เล่าเรื่อง “กฐินพระราชทาน”

เล่าเรื่อง “กฐินพระราชทาน”

โดย : Hoot-Hoot

Loading

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชาวอ่านเอาได้ยกก๊วนบินตรงไปยังสุโขทัย เพื่อถวายผ้ากฐิน ณ วัดหนองโว้ง (พระอารามหลวง) ซึ่งความพิเศษในครั้งนี้สำหรับ Hoot-Hoot คือครั้งนี้เป็น ‘กฐินพระราชทาน’ ครั้งแรกในชีวิต!!

พอมีคำว่า ‘พระราชทาน’ เข้ามา ก็เกิดความกังวลขึ้นมาทันทีว่า จะมีความพิเศษอย่างไร ซึ่งอีกเรื่องหนึ่งที่พิเศษสำหรับ Hoot- Hoot เป็นอย่างที่ 2 คือ เรื่องการแต่งกาย เพราะแน่นอนว่าเราๆ ท่านๆ รู้อยู่แล้วควรแต่งกายแบบไหนเมื่อจะเข้าร่วมในพิธีทางศาสนา แต่ความที่เป็นคนเมืองและมีคำว่า พระราชทานเข้ามาด้วย ความสงสัยยิ่งทวีคูณ เมื่อดูในคำแนะนำก็พบคำว่า สตรีสวม ‘ชุดสุภาพ’  สาวๆ ในก๊วนจึงพร้อมใจกันสวมผ้าไทยนุ่งผ้าซิ่นร่วมงานในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง

เล่าขานตำนาน ‘กฐิน’

แม้ว่าจะเคยเรียนมาว่า ‘กฐิน’ มีความเป็นมาอย่างไร แต่นั่นผ่านมาเป็นสิบๆ ปีมาแล้วนะคะ ก็เลยมาขอเล่าทวนความจำกันหน่อย…

มีตำนานว่า ครั้งหนึ่งมีภิกษุจากเมืองปาฐา จำนวน 30 รูป เดินทางไกลเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่      พระเชตวัน เมืองสาวัตถี แต่ช่วงที่เดินทางนี้กินเวลายาวนานจนถึงช่วงเข้าพรรษาก็เลยต้องหยุดเดินทางและจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตุ พอถึงเวลาออกพรรษาก็รีบเดินทางต่อ แต่ความที่เพิ่งผ่านฤดูฝนมากหมาดๆ เส้นทางจึงเต็มไปด้วยโคลนดิน ทำให้จีวรเปรอะเปื้อนในระหว่างเดินทาง เมื่อไปถึงและได้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าซึ่งได้ทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลาย จึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้ ‘กรานกฐิน’ ซึ่งเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์ โดยภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้นนำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งเย็บ ย้อมแห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้วภิกษุรูปหนึ่งขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนากล่าวถึงเรื่องประวัติกฐิน

จากนั้นโปรดให้เป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้ว 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้

แท้จริงแล้ว “ผ้ากฐิน” ก็คือ?

ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผ้ากฐินจะเป็นผ้าใหม่ก็ได้ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ก็ได้ หรือแม้แต่ผ้าบังสุกุลก็ไม่ติด เพียงแต่ผ้าเหล่านี้ต้องมีพอที่จะทำไตรจีวรผืนใดผืนใดผืนหนึ่ง ซึ่งผ้าไตรจีวรมี  3 ผืน คือ สบง, จีวร และสังฆาฏิ สำหรับสิ่งของอื่นๆ ที่อยู่ในพิธีนั้นไม่ใช่องค์กฐิน แต่เป็นบริวารกฐิน บริวารกฐินนี้จะมีมากหรือน้อยก็ได้ไม่มีกำหนด

 

เอาละค่ะ ตอนนี้ก็มาถึงไฮไลท์ของเนื้อหาที่ Hoot-Hoot เสาะหาข้อมูลจากหลายๆ ที่มารวมไว้ เพื่อให้ได้คำตอบไปเล่าให้ลูกหลานได้รู้ว่า “กฐินพระราชทาน” ต่างจากกฐินทั่วไปอย่างไร

กฐินมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ กฐินหลวง  กฐินพระราชทาน และกฐินราษฎร์ ซึ่งที่คุ้นเคยก็คือ กฐินราษฎร์ แต่ ‘กฐินหลวง’ และ ‘กฐินพระราชทาน’ นั้น Hoot-Hoot สารภาพเลยนะคะว่า คิดเอาเองว่าคือสิ่งเดียวกันมาตลอด แต่ในความจริงแล้ว ไม่ใช่!!

กฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส  พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ

โดยวัดที่จะทำกฐินหลวง เป็นวัดพระอารามหลวงมีทั้งสิ้น 16 วัดเท่านั้น

สำหรับ กฐินพระราชทาน เป็นพระกฐินที่มีผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง เพียงแต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร  หรือบุคคลที่สมควรขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ ที่ไม่ใช่วัดพระอารามหลวง 16 แห่งที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน

ทั้งนี้ พระอารามสำหรับกฐินพระราชทานนั้น กรมการศาสนาเป็นผู้จัดหาผ้าพระกฐิน และบริวารพระกฐิน

และการที่จะยื่นความจำนงขอพระราชทานนั้น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป จะต้องยื่นความจำนงไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเมื่อถึงกำหนดกฐินกาลก็ติดต่อขอรับผ้าพระกฐินและบริวารพระกฐินจากกองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา  เพื่อนำไปทอดกฐิน  ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ เพราะเมื่อทอดถวายเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอรับพระราชทานจะต้องจัดทำบัญชีรายงานถวายพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานส่งไปยัง กรมการศาสนา เพื่อจะได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน ส่งไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระราชกุศลในการที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลทั่วไป อัญเชิญผ้าพระกฐินไปถวาย  ณ  อารามนั้น

ส่วนเรื่องว่า เมื่อถึงกำหนดการวันทอดกฐินพระราชทาน พวกเราต้องทำอะไรบ้าง แรกๆ ก็แอบกังวลว่าจะทำผิดๆ ถูกๆ หรือไม่ แต่กลายเป็นว่าหมดห่วง เพราะเมื่อถึงวันงาน จะมีเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญมาปฏิบัติพิธีเพื่อควบคุมและลำดับขั้นตอนตามกำหนดการที่กำหนดไว้

ออกพรรษาปีหน้าเมื่อไหร่ หากชาวอ่านเอามีการจัดกฐินอีกครั้ง จะคาบข่าวมาบอกบุญนะคะ

 

ข้อมูล : กระทรวงวัฒนธรรมและกรมศาสนา

 

Don`t copy text!