นางในพระไตรปิฎก : นางดี ไม่มีชื่อ

นางในพระไตรปิฎก : นางดี ไม่มีชื่อ

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

‘สนุกในพระไตรปิฎก’ ที่ พ่อครูมาลา คำจันทร์ ได้นำมาเขียนให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์นั้น ไม่ได้เอาหลักคำสอนลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามาแสดง แต่เอาเรื่องราวอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับเกร็ดที่ประกอบอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าให้สนุก คล้ายๆ การค่อยๆ จูงมือคนไกลวัดให้เข้าใกล้วัด

**********************

ฟังเรื่องนางร้ายมาเยอะ ลองมาฟังเรื่องนางดีกันบ้าง เอามาจากอรรถกถาอุจฉังคชาดก เรื่องนี้สั้นนิดเดียว อ่านสำนวนในอรรถกถาทั้งหมดเลย

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภหญิงชาวชนบทคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อุจฺฉงฺเค เทฺว เม ปุตฺโต ดังนี้

            ความพิสดารว่า ในแคว้นโกศล มีคน ๓ คน ไถนาอยู่ที่ปากดงแห่งหนึ่ง. ในสมัยนั้น พวกโจรในดง คุมพวกปล้นหมู่มนุษย์แล้วพากันหนีไป พวกมนุษย์สืบจับโจรพวกนั้น เมื่อไม่พบ จึงตามมาจนถึงที่นั่น กล่าวว่า พวกเจ้าเที่ยวปล้นเขาในดงแล้ว เดี๋ยวนี้แสร้งทำเป็นชาวนา จับคนเหล่านั้น ด้วยสำคัญว่า พวกนี้ี้เป็นโจร นำมาถวายพระเจ้าโกศล. ครั้งนั้นมีหญิงคนหนึ่ง มาร่ำไห้ว่า โปรดพระราชทานเครื่องนุ่งห่มแก่หม่อมฉันเถิด เดินวนเวียนพระราชนิเวศน์ไปๆ มาๆ. พระราชาทรงสดับเสียงของนางแล้ว รับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ผ้าห่มแก่นาง. พวกราชบุรุษพากันหยิบผ้าสาฎกส่งให้. นางเห็นผ้านั้นแล้วกล่าวว่า ดิฉันไม่ได้ขอพระราชทานผ้านี้ดอก ดิฉันขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่มคือสามีพวกมนุษย์พากันไปกราบบังคมทูลแด่พระราชา ว่า พระเจ้าข้านัยว่าหญิงผู้นี้มิได้พูดถึงผ้านุ่งห่มนี้ นางพูดเครื่องนุ่งห่มคือสามี.

พระราชาจึงรับสั่งให้นางเข้าเฝ้า มีพระราชดำรัสถามว่า ได้ยินว่าเจ้าขอผ้าคือสามีหรือ? นางกราบทูลว่า พระเจ้าค่ะ พระองค์ผู้สมมติเทพ สามีชื่อว่าเป็นผ้าห่มของสตรีโดยแท้ เพราะเมื่อไม่มีสามี แม้สตรีจะนุ่งผ้าราคาตั้งพันกระษาปณ์ จะต้องชื่อว่าเป็นหญิงเปลือยอยู่นั่นเอง พระเจ้าค่ะ.

ก็เพื่อจะให้เนื้อความนี้สำเร็จประโยชน์ บัณฑิตพึงนำเรื่องมาสาธกดังนี้ว่า :-

            “แม่น้ำที่ไม่มีน้ำ ชื่อว่าเปลือย แว่นแคว้นที่ปราศจากพระราชาชื่อว่าเปลือย หญิงปราศจากผัว ถึงจะมีพี่น้องตั้ง 10 คน ก็ชื่อว่าเปลือย ดังนี้”.

            พระราชาทรงเลื่อมใสนาง รับสั่งถามว่า คนทั้ง 3 เหล่านี้เป็นอะไรกับเจ้า? นางกราบทูลว่าขอเดชะข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ คนหนึ่งเป็นสามี คนหนึ่งเป็นพี่ คนหนึ่งเป็นบุตร พระเจ้าค่ะ.

            พระราชารับสั่งถามว่า เราพอใจเจ้า ในคน 3 คนนี้ เราจะยกให้เจ้าคนหนึ่ง เจ้าปรารถนาคนไหนเล่า?

            นางกราบทูลว่า ขอเดชะ พระกรุณาเป็นล้นพ้น เมื่อหม่อมฉันยังมีชีวิตอยู่ สามีคนหนึ่งต้องหาได้ แม้บุตรก็ต้องได้ด้วย. แต่เพราะมารดาบิดาของหม่อมฉันเสียชีวิตแล้ว พี่ชายคนเดียวหาได้ยาก พระเจ้าค่ะ จงโปรดพระราชทานพี่ชายแก่กระหม่อมฉันเถิด พระเจ้าค่ะ.

พระราชาทรงยินดีแล้ว โปรดให้ปล่อยไปทั้ง 3 คน เพราะอาศัยหญิงนั้นผู้เดียว คนทั้ง 3 จึงพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยประการฉะนี้.

เรื่องนั้นรู้กันทั่วในหมู่ภิกษุ. อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรม นั่งสนทนาสรรเสริญคุณของหญิงนั้นว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย อาศัยหญิงคนเดียวคน 3 คนพ้นทุกข์หมด. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า?

เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่หญิงผู้นี้จะปลดเปลื้องคนทั้ง 3 ให้พ้นจากทุกข์ ถึงแม้ในปางก่อน ก็ปลดเปลื้องแล้วเหมือนกัน ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี คนทั้ง 3 พากันไถนาอยู่ที่ปากดง ดังนี้ ต่อนั้นไปเรื่องทั้งหมดก็เหมือนกับเรื่องก่อนนั่นแหละ. (แต่ที่แปลกออกไปมีดังนี้) :- เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ในคนทั้ง 3 เจ้าต้องการใครเล่า? นางกราบทูลว่า ขอเดชะพระบารมีเป็นล้นพ้น พระองค์ไม่สามารถจะพระราชทานหมดทั้ง 3 คน หรือพระเจ้าค่ะ?

พระราชาตรัสว่า เออเราไม่อาจให้ได้ทั้ง 3 คน.

นางกราบทูลว่าขอเดชะพระกรุณาเป็นล้นพ้น แม้นไม่ทรงสามารถพระราชทาน

ได้ทั้ง 3 คนไซร้ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพี่ชายแก่หม่อมฉันเถิด เจ้าต้องการพี่ชาย เพราะเหตุไรๆ? จึงกราบทูลว่า ขอเดชะพระบารมีล้นเกล้า ธรรมดาคนเหล่านี้หาได้ง่าย แต่พี่ชายกระหม่อมฉันหาได้ยากพระเจ้าค่ะ แล้วกราบทูลคาถานี้ว่า :-

            “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ บุตรอยู่ในพกของเกล้ากระหม่อมฉัน สามีเล่าเมื่อเกล้ากระหม่อมฉันไปตามทาง (ก็หาได้) แต่ประเทศที่หม่อมฉันจะหาพี่น้องร่วมอุทรได้ เกล้ากระหม่อมฉันมองไม่เห็นเลย” ดังนี้.

            บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุจฺฉงฺเค เทว เม ปุตฺโต ความว่าข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ บุตรอยู่ในพกของเกล้ากระหม่อมฉันแล้วทีเดียว โดยเปรียบความว่า เมื่อหม่อมฉันเข้าป่าทำผ้าเป็นพกไว้เก็บผักใส่ในพกนั้น ผักจึงชื่อว่า เป็นของหาง่าย เพราะมีอยู่ในพกฉันใด แม้หญิงก็หาบุตรได้ง่ายฉันนั้น เป็นเช่นกับผักในพกนั่นทีเดียว ด้วยเหตุนั้น หม่อมฉันจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ บุตรอยู่ในพกของหม่อมฉัน. ดังนี้.

            บทว่า ปเถ ธาวนฺติยา ปติ ความว่า ธรรมดาว่าสามีสตรีย่างขึ้นสู่หนทาง เดินไปคนเดียวประเดี๋ยวก็ได้ ชายที่พบเห็นเป็นสามีได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนั้นหม่อมฉันจึงกล่าวว่า “สามีเล่าเมื่อเกล้ากระหม่อมฉันเที่ยวไปตามทาง (ก็หาได้) ดังนี้.

            บทว่า ตญฺจ เทสํ น ปสฺสามิ ยโต โสทริยมานเย ความว่าแต่เพราะมารดาบิดาของหม่อมฉันไม่มีเสียแล้ว เพราะฉะนั้นบัดนี้ประเทศอื่นกล่าวคือท้องของมารดา ที่หม่อมฉันจะหาพี่น้องซึ่งกล่าวว่าร่วมท้องกัน เพราะเกิดร่วมอุทรนั้น หม่อมฉันมองไม่เห็นเลย พระเจ้าค่ะ เพราะเหตุนั้นขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพี่ชายแก่หม่อมฉันเถิดพระเจ้าค่ะ                               

            พระราชาทรงพระดำริว่า นางนี้พูดจริง ดังนี้แล้วมีพระทัยยินดี แล้วโปรดให้นำคนทั้ง 3 มาจากเรือนจำ พระราชทานให้นางไป. นางจึงพาคนทั้ง 3 กลับไป.

            พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน นางก็เคยช่วยคนทั้ง 3 นี้ให้พ้นจากทุกข์แล้วเหมือนกัน ดังนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า คนทั้ง 4 ในอดีตได้มาเป็นคนทั้ง 4 ในปัจจุบัน ส่วนพระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

           จบ อรรถกถาอุจฉังคชาดกที่ 7

เรื่องนี้ผู้เล่าเฒ่ามาลมประทับใจ เอาไปแต่งเป็นนิทานสำหรับเด็กชื่อนางภัทรา นิทานที่เขียนไว้มีดังนี้

 

ในอดีตกาลที่ผ่านพ้นไปนานแล้ว ยังมีหญิงม่ายคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกลของเมืองสาวัตถี นางมีอายุมาก ฐานะไม่ดี แต่ก็มีความเป็นอยู่ที่ไม่แร้นแค้น เพราะลูกสาว ลูกเขย ลูกชายและหลานชายของนางต่างขยันขันแข็งกันทุกคน ลูกเขย ลูกชายกับหลานชายของนางช่วยกันทำนาบนผืนนาที่สามีของนางทิ้งไว้ให้ ส่วนนางกับลูกสาวช่วยกันทำงานบ้าน อย่างพวกเก็บผักหักฟืน หุงข้าวเผาปลา ซักเสื้อผ้าและเก็บกวาดถูเรือนเป็นต้น

ลูกสาวของหญิงม่ายชื่อว่านางภัทรา แปลว่า นางผู้เจริญ ชื่อนี้พราหมณ์พเนจรท่านหนึ่งเป็นผู้ตั้งให้ ตอนนั้นนางท้องแก่ใกล้จะคลอด พราหมณ์พเนจรมาขอกินข้าวที่เรือนนาง พราหมณ์ได้เห็นลักษณะท้องของนางก็พูดขึ้นว่า

“ลูกของนางคนนี้จะเป็นผู้นำความเจริญมาให้ครอบครัวของเจ้า จงให้ชื่อเด็กในท้องว่านางภัทรา”

นางกับสามีเลี้ยงดูบุตรสาวไปตามประสา เมื่อเติบโตถึงวัยแต่งงาน สามีกับนางก็ไปสู่ขอชายหนุ่มผู้ขยันขันแข็งมาเป็นสามีของลูกตามประเพณีของบ้านเมืองในสมัยนั้น ผู้หญิงจะไปสู่ขอผู้ชาย เพื่อให้ผู้ชายมาทำไร่ทำนาเลี้ยงดูครอบครัวฝ่ายหญิง ต่อมาสามีของนางเสียชีวิต นางก็ดำรงตัวเป็นหญิงม่ายเรื่อยมา แต่ว่าคำทำนายของพราหมณ์พเนจรก็ยังไม่เห็นผล ครอบครัวของนางยังไม่ประสบความเจริญรุ่งเรืองเลย

อยู่มาวันหนึ่ง ลูกเขย ลูกชายและหลานชายของนางออกไปทำไร่ทำนาตามปกติ ส่วนหญิงหม้ายกับนางภัทราก็เข้าป่าไปหาเห็ดหาหน่อไม้เหมือนเช่นเคย

วันนั้นมีโจรกลุ่มหนึ่งหนีการตามล่าของทหารเข้ามาในเขตบ้านของนาง พวกโจรซุกถุงเงินที่ปล้นมาไว้ที่ใต้ถุนบ้านแล้วรีบจากไปทันที พอใกล้ค่ำ หญิงม่ายกับนางภัทรากลับออกมาจากป่า ส่วนลูกเขยลูกชายและหลานชายก็กลับจากไร่นา ยังไม่ทันที่ทุกคนจะทันได้กินอาหารค่ำ พวกทหารที่ตามจับโจรก็กรูกันเข้าล้อมกระท่อมของนางไว้

“จงอยู่ในความสงบ อย่าต่อสู้ขัดขืน หาไม่ข้าจะจับพวกเจ้าไปขังคุกจนหมด”

นายทหารหน้าเหี้ยมประกาศจากหน้ากระท่อม พวกนางทั้งห้าตระหนกตกใจกันไปหมด ทุกคนถูกบังคับให้ออกจากกระท่อม นายทหารหน้าเหี้ยมเหมือนโจรสั่งพลทหารให้ค้นกระท่อม พวกเขาพบถุงเงินที่ถูกปล้นมาซุกไว้ที่ใต้ถุน ทหารคุมตัวลูกเขย ลูกชายและหลานชายของนางไปขังไว้ที่คุกในเมือง ส่วนนางภัทรากับแม่ที่เป็นหม้ายทหารไม่จับ เพราะสมัยนั้นยังเชื่อถือกันว่าผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ ไม่สามารถจะทำงานใหญ่หรืองานยากได้ อย่างการรบทัพจับศึก การเดินทางไปค้าขาย การปล้นฆ่าชิงทรัพย์ หรือการตัดช่องย่องเบา ลักเอาข้าวของเงินทองของผู้อื่นเป็นต้น ดังนั้น ถุงเงินที่ถูกปล้นมานี้ ทหารจึงไม่สงสัยเลยว่านางภัทรากับแม่จะเป็นผู้ปล้นมา แต่สงสัยว่าสามีนางภัทรา น้องชายนางภัทรา และลูกชายของนางอาจจะปล้นมา

หญิงม่ายพูดกับลูกสาวว่า

“จะทำอย่างไรดี ลูกเอ๋ย”

“แม่ไม่ต้องตกใจ  ข้าจะตามไปช่วยเอง”

“เอ็งเป็นหญิงคนเดียว จะเอาอะไรไปสู้เขา”

“ข้าเป็นหญิง ตัวคนเดียว ข้าไม่เอาพละกำลังไปสู้ทหารทั้งกองหรอกแม่ แต่ข้าจะเอาปัญญาไปสู้”

นางภัทราได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตหญิงของหมู่บ้าน นางเองแม้ไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือหนังหาจากทิศาปาโมกข์คนไหน แต่สมัยที่ยังเป็นเด็กหญิง นางไปรับจ้างเป็นคนรับใช้ในบ้านของครูประจำหมู่บ้าน ครูไม่ได้สอนนางโดยตรง เพราะนางไม่ใช่นักเรียน แต่เวลาครูพัก นางก็ลักจำเอาสิ่งที่ครูเขียนทิ้งไว้บนกระดาน แบบที่สำนวนไทยเราเรียกว่าครูพักลักจำนั่นเอง

 

นางภัทราติดตามกองทหารที่ควบคุมตัวสามี น้องชายและลูกชายของนางไปจนถึงเมืองหลวง ทหารคุมตัวพวกเขาไปกักขังไว้ในคุกเพื่อรอเจ้าเมืองตัดสินใจ นางเองก็เฝ้ารออยู่นอกเมือง วันหนึ่ง เป็นวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำ เจ้าเมืองออกจากเมืองมาบำเพ็ญทานตามประเพณี นางก็เข้าแถวต่อจากคนอื่นเข้าไป

“นางอยากได้อะไร” เจ้าเมืองถาม

“ข้าอยากได้ เครื่องนุ่งห่ม”

“จงให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งแก่นาง”

ชาววังจัดการตามคำสั่งของเจ้าเมือง เมื่อเจ้าเมืองยื่นเสื้อผ้าชุดนั้นให้แก่นาง นางกลับไม่ยอมยื่นมือออกไปรับ

“นางขอเครื่องนุ่งห่ม ข้าให้แล้ว ทำไม่นางไม่รับ”

“ข้าแด่ท่านเจ้าเมือง ข้าขอเครื่องนุ่งห่มคือสามี  ไม่ได้ขอเสื้อผ้า”

“ทำไมนางถึงว่าสามีคือเครื่องนุ่งห่ม”

“ข้าแด่ท่านเจ้าเมือง นักปราชญ์แต่โบราณย่อมกล่าวว่าสามีคือเครื่องนุ่งห่มของผู้หญิง เพราะหากไม่มีสามี ผู้หญิงก็ไม่มีเครื่องป้องกันภัย เหมือนร่างกายไม่มีเสื้อผ้าป้องกันความหนาว หญิงใดไม่มีสามี นักปราชญ์แต่โบราณท่านเรียกว่าหญิงเปลือย”

“นางพูดจาคมคาย พูดต่อไปซิ หากชอบใจ ข้าจะปล่อยสามีนาง”

“เจ้าค่ะ นักปราชญ์กล่าวว่า แม่น้ำที่ไม่มีน้ำ ชื่อว่าน้ำเปลือย แว่นแคว้นที่ปราศจากพระราชา ชื่อว่าแคว้นเปลือย หญิงปราศจากผัว แม้จะมีพี่น้องถึงสิบคนก็ชื่อว่าเปลือย ข้าเองไม่ต้องการเป็นหญิงเปลือย จึงมาขอเครื่องนุ่งห่มคือสามีของข้าคืน”

“ใครคือสามีของเจ้า”

“ที่ถูกจับมา ข้อหาปล้นทรัพย์แล้วเอาถุงเงินไปซุกไว้ใต้กระท่อม”

“อ้อ…” พระราชานึกได้ “มีตั้งสามคนไม่ใช่รึ คนไหนคือสามีของเจ้า”

“คนที่แก่ที่สุด ถัดมาคือน้องชายของข้า อายุน้อยที่สุดคือลูกชายของข้า”

“นางรู้หลักนักปราชญ์ ฉลาดในการพูดจา เอาละ ข้าจะปล่อยสามีของนาง แต่อีกสองคนต้องติดคุกต่อไป เพราะคดียังไม่สิ้นสุด”

“หากเป็นเช่นนั้น ข้าขอความกรุณาจากพระองค์ โปรดปล่อยน้องชายของข้า ส่วนสามีกับลูกชายของข้าจงโปรดกักขังไว้ตามเดิม”

“ก็ไหนเจ้าว่ามาขอเครื่องนุ่งห่ม คือสามี ทำไมเปลี่ยนใจขอน้องชาย หรือว่าเครื่องนุ่งห่มคือน้องชาย จงแสดงเหตุผลที่ดี หาไม่ข้าจะไม่ปล่อยใครเลย”

“ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ นักปราชญ์แต่โบราณย่อมกล่าวว่าสามีคือเครื่องนุ่งห่มของสตรี เพราะสามีป้องกันภัยให้สตรีเหมือนเสื้อผ้าป้องกันร้อนหนาว หากปราศจากสามี สตรีคือหญิงเปลือย แต่แม่ข้าหากปราศจากน้องชาย จะเป็นหญิงเปลือยยิ่งกว่าเปลือย เพราะแม่ข้าเป็นหญิงม่าย นั่นคือเปลือยชั้นแรก เวลานี้แม่ข้าก็แก่แล้ว ไม่อาจหาสามีใหม่ได้ หากขาดลูกชาย จะเปลือยชั้นที่สอง ใครจะมาเป็นเครื่องนุ่งห่มป้องกันร้อนหนาวแก่นาง ใครจะทำไร่ไถนาเลี้ยงนาง นี่คือเปลือยสองชั้น ส่วนข้าเอง ขาดสามีข้าเป็นหญิงเปลือย แต่ข้ายังสาว ข้าหาสามีใหม่ได้ ข้าขาดลูก ข้าก็อาจคลอดลูกใหม่จากสามีใหม่ได้ เพราะฉะนั้น ข้ายอมเป็นหญิงเปลือย แต่ไม่ยอมให้แม่ข้าเปลือย ข้าจึงขอให้ท่านปล่อยน้องชายข้าออกมา”

“เหตุผลของเจ้าดีมาก ข้าจะปล่อยน้องชายของเจ้ากลับไปเป็นเครื่องนุ่งห่มป้องกันร้อนหนาวและเป็นเสาหลักพยุงบ้านเรือนให้แก่แม่เจ้า แต่เจ้าจะต้องติดคุกแทนน้องชาย เจ้ายอมหรือไม่”

“ยอม เจ้าค่ะ”

พระราชาทรงปล่อยน้องชายของนางให้เป็นอิสระแล้วจับนางติดคุกแทน สมัยนั้น คุกสำหรบกักขังนักโทษสตรีโดยเฉพาะยังไม่มี เพราะผู้หญิงส่วนมากไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างคุกสำหรับกักขังผู้หญิงโดยเฉพาะ

นางภัทราถูกจับไปกักขังไว้ที่ใต้ถุนตำหนักหลังหนึ่งของเจ้าเมือง กลางวันนางก็ถูกเบิกตัวออกมาทำงานที่แม้แต่ข้าทาสก็ยังรังเกียจ นั่นคือการทำความสะอาดหม้อบังคนของราชกุมารและราชกุมารีทั้งหลาย คำว่าหม้อบังคนก็คือกระโถนที่มีฝาปิด ใช้สำหรับรองรับปัสสาวะหรืออุจจาระของชนชั้นสูงในสมัยนั้น

นางภัทราตั้งใจทำงานโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ เจ้าเมืองสั่งให้ผู้คุมคอยติดตามสังเกตนางอยู่ตลอดเวลา เจ้าเมืองเห็นว่านางเป็นบัณฑิตจริง ไม่ใช่พวกเก่งแต่พูด จึงเรียกนางไปที่โรงหลวงซึ่งเป็นที่ว่าราชการของเจ้าเมือง

“ข้าเชื่อแล้วว่าสามี น้องชายและลูกชายนางไม่มีความผิด ไม่ได้เป็นโจร เรือนใดมีหญิงที่เป็นบัณฑิตเช่นนี้ เรือนนั้นไม่เป็นที่เกิดของโจร ผู้คุม จงปล่อยชายทั้งสองออกมา แล้วจับพวกที่ไปจับเขามาโบยคนละสิบที โทษฐานทำงานสะเพร่า”

สิ้นคำสั่งของเจ้าเมือง บรรดาข้าราชการทั้งหลายต่างยกมือแซ่ซ้องสาธุการ เจ้าเมืองประทานเงินทองครึ่งหนึ่งที่โจรปล้นไปให้แก่นางภัทรา นางนำเงินทองที่ได้กลับไปซื้อที่นาเพิ่มขึ้น ซื้อวัวควายไว้ไถนา ส่วนหนึ่งก็เก็บไว้ใช้จ่ายเป็นค่าหยูกยายามป่วยไข้ ความเป็นอยู่ของพวกนางดีขึ้น เจริญขึ้น สมตามคำทำนายของพราหมณ์พเนจรที่ว่านางภัทราจะเป็นผู้นำความเจริญมาสู่ครอบครัวของนาง

(จากอุจฉังคชาดก อรรถกถา เล่ม 56 พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน) 

 

Don`t copy text!