นางในพระไตรปิฎก : มาณวิกานางหนึ่ง

นางในพระไตรปิฎก : มาณวิกานางหนึ่ง

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

“แม่น้ำทุกสายไหลคด

ป่าทั้งหมดสำเร็จด้วยไม้

หญิงทั้งหลายคงทำชั่ว

เมื่อได้โอกาสที่ลับตา.”

พระราชาขับเพลงดังนี้พลางซัดลูกบาศก์บนแผ่นกระดาน เมื่อเล่นด้วยวิธีนี้ก็ชนะเป็นนิจ ฝ่ายปุโรหิตก็พ่ายแพ้เป็นนิจ ทรัพย์ในเรือนเริ่มร่อยหรอ จึงคิดว่าขืนเล่นแบบนี้ต่อไปคงฉิบหายแน่นอน

ปุโรหิตคิดหาวิธีที่จะเอาชนะพระราชา แกเองก็เป็นคนมีวิชาความรู้ เห็นอยู่ช่องทางหนึ่งว่าต้องหามาณวิกานางหนึ่งซึ่งไม่เคยสมสู่มาสู่เรือน แต่ว่ามาณวิกาที่เติบโตแล้วยากจะรักษา จึงคิดจะหาทาริกานางหนึ่งมาไว้ในเรือนตั้งแต่แรกคลอด เติบโตขึ้นมาก็ทำให้อยู่ในอำนาจตน

คำนี้สำคัญ

—————————————————————————–

หยิบเอาเรื่องนี้มาจากอัณฑภูตชาดก ขุททกนิกาย สุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกฉบับธรรมทานที่ท่านผู้จัดทำบันทึกพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหมดลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เมื่อราวปี พ.ศ.2544 (หากจำไม่ผิด) ท่านไม่ขาย แต่แจกเป็นทาน มีพระสงฆ์ทรงสมณสารูประดับพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการ ท่านคงเล็งเห็นว่าประชาชนทั่วไปเข้าถึงพระไตรปิฎกยากเพราะราคาแพง จะมีก็มีตามวัดที่มีคนซื้อถวายหรือทางราชการท่านพิมพ์แล้วแจกจ่ายตามวัด มักอยู่ในตู้ลั่นกุญแจ

ผู้เล่าเองเมื่อยังเป็นครูหนุ่มลุ่มๆ ดอนๆ ก็ฝันๆ อยากมีพระไตรปิฎกสักตู้อยู่ที่บ้าน แต่ราคาตอนนั้นยังไม่รวมตู้ก็เป็นหมื่น แต่เงินเดือนครูหนุ่มแค่สามพันสอง ลูกหนึ่งเมียหนึ่งตอนนั้น ภายหลังลูกสาวออกมาดูโลกอีกหนึ่ง โชคยังดีที่บ้านไม่ต้องเช่าข้าวไม่ต้องซื้อ พับความอยากได้ใคร่มีส่วนตัวเอาไว้ก่อน ไปอาศัยตู้พระไตรปิฎกที่วัด ไม่ค่อยสะดวกนัก ยืมกลับบ้านได้บ้างเป็นบางโอกาส คิดจะจิ๊กก็กลัวว่าตายแล้วกลายเป็นเปรต คิดจะถ่ายเอกสารก็โหย…สมัยนั้นหน้าละเจ็ดสิบสตางค์ ถ่ายแค่สิบหน้าร้อยหน้าก็ไม่เท่าไร แต่หากถ่ายทั้งชุดราวๆ สองสามหมื่นหน้า …ไม่ต้องคิดเลย

ไหว้สา ขอบพระคุณผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด ผู้เล่าเองได้รับจากพระอาจารย์ที่เคารพนับถือมาแผ่นหนึ่ง เอามาโหลดใส่คอมพิวเตอร์ ก็ยังได้ใช้มาจนทุกวันนี้

————————————————————————–

ชาดกเรื่องนี้ ใจความหลักก็ยังพูดถึงด้านลบของผู้หญิง ย้ำหลายหนว่าไม่ใช่ท่านเห็นแต่ด้านลบ แต่ด้านบวกของผู้หญิงท่านพูดถึงในที่อื่น ที่ว่าลบๆ ส่วนมากก็เป็นคนในชาดก ไม่ใช่คนจริงๆ ในสมัยพุทธกาล นางดีๆ ในชาดกก็มีเยอะมาก มากกว่านางร้ายเสียด้วยซ้ำ แต่เรื่องราวของนางดีไม่ค่อยมีสีสัน ไม่เปรี้ยวจี๊ดหวานเจี๊ยบเฉียบเด็ดอะไรทำนองนั้น คงมีโอกาสได้เอามาเล่าในหัวข้อนี้ต่อไป

เราลองมาสำรวจดูความรู้สึกนึกคิดของสังคมอินเดียโบราณที่มีต่อผู้หญิงจากเรื่องนี้ดูบ้าง มันสะท้อนอะไรลึกๆ อยู่นะ ย้อนกลับไปสู่ตอนต้นเรื่องก่อน ท่านกล่าวถึงพระราชาองค์หนึ่งชอบเล่นสกา ส่วนคนที่ชอบเล่นกับพระองค์ก็คือปุโรหิตคนหนึ่ง ปุโรหิตคงมีหลายคน แต่คนนี้คิดอย่างไรเราไม่รู้ คงคิดเหมือนนักการเมืองที่ชอบไปตีกอล์ฟกับนายกฯ กระมัง อันนี้เป็นสถาการณ์สมมุติ ไม่มีเจตนาจะแขวะใคร

เล่นเมื่อไรพระราชาก็ขับเพลงนี้

“แม่น้ำทุกสายไหลคด

ป่าทั้งหมดสำเร็จด้วยไม้

หญิงทั้งหลายคงทำชั่ว

เมื่อได้โอกาสที่ลับตา.”

เล่นเมื่อไรก็ชนะทุกที เล่นจนปุโรหิตจะฉิบหาย ก็เลยคิดจะแก้เคล็ดด้วยวิชาอาคมในแนวรหัสยลัทธิที่เชื่อมั่นกันมากในสังคมเมื่อสองพันกว่าปีก่อนย้อนหลังเข้าไป ปุโรหิตท่านนี้มีความรู้ทางนี้อยู่ด้วย มองเห็นช่องทางจะลบล้างมนตราอาคมหรือทำลายอาถรรพณ์ที่พระราชาผูกไว้ อาจเห็นว่าในบทเพลงสั้นๆ นี้พูดถึงการทำชั่วของผู้หญิง ก็เลยจะเอาหญิงที่ไม่ทำชั่วมาล้างอาถรรพณ์ แต่จะไปหาได้จากที่ไหน คิดมาคิดไปก็ได้ไอเดียปิ๊งๆ

อรรถกถาท่านเขียนไว้อย่างนี้

ขืนเป็นเช่นนี้ ทรัพย์สินในเรือนทุกอย่างต้องหมดแน่ จำเราต้องเสาะแสวงหามาตุคามคนหนึ่งที่ไม่เคยสมสู่กับบุรุษอื่นเลย มาไว้ในเรือนให้ได้. ครั้นแล้ว ก็กลับเกิดปริวิตกว่า เราไม่อาจจะรักษาหญิงที่เคยเห็นชายอื่นมาแล้วไว้ได้ จำเราจักต้องรักษาหญิงคนหนึ่ง แต่แรกคลอด ต่อเจริญวัยแล้วจึงให้อยู่ในอำนาจ ทำให้เป็นหญิงมีชายเดียว จัดแจงการรักษาอย่างมั่นคง จึงจะนำทรัพย์มาจากราชสกุลได้

ผู้เล่าขอแสดงความเห็นสอดแทรกนิดหน่อย ข้อความที่ว่าให้อยู่ในอำนาจเป็นข้อความสำคัญ มันสะท้อนการกระทำบางประการที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง คิดเฉพาะบริบทที่ปรากฏในชาดกเรื่องนี้นะ เพราะยังชาดกหาเรื่องอื่นที่สะท้อนถึงผู้หญิงหาวิธีเอาผู้ชายมาไว้ในอำนาจไม่ได้ แทรกนิดเดียวแค่นี้ จะมีบ้างก็พวกนางงามๆ ทั้งหลายที่ล่อให้ฤษีดาบสตบะแตก แต่มันก็ไม่ใช่ความคิดของนาง นางถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือ

อ่านอรรถกถาชาดกต่อไปดีกว่า

ก็แลปุโรหิตเป็นคนฉลาดในวิชาดูอวัยวะ ดังนั้น พอเห็นหญิงทุคตะคนหนึ่งมีครรภ์ ก็ทราบว่า นางจักคลอดลูกเป็นหญิง จึงเรียกนางมาหา ให้เสบียง ให้อยู่แต่ภายในเรือนเท่านั้น พอคลอดแล้วก็ให้เงินส่งตัวไป ไม่ให้เด็กหญิงนั้นเห็นชายอื่นๆ เลย มอบให้ในมือของพวกหญิงเท่านั้นเลี้ยงดูจนเจริญวัย จึงให้นางอยู่ในอำนาจของตน ระหว่างที่กุมารีนั้นยังไม่เติบโตท่านปุโรหิตไม่ยอมเล่นสกาพนันกับพระราชา ครั้นให้กุมารีอยู่ในอำนาจแล้ว ก็กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เราเล่นพนันสกากันเถิด. พระราชาทรงรับสั่งว่า ดีละ ทรงเล่นโดยทำนองเดิมนั่นแหละ ในเวลาที่พระราชาทรงขับเพลงทอดลูกบาศก์ ปุโรหิตก็กล่าวว่า

“ยกเว้นมาณวิกา”.

ตั้งแต่นั้นมา ปุโรหิตกลับชนะ พระราชาแพ้.

ยกเว้นมาณวิกาที่ปุโรหิตเปล่งออกมาก็เป็นอีกถ้อยคำที่น่าคิด เหมือนจะเป็นบทมนตร์ เป็นถ้อยคำทำลายอาถรรพณ์ของพระราชา แต่หากจะพิจารณาพ่วงกับบทเพลงพระราชาที่เหมือนจะกล่าวหาผู้หญิงว่าชั่วร้ายหมดก็ไม่จริง ไม่ใช่สัจจกิริยา หากใครเป็นนักเลงชาดก คงผ่านหูผ่านตาคำนี้บ่อยๆ

สัจจกิริยา

สัจจกิริยาคือความจริง คือสัจพจน์ คือการกล่าวอ้างเอาอำนาจของสัจจะมาช่วยส่งเสริมหรือหนุนส่งในสิ่งที่ตนกระทำให้บรรลุผล จะยกเอาคำกล่าวอ้างสัจจกิริยาที่ขำๆ บทหนึ่งมาแสดงดังนี้

ลูกรัก อสรพิษที่ออกจากโพรงกัดเจ้านั้นมีเดชมาก

ไม่เป็นที่รักของแม่ในวันนี้เลย

อสรพิษนั้นกับบิดาของเจ้าไม่แปลกกันเลย

ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร

พิษจงคลายออก ยัญญทัตต กุมารจงรอดชีวิตเถิด.

บทนี้อยู่ในกัณหทีปายนชาดก นางพราหมณีอ้างว่างูตัวที่ออกจากโพรงมากัดเจ้ามีพิษมาก ไม่เป็นที่รักของแม่เลย งูตัวนั้นกับพ่อของเจ้าก็เหมือนกันนั่นแหละ ด้วยอำนาจแห่งสัจจะนี้ ลูกแม่จงรอดชีวิต

ขืนลากต่อไปก็จะยืดยาวมาก เฒ่ามาลมเป็นคนขี้ลมสมคำลือ ไม่ต้องรอให้ใครมาเบรกขอติดเบรกตัวเองรักษาหน้าเอาไว้ดีกว่า ตั้งแต่นั้นมาอาเพศอาถรรพณ์สุดพิสดารของพระราชาก็เสื่อมลง พระราชาสงสัยว่าในเรือนของปุโรหิตน่าจะมีหญิงคนหนึ่งที่มีชายแต่เพียงผู้เดียวในชีวิต ไม่แอบมีกิ๊กมีแก๊กอะไรตามแฟชั่น ก็เลยให้คนของพระองค์ไปสืบดู ครั้นรู้ความจริงก็คิดจะทำลายศีลของนางเสีย คำว่าศีลในที่นี้อาจจะไม่ใช่ศีลห้าศีลแปดที่เราคุ้นเคยก็ได้ อาจหมายถึงวัตร พรต หรือข้อปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่นางยึดถือก็ได้ เนื้อความถัดไปให้อ่านจากอรรถกถา

——————————————————————————————————–

(พระราชา) รับสั่งให้นักเลงผู้หนึ่งมาเฝ้า มีพระดำรัสว่า เจ้าจักสามารถทำลายศีลแห่งหญิงของท่านปุโรหิตได้หรือไม่? นักเลงผู้นั้นรับสนองพระราชประสงค์ว่า ข้าพระองค์อาจอยู่พระเจ้าข้า. ครั้งนั้นพระราชาทรงพระราชทานทรัพย์แก่เขา มีพระดำรัสว่า ถ้าเช่นนั้น จงทำให้สำเร็จโดยเร็วเถิด ทรงส่งเขาไป. เขารับพระราชทานทรัพย์แล้ว ก็จ่ายของมีเครื่องหอม ธูปกระแจะและการบูรเป็นต้นไปเปิดร้านขายเครื่องหอมทุกๆ อย่างไม่ไกลเรือนของท่านปุโรหิตนั้น. แม้เรือนของท่านปุโรหิตก็เป็นเรือน 7 ชั้น มีซุ้มประตู 7 แห่ง และที่ซุ้มประตูทุกแห่งมีหญิงรักษาทั้งนั้น ชายอื่นเว้นแต่ท่านพราหมณ์ไม่มีผู้ใดจะได้เข้าไปสู่เรือนเลย แม้ตะกร้าทิ้งขยะ ก็ต้องเป็นหญิงเข้าไปชำระทั้งนั้น ปุโรหิตคนหนึ่ง หญิงผู้บำเรอของมาณวิกานั้นคนหนึ่งเท่านั้นที่ได้เห็นมาณวิกานั้น

ครั้งนั้นหญิงผู้บำเรอของมาณวิกา ถือเอาทรัพย์อันเป็นมูลค่าสำหรับซื้อเครื่องหอมและดอกไม้เดินไป เวลาไปก็เดินผ่านไปใกล้ๆ ร้านของนักเลงนั้น เขารู้เป็นอย่างดีว่าหญิงคนนี้เป็นหญิงบำเรอของมาณวิกา วันหนึ่งพอเห็นนางเดินมา ก็ลุกขึ้นจากร้าน ถลันไปฟุบที่ใกล้เท้านาง กอดเท้าทั้งคู่ไว้แน่น ด้วยแขนทั้งสองข้าง พลางร่ำไห้ปริเทวนาว่า แม่จ๋า แม่ไปไหนเสียเล่า ตลอดเวลานานประมาณเท่านี้?

พวกนักเลงที่ซ้อมกันไว้ แม้ที่เหลือยืนอยู่ข้างหนึ่ง ก็พากันพูดว่าแม่กับลูกดูละม้ายกันโดยสัณฐานของมือเท้าและใบหน้า และอากัปกิริยาดูเหมือนกับคนคนเดียวกัน. หญิงนั้น เมื่อคนพวกนั้นช่วยกันพูดก็เชื่อแน่แก่ตน เข้าใจว่า บุรุษนี้เป็นลูกของเราแน่นอน แม้ตนเองก็พลอยร้องไห้ไปด้วย. คนแม้ทั้งสอง ต่างยืนกอดกันร้องไห้. คราวนั้น นักเลงจึงกล่าวว่า แม่จ๋า แม่อยู่ที่ไหน? นางตอบว่า พ่อคุณ แม่บำรุงหญิงสาวของท่านปุโรหิต ผู้มีลีลาเยื้องกรายเสมอด้วยกินรี มีรูปงามเป็นเลิศอยู่จ้ะ. เขาถามต่อไปว่า บัดนี้ แม่กำลังจะไปไหนต่อล่ะจ๊ะ? นางบอกว่า แม่กำลังจะไปหาซื้อของหอม และพวงมาลาให้นายสาว. เขากล่าวว่าแม่จ๋า แม่จะต้องไปซื้อที่อื่นทำไม นับแต่นี้ไป โปรดรับเอาของของฉันไปเถิด แล้วไม่รับเงินเป็นมูลค่า ให้สิ่งของมีหมากพลู แลกระวานเป็นต้น กับดอกไม้ต่างๆ เป็นอันมากไป.

มาณวิกาเห็นเครื่องหอมและดอกไม้มากมายก็กล่าวว่า แม่คุณ วันนี้ท่านพราหมณ์ของเราใจดี หรืออย่างไร?

นางถามว่า ทำไมคุณนายพูดอย่างนี้เล่า?

มาณวิกา เพราะฉันเห็นของเหล่านี้มากมาย

นางกล่าวว่า พราหมณ์ไม่ได้ให้เงินค่าของมากขึ้นเลยแต่ของนี้ ฉันนำมาจากสำนักลูกของฉัน.

นับแต่นั้นมา นางริบเอาค่าของที่พราหมณ์ให้เสียเอง แล้วก็ไปรับเอาเครื่องหอมและดอกไม้เป็นต้น มาจากสำนักของนักเลงคนนั้นเรื่อยมา. ล่วงมาสองสามวัน นักเลงก็ทำลวงว่าเป็นไข้นอนเสีย. นางไปที่ประตูร้านของเขา ไม่เห็นก็ถามว่าลูกของเราไปไหน? คนในร้านบอกว่าลูกชายของท่านไม่สบาย. นางไปถึงที่นอนของเขา แล้วนั่งลูบหลัง ถามว่า ลูกเอ๋ย ไม่สบายเป็นอะไรไปหรือ? เขานิ่งเสีย นางก็ถามว่าทำไมไม่พูดเล่า ลูกเอ๋ย. นักเลงพูดว่าแม่จ๋า ถึงฉันจะตายก็ไม่สามารถจะบอกแม่ได้. นางจึงกล่าวว่า เจ้าไม่บอกแม่แล้วจะควรบอกใครเล่า บอกเถิดพ่อคุณ นักเลงจึงบอกว่า แม่จ๋า ฉันไม่ป่วยไข้เป็นอะไรหรอก แต่ฉันได้ยินคำสรรเสริญนางมาณวิกาแล้ว ก็มีจิตผูกพันมั่นคง เมื่อฉันได้นางจึงจะมีชีวิตสืบไป เมื่อไม่ได้จักยอมตายที่นี่แหละ. นางกล่าวว่า พ่อคุณ เรื่องนี้เป็นภาระของแม่เอง ลูกอย่าเสียใจเพราะเรื่องนี้เลย ปลอบเอาใจเขาแล้วก็ขนของหอมและดอกไม้ไปมากมาย มาถึงสำนักมาณวิกา ก็กล่าวว่าคุณนายเจ้าขา ลูกดิฉันได้ยินคำสรรเสริญคุณนายจากสำนักของฉันแล้วมีจิตผูกพันมั่นคง ทำอย่างไรกันดีเล่า? มาณวิกาตอบว่า ถ้าแม่พาเขามาได้ ฉันจะให้โอกาสเหมือนกัน. นางฟังคำของมาณวิกาแล้ว แต่บัดนั้นมา ก็กวาดขยะเป็นอันมากจากทุกซอกทุกมุมของเรือน เทรดหัวหญิงที่เป็นยาม. หญิงที่เป็นยามอึดอัดใจด้วยเรื่องนั้นก็ออกไป. โดยทำนองเดียวกันนี้แหละ หญิงที่เป็นยามคนไหน พูดอะไรๆ นางจะทิ้งขยะรดหัวหญิงยามนั้นๆ ตั้งแต่นั้น นางจะนำสิ่งใดเข้ามา หรือนำออกไปก็ไม่มีใครกล้าตรวจค้นสิ่งนั้น.

————————————————————————————————

พอหอมปากหอมคอเนาะ อันที่จริงระเบียบถ้อยคำของท่านก็ไม่ยากเย็นเข็ญใจอะไรนัก เพียงแต่ไม่ค่อยเหมือนระเบียบถ้อยคำที่เราใช้กันในปัจจุบันเท่าไรนัก

นางคนใช้ผู้คอยบำเรอคือรับใช้มาณวิกากำจัดยามเฝ้าประตูออกไปได้หมดด้วยอุบายเทขยะรดหัวยาม ได้เวลา นางก็ให้นักเลงคนนั้นนอนในตะกร้าดอกไม้แล้วแบกไปสู่ที่อยู่ของมาณวิกา. อยู่ต่อมาไม่นาน ศีลหรือพรต หรือข้อยึดถือปฏิบัติของมาณวิกานางนั้นก็ถูกทำลาย นางไม่ได้มีผู้ชายแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป นักเลงส่งข่าวให้พระราชาทราบ พระราชาชวนปุโรหิตเล่นสกา ปุโรหิตพ่ายแพ้ถูกกินเรียบเหมือนแต่ก่อนแต่เดิม

มาณวิกานางนี้ชั่วไหม

ถ้าชั่ว นางก็ถูกทำให้ชั่ว

ผู้อ่านว่าไหม

 

Don`t copy text!