ครั้งแรกที่วัดญวนเลยชวนมาอ่าน

ครั้งแรกที่วัดญวนเลยชวนมาอ่าน

โดย : Hoot-Hoot

Loading

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

…………………………………………..

บังเอิ๊ญญญญ บังเอิญแบบว่าไม่ได้ตั้งใจ พอดีเมื่อวันก่อนฮูกต้องผละจากหน้าจอพามารดาไปทำบุญครบ 35 วันที่คุณป้า ซึ่งเป็นพี่สาวที่แม่รักมากจากไป ตอนแรกก็คิดว่าคงไปทำบุญที่วัดใกล้ๆ บ้าน แต่แม่บอกว่าไม่ใช่ จะให้พาไปที่วัดญวน

อ่ะ วัดญวนก็วัดญวน ว่าแต่อยู่ที่ไหน ว่าแล้วปักหมุดไปที่ “วัดกุศลสมาคร” 1 ใน 7 วัดญวนในกรุงเทพ อยู่แถวๆ เยาวราช เป็นซอยเล็กๆ ที่ถ้าไม่สังเกตดีๆ อาจเลยได้ ถ้าใครอยากมา สังเกตที่ทำการไปรษณีย์สาขาป้อมปราบเข้าไว้ เพราะซอยอยู่ติดกันเลยจ้า

ปากซอยทางเข้าวัด ถ้ามาจากแยกเสือป่า ให้สังเกตที่ทำการไปรษณีย์ป้อมปราบ ยังไม่เลยแยกราชวงศ์นะคะ

ขอเล่าเร็วๆ ก่อนว่า ในบ้านเรามีวัดญวนได้ยังไง ก็คือ คนญวนอพยพมาอยู่มาในไทย มีทั้งที่นับถือพุทธและคริสต์ ซึ่งแน่นอนว่าที่นับถือพุทธก็จะสร้างวัดเพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของตัวเอง โดยเป็นพระพุทธศาสนามหายานที่รับมาจากประเทศจีน คนจีนในไทยเลยให้การนับถือ เพราะอยู่ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานด้วยกัน ฉะนั้นสมัยก่อนที่ยังไม่มีวัดจีน คนจีนก็จะมาไหว้พระที่วัดญวนนี่ล่ะค่ะ เพราะที่วัดญวนก็มีพิธีกรรมต่างๆ คล้ายพระสงฆ์จีนอย่างพิธีกงเต๊ก พิธีเชิญเจ้าในช่วงกิน ต่างกันแค่เพียงบทสวดมนต์ที่จะเป็นภาษาเวียดนาม ซึ่งตรงนี้ฮูกได้ถามเพื่อความชัวร์กับพระที่วัดมาว่าสวดมนต์เป็นภาษาอะไรคะ คำตอบคือ สวดแบบจีนด้วยภาษาเวียดนาม

“พระอุโบสถ” ที่ฮูกเรียกตามภาษาตัวเองว่า ศาลาไหว้พระ

“วัดกุศลสมาคร” ที่ฮูกไปทำบุญครั้งนี้ ได้รับพระราชทานนามเป็นภาษาอนัมว่า “ซัก ต๊า ฮึง เกวิ๊ก โผ เพื๊อก ตื่อ” หรือที่ชาวอนัมมักเรียกว่า “จั่ว โผ เพื๊อก” และนิยมเรียกกันเป็นภาษาจีนว่า “โผว ฮก หยี่” ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดกุศลสมาคร” มีความหมายว่า “วัดที่มีแต่ความดี ความบริสุทธิ์ ดุจน้ำในสาคร”

พื้นที่สร้างวัดนี้ตระกูลของท่านพระเจริญราชธน (เท่ง เลาหเศรษฐี) เป็นผู้มอบที่ดินให้ตั้งวัด เพราะตามหลักฐานที่ปรากฏชัดในเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งได้มีการบันทึกเรื่องของท่านเจ้าอธิการเยียนหมาง อดีตเจ้าอาวาสรูปที่สอง วัดกุศลสมาคร ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ เพื่อขอผูกพัทธสีมาและฉลองเป็นพระราชกุศล ในช่วง ร.ศ. 118 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ค่ะ

พระแม่กวนอิมปางพันมือ

ความตะลึงในแว่บแรกคือ เมื่อเข้าไปในเขตวัดก็ได้เห็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือพระแม่กวนอิมปางพันมือองค์ใหญ่สีดำตั้งอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ (ขอสารภาพว่า ตอนแรกฮูกเรียกตามภาษาตัวเองว่า ศาลาไหว้พระ แฮะๆ)   พอขึ้นไปบนพระอุโบสถ ก็ได้เจอกับพระประธานองค์ใหญ่สีทองที่ด้านหลังประดับไฟสีๆ อารมณ์แบบวัดจีนอ่ะค่ะ พระประธานองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่คู่กับอุโบสถมาตั้งแต่เริ่มสร้างมีชื่อว่า “พระศรีศากยมุนีเส็กเกียยูไล” หรือรู้จักกันในนามว่า “พระยูไล”

นอกจากนี้ที่ด้านหน้าองค์พระประธานยังมีพระโพธิสัตว์อีกหลายพระองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือพระแม่กวนอิมปางเหยียบปลา ท้าวมหาชมพูหรือพระเวทโพธิสัตว์ผู้เป็นธรรมบาล พระกษิติครรภโพธิสัตว์ พระศรีอาริยเมตไตรย หรือ หนี่เล็กฮุกโจ้ว รวมไปถึงสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่อีกเรื่องคือ องค์เทพไฉ่ซิงเอี๊ย ที่ฮูกไว้อยู่ที่บ้านเพื่อขอโชคลาภ มีปางอื่นด้วยนะ

ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊

เป็นปางที่หน้าตาดุๆ เรียกว่า  ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊ เชื่อกันว่าให้คุณแก่ผู้บูชาในเรื่องของหนี้สิน ช่วยให้ผู้บูชาเก็บหนี้ได้ง่ายขึ้น ลูกหนี้ไม่คิดเบี้ยว และช่วยดูแลควบคุมบริวาร ตลอดจนลูกจ้างให้อยู่ในระเบียบวินัย มีความขยันในการทำงาน รอบๆ ของพระอุโบสถก็จะมีองค์เทพอีกหลายองค์ให้กราบสักการะ ไม่ว่าจะเป็น “ฮั่วถ่อเซียงซือ” หรือเทพเจ้าหมอยาที่เชื่อว่าหากได้มากราบไหว้ท่านแล้วอาการเจ็บป่วยต่างๆ ก็จะทุเลาหายลงได้  เรียกได้ว่า มาที่วัดนี้ที่แม้จะดูพื้นที่เล็กแต่ฮูกได้ไหว้ขอพรครบค่ะ

องค์เจ้าแม่กวนอิมที่ทำจากกระดาษ

ที่เรียกสติให้ฮูกตื่นเต้นอีกจุดคือ องค์เจ้าแม่กวนอิมที่ทำจากกระดาษในตู้ด้านหลังองค์ประธาน ซึ่งองค์จะสูงราวๆ เมตรนึงเห็นจะได้ แต่มองจากข้างนอกไม่รู้เลยนะคะว่าทำจากกระดาษ ต้องขอชมว่าคนทำเก่งมากๆ ตกแต่งทาสีซะนึกว่าหล่อจากทอง หลวงพี่ที่วัดบอกว่า ปลวกกินหลายครั้งก็ต้องตามซ่อม แต่ก็ไม่เหนื่อยจะซ่อมเพราะเป็นแรงศรัทธาของคนสร้างที่ตั้งใจทำขึ้นมา แม้ตอนนี้ได้จากไปแล้วก็ยังมีองค์เจ้าแม่กวนอิมให้ได้สักการะจนวันนี้

เอาล่ะค่ะ ใครที่อยากมาไหว้ละก็ เวลาที่จะเข้ามากราบไหว้บูชาก็เตรียมเทียน ธูปหอม พวงมาลัย ผลไม้ น้ำชาหรือน้ำเปล่ามาก็พอ และหากใครอยากถวายอาหารให้กับพระเณรที่นี่ ไม่ต้องห่วงนะคะว่าต้องเป็นอาหารเจเท่านั้น เพราะเท่าที่คุยกับพระที่นี่ ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้กินเจค่ะ สามารถกินอาหารทั่วไปเพื่อไม่ให้ญาติโยมลำบาก เว้นเพียงช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้นที่จะกินเจอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติเดิมและหันมาใช้ข้อปฏิบัติตามอย่างพระสงฆ์ไทยมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ฮูกชอบคือ วัดนี้มีโรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัยอยู่ด้วย เลยได้เห็นเณรเดินเข้าแถวขึ้นไปยังอาคารเรียนซ้ายขวา สักพักก็ได้ยินเสียงท่องหนังสือ หรือบทสวดไม่รู้ค่ะ (ฟังไม่ออก แฮะๆๆ) คือท่องกันแข็งขันมากกกกก การเรียนการสอนที่นี่ก็คือตามพระราชบัญบัติการศึกษาขั้นพื้นฐานเลยค่ะ คือ ม.1-3 และ ม.4-ม.6 ชุดนักเรียนก็คือชุดเดียวกับพระสงฆ์คือใส่เสื้อของพระสงฆ์ญวนเป็นเสื้อแขนยาว กระดุมเรียงตรงลงมาจากด้านบนลงล่าง ต่างจากพระสงฆ์จีนคือสาบเสื้อจะเฉียงไปผูกด้านข้างลำตัว และมีการบิณฑบาตแบบพระไทย แต่ยังคงอัตลักษณ์ไว้ในแบบพระญวน คือการไม่โกนคิ้ว และนุ่งกางเกงแทนสบง แต่ครองจีวรแบบพระสงฆ์ไทย

ได้พาแม่มาทำภารกิจทำบุญ แถมยังได้มากราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ สบายใจสองเด้งค่ะ พรที่ขอไปจะได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร สุขใจที่ได้มาทำหน้าที่ลูก แต่ได้มาเห็นและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในชีวิต แค่นี้คุ้มแล้วล่ะค่ะ

Don`t copy text!