นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (1)
โดย : มาลา คำจันทร์
‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด
**********************
ฝ่ายนางนกดุเหว่าทั้งหลายแม้เหล่านั้น พอพญานกปุณณมุขะหายเจ็บก็พากันกลับมา. พญานกกุณาละหาผลไม้น้อยใหญ่มาให้พญานกปุณณมุขะกินอยู่สองสามวัน พอพญานกปุณณมุขะมีกำลังดีแล้ว จึงกล่าวว่า สหายเอ๋ย บัดนี้ท่านก็หายจากโรคแล้ว จงอยู่กับนางบริจาริกาของท่านเถิด เราจักไปยังที่อยู่ของเรา ลำดับนั้น พญานกปุณณมุขะจึงกล่าวว่า นางนกบริจาริกาเหล่านี้พากันละทิ้งเราเมื่อไข้หนัก หนีไปเสีย เราไม่ต้องการอยู่กับอีพวกนักเลงเหล่านี้ต่อไป พระมหาสัตว์ได้สดับคำนั้นจึงกล่าวว่า ดูก่อนสหาย ถ้าเช่นนั้นเราจะกล่าวความลามกของหญิงทั้งหลายให้ท่านได้ฟัง ว่าแล้วก็พาพญานกปุณณมุขะไปยังพื้นมโนศิลาข้างเขาหิมพานต์ พักอยู่ที่มโนศิลาโคนไม้รังอันมีปริมณฑล ๗ โยชน์ พญานกปุณณมุขะกับบริวารก็พากันสถิตอยู่ในที่ควรข้างหนึ่ง. ฝ่ายเทวดาก็เที่ยวป่าวร้องไปทั่วหิมพานต์ว่า วันนี้พญานกกุณาละจะแสดงธรรมด้วยพุทธลีลาที่พื้นมโนศิลา ขอให้ท่านทั้งหลายไปฟัง เทวดาในกามาวจรทั้ง ๖ ได้รู้ เพราะการร้องป่าวประกาศต่อๆ ไป ก็พากันมาประชุมในที่นั้นเป็นอันมาก ใช่แต่เท่านั้น พวกนาค ยักษ์ รากษส สุบรรณ วิชาธร แร้งและเทวดาที่อาศัยอยู่ในดงก็โฆษณาเนื้อความนั้นต่อๆ ไป คราวนั้นพญาแร้งชื่อว่าอานนท์ มีแร้งหมื่นหนึ่งเป็นบริวารอาศัยอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อได้ยินเสียงป่าวร้องเป็นโกลาหล ก็พาบริวารมาอยู่ข้างหนึ่ง ด้วยความประสงค์จะฟังธรรมนารทฤๅษีผู้สำเร็จอภิญญา 5 มีดาบสบริษัทหมื่นหนึ่ง อยู่ในหิมวันตประเทศได้ยินเสียงป่าวร้องก็คำนึงว่า ได้ยินว่า พญานกกุณาละสหายของเราจะชี้โทษของหญิงทั้งหลาย จักมีสมาคมใหญ่ ควรเราจักไปฟังเทศนาของพญานกกุณาละ คิดแล้วก็พาดาบสหมื่นหนึ่งมาด้วยฤทธิ์ ครั้นถึงก็สถิต ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อ้างพญานกปุณณมุขะเป็นพยานแล้วก็แสดงเหตุที่ตนได้เห็นมาแล้วในอดีตภพ ซึ่งประกอบด้วยโทษแห่งหญิงโดยชาติสรญาณ (ญาณที่ระลึกชาติได้).
—————————————————————————————————————————————-
‘สนุกในพระไตรปิฎก’ เริ่มต้นด้วยชุดนางในพระไตรปิฎก หยิบยกเอาเรื่องไม่ดีของผู้หญิงมาเล่าก่อน อย่าร้อนใจไปเลยว่ามีแต่เรื่องด่าผู้หญิง เรื่องชม เรื่องดีๆ ของนางดีๆ ก็มีมาก มากกว่านางร้ายหลายเท่าด้วยซ้ำแต่ยังไม่ถึงเวลาเอามาออกหน้าม่าน
ชุดแรกที่เล่าผ่านไป เป็นเรื่องนางปัญจปาปีผู้มีบาปติดตัวมาแต่ชาติปางก่อน เรื่องชาติก่อน ชาติหน้าเป็นความเชื่อในพุทธศาสนา เราเองไม่จำเป็นต้องเชื่อตามก็ได้ พระพุทธองค์ไม่ทรงสอนให้ใครเชื่อตามพระองค์เลย เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นสิทธิ์ของเรา ต่อเมื่อไต่ตรองถ่องแท้ถึงขั้น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ เราจะไม่สิ้นสงสัยในถ้อยคำของพระองค์
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ แปลว่า ประจักษ์ได้ด้วยตัวเอง แปลคร่าวๆ นะ แปลแบบตีความ ไม่ตรงความดีนัก ในหนังสือสวดมนต์หรือตำรับตำราชั้นสูง ท่านมักแปลกันว่ารู้ได้ด้วยตน หรือรู้ได้เฉพาะตน อย่างในหนังสือพระวิสุทธิมรรค แปลโดยมหาวงศ์ ชาญบาลี จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธรรมบรรณาคาร เมื่อปี พ.ศ.2535 อยู่ในหน้า 337 ท่านแปลว่า—ปัจฺจตฺตํ เวทตพฺโพ วิญฺญูหิ และพระโลกุตตรธรรมนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายมีอุคฆติตัญญูเป็นต้น จะพึงรู้พึงเห็นในตนเอง อธิบายว่าผู้ใดได้แล้วผู้นั้นก็รู้เห็นในจิตแห่งตน ส่วนในหนังสือสวดมนต์แปล พระอภิธรรม 7 คัมภีร์แปล คู่มือปฏิบัติงานศาสนพิธีสังเขป พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ คุณหญิงสุรศักดิเสนา (แฐม ภมรพล) เมื่อปี พ.ศ. 2529 หน้า 3 ท่านแปลว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เป็นของอันวิญญูชนทั้งหลายถึงรู้เฉพาะตัว
ก็ยังอยู่ในเรื่องกุณาลชาดกนั่นเอง ข้อความที่ยกมาเกริ่นตอนเริ่มต้น เป็นสำนวนภาษาในอรรถกถาที่ท่านผู้รู้ ผู้ชำนาญภาษาบาลีแปลออกมาเป็นภาษาไทย เก็บใส่คัมภีร์ที่เรียกชื่อกันว่าอรรถกถา คำนี้ นักเลงภาษาและผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระไตรปิฎกคุ้นเคยกันดี แต่เราๆ ท่านๆ ผู้อ่านทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นเคย คำว่าอรรถกถาหมายถึงถ้อยคำที่อธิบายความยากหรือคำยากในพระไตรปิฎก ผู้อธิบายเรียกว่าพระอรรถกาจารย์ หรืออาจารย์ผู้อธิบายอรรถและกถา เป็นพระเถระ มหาเถระระดับปรมาจารย์แต่อดีตกาลนานนัก ไม่ใช่พระเถระมหาเถระผู้รู้ผู้ฉลาดในยุคปัจจุบัน มีหลายตนหลายองค์ หลายยุคหลายสมัย ที่คนไทยนอกแวดวงวรรณกรรมและบาลีอาจคุ้นกันบ้างก็คือพระพุทธโฆสาจารย์ผู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากฝั่งทวีปไปสืบค้นพระธรรมคัมภีร์ที่เกาะลังกา เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานเกือบพันปี พุทธศาสนาร่วงโรยที่อินเดียแต่ไปรุ่งเรืองที่ลังกา
คำแปลเป็นภาษาไทยในอรรถกถา ข้าพเจ้าเฒ่ามาลมคัดลอกมาจากพระไตรปิฎกฉบับธรรมทานไม่ใช่ฉบับสยามรัฐ ได้รับเมตตาจากพระอาจารย์ พระมหาสง่า ไชยวงค์ แห่งวัดผาลาด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อราวสิบกว่าปีเห็นจะได้ ข้อความที่ยกมาใส่ข้างบนนั้นเป็นเหตุการณ์ตอนที่กุณาล-นกชังหญิง แต่จะนิยมชายด้วยกันหรือไม่เราไม่อาจรู้ได้เลย พญากุณาลชักเอาเรื่องไม่ดีของผู้หญิงมาบอกเล่าหลายเรื่อง เรื่องไม่ดีนะ ไม่ใช่คนไม่ดี ข้อความที่ยกมาอยู่ตอนต้นๆ ของชาดก พอกุณาลพญานกดุเหว่าจะแสดงธรรม ก็พาเพื่อนไปนั่งยังแผ่นมโนศิลา หินดาษพื้นข้างดอยหิมพานต์ บรรดามนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลายที่ทราบเรื่องก็แห่กันมาฟังธรรมที่พระโพธิสัตว์ปางเสวยชาติเป็นพญานกกุณาลจะแสดงถึงโทษของหญิง แสดงไว้หลายเรื่อง อย่างเรื่องนางห้าบาปที่เล่าไปแล้ว คราวนี้จะเล่าเรื่องนางห้าผัว ถัดไปนี้เป็นถ้อยคำในอรรถกถาภาษาไทยที่ท่านแปลไว้
ในกาลอันล่วงมาแล้ว พระเจ้าพรหมทัต ผู้เป็นพระราชาในแคว้นกาสี เสด็จไปตีได้ราชสมบัติในแคว้นโกศลเพราะพระองค์มีพลพาหนะอันมากมาย ฆ่าพระเจ้าโกศลเสียแล้ว พาพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลราชซึ่งกำลังทรงพระครรภ์อ่อนๆ มาด้วย เสด็จไปยังเมืองพาราณสี ทรงตั้งให้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์ ไม่ช้านางก็ประสูติพระธิดา โดยปกติพระเจ้าพรหมทัตมิได้มีพระโอรสพระธิดา ท้าวเธอจึงทรงยินดีมากถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เราจะให้พร พระอัครมเหสีก็ทรงยึดเป็นคำมั่นสัญญาไว้พระประยูรญาติทั้งหลาย ถวายพระนามพระราชกุมารีนั้นว่านางกัณหา เมื่อนางเจริญวัยแล้ว พระมารดาจึงบอกว่า พระราชบิดาของเจ้า พระราชทานพรไว้แม่ได้ถือเป็นคำมั่นสัญญาไว้แล้ว เจ้าจงเลือกตามความพอใจของเจ้าเถิด…
นางกัณหาไม่เลือกเอาอะไร เพราะอะไรที่ไม่มีนั้นนางไม่มี คือมีหมดครบถ้วนทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือสามี นางจึงตอบไปว่าขอเลือกสามีเอาเอง ย่อหน้านี้ข้าพเจ้าเฒ่ามาลมเป็นผู้เล่านะ ไม่ใช่สำนวนแปลของท่านผู้แปล ข้างฝ่ายพระมารดาก็ไปทูลพระสวามีใหม่ผู้ฆ่าผัวของตัวเองตามคำกล่าวของลูกสาว เล่ามาถึงตรงนี้ผู้อ่านสังเกตเห็นอะไรไหวๆ บ้างไหม หากใครเคยอ่านวรรณกรรมเก่าแก่โบราณเกี่ยวกับการรบพุ่งฆ่าฟันเพื่อแย่งชิงราชอาณาจักร เราก็มักจะพบเหตุการณ์ทำนองว่า
—ฆ่าผัวมันเสีย เอาเมียมันมา—อย่างนี้บ่อยๆ
เป็นกันแทบทุกทวีป อย่างในเรื่องเจสันกับขนแกะทองคำก็เหมือนกัน พ่อของเจสันถูกฆ่า แม่ยอมเป็นเมียพระราชาผู้ฆ่าผัว เรื่องนี้เกิดในกรีกหรือโรมัน ชักไม่แน่ใจ
ผู้หญิงในอรรถกถาชาดกไม่ค่อยมั่นคงนะ หมายความว่าไม่ค่อยมีความมั่นคงในชีวิต ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเอง มักถูกกระทำ พึ่งตัวเองไม่ค่อยได้ บัณฑิตยวาหระลาล เนห์รู หรือ ศรี เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย เขียนไว้ในงานเขียนอันมีชื่อเสียงเกริกไกรของท่านว่า—ตามตำราของมนูผู้เป็นปรมาจารย์ในวิชากฎหมายของอินเดีย ปรากฏว่าฐานะของสตรีในทางกฎหมายนั้นนับว่าตกต่ำ สตรีจะต้องยึดเหนี่ยวผู้อื่นเป็นที่พึ่งเสมอ ไม่บิดา สามีก็บุตร ในด้านกฎหมายสตรีได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าวของสินค้า—นักอ่านท่านใดสนใจหนังสือยิ่งใหญ่เล่มนี้ ให้เสาะหา The Discovery of India หรือชื่อไทยว่า พบถิ่นอินเดีย ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาศัย เป็นผู้แปลไว้
เล่าเรื่องต่อนะ ขออนุญาตคัดลอกอรรถกถาแปลมาลงไว้เลย เพื่อให้ผู้อ่านคุ้นเคยสำนวนภาษา เผื่อใครอยากไปค้นคว้าหาอ่านเอาเอง
พระมารดาจึงนำความกราบทูลต่อพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตตรัสรับว่าดีแล้ว จึงป่าวร้องบุรุษมาแล้ว ให้ธิดาเลือกตามความชอบใจ พวกบุรุษทั้งหลายก็พากันประดับประดาด้วยเครื่องอลังการมาประชุมพร้อมหน้ากันที่หน้าพระลาน นางกัณหาถือผอบดอกไม้ยืนอยู่ที่ช่องพระแกลอันสูงแลดูบุรุษเหล่านั้นก็มิได้ชอบใจสักคนหนึ่ง.
คราวนั้นมีราชกุมาร 5 พระองค์ เป็นราชบุตรแห่งพระเจ้าบัณฑุราชองค์หนึ่งมีพระนามว่าอัชชุน องค์หนึ่งมีพระนามว่านกุล องค์หนึ่งมีพระนามว่าภีมเสน องค์หนึ่งมีพระนามว่ายุธิษฐิร องค์หนึ่งมีพระนามว่าสหเทพ พากันไปเล่าเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักกศิลา สำเร็จแล้วใคร่จะทราบถึงจารีตในประเทศต่างๆ จึงพากันไปเที่ยวถึงเมืองพาราณสีได้ยินเขาวุ่นวายกันในเมืองจึงเข้าไปถาม ครั้นทราบความแล้วก็ปรึกษากันว่าจะไปบ้าง กุมารทั้ง 5 องค์นั้นมีรูปร่างงามผ่องใสคล้ายๆ กัน ต่างก็พากันไปยืนอยู่ต่อๆ กัน ฝ่ายนางกัณหานั้นเห็นราชกุมารทั้ง 5 ก็มีความสิเน่หาทุกๆ องค์จึงโยนพวงมาลัยไปคล้องให้ทั้ง 5 แล้วกราบทูลพระมารดาว่า หม่อมฉันเลือกเอาคนทั้ง 5 คนนี้ พระมารดาก็ไปกราบทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตไม่พอพระทัยแต่ไม่อาจตรัสว่าไม่ได้ เพราะพระราชทานพรไว้เสียแล้ว…
ติดเบรกตรงนี้ก่อน หลายคนที่เป็นนักอ่านฉกาจฉกรรจ์อาจเริ่มเอะใจแล้ว มันคุ้นๆ อยู่นะ ราชกุมารทั้งห้าองค์หากสลับชื่อกันนิดๆ หน่อยๆ ดูคล้ายห้าพี่น้องในมหาภารตยุทธนะ อ่านอรรถกถาฉบับแปลต่อนะ
จึงตรัสถึงชาติตระกูลและนามบิดา ครั้นทรงทราบว่า เป็นราชกุมารของพระเจ้าบัณฑุราช ก็พระราชทานราชสักการะแล้วยกนางกัณหาให้เป็นบริจาริกาพระราชกุมารทั้ง 5 องค์ นางกัณหาก็บำเรอราชกุมารทั้ง 5 ด้วยสามารถกิเลสอยู่บนปราสาท 7 ชั้น และนางกัณหานั้นมีบุรุษคอยรับใช้อยู่คนหนึ่ง เป็นคนเปลี้ยค่อม เมื่อนางกัณหาบำเรอราชกุมารที่ 5 ด้วยกิเลสแล้ว พอราชกุมารนั้นออกไปภายนอก นางมีเวลาว่าง เมื่อกิเลสลุกลามขึ้นก็ทำความชั่วกับบุรุษเปลี้ย เมื่อนางเจรจากับบุรุษเปลี้ยนั้นได้กล่าวว่า คนอื่นซึ่งเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าท่านไม่มี เราจักฆ่าพระราชกุมารทั้ง 5 เสีย เอาเลือดในลำคอมาล้างเท้าท่าน…
อ่านแล้วก็ตกใจเลย
นางกัณหาในชาดกเรื่องกุณาลชาดก คงเป็นคนเดียวกันกับนางกฤษณา ในพระนิพนธ์เรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กวีใหญ่ที่เป็นสมณะและเป็นเชื้อสายเจ้านายใหญ่ยศในพระราชวงศ์จักรี และก็น่าจะเป็นคนคนเดียวกันกับนางเทราปที ในมหาภารตยุทธ มหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่มากของอินเดีย นางเทราปทีมีสวามีพร้อมกันห้าคน เป็นพี่น้องกันทั้งหมด ชื่อเจ้าชายทั้งห้าในมหาภารตะก็คล้ายๆ ที่ปรากฏในกุณาลชาดก เรียงจากพี่มาหาน้องได้แก่ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ ผู้เล่าเฒ่ามาลมทึกทักเอาว่าชาดกเรื่องนี้น่าจะยืมโครงเรื่องมาจากมหาภารตยุทธ แต่จุดประสงค์ของการเล่าเรื่องแตกต่างกัน เอ…แล้วทำไมอีตามาลมคนขี้ลมขี้โม้ไม่ทึกทักเดาเอาว่ามหาภารตะยืมเรื่องไปจากชาดกล่ะ มันมีหลักฐานยืนยันตามที่ได้เล่าเรียนเขียนอ่านมาว่า มหาภารตะเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในยุคพระเวทโน่นแล้ว เก่าแก่ดั้งเดิมมาก แต่เมื่อชาวอารยันข้ามภูข้ามดอยร้อยม่อนมายึดครองแผ่นดินอินเดียได้สำเร็จเมื่อราวพันปีก่อนพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้น
การหยิบยืมกันเช่นนี้ไม่ใช่ของแปลกในทางวรรณคดี เมื่อศาสนาพุทธประดิษฐานมั่นคงดีแล้ว ต่อมานักปราชญ์ฮินดูซึ่งสืบเนื่องมาจากพราหมณ์เดิมก็หยิบยืมบางอย่างไปจากพุทธ
แต่นางเทราปทีใน มหาภารตยุทธ ไม่ได้พูดจาดุเดือดอย่างนางกัณหาในกุณาลชาดก อ่านเรื่องราวต่อไปได้เลย
ถึงพระราชกุมารทั้ง 5 นางก็พูดอย่างนี้ คือ เวลาคลอเคลียอยู่กับราชกุมารพี่ชายใหญ่ นางก็พูดว่าหม่อมฉันรักพระองค์ยิ่งกว่าพระราชกุมารทั้ง 4 ชีวิตของหม่อมฉันสละถวายพระองค์แล้วถ้าบิดาของหม่อมฉันทิวงคต หม่อมฉันจะให้เขาถวายราชสมบัติแก่พระองค์ดังนี้ เวลานางคลอเคลียอยู่กับราชกุมารองค์อื่นอีก นางก็กล่าวอย่างนี้ทั้ง 4 พระองค์ พระราชกุมารทั้ง 5 องค์ก็ทรงยินดีด้วยนางกัณหายิ่งนัก ด้วยใส่ใจว่า นางกัณหารักตนและอิสริยยศจะเกิดกับตนก็เพราะอาศัยนางกัณหา ต่อมาภายหลังวันหนึ่งนางกัณหาประชวรไข้ พระราชกุมารทั้ง 5 ก็ไปนั่งแวดล้อม องค์หนึ่งนวดฟั้นศีรษะ อีก 4 องค์นวดมือและเท้าทั้ง 4 เจ้าเปลี้ยนั่งอยู่ใกล้เท้า. ส่วนนางกัณหาก็ให้อาณัติสัญญาอย่างรวมๆ แก่พระอัชชุนผู้เป็นเชษฐาด้วยศีรษะ เป็นเชิงแสดงให้รู้ว่า คนอื่นซึ่งเป็นที่รักของหม่อมฉันยิ่งกว่าพระองค์ไม่มี เมื่อหม่อมฉันมีชีวิตอยู่ก็จักมีชีวิตอยู่สำหรับพระองค์ ถ้าพระราชบิดาทิวงคตแล้วจะให้เขาถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ส่วนราชกุมารอีก 4 องค์ นางก็ให้อาณัติสัญญาด้วยมือและเท้าตามทิศที่นั่ง แสดงเลศนัยอย่างเดียวกัน ใช่แต่เท่านั้นยังทำลิ้นให้อาณัติสัญญาแก่บุรุษเปลี้ยตามถ้อยคำที่เคยพูด คือว่า เจ้าคนเดียวเท่านั้นเป็นที่รักของข้า ข้าจักมีชีวิตอยู่สำหรับเจ้า
เรื่องราวจะเป็นอย่างไร อดใจรออีกตอนนะ ท่านผู้อ่าน
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๓)
- READ นางในพระไตรปิฎก : แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (2)
- READ นางในพระไตรปิฎก : ปฏาจาราผู้เศร้าสูญ
- READ นางในพระไตรปิฎก : มาณวิกานางหนึ่ง
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางดี ไม่มีชื่อ
- READ นางในพระไตรปิฎก : นฬินิกา จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กินรีเทวี
- READ นางในพระไตรปิฎก : ทุษฐกุมารี นางดุร้าย
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (2)
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กิสาโคตมี
- READ นางในพระไตรปิฎก : จันทากินรี อดีตชาติของพระนางพิมพา
- READ นางในพระไตรปิฎก : กุณฑลเกสี พระเถรีผู้ผลักผัวลงเหว
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (4)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (2)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (3)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (1)