส้แร่รวยอย่าเพิ่งเดือดไหม้ไส้ขม ใจเย็นๆ ลองฟังไปก่อน ฟังให้จบแล้วค่อยสรุปน่าจะดีกว่านะ ถ้อยคำที่ยกมา เป็นคำที่พญานกกุณาละด่าหรือบริภาษนางบำเรอทั้งห้าร้อยผู้ใส่ใจปฏิบัติบำเรอตนให้มีความสุขในปัญจกามคุณโดยไม่มีบกพร่อง นางบำเรอทั้ง 500 ประพฤติปฏิบัติอย่างไรหรือ สำนวนในอรรถกถาท่านว่าอย่างนี้
นกดุเหว่าชื่อกุณาละนั้น มีนางนกดุเหว่าเป็นบริวาร สำหรับบำเรอถึง 3,500 ตัว นางนก 2 ตัวเอาปากคาบท่อนไม้ให้นกกุณาละนั้นจับตรงกลางพาบินไป ด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนั้นอย่าได้มีความเหน็ดเหนื่อยในหนทางไกลเลย เหล่านางนกดุเหว่า 500 ตัวบินไปเบื้องต่ำ ด้วยประสงค์ว่า
ถ้านกกุณาละนี้ตกจากที่เกาะแล้ว พวกเราก็จะเอาปีกรับไว้ นางนกอีก 500 คอยบินไปข้างบนด้วยคิดว่า แสงแดดอย่าได้ส่องถูกพญานกกุณาละนี้เลย นางนกบินไปข้างๆ ทั้งสองอีกข้างละ 500 ด้วยประสงค์ว่า พญานกกุณาละนี้อย่าได้ถูกความหนาว ความร้อน หญ้า ละออง ลมและน้ำค้างเลย นางนกอีก 500 บินไปข้างหน้า ด้วยประสงค์ว่า เด็กเลี้ยงโค เด็กเลี้ยงสัตว์ คนเกี่ยวหญ้า คนหักฟืน คนทำงานในป่า อย่าได้ขว้างปานกกุณาละนั้นด้วยท่อนไม้ กระเบื้อง เครื่องมือ หิน ก้อนดิน ไม้กระบอง ศาสตรา หรือก้อนกรวดเลย นางนกอีก 500 บินไปข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนี้ อย่าได้ถูกกอไม้
เครือเถา ต้นไม้ กิ่งไม้ เสาหรือหิน หรือนกที่มีกำลังมากกว่าเลย นางนกอีก 500 บินไปข้างหลังเจรจาด้วยถ้อยคำที่ละเอียดอ่อนหวานไพเราะ ด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนี้อย่าได้เงียบเหงาอยู่บนที่จับเลย ยังมีนางนกอีก 500 บินไปในทิศานุทิศ นำผลไม้อันอร่อยจากต้นไม้หลายชนิดมาให้ ด้วยประสงค์ว่า นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากด้วยความหิวในระหว่างทางเลย…
อ่านมาถึงตรงนี้ก็อดจะอิจฉาไม่ได้ว่า…โหย โคตรสุข บรมสุขเลย
แต่ทำไมกุณาละพญานกยังดุด่า บริภาษกราดเกรี้ยวรุนแรง
คงต้องรอตอนหน้าละ ท่านผู้อ่าน
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๓)
- READ นางในพระไตรปิฎก : แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (2)
- READ นางในพระไตรปิฎก : ปฏาจาราผู้เศร้าสูญ
- READ นางในพระไตรปิฎก : มาณวิกานางหนึ่ง
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางดี ไม่มีชื่อ
- READ นางในพระไตรปิฎก : นฬินิกา จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กินรีเทวี
- READ นางในพระไตรปิฎก : ทุษฐกุมารี นางดุร้าย
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (2)
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กิสาโคตมี
- READ นางในพระไตรปิฎก : จันทากินรี อดีตชาติของพระนางพิมพา
- READ นางในพระไตรปิฎก : กุณฑลเกสี พระเถรีผู้ผลักผัวลงเหว
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (4)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (2)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (3)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (1)