นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๑)
โดย : มาลา คำจันทร์
‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด
**********************
เรื่องพระนางสามาวดี นางดีเกินขนาด หากเล่าตามอรรถกถาธรรมบทจะยืดยาวมาก เฉพาะที่คัดลอกออกมา ยาวถึง ๓๗ หน้ากระดาษขนาด A4 เรื่องนี้ไม่ใช่ชาดก ไม่ได้อยู่ในชาดก แต่อยู่ในธรรมบท
ธรรมบทคืออะไร
เสฐียรพงษ์ วรรณปก สมาชิกราชบัณฑิตยสภา ผู้เชี่ยวชาญชำนาญเรื่องราวในพระไตรปิฎก อธิบายไว้ในหนังสือ คำบรรยายพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ โดยสำนักพิมพ์ธรรมสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ หน้า ๑๕๗ ท่านอธิบายว่า ธัมมปทคาถาหรือธรรมบท เป็นการประมวลบทกวีบรรยายธรรม มีข้อความลึกซึ้งกินใจ ภาษากวีไพเราะ เข้าใจง่าย—-
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๑ ว่า ธรรมบท บทแห่งธรรม บทธรรม ข้อธรรม ชื่อคาถาบาลีหมวดหนึ่ง จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๒ ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก มี ๔๒๓ คาถา
ธรรมบทในพระไตรปิฎกนั้น เป็นคาถาภาษาบาลี ยกตัวอย่างเช่น ในหมวด ยมกวรรค ท่านก็จดจารบันทึกไว้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา… ว่าไปจนจบคาถา ส่วนเรื่องพระนางสามาวดีนี้ไม่ใช่ตัวคาถา แต่เป็นเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์ท่านร้อยเรียงมาเพื่ออธิบายหรือสนับสนุนพระคาถาในหมวดความไม่ประมาท เราๆ ท่านๆ อาจคุ้นๆ กันอยู่กับส่วนหนึ่งของพระคาถาที่ว่า อปฺปมาโท มจฺจุนํ ปทํ ปมาโท อมตํ ปทํ— ไม่ใช่เว้ย สลับที่สลับทางจนพระคาถาท่านเสียหายหมด ใครก็ได้ช่วยมาจัดที่จัดทางให้ถ้อยคำถูกต้องด้วย ความหมายคือ “ความไม่ประมาทเป็นหนทางไม่ตาย ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย” อย่างนี้เป็นต้น
พระนางสามาวดี เป็นผู้หญิงที่ดีมากๆ ประเภทนางเอ๊กนางเอกอะไรทำนองนั้น แต่อายุพระนางแสนสั้นเพราะโดนอีนางตัวร้ายที่ร้ายกาจสุดๆ เอาไฟคลอกตาย ไม่ได้ตายคนเดียว แต่ตายหมู่ ตายเกลี้ยง ตายยกรังเหมือนมดแดงโดนยาฆ่าแมลงแล้วเขาเอาแต่ไข่มาขายให้เรากิน พระนางเสียชีวิตพร้อมกับหญิงบริวารอีกห้าร้อยคนที่โดนไฟโหมเอ่าเร้ารุกทุกทิศทุกทาง เป็นเรื่องที่เล่าลือฮือฮากันมากในหมู่พระสังฆสาวกในกรุงโกสัมพี จึงกราบทูลถามพระบรมศาสดา พระอรรถกถาจารย์ท่านจึงผูกเรื่องขึ้นว่า
พระศาสดาเมื่ออาศัยกรุงโกสัมพี ประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ทรงปรารภความวอดวายคือมรณะของหญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประธาน และของญาติ ๕๐๐ ของพระนางมาคันทิยานั้น ซึ่งมีนางมาคันทิยาเป็นประธาน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อปฺปมาโท อมตํ ปทํ” เป็นต้น
แล้วท่านก็ชักเรื่องในอดีตกาลล่วงแล้วที่เล่าถึงพระมหากษัตริย์สองพระองค์ที่เป็นสหายสนิทกัน ต่อมาต่างเบื่อหน่ายโลกียะแสวงหาความหลุดพ้นจึงไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่า อาศัยอยู่คนละฟากดอย สิบห้าวันพบกันครั้งหนึ่ง
พระฤๅษีตนหนึ่งชื่ออัลลกัปปะ เคยเป็นราชาครองแคว้นอัลลกัปปะ อีกตนหนึ่งชื่อเวฏฐทีปกะ เคยครองแคว้นเวฏฐทีปกะ ทั้งสองเป็นเพื่อนกัน เคยเรียนร่วมสำนักเดียวกัน เมื่อยังเป็นพระราชา ต่างเห็นคนเกิดคนตายมากมาย เกิดความสลดใจว่า
“ชื่อว่าผู้ตามคนผู้ไปสู่ปรโลก ไม่มี,
โดยที่สุดถึงสรีระของตน ก็ตามไปไม่ได้;”
คาถาท่านยาวนะ แต่ตัดมาแสดงเพียงครึ่งเดียว คนหนุ่มคนสาวอาจอ่านผ่านๆ ไม่สะทกสะเทือนใจอะไรมากนัก แต่คนแก่คนเก่าชื่อเฒ่ามาลมอ่านแล้วเกิดความไหวสะเทือนทางความรู้สึก เป็นสัจธรรม เป็นความเที่ยงแท้แน่นอนที่ใช่ว่าใครๆ ก็คิดแล้วเปล่งออกมาได้ มันน่าจะมาจากการตกผลึกทางความคิดของคนที่ลึกซึ้งมากๆ ต่อชีวิต อยู่มานาน เห็นมามาก จนสรุปเป็นสัจพจน์ได้ว่าถึงยามตาย เราตายโดยลำพัง ใครจะตายตามเราไปสู่ปรโลกไม่มีหรอก ถึงที่สุด แม้แต่ร่างกายเราก็ตามเราไปไม่ได้
พระราชาทั้งสองพระองค์ชืดชาต่อการมีชีวิตไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เพราะเห็นซึ้งถึงความไร้แก่นสารของการครองเรือนจึงจึงออกไปบวบเป็นพระฤษีอยู่ในป่าหิมพานต์ แยกอาศรมกันอยู่ในระยะที่พอมองเห็นแสงไฟจากกันและกัน สิบห้าวันค่อยมาพบกันครั้งหนึ่ง ต่อมาเวฏฐทีปกดาบสทำกาลคือหมดอายุก่อน ไปบังเกิดเป็นเทพเจ้าผู้มีศักดิ์ใหญ่อยู่บนสวรรค์. ถึงวันที่ต้องพบปะกัน อัลลกัปปดาบสไม่เห็นแสงไฟจากอาศรมของเพื่อนจึงรู้ได้ด้วยสัญญาณอันไร้แสงไฟว่าดาบสผู้สหายไม่อยู่แล้ว ไปสู่ปรโลกแล้วโดยลำพัง แต่ตัวท่านเองเวลาทำกาลยังมาไม่ถึงจึงอยู่ไปก่อน กระทั่งวันหนึ่งเวฏฐทีปกะเทวดาก็ลงมาเยี่ยมเพื่อนในคราบคนหลงทาง ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน แล้วคนหลงถามก็ถามว่าพระคุณเจ้าเดือดร้อนด้วยเรื่องอันใดหรือไม่ อัลลกัปปดาบสจำเพื่อนไม่ได้เพราะไม่เอาร่างเดิมมาแสดงให้เห็น บอกว่ารำคาญช้าง เพื่อนเก่าในคราบคนหลงทางจึงถวายพิณช้างใคร่และบอกมนต์ช้างใคร่ให้ กำชับว่า
“เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว, ช้างไม่อาจแม้เพื่อจะหันกลับแลดู ย่อมหนีไป; เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว ช้างจะกลับเหลียวดูเบื้องหลังพลางหนีไป: เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้วช้างนายฝูง ย่อมน้อมหลังเข้ามาหา,”
แล้วกล่าวว่า “สิ่งใด อันท่านชอบใจ, ท่านพึงทำสิ่งนั้นเถิด.” ไหว้พระดาบสแล้ว ก็หลีกไป.
พระดาบสร่ายมนต์บทสำหรับไล่ช้าง ดีดสายพิณสำหรับไล่ช้างยังช้างให้หนีไปอยู่แล้ว.
—————————————————————————————————————————————-
พระอรรถกถาจารย์ท่านเริ่มต้นไกลจากตัวนางสามาวดีมาก หยิบมาเล่าผสมปนเปกันระหว่างถ้อยคำของคนขี้เล่าคือเฒ่ามาลมกับถ้อยคำของพระอรรถกถาจารย์ หวังใจว่าท่านผู้อ่านจะคุ้นเคยสำนวนภาษาแบบอรรถกถาแล้วไปขุดคุ้ยค้นคว้าหาเรื่องหาราวในพระไตรปิฎกมาเล่าสู่แบ่งปันกัน เป็นการสืบอายุพระศาสนาได้อีกทางหนึ่งเหมือนกันนะ
จากราชาสององค์ กลายเป็นฤษีสองตน แล้วตนหนึ่งได้มนต์ช้างใคร่กับพิณช้างใคร่จากเพื่อนผู้ไปก่อน ไปไหน…ไปสู่ปรโลก แล้วท่านก็ไปชักเอาต้นกำเนิดคนสำคัญคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนางสามาวดีมากล่าวว่า ในสมัยนั้น ในกรุงโกสัมพี ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้าปรันตปะ วันหนึ่ง พระเจ้าปรันตปะทรงนั่งผิงแดดอ่อนอยู่ที่กลางแจ้งกับพระราชเทวีผู้ทรงครรภ์. พระราชเทวีทรงห่มผ้ากัมพลแดงอันมีราคาแสนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระภูษาทรงของพระราชา ทรงนั่งปราศรัยกับพระราช ถอดพระธำมรงค์อันมีราคาแสนหนึ่งจากพระองคุลีของพระราชา มาสวมใส่ที่นิ้วของพระนาง วันนั้นยังมีนกหัสดีลิงค์ตัวหนึ่งบินบนหนหาวมาทางอากาศ มองลงมาเห็นห่อผ้าแดงก็นึกว่าเนื้อจึงโผลงมาโฉบพระเทวีหนีไปโดยเร็ว จะเอาไปกินในป่าหิมพานต์
นกชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ หัสติลิงค์ หัตถีลิงค์บ้าง
เล่าแทรกนิดหน่อย อาจไม่หน่อยละ อยากเอาเรื่องนกหัสดีลิงค์มาเล่าเท่าที่มีความรู้ นกชนิดนี้ วรรณกรรมแนวจักรวาลวิทยาแบบพุทธชื่อฉคติทีปนี สำนวนล้านนากล่าวไว้ว่า
นกอันมีหัวหูงวงงาดังช้าง ตัวเป็นนก มคธว่าหัตถิลิงคสกุณา ขอมว่านกอินครี ไทว่านกช้างนั้นก็มีในป่าหิมวันตะแล นกอัน๑มีหัวมีหน้ามีปากเป็นดังม้า มีตีน๔ตีนดังม้า มีปีกบินไป ชาวมคธว่าอัสสลิงคสกุณา ไทยภาษาว่านกม้าก็มีในหิมวันต์แล นกม้านี้อาจารย์เจ้ากล่าวในฎีกาอภิธานแล
อีกตอนหนึ่งในวรรณกรรมเรื่องเดียวกัน ท่านกล่าวถึงพิธีศพในอุตตรกุรุทวีป มีนกหัวหูงวงงาดังช้างเข้ามาเกี่ยวข้องว่า ประการ ๑ คนอันอยู่ในชมพูทวีปนี้ย่อมโศกทุกข์ซึ่งผู้ตาย ย่อมนำออกไปเผาไฟซัดทุม (ทอดทิ้ง) ดังคนอยู่ในบุพพวิเทหทวีป แลอมรโคยานทวีปก็ฉันเดียวกัน พั่นชาวอุตรกุรุทวีปนั้น เขาบ่ห่อนไห้แลโศกทุกข์ซึ่งผู้ตาย ก็บ่ได้นำผู้ตายออกไปเผาแลทุม (ทิ้ง) เสียดังคนอันอยู่ในทวีปทั้ง ๓ นั้น คนตายที่ใดเขาเอารตกัมพลเกี้ยวพันแลประดับด้วยดอกไม้สิ่งเดียว นกหัตถีลิงค์อันมีประโยชนะ (จุดประสงค์) กินซากนั้นบินไปสู่อุตตรกุรุทวีปนำเอาซากผีนั้นไปกินในทวีปอันอื่น จักกินในทวีปนั้นบ่ได้ เทวดาบ่หื้อกิน เหตุป่าช้าผีดิบอันควรกิเลียด (รังเกียจ) แลป่าช้าผีดิบอันควรเผาบ่มีในอุตตรกุรุทวีปนั้นเพื่ออันแล
อ่านเจอจากที่ไหนอีกสักแห่ง นึกไม่ออก ไปงมควานในกองเอกสารใบลานเก่าๆ ก็หาไม่พบ ที่แน่ๆ คือไม่ได้แต่งใส่เอง ท่านกล่าวถึงนกกำจัดซากทำหน้าที่คล้ายสัปเหร่อเมืองเราว่าเอาซากศพที่หุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลมาจากอุตรกุรุทวีป รัตกัมพลนะ ไม่ใช่รัตนกัมพล รัตนะแปลว่าแก้ว แต่รัตตะแปลว่าแดง เวลาเขียนรวมกันกับกัมพลท่านตัดทอนเหลือแต่รัตกัมพล เขียนแบบล้านนาเป็นรตกัมพล ความยุ่งยากทางระเบียบวิธีการเขียนยกไว้ก่อน เอามาอธิบายอีกมันจะยุ่งซ้อนยุ่ง อันว่าผ้าแดงห่อศพของชาวทวีปทางทิศเหนือนี้ ท่านว่าเนื้อละเอียดยิ่ง มีชื่อเรียกว่าผ้าสิไวยกะ เป็นผ้าชั้นเลิศที่ชาวชมพูทวีปอันอยู่ทางทิศใต้นี้ทอไม่ได้ นกมีเพศดุจช้างนำมา (หัตถิ=ช้าง ลิงคะ=เพศ ที่ไม่ใช่เครื่องเพศหรืออวัยวะบอกความเป็นหญิงเป็นชาย) นกไม่ได้ตั้งใจจะเอามาแต่ผ้า แต่ขยุ้มศพซึ่งห่อด้วยผ้าชนิดนี้มา เอามากินตามเกาะเล็กเกาะน้อยระหว่างทวีปบ้าง เข้ามาถึงป่าหิมพานต์ในทวีปใต้หรือชมพูทวีปเรานี้บ้าง เวลาจะกินมันจะเกาะต้นไม้ใหญ่ เขี่ยผ้าทิ้งลงข้างล่างแล้วค่อยกินศพ ผ้าชั้นเลิศที่เรียกชื่อตามวรรณกรรมโบราณล้านนาเรื่องนั้นว่าผ้าสิไวยกะเลยตกค้างพุ่มไม้บ้าง คลุมแผ่บนผิวดินบ้าง ยังมีนายวเนจรหนุนหมอนรากไม้คนหนึ่งเข้าไปในป่า ไปพบผ้าสิไวยกะก็เก็บเอามาถวายพระเจ้าจัณฑปัชโชต เป็นของดีวิเศษชนิดหนึ่งที่กษัตริย์ผู้มีคำว่าจัณฑะ (ดุร้าย) ประกอบชื่อได้ครอบครอง ต่อมาได้มอบให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้รักษาพระองค์ให้หายจากโรคที่ไม่มีหมอคนใดรักษาได้ หมอชีวกเอาผ้าวิเศษชนิดนั้นถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธองค์ อันนี้เล่าจากความทรงจำที่เกี่ยวกับนกมีเพศดุจช้าง หากดูจากชื่อ มันก็น่าจะเป็นนกมีหัวเป็นช้างอย่างเราๆ ท่านๆ พบเห็นและคุ้นเคยในประเพณีฌาปณกิจพระเถระครูบาหลายต่อหลายรูปในแถบถิ่นล้านนา แต่ในอรรถกาธรรมบทเรื่องนี้ ท่านไม่ได้บอกว่านกหัสดีลิงค์มีหัวหูงวงงาเหมือนช้าง ท่านกล่าวว่า พวกนกเหล่านั้น ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก เพราะฉะนั้น จึงนำเหยื่อไปทางอากาศ จับ ณ ที่อันพอใจแล้ว ย่อมเคี้ยวมังสะกิน. หากยึดถือกันว่าอรรถกถาเกิดก่อนวรรณกรรมอื่นๆ ในชั้นหลัง มีฎีกา อนุฎีกาและคัณฐี ต่างๆ นานา ก็พอจะอนุมานได้คร่าวๆ ว่า ระดับอรรถกถา ท่านไม่ระบุว่าสกุณาพิลึกชนิดนี้มีหัวหูงวงงาเหมือนช้าง แต่ก็นั่นแหละ อรรถกถาเรื่องนี้ท่านไม่ระบุ เรื่องอื่นเล่า อ่านหมดหรือยัง
นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้เล่าอยากใช้คำว่าจ่อนจุ่มหางต่อท้ายชื่อ
เข้าเรื่องต่อ พระราชเทวีไม่มีชื่อให้เรียกองค์นี้แม้ถูกนกโฉบเฉี่ยวไว้ในอุ้งเท้าแต่กลับไม่ตกใจ มีสติดีอยู่ คำนึงขึ้นว่า “ถ้าว่าเราจักร้อง, ธรรมดาเสียงคน เป็นที่หวาดเสียวของสัตว์จำพวกดิรัจฉาน มันฟังเสียงนั้นแล้ว ก็จักทิ้งเราเสีย, เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักถึงความสิ้นชีพ พร้อมกับเด็กในครรภ์; แต่มันจับในที่ใดแล้วเริ่มจะกินเรา, ในที่นั้น เราจักร้องขึ้น แล้วไล่ให้มันหนีไป”. พระนางยับยั้งไว้ได้ ก็เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต.
ก็ในกาลนั้นที่หิมวันตประเทศ มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง เจริญขึ้นเล็กน้อยแล้วก็ตั้งอยู่โดยอาการดังมณฑป. นกนั้น นำเหยื่อมีเนื้อเป็นต้นไปแล้ว ย่อมเคี้ยวกินที่ต้นไทรนั้น; เพราะฉะนั้น นกหัสดีลิงค์ตัวนั้น นำพระราชเทวีแม้นั้นไปที่ต้นไทรนั้นแล วางไว้ในระหว่างค่าคบไม้ แลดูทางอันตนบินมาแล้ว. นัยว่าการแลดูทางบินมาแล้ว เป็นธรรมดาของนกเหล่านั้น. ในขณะนั้นพระราชเทวีทรงดำริว่า “บัดนี้ ควรไล่นกนี้ให้หนีไป ” จึงทรงยกพระหัตถ์ทั้ง ๒ ขึ้น ทั้งปรบมือ ทั้งร้อง ให้นกนั้นหนีไปแล้ว.
ครั้งนั้นในเวลาพระอาทิตย์อัสดงคต ลมกัมมัชวาตปั่นป่วนแล้ว ในพระครรภ์ของพระราชเทวีนั้น. มหาเมฆคำรามร้อง ตั้งขึ้นในทุกทิศ ชื่อว่าความหลับ มิได้มีแล้วตลอดคืนยังรุ่ง แก่พระราชเทวี ผู้ดำรงอยู่ในความสุขไม่ได้แม้สักคำพูดว่า “อย่ากลัวเลย พระแม่เจ้า” อันความทุกข์ครอบงำแล้ว แต่เมื่อราตรีสว่าง ความปลอดโปร่งจากวลาหกก็ดี, ความขึ้นแห่งอรุณก็ดี, ความคลอดแห่งสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์ของพระนางก็ดี ได้มีแล้วในขณะเดียวกันนั้นแล. พระนางได้ตั้งชื่อพระโอรสว่า “อุเทน” เพราะถือเอาฤดูเมฆและฤดูอรุณขึ้นประสูติแล้ว.
———————————————————————————————————
พระเอกอุแว้แล้ว แต่นางเอกอีกนาน น้าน นาน ค่อยฟังไป ใจเย็นหน่อย อย่าหัวร้อนหัวรุ่มกลุ้มกลัดนะ โลกมันร้อน เหตุการณ์บ้านเมืองก็ร้อน หากใจร้อน มันจะร้อนรุ่มจนโลกไม่น่าอยู่ อะไรก็ดูขวางหูขัดตาไปหมด รักษาใจให้เย็นไว้ก่อน ยามนอนก็นอนให้หลับนะ อย่าให้ความเครียดมันแฝงตัวเข้าไปทำร้ายเราได้ในยามหลับ การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เป็นยารักษาโรคเครียดที่ดีที่สุด แล้วค่อยมาอ่านสามาวดี นางดีเกินขนาดกันต่อในตอนต่อๆ ไป นะจ๊ะ
เอ๊ะ คำลงจบมันแหม่งๆ เหมือนใครวะ
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : สามาวดี นางดีเกินขนาด (๓)
- READ นางในพระไตรปิฎก : แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : อุตตรา นางผู้ไม่โกรธ (2)
- READ นางในพระไตรปิฎก : ปฏาจาราผู้เศร้าสูญ
- READ นางในพระไตรปิฎก : มาณวิกานางหนึ่ง
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางดี ไม่มีชื่อ
- READ นางในพระไตรปิฎก : นฬินิกา จำใจเลวเพื่อบ้านเมือง
- READ นางในพระไตรปิฎก : อลัมพุสา นางผู้จำใจบาป
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กินรีเทวี
- READ นางในพระไตรปิฎก : ทุษฐกุมารี นางดุร้าย
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๑)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (1)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กัณหา นาง 5 ผัว (2)
- READ นางในพระไตรปิฏก : ทิฏฐมังคลิกากับดาบสเรืองฤทธิ์ (๒)
- READ นางในพระไตรปิฎก : กิสาโคตมี
- READ นางในพระไตรปิฎก : จันทากินรี อดีตชาติของพระนางพิมพา
- READ นางในพระไตรปิฎก : กุณฑลเกสี พระเถรีผู้ผลักผัวลงเหว
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (4)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (2)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (3)
- READ ปัญจปาปี ราชเทวี 2 ผัว (1)