นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๑)

นางในพระไตรปิฎก : นางชั่ว แบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิต (๑)

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เรื่องนี้มีความรุนแรง ผู้อ่านอายุต่ำกว่า 15 ปรึกษาคุณแม่ก่อนอ่าน

เรื่องนี้ไม่มีชื่อตัวละครฝ่ายหญิง เลยตั้งชื่อว่านางชั่ว ก่อนอื่น ก่อนอ่านอะไรต่อไป เรามาดูกันก่อนว่าชาดกที่ปรากฏในพระไตรปิฎกท่านว่าไว้อย่างไร ท่านว่า

จุลลปทุมชาดก

ว่าด้วยการลงโทษหญิงชายทำชู้กัน

[235] หญิงคนนี้แหละ คือหญิงคนนั้น ถึงเราก็คือบุรุษคนนั้น ไม่ใช่คนอื่น

บุรุษคนนี้แหละที่หญิงคนนี้อ้างว่า เป็นผัวของเรามาตั้งแต่เป็นเด็ก ก็คือ

บุรุษที่ถูกตัดมือ หาใช่คนอื่นไม่ ขึ้นชื่อว่า หญิงทั้งหลายควรฆ่าเสียให้

หมดเลย ความสัตย์ไม่มีในหญิงทั้งหลาย.

[236] ท่านทั้งหลายจงฆ่าบุรุษผู้ชั่วช้าลามกราวกับซากผี มักทำชู้กับภรรยาผู้อื่น

คนนี้ เสียด้วยสาก จงตัดหู ตัดจมูก ของหญิงผู้ทำร้ายผัวชั่วช้าลามกคนนี้

เสียทั้งเป็นๆ เถิด.

จบ จุลลปทุมชาดกที่ 3.

——————————————————————————————————————————

ในพระไตรปิฎก (ที่แปลเป็นภาษาไทย) ท่านว่าไว้แค่นี้เอง ส่วนอรรถาธิบายขยายรายละเอียดไปอยู่ในส่วนที่เป็นอรรถกถา ท่านว่าไว้ดังนี้

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อยเมว สา อหมฺปิ โส อนญฺโญ ดังนี้. เรื่องราวจักมีแจ้งในอุมมาทันตีชาดก.

ก็ในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นเมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า ได้ยินว่าเธอกระสันจริงหรือ กราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสถามว่าก็ใครทำให้เธอกระสันเล่า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นมาตุคามคนหนึ่ง ตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วตกอยู่ในอำนาจกิเลสจึงกระสัน พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่ามาตุคามมักอกตัญญู ประทุษร้ายมิตร มีดวงใจกระด้าง แม้โบราณกบัณฑิตให้ดื่มโลหิตที่เข่าขวาของตน บริจาคทานตลอดชีวิต ยังไม่ได้ดังใจของมาตุคาม แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

——————————————————————————————————————————

มีข้อความสำคัญสองสามข้อที่ชวนสะกิดใจ หนึ่งคือคำว่าอุมมาทันตีชาดก ยกออกไว้ก่อน เป็นชาดกใหญ่เรื่องหนึ่ง สองคือคำสารภาพของภิกษุผู้กระสัน (อยากสึก) ว่าเห็นผู้หญิงแล้วเกิดกิเลสจึงอยากสึก สามคือคำว่าให้ดื่มโลหิตที่เข่าขวาของตน

คำนี้ค่อยถกกันทีหลัง ถกเถียงนะ ไม่ใช่ถกเข่าตีกันขึ้นเข่าลงศอกถลอกปอกเปิกหัวปูดหัวโน ข้อความที่สองเป็นประเด็นสำคัญมากที่ทำให้เกิดชาดกเรื่องต่างๆ ที่แสดงโทษของมาตุคาม ก็อย่างที่ได้ว่าไปแล้วในตอนก่อน ทำไมท่านถึงประณามผู้หญิง

ก็เพราะกลัว

คำว่ากลัวอาจเป็นคำล่วงเกินพระพุทธเจ้ามากเกินไป สำหรับพระพุทธองค์ อาจทรงกังวลเท่านั้น แต่ที่ผู้เล่าใช้คำว่ากลัวออกไปในตอนก่อน ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะเจาะจงไปที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แต่หมายถึงศาสดาทั้งหลายผู้หมายมุ่งประพฤติพรหมจรรย์เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในศาสนานั้นๆ ว่ากล่าวรวมๆ ไปก่อนเพราะตอนก่อนไม่ได้ขยับขยายให้เห็นรายละเอียดว่ากลัวอะไรหรือ ก็กลัวอำนาจที่ผู้หญิงทรงไว้อย่างไรเล่า

ผู้หญิงทรงอำนาจอะไรหรือ

อำนาจแห่งการสืบพันธุ์

ไม่ใช่คำหยาบนะ ไม่ใช่คำลามกจกเปรต เป็นคำซื่อๆ ตรงตัวตรงความหมายชัดเจนไม่ต้องแปลกันอีกชั้น การสืบเผ่าดำรงพันธุ์ ไม่ว่าเผ่าพันธุ์อะไรในโลก พึ่งพาเพศหญิงหรือผู้หญิงเป็นหลักใหญ่ เว้นไว้แต่ม้าน้ำที่เพศผู้คล้ายจะทำหน้าที่หนักกว่า          มองด้วยสายตาผู้ชาย ผู้หญิงดึงดูดเย้ายวนเราให้อยากผสมพันธุ์ เว้าซื่อๆ แบบนี้เลย ผู้ชายไม่ค่อยเย้ายวนผู้ชายด้วยกัน อันนี้พูดถึงสังคมโบราณสมัยพุทธกาลโน่นนะ การสมสู่กันระหว่างสองเพศมันมีเหตุผลเรื่องการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์เป็นสำคัญ โลกียรสเป็นเพียงบำเหน็จหรือค่าจ้างรางวัล ผู้ชายอยู่ด้วยกันไม่มีการเกิด ผู้หญิงอยู่ด้วยกันก็ไม่มีการเกิด แต่หากชายหญิงอยู่ร่วมกันอาจมีการเกิด พุทธศาสนาเห็นการเกิดเป็นทุกข์ แล้วก็หลักใหญ่ของพุทธศาสนาคือไปให้พ้นทุกข์ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงกีดกันเพศหญิงหรือมาตุคาม ไม่อยากให้เข้ามาคลุกวงใน กว่าพระมหาปชาบดีโคตมีจะได้บวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพุทธศาสนา เวลาก็ล่วงมาถึงปัจฉิมวัยของพระพุทธองค์แล้ว ดูเหมือนพระองค์ไม่ค่อยเต็มใจนัก จึงมีวลีหลุดปากออกมาว่าพรหมจรรย์นี้จะไม่มั่นคง

ทิ้งไว้ตรงนี้ก่อน ค่อยขยับขยายคลี่คลายในโอกาสหน้าถ้าหากว่าโอกาสยังมี สรุปก่อนว่าในทัศนะของมาลมคนขี้ลมขี้โม้ พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ เมื่อไรที่มีการเกิดความทุกข์ก็เกิด ผู้ดำรงบทบาทหลักแห่งการเกิดคือผู้หญิง ผู้หญิงมีอำนาจเหนือจิตใจผู้ชายในเรื่องสัญชาตญาณแห่งการดำรงเผ่าพันธุ์ ภิกษุหนุ่มๆ ทั้งหลายไม่สามารถก้าวข้ามความรู้อยากสืบพันธุ์ออกไปได้ จึงมีชาดกมากมายกล่าวถึงภิกษุผู้กระสันและโทษของมาตุคาม

มาลมคนเฒ่าคิดเห็นอย่างนี้นะ ไม่ยืนยันว่านี่คือความคิดเห็นที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว

——————————————————————————————————————

อรรถกถาชาดกเรื่องจุลลปทุมชาดกท่านดำเนินเรื่องว่า ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงอุบัติในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระองค์. ในวันขนานพระนาม ได้รับพระราชทานนามว่า ปทุมราชกุมาร. พระปทุมราชกุมารได้มีพี่น้องอีกหกพระองค์. ทั้งเจ็ดพระองค์นั้นเจริญพระชนม์ขึ้นโดยลำดับครองฆราวาส ทรงประพฤติเยี่ยงพระราชา.

อยู่มาวันหนึ่งพระราชาประทับทอดพระเนตรพระลานหลวง ทรงเห็นพระราชกุมารพี่น้องเหล่านั้นมีบริวารมาก

พากันมาปฏิบัติราชการ ทรงเกิดความระแวงว่า ราชกุมารเหล่านี้จะพึงฆ่าเราแล้วชิงเอาราชสมบัติ จึงตรัสเรียกพระ

ราชกุมารเหล่านั้นมารับสั่งว่า ลูกๆ ทั้งหลาย พวกเจ้าจะอยู่ในพระนครนี้ไม่ได้ จงไปที่อื่น เมื่อพ่อล่วงลับไปแล้ว จงกลับมารับราชสมบัติอันเป็นของประจำตระกูลเถิด.

พระราชกุมารเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระชนกแล้วต่างทรงกันแสง เสด็จไปยังตำหนักของตน ตนทรงรำพึงว่าพวกเราจักพาพระชายาไปหาเลี้ยงชีพ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วเสด็จออกจากพระนคร ทรงดำเนินทางถึงที่กันดารแห่งหนึ่ง เมื่อไม่ได้ข้าวและน้ำ ไม่สามารถจะกลั้นความหิวโหยไว้ได้ จึงตกลงพระทัยปลงพระชนม์ของพระชายาของพระเจ้าน้อง ด้วยทรงดำริว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ก็จักหาหญิงได้ แล้วแบ่งเนื้อออกเป็นสิบสามส่วนพากันเสวย. พระโพธิสัตว์เก็บไว้ส่วนหนึ่ง ในส่วนที่ตนและพระชายาได้ ทั้งสองเสวยแต่ส่วนเดียว. พระราชกุมารทั้งหลายทรงปลงพระชนม์พระชายาทั้งหกแล้วเสวยเนื้อได้หกวันด้วยประการฉะนี้.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงเหลือไว้วันละส่วนทุกๆ วัน เก็บไว้ได้หกส่วน. ในวันที่เจ็ด เมื่อพูดกันว่าจักปลงพระชนม์พระชายาของพระเจ้าพี่. พระโพธิสัตว์จึงประทานเนื้อหกส่วนเหล่านั้นแก่น้องๆ แล้วตรัสว่า วันนี้พวกท่านจงเสวยหกส่วนเหล่านี้ก่อน พรุ่งนี้จักรู้กัน ในเวลาที่พระราชกุมารน้องๆ เหล่านั้นเสวยเนื้อแล้วหลับไปก็ทรงพาพระชายาหนีไป. พระชายานั้นเสด็จไปได้หน่อยหนึ่งแล้วทูลว่า ข้าแต่พระภัสดา หม่อมฉันไม่อาจเดินต่อไปได้. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงทรงแบกพระชายาออกจากที่กันดารไปในเวลารุ่งอรุณ. เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพระนางทูลว่า หม่อมฉันหิวเหลือเกิน. พระโพธิสัตว์ตรัสว่า น้ำไม่มีเลยน้อง. เมื่อพระนางพร่ำวิงวอนบ่อยเข้า ด้วยความสิเน่หาต่อพระนาง จึงเอาพระขรรค์เชือดพระชานุ (เข่า) เบื้องขวาแล้วตรัสว่า น้ำไม่มีดอกน้อง น้องจงนั่งลงดื่มโลหิตที่เข่าขวาของพี่. พระชายาได้กระทำตามพระประสงค์. ทั้งสองพระองค์เสด็จถึงแม่น้ำใหญ่โดยลำดับ ทรงดื่ม ทรงอาบ และเสวยผลาผล ทรงพักในที่สำราญ แล้วทรงสร้างอาศรมบทใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่ง

พักเรื่องตรงนี้ก่อน หากเป็นลิเกก็คือสลับฉาก ในเรื่องนี้แต่ต้นมีผู้หญิงเจ็ดคน ถูกฆ่ากินหกคน ไม่มีรายละเอียดว่าต้มยำทำแกงอย่างไร เหลือคนเดียวคือพระชายาของพระเจ้าพี่ นางคนนี้ต้องเป็นนางชั่วที่จั่วหัวเรื่องเอาไว้แน่ๆ ใช่หรือไม่ใช่ค่อยตามไปเดี๋ยวก็รู้ อรรถกถาท่านเดินเรื่องต่อไปว่า

อยู่มาวันหนึ่ง ด้านเหนือแม่น้ำ ราชบุรุษลงโทษโจรผู้ทำผิดพระราชอาญา ตัดมือ เท้า หู และจมูก ให้นอนในเรือโกลนลำหนึ่ง เสือกลอยไปในแม่น้ำใหญ่. โจรนั้นร้องเสียงครวญคราง ลอยมาถึงที่นั้น. พระโพธิสัตว์ทรงสดับเสียงร้อง

อันน่าสงสารของโจรนั้น ทรงดำริว่า เมื่อเรายังอยู่สัตว์ผู้ได้รับความลำบากอย่าได้พินาศเลย จึงเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำ ช่วย

ให้เขาขึ้นจากเรือแล้วนำมายังอาศรมบท ได้ทรงกระทำการเยียวยาแผลด้วยการชำระล้างและทาด้วยน้ำฝาด. ฝ่ายพระชายาของพระองค์ครั้นทรงทราบว่า พระสามีทรงปรนนิบัติคนเลวทรามซึ่งลอยน้ำมาถึงปานนั้น ก็ทรงรังเกียจคนเลวทรามนั้น แสดงกิริยากระฟัดกระเฟียดอยู่ไปมา. ครั้นแผลของโจรนั้นหายสนิทแล้ว พระโพธิสัตว์จึงให้เขาอยู่ในอาศรมบทกับพระชายา ทรงแสวงหาผลาผลจากดงมาเลี้ยงดูโจรและพระชายา. เมื่อทั้งสองอยู่กันอย่างนี้ สตรีนั้นก็มีจิตปฏิพัทธ์ในบุรุษชั่วนั้น ประพฤติอนาจารร่วมกับเขา ต้องการจะฆ่าพระโพธิสัตว์ด้วยอุบายอย่างหนึ่ง จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า เมื่อหม่อมฉันนั่งบนบ่าของพระองค์ออกจากทางกันดาร มองเห็นภูเขาลูกหนึ่งจึงบนบานว่า ข้าแต่เทพเจ้าผู้สิงสถิตบนยอดเขา หากข้าพเจ้ากับพระสวามีปลอดภัยได้ชีวิต ข้าพเจ้าจักทำพลีกรรมแก่ท่าน บัดนี้เทวดานั้นทำให้หม่อมฉันหวาดสะดุ้ง หม่อมฉันจะทำพลีกรรมแก่เทวดานั้น. พระโพธิสัตว์ไม่ทรงทราบมายาทรงรับสั่งว่าดีแล้ว ทรงเตรียมเครื่องเซ่น ให้พระชายาถือภาชนะเครื่องเซ่นขึ้นสู่ยอดภูเขา. ครั้นแล้วพระชายาจึงกราบทูลพระสวามีอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสวามี พระองค์ก็เป็นเทวดาของหม่อมฉัน ทั้งชื่อว่าเป็นเทวดาผู้สูงส่ง เบื้องแรกหม่อมฉันจักบูชาพระองค์ด้วยดอกไม้ในป่าก่อน และกระทำประทักษิณถวายบังคม จักทำพลีกรรมเทวดาในภายหลัง. พระนางให้พระโพธิสัตว์หันพระพักตร์เข้าหาเหวทรงบูชาด้วยดอกไม้ในป่า ทำเป็นปรารถนาจะทำประทักษิณถวายบังคม สถิตอยู่ข้างพระปฤษฎางค์ แล้วทรงประหารที่พระปฤษฎางค์โดยผลักไปในเหว ดีพระทัยว่าเราเห็นหลังข้าศึกแล้วจึงเสด็จลงจากภูเขา ไปหาบุรุษเลว.

——————————————————————————————————————————-

ถ้อยคำสำนวนท่านเรียบๆ นะ ผู้อ่านว่าไหม ไม่ใส่สีใส่ไข่แสดงอารมณ์ เป็นคารมบอกกล่าวถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเดียว ไม่ใช่วิจารณ์หรือตำหนิ ตั้งประเด็นชวนคุยเท่านั้นเอง บทบาทหรือแอ็กชันหรือพฤติกรรมการผลักผัวลงเหวมีอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องในชาดกและธรรมบท ธรรมบทก็มีลักษณะคล้ายนิทานเหมือนชาดก แต่ไม่ใช่เรื่องในอดีตทั้งหมดอย่างชาดก หลายๆ เรื่องแสดงถึงเรื่องราวของคนจริงๆ ในสมัยพุทธกาล

ผู้อ่านที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทปริญญาเอกที่กลัดกลุ้มรุ่มร้อนเพราะหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่ได้ ลองหามาอ่านกันนะ เผื่อจะได้ไอเดีย

ชาดกเรื่องนี้แย้มพรายให้เห็นนิดๆ ถึงการลงทัณฑ์ ดูรุนแรงนะ ตัดทิ้งทั้งมือเท้าหูและจมูกแต่ไม่ยอมให้ตาย โหดร้ายทรมานสุดๆ เอาท่อนด้วนๆ ไร้มือไร้เท้าใส่ลงในเรือแล้วผลักไสให้ไหลลอยน้ำตามยถากรรม

เรื่องการลงทัณฑ์โหดๆ รุนแรงพอๆ กันกับทัณฑ์ในนรกนี้มีปรากฏในมหาทุกขักขันธสูตรอีกแห่งหนึ่ง อยู่ในหมวดสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย ไม่ใช่ขุททกนิกายที่ชาดกสังกัดอยู่ การลงทัณฑ์ในมหาทุกขักขันธสูตรท่านใช้คำว่ากรรมกรณ์ มี ณ.เณรการันต์ ไม่ใช่กรรมกรอย่างที่เราคุ้นเคย กรมกรณะหรือกรรมกรณ์พิลึกพิลั่น บางอันก็ชวนขนหัวลุกท่านว่าอย่างไร ค่อยไปตามอ่านในตอนหน้า

Don`t copy text!