นางในพระไตรปิฎก : กุณฑลเกสี พระเถรีผู้ผลักผัวลงเหว

นางในพระไตรปิฎก : กุณฑลเกสี พระเถรีผู้ผลักผัวลงเหว

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

แต่ก่อนข้าพเจ้าถอนผม

อมมูลฟัน

มีผ้าผืนเดียวเที่ยวไป

รู้ในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ

และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ

พระเถรีรูปนี้เป็นบุคคลจริงๆ ในสมัยพุทธกาล เป็นผู้ทรงปัญญา ฉลาดหลักแหลมสามารถตอบโต้กับพระสารีบุตรได้ เมื่อพ่ายแพ้ก็ยอมรับได้ถึงความพ่ายแพ้ ไม่ดึงดื้อถือทิฐิ มุ่งแต่จะเอาชนะให้ได้ จึงพบทางสว่าง เข้าสู่เส้นทางเห็นธรรม หากนางยึดถือว่าแพ้ไม่ได้ พ่ายไม่เป็น ก็อาจถลำลึกตกล่มตกจมไปชั่วชีวิต แม้ตายก็มีอบายเป็นที่ไปโดยเที่ยงแท้

ก่อนจะมาเห็นธรรมในพุทธศาสนา นางเคยบวชมาก่อนในสำนักปริพาชก แต่หลักฐานบางแห่งว่าบวชในลัทธินิครนถ์ เชี่ยวชาญชำนาญในลัทธินั้นระดับหนึ่งจึงทระนงถือตัวว่ารู้ธรรม เที่ยวท้าทายทางธรรมตอบโต้กับนักบวชลัทธิอื่นๆ แล้วเอาชนะไปทั่ว สุดท้ายมาจนถ้อยที่จะรุกรับขับเคี่ยวกับพระมหาเถระผู้ทรงปัญญาชื่อว่าสารีบุตร นางยอมวางกิ่งหว้าในมือ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแนวพุทธ ในที่สุดก็ตัดสินใจขอบวชใหม่ในลัทธิพุทธศาสนา ด้วยสติปัญญาอันล้ำเลิศของนาง เพียงเพ่งพิจารณาน้ำล้างเท้าก็เข้าถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บรรลุพระอรหันต์โดยเร็ว พระพุทธองค์ทรงยกย่องนางว่าเป็นภิกษุณีผู้เลิศด้วยขิปปาภิญญา คือก้าวถึงความรู้ชั้นยอดเยี่ยมในเวลาอันรวดเร็ว

ข้อความต่อไปนี้ ที่จะเอามาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับนางดีๆ ในพระไตรปิฎกในหัวข้อเรื่องกุณฑลเกสี พระเถรีทรงปัญญา เอามาจากอรรถกถาธรรมบท อรรถกถาเถริยาปทาน อรรถกถาเถรีคาถา บวกกับข้อเขียนของท่านอาจารย์เสถียรพงษ์ วรรณปก เรื่องพุทธสาวก พุทธสาวิกา เอามาเล่าแบบรวมๆ กันไปเหมือนยำสามเนื้อในจานเดียว ประกอบด้วยเนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อ…เนื้ออะไร บอกไม่ได้ สูตรลึกรหัสลับจะแตก ชื่อของพระนาง…จะเรียกว่าพระนางได้ไหม เป็นพระจริงๆ นะ พระภิกษุณีไง แล้วก็เป็นเพศหญิง น่าจะเรียกว่าพระนาง แต่คำว่าพระนางมักถูกใช้ให้หมายถึง พระชายา อัครชายา พระเทวี ราชเทวีอะไรทั้งหลาย ครั้นจะใช้ว่านางพระก็ดูประหลาดๆ จะเรียกอะไรก็เรียกไปก่อนก็แล้ว มือมันไม่ทันความคิดที่โลดแล่นน่ะ

ภิกษุณีรูปนี้มีชื่อก่อนบวชว่าภัททา ต่อมาไปบวชในสำนักปริพาชก ถูกเขาเอาแหนบถกถอนผมออกจนเกลี้ยงหัว แต่บางแห่งท่านก็เล่าว่าถูกเขาเอาแปรงตาลขัดหัวจนผมเกลี้ยง ต่อมาผมที่งอกใหม่ไม่เหยียดสยายเป็นเส้นยาว แต่ขอดเป็นวงๆ เหมือนตุ้มหูเลยได้ชื่อว่ากุณฑลเกสี

พระเถรีรูปนี้เคยมีผัวมาก่อน ประวัติความเป็นมาก็ออกจะโลดโผนพอสมควร จะตัดต่อเอาข้อความจากอรรถกถา เถรีอปทานมาแสดงดังต่อไปนี้

—บัดนี้ ดิฉันเกิดในสกุลเศรษฐีที่มีความเจริญ ในพระนครราชคฤห์อันอุดมเมื่อดำรงอยู่ในความเป็นสาว ได้เห็นราชบุรุษนำโจรไปเพื่อจะฆ่า มีความรักในโจรคนนั้น บิดาของดิฉันปลดเปลื้องโจรนั้นให้หลุดพ้นจากการฆ่าด้วยทรัพย์พันหนึ่ง รู้จักใจดิฉันแล้ว ยกดิฉันให้กับโจรนั้น ดิฉันรักใคร่เอ็นดูเกื้อกูลแก่โจรนั้นมาก แต่โจรนั้นพาดิฉันผู้ช่วยขนเครื่องบวงสรวงไปที่ภูเขามีเหวเป็นที่ทิ้งโจรคิดจะฆ่าดิฉัน ด้วยความโลภในเครื่องประดับของดิฉัน เวลานั้นดิฉันจะรักษาชีวิตของตัวไว้ จึงประนมมือไหว้โจรผู้เป็นศัตรูเป็นอย่างดีแล้วกล่าวว่า นายผู้เจริญ สร้อยทองคำ แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์เป็นอันมากทั้งหมดนี้ นายเอาไปเถิด และจงประกาศว่าฉันเป็นทาสีเถิด

จงประกาศว่าฉันเป็นทาสีเถิด

ข้อความนี้สำคัญ นางยอมทุกอย่าง ยอมแม้แต่จะลดตัวลงเป็นทานหากโจรไว้ชีวิต แต่ไอ้โจรรูปหล่อสงสัยว่าจะเอ๊าะๆ ด้วยกลับตอบว่า

—แน่ะนางงาม จงตายเสียเถิด อย่ามัวรำพันนักเลย เรามุ่งจะฆ่านางผู้มาถึงป่าแล้ว—

สาวน้อยภัททาอ้อนวอนอย่างไรโจรใจร้ายก็ไม่ยอม ทำไมโจรถึงใจร้ายนักท่านไม่ได้แสดงเหตุผลไว้ อาจเป็นไปได้ว่านางภัททาไม่งาม ที่ท่านว่าภายหลังเมื่อนักบวชในสำนักปริพาชกถอนผมนางออกหมด ผมงอกใหม่หยิกหยอยเป็นก้นหอยก็อาจเป็นไปได้ว่านางไม่มีความงามตามอุดมคติของชาวชมพูทวีปเมื่อยุคกระโน้น หรือโจรจำใจเป็นผัวของนางเพราะพ่อนางติดสินบนเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ให้สับเปลี่ยนตัวคน โจรรอดจากโทษประหาร อยู่เป็นผัวให้นางแต่อาจไม่มีความสุข จึงแต่งอุบายลวงนางไปฆ่าแล้วชิงทรัพย์หลบหนีไป

นางภัททาผู้มีปัญญาเห็นว่าคงไม่รอดแน่แล้ว จึงออดอ้อนด้วยคำหวานเพื่อลวงโจรให้ตายใจว่าข้าแด่ท่านโจร ตั้งแต่ข้าพเจ้ารู้ตัวว่าเป็นสาว ผู้ใดจะเป็นที่รักของข้าพเจ้ายิ่งไปกว่าท่านไม่มีเลย ไหนๆ ข้าพเจ้าก็จะไม่ได้เห็นหน้าอันหล่อเหลาสง่างามของท่านแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าได้กอดแล้วทำประทักษิณคือเวียนขวารอบตัวท่านสักครั้งเก่อนตายด้วยเถิด

ใจรใจอ่อน นางเวียนเทียนไปทางขวาถึงข้างหลังโจร ก็ผลักโจรตกเหวเหมือนพระชายาในเรื่องนางชั่วแบกชู้ไว้บนหัวชั่วชีวิตผลักปทุมราชกุมารลงไป ในเรืองโน้นพระกุมารรอดชีวิตเพราะเหี้ยมาช่วยไว้ แต่ในเรื่องนี้โจรตาย นางลงมาจากเขา ไม่คิดจะกลับเข้าตระกูลคือกลับไปอยู่กับพ่อแม่ แต่นางไปบวชในสำนักปริพาชก คำคำนี้ เรามักได้ยินหรือได้พบบ่อยๆ ปริพาชกเป็นลัทธิความเชื่อถืออย่างหนึ่งซึ่งมีมาเก่าแก่ก่อนพุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ มักเรียกกันว่าศาสนาเชน ว่ากันว่าถือเคร่งกว่าพุทธ นักบวชในศาสนานี้แยกเป็นสองนิกาย พวกหนึ่งไม่นุ่งผ้า เรียกว่าทิฆัมพร อีกพวกนุ่งผ้าขาว เรียกว่าเศวตัมพร

นางภัททาบวชในนิกายนุ่งผ้า คำอธิบายในอรรถกถาท่านจึงว่า

บทว่า ลูนเกสี ได้แก่ ชื่อว่าถอนผม เพราะข้าพเจ้าถูกถอนถูกทิ้งผม คือมีผมถูกถอนด้วยเสี้ยนตาล ในการบวชในลัทธินิครนถ์ พระเถรีกล่าวหมายถึงลัทธินั้น. บทว่า ปงฺกธรี ได้แก่ ชื่อว่าอมมูลฟัน เพราะคงไว้ซึ่งปังกะคือมลทินในฟันทั้งหลาย เพราะยังไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน. บทว่า เอกสาฏี ได้แก่ มีผ้าผืนเดียว ตามจารีตนิครนถ์.

นิครนถ์หรือนิคัณฐะก็คือลัทธิศาสนามีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกับพุทธศาสนา แนวการสอนก็คล้ายๆ กันคือปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า ปฏิเสธเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ผู้มีอำนาจเหนือมนุษย์ ศาสดาของศาสนานี้ที่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าคือพระมหาวีระ วรรณกรรมพุทธศาสนามักเรียกว่านิคัณฐ นาฏบุตร

คำอธิบายในอรรถกถาที่ยกมา คงพอตอบความงุนงงสงสัยของท่านผู้อ่านที่มีต่อข้อความยกมาเกริ่นตอนต้นเรื่องได้นะ ก๊อบปี้มาวางตรงนี้อีกที

แต่ก่อนข้าพเจ้าถอนผม

อมมูลฟัน

มีผ้าผืนเดียวเที่ยวไป

รู้ในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ

และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ

ท่านอธิบายว่าอมมูลฟันก็คือไม่ชำระฟัน อันนี้ก็คือส่วนหนึ่งของข้อความบรรทัดสุดท้ายที่ว่าเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษนั่นเอง ส่วนสิ่งที่ไม่มีโทษกลับเห็นว่าเป็นโทษได้แก่การเคี้ยวไม้ชำระฟันเป็นต้น

การเคี้ยวไม้ชำระฟัน เป็นการทำความสะอาดฟันของคนโบราณ เท่าที่ได้อ่านมา ท่านนิยมใช้ไม้ข่อยเป็นตัวทำความสะอาดฟัน นอกจากนี้คงมีไม้อื่นอีก ในอรรถกถาพระวินัยมีข้อความเกี่ยวกับไม้ที่พระพุทธองค์อนุญาตและไม่อนุญาตอีกหลายอย่าง ขี้เกียจไปค้น

 

นางบวชแล้วในลัทธิปริพาชกหรือนิครนถ์ก็ยังงงๆ อยู่เพราะหลักฐานยังขลุกขลิกกันอยู่ร่วมสมัยกับพุทธศาสนา เจ้าลัทธิปริพาชกชื่อสัญชัย เวลัฏฐบุตร เจ้าลัทธินิครนถ์ชื่อนิครนถ์ นาฏบุตร ทั้งสองลัทธินี้เกิดก่อนพุทธศาสนา เป็นลัทธิหรือหลักคิดสำคัญของชมพูทวีปยุคนั้น ลัทธิสำคัญท่านว่ามีหกสำนัก พุทธก็เป็นหนึ่งในหกของสำนักที่ท่านว่าสำคัญ เรื่องนี้ยืดยาวมาก หากเอามาเล่าทั้งหมดก็อาจได้หนังสือเป็นเล่ม ตัดฉับกลับมาที่นักบวชสตรีผมขอดเป็นวงๆ บวชในลัทธิเดิมแต่จะขลุกขลิกขลุกขลักอะไรในใจเราไม่รู้ ถ้อยคำน้ำเสียงจึงสะท้อนออกมาว่า

แต่นั้น ข้าพเจ้าเรียนลัทธินั้นนั่งอยู่คนเดียว นึกถึงลัทธินั้นว่า สุนัขทำกับมนุษย์.

ตรงนี้เป็นความรู้สึกนึกคิดของนาง ไม่จำเป็นว่าเราต้องเห็นคล้อยตามนาง ไม่บังควรไปประณามหยามเหยียดลัทธินั้นตามนาง หากมองย้อนกลับมาที่พุทธ ก็มีตัวอย่างมากมายที่นักบวชในพุทธศาสนาละลัทธิเดิมของตนไปเข้าลัทธิอื่น อย่างสุนักขัตตมาณพ บวชในพุทธศาสนาแล้วสึกออกไป แล้วไปเข้าลัทธิปริพาชกเป็นต้น

ใช้คำว่าลัทธิปริพาชกไม่ค่อยรัดกุมนัก ปริพาชกเป็นชื่อเรียกนักบวช ไม่ใช่ชื่อศาสนา คำเรียกรวมๆ ของนักบวชนอกพุทธศาสนา ท่านใช้คำว่าอัญญติตถีย์ แปลว่าท่าอื่น ไม่ใช่ท่านี้ เอกสารภาษาไทยที่เราคุ้นๆ มักใช้ว่าเดียรถีย์

นางบวชในอัญญติตถีย์ที่นักบวชชายถูกเรียกว่าปริพาชก นักบวชหญิงถูกเรียกว่าปริพาชิกา (เฒ่ามาลมโน้มเอียงไปทางปริพาชก) แต่คงไม่ประสบความสำเร็จในระดับธรรมชั้นสูงของลัทธินั้น เมื่อเดินถือกิ่งหว้าหนๆ ขวางๆ ไปตามทางท้ารบทางปัญญากับนักบวชลัทธิอื่นๆ แล้วไม่มีใครเอาชนะนางได้ก็คงหงุดหงิด นางอาจเสาะหาว่ายังจะมีคำสอนลัทธิใดหรือคำสอนของครูใดบ้างไหมที่จะทำให้นางบรรลุธรรมขั้นสูงได้ กระทั่งมาเจอพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาผู้ทรงปัญญาของพระพุทธเจ้า นางยอมวางกิ่งหว้า ข้อความหนึ่งในอรรถกถา เถรีกถา (ซึ่งถือกันว่าเป็นถ้อยคำที่พระเถรีพูดเอง) เขียนว่า

—ข้าพเจ้าออกจากที่พักกลางวัน ก็ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสดุจธุลี อันหมู่ภิกษุแวดล้อมที่ภูเขาคิชฌกูฏ จึงคุกเข่าถวายบังคม ทำอัญชลีต่อพระพักตร์พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ภัททา จงมา พระดำรัสสั่งนั้น ทำความหวังของข้าพเจ้าให้สำเร็จสมบูรณ์—

พระกุณฑลเกสีเถรีประสบความสำเร็จในพุทธศาสนา

เป็นพระอรหันต์

เป็นภิกษุณีเอตทัคคะผู้เลิศด้วยขิปปาภิญญา ข้อความท่อนท้ายๆ ของเถรีอปทาน ( อปทาน ไม่ใช่อุปาทาน อปทานแปลง่ายว่าประวัติ) อรรถกถาท่านเขียนไว้ว่า

—ครั้งนั้นพระพิชิตมารทรงตั้งดิฉันว่าเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายขิปปาภิญญา ดิฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์และทิพโสตธาตุ รู้วารจิตผู้อื่น เป็นผู้ทำตามสัตถุศาสน์ รู้ปุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพจักษุบริสุทธิ์ ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เป็นผู้บริสุทธิ์ หมดมลทินด้วยดี ดิฉันบำรุงพระศาสดาแล้ว ปฏิบัติพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ดิฉันบรรลุถึงประโยชน์ คือธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว ญาณของดิฉัน ในอรรถะ ธรรมะ นิรุติ และปฏิภาณไพบูลย์ หมดจด เพราะอำนวยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ดิฉันเผากิเลสทั้งหลายแล้ว…พระพุทธศาสนาดิฉันได้ทำเสร็จแล้ว. ทราบว่า ท่านพระภัททากุณฑลเกสีภิกษุณี ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล—

 

Don`t copy text!