“เครื่องแขวนดอกไม้สด” แชนเดอเลียร์สไตล์ไทยมีกลิ่นหอม

“เครื่องแขวนดอกไม้สด” แชนเดอเลียร์สไตล์ไทยมีกลิ่นหอม

โดย : Hoot-Hoot

Loading

เรื่องราวรอบตัวน่ารู้น่าอ่านกับหลากหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ในคอลัมน์ Lifestyle โดย Hoot-Hoot ที่อ่านออนไลน์แล้วรับรองมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเรื่องราวดีๆ ที่รายล้อมรอบตัว #มีให้อ่านที่อ่านเอา

 

ภาพของหญิงสาวนั่งร้อยดอกไม้ในละครมีให้เห็นมาแต่ไหนแต่ไร ว่าแต่ทำไมต้องเป็นผู้หญิง

นั่นอาจเพราะงานดอกไม้ต้องพิถีพิถัน ทำอย่างใจเย็นด้วยน้ำหนักมือที่แสนนุ่มนวล เพราะดอกไม้คือสิ่งบอบบาง แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว ผู้ชายมือเบาที่มีพรสวรรค์และความตั้งใจก็สร้างสรรค์ชิ้นงานจากดอกไม้ได้สวยงามเช่นกัน และที่สำคัญไม่เพียงแค่งานดอกไม้สดไทยประเภทมาลัยชนิดต่างๆ เท่านั้น ยังมี ‘เครื่องแขวนดอกไม้สด’ เป็นอีกหนึ่งงานดอกไม้ที่ได้รับการกล่าวถึงมากมาย

งานเครื่องแขวนดอกไม้สดถือเป็นศิลปะการสร้างสรรค์งานดอกไม้ไทยประเภทหนึ่งที่สะท้อนคติความเชื่อความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพระพุทธศาสนา โดยว่ากันว่าเครื่องแขวนดอกไม้สดเป็นงานศิลป์ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีบุคคลสำคัญในวงการช่างดอกไม้ในยุคนั้นคือเจ้าจอมมารดาตานี ธิดาเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้มีฝีมือเชิงช่างดอกไม้  ที่นอกจากจะถวายงานในด้านที่ถนัดแล้ว ยังได้ฝึกหัดและถ่ายทอดวิชาแก่พระธิดาและพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ให้เป็นช่างดอกไม้สืบวิชาต่อมาจนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว

มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงฟื้นฟูการประดิษฐ์ทั้งดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง โดยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายในร่วมใจกันประดิษฐ์งานเครื่องแขวนดอกไม้สดเพื่อเป็นพุทธบูชาในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ และเพื่อประดับตกแต่งบานประตูหน้าต่างในพระบรมมหาราชวังและในพระอารามหลวง

โดยเจ้านายฝ่ายในที่มีชื่อเสียงด้านงานเครื่องแขวนดอกไม้สด คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ์ พระขนิษฐาในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงคิดริเริ่มการประดิษฐ์โครงลวดจนเกิดเครื่องแขวนโคมระย้า นอกจากนี้ยังทรงคิดประดิษฐ์ ‘เฟื่อง’ เพื่อเป็นเครื่องแต่งตัว และพระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ พระอัครชายาเธอในรัชกาลที่ ๕ ทรงคิดประดิษฐ์พลิกแพลงการถักตาข่ายหลากหลายรูปแบบ รวมถึงเครื่องแต่งตัวใหม่ที่เรียกว่า ‘แบบ’ หรือ ‘ทัดหู’ คือการนำใบตองมาเย็บกับกลีบดอกไม้ใบไม้ตามรูปทรงเรขาคณิต เช่น แบบวงกลมแบบวงรี หรือตามลายไทย อาทิ แบบลายประจำยาม เป็นต้น

จุดประสงค์ในการประดิษฐ์เครื่องแขวนดอกไม้สดในช่วงแรกๆ จึงทำขึ้นเพื่อใช้ในการประดับตกแต่งอาคาร สถานที่ และสิ่งเคารพบูชา โดยนำดอกไม้เล็กๆ มาเรียงร้อยรวมกันด้วยเส้นด้าย ประดิษฐ์เป็นเส้น ลาย เป็นตาข่ายรูปต่างๆ ให้เห็นเป็นแบบสองมิติและสามมิติ

เครื่องแขวนสองมิติ คือเครื่องแขวนที่มีลักษณะแบน มองได้สองด้าน นิยมใช้แขวนบริเวณหน้าต่างที่มีลมผ่าน ส่วนเครื่องแขวนแบบสามมิติ คือเครื่องแขวนที่มองได้รอบทิศทาง นิยมแขวนในบ้าน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นแชนเดอเลียร์สไตล์ไทยๆ ซึ่งพัฒนาการของเครื่องแขวนดอกไม้สดไทยนั้นได้รับการพัฒนามาตามยุคสมัย โดยเฉพาะช่วงที่มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากขึ้น รูปแบบวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับชาวต่างชาติก็ส่งอิทธิพลต่อชาวสยามในยุคนั้นอยู่ไม่น้อย ทำให้เครื่องแขวนดอกไม้สดเริ่มมีการปรับรูปแบบให้เข้ากับสมัยนิยมมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น แบบของโคมจีน แบบโคมไฟแบบยุโรป เป็นต้น

เครื่องแขวนแต่ละชนิดมีลวดลายเฉพาะตัว จึงได้มีการตั้งชื่อแตกต่างกันไป เช่น บันไดแก้ว บันไดเงิน บันไดทอง กลิ่นจีนดอกรัก วิมานพระอินทร์ วิมานแท่น พวงชมพู พวงแก้ว และอีกมากมาย ซึ่งแต่ละแบบแต่ละชนิดมักร้อยเรียงมาจากดอกไม้มงคลอย่างดอกรัก ดอกพุด ดอกมะลิ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกกุหลาบ ดอกจำปี ดอกจำปา และหากว่าใช้ดอกไม้สดในการทำ เมื่อนำไปแขวนในสถานที่จัดพิธีมงคลใดๆ ก็จะโชยกลิ่นหอมรื่นจมูก

มาถึงในยุคนี้ ปรากฏให้เห็นการนำเครื่องแขวนดอกไม้สดไปประดับไว้ตามที่ต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในพิธีแต่งงานตามประเพณีไทย โรงแรม รีสอร์ตที่มีคอนเซ็ปต์การนำเสนออย่างไทย โดยเครื่องแขวนจะมีหลายขนาด ตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่มาก จะเลือกใช้แบบไหนขนาดใดก็ช่วยทำให้ได้บรรยากาศอย่างไทยทั้งนั้น คุณเห็นด้วยไหมคะ

 

ข้อมูล : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, anurakmag

 

Don`t copy text!